จำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นเครื่องตรวจวัดสุขภาพของประชาธิปไตย หากประชาชนออกมาใช้สิทธิมาก ก็อาจกล่าวได้ว่าประเทศมีความตื่นตัวทางการเมืองสูง และประชาชนยังเห็นว่าการมีตัวแทนในสภาเป็นช่องทางในการเปลี่ยนแปลง
สำหรับประเทศไทย หลังการปฏิรูปการเมือง 2540 มีจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งเพิ่มขึ้นอย่างมาก และเหนือกว่าค่าเฉลี่ยโลก แม้ว่าจะมีการรัฐประหารและการเลือกตั้งโมฆะอีกอย่างละสองครั้ง จำนวนผู้มาใช้สิทธิก็ไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด โดยอยู่ที่ราวร้อยละ 75 มาตั้งแต่การเลือกตั้ง 2554
การเลือกตั้งปี 2566 จึงเป็นโอกาสอีกครั้งหนึ่งที่ประชาชนไทยจะออกมาหย่อนบัตรให้มากขึ้น โดยเป้าหมายควรจะเพิ่มขึ้นให้ถึงร้อยละ 80 หรือประมาณ 42 ล้านคน เพราะยิ่งมีผู้ออกมาใช้สิทธิมาก ก็จะยิ่งทำให้ประชาธิปไตยไทยแข็งแรงมากขึ้น รวมถึงอาจจะเปลี่ยนผลการเลือกตั้งได้
ปฏิรูปการเมือง 2540 ประชาชนตื่นตัวใช้สิทธิเลือกตั้ง
การปฏิรูปการเมืองหลังปี 2540 พร้อมกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มาจากประชาชนทำให้อัตราผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งในไทยเพิ่มขึ้นอย่างมาก ตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 2530 เป็นต้นมา แนวโน้มผู้ออกมาใช้สิทธิอยู่ที่ราวร้อยละ 60 เท่านั้น และในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งสุดท้ายก่อนการปฏิรูปการเมืองปี 2539 มีผู้ออกมาใช้สิทธิประมาณร้อยละ 62.4
แต่ทว่าการเลือกตั้งทั่วไปปี 2544 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ และจุดเริ่มต้นของ ส.ส. ประเภทบัญชีรายชื่อและบัตรสองใบในประเทศไทย มีผู้มาใช้สิทธิเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 69.95 หรือประมาณ 29 ล้านคนจากจำนวนผู้มีสิทธิทั้งหมด 42 ล้านคน ภายใต้ระบบใหม่ที่คิดคะแนนแบบคู่ขนานนี้ จำนวนผู้มาใช้สิทธิจะส่งผลโดยตรงต่อคะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส. บัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองจะได้รับ ยิ่งมีผู้ออกมาใช้สิทธิมาก คะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส. บัญชีรายชื่อหนึ่งคนก็จะสูงขึ้นด้วย
การเลือกตั้งทั่วไปหลังจากนั้นก็พบว่ามีจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในอัตราที่เร็วกว่าจำนวนผู้มีสิทธิที่เพิ่มขึ้น ในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2548 มีผู้ออกมาใช้สิทธิเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 72.56 หรือประมาณ 32 ล้านคนจากผู้มีสิทธิทั้งหมด 44 ล้านคน โดยในการเลือกตั้งครั้งนี้ถือเป็นชัยชนะที่ “แลนด์สไลด์” มากที่สุดในประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ เมื่อพรรคไทยรักไทยภายใต้การนำของทักษิณ ชินวัตร ได้ที่นั่งในสภาไปมากถึง 377 ที่นั่ง โดยมีประชาชนเลือกพรรคไทยรักไทยร้อยละ 61
การเลือกตั้งปี 2549 ที่เป็นโมฆะและการรัฐประหารในเวลาต่อมาก็ไม่ได้หยุดให้ประชาชนออกมาหย่อนบัตรเลือกผู้แทนน้อยลง แต่ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง การเลือกตั้งในปี 2550 และ 2554 ซึ่งชัยชนะยังตกเป็นของพรรคพลังประชาชนและพรรคเพื่อไทย พรรคการเมืองที่เป็นทายาทของพรรคไทยรักไทย จำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิอยู่ที่ราวร้อยละ 75 และในการเลือกตั้งครั้งแรกหลังการรัฐประหาร 2557 ประชาชนก็ยังออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งของตนเองอยู่ในปริมาณที่ไม่ต่างจากก่อนการรัฐประหารนัก
ออกมาใช้สิทธิมาก กำหนดผลการเลือกตั้งได้
จำนวนผู้มาใช้สิทธิจะส่งผลโดยตรงต่อผลการเลือกตั้ง การเลือกตั้งปี 2566 จะมีบัตรเลือกตั้งสองใบสองระบบ ในบัตรใบแรก ประชาชนจะได้เลือก ส.ส. เขต ซึ่งจะเป็นผู้แทนในเชิงพื้นที่ โดยผู้ที่ชนะจะต้องได้คะแนนสูงสุดในเขตเลือกตั้งนั้น ๆ ตามระบบเสียงข้างมากแบบธรรมดา โดยไม่ต้องพิจารณาว่าได้คะแนนถึงกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิทั้งหมดหรือไม่
