“อันประชา สามัคคี มีจัดตั้ง เป็นพลัง แกร่งกล้า มหาศาล แสนอาวุธ หมู่อันธพาล ไม่อาจต้าน แรงมหา ประชาชน” ข้อความตอนหนึ่งของบทกวี “พลังประชาชน” ของกุหลาบ สายประดิษฐ์ คือข้อความที่ปรากฎบนเสื้อยืดที่ นวมทอง ไพร์วัลย์ สวมใส่เป็นตัวสุดท้ายในชีวิต
31 ตุลาคม 2549 ขณะที่ชาวกรุงกำลังหลับไหลภายใต้สถานการณ์ที่มีการประกาศกฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักรหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 นวมทอง ไพร์วัลย์ คนขับแท็กซี่วัย 60 ปี ตัดสินใจจบชีวิตของตัวเองที่สะพานลอยข้ามถนนวิภาวดีรังสิตฝั่งสำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
ก่อนหน้านั้นในวันที่ 30 กันยายน นวมทอง ขับรถแท็กซี่ของเขาที่ถูกสีสเปรย์พ่นข้อความต่อต้านการรัฐประหารพุ่งชนรถถังที่จอดอยู่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าจนได้รับบาดเจ็บสาหัส ระหว่างที่นวมทองรักษาตัวในโรงพยาบาล พ.อ.อัคร ทิพโรจน์ รองโฆษกคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ซึ่งเป็นคณะทหารที่ทำการยึดอำนาจจากรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ในปี 2549 กล่าวในโอกาสหนึ่งว่า “ไม่มีใครมีอุดมการณ์มากขนาดยอมพลีชีพได้” หลังได้รับทราบถึงถ้อยคำที่ผู้มีอำนาจส่งถึงเขาผ่านสื่อนวมทองก็ตัดสินใจจบชีวิตของตัวเองเพื่อพิสูจน์ว่าชายผู้มีดาวบนบ่า “คิดผิด”
สดมภ์อนุสรณ์ นวมทอง ไพรวัลย์
นับจากนั้นมานวมทองก็กลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านการรัฐประหาร และแม้เขาจะเสียชีวิตไปแล้วถึง 13 ปี หากนับถึงปีนี้ (2562) แต่นวมทองก็ยังอยู่ในความทรงจำของนักกิจกรรมทางการเมืองหลายๆคน ทั้งคนที่เคยมีบทบาทในการเคลื่อนไหวคัดค้านการรัฐประหารช่วงปี 2549 และคนที่เพิ่งจะเริ่มทำกิจกรรมทางการเมืองหลังการรัฐประหาร 2557 ขณะที่สดมภ์หรือเสาอนุสรณ์ซึ่งถูกสร้างเพื่อระลักถึงนวมทอง ณ บริเวณตีนสะพานลอยข้ามถนนวิภาวดีรังสิตฝั่งหน้าสำนักข่าวไทยรัฐเมื่อปี 2556 สถานที่ที่นวมทองจบชีวิตของตัวเองก็กลายเป็นสถานที่จัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์อีกแห่งหนึ่งทั้งกิจกรรมรำลึกและกิจกรรมคัดค้านการรัฐประหารในยุคคสช.
