กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิกวุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ในรายการ ‘เข้มข่าวค่ำ’ ช่อง PPTV HD ในวันที่ 15 พฤษภาคม 2566 ตอบคำถามนักข่าวว่ากลัวประชาชนโกรธแค้นหรือไม่ โดยอ้างว่า ส.ว. มาจากการลงประชามติของประชาชน 16 ล้านคนเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม การทำประชามติปี 2559 ก็ไม่ใช่การลงประชามติตามปกติ แต่เป็นหนึ่งในประชามติที่มีปัญหาด้านความชอบธรรมมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย
คำถามประชามติในปี 2559 ถูกร่างโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ระบุว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี”
อย่างไรก็ตาม ทั้ง สนช. และ ส.ว. ต่างมีที่มาจาก ‘น้ำบ่อเดียวกัน’ คือ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ทำรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญโดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้ก่อการในปี 2557 การแต่งตั้งผู้ที่จะมีสิทธิเลือกตนเองเป็นนายกรัฐมนตรี แล้วสร้างความชอบธรรมในการยกอำนาจที่ไม่ยึดโยงกับประชาชนให้ จึงนำมาสู่ปัญหาด้านความมีส่วนได้ส่วนเสีย (Conflict of Interests) อย่างชัดเจน
ต่อมา คำถามประชามติดังกล่าวถูกท้วงติงว่ามีความยาวมากเกินไป ซึ่งมีลักษณะของการชักนำให้ประชาชนตอบคำถามไปในทิศทางที่คนร่างคำถามต้องการ เช่น “เพื่อให้มีการปฏิรูปประเทศ” หรือ “เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง” เป็นต้น
คำถามนี้ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ใช้ภาษาที่จงใจเบี่ยงสาระสำคัญออกไปโดยพยายามให้ประชาชนไม่เข้าใจว่าคำถามนี้ถามว่า “เห็นด้วยหรือไม่ ที่ ส.ว. จากการแต่งตั้ง จะมีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับ ส.ส.”
คำถามนี้ทำให้ ส.ว. มีอำนาจตามบทเฉพาะกาลถึงห้าปี จึงทำให้แม้จะมีการเลือกตั้งไปแล้วในปี 2562 ส.ว. ก็ยังสามารถ ‘ช่วย’ เลือกนายกรัฐมนตรี มีอำนาจกำหนดทิศทางรัฐบาลได้อยู่แม้ คสช. จะยุติบทบาทไปแล้วก็ตาม
ปัจจัยที่ทำให้สังคมปัจจุบันไม่พอใจอย่างยิ่งต่อประชามติปี 2559 คือ บรรยากาศการรณรงค์ประชามติไม่มีความเสรีและเป็นธรรม เนื่องจากมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 หรือ พ.ร.บ. ประชามติฯ ที่มาตรา 61 ระบุว่า ผู้แสดงความคิดเห็นอย่าง “ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม ข่มขู่” มีโทษจำคุกสูงสุดถึง 10 ปี บรรยากาศความกลัวเช่นนี้ทำให้ไม่มีใครรู้ว่าจะสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้มากน้อยเพียงใด
หลังกฎหมายบังคับใช้ มีกิจกรรมสาธารณะเกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ ถูกปิดกั้นอย่างน้อย 19 ครั้ง มีผู้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญและถูกจับกุมดำเนินคดีด้วยข้อหานี้ 64 ราย
ในขณะเดียวกัน กระบวนการจัดทำประชามติ ยังดำเนินไปภายใต้การบังคับใช้กฎหมายอื่นๆ เช่น คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 เรื่องการห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน, ประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557 และ 103/2557 เรื่องการนำเสนอเนื้อหาของสื่อมวลชน, พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ, ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ฐานยุยงปลุกปั่นพร้อมกับกระบวนการยุติธรรมที่ทหารเข้ามามีส่วนร่วมในการจับกุม การสอบสวน และการใช้ศาลทหารดำเนินคดีพลเรือน ซึ่งมีผู้ถูกจับกุมดำเนินคดีจากการทำกิจกรรมโดยสงบเกี่ยวกับกระบวนการประชามติ ด้วยข้อหาต่างๆ
ดังนั้น การให้เกียรติ ส.ว. เนื่องจากผ่านการเลือกโดยประชาชนผ่านประชามติปี 2559 ตามที่กิตติศักดิ์ระบุไว้ข้างต้นจึงปัญหาความชอบธรรมในการเลือกนายกรัฐมนตรีในระบอบประชาธิปไตยที่เสรี