ภาพของรถตำรวจมาจอดรอหน้าเรือนจำและตำรวจควบคุมตัวจำเลยอีกครั้งแทบจะในทันทีที่พวกเขาได้สูดกลิ่นอายของโลกภายนอกเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นหลายครั้ง ในวันที่กรมราชทัณฑ์มีหมายปล่อยจำเลยหลังจากรับโทษครบกำหนด หรือศาลได้มีคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยระหว่างการพิจารณาคดีหนึ่งๆ ลักษณะดังกล่าว คือ การควบคุมตัวจำเลยซ้ำอีกครั้งหรือที่เรียกว่า การอายัดซ้ำ ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติในกรณีจำเลยหรือผู้ต้องหามีคดีติดตัวมากกว่าหนึ่งคดี
การถูกอายัดตัวซ้ำ เป็นสถานการณ์ที่สร้างผลกระทบกับสภาพจิตใจของผู้ต้องหาได้ง่าย เพราะผู้ต้องหาเตรียมตัวเตรียมใจที่จะพบกับอิสรภาพแล้ว แต่เมื่อได้เดินออกจากสถานที่คุมขังก็ต้องถูกจับให้กลับเข้าไปถูกคุมขังต่อ หลายคนมีโอกาสรู้ตัวล่วงหน้าว่าจะถูกอายัดตัวซ้ำ ขณะที่หลายคนก็ไม่อาจคาดหมายชะตากรรมของตัวเองได้ ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้อาจหลีกเลี่ยงได้ หากพนักงานสอบสวนใส่ใจและทำงานตามแนวปฏิบัติของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่วางเอาไว้แล้ว
ปัญหาในทางปฏิบัติของการอายัดซ้ำ
แนวปฏิบัติหลักที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ในการอายัดตัวผู้ต้องหาซ้ำ คือ หนังสือสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ 0004.6/9610 ลงวันที่ 16 กันยายน 2546 เรื่อง กำหนดแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการอายัดตัวผู้ต้องหาดังนี้
1. กรณีที่พนักงานสอบสวนจำเป็นต้องได้ตัวผู้ต้องหาซึ่งถูกคุมขังในคดีอื่นไว้เพื่อสอบสวนในอีกคดีหนึ่ง ให้พนักงานสอบสวนรีบมีหนังสือแจ้งไปยังสถานที่คุมขังผู้ต้องหา
2. ให้พนักงานสอบสวนที่ต้องการได้ตัวผู้ต้องหาซึ่งถูกคุมขังในคดีอื่นรีบดำเนินการขอให้ศาลออกหมายจับ หลังจากศาลออกหมายจับแล้วให้รีบมีหนังสือขออายัดตัวผู้ต้องหา พร้อมกับส่งสำเนาหมายจับไปยังสถานที่คุมขังตัวผู้ต้องหาโดยเร็ว
3. ในกรณีที่ศาลไม่ออกหมายจับผู้ต้องหาซึ่งถูกคุมขังในคดีอื่น ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดๆ พนักงานสอบสวนไม่สามารถมีหนังสือขออายัดตัวผู้ต้องหาได้ หากผู้ต้องหาได้รับการปล่อยตัวจากสถานที่คุมขังและพนักงานสอบสวนมีความจำเป็นต้องได้ตัวผู้ต้องหาดังกล่าวไว้สอบสวนดำเนินคดี ให้พนักงานสอบสวนออกหมายเรียกผู้ต้องหา หากผู้ต้องหาไม่มาตามหมายเรียกหรือตามนัดโดยไม่มีข้อแก้ตัวอันควรก็ดี ได้หนีไปก็ดี จึงร้องขอต่อศาลให้ออกหมายจับต่อไป
4. ให้พนักงานสอบสวนรีบดำเนินคดีกับผู้ต้องหาซึ่งถูกคุมขังในคดีอื่นให้แล้วเสร็จโดยไม่ต้องรอให้พ้นโทษในคดีเดิมก่อนและส่งสำนวนให้พนักงานอัยการโดยเร็ว