(ที่)ระลึก ถึงนวมทอง
ชื่อของนวมทองน่าจะถูกใช้ในฐานะของสัญลักษณ์ของต่อต้านรัฐประหารเป็นครั้งแรกในปี 2550 เมื่อสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน จัดพิมพ์หนังสือ “รัฐประหาร 19 กันยา รัฐประหารเพื่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” หนังสือรวมบทความวิชาการที่ศึกษาเกี่ยวกับการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ในหลายๆมิติ ในหน้ารองปกของหนังสือดังกล่าวมีคำจารึกว่า “แด่ นวมทอง ไพรวัลย์”
ถาวรวัตถุที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงนวมทองน่าจะเกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2553 สุวรรณา ตาลเหล็กจากกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย เล่าว่า ในปี 2553 ระหว่างที่กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติหรือนปช. กำลังชุมนุมกันอยู่ที่ถนนราชดำเนิน มีการปั้นรูปจำลองของนวมทองลักษณะครึ่งท่อนบนขนาดเท่าตัวจริง โดยมีการนำเลือดของคนเสื้อแดงซึ่งร่วมกับกลุ่มนปช.มาผสมในดินเหนียวที่ใช้ทำรูปปั้นด้วย รูปปั้นของนวมทองถูกตั้งไว้ในที่ชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงแต่เมื่อมีการสลายการชุมนุมรูปปั้นของนวมทองก็ถูกยึดไป
ผู้ร่วมกิจกรรมรำลึกนวมทอง ไพรวัลย์ นำสติกเกอร์ต่อต้านการรัฐประหารติดด้านหลังของตัวเอง 31 ตุลาคม 2562
ภายหลังสถานการณ์สงบลงนักกิจกรรมกลุ่มหนึ่งพยายามติดตามรูปปั้นของนวมทองกลับมา ไม่มีรายละเอียดว่ารูปปั้นของนวมทองถูกพบที่ใดและอยู่ในความดูแลของบุคคลหรือหน่วยงานใดในช่วงเวลาที่หายไป รูปปั้นของนวมทองกลับมาปรากฎต่อสาธารณะชนอีกครั้งในงานรำลึก 6 ปี รัฐประหารซึ่งจัดขึ้นที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2555 สุวรรณาระบุว่าขณะนี้รูปปั้นของนวมทองอยู่ในความดูแลของกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย
รูปปั้นนวมทองขนาดเล็กและภาพถ่ายของนวมทอง ปัจจุบันกลุ่ม 24 มิถุนา ประชาธิปไตย เป็นผู้เก็บรักษา
สุวรรณาระบุด้วยว่าในระหว่างที่รูปปั้นนวมทองที่ผสมเลือดของคนเสื้อแดงหายไป ได้มีการจัดทำรูปปั้นจำลองของนวมทองเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งตัวขนาดเท่าตัวที่หายไปแต่ใช่ปูนปลาสเตอร์เป็นวัสดุ นอกจากนั้นก็มีการทำรูปปั้นขนาดเล็กขึ้นมาด้วยซึ่งทุกครั้งที่มีการจัดงานรำลึกถึงนวมทองตัวแทนกลุ่ม 24 มิถุนาจะนำรูปปั้นของนวมทองมาตั้ง ณ จุดที่เขาเสียชีวิตเพื่อทำกิจกรรมรำลึก
สดมภ์นวมทองในยุคคสช.
31 ตุลาคม 2556 ครบรอบ 7 ปี การเสียชีวิตนวมทอง กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติหรือนปช.จัดสร้างและทำพิธีเปิด “สดมภ์อนุสรณ์นวมทองไพร์วัลย์” ที่บริเวณใต้สะพานลอยหน้าหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ สดมภ์นวมทองเป็นเสาทรงสามเหลี่ยมสูง 2 เมตร ด้านที่หันออกสู่ถนนวิภาวดีรังสิตปรากฎภาพของนวมทอง วันที่เกิดและวันเสียชีวิตของเขา นอกจากนั้นก็จารึกข้อความที่นำมาจากจดหมายลาตายของเขา “ชาติหน้าเกิดมาคงไม่เจอการปฏิวัติอีก” และข้อความ “นิสัยคนไทย ฆ่าได้แต่หยามไม่ได้”
