คำถามประชามติเป็นสิ่งสำคัญที่สุดเมื่อประชาชนเดินเข้าคูหาเพื่อไปออกเสียง ไม่มีใครอยากให้ซ้ำรอยประชามติ 2559 ที่ผลลัพธ์ยังคงอยู่กับเราในร่างของสมาชิกวุฒิสภาที่เลือกนายกรัฐมนตรีได้ ในการทำประชามติที่จะร่างรัฐธรรมนูญใหม่นี้ คำถามจึงต้องชัดเจน และไม่มีเงื่อนไขที่จะเข้ามากำหนดว่าสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากประชาชนจะทำอะไรได้หรือไม่ได้
คำถามประชามติโดยประชาชน ไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญใหม่
ถือเป็นเรื่องดีที่ตามกลไกพระราชบัญญัติประชามติ พ.ศ. 2564 ให้ประชาชนสามารถเข้าชื่อรวมกันอย่างน้อย 50,000 คน เสนอการทำประชามติพร้อมคำถามต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อขอให้ทำประชามติได้ วิธีการนี้จะทำให้ประชาชนสามารถมี “คำถามของตัวเอง” ได้ โดยไม่ต้องรอให้ใครมาคิดแทน
ในช่วงเวลาที่แกนนำจัดตั้งรัฐบาลอย่างพรรคเพื่อไทยประกาศว่าในการประชุม ครม. นัดแรกจะให้มีมติทำประชามติเพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทันที กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ จึงเปิดแคมเปญ “เขียนใหม่ทั้งฉบับ เลือกตั้ง 100%” เชิญชวนประชาชนเข้าชื่อเพื่อเสนอคำถามสำหรับการทำประชามติต่อ ครม. ชุดใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น ดังนี้
“ท่านเห็นชอบหรือไม่ ว่ารัฐสภาต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน”
คำถามนี้จะเจาะจงไปที่รัฐสภา ซึ่งรวมทั้ง สส. และสว. ให้เป็นองค์กรที่ต้องทำหน้าที่นำความต้องการของประชาชนไปแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เพื่อเปิดทางให้มีการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งจะต้องจัดทำภายใต้
- การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่นั้นต้องทำได้ “ทั้งฉบับ” เพราะในขั้นตอนหลังจากประชามติ จะเป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาที่ประกอบไปด้วย สส. และ สว. รวมกัน ในการผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ หากคำถามกว้างเกินไป ก็อาจจะเป็นการเปิดช่องให้รัฐสภาปรับแก้หรือเพิ่มเงื่อนไขที่จำกัดขอบเขตในการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ของสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.)
- สสร. จะต้องมีที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ในกระบวนการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ กลุ่มคนที่ประกอบตัวขึ้นเป็น สสร. จะมีความสำคัญสูงสุดในการกำหนดว่าเนื้อหาจะออกเป็นอย่างไร ดังนั้น กระบวนการให้ได้มาซึ่ง สสร. ก็ควรจะชอบธรรมและเป็นประชาธิปไตย ไม่ใช่มาจากการแต่งตั้งจากคนบางกลุ่ม
อ่านเพิ่มเติม
- เปิดคำถามประชามติโดยประชาชน ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ สสร. เลือกตั้ง 100%
- ทำไมประชาชนต้องเสนอคำถามประชามติ
- เตรียมทำประชามติ 3 ครั้ง สู่รัฐธรรมนูญใหม่
วิธีการเข้าชื่อเพื่อเสนอคำถามประชามติ
