แม้จะได้ยินอยู่บ่อยครั้งในช่วงหาเสียงของเหล่านักการเมืองทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ในทำนองว่า ‘อาสารับใช้ประชาชน’ แต่อย่างไรเสีย การเข้าสภาไปทำหน้าที่ สส.ไม่ใช่งานจิตอาสา ค่าตอบแทนน้ำพักน้ำแรงของคนเหล่านี้ล้วนมาจากภาษีของประชาชนทั่วประเทศที่ฝากความหวังให้เป็นปากเป็นเสียงและเลือกพวกเขาเพื่อให้เข้าไปทำหน้าที่ตามคำมั่นที่เคยได้ให้ไว้ในตอนหาเสียง
ดังนั้น รายได้ของ สส. จึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะไม่เพียงแต่เป็นข้อมูลเพื่อเอาไว้ตรวจสอบความโปร่งใสในฐานะผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแต่ยังสามารถใช้เป็นมาตรวัดผลงานและคุณภาพของผู้แทนเหล่านี้ได้ด้วยว่าพวกเขาทำหน้าที่คุ้มค่ากับภาษีของประชาชนที่จ่ายไปหรือไม่
เงินประจำตำแหน่ง องคมนตรี และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องตราเป็นกฎหมาย
รัฐธรรมนูญปี 60 กำหนดให้ ค่าตอบแทนขององคมนตรี ประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้านฯ ประธานและรองประธานวุฒิสภา สส. สว .รวมถึงกรรมาธิการ ต้องกำหนดเป็นกฎหมายมีแนวทางชัดเจนในการจ่ายเงินประจำตำแหน่งและค่าตอบแทนเพิ่ม โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา คือ พระราชกฤษฎีกาเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานและรองประธานวุฒิสภา ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และกรรมาธิการ พ.ศ. 2555 (พ.ร.ฎ.เงินประจำตำแหน่งและสิทธิประโยชน์ ฯ ปี 2555 ) และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2563 (ฉบับที่ 2) ซึ่งอัตราเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มจะไม่เท่ากันตามแต่ละตำแหน่งและแยกออกจากกัน หาก สส.คนใดไปดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรี ประธานและรองประธานสภาฯ หรือผู้นำฝ่ายค้านก็จะไม่มีสิทธิได้รับเงินประจำตำแหน่งของสส.อีกต่อไป
ถึงยังไม่เรียกเปิดสภา แต่ สส.ก็ได้รับเงินเดือนตั้งแต่วันเลือกตั้ง
สำหรับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) จะได้รับเงินเป็นรายเดือนตั้งแต่วันเริ่มต้นมีสมาชิกภาพ โดยมีค่าตอบแทนเป็นเงินประจำตำแหน่งเดือนละ 71,230 บาท และได้รับเงินเพิ่มอีกเดือนละ 42,330 บาท รวมเป็นเดือนละ 113,560 บาท อย่างไรก็ตาม หาก สส.ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีด้วยจะต้องรับเงินประจำตำแหน่งในฐานะรัฐมนตรีอย่างเดียว ไม่มีสิทธิได้รับเงินประจำตำแหน่งสส.