เสาด้านที่สองจารึกบทกวี “พลังประชาชน” ของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ คาดว่าเป็นเพราะข้อความตอนหนึ่งของบทกวีดังกล่าวเป็นข้อความที่ปรากฎบนเสื้อที่นวมทองสวมในวันที่เขาเสียชีวิต ส่วนอีกด้านที่สามจารึกมาตรา 1 ของพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2475 “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้น เป็นของราษฎรทั้งหลาย”
มีความน่าสนใจว่าในวันเดียวกับที่สดมภ์นวมทองถูกติดตั้ง สภาผู้แทนราษฎรมีการประชุมเพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมเป็นวาระที่สอง จากนั้นในเวลาประมาณ 4 นาฬิกาหรือเช้ามืดของวันที่ 1 พฤศจิกายน 2556 สภาผู้แทนราษฎรมีมติให้ความเห็นชอบ ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับ “เหมาเข่ง” ในวาระที่สาม ซึ่งกรณีดังกล่าวเป็นเหตุให้มีประชาชนออกมาชุมนุมคัดค้าน การชุมนุมคัดค้านร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมในเวลาต่อมาได้พัฒนาเป็นการชุมนุมขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
หลังจากนั้นวันที่ 28 พฤศจิกายน 2556 สุเทพ เทือกสุบรรณก็ประกาศจัดตั้งคณะกรรมการประชาชนเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (กปปส.) ซึ่งท้ายที่สุดการชุมนุมของกลุ่มกปปส.ได้กลายเป็นหนึ่งเงื่อนไขที่ทำให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.ในขณะนั้นอ้างเป็นเหตุในการทำรัฐประหาร หลังจากนั้นสดมภ์นวมทอง อนุสรณ์ของชายผู้หวังว่าจะไม่ต้องเกิดมาเจอกับการปฏิวัติ(รัฐประหาร) อีกได้การเป็นสถานที่แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในการคัดค้านการรัฐประหาร
ภาพการแขวนป้ายผ้าในโอกาสครบรอบ 8 ปี รัฐประหาร 19 กันยา 2549 ที่สะพานลอยหน้าหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ภาพจาก ประชาไท
ในวันที่ 19 กันยายน 2557 วันครบรอบ 8 ปีการรัฐประหาร 2549 นักกิจกรรมจากศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย (ศนปท.)ร่วมกันแขวนป้ายผ้าสีดำเขียนข้อความ “นายประชาธิปไตย ของไทย ชาตะ 24 มิ.ย.2475 มรณะ 19 ก.ย. 49 และล่าสุด…?” การรัฐประหารที่บริเวณสะพานลอยหน้าหนังสือพิมพ์ไทยรัฐซึ่งเป็นที่ตั้งของสดมภ์นวมทอง หลังจากนั้นในวันที่ 26 กันยายน 2557 นักกิจกรรมสามคนได้แก่ สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ เสกสรร สายสืบและทรงธรรม แก้วพันพฤกษ์ ถูกพนักงานสอบสวนสน.สุทธิสารออกหมายเรียกไปพบเพื่อเปรียบเทียบปรับคนละ 1000 บาทในความผิดตามพ.ร.บ.ความสะอาดฯจากกรณีนำป้ายผ้าไปแขวนบนสะพานลอยซึ่งเป็นที่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต
