วันที่ 22 สิงหาคม 2565 เวลา 10.00 น. ที่ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก นิสิตและนักศึกษาจากหลายมหาวิทยาลัย เช่น เจนิสษา แสงอรุณ นายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, พศิน ยินดี ประธานสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, สิรภพ อัตโตหิ องค์การบริหารสโมสรนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, วชิรวิทย์ เทศศรีเมือง ประธานสภานักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น ฯลฯ ร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้องผบ.สส. เป็นจำเลย ขอให้ศาลแพ่งมีคำสั่งเพิกถอนประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง ฉบับที่ 15 และขอให้ศาลเปิดไต่สวนเพื่อคุ้มครองชั่วคราว
สืบเนื่องจากวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีออกข้อกำหนดนายกรัฐมนตรี ฉบับที่ 47 กำหนดให้การชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธเป็นเสรีภาพของประชาชนที่ย่อมกระทําได้ โดยให้นําหลักเกณฑ์การจัดและการแจ้งการชุมนุม รวมทั้งหน้าที่ของผู้จัดและผู้ชุมนุมตามที่กําหนดในกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะมาใช้โดยอนุโลม โดยให้ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) กำหนดมาตรการขึ้นเป็นการเฉพาะ “เพื่อคุ้มครองประชาชน รวมทั้งอำนวยความสะดวกและดูแลการชุมนุม…”
ต่อมาวันที่ 1 สิงหาคม 2565 พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงออกประกาศฉบับที่ 15 ในข้อ 5 ระบุให้นำหลักเกณฑ์การแจ้งการจัดและการแจ้ง รวมทั้งหน้าที่ของผู้จัดและผู้ชุมนุมตามกฎหมายชุมนุมสาธารณะหรือพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 2558 (พ.ร.บ.ชุมนุมฯ)มาใช้ หากฝ่าฝืนให้รับโทษตามมาตรา 18 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คือ จำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งที่โทษสำหรับการไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มีอัตราโทษที่ต่ำกว่าอยู่หลายมาตรา
การออกประกาศดังกล่าว จึงถือเป็นการออกคำสั่งเพิ่มทั้ง “ข้อห้าม” และ “หน้าที่” สำหรับผู้ชุมนุม เกินไปกว่าอำนาจที่ ผบ.สส. มีตามข้อกำหนดฉบับที่ 47 และยังเพิ่มบทลงโทษในกรณีที่ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ให้สูงเท่ากับการฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งผบ.สส. ไม่มีอำนาจออกประกาศเช่นนี้ ผู้ฟ้องคดีจะยื่นขอให้ศาลแพ่งไต่สวนเป็นการฉุกเฉินในวันเดียวกัน เพื่อออกคำสั่งเพื่อคุ้มครองชั่วคราวให้ประกาศผบ.สส. ฉบับนี้ไม่มีผลบังคับใช้ในระหว่างการพิจารณาคดีนี้ด้วย
รายละเอียดคำฟ้องโดยสรุปมีดังนี้
โจทก์ 1-7 ตามลำดับ : เจนนิสษา แสงอรุณ นายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, พศิน ยินดี ประธานสภานักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต, วชิรวิทย์ เทศศรีเมือง ประธานสภานักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น, สิรภพ อัตโตหิ นายกองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ศิวัญชลี วิธญเสรีวัฒน์ ประธานสภานักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่, เชษฐา กลิ่นดี สมาชิกสภานิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคามและณพกิตติ์ มะโนชัย นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร
จำเลยที่ 1 และ 2 ตามลำดับ : พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและพลเอกเฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด
เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 นายกรัฐมนตรีออกข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 47 กำหนดว่า “….การชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธเป็นเสรีภาพของประชาชนที่ย่อมกระทำได้ภายใต้ขอบเขตการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายโดยให้นำหลักเกณฑ์การจัดและการแจ้งการชุมนุม รวมทั้งหน้าที่ของผู้จัดและผู้ชุมนุมตามที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะมาใช้โดยอนุโลม ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการควบคุมและป้องกันการระบาดของโรคซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่สามารถเข้าตรวจสอบ ระงับยับยั้ง หรือยุติการชุมุนม การทำกิจกรรม หรือมั่วสุมที่จัดขึ้นโดยมีลักษณะเสี่ยงจ่อการแพร่ระบาดของโรคได้อย่างมันท่วงที ให้ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ด้านความมั่นคง (ศปม.) กำหนดมาตรการขึ้นเป็นการเฉพาะเพื่อคุ้มครองประชาชน รวมทั้งการอำนวยความสะดวกและดูแลการชุมนุม รวมไปถึงกำหนดมาตรการอื่นๆ ตามความจำเป็นและเหมาะสมกับสถานการณ์ได้…”
