นอกจากเนื้อข่าวและบทวิเคราะห์สถานการณ์แล้ว การ์ตูนล้อการเมืองก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยเติมเต็มให้ผู้อ่านได้ติดตามความเป็นมาเป็นไปของสถานการณ์ทางการเมืองในหนังสือพิมพ์แต่ละฉบับได้อย่างครบถ้วน ในขณะที่เนื้อข่าวและบทวิเคราะห์สถานการณ์เป็นส่วนที่หนักและอาจทำให้ผู้อ่านเครียด การ์ตูนล้อการเมืองก็จะทำหน้าที่ดึงอารมณ์ของผู้อ่านให้เบาบางลงมาด้วยการเด็ดยอดของเนื้อหาที่หนักและเครียดแปลงมาเป็นภาพการ์ตูนเรียกรอยยิ้มจากผู้อ่าน การ์ตูนล้อการเมืองจึงเป็นสิ่งปรากฎอยู่ในหน้าการเมืองของหนังสือพิมพ์รายวันแทบทุกฉบับ
ศักดา แซ่เอียว หรือ ‘เซีย ไทยรัฐ’ คือหนึ่งในนักวาดการ์ตูนล้อการเมืองที่มีชื่อเสียงในแวดวงสื่อไทย ผลงานของเขาปรากฎอยู่ในหน้าสามซึ่งเป็นหน้าบทความวิเคราะห์การเมืองของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐเกือบทุกฉบับ เหตุการณ์สลายการชุมนุมปี’53 ถูกศักดานำมาเสียดสี เช่น วันที่ 25 พฤษภาคม 2553 ไม่กี่วันหลังการสลายการชุมนุมศักดาวาดภาพยมทูตถือถังน้ำมันเขียนว่า’ก่อการร้าย‘ ราดบนกองศพเพื่อเสียดสี กรณีที่มีการระบุว่าผู้ชุมนุมกลุ่มนปช.เป็นผู้ก่อการร้าย ขณะที่เหตุการณ์ชุมนุมปิดหน่วยเลือกตั้งของกลุ่มกปปส.ก็ถูกศักดานำมาล้อเลียน โดยในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2557 หรือสามวันหลังการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 ศักดาวาดภาพชายคนหนึ่งพยายามฝ่าฝูงชนที่มีภาพของยมทูตและภาพล้อสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำกปปส. รวมอยู่ด้วยไปหย่อนบัตรเลือกตั้งลงหีบ
ลักษณะการ ‘ล้อการเมือง’ ของศักดาทำให้เขาถูกมองว่ามีทัศนคติเอนเอียงไปทางกลุ่มการเมืองหนึ่ง หลังการรัฐประหาร 2557 การ์ตูนของศักดาถูกจับจ้องจากหน่วยงานความมั่นคงอย่างใกล้ชิด ในวันที่ 3 ตุลาคม 2558 ศักดาวาดการ์ตูนล้อกรณีที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.แถลงข่าวระหว่างเดินทางไปร่วมประชุมสหประชาชาติสมัยสามัญระหว่างวันที่ 23 กันยายน – 1 ตุลาคม 2558 ว่าจะดำเนินตามโรดแมปเพื่อนำประเทศกลับสู่ประชาธิปไตยและจัดการเลือกตั้ง โดยวาดภาพหัวหน้าคสช.ขณะแถลงที่สหประชาชาติตัดกับภาพปัญหาที่รุมเร้าเมื่อกลับมาประเทศไทย ซึ่งต่อมาในวันที่ 4 ตุลาคม 2558 ศักดาถูกคสช.เรียกไปพูดคุยเพื่อปรับทัศนคติ
ก่อนจะมาเป็น ‘เซีย ไทยรัฐ’
