แผ่นแรกของนิทรรศการ เป็นแค่เกริ่นนำให้รู้จักกัน
โดยเราถอดประสบการณ์ ความรู้สึกของพวกเรา เมื่อรู้ว่าพลเรือนต้องขึ้นศาลทหารออกมาเล่า และเราหวังว่า เรื่องราวทั้งหมดจะเป็นบทเรียนที่สำคัญสำหรับสังคมไทย
แผ่นที่สอง ของนิทรรศการ เป็นการถอดคำพูดจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต่อการใช้ศาลทหารพิจารณาคดีพลเรือน
“…ผมก็ได้สั่งให้ชี้แจงไปว่าการที่นำตัวขึ้นศาลทหารนั้นก็เหมือนกับศาลธรรมดา แต่ที่เป็นศาลทหารเนื่องจากใช้คณะในการพิจารณาเป็นทหาร จบจากทหารพระธรรมนูญซึ่งเรียนจบกฎหมายมาทั้งหมด แตกต่างกันก็แค่มียศเท่านั้น แต่ใช้วิธีการพิจารณาของศาลปกติ สามารถประกันได้ มีทนายได้ ผมอยากจะถามว่าใช้ศาลทหารมันผิดตรงไหน และที่ต้องใช้ศาลทหารก็เพราะสถานการณ์มันไม่ปกติ คนเหล่านี้ไม่เคารพกฎหมายปกติ เรื่องเหล่านี้สื่อช่วยแยกให้หน่อย ไม่ใช่ว่าเราต้องการไปปิดบังบิดเบือน หรือต้องการไปละเมิดสิทธิ…”
(อ่านเต็มๆที่ ผู้จัดการออนไลน์, 16 พ.ค. 2559)
พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 มาตรา 5 ระบุว่า ศาลทหารอยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงกลาโหม และมาตรา 10 และ มาตรา 30 ระบุว่าอำนาจในการแต่งตั้ง ถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมหรือผู้บังคับบัญชา และ มาตรา 27 ระบุว่า ศาลมณฑลทหาร ศาลทหารกรุงเทพ และศาลประจำหน่วยทหาร ต้องมีตุลาการสามนายเป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษา คือ นายทหารชั้นสัญญาบัตรสองนาย ตุลาการพระธรรมนูญหนึ่งนาย หมายความว่า กฎหมายบังคับให้ตุลาการสามคนต่อหนึ่งคดี มีหนึ่งคนที่ต้องมีความรู้นิติศาตร์ ส่วนอีกสองคนไม่ต้อง
ในคดี ไม่มารายงานตัว ของสิรภพ จำเลยต่อสู้เรื่องความชอบธรรมของการยึดอำนาจของ คสช. และความชอบธรรมของคำสั่ง/ประกาศ คสช. ซึ่งศาลทหารก็ได้พิพากษารับรองอำนาจของ คสช. เอาไว้ชัดเจน
ในประกาศคสช. ฉบับที่ 37/2557 กำหนดให้คดีที่เป็นเรื่องความมั่นคงของชาติต้องขึ้นศาลทหาร และข้อหาที่ถูกนำมาใช้มากในยุค คสช. ก็คือ ข้อหายุยงปลุกปั่นฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ข้อหานี้ถูกตีความไปใช้กับ การวิจารณ์ตัวบุคคล การโพสต์ข่าวลือเรื่องการรัฐประหารซ้อน การมอบดอกไม้ให้กำลังใจ การถ่ายรูปคู่กับขันแดง ฯลฯ
อ่านต่อ คลิกที่นี่
สถิติเท่าที่ไอลอว์บันทึกข้อมูลได้ ตั้งแต่ คสช. ประกาศให้พลเรือนขึ้นศาลทหาร มีคดีเกี่ยวข้องกับการใช้เสรีภาพการแสดงออกของประชาชน ที่ถูกตั้งข้อหาและต้องพิจารณาที่ศาลทหารอย่างน้อย 93 คดี ซึ่ง อย่างน้อย 47 คดี กำลังพิจารณาอยู่ยังไม่เสร็จสิ้น แม้ต่อมาจะมีประกาศยุติการเอาพลเรือนขึ้นศาลทหารแล้ว แต่คดีที่เกิดขึ้นและพิจารณาอยู่ในศาลทหารแล้ว ก็ยังพิจารณาต่อไปเรื่อยๆ ไม่ย้ายกลับไปยังศาลพลเรือน
ดูคดีทั้งหลาย คลิกที่นี่
ศาลทหาร ไม่ได้มีแค่ในกรุงเทพเท่านั้น แต่ศาลทหารจะตั้งอยู่ตามการแบ่งเขตมณฑลทหารต่างๆ ซึ่งมีมณฑลทหารบกอยู่ทั้งหมด 34 แห่ง ทั่วประเทศ ศาลทหารในต่างจังหวัดก็ตั้งอยู่ภายในค่ายทหารที่เป็นค่ายหลักของมณฑลทหารบกนั้นๆ ส่วนใหญ่จะมีเขตอำนาจครอบคลุมมากกกว่า 1 จังหวัด คดีที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน ส่วนใหญ่ขึ้นศาลทหารกรุงเทพ แต่ก็มีคดีอีกจำนวนมากที่ขึ้นศาลทหารในจังหวัดต่างๆ อย่างน้อย 7 จังหวัด
จากสถิติคดีเสรีภาพของพลเรือนที่ต้องขึ้นศาลทหารเท่าที่ทราบ คดีส่วนใหญ่ยังเป็นข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามมาตรา 112 คดีชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน ตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 และคดียุยงปลุกปั่น ตามมาตรา 116
ทั้งนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยข้อมูลที่ได้มาจากกรมพระธรรมนูญว่า คดีของพลเรือนอย่างน้อย 1,720 คดี ต้องขึ้นศาลทหาร ซึ่งในจำนวนนี้ อย่างน้อย 1,577 คดี เป็นคดีเกี่ยวข้องกับการครอบครองอาวุธ และจำนวนมากไม่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมือง
ในเวลาปกติศาลทหารมีการพิจารณา 3 ชั้น เช่นเดียวกับศาลยุติธรรม แต่เมื่อมีการประกาศใช้กฎอัยการศึก ศาลทหารจะเปลี่ยนเป็น “ศาลทหารในภาวะไม่ปกติ” ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าทำความผิดในระหว่างที่มีการประกาศกฎอัยการศึกจะไม่มีสิทธิอุทธรณ์หรือฎีกา
หลังการยึดอำนาจเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 มีการประกาศกฎอัยการศึก ทำให้พลเรือนที่ไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลทหาร ไม่สามารถอุทธรณ์หรือฎีกาคดีของตนได้ จนกระทั่ง วันที่ 1 เมษายน 2558 คสช. ประกาศยกเลิกกฎอัยการศึก ทำให้ศาลทหารกลายเป็นศาลใน “ภาวะปกติ” ซึ่งคดีที่เกิดขึ้นหลังจากวันดังกล่าว คู่ความมีสิทธิอุทธรณ์และฎีกา คำพิพากษาใดๆ ย่อมถูกตรวจสอบได้โดยศาลชั้นที่สูงกว่า
ศาลทหาร ใช้ระบบวิธีพิจารณาคดีไม่ต่อเนื่อง เมื่อพิจารณาคดีเสร็จแต่ละนัด ถึงจะหาวันนัดถัดไป ในการนัดสืบพยานก็จะนัดสืบพยานวันละหนึ่งปาก เมื่อสืบพยานเย็น หรือเมื่อมีเหตุให้ต้องเลื่อนคดี เช่น พยานไม่มาศาล ก็จะเลื่อนไปนัดต่อไป และเมื่อศาลทหารมีคดีที่ต้องพิจารณาจำนวนมาก ทำให้การเลื่อนนัดแต่ละครั้งใช้เวลานาน บางครั้งนัดห่างกัน 2-3 เดือน ส่งผลให้คดีที่จำเลยต่อสู้ใช้เวลาพิจารณานานมาก จนกระทบต่อสิทธิของจำเลย ซึ่งในหลายคดีจำเลยไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว บางคดีจำเลยที่ต้องการต่อสู้เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเองทนรอไม่ไหว จึงต้องเปลี่ยนใจให้การรับสารภาพ และยอมแพ้ เพราะการพิจารณาที่นานอย่างไม่อาจคาดหมายได้ ว่าจะต้องใช้เวลานานเท่าใด
คดีพลเรือนที่ขึ้นศาลทหาร โดยเฉพาะคดีมาตรา 112 จำนวนมาก ศาลทหารสั่งให้พิจารณาคดีเป็นการลับ ซึ่งหมายถึง เฉพาะตัวจำเลย และทนายความเท่านั้นที่อยู่ในห้องพิจารณาคดีได้ แต่ผู้ที่มาให้กำลังใจ ญาติของจำเลย และคนที่สนใจอยากติดตามสังเกตการณ์คดีไม่สามารถเข้าร่วมในห้องพิจารณาคดีได้ เท่าที่ไอลอว์บันทึกข้อมูลได้ มีคดีมาตรา 112 ที่ศาลทหารสั่งให้พิจารณาเป็นการลับ อย่างน้อย 15 คดี ทำให้ไม่มีใครทราบความเป็นไปของคดี
จำเลยที่เป็นพลเรือน ที่ต้องขึ้นศาลทหารอย่างน้อย 15 คดี ที่เห็นว่า คดีของตนไม่ควรถูกพิจารณาที่ศาลทหาร และพยายามคัดค้านเพื่อจะได้ไปต่อสู้คดีที่ศาลพลเรือนตามปกติ โดยผ่านช่องทางตามกฎหมายที่สามารถใช้คัดค้านอำนาจศาลทหารได้ มี 2 ช่องทาง คือ 1) การยื่นเรื่องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่าการให้พลเรือนขึ้นศาลทหารนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2) การยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจของศาลทหาร โดยสรุปเท่าที่มีข้อมูล จำเลยที่ต่อสู้แล้วไม่ประสบความสำเร็จ 13 คดี ต่อสู้แล้วสำเร็จ 1 ข้อหา และยังรอฟังผลอยู่ 1 คดี
อ่านเรื่องนี้ต่อ คลิกที่นี่
สุดท้าย ก็มีคำถามที่ถามผู้เข้าร่วมงานทุกคนว่า ให้พลเรือนขึ้นศาลทหาร คุณเห็นด้วยหรือไม่?? แล้วทุกคนร่วมกันแสดงความคิดเห็นได้ โดยเอาโพสต์อิท เขียนแสดงความคิดเห็นอะไรก็ได้ แล้วแปะทับตัวอักษร Y หรือ N ตามความต้องการที่จะตอบ สำหรับคนที่พลาดไม่ได้ไปร่วมกันแสดงความคิดเห็นในวันงาน เมื่อรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับการเอาพลเรือนขึ้นศาลทหารจากที่อื่นๆ หรือจากเว็บไซต์นี้แล้ว ก็ยังคงช่วยกันส่งเสียงแสดงความคิดเห็นได้ ตามช่องทางต่างๆ ที่สามารถทำได้ต่อไป
สำหรับผู้ที่สนใจนำข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ศาลทหารพิจารณาคดีพลเรือนไปเผยแพร่ต่อ สามารถดาวน์โหลดไฟล์ภาพขนาดใหญ่ที่ใช้จัดนิทรรศการได้ คลิกที่ Flickr ของ iLawfx
ข้อมูลทั้งหมดของไอลอว์ ใช้สัญญาอนุญาตแบบ Creative Commons ให้ผู้ใช้สามารถนำไปเผยแพร่ต่อ หรือดัดแปลงได้ เท่าที่ไม่ใช้เพื่อประโยชน์ทางการค้าและอ้างอิงแหล่งที่มา