นี่เป็นครั้งแรกที่ประชาชนจะเข้าชื่อกันให้ครบ 50,000 รายชื่อ เพื่อเสนอคำถามในการทำประชามติต่อคณะรัฐมนตรี ขั้นตอนนี้ต้องทำงานร่วมกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งยังไม่มีใครเคยทำมาก่อนจึงเป็นการลงมือร่วมกันครั้งแรก ซึ่งตามประกาศของ กกต. ฉบับปี 2566 ไม่มีความชัดเจนว่าการลงลายมือชื่อผ่านระบบออนไลน์สามารถทำได้หรือไม่ มีหลักการแค่ว่าการนำรายชื่อยื่นต่อกกต. สามารถยื่นในรูปแบบไฟล์ดิจิทัลได้
ดังนั้น จึงจำเป็นที่ต้องพยายามช่วยกันรวบรวมรายชื่อประชาชนให้ได้ครบ 50,000 ชื่อโดยการลงชื่อจริงๆ ด้วยปากกาในแบบฟอร์มกระดาษก่อนเพื่อความแน่นอน แต่สำหรับประชาชนที่ไม่สะดวกดำเนินการบนกระดาษจริงๆ เราก็เปิดช่องทางไว้ให้ลงชื่อผ่านทางออนไลน์ได้ และระบบของเราจะจัดการนำข้อมูลลงแบบฟอร์มโดยอัตโนมัติ
จึงเชิญชวนประชาชนที่เห็นด้วยกับการเสนอคำถามประชามติครั้งนี้ ร่วมลงชื่อด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่ง ดังต่อไปนี้
1. ตามหา “จุดลงชื่อ” ให้เจอ และลงลายมือชื่อด้วยปากกาและกระดาษจริงๆ ซึ่งมีประชาชนจำนวนมากอาสาตัวเปิดเป็นหลายจังหวัดทั่วประเทศ สามารถดูข้อมูลได้ทาง conforall.com/locations โดยแต่ละจุดจะมีวันเวลาที่เปิดทำการไม่ตรงกันจึงควรตรวจสอบก่อนเดินทางไป
2. ดาวโหลดแบบฟอร์มการลงชื่อที่แนบไว้นี้ พิมพ์ออกมา และลงลายมือชื่อบนกระดาษ ชวนคนใกล้ๆ ตัวมาร่วมลงชื่อให้เต็มแผ่นเลยก็ได้ โดยยังไม่ต้องกรอกช่อง “ลำดับที่” และนำกระดาษที่ลงลายมือชื่อแล้วไปส่งรวมกันตาม “จุดลงชื่อ” ที่สะดวกที่สุด หรือส่งมาทางไปรษณีย์ที่ ตู้ปณ.79 ปณศ.สามเสนใน เขตพญาไท กทม. 10400 (ต้องใช้บริการไปรษณีย์ไทยเท่านั้น) ต้องส่งลงประทับตราไปรษณีย์ภายในวันที่ 20 สิงหาคม 2566 เท่านั้น
๐ เปิดขั้นตอนเข้าชื่อ ใครบ้างที่มีสิทธิ
ช่วยกันได้มากกว่าแค่ลงชื่อ
สำหรับประชาชนที่ร่วมกันลงชื่อแล้ว และยังพร้อมที่จะช่วยสนับสนุนกิจกรรมนี้ให้มากขึ้น เพื่อรวบรวมรายชื่อจำนวน 50,000 ชื่อให้ทันกำหนดเวลา สามารถร่วมกันได้หลายช่องทาง ดังนี้
1. ช่วยหารายชื่อแบบกระดาษเพิ่ม โดยการดาวโหลดแบบฟอร์มการลงชื่อที่แนบไว้นี้ พิมพ์ออกมา และชวนคนใกล้ๆ ตัวมาร่วมลงชื่อให้เต็มแผ่นให้มากที่สุด เอาแบบฟอร์มไปส่งตาม “จุดลงชื่อ” หรือส่งไปรษณีย์มาภายในวันที่ 20 สิงหาคม 2566
2. ช่วยอาสาเป็น “จุดลงชื่อ” หากมีหน้าร้านอยู่แล้ว สามารถนำแบบฟอร์มไปตั้งจุดให้คนมาร่วมลงชื่อได้เลย หรือหากสามารถไปตั้งโต๊ะเป็นจุดลงชื่อตามสถานที่ที่มีผู้คนเดินผ่านจำนวนมากก็จะช่วยให้รวบรวมรายชื่อได้มาก โดยคนที่พร้อมเป็นจุดลงชื่อสามารถกรอกแบบฟอร์ม คลิกที่นี่ เพื่อให้ข้อมูลจุดลงชื่อแสดงผลหน้าเว็บไซต์ และให้ผู้ที่สนใจเดินทางไปลงชื่อตามวันเวลาที่ตั้งจุดได้
3. ช่วยกันเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับความจำเป็นที่ต้องเสนอคำถามในการทำประชามติเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ เพราะประชาชนอีกจำนวนมากยังไม่ทราบว่ารัฐบาลใหม่กำลังจะเร่งกระบวนการประชามติ และยังไม่ทราบว่าการตั้งคำถามประชามติมีความสำคัญเพียงใด หากช่วยกันผลิตสื่อความรู้ หรือเผยแพร่เรื่องนี้ต่อได้ เพื่อให้คนมาช่วยกันลงชื่อเพิ่มขึ้นๆ ก็จะเป็นประโยชน์อย่างมาก
ไฟล์แนบ
- Form to Sign (129 kB)
RELATED POSTS
No related posts