นับตั้งแต่สมาชิกวุฒิสภาชุดปัจจุบันเข้ารับตำแหน่งภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 มีข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญหลายฉบับทั้งจากภาคการเมืองและภาคประชาชนเข้าสู่การพิจารณา โดยมีการเสนอให้ยกเลิกอำนาจของสมาชิกวุฒิสภาในการเลือกนายกรัฐมนตรีถึงหกครั้ง โดยทุกครั้งต้องการเสียงสนับสนุนจากสมาชิกวุฒิสภาถึง 84 เสียง จึงเป็นข้อเสนอที่ “แทบเป็นไปไม่ได้” ต้องอาศัยความยึดมั่นในหลักการและความกล้าหาญอย่างมากจากคนที่จะโหวตให้
ในฐานะที่เป็นผู้รวบรวมรายชื่อของประชาชนและนำเสนอข้อเสนอนี้ต่อรัฐสภาเป็นครั้งแรกในปี 2563 แม้ครั้งนั้นได้รับเสียงสนับสนุนจากสมาชิกวุฒิสภาเพียงแค่สามเสียง เราก็ได้ทราบว่า ชื่อของเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ เป็นหนึ่งในนั้น
ในฐานะที่ติดตามข้อมูลในการพิจารณาและลงมติของรัฐสภามาอย่างต่อเนื่อง เราทราบว่า เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ และพิศาล มาณวพัฒน์ เป็นเพียงสองชื่อที่ลงมติยอมตัดอำนาจตัวเอง “ทุกครั้ง” ซึ่งทำให้เราประทับใจและจดจำความกล้าหาญเช่นนั้นมาจนถึงวันนี้
หลังการเลือกตั้งในปี 2566 เมื่อได้อ่านบทกลอนที่ว่าด้วยการปิดสวิตช์ สว. เราก็เข้าใจว่า เป็นการแสดงเจตนารมณ์ที่ยึดหลักการเดียวกันต่อเนื่อง ในการจำกัดอำนาจของตัวเองอันน่าชื่นชม
แต่ในวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 เมื่อมีการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งแรก ปรากฏว่า เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ “งดออกเสียง”
ด้วยความเชื่อมั่นที่มีอย่างไม่เสื่อมคลาย เรายังเชื่อว่าเจตนารมณ์การปิดสวิตช์สว. ยังคงอยู่ใน “ห้วใจ” ของท่านเช่นเดิม เพียงแต่เนื่องในโอกาสที่ปีนี้การเมืองไทยมีความพิเศษที่จะต้องลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีหลายครััง เราจึงขออาศัยโอกาสนี้ชี้แจงข้อกฎหมายเพิ่มเติม เผื่อว่าจะเป็นประโยชน์ในการตัดสินใจเพื่อการยึดถือตามหลักการ
เนื่องจากรัฐธรรมนูญมาตรา 272 วรรคแรก ซึ่งถูกแก้ไขหลังการทำประชามติแล้ว กำหนดว่าผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีได้ต้องได้รับเสียงสนับสนุนจากสมาชิกรัฐสภา “มากกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่” เมื่อสมาชิกรัฐสภามี 750 คน จึงต้องใช้เสียง 376 เสียงเพื่อการตั้งนายกรัฐมนตรี หากสมาชิกคนใดไม่เข้าประชุม หรือลงมติ “งดออกเสียง” แต่ยังคงสถานะเป็นสมาชิกรัฐสภาอยู่ก็จะทำให้จำนวนเต็มยังเป็น 750
คน และเท่ากับได้กระทำการเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เสียงสนับสนุนไม่ถึง 376 เสียงนั่นเอง
เมื่อหลักการของมาตรา 272 เป็นเช่นนี้ การงดออกเสียง จึงไม่เท่ากับการ “ปิดสวิตช์” แต่เท่ากับเป็นการใช้สถานะของสว. “ขัดขวาง” ผู้ถูกเสนอชื่อ
การเขียนมาตรา 272 ว่าต้องใช้เสียง “มากกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่” แสดงให้เห็นเจตนาของผู้ร่างตั้งแต่ต้นแล้วที่ต้องการให้นายกรัฐมนตรีได้รับ “ความเห็นชอบ” หรือได้รับการสนับสนุนจากเสียงจำนวนมากแบบท่วมท้น รวมทั้งเสียงของฝ่ายวุฒิสภาด้วย เพราะแทบจะเป็นไปไม่ได้ที่ในภาวะบ้านเมืองขัดแย้งกันจะมีฝ่ายใดรวบรวมเสียงส.ส.แต่ลำพังได้ถึง 376 เสียง จึงเป็นการเขียนกฎหมายที่ให้น้ำหนักกับการมีอยู่และอำนาจของสมาชิกวุฒิสภาอย่างมากมาตั้งแต่แรก
หากสมาชิกวุฒิสภา ต้องการปิดสวิตช์ตัวเองไม่ให้สถานะของวุฒิสภามาเป็นแรงสนับสนุนหรือเป็นอุปสรรคให้ใครเป็นนายกรัฐมนตรีได้หรือไม่ได้ สมาชิกวุฒิสภาแต่ละท่านจึงมีทางเลือกสองทาง คือ การลงมติตามเสียงข้างมากของ ส.ส. หรือการ “ลาออก” เพื่อให้จำนวนเต็มของสมาชิกที่มีอยู่ลดลงเท่านั้น
การเขียนมาตรา 272 เช่นนี้เป็นการใช้เทคนิคทางกฏหมายของนักกฎหมายผู้ซึ่งรับใช้คณะรัฐประหาร และต้องการซ่อนกลไกเพื่อสืบทอดอำนาจให้กับคณะรัฐประหาร ประชาชนจำนวนไม่น้อยก็ไม่ได้เข้าใจเลห์กลต่างๆ อย่างชัดเจนทั้งหมด จึงไม่ใช่เรื่องแปลกนักหากสมาชิกวุฒิสภาบางท่านก็ยังเข้าใจเงื่อนไขการได้นายกรัฐมนตรีตามมาตรา 272 คลาดเคลื่อนไป
เราจึงเขียนจดหมายฉบับนี้ขึ้นมาเพื่อขอโอกาสในการอธิบายข้อกฎหมายกับท่านให้แจ่มชัดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ด้วยความเชื่อมั่นว่า หากท่านได้ทำความเข้าใจใหม่แล้วในวันนี้ ในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งหน้าท่านก็จะลงมติ “เห็นชอบ” กับนายกรัฐมนตรีชื่อพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ให้สอดคล้องกับผลการเลือกตั้งของประชาชนและการรวบรวมเสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎร ตามหลักการ “ปิดสวิตช์สว.” ที่ท่านยังคงยึดถืออย่างมั่นคงและงดงามนั้นเอง
ทั้งนี้ ประชาชนทั้งประเทศต่างเฝ้ารอคอยชมการยึดมั่นในหลักการของท่าน และประชาชนกว่า 26 ล้านเสียงที่ลงคะแนนให้ 8 พรรคการเมืองต่างกำลังจับจ้องมองหาถึงอนาคตตามแบบที่พวกเขาเลือกเอง
ดังบทกลอนบทหนึ่งที่เคยกล่าวไว้ว่า
เพียงกระเพื่อมเลื่อมรับวันวันไหว
ก็รู้ว่าน้ำใสใช่กระจก
เพียงแววตาคู่นั้นหวั่นสะทก
ก็รู้ว่าในหัวอกมีหัวใจ
RELATED POSTS
No related posts