ศาลทยอยยกฟ้อง คดี “ชุมนุมเกินห้าคน” หลัง คสช. ยกเลิกคำสั่งห้าม “กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง” ต้องสู้คดีข้อหาอื่นต่อไป

-'ชุมนุมเกินห้าคน'--

การชุมนุมทางการเมืองซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน กลายเป็นความผิดทางอาญาตั้งแต่ คสช. เข้ายึดอำนาจ ผ่านการออกประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 กำหนดให้ผู้ที่ฝ่าฝืนไปชุมนุมมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี และปรับไม่เกิน 20000 บาทด้วย และเกือบหนึ่งปีต่อมาพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 กำหนดห้ามการชุมนุมทางการเมืองเช่นเดียวกัน แต่กำหนดโทษทั้งจำคุกและปรับต่ำลงมาครึ่งหนึ่ง รวมทั้งเปิดช่องไว้ด้วยว่าหากเป็นการชุมนุมจะทำได้เมื่อได้รับอนุญาตจาก คสช. ต่อมาในวันที่ 11 ธันวาคม 2562 เมื่อมีการออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 22/2561 มายกเลิกข้อห้ามชุมนุมทางการเมือง เพื่อเปิดทางไปสู่การเลือกตั้ง

ตลอดระยะเวลา 4 ปี 6 เดือน 20 วัน หรือ 1,665 วัน ที่ประกาศและคำสั่งห้ามชุมนุมถูกบังคับใช้ มีประชาชนผู้ยืนยันจะใช้เสรีภาพในการชุมนุมของพวกเขาถูกดำเนินคดีไปอย่างน้อย 421 คน เท่าที่ไอลอว์ยืนยันได้ครั้งสุดท้ายที่คำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 ถูกนำมาใช้ดำเนินคดีกับผู้ชุมนุม ได้แก่ กรณีการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งในวันที่ 22 พฤษภาคม 2561 ซึ่งครั้งนั้นมีผู้ชุมนุมถูกตั้งข้อกล่าวหารวม 62 คน 

เมื่อคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ถูกยกเลิก ในทางกฎหมายมีความหมายว่า เป็นการออกกฎหมายใหม่เพื่อกำหนดให้การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งไม่เป็นความผิดอีกต่อไป ผู้ที่ได้กระทำการซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นความผิดก็ต้องถือว่าพ้นจากความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 2 วรรคสอง ในกรณีที่ผู้ชุมนุมถูกฟ้องด้วยความผิดตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 เพียงข้อหาเดียว หากเป็นผู้ต้องคำพิพากษาที่เป็นที่สุดก็ต้องถือว่าเป็นผู้ไม่มีความผิด หากอยู่ระหว่างรับโทษจำคุกด้วยข้อหานี้ต้องได้รับการปล่อยตัวทันที และหากอยู่ระหว่างการดำเนินคดีในชั้นศาล ศาลก็ต้องพิพากษายกฟ้อง เว้นแต่ผู้ชุมนุมจะถูกฟ้องข้อหาอื่นด้วย คดีก็จะยุติเฉพาะส่วนคำสั่งฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 เท่านั้น 

เท่าที่ไอลอว์มีข้อมูล วันที่คำสั่ง “ห้ามชุมนุมเกินห้าคน” ถูกยกเลิก มีคดีที่ยังอยู่ในชั้นพิจารณาของทั้งศาลทหารและศาลยุติธรรมอย่างน้อย 16 คดี เป็นคดีที่อยู่ในชั้นฎีกา 1 คดี คือ คดีของอภิชาต เป็นคดีที่อยู่ในการพิจารณาของศาลชั้นต้น 15 คดี เช่น คดีชูป้ายต้านรัฐประหารที่จังหวัดขอนแก่นของจตุภัทร์และภานุพงศ์ซึ่งถูกแยกฟ้องเป็นสองสำนวนคดี  คดีเวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหารที่จังหวัดเชียงใหม่ และคดีการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่มีทั้งหมด 10 คดี และมีคดีที่อยู่ในขั้นตอนอื่นๆ อีก 10 คดี ได้แก่ คดีเปิดศูนย์ปราบโกงที่อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรีซึ่งอยู่ในชั้นอัยการ คดีพรรคเพื่อไทยจัดแถลงข่าวในโอกาสครบรอบสี่ปีการรัฐประหาร ซึ่งอยู่ในชั้นสอบสวนและคดีของกลุ่มนักศึกษาที่จัดชุมนุมในโอกาสครบรอบ 1 ปีการรัฐประหารที่หอศิลป์กรุงเทพ ซึ่งมีจำเลย 4 คน จากผู้ต้องหาทั้งหมด 9 คนที่ถูกอัยการทหารสั่งฟ้องคดีไปแล้ว 

สำหรับสถานะของคดีตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 จากการตรวจสอบในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2562 มีคดีที่เข้าสู่ชั้นศาลแล้วอย่างน้อย 19 คดี ในจำนวนดังกล่าวเป็นคดีที่สิ้นสุดแล้ว 6 คดี ได้แก่ คดีจตุภัทร์หรือ “ไผ่ ดาวดิน” ชูป้ายคัดค้านรัฐประหาร คดี ภาณุพงศ์หรือ “ไนซ์ ดาวดิน” ชูป้ายคัดค้านรัฐประหาร คดีกิจกรรมปัดฝุ่นประชาธิปไตย คดีกิจกรรมเสวนาพูดเพื่อเสรีภาพ คดีเวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร และคดีแกนนำนปช.เปิดศูนย์ปราบโกง มีข้อน่าสังเกตด้วยว่ามีอยู่สองคดีที่อัยการฟ้องคดีหลังคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ถูกยกเลิกคือคดีการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่พัทยา และคดีการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่จังหวัดเชียงใหม่ อัยการการเจ้าของสำนวนกับมีแนวทางที่แตกต่างกัน คดีที่พัทยาอัยการฟ้องผู้ต้องหาทั้งเจ็ดในข้อหาไม่แจ้งการชุมนุมตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯแต่สั่งไม่ฟ้องข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง 3/2558 ส่วนที่จังหวัดเชียงใหม่อัยการฟ้องผู้ต้องหาหกคนทั้งในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งฉบับที่ 3/2558 และข้อหาใช้เครื่องเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต สำหรับคดีที่เหลืออีกเจ็ดคดี มีห้าคดีที่อยู่ในชั้นอัยการแต่ยังไม่มีการฟ้องต่อศาลคือ คดีการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่หอศิลป์กรุงเทพ (คดีผู้ร่วมการชุมนุม) คดีการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่ราชดำเนิน ที่หน้ากองทัพบก และที่หน้าองค์การสหประชาชาติ คดีเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติที่ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ส่วนอีกสองคดีคือคดีนักศึกษาดาวดินชูป้ายคัดค้านการรัฐประหารในส่วนของผู้ต้องหาที่เหลืออีกห้าคนและคดีนักกิจกรรมชูป้ายคัดค้านรัฐประหารที่หอศิลป์กรุงเทพในวันครบรอบหนึ่งปีการรัฐประหาร     