หลังจากนั้นในวันที่ 31 ตุลาคม 2557 ซึ่งเป็นวันครบรอบแปดปีการเสียชีวิตของนวมทอง มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่มาตรึงกำลังที่สดมภ์นวมทองตั้งแต่ตีสี่เพื่อเฝ้าระวังกลุ่มนักกิจกรรมที่จะมาแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ในช่วงสายวันเดียวกันนักกิจกรรมจากศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย (ศนปท.) มาที่สดมภ์นวมทองเพื่อวางพวงหรีดไว้อาลัย แต่เจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้พวกเขาทำกิจกรรมพร้อมทั้งเรียกแท็กซี่ให้นักกิจกรรมนั่งออกไปนอกพื้นที่ในทันที กลุ่มศนปท.จึงทำได้เพียงยืนถือพวงหรีดไว้อาลัยให้นวมทองบนพื้นถนนเป็นเวลาหนึ่งนาทีจากนั้นจึงขึ้นแท็กซี่ที่เจ้าหน้าที่เรียกให้และนำพวงหรีดกลับไปโดยไม่ได้วาง
เจ้าหน้าที่ตรึงกำลังที่ป้ายรถประจำทางหน้าหนังสือพิมพ์ไทยรัฐใกล้สะพานลอยซึ่งเป็นที่ตั้งสดมภ์นวมทอง 31 ตุลาคม 2557
ในปี 2558 มีการทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์เกิดขึ้นที่สดมภ์นวมทองอย่างน้อยสองครั้ง
ครั้งแรก ในเดือนมีนาคม พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ หรือ “พ่อน้องเฌอ” ญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมในปี 2553 ประกาศทำกิจกรรมเดินเท้าจากบ้านที่บางบัวทองเพื่อไปพบพนักงานสอบสวนที่สน.ปทุมวัน หลังเขากับนักกิจกรรมกลุ่ม “พลเมืองโต้กลับ” อีกสามคนถูกดำเนินคดีฝ่าฝืนประกาศคสช.ฉบับที่ 7/2557 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคน จากการทำกิจกรรม “เลือกตั้งที่(รัก)ลัก” ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2558 ที่หน้าหอศิลป์กรุงเทพ
พันธ์ศักดิ์และกลุ่มพลเมืองโต้กลับประกาศทำกิจกรรมเดินเท้า “พลเมืองรุกเดิน” ระหว่างวันที่ 14 – 16 มีนาคม 2558 ระหว่างทางจะมีการแวะทำกิจกรรมตามจุดต่างๆ เช่น ที่หมุดเฌอ ซอยร้างน้ำ ซึ่งเป็นบริเวณที่ลูกชายของพันธ์ศักดิ์ถูกยิงเสียชีวิต และที่ลานปรีดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สดมภ์นวมทอง ก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่พันธ์ศักดิ์และกลุ่มพลเมืองโต้กลับตั้งใจจะทำกิจกรรม โดยพันธ์ศักดิ์เองประกอบอาชีพขับรถแท็กซี่เช่นเดียวกับนวมทอง
ในวันที่ 14 มีนาคม หลังพันธ์ศักดิ์เดินเท้าจากบ้านที่บางบัวทองได้ประมาณ 5 กิโลเมตร เขาก็ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวทำให้ไม่สามารถเดินเท้าไปถึงสดมภ์นวมทองได้ดังตั้งใจ ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ Nutchapakorn Nummueng ซึ่งติดตามข่าวนี้อยู่ตัดสินใจสานต่อภารกิจของพันธ์ศักดิ์ด้วยการเดินทางจากถนนแจ้งวัฒนะมายังสดมภ์นวมทองแทน โดยเขาให้เหตุผลในการทำกิจกรรมต่อจากพันธ์ศักดิ์ไว้ตอนหนึ่งว่า