ต่อมาวันที่ 1 สิงหาคม 2565 ผู้บัญชาการทหารสูงสุดออกประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง ฉบับที่ 15 ระบุว่า “ข้อ ๕ ให้นำหลักเกณฑ์การจัดและการแจ้งการชุมนุม รวมทั้งหน้าที่ของผู้จัดและผู้ชุมนุมตามที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะมาใช้โดยอนุโลม หากผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศนี้ต้องรับโทษตามมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ ระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ…”
ข้อกำหนดนายกรัฐมนตรีฉบับที่ 47 และประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบด้านความมั่นคง ฉบับที่ 15 เป็นข้อกำหนดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ออกโดยไม่มีฐานทางกฎหมายใหอำนาจออก โดยกฎหมายแม่บทไม่ให้อำนาจไว้ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการใช้ดุลพินิจในการออกข้อกำหนดโดยมิชอบ ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ 2560 หลายประการ ดังนี้
ฉวยใช้กฎหมายลำดับรองเพิ่มโทษผู้ชุมนุม
ตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ หมวดที่ 2 การแจ้งการชุมนุมสาธารณะ ได้ถูกกำหนดโทษไว้ในมาตรา 28 หากผู้จัดการชุมนุมไม่แจ้งการชุมนุมต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท หมวด 3 หน้าที่ของผู้จัดการชุมนุมและผู้ชุมนุม มีบทกำหนดโทษในมาตรา 30 และมาตรา 31 หากมิใช่การทำให้ระบบการขนส่งสาธารณะ ระบบการสื่อสารหรือโทรคมนาคมระบบผลิตหรือส่งกระแสไฟฟ้าหรือประปา หรือระบบสาธารณูปโภคอื่นใดใช้การไม่ได้ไม่ว่าจะเป็นการชั่วคราวหรือถาวร จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับเท่านั้น
แต่นายกรัฐมนตรีออกข้อกำหนดที่ 47 ข้อ 3 กำหนดให้นำหลักเกณฑ์การจัดและการแจ้งการชุมนุม รวมทั้งหน้าที่ของผู้จัดและผู้ชุมนุมตามที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะมาใช้โดยอนุโลม ส่วนผู้บัญชาการทหารสูงสุดออกประกาศฉบับที่ 15 ข้อ 5 ตามที่ระบุข้างต้นมีส่วนที่ให้การกระทำตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯต้องรับโทษตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ การกระทำของทั้งสองเป็นการออกกฎหมายลำดับรองไปเพิ่มโทษบุคคลที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ ซึ่งเป็นกฎหมายระดับพระราชบัญญัติที่ใหญ่กว่าให้ได้รับโทษหนักขึ้นเกินกว่าที่กำหนดไว้ในพ.ร.บ.ชุมนุมฯ เช่น การไม่แจ้งการชุมนุมตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ จะต้องโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือหากถูกกล่าวหาว่า ไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ของผู้จัดการชุมนุมและผู้ชุมนุม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ กำหนดโทษไว้ที่จำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับเท่านั้น
แต่ข้อกำหนดนายกรัฐมนตรี ฉบับที่ 47 และประกาศผู้บัญชาการทหารสูงสุดฉบับที่ 15 ทำให้แม้การชุมนุมที่แจ้งการชุมนุมโดยไม่ชอบตามกฎหมายหรือถูกกล่าวหาว่า เป็นผู้จัดการชุมนุมและผู้ชุมนุมที่ไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ที่กำหนดก็อาจทำให้ต้องรับโทษจำคุก 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งมากกว่าที่พ.ร.บ.ชุมนุมฯกำหนดไว้
หลีกเลี่ยงการยกบทบัญญัติการคุ้มครองสิทธิผู้ชุมนุม
รัฐธรรมนูญ 2560 บัญญัติคุ้มครองเสรีภาพในการชุมนุมไว้และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองก็ได้รับรองสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมเอาไว้ด้วยเช่นกันซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม จึงได้มีการตราพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ขึ้นมาเพื่อให้สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองเห็นได้จากหมายเหตุท้ายพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ซึ่งมีเนื้อหาบางส่วนที่มุ่งคุ้มครองความสะดวกของประชาชนและการดูแลการชุมนุมสาธารณะ คุ้มครองเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชนเอาไว้ตามหมวด 4 