5. ในระหว่างที่ผู้ต้องหาอายัดตัวถูกคุมขังอยู่ เมื่อพนักงานสอบสวนเห็นว่า ไม่จำเป็นต้องขังผู้ต้องหาอายัดไว้ระหว่างสอบสวนในคดีที่ขออายัด เช่น ในคดีความผิดต่อส่วนตัว เมื่อได้ถอนคำร้องทุกข์หรือยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมายหรือคดีเลิกกันตามมาตรา 37 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ให้พนักงานสอบสวนรีบมีหนังสือขอถอนอายัดตัวผู้ต้องหาดังกล่าวไปยังสถานที่ที่ขออายัดไว้โดยด่วนที่สุด
6. ในกรณีที่การสอบสวนเสร็จสิ้นและมีความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาอายัด หลังจากส่งสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการแล้ว ให้พนักงานสอบสวนหมั่นติดตามผลการสั่งคดีของพนักงานอัยการ จนกระทั่งพนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหาที่ถูกอายัดต่อศาลและเรือนจำได้รับหมายนัดพิจารณาของศาลนั้นแล้ว หรือพนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องผู้ต้องหาอายัดแล้ว ให้พนักงานสอบสวนรีบมีหนังสือขอถอนอายัดผู้ต้องหาดังกล่าวไปยังสถานที่ขออายัดไว้โดยด่วนที่สุด
หลักการสำคัญของแนวปฏิบัตินี้อยู่ในข้อ 4. กล่าวคือ หากผู้ต้องหาอยู่ระหว่างถูกคุมขังในคดีแรก พนักงานสอบสวนก็เริ่มการดำเนินคดี ทั้งการแจ้งข้อกล่าวหา การสอบสวน การสั่งฟ้อง ในคดีหลังไปเลย ระหว่างการถูกคุมขังผู้ต้องหาก็จะทราบว่า ตัวเองมีคดีอะไรติดตัวอยู่บ้าง จะต้องเตรียมตัวต่อสู้คดีอย่างไร จะต้องถูกคุมขังอีกนานเท่าไร แม้กระทั่งผู้ต้องหาถูกศาลพิพากษาลงโทษทั้งคดีแรกและคดีหลัง ผู้ต้องหาก็สามารถเตรียมใจและเตรียมการจัดการชีวิตให้สอดคล้องกับระยะเวลาการถูกคุมขังที่ต้องเผชิญได้
แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นก็เนื่องจากพนักงานสอบสวนไม่ได้ปฏิบัติตามข้อ 4. เมื่อทราบอยู่แล้วว่า ผู้ต้องหาอยู่ในระหว่างการควบคุมตัวคดีแรก แม้จะมีหน้าที่ต้องเร่งดำเนินคดีที่สองแต่ก็ไม่เร่งรีบดำเนินการ เนื่องจากวางใจเพราะอย่างไรเสียผู้ต้องหาก็ยังอยู่ในการควบคุมตัว ตราบใดที่คดียังไม่ขาดอายุความก็ยังมีโอกาสเริ่มดำเนินคดีเมื่อใดก็ได้ และก็จะเริ่มจริงๆ ต่อเมื่อผู้ต้องหาจะถูกปล่อยจากการควบคุมตัวในคดีแรกแล้ว ซึ่งหากไม่เริ่มเดินหน้าคดีที่สองอำนาจการควบคุมตัวก็จะหมดไป
หรือในกรณีแนวปฏิบัติข้อ 5. และข้อ 6. หากพนักงานสอบสวนติดตามเร่งรัดการดำเนินคดี และทำหนังสือถอนอายัดโดยเร็วในกรณีที่ไม่ต้องการตัวไว้ดำเนินคดีต่อ ก็จะไม่เกิดปัญหา แต่ปัญหาเกิดขึ้นเนื่องจากพนักงานสอบสวนปล่อยปละละเลย แม้จะรู้ว่า คดีนั้นๆ เสร็จสิ้นไปแล้ว แต่ก็ไม่ทำเรื่องถอนอายัดให้ทันเวลา จนเมื่อผู้ต้องหาได้รับการปล่อยตัวก็ต้องถูกอายัดตัวซ้ำก่อนตามหมายอายัดที่มีอยู่ และค่อยใช้เวลาอีกเป็นวันจนกว่าจะทำเรื่องการถอนอายัดเสร็จสิ้น และผู้ต้องหาได้รับอิสรภาพ