“ผมคิดไปเองว่า มันต้องสานต่อเจตนารมณ์ดิ คือ เรากำลังเดินเพื่อพิสูจน์ว่านี้คือการต่อต้านความอยุติธรรมโดยสันติวิธี ถ้าพันธ์ศักดิ์โดนจับแล้วทุกคนหยุดมันก็จบ แต่คนที่หยุดเพื่อไปให้กำลังใจพี่เหน่งผมก็เห็นด้วย แต่มันต้องมีคนเดินต่อ เพราะเรากำลังเรียกร้องความเป็นธรรม การเคารพในสิทธิเสรีภาพของประชาชน
และอีกใจหนึ่งผมคิดถึงลุงนวมทอง คือลุงนวมทองในความเข้าใจผมเป็นคนที่ไม่ยอมรับการรัฐประหาร โดยการเอาชีวิตพิสูจน์อุดมการณ์ของแก ในขณะที่หลายคนชื่นชมลุงนวมทอง แต่พอมีคนโดนจับ เราหยุด เราไม่แสดงจุดยืนต่อ ซึ่งผมว่าถ้าเราไม่เดินต่อ ลุงคงเสียใจ ผมก็คิดว่าไม่ได้ ต้องไปหาแกให้ได้ ว่ายังมีคนที่ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอยู่ ปัญหามันคือ รัฐควรต้องเคารพสิทธิพลเมืองให้มากกว่านี้”
หลังจากนั้นวันที่ 31 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันครบรอบการเสียชีวิตของนวมทอง ในเวลาประมาณ 9.00 น. แกนนำกลุ่มนปช. กลุ่ม 24 มิถุนาฯ ประชาธิปไตย และประชาชนจำนวนหนึ่งเดินทางมาวางดอกไม้เพื่อรำลึกถึงนวมทอง แม้เจ้าหน้าที่จะปล่อยให้พวกเขาทำกิจกรรมได้แต่กิจกรรมก็ดำเนินไปโดยมีทั้งเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจจับตาอย่างใกล้ชิด เจ้าหน้าที่ยังตั้งกองอำนวยการร่วมที่บริเวณศาลารอรถประจำทางด้านหน้าสำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐด้วย
ผู้ร่วมกิจกรรมคนหนึ่งที่สดมภ์นวมทอง 31 ตุลาคม 2562
ในปี 2559 มีกลุ่มศิลปินนัดหมายกันแสดงดนตรีที่สดมภ์นวมทองภายใต้ชื่อ “ร้องเพลงให้ลุง(นวมทอง)ฟัง” ในวันที่ 19 กันยายน 2559 ทว่าพวกเขาก็ไม่สามารถแสดงดนตรีได้ตามความประสงค์เพราะถูกเจ้าหน้าที่ห้ามโดยอ้างอำนาจตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 และพ.ร.บ.ชุมนุมฯ และแม้กลุ่มศิลปินจะนัดหมายกันในเวลา 16.30 แต่มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่มาประจำการรอที่สดมภ์นวมทองตั้งแต่เวลาประมาณ 13.00 น. แล้ว
ความในใจถึงนวมทอง
นับถึง 31 ตุลาคม 2562 นวมทอง ไพร์วัลย์เสียชีวิตไปแล้ว 13 ปี ส่วนสดมภ์นวมทองก็ถือกำเนิดขึ้นมาแล้ว 6 ปี ทว่าชื่อและความทรงจำถึงคนขับแท็กซี่ธรรมดาๆคนหนึ่งก็ยังไม่เลือนหายไป อย่างน้อยๆก็ในกลุ่มคนที่ทำกิจกรรมทางการเมืองและที่สำคัญที่สุดภรรยาและลูกของเขา
บุญชู ไพรวัลย์ ภรรยาของนวมทองที่สดมภ์นวมทอง 31 ตุลาคม 2562
เช้าวันที่ 31 ตุลาคม 2562 บุญชู ไพรวัลย์ ภรรยาของนวมทองพร้อมด้วยลูสาวของนวมทองมาวางดอกไม้รำลึกถึง “สามี” และ “พ่อ” ของพวกเธอ บุญชูเล่าว่าวันนี้เธอมาวางดอกไม้เพื่อรำลึกถึงสามี ปีนี้เป็นที่ 13 แล้วแต่ความรู้สึกเหมือนยาวนานกว่านั้น เธอยังจำได้ว่า นวมทองสนใจการเมือง แต่ไม่ค่อยพูดเรื่องการเมืองกับเธอมากนัก การตัดสินใจของนวมทองที่จะพลีชีพก็ไม่เคยมีสัญญาณเตือนให้รู้มาก่อน ในจดหมายลาที่ระบุว่า ให้เธอภูมิใจในตัวเขานั้น เธอยอมรับว่า รู้สึกภูมิใจในสิ่งที่นวมทองทำลงไป ทุกวันนี้เธอยังคิดอยู่เสมอว่า นวมทองยังอยู่ ไม่ได้จากไปไหน และดีใจที่ทุกคนยังคงมารำลึกและไม่ลืมสามีของเธอ