ศักดาเล่าว่าเขาเริ่มสนใจการเมืองครั้งแรกช่วงปี 2514 สมัยนั้นมีข่าวจอมพลถนอม กิตติขจร ปฏิวัติตัวเอง ข่าวนั้นทำให้ศักดาซึ่งกำลังเรียนชั้นมัธยมฯเกิดความสงสัยปนขบขันว่า เป็นไปได้อย่างไรที่จอมพลถนอม ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและผบ.ทบ.จะยึดอำนาจตัวเอง เหตุการณ์ยึดอำนาจตัวเองของจอมพลถนอมเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ศักดาสนใจติดตามข่าวการเมือง ในเวลาต่อมาเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ศักดาก็ติดตามเหตุการณ์อยู่ตลอดแต่ไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมด้วย เนื่องจากเขาเกิดในครอบครัวคนจีนที่ไม่อยากให้ลูกเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวทางการเมือง
หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 บรรยากาศทางการเมืองเริ่มเปิด ศักดาเล่าว่าเมืื่อเขาเข้ามาเรียนที่คณะคุรุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บรรยากาศทางการเมืองค่อนข้างเปิด มีการจัดอภิปรายทางการเมืองตามสนามหญ้าในมหาวิทยาลัย ตัวของศักดาก็มีความสนใจติดตามสถานการณ์ทางการเมืองและช่วยเพื่อนจัดบอร์ดบ้างตามโอกาส แต่ก็ไม่ได้เข้าไปร่วมประท้วงหรือเดินขบวน ในช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ตัวเขาก็ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและได้ให้ความช่วยเหลือเพื่อนคนหนึ่งที่ไปร่วมชุมนุมแต่หนีออกมาก่อนการล้อมปราบ เพื่อนของเขายังต้องเอาหนังสือมาเผาเพราะกลัวถูกจับ
ศักดาเล่าต่อว่า เหตุการณ์ 6 ตุลา มีส่วนทำให้เขาตัดสินใจเป็นสื่อมวลชน โดยมองว่า การทำหนังสือพิมพ์จะสามารถทำให้เขามีปากเสียงในการต่อสู้กับความไม่ถูกต้องได้ ศักดาจึงเลือกที่จะทำงานหนังสือพิมพ์แทนการรับราชการครู ทั้งที่เขาจบการศึกษาในคณะครุศาสตร์ ศักดาเล่าต่อว่าหลังเข้าสู่ชีวิตการทำงานซึ่งในฐานะสื่อมวลชนตัวเขาก็มีโอกาสผ่านเหตุการณ์ทางการเมืองที่สำคัญอีกหลายครั้ง โดยทำงานกับหนังสือพิมพ์หลายฉบับเช่น มาตุภูมิรายวัน สยามรัฐ บ้านเมือง และเริ่มทำงานกับไทยรัฐในปี 2536 โดยทำหน้าที่เขียนการ์ตูนล้อการเมืองเป็นหลัก
การเคลื่อนไหวหลังเหตุการณ์พฤษภา’53
ตั้งแต่เริ่มสนใจการเมืองมาจนถึงหลังช่วงเหตุการณ์พฤษภา’53 ศักดาระบุว่า บทบาทในเหตุการณ์การชุมนุมของเขามักจำกัดอยู่ในฐานะผู้สังเกตการณ์หรือคนดูเท่านั้น แต่ไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในลักษณะอื่น เนื่องจากไม่ใช่หน้าที่ของตัวเขาในฐานะสื่อมวลชน รวมทั้งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐต้นสังกัดเองก็ไม่อยากให้ไป ศักดาเล่าต่อว่า เขาเข้ามาทำกิจกรรมทางสังคมมากขึ้นหลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมในปี’ 53 โดยมีเพื่อนชวนมาร่วมกิจกรรมปลอบขวัญหรือสร้างงานให้กับครอบครัวของผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมฯ เขาจึงเข้ามาร่วมโดยเขียนการ์ตูนล้อเพื่อคลายเครียดให้ผู้มาร่วมกิจกรรม จากนั้นจึงเข้ามาเป็นอุปนายกสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์เพื่อประชาชน ซึ่งตั้งขึ้นในปี 2558 มีเป้าหมายในการให้ความช่วยเหลือค่าทำศพกับญาติผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมฯที่ไม่มีปัจจัยทำศพ