แม้ว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะมีแนวปฏิบัติต่อเรื่องการอายัดซ้ำเช่นนี้แล้ว แต่เมื่อทางปฏิบัติก็ยังมีกรณีอายัดซ้ำเกิดขึ้นจนแทบเป็นเรื่องปกติ และปรากฏข้อร้องเรียนอยู่เนืองๆ เช่น ตำรวจไม่ปฏิบัติตามแนวปฏิบัติหรือปล่อยการสอบสวนให้เนิ่นช้าออกไป ดังนี้
1. ตามหนังสือสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ 0011.233/01284 ลงวันที่ 25 มีนาคม 2553 เรื่อง กำชับการปฏิบัติเกี่ยวกับการอายัดตัวผู้ต้องหา มีเนื้อหาว่า สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีหนังสือแจ้งผลการวินิจฉัยข้อเท็จจริงกรณีนักโทษเด็ดขาดได้ร้องเรียนว่า พนักงานสอบสวนขออายัดตัวผู้ต้องหาโดยไม่แนบหมายจับตามแนวปฏิบัติ จึงกำชับให้พนักงานสอบสวนถือตามแนวปฏิบัติอย่างเคร่งครัด
2. ตามหนังสือสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ 011.25/3828 ลงวันที่ 12 ตุลาคม 2553 เรื่อง กำชับการปฏิบัติเกี่ยวกับการอายัดตัวผู้ต้องหา มีเนื้อหาว่า ตำรวจได้รับแจ้งจากสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินว่า ได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนเกี่ยวกับการอายัดตัวผู้ต้องหาต่อของพนักงานสอบสวนแล้วไม่ดำเนินการให้เสร็จสิ้น เป็นเหตุให้ผู้ต้องหาที่ถูกอายัดตัวได้รับความเสียหาย สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินจึงเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาว่า พนักงานสอบสวนควรดำเนินคดีอย่างรวดเร็วและควรจัดทำฐานข้อมูลกลางอย่างเป็นระบบเพื่อให้สะดวกต่อการตรวจสอบและป้องกันการหลงลืมหรือความล่าช้าในการดำเนินคดี ตำรวจพิจารณาแล้วสั่งให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามแนวปฏิบัติและให้สถานีตำรวจหรือหน่วยงานที่มีหน้าที่สอบสวนคดีอาญาทุกแห่งจัดทำสมุดคุมคดีที่มีการอายัดตัวผู้ต้องหาไว้เพื่อให้ผู้บังคับบัญชาตรวจสอบได้สะดวกตลอดเวลาและให้ผู้บังคับบัญชาทุกลำดับชั้นสอบผลการปฏิบัติของพนักงานสอบสวนทุกระยะ
3. จากบทความเรื่องการแก้ไขปัญหาการร้องเรียนของผู้ต้องขังอันเนื่องมาจากการอายัดตัวผู้ต้องหา (ผู้ต้องขัง) โดยพนักงานสอบสวนระบุเหตุผลของการร้องเรียนเรื่องการอายัดซ้ำว่า การปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานสอบสวนไม่เป็นไปตามระเบียบและหลักเกณฑ์ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติกำหนดไว้ เช่น ยื่นขออายัดตัวผู้ต้องหาไว้แต่ไม่รีบเร่งดำเนินคดี พนักงานสอบสวนหลายคนให้เหตุผลว่า รอให้พ้นโทษในคดีที่ถูกคุมขังเสียก่อนหรือผู้ต้องหาถูกคุมขังอยู่นอกเขตอำนาจศาลที่จะพิจารณาคดีจึงนำตัวไปส่งฟ้องไม่ได้หรือไม่ทราบว่า คดีเดิมสิ้นสุดแล้วหรือไม่
