เปรียบเทียบกฎหมายไทย-ต่างประเทศ อังกฤษ-อเมริกา โดยหลักไม่มีอายุความ เยอรมนีมีอายุความ แต่หยุดนับถ้าจำเลยหนี

การกำหนดอายุความในคดีอาญา แม้จะมีเหตุผลเบื้องหลังเพื่อประโยชน์ในเรื่องพยานหลักฐาน ประสิทธิภาพในการบริหารงานยุติธรรม แต่ในทางกลับกัน อายุความก็กลายเป็นอีกหนึ่งช่องทาง ที่ผู้กระทำความผิดที่มีอิทธิพลในสังคม ใช้ช่องทางนี้เพื่อให้ตนเองพ้นความรับผิด ตัวอย่างเช่น คดีตากใบที่แม้ศาลประทับรับฟ้องไปแล้วจนนำไปสู่การออกหมายจับจำเลยทั้งเจ็ดคน รวมถึงพล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตผู้บัญชาการกองทัพภาค 4 ซึ่งขณะศาลรับฟ้องคดีเป็นสส.พรรคเพื่อไทย แต่สุดท้ายแล้วจำเลยแต่ละคนก็ใช้ช่องอายุความลอยนวลพ้นผิดไปได้ หรือคดีปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของอิทธิพล คุณปลื้ม อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ที่หลบหนีคดีไปยังประเทศกัมพูชา และเดินทางกลับมายังประเทศไทยหลังศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 2 ยกฟ้องเนื่องจากเหตุขาดอายุความ

เมื่อสำรวจกฎหมายต่างประเทศ มีแนวทางในการวางหลักเรื่องอายุความแตกต่างกัน ประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร (Common Law) อย่างสหรัฐอเมริกา โดยหลักแล้วคดีอาญาไม่มีอายุความ โดยเฉพาะคดีความผิดร้ายแรง เช่น ฆาตกรรม อาชญากรรมข้ามชาติ ฉ้อโกง ด้านประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษร (Civil Law) เช่น ฝรั่งเศส เยอรมนี ไทย โดยหลักแล้วก็ยังกำหนดอายุความสำหรับคดีอาญา แต่มีรายละเอียดแตกต่างกันออกไป

นอกจากนี้ยังมีกฎหมายระหว่างประเทศ อย่างธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ (Rome Statute of the International Criminal Court) (ธรรมนูญกรุงโรมฯ) กำหนดให้ความผิดฐานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ อาชญากรรมสงคราม อาชญากรรมการรุกราน ไม่มีอายุความ ซึ่งประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายซิวิลลอว์อย่างฝรั่งเศส เยอรมนี ก็ลงนามอนุวัติเป็นกฎหมายภายในให้ความผิดเหล่านี้ไม่มีอายุความเช่นกัน

เหตุผลเบื้องหลัง กฎหมายกำหนดอายุความคดีอาญาเพื่อประโยชน์เรื่องพยานหลักฐาน

“อายุความ” ในทางกฎหมายอาญา คือ ระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดให้ผู้เสียหายหรือรัฐใช้สิทธิฟ้องคดีหรือร้องทุกข์ และนำตัวผู้กระทำความผิดมายังศาล ถ้าครบกำหนดแล้ว ผู้เสียหายหรือรัฐยังไม่ได้ใช้สิทธิหรือไม่สามารถนำตัวผู้กระทำความผิดมาศาลได้ คดีนั้นจะ “ขาดอายุความ” และส่งผลให้คู่ความหรือจำเลยสามารถยกการขาดอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้เพื่อขอให้ศาลยกฟ้องได้

เหตุผลที่ต้องมีอายุความนั้น นักวิชาการด้านกฎหมายอาญา อาทิ ผศ.รณกรณ์ บุญมี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ศ.ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและอาจารย์กฎหมายอาญา ให้คำอธิบายโดยสรุปได้ดังนี้

  1. รักษาความน่าเชื่อถือของพยานหลักฐาน เมื่อเวลาผ่านไปนาน อาจทำให้ความทรงจำของพยานหรือการหาพยานหลักฐานอื่นๆ ยากมากขึ้น จนมีโอกาสเกิดความผิดพลาดได้มาก
  2. ความเป็นธรรมกับผู้กล่าวหา เพื่อรักษาสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยให้มีสถานะทางกฎหมายที่แน่นอน และชนักติดหลังอันสงสัยว่ากระทำความผิดควรคงอยู่เพียงชั่วระยะเวลาหนึ่ง สอดคล้องกับหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์
  3. สนับสนุนหรือกดดันให้ผู้เสียหายหรือรัฐนำคดีมาฟ้องโดยเร็ว
  4. ประสิทธิภาพในการบริหารงานยุติธรรม ให้มีขอบเขตกำหนดที่แน่ชัดในการบริหารงานเอกสารและคดี
  5. ไม่เสียผลในวัตถุประสงค์ของการลงโทษ เมื่อผู้กระทำความผิดได้รับโทษทางอ้อมจากการหลบหนีและกบดาน ไม่กระทำความผิดให้เป็นที่สนใจอีก แสดงว่าได้พยายามทำตนเป็นคนดี ก็ควรจะยุติเรื่องที่ผ่านมา สอดคล้องกับนโยบายทางอาญาที่สนับสนุนให้คนกลับตนเป็นคนดี