ความเป็นสมาชิกภาพ (Membership) หรือสถานะของ สส.ทางกฎหมายที่จะเป็นตัวชี้ว่าอำนาจ หน้าที่ ความรับผิดชอบ รวมถึงค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ สส.พึงได้รับนั้น ตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2517 จนถึงปัจจุบันรัฐธรรมนูญปี 60 มาตรา 100 กำหนดให้ สมาชิกภาพของ สส.เริ่มตั้งแต่วันเลือกตั้ง หมายความว่า ในกรณีของ สส.ชุดใหม่ (ชุดที่ 26) จะได้รับค่าตอบแทนย้อนหลังไปจนถึงวันเลือกตั้ง (14 พ.ค. 2566) แม้ว่าจะยังไม่มีการเปิดรัฐสภาแต่รัฐธรรมนูญกำหนดให้สถานภาพของความเป็น สส.เริ่มขึ้นแล้วและส่งผลให้ได้รับเงินเดือนย้อนหลังกลับไปตั้งแต่วันที่ได้รับเลือกตั้ง
อย่างไรก็ตาม การให้ สส.รวมถึง สว.ได้รับค่าตอบแทนย้อนหลังมาจนถึงวันเลือกตั้งพึ่งเกิดขึ้นในสภาชุดที่แล้ว (สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ปี 2562) โดยแก้ไขเนื้อหาตามที่สำนักงานเลขาธิการสภาฯ เป็นผู้เสนอ
เนื่องด้วย พ.ร.ฎ.เงินประจำตำแหน่งและสิทธิประโยชน์ฯ ปี 2555 มาตรา 5 กำหนดช่วงเวลาการรับเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มให้รับได้นับแต่วันเข้ารับหน้าที่ กล่าวคือ จะเริ่มได้รับเงินเดือนตั้งแต่ในวันที่ สส. และ สว. ได้ปฏิญาณตนในที่ประชุมสภาซึ่งตนเป็นสมาชิก ซึ่งถือเป็นวันที่ สส.ปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการจึงแก้ไขให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญปัจจุบันที่กำหนดวันเริ่มสมาชิกภาพของ สส. ให้นับตั้งแต่วันเลือกตั้ง อีกทั้ง ความเห็นของ มีชัย ฤชุพันธ์ เห็นว่ากรณีดังกล่าวถือเป็นสิทธิที่ควรได้ ตั้งแต่เข้าสู่ตำแหน่ง เมื่อ ครม.อนุมัติ การแก้ไขจึงทำให้ สส.ชุดที่แล้วก็ได้รับเงินย้อนหลังเช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ กรณี สส.ที่เข้ารับตำแหน่งเป็นประธานสภาฯ รองประธานสภาฯ หรือผู้นำฝ่ายค้าน จะได้รับเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มในอีกอัตรา ดังนั้นเมื่อมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ก็จะหมดสิทธิที่จะได้รับค่าตอบแทนของการเป็นสส.และได้รับเป็นเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มตามตำแหน่งของตน ดังนี้
- ประธานสภาฯ รับค่าตอบแทนเป็นเงินประจำตำแหน่งเดือนละ 75,590 บาท และได้รับเงินเพิ่มอีกเดือนละ 50,000 บาท รวมเป็นเดือนละ 125,590 บาท
- รองประธานสภาฯ รับค่าตอบแทนเป็นเงินประจำตำแหน่งเดือนละ 73,240 บาท และได้รับเงินเพิ่มอีกเดือนละ 42,500 บาท รวมเป็นเดือนละ 115,740 บาท
- ผู้นำฝ่ายค้านฯ รับค่าตอบแทนเป็นเงินประจำตำแหน่งเดือนละ 73,240 บาท และได้รับเงินเพิ่มอีกเดือนละ 42,500 บาท รวมเป็นเดือนละ 115,740 บาท
สิทธิประโยชน์จัดเต็ม เบิกได้ทั้งค่าเดินทาง-ค่ารักษาพยาบาล เบี้ยประชุมรับรายวัน