4. จากข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่ 2/2560 เรื่อง ข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน กรณีปัญหาการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังที่มีการอายัด ระบุว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้รับคำร้องจากกลุ่มผู้ร้องที่เป็นผู้ต้องขังที่มีความต้องการขอให้เร่งรัดการสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานของพนักงานสอบสวนในคดีที่ผู้ร้องตกเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับของศาล
เมื่อนักโทษทางการเมืองถูกอายัดซ้ำ
การอายัดซ้ำหลังได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างการพิจารณาคดีหรือครบกำหนดโทษ
การอายัดซ้ำหลังได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างการพิจารณาคดีหรือครบกำหนดโทษ
กรณีของณัฏฐธิดา
ณัฏฐธิดาเป็นจำเลยในคดี “ระเบิดศาลอาญา” ในความผิดฐานร่วมกันก่อการร้าย เป็นอั้งยี่ และซ่องโจร จากกรณีมีระเบิดลงที่อาคารศาลอาญาเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2558 โดยวันที่ 11 มีนาคม 2558 เธอถูกทหารควบคุมตัวในค่ายทหารก่อนที่ในวันที่ 17 มีนาคม 2558 ทหารจะพาตัวณัฏฐธิดามาส่งที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล และถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดีนับแต่นั้น จนกระทั่งศาลทหารกรุงเทพอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในวันที่ 24 กรกฎาคม 2560 แต่เมื่อเธอจะได้รับอิสรภาพ ตำรวจกลับขออายัดตัวณัฏฐธิดาซ้ำที่หน้าทัณฑสถานหญิงกลาง ตามหมายจับคดี 112 ที่ออกตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคม 2558
การกล่าวหาในคดี 112 เกิดขึ้นในวันที่ 18 มีนาคม 2558 พันเอก(ยศขณะนั้น)วิจารณ์ จดแตง ผู้อำนวยการส่วนกฎหมายและสิทธิมนุษยชน กอ.รมน. และคณะทำงานของ คสช. ได้แจ้งความดำเนินคดีกับณัฏฐธิดา ข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา โดยกล่าวหาว่า วันที่ 8 มีนาคม 2558 ณัฏฐธิดาได้นำข้อความที่มีผู้โพสต์ไว้ในแอปพลิเคชันไลน์ กลุ่มไทยภาคี มาโพสต์ต่อลงในกลุ่มแนวร่วมทางการเมืองต่างๆ ซึ่งพนักงานสอบสวนสามารถเริ่มดำเนินคดีตามมาตรา 112 ได้ตั้งแต่ปี 2558 แต่ก็วางคดีค้างไว้ จนกระทั่งเธอจะได้รับการปล่อยตัวจึงมาเริ่มดำเนินคดีมาตรา 112 ขึ้นใหม่
อ่านคดีของณัฏฐธิดาได้ที่นี่
กรณีของหฤษฎ์และณัฏฐิกา