การคุ้มครองความสะดวกของประชาชนและการดูแลการชุมนุมสาธารณะ โดยกำหนดให้เจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะมีหน้าที่อำนวยความสะดวกต่าง ๆ ให้กับการชุมนุมไปจนถึงขั้นตอนในมาตรา 21 หากเห็นว่าการชุมนุมไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็จะต้องไปร้องขอต่อศาลแพ่งหรือศาลจังหวัดที่มีเขตอำนาจเหนือสถานที่ที่มีการชุมนุมสาธารณะเพื่อมีคำสั่งให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุมสาธารณะนั้น ศาลเท่านั้นจึงเป็นผู้มีอำนาจสั่งให้เลิกการชุมนุมตามกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ หากไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลภายในระยะเวลาที่กำหนด กฎหมายก็ยังกำหนดขั้นตอนวิธีการต่าง ๆ เอาไว้อีกหลายขั้นตอน
แต่ข้อกำหนดนายกรัฐมนตรีฉบับที่ 47 กำหนดให้นำหลักเกณฑ์การจัดและการแจ้งการชุมนุม รวมทั้งหน้าที่ของผู้จัดและผู้ชุมนุมตามที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะมาใช้โดยอนุโลม ขณะที่ประกาศของผู้บัญชาการทหารสูงสุด ฉบับที่ 15 นำหลักเกณฑ์การจัดและการแจ้งการชุมนุม รวมทั้งหน้าที่ของผู้จัดและผู้ชุมนุมตามที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมมาใช้โดยอนุโลมเท่านั้น ทั้งสองมีเจตนาหลีกเลี่ยงไม่ให้นำหมวด 4 การคุ้มครองความสะดวกของประชาชนและการดูแลการชุมนุมสาธารณะมาบังคับใช้ มีเจตนาที่กำหนดให้ประชาชนมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ตนกำหนดขึ้นให้มีความยุ่งยากซับซ้อน กำหนดโทษที่เพิ่มหนักขึ้นกว่ากฎหมายระดับพระราชบัญญัติที่ควรจะเป็น และยังจงใจหลีกเลี่ยงไม่ให้นำการคุ้มครองความสะดวกของประชาชนและการดูแลการชุมนุมสาธารณะมาบังคับใช้โดยอนุโลม
นอกจากนี้ในข้อกำหนดนายกรัฐมนตรีฉบับที่ 47 ระบุว่า “เพื่อประโยชน์ในการควบคุมและป้องกันการระบาดของโรคซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่สามารถเข้าตรวจสอบ ระงับยับยั้ง หรือยุติการชุมนุมการทำกิจกรรม หรือมั่วสุม ที่จัดขึ้นโดยมีลักษณะต่อการแพร่ระบาดของโรคได้อย่างทันท่วงที ให้ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) กำหนดมาตรการขึ้นเป็นการเฉพาะเพื่อคุ้มครองประชาชน รวมทั้งการอำนวยความสะดวกและดูแลการชุมนุม รวมไปถึงกำหนดมาตรการอื่น ๆ ตามความจำเป็นและเหมาะสมกับสถานการณ์ได้” ซึ่งเป็นการเปิดช่องทางให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุดกำหนดมาตรการขึ้นเองเป็นการเฉพาะให้สามารถระงับยับยั้ง หรือยุติการชุมนุม ได้ด้วยตนเองทันที โดยไม่ต้องผ่านกลไกศาลเหมือนที่พ.ร.บ.ชุมนุมฯบัญญัติไว้
จำเลยทั้งสองร่วมกันออกข้อกำหนดและประกาศฉบับดังกล่าวขึ้นมาเพื่อมุ่งจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมของโจทก์และประชาชนทั่วไปโดยไม่สุจริต มุ่งสร้างเงื่อนไขให้การชุมนุมเป็นไปด้วยความยุ่งยากซับซ้อน กำหนดอัตราโทษที่หนักขึ้น ไม่ได้สัดส่วนและเกินความจำเป็น โดยหยิบยกเอาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 มาเป็นข้ออ้างในการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมของโจทก์และประชาชน ทั้งที่รัฐได้ผ่อนคลายมาตรการต่างๆ มีการรวมตัวและทำกิจกรรมอื่นๆ ยกเลิกมาตรการคัดกรองต่างๆ จนเกือบจะใช้ชีวิตปกติได้ แต่ยังสร้างเงื่อนในการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุม ประกอบกับสถานการณ์ปัจจุบันไม่มีความจำเป็นที่ต้องใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯแล้ว หากต้องการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค กฎหมายปกติเท่าที่มีอยู่ก็เพียงพอในการกำกับ การกระทำของจำเลยทั้งสองถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักนิติธรรม เป็นการเพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของโจทก์และบุคคลอื่นเกินสมควรแก่เหตุ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 26 และขัดต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิการเมือง
การใช้อำนาจดังกล่าวมีผลเป็นการทำลาย กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการชุมนุมของโจทก์ อันเป็นสิทธิที่รัฐธรรมนูญรับรอง ทำให้รัฐบาลมีอำนาจเด็ดขาดในการระงับยับยั้ง สกัดการชุมุนมหรือสั่งให้เลิกการชุมนุมได้เองโดยไม่ต้องผ่านการถ่วงดุลโดยฝ่ายตุลาการ ขอให้ศาลเพิกถอนข้อกำหนดนายกรัฐมนตรีฉบับที่ 47 และ ประกาศผู้บัญชาการทหารสูงสุดฉบับที่ 15
ไฟล์แนบ
- _พรก_ฉุกเฉิน_ฉบับ_47 (224 kB)