“วันนี้เป็นอีกครั้งหนึ่งที่พวกเราในฐานะผู้ร่วมอุดมการณ์ประชาธิปไตยมารวมตัวกันที่นี่ เพื่อแสดงความไว้อาลัยและสดุดีต่อความองอาจกล้าหาญของนวมทองที่ยืนยันหลักการประชาธิปไตยต่อการเผด็จการอย่างถึงที่สุด สละชีวิตเพื่อรักษาเกียรติยศศักดิ์ศรีของประชาชน
ปีนี้เป็นปีที่ 13 ซึ่งเป็นความเจ็บปวดอีกครั้งที่ต้องมารำลึกถึงวีรชนผู้ต้านเผด็จการในยุคที่บ้านเมืองยังปกครองด้วยรัฐบาลสืบทอดอำนาจเผด็จการ ประวัติศาสตร์ของนวมทอง ไพรวัลย์ อธิบายกับเราว่า ประชาชนคนธรรมดา คนหาเช้ากินค่ำ แต่ถ้ายึดมั่นในหลักการประชาธิปไตย ยิ่งทะนงในเกียรติยศศักดิ์ศรีแห่งความเป็นประชาชน เขาก็ไม่พร้อมที่จะยอมรับการกดขี่หรืออำนาจอันไม่ชอบธรรมใดๆ การต่อสู้ของนวมทองยังไม่สูญเปล่า แม้ว่า เวลานี้ระบอบประชาธิปไตยยังประสบภาวะบาดเจ็บสาหัสถึงขั้นใกล้ตายก็ตาม แต่เราเชื่อมั่นว่า วันหนึ่งวิถีแห่งประชาธิปไตยก็จะกลับคืนมาสู่สังคมไทย
บ้านเมืองเวลานี้ผมนึกถึงลุงสองคนคือ ลุงคนหนึ่งชื่อนวมทอง ขับแท็กซี่พุ่งเข้าชนรถถังเพื่อปฏิเสธอำนาจเผด็จการ ขณะที่ลุงอีกคนหนึ่งซึ่งเป็นคนที่คุณก็รู้ว่า ใครสั่งการรถถังขับมาบนท้องถนนวิ่งชนอำนาจอธิปไตยของประชาชนและยึดเอาเป็นของตนเองมาตลอดเวลากว่าห้าปีและใช้อำนาจใช้เล่ห์กลทุกอย่าง สืบทอดอำนาจของคนและพวกจนถึงปัจจุบันนี้
ส่วนตัวผม ผมเคารพศรัทธาและชื่นชมลุงนวมทองและอยากจะบอกลุงอีกคนว่า คนอย่างลุงนวมทองไม่ได้มีเพียงคนเดียว ผมแน่ใจว่า คนที่คิดแบบนี้เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ อยากให้ลุงคนนั้นรับฟังความรู้สึกของประชาชนบ้าง ประชาชนไม่ได้มองตัวท่านเป็นศัตรู แต่มองว่า อำนาจเผด็จการเป็นหน้าที่ของประชาชนที่จะต่อต้าน ดังนั้นขอท่านอย่าได้เอาประชาชนเป็นศัตรู ขอให้เพียงรับรู้ว่า สิ่งที่มันเกิดขึ้น มันขาดความชอบธรรม มันไม่ถูกต้องตามหลักการและเราก็จะยืนยันที่จะปฏิเสธอำนาจเผด็จการตามวิถีทางต่อไป”
ณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ สวมเสื้อคนขับแท๊กซี่จำเลองมาวางดอกไม้ระลึกถึงนวมทอง 31 ตุลาคม 2562
คือบางช่วงบางตอนที่ ณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ หนึ่งในแกนนำนปช.ให้สัมภาษณ์สื่อมวลหลังวางดอกไม้ที่สดมภ์นวมทองในวันที่ 31 ตุลาคม 2562 ณัฐวุฒิมาร่วมกิจกรรมในวันนี้โดยสวมเสื้อเชิ้ตแขนสั้นสีฟ้าอ่อนคล้ายเสื้อที่คนขับแท็กซี่สวมใส่ปักชื่อ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่หน้าอกด้านซ้าย ซึ่งคาดว่าน่าจะทำขึ้นมาเฉพาะสำหรับกิจกรรมในวันนี้เพื่อให้เกียนตินวมทองซึ่งเป็นคนขับแท็กซี่ นอกจากณัฐวุฒิและแกนนำนปช.เช่น ก่อแก้ว พิกุลทอง, เหวง โตจิราการและธิดา โตจิราการ ก็มาร่วมกิจกรรมในช่วงเช้าวันที่ 31 ตุลาคมด้วยเช่นกัน