นอกจากเงินเดือนที่มีทั้งเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มแล้ว สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเผยแพร่เอกสารรวมสิทธิประโยชน์ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งระบุกรณีต่าง ๆ ที่ สส.สามารถเบิกเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เรื่องการรับเบี้ยประชุม รวมถึงการได้รับสิทธิประโยชน์อันเป็นสวัสดิการต่าง ๆ
ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง
สส. มีสิทธิเบิกค่าโดยสารหรือรับค่าพาหนะในการเดินทางในการมาประชุมและการไปปฏิบัติหน้าที่ อ้างอิงอัตราค่าใช้จ่ายกับพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการที่ให้นำมาใช้บังคับโดยอนุโลม โดยสิทธิที่ได้รับอยู่ในขั้นเดียวกับข้าราชการผู้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง ตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวง แบ่งออกเป็นสามกรณี ดังนี้
1. เดินทางมาประชุมรัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร คณะกรรมาธิการ หรือเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่
สำหรับ สส. ที่มีถิ่นที่อยู่คนละจังหวัดกับที่ตั้งของรัฐสภา (นอกกรุงเทพฯ) จะได้รับค่าเดินทางเฉพาะครั้งแรกที่เข้ามารับหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ (วันปฏิญาณตน) และอีกครั้งเป็นค่าเดินทางกลับเมื่อสิ้นสุดความเป็นสส. อย่างไรก็ตาม ในการเดินทางมาประชุมในวาระต่างๆ สส.ก็มีสิทธิได้รับค่าเดินทางด้วย
- เดินทางด้วยขนส่งสาธารณะ ได้แก่ เครื่องบิน รถไฟ รถยนต์ประจำทาง สำนักงานเลขาธิการสภาฯ จะเป็นผู้จัดใบเบิกค่าโดยสารให้ มีสิทธิเบิกตามที่จ่ายจริง โดยกรณีเดินทางด้วยรถไฟหรือรถยนต์ประจำทางสามารถเบิกให้ผู้ติดตามได้อีกหนึ่งคนในชั้นเดียวกัน
- เดินทางด้วยพาหนะส่วนตัว มีสิทธิได้รับเงินชดเชยเป็นค่าพาหนะในลักษณะเหมาจ่าย โดยจะได้รับเงินชดเชยเป็นค่าพาหนะในการเดินทางจากอำเภอในจังหวัดอันเป็นถิ่นที่อยู่มายังรัฐสภา (กรุงเทพฯ) คิดจากระยะทางที่สส.ได้แจ้งไว้ครั้งแรกต่อสำนักงานเลขาธิการสภาฯ ซึ่งสำนักงานเลขาธิการสภาฯ จะคำนวณระยะทางตามเส้นทางที่สั้นและตรงของกรมทางหลวง หรือกรมทางหลวงชนบทแล้วแต่กรณี ในอัตรารถยนต์ส่วนบุคคล กิโลเมตรละ 4 บาท รถจักรยานยนต์ กิโลเมตรละ 2 บาท อีกทั้ง หากเป็นกรณีการเดินทางไปสถานที่ที่ขึ้นขนส่งสาธารณะหรือที่เป็นค่าเดินทางจากสถานที่ขนส่งมายังรัฐสภาก็สามารถเบิกตามอัตรานี้เช่นเดียวกัน
2. เดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมาธิการ
กรณีที่ สส.ในฐานะกรรมาธิการที่มีความจำเป็นต้องไปปฏิบัติหน้าที่นอกจังหวัดที่ตั้งรัฐสภา (นอกกรุงเทพฯ) ก็สามารถเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางโดยใช้อัตราเดียวกันกับที่กล่าวมาข้างต้น
3. เดินทางไปราชการต่างประเทศชั่วคราว
กรณีนี้จะเบิกค่าใช้จ่ายได้จะต้องได้รับการอนุมัติเป็นหนังสือจากประธานรัฐสภาหรือรองประธานรัฐสภาแล้วแต่กรณี โดยได้รับสิทธิในอัตราเทียบเคียงในพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ ในส่วนที่เกี่ยวกับการเดินทางไปราชการต่างประเทศชั่วคราวได้ ดังนี้