หฤษฎ์และณัฏฐิกาเป็นจำเลยในคดีมาตรา 116 ฐานยุยงปลุกปั่น ที่ถูกกล่าวหาว่า เป็นแอดมินเพจเรารักพลเอกประยุทธ์ ซึ่งมีจำเลยด้วยกัน 8 คน โดยทั้งคู่ถูกคุมขังระหว่างการสอบสวนในคดีดังกล่าวเป็นเวลา 12 วัน จนกระทั่งวันที่ 10 พฤษภาคม 2559 ศาลทหารกรุงเทพมีคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยทั้งแปดคน อย่างไรก็ดีในวันที่ 11 พฤษภาคม 2559 หลังได้รับการปล่อยตัว หฤษฎ์และณัฏฐิกาถูกอายัดตัวซ้ำไปที่กองปราบฯ และแจ้งข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามมาตรา 112 จากการส่งข้อความในกล่องข้อความของเฟซบุ๊ก ส่งผลให้ทั้งสองคนต้องถูกคุมขังในเรือนจำต่อเพื่อดำเนินคดีตามมาตรา 112 จนกระทั่งได้รับอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวในวันที่ 8 กรกฎาคม 2559 รวมแล้วทั้งคู่ต้องถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดีสองคดีที่ไม่ต่อเนื่องกันเป็นเวลา 71 วัน
อ่านคดีของหฤษฎ์และณัฏฐิกาได้ที่นี่
กรณีของสกันต์
สกันต์เป็นจำเลยในคดีที่ถูกกล่าวหาว่า เตรียมวางเพลิงธนาคารกรุงเทพเมื่อปี 2552 ศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาว่า มีความผิดตามฟ้อง และสกันต์ต้องโทษจำคุกเป็นเวลา 8 ปี 6 เดือน โดยวันที่ 11 ตุลาคม 2560 สกันต์มีกำหนดปล่อยตัวออกมาจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพ หลังครบกำหนดโทษ แต่ยังไม่ทันได้มีโอกาสสัมผัสอิสรภาพ ตำรวจ สน.ประชาชื่นได้ขออายัดซ้ำเพื่อไปสอบสวนและดำเนินคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์จากกล่าวในทำนองหมิ่นประมาทฯ จำนวนสามกรรม โดยเหตุในคดีนี้เกิดขึ้นระหว่างสกันต์อยู่ระหว่างการจำคุกในปี 2557
ต่อมาวันที่ 12 ตุลาคม 2560 พนักงานสอบสวนสน.ประชาชื่นได้นำสกันต์ไปยื่นคำร้องขอฝากขังระหว่างการสอบสวนและพิจารณาคดี ขณะที่ญาติของสกันต์ก็ได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยวางหลักประกันเป็นเงินสดจำนวน 400,000 บาท ศาลสั่งยกคำร้อง โดยให้เหตุผลว่า พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดี ความหนักเบาของข้อหา ซึ่งมีอัตราโทษสูง ประกอบกับพนักงานสอบสวนคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราว หากอนุญาตเกรงว่า ผู้ต้องหาจะหลบหนี เท่าที่ทราบสกันต์ยังต้องอยู่ในเรือนจำจนกระทั่งวันที่ 26 มีนาคม 2561
อ่านคดีของสกันต์ได้ที่นี่
กรณีของพฤทธิ์นรินทร์
พฤทธิ์นรินทร์มีชื่อในคำสั่งเรียกบุคคลให้มารายงานตัวต่อ คสช. แต่เขาเข้ารายงานตัวช้ากว่าเวลากำหนดประมาณหนึ่งชั่วโมง หลังเข้ารายงานตัวเขาถูกควบคุมตัวในค่ายทหาร 3 วันก่อนถูกกล่าวหาในคดีมาตรา 112 จากการโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2555 ศาลจังหวัดอุบลราชธานีพิพากษาจำคุกพฤทธิ์นรินทร์ในคดีนั้นเป็นเวลา 13 ปี 24 เดือน ในวันที่ 1 กันยายน 2560 พฤทธิ์นรินทร์ได้รับการปล่อยตัว เนื่องจากระหว่างจำคุกเขาได้รับการลดหย่อนโทษจนรับโทษครบกำหนด