ขณะที่ในช่วงค่ำ ญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553 ได้แก่พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ หรือ “พ่อน้องเฌอ”และพะเยาว์ อัคฮาดหรือ “แม่น้องเกด” พยาบาลอาสาที่เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมพร้อมด้วยตัวแทนกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตยและประชาชนอีกประมาณ 20 คนร่วมกันวางดอกไม้และจุดเทียนรำลึกถึงนวมทอง
“เมื่อ13 ปีที่แล้ว คุณลุงนวมทองได้ใช้ชีวิตของตัวเองในการยืนยันให้กับโลก ให้กับสังคมไทย และให้กับทหารไทยได้รู้ว่า ประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่มีค่ากับทุกคนและมีค่ามากพอที่คนคนนึงจะยอมอุทิศหรือแม้กระทั่งเสียสละชีวิตเพื่อสิ่งนั้นได้ ประชาธิปไตยไม่ใช่แค่เรื่องของหลักการสวยหรูแต่ประชาธิปไตยคือโอกาสที่เรา คนรอบตัวเรา และเพื่อนมนุษย์ทั้งโลก ทั้งประเทศ จะได้มีโอกาสมีชีวิตที่ดีกว่า มีอนาคตที่ก้าวหน้า และมีโอกาสในชีวิตที่ทัดเทียม แต่แน่นอนโอกาสเหล้านั้นคงจะมาไม่ถึง ถ้าประชาธิปไตยยังถุกย่ำยีโดยคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
ลุงนวมทองเป็นเพียงสามัญชนคนหนึ่งที่ลุกขึ้นมาประกาศว่าประชาธิปไตยนั้นสำคัญต่อสามัญชนคนอื่นๆอย่างไร ในขั้นต้นลุงนวมทองขับรถแท๊กซี่ชนรถถัง แม้จะรู้ว่ารถแท็กซี่กับรถถังมันเทียบกันไม่ได้ แต่ลุงนวมทองชนเพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าแม้เราจะเป็นเพียงสามัญชน เป็นคนธรรมดามือเปล่า ไม่มีเงิน ไม่มีอาวุธ ไม่มีอำนาจ แต่เราก็จะต้องต่อต้านกับสิ่งที่ไม่ถุกต้อง เราเป็นประชาชน เราไม่มีทางแพ้ ไม่ว่าอำนาจจะใหญ่เท่าไหร่ตราบใดที่เรายังคิด และยังทำตามความรู้สึกในการต่อสู้กับสิ่งที่ถูกต้อง การต่อสู้ของเราจะยังคงอยู่และเราก็จะไม่แพ้”
พริษฐ์ ชิวารักษ์ ระหว่างงานรำลึกนวมทอง ไพรวัลย์ 31 ตุลาคม 2562
พริษฐ์ ชิวารักษ์ จากสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย กล่าวถึงนวมทองตอนหนึ่งก่อนวางพวงหรีด ขณะที่อรัญญิกา จังหวะ บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ก็พูดถึงนวมทองว่า “ถึงเราจะไม่ทันการต่อสู้ในยุคสมัยของลุงนวมทอง แต่เราก็รับรู้ผ่านการกระทำและสิ่งสิ่งที่ยังคงอยู่ หัวจิตหัวใจที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ที่ไม่ยอมรับการรัฐประหาร ไม่ยอมรับเผด็จการ เราไม่อยากให้ลุงนวมทองหายไปเป็นแค่สดมภ์ที่ตั้งไว้แล้วถูกลืมเลือนไปจากความทรงจำ แต่เราอยากให้ทุกคนตระหนักว่าครั้งหนึ่งเคยมีคนที่เสียสละเพื่ออุดมการณ์ของเขาและไม่ยอมรับกับอำนาจของเผด็จการที่มาทำลายประชาธิปไตยของประเทศ”
“ว่ากันว่าขนาดของหัวใจจะเท่ากับกำปั้นของคนเรา ในฐานะแท็กซี่ด้วยกันผมไม่เชื่อว่าหัวใจของลุงนวมทองจะใหญ่กว่าหัวใจผม แต่ผมเชื่อว่าส่วนประกอบหัวใจของลุงนวมทองคงอุดมไปด้วยความแกร่ง ถึงกล้าขับรถแท็กซี่ชนกับรถถัง