- ประธานสภาฯ ได้รับสิทธิเดินทางโดยสารชั้นหนึ่ง (อัตราเดียวกับนายกรัฐมนตรี )
- รองประธานสภาฯ และผู้นำฝ่ายค้าน ได้รับสิทธิเดินทางโดยสารชั้นหนึ่ง (อัตราเดียวกันกับรองนายกรัฐมนตรี)
- สส. หากบินเก้าชั่วโมงขึ้นไปได้รับสิทธิเดินทางโดยสารชั้นหนึ่ง หากต่ำกว่าเก้าชั่วโมงให้รับสิทธิเดินทางชั้นธุรกิจ (อัตราเดียวกันกับข้าราชการผู้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง ตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวง)
งบค่าอาหารในวันประชุมมื้อละ 861 บาทต่อ ส.ส.หนึ่งคน
สำหรับการประชุมในแต่ละวันค่าอาหารของ ส.ส. นั้นถูกจัดสรรมาจากส่วนของงบประมาณรัฐสภา โดยในการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร สส.พรรคก้าวไกล เคยอภิปรายในประเด็นดังกล่าวว่า งบประมาณในส่วนของรัฐสภา มีการจัดสรรงบที่เป็นค่าอาหารของสมาชิกรัฐสภาและผู้เกี่ยวข้องอื่น ๆ รวมกันทั้งสิ้น 152,914,500 บาท แบ่งเป็นของค่าอาหาร สส.ในวันประชุมสภาผู้แทนราษฎร 87,880,000 บาท เมื่อคิดจำนวนวันที่มาประชุมประกอบจำนวนมื้อจึงคำนวณออกมาตกมื้อละ 861 บาทต่อ สส. หนึ่งคน ยังไม่รวมค่าอาหารประชุมกรรมาธิการอีก 34,846,100 บาท ตนจึงขอตัดลดค่าอาหารส่วนนี้ลงครึ่งหนึ่ง
นอกจากนี้ ยุทธนา สำเภาเงิน โฆษกประจำสำนักงานเลขาธิการสภาฯ ออกมาให้ข้อมูลยืนยันว่า การเบิกจ่ายค่าอาหารของ สส. ในวันประชุมสภาฯ เป็นไปตามระเบียบรัฐสภาว่าด้วยการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายในการบริหารงานของส่วนราชการสังกัดรัฐสภา พ.ศ. 2557 ปัจจุบันเบิกจ่ายในอัตราไม่เกิน 1,000 บาทต่อคนซึ่งจำนวนเงิน
ดังกล่าวครอบคลุมถึงค่าอาหารว่างและเครื่องดื่มตลอดทั้งวัน ค่าอาหารกลางวัน ค่าอาหารเย็น ตลอดจนภาษีมูลค่าเพิ่มและค่าบริการต่างๆ
สวัสดิการรักษาพยาบาล
สส.มีสิทธิได้รับเงินสวัสดิการรักษาพยาบาลในระหว่างดำรงตำแหน่ง ได้แก่ เงินชดเชยค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาล อุบัติเหตุฉุกเฉิน รวมถึงตรวจสุขภาพประจำปี ซึ่งสส.สามารถนำใบเสร็จรับเงินค่าพยาบาลมาเบิกได้ภายในหนึ่งปีนับจากวันที่ออกใบเสร็จรับเงิน โดยจะได้รับตามจำนวนที่จ่ายจริงไม่เกินอัตราที่กำหนด ดังต่อไปนี้
การรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลของทางราชการและเอกชน
กรณีการรักษาพยาบาลผู้ป่วยใน
- ค่าห้องและค่าอาหาร/วัน (ไม่เกิน 31 วัน/ครั้ง) จำนวนเงินไม่เกิน 4,000 บาท (รวมค่าบริการการพยาบาล)
- ค่าห้อง ไอ.ซี.ยู/ซี.ซี.ยู/วัน (สูงสุด 7 วัน/ครั้ง) จำนวนเงินไม่เกิน 10,000 บาท (ไม่รวมค่าผ่าตัด)
- ค่ารักษาพยาบาลทั่วไป/ครั้ง จำนวนเงินไม่เกิน 100,000 บาท
- ค่ารถพยาบาล จำนวนเงิน 1,000 บาท
- ค่าแพทย์ผ่าตัด/ครั้ง 120,000 บาท (ให้หมายความรวมถึงค่าใช้จ่าย ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในห้องผ่าตัด เช่น ค่าแพทย์ผ่าตัด ค่าวิสัญญีแพทย์ ค่าใช้อุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ในห้องผ่าตัดค่าเครื่องมือดมยา ค่าผ่าตัดด้วยกล้องเป็นต้น)