ทันทีที่ได้รับการปล่อยตัว เจ้าหน้าที่ตำรวจสภ.เมืองอุบลราชธานีได้อายัดตัวซ้ำ เนื่องจากพฤทธิ์นรินทร์เป็นผู้ต้องหาตามหมายจับของศาลทหารกรุงเทพในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งรายงานตัวของ คสช. เมื่อปี 2557 พฤทธิ์นรินทร์ถูกนำตัวมาฝากขังที่ศาลทหารกรุงเทพในวันที่ 2 กันยายน 2560 และได้รับการประกันตัวด้วยวงเงิน 30,000 บาทในวันเดียวกัน ต่อมาวันที่ 16 ตุลาคม 2560 อัยการทหารจึงมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีนี้เนื่องจากหลักฐานไม่เพียงพอ
อ่านคดีของพฤทธิ์นรินทร์ได้ที่นี่
กรณีจำเลยคดีความมั่นคงในจังหวัดชายแดนใต้
จากฐานข้อมูลข่าวจังหวัดชายแดนใต้ระบุว่า จำเลยคดีความมั่นคงถูกควบคุมระหว่างการพิจารณาคดีในเรือนจำเป็นเวลากว่าสามปี ต่อมาศาลพิพากษายกฟ้องและสั่งให้ปล่อยตัวจำเลย หลังจากจำเลยได้รับการปล่อยตัว จำเลยได้เดินทางไปเยี่ยมญาติ แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่จับและควบคุมไปที่หน่วยเฉพาะกิจของทหารในพื้นที่และนำไปควบคุมต่อที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี ก่อนจะถูกดำเนินคดีความมั่นคงอีกคดีหนึ่งตามหมายจับในข้อหาก่อการร้าย
จำเลยในคดีความมั่นคงถูกควบคุมระหว่างการพิจารณาคดีในเรือนจำระหว่างปี 2551-2553 ซึ่งการพิจารณาคดีเป็นไปอย่างล่าช้าเพราะฝ่ายโจทก์ขอเลื่อนคดีหลายครั้ง จำเลยจึงยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว ศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวแล้ว แต่ขณะที่เรือนจำกำลังจะปล่อยตัวจำเลย พนักงานสอบสวนได้นำหมายจับในคดีความมั่นคงอีกคดีหนึ่งมาแสดงขออายัดตัวจำเลยจากเรือนจำ โดยทั้งสองกรณีมีการออกหมายจับไว้แล้วเมื่อประมาณสองปีที่ผ่านมา ซึ่งระหว่างนั้นจำเลยก็ถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดี แต่พนักงานสอบสวนกลับไม่เร่งรัดบังคับคดี
การดำเนินคดีหลังไปพร้อมกันระหว่างถูกคุมขังอยู่ในคดีแรก
ภาพของการอายัดตัวซ้ำ อาจถูกหลีกเลี่ยงได้ หากระหว่างที่ผู้ต้องหาถูกคุมขังอยู่ในคดีแรก พนักงานสอบสวนก็เริ่มกระบวนการของคดีหลังไปเลย ซึ่งจากกการสังเกตและติดตามการดำเนินคดีทางการเมือง กรณีที่พนักงานสอบสวนเริ่มดำเนินคดีหลายคดีไปพร้อมๆ กันระหว่างที่จำเลยถูกคุมขังอยู่ โดยไม่ต้องรอให้กำลังจะถูกปล่อยตัวในคดีแรกก่อนค่อยไป “อายัดซ้ำ” มาดำเนินคดีหลัง ตัวอย่างเช่น
กรณีของธานัท หรือ ทอม ดันดี