ศักดาระบุว่าหนึ่งในสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เข้าตัดสินใจเข้ามาทำกิจกรรมมากขึ้นหลังเหตุการณ์ปี’53 เป็นเพราะเขาเริ่มเป็นที่รู้จักของมวลชนมากขึ้นและการเข้ามาช่วยงานของเขาก็มีส่วนทำให้มวลชนมีกำลังใจที่จะทำกิจกรรมต่างๆ อย่างเช่นงานที่สมาคมตัวเขาก็ไม่ได้มีบทบาทอะไรมากนัก แต่ก็จะคอยช่วยเหลือตามความสามารถเช่นวาดการ์ตูนหรือช่วยทำงานศิลป์ให้ หรืออาจจะพอช่วยติดต่อคนรู้จักให้หากทางสมาคมต้องการความช่วยเหลือด้านต่างๆ โดยศักดายืนยันบทบาทของเขาในกิจกรรมเหล่านี้เป็นเพียงการให้ความช่วยเหลือกิจกรรมทางสังคมตามกำลังเพื่อให้มวลชนอยู่ให้ได้เท่านั้นโดยที่เขาไม่ได้เข้าไปร่วมในลักษณะเป็นแกนนำหรือไปเผยแพร่ปลุกระดมทางความคิดแต่อย่างใดเนื่องจากไม่ใช่บทบาทของเขา
เขียนการ์ตูนอย่างไรในยุครัฐประหาร
ศักดาระบุว่า ตัวเขาถือเป็นหนึ่งในเป้าที่คสช.จับตามอง เพราะการสื่อสารเรื่องการเมืองผ่านการ์ตูนล้อถือว่ามีพลังอยู่ไม่น้อยในสังคมไทย ที่ผ่านมาเขาเคยถูกฟ้องคดีจากการทำการ์ตูนล้อตั้งแต่สมัยพรรคประชาธิปัตย์ ศักดารับว่า หลังการรัฐประหารใหม่ๆทางสำนักข่าวไทยรัฐเคยส่งสัญญาณถึงเขาทำนองว่า ให้เขาระวังเพราะเขาเป็นตกเป็นเป้าอยู่ หลังจากนั้นประมาณสองสัปดาห์ ศักดาถูกนายทหารชั้นผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเชิญไปพูดคุยแบบไม่เป็นทางการเพียงคนเดียว โดยเนื้อหาในการพูดคุยเป็นการทำความเข้าใจในฐานะที่เขาเป็นสื่อมวลชนและทางทหารขอความร่วมมือให้ปรองดอง ซึ่งตัวศักดาก็ยอมที่จะลดความเข้มข้นของเนื้อหาที่เขานำเสนอลงบ้าง
หลังจากถูกเชิญไปพูดคุย เขาพยายามลดระดับความเข้มข้นของเนื้อหาการ์ตูนไปบ้างเองก็เคยเขียนล้อหรือ’แซว’แบบแรงๆไปหลายครั้งตามสถานการณ์ทางการเมือง แต่ก็ยอมรับว่าในฐานะคนเขียนการ์ตูนล้อการเมืองมันคงเป็นเรื่องยากที่จะเขียนให้ ‘เบา’ โดยเฉพาะในยามที่อุณหภูมิในทางการเมืองร้อนแรงเช่นนี้ ผู้บริหารหนังสือพิมพ์ไทยรัฐคนหนึ่งเคยบอกกับเขาว่าให้พยายามลดระดับความเข้มข้นของเนื้อหาหรือไปเขียนเรื่องทั่วไปบ้าง แต่ในฐานะนักเขียนการ์ตูนล้อการเมืองศักดายอมรับว่าเขาคงทำไม่ได้ ศักดาเล่าว่ามีอยู่บ่อยครั้งที่ ทางทหารรู้สึกไม่ชอบใจกับเนื้อหาการ์ตูนล้อเลียนของเขา จนต้องโทรมาตำหนิผ่านทางหนังสือพิมพ์อยู่บ่อยๆ
เขียนการ์ตูนตลกจนทหารต้องเรียกไปนั่งคุยในค่าย
ช่วงปลายเดือนกันยายนถึงต้นเดือนตุลาคม 2558 ที่พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.เดินทางไปร่วมประชุมกับสหประชาชาติ ศักดาได้เขียนการ์ตูนล้อเผยแพร่ในวันที่ 3 ตุลาคม 2558 ทำนองว่า หัวหน้าคสช.ไปกล่าวสุนทรพจน์อย่างสวยหรูที่สหประชาชาติ แต่ต้องกลับมาเผชิญปัญหารุมเร้าในประเทศ การ์ตูนชิ้นนั้นส่งผลสะเทือนถึงขึ้นทำให้ศักดาต้องไปนั่งดื่มกาแฟกับทหารอีกครั้ง
ศักดาเล่าว่า หลังการ์ตูนล้อชิ้นนั้นถูกเผยแพร่ก็มีเจ้าหน้าที่มาตามตัวเขาที่สำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ แต่ขณะเขาไม่อยู่เพราะไปอบรมการเขียนการ์ตูนให้เยาวชนในอำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ผู้สื่อข่าวที่สำนักงานใหญ่จึงต่อสายให้เจ้าหน้าที่พูดคุยกับเขา ศักดาแจ้งเจ้าหน้าที่ว่าค่ายเยาวชนจะเสร็จสิ้นภายในสองถึงสามวันเมื่อเสร็จจะเดินทางไปเข้าพบแต่เจ้าหน้าที่ขอให้มาพบในวันรุ่งขึ้นเลย ศักดาจึงต้องทิ้งกิจกรรมดังกล่าวเพื่อไปเข้าพบเจ้าหน้าที่ตามนัดในวันที่ 4 ตุลาคม 2558
วันถัดมาเขาเดินทางมาถึงที่หอประชุมกองทัพบกตั้งแต่แปดนาฬิกาเศษแต่ยังเข้าไปในหอประชุมไม่ได้เนื่องจากต้องรอเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้พาเข้าไปส่งตัว โดยการพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ทหารใช้เวลาเพียงชั่วโมงเศษเท่านั้น แต่เจ้าหน้าที่มีการเตรียมความพร้อมโดยมีการปรินท์การ์ตูนที่เขาเคยวาดมาแสดงแล้ว ‘ชี้แจง’ ทีละอันว่ามีข้อผิดพลาดหรือมีความคลาดเคลื่อนอย่างไร
ศักดาระบุด้วยว่านอกจากการ์ตูนล้อพล.อ.ประยุทธเรื่องการไปชี้แจงที่สหประชาชาติแล้ว เจ้าหน้าที่ทหารที่ทำหน้าที่ติดตามสื่อยังแสดง ‘ความกังวล’ ถึงการ์ตูนล้อที่เขาเขียนถึงการเรียกคนเข้ารายงานตัวปรับทัศนคติด้วย เช่น การ์ตูนล้อในวันที่ 19 กันยายน 2558 ซึ่งเขาเสนอภาพค่ายทหารติดป้ายเขียนข้อความทำนองว่ามีอาหารและที่พักบริการสำหรับผู้เห็นต่างพร้อมทั้งมีภาพคนสามคนเขียนข้อความสื่อ ประชาชน และนสพ. ห้อยคอคนละอัน เพื่อเสียดสีการเรียกตัวคนที่แสดงความเห็นต่างเข้าปรับทัศนคติในค่ายทหาร
เขากล่าวแบบติดตลกว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้ให้เขาลงชื่อในบันทึกข้อตกลง(MoU)หรือพยายาม ‘ปรับทัศนคติ’ ให้เขาเปลี่ยนความคิดแต่อย่างใดคงเป็นเพราะรู้ว่าเป็นไปไม่ได้ แต่ก็ส่งสัญญาณชัดเจนว่าหากในอนาคตผลงานของเขามีความผิดพลาดเขาก็อาจจะถูกดำเนินคดีได้ นอกจากนี้ยังให้เขากรอกประวัติโดยละเอียดทั้งที่อยู่และรายละเอียดสมาชิกในครอบครัว
ศักดาสรุปว่า แม้สุดท้ายแล้วหลังการเข้ารายงานตัวจะไม่ได้มีเจ้าหน้าที่ตามมาจับตาที่บ้านเหมือน ‘บุคคลเป้าหมาย’ คนอื่นๆ แต่ก็จะมีการโทรมาที่สำนักข่าวไทยรัฐอยู่เนืองๆ เขาจึงตัดสินใจเปลี่ยนเทคนิคการทำงานเช่น หลีกเลี่ยงการวาดภาพล้อพลเอกประยุทธโดยตรง และพยายามใช้ความสุขุมและระมัดระวังในการทำงานมากขึ้น