- ค่าแพทย์เยี่ยมไข้/วัน (ไม่เกิน 31 วัน/ครั้ง) จำนวนเงินไม่เกิน 1,000 บาท
- ค่าปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะโรค/ครั้ง จำนวนเงินไม่เกิน 4,000 บาท
- การคลอดบุตร (1) คลอดธรรมชาติ จำนวนเงินไม่เกิน 20,000 บาท (2) คลอดโดยการผ่าตัด จำนวนเงินไม่เกิน 40,000 บาท
- การรักษาทันตกรรม/ปี จำนวนเงินไม่เกิน 5,000 บาท
กรณีการรักษาพยาบาลผู้ป่วยนอก
- ค่ารักษาพยาบาลทั่วไป/ปี จำนวนเงินไม่เกิน 90,000 บาท
- อุบัติเหตุฉุกเฉิน/ครั้ง จำนวนเงินไม่เกิน 20,000 บาท (รวมถึงการรักษาภายใน 15 วัน โดยไม่รวมกับค่าใช้จ่ายทั่วไป)
การตรวจสุขภาพประจำปี จำนวนเงินไม่เกิน 7,000 บาท
เบี้ยประชุมกรรมาธิการและอนุกรรมาธิการ
อย่างที่ทราบกันดีว่านอกจากหน้าที่หลักในการผ่านร่างกฎหมายต่างๆ ในที่ประชุมสภาแล้ว หน้าที่ย่อยอีกอย่างของ สส.คือการอยู่ในคณะกรรมมาธิการต่างๆ เพื่อพิจารณาร่างกฎหมายรายมาตราหรือพิจารณา ศึกษา หรือสอบสวนเรื่องใดๆ ที่อยู่ภายใต้อำนาจของสภาแล้วรายงานต่อสภา ส่วนอนุกรรมาธิการคือการพิจารณาในประเด็นรายย่อยอีกที ดังนั้น เมื่อมีการประชุม สส.จะได้รับเบี้ยประชุมเป็นรายครั้งต่อวัน เฉพาะครั้งที่มาประชุมอีกด้วย
- ประชุมคณะกรรมาธิการ ได้รับเบี้ยอัตราครั้งละ 1,500 บาท
- ประชุมคณะอนุกรรมาธิการ ได้รับเบี้ยอัตราครั้งละ 800 บาท
อย่างไรก็ดี หาก สส.มีการประชุมในคณะกรรมาธิการและคณะอนุกรรมาธิการ คณะอื่นด้วยในวันเดียวกัน จะมีสิทธิได้รับเบี้ยประชุมในวันนั้นไม่เกินสองครั้ง
สส.หนึ่งคนมีผู้ช่วยประจำตัวสูงสุด 8 คน
ด้วยเหตุที่ภารกิจของ สส.มีมากมาย ไม่ได้มีแค่การทำหน้าที่ออกกฎหมายในสภาเพียงอย่างเดียวแต่การลงพื้นที่พบปะประชาชนเพื่อรับทราบปัญหาต่างๆ ที่เกิดก็เป็นส่วนหนึ่งของงานหน้าที่ สส. จึงทำให้ สส.จะต้องมีผู้ช่วยดำเนินงานต่าง ๆ ประจำตัว สส.แต่ละคนที่เข้ามาแบ่งเบาภาระหน้าที่ โดยมีความรับผิดชอบและคุณสมบัติที่ต่างกันออกไปตามภาระที่ต้องช่วย สส.แบ่งเบา ซึ่ง สส.จะเป็นผู้พิจารณาคัดเลือกและต้องให้คำรับรองคุณสมบัติก่อนแล้วจึงเสนอให้สำนักเลขาธิการสภาฯ ออกคำสั่งแต่งตั้งบุคคลเหล่านี้ เมื่อได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยก็จะสามารถดำรงตำแหน่งหน้าที่นั้นเพียงตำแหน่งเดียวเท่านั้น ห้ามทำหลายตำแหน่ง รวมถึงจะเข้าไปเป็นผู้ช่วยให้ สส.คนอื่นควบคู่กันไม่ได้
ผู้ช่วยประจำตัว สส. มีวาระดำรงตำแหน่งถึงวันสิ้นปีงบประมาณของปีที่แต่งตั้ง ต้องผ่านเกณฑ์คุณสมบัติทั่วไปและไม่มีลักษณะต้องห้าม รวมทั้งต้องมีคุณสมบัติเฉพาะตัว เช่น วัยวุฒิขั้นต่ำ ประสบการณ์ทางด้านการเมืองซึ่งจะกำหนดกี่ปีขึ้นอยู่กับเกณฑ์ขั้นต่ำต่างกันไปในแต่ละตำแหน่ง โดยรวม สส.หนึ่งคนสามารถมีผู้ช่วยได้สูงสุดแปดคน ดังนี้
- ผู้เชี่ยวชาญประจำตัว 1 คน รับเงินเดือน เดือนละ 24,000 บาท มีหน้าที่ให้คำแนะนำปรึกษาทางด้านวิชาการที่เป็นประโยชน์ให้แก่ สส.