ธานัทเป็นจำเลยในคดีฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. และคดีมาตรา 112 ฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ คดีแรก คือ คดีฝ่าฝืนคำสั่งคสช. ในวันที่ 12 มิถุนายน 2557 ต่อมาในวันที่ 14 มิถุนายน 2557 ศาลทหารกรุงเทพมีคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างการพิจารณา หลังจากนั้นวันที่ 9 กรกฎาคม 2557 เจ้าหน้าที่จากกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหาร รวมประมาณ 20 นายทั้งในและนอกเครื่องแบบ เข้าจับกุมธานัทที่บ้านพักที่จังหวัดเพชรบุรี แจ้งข้อกล่าวหาว่า หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์จากการปราศรัยเมื่อปี 2556
ในวันที่ 19 ตุลาคม 2558 ระหว่างที่ถูกควบคุมตัวในคดี 112 คดีแรกที่ฟ้องต่อศาลทหารกรุงเทพ พนักงานอัยการสั่งฟ้องธานัทในคดี 112 อีกหนึ่งคดีต่อศาลอาญารัชดา เหตุในคดีนี้เกิดจากการกล่าวปราศรัยในการชุมนุมของคนเสื้อแดงในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2556 โดยธานัทถูกควบคุมตัวระหว่างการพิจารณคดี 112 ทั้งสองคดี จนกระทั่งคดีทั้งสองถึงที่สุดจากศาลชั้นต้นในช่วงกลางปี 2559 รวมโทษจำคุกทั้งหมดสิบปีสิบเดือน
ในเดือนมกราคม 2561 ระหว่างที่เขากำลังรับโทษจำคุกเป็นเวลาสิบปีสิบเดือนตามคำพิพากษาสองคดีแรก ธานัทถูกกล่าวหาในคดีมาตรา 112 เพิ่มเป็นคดีที่สามจากการกล่าวปราศรัยในเวทีการชุมนุมที่จังหวัดราชบุรีในปี 2553 ก่อนหน้านี้ในเดือนสิงหาคม 2555 เขาถูกพนักงานสอบสวนเรียกไปแจ้งข้อกล่าวหา แต่ครั้งนั้นยังไม่มีการควบคุมตัวและความเคลื่อนไหวคดีนี้ก็เงียบไป จนกระทั่งคดีนี้ถูกนำขึ้นมาใหม่อีกครั้งในปี 2561
ไล่เลี่ยกันในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2561 เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ควบคุมตัวธานัทที่กำลังถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำจังหวัดราชบุรีเพื่อรอเข้าสู่กระบวนการฟ้องร้องในคดีมาตรา 112 คดีที่สามมาที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ โดยที่ธานัทหรือทนายความไม่ทราบล่วงหน้าและไม่ได้รับแจ้งเหตุผล เช้าวันต่อมาธานัทถูกควบคุมตัวมาที่ศาลอาญารัชดา เพื่อรับทราบว่า เขาถูกฟ้องเป็นคดีมาตรา 112 เป็นคดีที่สี่จากการปราศรัยที่จังหวัดลำพูน เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2554 โดยต่อมาคดีมาตรา 112 คดีที่สามและสี่ ศาลอาญารัชดาและศาลจังหวัดราชบุรีมีคำสั่งยกฟ้องทั้งสองคดี
อ่านคดีฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ของธานัทได้ที่นี่
อ่านคดี 112 ของธานัทคดีที่ 1 ได้ที่นี่
อ่านคดี 112 ของธานัทคดีที่ 2 ได้ที่นี่
อ่านคดี 112 ของธานัทคดีที่ 3 ได้ที่นี่
อ่านคดี 112 ของธานัทคดีที่ 4 ได้ที่นี่
อ่านคดี 112 ของธานัทคดีที่ 1 ได้ที่นี่
อ่านคดี 112 ของธานัทคดีที่ 2 ได้ที่นี่
อ่านคดี 112 ของธานัทคดีที่ 3 ได้ที่นี่
อ่านคดี 112 ของธานัทคดีที่ 4 ได้ที่นี่
กรณีของปิยะ