ในการเลือกตั้ง 2562 ผลการเลือกตั้งในบางเขตออกมาสูสีอย่างมาก ในจังหวัดนครปฐมเขตเลือกตั้งที่ 1 ผู้ชนะจากพรรคประชาธิปัตย์มีคะแนนมากกว่าอันดับสองจากพรรคอนาคตใหม่ไปเพียงสี่คะแนนเท่านั้น ในขณะที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เขตเลือกตั้งที่ 2 ก็เกิดเหตุการณ์ “ล้มยักษ์” เมื่อผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทยเอาชนะเฉลิมชัย ศรีอ่อน อดีตรัฐมนตรี แชมป์เก่าหลายสมัย และแกนนำคนสำคัญของประชาธิปัตย์ไปเพียง 106 คะแนน เรียกได้ว่าหากมีประชาชนออกไปใช้สิทธิขึ้นอีกเพียงเล็กน้อย ก็อาจทำให้หน้าตาของ ส.ส. เปลี่ยนไปได้ทันที
จำนวนผู้มาใช้สิทธิทั้งประเทศจะยิ่งมีความสำคัญขึ้นในบัตรใบที่สอง ซึ่งประชาชนจะได้เลือก ส.ส. บัญชีรายชื่อ โดยมีหลักการตามระบบเลือกตั้งแบบผสมเสียงข้างมาก (Mixed Member Majoritarian – MMM) คือให้จัดสรรที่นั่ง ส.ส. บัญชีรายชื่อทั้งหมด 100 คน ตามสัดส่วนคะแนนเสียงทั้งประเทศที่พรรคการเมืองได้ หรือกล่าวอย่างง่ายคือ พรรคจะได้รับ ส.ส. บัญชีรายชื่อตามคะแนนเสียงร้อยละที่ได้ทั้งประเทศจากบัตรใบที่สอง เช่น หากได้สัดส่วนคะแนนเสียงร้อยละ 50 ก็จะได้รับ ส.ส. บัญชีรายชื่อ 50 ที่นั่ง
ดังนั้น คะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส.บัญชีรายชื่อหนึ่งคนถึงแปรผันกับจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิทั้งประเทศ ยิ่งมีผู้ออกมาใช้สิทธิมาก ก็จะยิ่งทำให้คะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส.บัญชีรายชื่อหนึ่งคนสูงขึ้น เช่น ถ้าคะแนนเสียงของพรรคการเมืองทั้งหมดรวมกัน (ไม่นับบัตรเสียหรือไม่ประสงค์ลงคะแนน) 30 ล้านคน คะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส. บัญชีรายชื่อหนึ่งจะอยู่ที่ 300,000 เสียง แต่หากมีผู้มาใช้สิทธิเพิ่มขึ้นเป็น 35 ล้านคน หนึ่งที่นั่งของพรรคการเมืองจะต้องได้คะแนนเสียงเพิ่มเป็น 350,000 เสียง
แม้จะเป็นเรื่องยากที่จะคาดเดาว่าพรรคการเมืองใดจะได้ประโยชน์เมื่อมีผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งมากขึ้น แต่การออกมาใช้สิทธิเพิ่มขึ้นจะเป็นสัญญาณของความตื่นตัวของประชาชน นอกจากนี้ ในทางปฏิบัติยังเป็นการขีดเส้นให้สูงขึ้นสำหรับพรรคการเมืองที่หวังจะได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อ เนื่องจากระบบเลือกตั้งที่จะใช้ในการเลือกตั้ง 2566 นี้ จะไม่มีการกำหนดเกณฑ์คะแนนขึ้นต่ำที่พรรคการเมืองต้องได้เพื่อได้รับ ส.ส. บัญชีรายชื่อเหมือนในรัฐธรรมนูญ 2540 ที่กำหนดไว้ร้อยละห้า ดังนั้นจึงอาจจะทำให้เกิดการ “ปัดเศษ” พรรคการเมืองที่มีคะแนนไม่ถึงค่าเฉลี่ยต่อ ส.ส. บัญชีรายชื่อหนึ่งคนได้ แต่ถ้าค่าเฉลี่ยนั้นสูงขึ้น ก็จะทำให้การปัดเศษนั้นจะต้องใช้คะแนนสูงขึ้นตามไปด้วย
ไปให้ถึง 80% คนรุ่นใหม่ต้องออกไปเลือกตั้งมากขึ้น
ในการเลือกตั้ง 2566 นี้ ประเทศไทยควรจะตั้งเป้าหมายให้ประชาชนออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งให้มากขึ้นกว่าปี 2562 ให้ถึงร้อยละ 80 หมายความว่า จากจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมดกว่า 52 ล้านคน ควรจะมีคนออกไปเลือกตั้งประมาณ 42 ล้านคน หรือมากกว่าการเลือกตั้งเมื่อสี่ปีก่อนประมาณสี่ล้านคน แม้ว่าจะดูเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูง แต่ประเทศเพื่อนบ้านไทยอย่างอินโดนีเซียก็มีอัตราการออกไปใช้สิทธิในการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่ประมาณร้อยละ 80 เช่นกัน
ตัวเลขประชาชนที่ต้องออกไปใช้สิทธิมากขึ้น 4 ล้านคนยังตรงกับจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรกในการเลือกตั้ง 2566 อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปแล้วผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่อายุน้อยมักจะออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งในอัตราที่น้อยกว่าคนอายุมาก สถิติในกลุ่มประเทศ OECD ค่าเฉลี่ยการออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งของผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่อายุระหว่าง 18 ถึง 24 ปีจะน้อยกว่าผู้ที่อายุระหว่าง 25 ถึง 50 ปีถึงร้อยละ 16 ในขณะที่ผู้หญิงจะมีแนวโน้มออกไปเลือกตั้งมากกว่าผู้ชายในเกือบทุกช่วงอายุ
ประชาชนโดยเฉพาะ “คนรุ่นใหม่” จึงควรออกกระตุ้นกันให้ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งให้มากขึ้น เพราะจะยิ่งส่งผลดีต่อพัฒนาการของประชาธิปไตยไทย และอาจพลิกผู้ชนะรวมถึงโฉมหน้าของประเทศไทยในอีกสี่ปีข้างหน้าได้
RELATED POSTS
No related posts