- ผู้ชำนาญการประจำตัว 2 คน รับเงินเดือน เดือนละ 15,000 บาท เป็นผู้ช่วยดำเนินงานภายในสภา มีหน้าที่ศึกษาค้นคว้า หาข้อมูล ข้อเท็จจริง และข้อกฎหมาย รวมทั้งรวมรวมปัญหาและข้อร้องเรียนต่าง ๆ เพื่อจัดทำญัตติ กระทู้ถาม ข้อหารือหรือข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์แก่ สส.
- ผู้ช่วยดำเนินงาน 5 คน รับเงินเดือน เดือนละ 15,000 บาท เป็นผู้ช่วยดำเนินงานที่นอกเหนือจากที่บัญญัติไว้ในกฎหมายและรับผิดชอบตามที่ สส.กำหนด กล่าวคือ มาช่วยแบ่งเบาภาระ สส.ในการลงพื้นที่บรรเทาความเดือดร้องของประชาชน เช่น การพูดคุยรับฟังปัญหาประชาชน ติดต่อประสานกับหน่วยราชการ เข้าร่วมสัมมนาหรืองานประเพณีต่างๆ
สำหรับประธานสภาฯ รองประธานสภาฯ และผู้นำฝ่ายค้าน จะมีสิทธิเสนอแต่งตั้งคณะทำงานทางการเมือง เข้ามาช่วยทำหน้าที่ตามความประสงค์แล้วแต่กรณีประกอบไปด้วย
- ที่ปรึกษา รับเงินเดือน เดือนละ 20,000 บาท
- นักวิชาการ รับเงินเดือน เดือนละ 18,000 บาท
- เลขานุการ รับเงินเดือน เดือนละ 15,000 บาท
- ประธานสภาฯ มีสิทธิเสนอแต่งตั้งคณะทำงานทางการเมือง 12 คน ประกอบด้วย ที่ปรึกษา 5 คน นักวิชาการ 4 คน เลขานุการ 3 คน
- รองประธานสภาฯ 1 คน มีสิทธิเสนอแต่งตั้งคณะทำงานทางการเมือง 10 คน ประกอบด้วย ที่ปรึกษา 4 คน นักวิชาการ 4 คน เลขานุการ 2 คน
- ผู้นำฝ่ายค้าน มีคณะทำงานทางการเมืองสิทธิเสนอแต่งตั้ง 10 คน ประกอบด้วย ที่ปรึกษา 4 คน นักวิชาการ 4 คน เลขานุการ 2 คน
ศาลสั่งคืนเงิน-สิทธิประโยชน์อื่นๆ ได้ หาก สส.รู้ตัวว่าขาดคุณสมบัติแต่ยังลงเลือกตั้ง
กฎหมายเลือกตั้ง มาตรา 151 วรรคสอง กำหนดให้ความผิดในกรณีที่ผู้ได้รับเลือกให้เป็น สส. รู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิรับเลือกตั้งเพราะขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้นั้นคืนเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่ได้รับมาแก่สำนักงานเลขาธิการสภาฯ
ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นเป็นกรณีตัวอย่าง คือ กรณีของศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ สิระ เจนจาคะ อดีต สส.เขต กทม. พรรคพลังประชารัฐ มีลักษณะต้องห้ามในการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นผลให้สมาชิกสภาพ สส.สิ้นสุดลง และต้องคืนค่าตอบแทนเงินเดือน สิทธิประโยชน์ต่างๆ ต่อมา สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาฯ ได้ออกมาชี้แจงในส่วนที่สิระต้องคืนให้แก่สภา ได้แก่
- เงินประจำตำแหน่ง และเงินเพิ่ม โดยคิดตั้งแต่วันเข้ารับตำแหน่ง คือ วันที่ 24 มีนาคม 2562 ถึงวันที่ศาลสั่งให้พ้นจากตำแหน่ง คือ วันที่ 22 ธันวาคม 2564
- ค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาประชุม
- ค่าเบี้ยประชุมคณะกรรมาธิการ
- ค่าตอบแทนผู้ปฏิบัติงานให้สมาชิก
- ค่าโดยสารเครื่องบินโดยใช้ใบเบิกทาง
- ค่ารักษาพยาบาล
- ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ในฐานะกรรมาธิการ
ทั้งหมดนี้สิระจะต้องคืนเงินภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้ง
บำนาญ สส.ในรูปแบบกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา
แม้ สส.ไม่มีสิทธิได้รับบำเหน็จหรือบำนาญเหมือนข้าราชการแต่ สส.เองก็มีทุนเลี้ยงชีพภายหลังจากที่ไม่ได้เป็น สส.แล้วจาก “กองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา” ซึ่งมีลักษณะคล้ายกองทุนประกันสังคมเพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงและเป็นทุนหมุนเวียนให้แก่ผู้ที่เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา (สส. และ สว.)
กองทุนดังกล่าวจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา พ.ศ. 2556 โดยตามหมายเหตุของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ เขียนวัตถุประสงค์ของกองทุนด้วยว่าเกิดขึ้นเพื่อตอบแทนคุณงามความดีและความเสียสละจากการที่เคยทำหน้าที่ในฐานะเป็นฝ่ายนิติบัญญัติอันถือเป็นภารกิจสำคัญและเป็นประโยชน์ต่อชาติ
ตามระเบียบของคณะกรรมกองทุนกำหนดหลักเกณฑ์ในการจ่ายสิทธิประโยชน์ สำหรับผู้เคยเป็น สส. หรือ สว. ซึ่งสิ้นสุดสมาชิกชิกภาพที่ได้ส่งเงินเข้ากองทุนและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่ระบุไว้ จะได้รับเงินทุนเลี้ยงชีพเป็นรายเดือนโดยคำนวณเวลาจากการรวมระยะเวลาการมีสมาชิกภาพ ไม่ว่าจะติดต่อกันหรือไม่ก็ตามและให้ได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ดังนี้
- การจ่ายเงินช่วยเหลือในการรักษาพยาบาล
- การจ่ายเงินช่วยเหลือในกรณีทุพพลภาพ
- การจ่ายเงินช่วยเหลือในกรณีถึงแก่กรรม
- การจ่ายเงินช่วยเหลือในกรณีการให้การศึกษาบุตร
- สวัสดิการและสิทธิประโยชน์อื่นตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด
ทั้งนี้ สิทธิได้รับเงินทุนเลี้ยงชีพอดีตสมาชิกไม่ได้รับตลอดชีพแต่ให้ได้รับเป็นระยะเวลาสองเท่าของเวลาสำหรับคำนวณเงินทุนเลี้ยงชีพ และจะมีการระงับสิทธิชั่วคราวในกรณีที่ผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาได้กลับเข้าไปเป็นสมาชิกรัฐสภาอีกครั้งด้วย