ปิยะเป็นจำเลยในคดีมาตรา 112 ฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ โดยเขาถูกควบคุมตัวตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2557 และถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพเรื่อยมาระหว่างการพิจารณาคดี ต่อมาในวันที่ 28 มกราคม 2558 พนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เข้าแจ้งข้อกล่าวหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ เป็นคดีที่สองให้ปิยะทราบและดำเนินการพิจารณาคดีทั้งสองไปพร้อมกัน คดีแรกถึงที่สุดที่ชั้นศาลอุทธรณ์ในเดือนเมษายน 2560 และคดีที่สองถึงที่สุดที่ศาลชั้นต้นในช่วงกลางปี 2560 โดยปิยะขอถอนการอุทธรณ์เพื่อให้คดีถึงที่สุดและทำเรื่องขอพระราชทานอภัยโทษต่อไป ทั้งสองคดีศาลอาญาพิพากษาให้ปิยะต้องจำคุก 14 ปี
ผลกระทบของการอายัดซ้ำที่ไม่เป็นไปตามแนวปฏิบัติ
การอายัดซ้ำเป็นขั้นตอนที่ทำให้เจ้าหน้าที่จะสามารถแน่ใจได้ว่า จะได้ตัวจำเลยมาในชั้นสอบสวนและการพิจารณาในชั้นศาล จะเห็นว่า ในกรณีของธานัทและปิยะพนักงานสอบสวนสามารถดำเนินคดีหลายคดีไปพร้อมกันระหว่างที่จำเลยทั้งสองถูกควบคุมตัวอยู่ ส่งผลให้การดำเนินคดีเป็นไปอย่างรวดเร็ว และรู้ผลเร็ว แต่ในหลายกรณีที่พนักงานสอบสวนรอให้ผู้ต้องขังได้รับการปล่อยตัวก่อนจึงใช้วิธีการอายัดซ้ำ แม้ว่าจะมีการออกหมายจับมาแล้วเป็นระยะเวลานาน ซึ่งทำให้แทนที่จำเลยจะได้รับพิจารณาคดีอย่างรวดเร็ว และได้รับอิสรภาพกลับจะต้องถูกอายัดและจำคุกต่อกันซ้ำๆ
เช่น กรณีของพฤธนริทร์ ที่หากมีการเร่งดำเนินคดีไปก่อนก็จะทราบผลการสั่งไม่ฟ้องคดีไปก่อน ทำให้จำเลยได้รับอิสรภาพทันทีไม่ต้องถูกอายัดตัวซ้ำไปเริ่มดำเนินคดีใหม่ หรือกรณีของณัฏฐธิดาที่มีหมายจับในคดี 112 ตั้งแต่ถูกควบคุมตัวในคดีแรก หากพนักงานสอบสวนดำเนินการบังคับใช้หมายจับและดำเนินคดีไปพร้อมกัน ดำเนินการตามแนวปฏิบัติของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จำเลยก็จะสามารถสู้คดีพร้อมกันไปในคราวเดียวกัน
ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับคำแนะนำของสำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายที่ระบุว่า ในทางหลักการการสอบสวนต้องดำเนินการให้เสร็จอย่างรวดเร็วในทุกคดีที่บุคคลนั้นถูกกล่าวหาในระหว่างที่ผู้ต้องหาถูกคุมขังอยู่และไม่มีเหตุผลหรือความจำเป็นใดที่จะต้องรอให้ผู้ต้องหาพ้นโทษในคดีหนึ่งก่อนจะเริ่มทำการสอบสวนอีกคดีหนึ่ง ดังนั้นแนวทางปฏิบัติที่มีการรอให้ดำเนินคดีหนึ่งเสร็จสิ้นแล้วจึงอายัดตัวในคดีอื่นๆ เพื่อทำการสอบสวนนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และส่งผลกระทบต่อสิทธิของผู้ต้องหา โดยเฉพาะสิทธิที่จะได้รับการสอบสวนด้วยความรวดเร็ว ถูกต้องและเป็นธรรม
RELATED POSTS
No related posts