ลำดับที่คดีสถานะ
1อภิชาต ชูป้ายต้านรัฐประหารชั้นฎีกา
2ขอนแก่นโมเดลอยู่ระหว่างการพิจารณา (มีข้อหาอื่นด้วย)
3สมบัติ พรรณมณี ชุมนุม พ่นสีใส่รถทหารอยู่ระหว่างการพิจารณา (มีข้อหาอื่นด้วย)
4พลเมืองโต้กลับ ทำกิจกรรม เลือกตั้งที่(รัก)ลักนัดฟังคำสั่งศาลวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2562
5จตุภัทร์ ชุมนุมต้านรัฐประหารที่ขอนแก่นจำหน่ายคดี
6ภาณุพงษ์ ชุมนุมต้านรัฐประหารที่ขอนแก่นจำหน่ายคดี
7นักกิจกรรมดาวดินชูป้ายต้านรัฐประหารนอกจากบุคคลในคดีลำดับที่ 5 และ 6 คดีของผู้ต้องหาคนอื่นยังอยู่ในชั้นสอบสวน
8ธัชพงษ์ ณัชชชา พรชัย และ รังสิมันต์ฟังคำสั่งวันที่ 5 มีนาคม 2562
9นักกิจกรรมชุมนุมคัดค้านรัฐประหารที่หน้าหอศิลป์กรุงเทพนอกจากบุคคลในคดีลำดับที่ 7 คดีของผู้ต้องหาคนอื่นยังอยู่ในชั้นสอบสวน
10นั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ฟังคำสั่งวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2562
11เปิดศูนย์ปราบโกงประชามติที่อ.บ้านโป่งนัดฟังคำสั่งอัยการวันที่ 29 มีนาคม 2562
12แจกเอกสารโหวตโนประชามติที่บางพลีจำหน่ายคดี และรอฟังคำสั่งเรื่องเขตอำนาจศาล
13กิจกรรมปัดฝุ่นประชาธิปไตยจำหน่ายคดี
14งานเสวนา พูดเพื่อเสรีภาพ รัฐธรรมนูญกับคนอีสานจำหน่ายคดี
15นักกิจกรรมถือป้าย เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหารยกฟ้อง
16การชุมนุมของคนกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่หอศิลป์กรุงเทพ #MBK39 (คดีแกนนำ)นัดสืบพยานเดือนมิถุนายน 2562 (มีข้อหาอื่นด้วย)
17การชุมนุมของคนกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่หอศิลป์กรุงเทพ #MBK39 (คดีผู้เข้าร่วม)นัดฟังคำสั่งคดีวันที่ 30 เมษายน 2562
18การชุมนุมของคนกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่ราชดำเนิน #RDN50 (คดีแกนนำ)นัดสืบพยานเดือนสิงหาคม 2562 (มีข้อหาอื่นด้วย)
19การชุมนุมของคนกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่ราชดำเนิน #RDN50 (คดีผู้เข้าร่วม)นัดฟังผลคดี 12 กุมภาพันธ์ 2562
20การชุมนุมของคนกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่หน้ากองทัพบก #Army57 (คดีแกนนำ)นัดฟังคำสั่งอัยการ 28 กุมภาพันธ์ 2562 (มีข้อหาอื่นด้วย)
21การชุมนุมของคนกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่หน้ากองทัพบก #Army57 (คดีผู้เข้าร่วม)นัดตรวจพยานหลักฐานวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562 (มีข้อหาอื่นด้วย)
22การชุมนุมของคนกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่หน้าสหประชาชาติ #UN62 (คดีผู้จัดชุมนุม)นัดฟังคำสั่งอัยการ 28 กุมภาพันธ์ 2562 (มีข้อหาอื่นด้วย)
23การชุมนุมของคนกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่หน้าสหประชาชาติ #UN62 (คดีผู้เข้าร่วม)นัดตรวจพยานหลักฐาน 17 เมษายน 2562 (มีข้อหาอื่นด้วย)
24การชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่พัทยา #PTY7อัยการสั่งไม่ฟ้องในข้อหา 3/2558 แต่ดำเนินคดีในข้อหาไม่แจ้งการชุมนุมตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ
25การชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่เชียงใหม่ #CMU6อัยการสั่งฟ้องคดีในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2562 (มีข้อหาอื่นด้วย)
26แกนนำพรรคเพื่อไทยแถลงข่าวครบรอบ 4 ปี การรัฐประหารยังอยู่ในชั้นสอบสวน

หลังมีการยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 ศาลยุติธรรมและศาลทหารมีพิพากษายกฟ้องและจำหน่ายคดีไปแล้วจำนวนหนึ่ง ได้แก่ 

1. วันที่ 25 ธันวาคม 2561 ศาลแขวงเชียงใหม่พิพากษายกฟ้องห้าจำเลยคดีเวทีวิชาการไม่ใช่ต่ายทหาร จากกรณีที่จำเลยในคดีนี้ 3 คน ชูป้ายเขียนข้อความ “เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร” ระหว่างการประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษาที่จังหวัดเชียงใหม่ 

2. วันที่ 16 มกราคม 2562 ศาลทหารกรุงเทพมีคำสั่งจำหน่ายคดีที่ แกนนำกลุ่มนปช. 19 คน ถูกฟ้องจากการจัดกิจกรรมเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติ ที่ห้างบิ้กซีลาดพร้าว

3. วันที่ 17 มกราคม 2561 ศาลทหารกรุงเทพมีคำสั่งจำหน่ายคดี “ปัดฝุ่นประชาธิปไตย” ที่นักกิจกรรมเจ็ดคนเดินเท้าไปทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ที่อนุสาวรีย์ปราบกบฎ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2559

4-5. วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2562 ศาลทหารขอนแก่นมีคำสั่งจำหน่ายคดี ของนักกิจกรรมกลุ่มดาวดินสองคนที่ชูป้ายคัดค้านการรัฐประหาร ตั้งแต่ 22 พฤษภาคม 2558 ซึ่งมีการฟ้องแยกเป็นสองสำนวนคดีในคดีที่จำเลย คือ จตุภัทร์ หรือ “ไผ่ ดาวดิน” และคดีของภาณุพงษ์ หรือ “ไนซ์ ดาวดิน”

6. วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2562 ศาลทหารขอนแก่นมีคำสั่งจำหน่ายคดี ของนักกิจกรรมที่จัดเสวนา “พูดเพื่อเสรีภาพ รัฐธรรมนูญกับคนอีสาน” ซึ่งเป็นกิจกรรมที่จัดในช่วงใกล้กับการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญในปี 2559 

นับถึงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2562 มีคดีที่ยุติไปจากชั้นศาลแล้วอย่างน้อย 6 คดี โดยมีข้อน่าสังเกตว่า แม้ศาลพลเรือนและศาลทหารจะใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 2 วรรคสอง มาเป็นฐานในการยุติคดีเหมือนกัน แต่ในกรณีของศาลพลเรือนจะมีการออกเป็นคำพิพากษายกฟ้อง ส่วนกรณีของศาลทหารจะใช้เป็นการจำหน่ายคดี 

สำหรับคดีอื่นๆ ที่ยังอยู่ในชั้นพิจารณาและจะมีนัดพิจารณาคดีในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ได้แก่ คดีนั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ และคดีจากการจัดกิจกรรมเลือกตั้งที่(รัก)ลัก ของกลุ่มพลเมืองโต้กลับ ซึ่งศาลทหารกรุงเทพนัดพิจารณาในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2562 โดยทั้งสองคดีจำเลยถูกฟ้องในความผิดฐานชุมนุมทางการเมืองเกินห้าคนเพียงข้อหาเดียว จึงมีความเป็นไปได้ว่า อาจจะมีการสั่งจำหน่ายคดีเช่นเดียวกับคดีที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ 

ส่วนคดีแจกเอกสารรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ที่ชุมชนเคหะบางพลี ซึ่งศาลทหารกรุงเทพนัดพิจารณาคดีในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ จำเลยยังถูกตั้งข้อหาชุมนุมพ่วงกับข้อหาตามพ.ร.บ.ประชามติฯ ด้วย คดีในส่วนของพ.ร.บ.ประชามติจึงยังคงจะดำเนินต่อไป แต่ก็มีข้อน่าสนใจว่า คดีพ.ร.บ.ประชามติฯ เป็นข้อหาที่ไม่ได้อยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลทหาร เมื่อข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ซึ่งเป็นข้อหาที่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลทหารถูกยกเลิกไปแล้ว คดีนี้จะยังคงอยู่ในอำนาจของศาลทหารหรือจะมีการย้ายไปพิจารณาในศาลพลเรือน

สำหรับคดีการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่มีทั้งหมด 10 คดี มีเพียงคดีการชุมนุมที่ราชดำเนิน #RDN50 (คดีของผู้ร่วมชุมนุม) คดีเดียวที่จำเลยถูกตั้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 เพียงข้อหาเดียว ส่วนคดีที่เหลือจำเลยจะถูกตั้งข้อกล่าวหาอื่นเพิ่มเติมด้วย เช่น ข้อหายุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 หรือข้อกล่าวหาตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ เป็นต้น โดยศาลแขวงดุสิตนัดฟังคำสั่งคดีวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าคดีนี้อาจจะยุติ ส่วนคดีอื่นๆ ที่มีการตั้งข้อกล่าวหาอื่นเพิ่มเติมศาลอาจดำเนินคดีต่อไป แล้วไปยกฟ้องความผิดตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ในขั้นตอนของการทำคำพิพากษา  

ทั้งนี้ คดีชุมนุมอีกหลายคดีที่ยังอยู่ในชั้นการพิจารณาของอัยการ อย่าง คดีเปิดศูนย์ปราบโกงที่อ.บ้านโป่ง ซึ่งผู้ต้องหาถูกตั้งข้อกล่าวหาในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 เพียงข้อหาเดียว อัยการกลับยังไม่มีคำสั่งคดีทั้งๆ คดีดังกล่าวมีนัดในวันที่ 25 มกราคม 2562 โดยอัยการเลื่อนนัดฟังคำสั่งคดีออกไปเป็นวันที่ 29 มีนาคม 2562 โดยให้เหตุผลว่า เคยสั่งให้พนักงานสอบสวนสอบพยานเพิ่มเติมและยังไม่ได้รับสำนวนคดีกลับมา จึงยังสั่งคดีไม่ได้ ทั้งที่ข้อหาก็ถูกยกเลิกไปแล้ว ทำให้แม้ว่า สถานะทางกฎหมายของผู้ต้องหาคดีนี้น่าจะเป็นผู้บริสุทธิ์ไปแล้วแต่เมื่ออัยการยังไม่มีคำสั่งคดีพวกเขาก็ยังมีภาระต้องมาตามนัดอัยการในนัดถัดไป  

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage