หลังการเมืองไทยกำลังเข้าสู่การทำประชามติเพื่อ #เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ กระแสการตื่นตัวเรื่องปัญหาของรัฐธรรมนูญ 2560 และความตื่นเต้นอยากเห็นสิ่งใหม่ๆ ที่เป็นประชาธิปไตยในรัฐธรรมนูญฉบับต่อไปเริ่มมีมากขึ้น อย่างไรก็ตามร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้มีการนำเสนอเฉพาะจากฝ่ายการเมืองเท่านั้น แต่ภาคประชาสังคมหลายภาคส่วนก็ได้เคยนำเสนอมาแล้วเช่นกัน หนึ่งในนั้นคือร่าง “รัฐธรรมนูญคนจน” จาก “สมัชชาคนจน” ที่เริ่มจัดทำมาตั้งแต่ปี 2558
สมัชชาคนจนเริ่มอบรมในหัวข้อสิทธิเสรีภาพและระบอบประชาธิปไตยมาตั้งแต่ปี 2558 และเริ่มรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 2560 เรื่อยมา จนกระทั่งในปี 2563 จึงได้มีการเชิญหลายภาคส่วนทั่วประเทศกว่า 118 องค์กร จาก 53 จังหวัด มาร่วมเสนอความคิดเห็นในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จนกลายเป็นร่างฉบับแรกในเดือนมกราคม 2564 ก่อนที่จะนำข้อเสนอจากส่วนภูมิภาคมาจัดทำเป็นร่างฉบับที่สองเสร็จสิ้นในเดือนตุลาคม 2565
ร่างรัฐธรรมนูญคนจนถูกส่งถึงมือ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 หรือ “คณะกรรมการประชามติฯ” เป็นที่เรียบร้อยแล้วในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2566 ระหว่างงานรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาสังคมเพื่อจัดทำคำถามประชามติ
ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถือได้ว่ามีการรับรองสิทธิของคนส่วนใหญ่ในประเทศได้มากกว่าเนื้อหาในรัฐธรรมนูญ 2560 อีกทั้งยังมีประเด็นสำคัญต่อการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยอีกเป็นจำนวนมาก เช่น การปฏิรูปองค์กรอิสระ การควบคุมกองทัพ ไปจนถึงการเสนอแนวทางจัดการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ใหม่ให้เหมาะสมกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ปฏิรูปองค์กรอิสระ เปลี่ยนที่มาของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน
รัฐธรรมนูญปี 2560 ระบุว่า “คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน” มีที่มาจากการแต่งตั้งตามคำแนะนำของสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งทำให้ปฏิเสธไม่ได้ว่าที่มาของคณะกรรมการฯ มีความเชื่อมโยงระดับหนึ่งกับกลไกอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้ทำรัฐประหารในปี 2557
ด้วยเหตุนี้ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับของสมัชชาคนจนจึงมุ่งแก้ไขที่มาของคณะกรรมการฯ ด้วยการระบุให้ร่างรัฐธรรมนูญหมวด 7 ว่าด้วยองค์กรอิสระและการตรวจสอบการใช้อำนาจ มาตรา 7 (1) ให้ประธานและคณะกรรมการฯ มาจากสรรหาของสภาผู้แทนราษฎร รวมทั้งลดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งจากเจ็ดปีสู่ห้าปีเพียงเท่านั้น
ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ระบุให้คณะกรรมการสรรหาของสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 11 คนจะต้องถูกสรรหามาจากคนหกกลุ่ม โดยมีเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเป็นเลขานุการของคณะกรรมการสรรหา ดังนี้
- ผู้แทนองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ คัดเลือกกันเองหนึ่งคน
- ผู้แทนองค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน คัดเลือกกันเองห้าคน
- ผู้แทนสื่อมวลชน คัดเลือกกันเองจำนวนหนึ่งคน
- ผู้แทนองค์กรนิสิตนักศึกษา คัดเลือกกันเองจำนวนหนึ่งคน
- ผู้แทนคณาจารณ์ด้านสังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ และนิติศาสตร์ คัดเลือกกันเองจำนวนหนึ่งคน
- ผู้แทนผู้ร้องเรียนการถูกละเมิดสิทธิต่อคณะกรรมการฯ คัดเลือกกันเองสองคน
จุดนี้จะแตกต่างจากรัฐธรรมนูญ 2560 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 ที่ระบุให้คณะกรรมการสรรหามาจากประธานศาลฎีกา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ประธานศาลปกครองสูงสุด ผู้แทนองค์กรสิทธิมนุษยชนจำนวนสามคน ผู้แทนสภาทนายความ ผู้แทนสภาวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุข สภาผู้แทนวิชาชีพสื่อมวลชน และอาจารย์ประจำหรือผู้เคยเป็นอาจารย์ประจำในสถาบันอุดมศึกษาหรือทำงานวิจัยด้านสิทธิมนุษยชน
หัวใจสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญนี้ คือ ทำให้การคัดเลือกผู้ที่มาทำงานเพื่อสิทธิมนุษยชนระดับประเทศถูกดึงกลับมาอยู่ภายใต้อำนาจของพลเรือนผ่านสภาผู้แทนราษฎร ขณะเดียวกันยังเปิดโอกาสให้ผู้ที่ร้องเรียนปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการคัดเลือก แตกต่างจากในรัฐธรรมนูญ 2560 ที่รวมศูนย์การตัดสินใจเอาไว้ที่ สว. แต่งตั้ง
สิทธิที่เพิ่มขึ้น รัฐห้ามอ้างเหตุแห่งความมั่นคงของรัฐมาคุกคามประชาชน
รัฐธรรมนูญ 2560 มีการลดทอนสิทธิของประชาชนเป็นจำนวนมากจากที่เคยมีในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้า ทำให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องการเพิ่มสิทธิประชาชนที่ขาดหายไปกลับมา โดยเพิ่มการรับรองสิทธิตามรัฐธรรมนูญเอาไว้ถึงหกด้าน ดังนี้
- บุคคลและชุมชนย่อมมีสิทธิเสรีภาพ และได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ เท่าที่ไม่ได้ไปละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น
- บุคคลผู้ถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพ สามารถนำบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญไปต่อสู้ในศาลได้
- เมื่อได้รับความเสียหายจากการถูกละเมิดสิทธิ ประชาชนมีสิทธิที่จะได้รับการเยียวยา ชดเชย และช่วยเหลือจากรัฐ
- การใช้สิทธิเสรีภาพย่อมได้รับความคุ้มครอง ไม่เป็นเหตุให้ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีได้
- การจำกัดสิทธิเสรีภาพจะกระทำไม่ได้ เว้นแต่มีกฎหมายกำหนดและกฎหมายนั้นต้องถูกบังคับใช้เป็นการทั่วไป
- รัฐบาลจะอ้างเหตุแห่งความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อย ศีลธรรมอันดี ตลอดจนประเพณีการปกครอง มาจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนไม่ได้
นอกจากนี้ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังรับรองให้บุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทยย่อมได้รับสัญชาติไทย จึงทำให้การเนรเทศ การห้ามเข้าประเทศ การถอนสัญชาติ ของบุคคลสัญชาติไทยจะกระทำไม่ได้อีกด้วย
ส่วนสำคัญที่น่าสนใจ คือ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังระบุให้ประชาชนมีสิทธิที่จะไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย คำสั่ง หรือประกาศที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และบัญญัติให้สิทธิเสรีภาพของประชาชนตามพันธกิจระหว่างประเทศที่รัฐไทยได้ลงนามไว้ ย่อมต้องมีผลโดยชอบตามรัฐธรรมนูญ
ขณะเดียวกันสิทธิในการรับข้อมูลข่าวสาร สิทธิในการประกอบอาชีพ สิทธิในการชุมนุมและการสมาคม สิทธิในกระบวนการยุติธรรม สิทธิที่จะได้รับรัฐสวัสดิการอย่างถ้วนหน้า สิทธิทางการเกษตร สิทธิชุมชน สิทธิสิ่งแวดล้อม สิทธิที่ดิน สิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง และสิทธิแรงงาน ยังได้รับการคุ้มครองมากขึ้นมีลักษณะถ้วนหน้าและมุ่งรักษาสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากกว่าการรวมศูนย์การตัดสินใจไว้ที่รัฐดังที่รัฐธรรมนูญ 2560 ระบุไว้
การสนับสนุนประชาธิปไตย และการควบคุมกองทัพโดยรัฐบาลประชาชน
แม้ว่าการยืนยันสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในร่างรัฐธรรมนูญข้างต้นอาจจะทำให้สังคมไทยมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แต่ปัจจัยสำคัญหนึ่งที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้พยายามรับประกันความยั่งยืนของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข คือ การเปลี่ยนที่มาของศาลรัฐธรรมนูญ การควบคุมกองทัพ และการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
ในรัฐธรรมนูญ 2560 ศาลรัฐธรรมนูญมีที่มาจากการสรรรหาจากผู้พิพากษาศาลฎีกา ตุลาการศาลปกครองสูงสุด ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ และผู้ทรงคุณวุฒิที่เคยเป็นอดีตข้าราชการ จำนวนเก้าคน และให้ สว.เป็นผู้แต่งตั้ง ซึ่งมีความชัดเจนว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งหมดไม่ได้มีที่มาจากการมีส่วนร่วมของประชาชน ทำให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับสมัชชาคนจนต้องการแก้ไขที่มาขององค์กรดังกล่าวด้วยการระบุให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต้องมีที่มาจากการคัดเลือกดังต่อไปนี้
- คัดเลือกโดยสภาผู้แทนราษฎร โดยคัดเลือกจากรายชื่อที่เสนอโดยสภาผู้แทนราษฎรจำนวนสามคน จากคณะรัฐมนตรีหนึ่งคน จากที่ประชุมศาลฎีกาหนึ่งคน และที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองหนึ่งคน
- ผู้แทนจากการคัดเลือกขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยคัดเลือกจากการสรรหาของที่ประชุมขององค์การบริหารส่วนจังหวัดหนึ่งคน จากองค์การบริหารส่วนตำบลหนึ่งคน และจากเทศบาลหนึ่งคน
การคัดเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญถูกร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดว่า ต้องกระทำอย่างเปิดเผยต่อสาธารณะชน และมีวาระในการดำรงตำแหน่งหกปี
เพื่อป้องกันการตีความรัฐธรรมนูญไปในทิศทางที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ระบุให้รัฐสภาเป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัยหรือเสนอให้มีการทำประชามติได้ในกรณีที่พบความขัดแย้งที่ไม่ได้ถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ แตกต่างจากจากรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ระบุให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญในการวินิจฉัยเรื่องต่างๆ อย่างเด็ดขาดและมีผลพูกพันกับทุกองค์กร
ร่างรัฐธรรมนูญฉบับสมัชชาคนจนระบุไว้ในหมวด 8 ว่าด้วยการพิทักษ์ประชาธิปไตยและคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชน มาตรา 8 (1) ให้คณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร ศาล และองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ มีหน้าที่ต้องควบคุมและจำกัดบทบาทของกองทัพไม่ให้แทรกแซงอำนาจบริหาร กระทำรัฐประหาร หรือเป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตย ซึ่งจะสอดคล้องกับมาตรา 8 (2) ที่ระบุว่า การเคลื่อนย้ายกำลังพลและอาวุธต้องได้รับความยินยอมจาก ครม. และการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือกฎอัยการศึกต้องได้รับการตรวจสอบจากสภาผู้แทนราษฎร รวมทั้งการต่อระยะเวลาของสถานการณ์ฉุกเฉินก็ย่อมต้องขอความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรเช่นเดียวกัน
ความพยายามปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ถูกบัญญัติเอาไว้ในหมวดสอง ว่าด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยมีเนื้อหาสำคัญคือการแยกทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ออกเป็น ทรัพย์สินส่วนแผ่นดิน และทรัพย์สินส่วนพระองค์ ซึ่งรัฐสภาจะมีอำนาจในการจัดสรรและตรวจสอบการใช้ทรัพย์สินส่วนพระองค์ ขณะเดียวกันก็มีอำนาจในการกำกับดูแลทรัพย์สินส่วนแผ่นดิน
การรับประกันการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ยังถูกสะท้อนผ่านการบัญญัติว่า พระมหากษัตริย์ย่อมได้รับการคุ้มครองเสมอด้วยบุคคลทุกคน มีอำนาจตามที่รัฐธรรมนูญระบุไว้เท่านั้น และพระราชดำรัสต่อสาธารณะจะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา
สุดท้ายนี้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับสมัชชาคนจนได้ระบุให้ยกเลิกการมีอยู่ขององคมนตรี ให้ส่วนราชการในพระองค์มีขนาดเหมาะสมสำหรับการถวายความปลอดภัย รวมถึงการจัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลเป็นอำนาจของรัฐบาล
ไฟล์แนบ
- สมัชชาคนจน (786 kB)