มีคำพูดจำนวนมากพูดถึงไม่เฉพาะลุงนวมทอง พูดถึงคนที่เสียชีวิตเพราะรักประชาธิปไตยว่า เป็นการเสียชีวิตที่สูญเปล่า ผมไม่แน่ใจว่ามันสูญเปล่าจริงไหม มันขึ้นอยู่กับว่าเราจะใช้มุมมองไหนตัดสินใจ ถ้าคุณคิดว่าสูญเปล่ามันก็สูญเปล่า ถ้าคุณคิดว่ามันคือการพาประชาธิปไตยไปข้างหน้า มันก็เป็นอีกเรื่องนึง
ถ้าลุงนวมทองยังมีชีวิตอยู่จนถึงทุกวันนี้ ไม่แน่ใจว่าลุงนวมทองจะยินดีกับเผด็จการครึ่งใบแบบทุกวันนี้หรือเปล่า แต่เชื่อว่ายังมีคนที่พร้อมที่จะเดินตามรอยลุงนวมทองต่อไปแม้ว่าหัวใจจะไม่กล้าพอขับรถแท็กซี่ชนรถถังแบบที่ลุงนวมทองทำมา”
พันธ์ศักดิ์ เพื่อนร่วมอาชีพและมิตรร่วมอุดมการณ์กล่าวความในใจถึงลุงนวมทอง
พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ “พ่อน้องเฌอ” วางดอกไม้ระลึกถึงนวมทอง 31 ตุลาคม 2562
แสงไฟที่มืดลง… จนกว่าเราจะพบกันใหม่
กิจกรรมรำลึกนวมทองไพรวัลย์ในวันที่ 31 ตุลาคม 2562 ทั้งภาคเช้าและค่ำดำเนินไปภายใต้การจับตาจากเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบอย่างใกล้ชิด ผู้กำกับการสน.บางซื่อที่มาดูแลพื้นที่ระหว่างที่กิจกรรมในภาคเช้าดำเนินไประบุว่า เจ้าหน้าที่วางกำลังดูแลพื้นที่ตามปกติเหมือนที่ทำเวลามีกิจกรรมรำลึกที่นี่ตลอดหลายปีที่ผ่านมาเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อย สิ่งที่เจ้าหน้าที่หวั่นเกรงคือจะมีบุคคลอื่นมากระทำการใดกับกลุ่มที่มาร่วมกิจกรรมรำลึกแต่ที่ผ่านมาก็ไม่มีเหตุขัดแย้งหรือวุนวายที่เกิดกับกิจกรรมนี้แต่อย่างใด สิ่งที่ผู้กำกับสน.บางซื่อซื่อระบุดูจะไม่ผิดนักเพราะหลายๆครั้งการทำกิจกรรมรำลึกก็ดำเนินไปโดยที่เจ้าหน้าที่ไม่ได้เข้ามาแทรกแซง แต่หากย้อนไปดูเหตุการณ์ช่วงปี 2557 หรือ 2559 ดังที่กล่าวไปข้างต้น คำกล่าวของท่านผู้กำกับก็อาจจะถูกไม่หมดเพราะครั้งนั้นเจ้าหน้าที่ไม่ได้มาเพื่อดูแลความเรียบร้อยแต่มาเพื่อห้ามทำกิจกรรม
รถของเจ้าหน้าที่ตำรวจยังคงจอดอยู่ที่สดมภ์นวมทองหลังผู้ร่วมกิจกรรมสลายตัวไปแล้ว 31 ตุลาคม 2562
กิจกรรมในค่ำคืนวันที่ 31 ตุลาคม 2562 ดำเนินไปอย่างเงียบๆเป็นเวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง ผู้ที่มาเข้าร่วมก็แยกย้ายกันกลับ สุวรรณาซึ่งเป็นตัวแทนกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตยหยิบรูปหล่อนวมทองขนาดเล็กและรูปถ่ายของนวมทองกลับไปเพื่อเก็บรักษา แสงไซเลนสีแดงจากรถตำรวจยังคงสาดส่องไปที่สดมภ์นวมต่อไปอีกประมาณ 5 – 10 นาทีระหว่างที่ผู้มาร่วมกิจกรรมแยกย้ายกันกลับบ้าน เมื่อรถตำรวจแล่นออกไปสดมภ์นวมทองก็กลับเข้าสู่ความมืด สดมภ์นวมทองคงจะอยู่ในสภาวะเงียบสงบไปจนกว่าจะถึงวันครบรอบการรัฐประหาร 19 กันยา หรือครบรอบวันเสียชีวิต จึงจะกลับมาคึกคักและสว่างไสวด้วยแสงเทียนกับไซเลนส์รถตำรวจอีกครั้ง
พันธ์ศักดิ์ เพื่อนร่วมอาชีพและมิตรร่วมอุดมการณ์กล่าวความในใจถึงลุงนวมทอง