สำหรับหลักเกณฑ์เกี่ยวกับอายุความในกฎหมายไทย หลักทั่วไปเรื่องอายุความ อยู่ในประมวลกฎหมายอาญา หมวด 9 อายุความ ตั้งแต่มาตรา 95 ถึงมาตรา 101 ซึ่งใช้บังคับกับ “การกระทำความผิดทุกฐานที่ไม่ได้มีการกำหนดอายุความไว้การเฉพาะ” เว้นแต่กฎหมายฉบับอื่นๆ กำหนดเรื่องอายุความไว้เป็นพิเศษโดยเฉพาะ ก็ใช้อายุความตามกฎหมายนั้น เช่น พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 กำหนดให้หากจำเลยหลบหนีระหว่างต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษ คดีไม่มีอายุความ พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีค้ามนุษย์ พ.ศ. 2559 และคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 69/2559 ที่กำหนดให้คดีค้ามนุษย์และคดีตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 สามารถหยุดนับอายุความชั่วคราวได้เมื่อผู้ต้องหาหรือจำเลยหลบหนี

อายุความทั่วไปตามประมวลกฎหมายอาญา แบ่งออกได้เป็นสองส่วน คืออายุความก่อนฟ้อง (มาตรา 95) และอายุความการบังคับโทษ (มาตรา 98) โดยอายุความก่อนฟ้องตามมาตรา 95 เป็นหลักคิดใหญ่ของอายุความ มีผลโดยตรงต่อการพิจารณาคดี

  • 20 ปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุก 20 ปี
  • 15 ปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่าเจ็ดปี แต่ยังไม่ถึง 20 ปี
  • 10 ปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่าหนึ่งปีถึงเจ็ดปี
  • ห้าปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่าหนึ่งเดือนถึงหนึ่งปี
  • หนึ่งปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งเดือนลงมา หรือต้องระวางโทษอย่างอื่น

ถ้าได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลแล้ว ผู้กระทำความผิดหลบหนีหรือวิกลจริต และศาลสั่งงดการพิจารณาไว้จนเกินกำหนดดังกล่าวแล้วนับแต่วันที่หลบหนีหรือวันที่ศาลสั่งงดการพิจารณา ก็ให้ถือว่าเป็นอันขาดอายุความเช่นเดียวกัน

จากมาตรา 95 จะเห็นว่า อายุความก่อนฟ้อง สามารถสะดุดหยุดลงได้ ก็ต่อเมื่อมีองค์ประกอบครบถ้วน สองข้อ คือ ต้องมีการฟ้องร้องผู้ต้องหาเป็นจำเลยต่อศาล และได้ตัวจำเลยมาอยู่ในอำนาจศาลแล้ว หากขาดองค์ประกอบข้อใดข้อหนึ่ง อายุความก็จะเดินต่อไป เมื่อครบตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด คดีนั้นก็จะขาดอายุความ ไม่สามารถอำนวยความยุติธรรมให้กับผู้เสียหายได้อีก

ดังนั้น ในกรณีจำเลยหลบหนี แม้จะถูกฟ้องเป็นคดีต่อศาลแล้ว แต่หากสามารถหลบหนีจนครบระยะเวลาของอายุความได้ ก็จะสามารถยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ เพื่อขอให้ศาลพิพากษายกฟ้องได้ เกิดเป็นช่องว่างทางกฎหมายที่ผู้กระทำความผิดจำนวนมากฉกฉวยโอกาสลอยนวลพ้นผิด

อายุความในต่างประเทศที่ใช้ระบบ  Civil Law เน้นมีอายุความเป็นหลัก Common Law โดยหลักไม่มีอายุความ

ระบบกฎหมายทั่วโลก แบ่งออกได้สองระบบใหญ่ๆ คือ ระบบกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษร (Civil Law) ซึ่งนิยมใช้กันในประเทศภาคพื้นยุโรป รวมถึงไทยที่ได้รับอิทธิพลและใช้ระบบกฎหมายแบบนี้ และระบบกฎหมายที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร (Common Law) ซึ่งมีจุดกำเนิดขึ้นที่ประเทศอังกฤษและแพร่หลายไปยังสหรัฐอเมริกา ตลอดจนประเทศที่เคยตกเป็นอาณานิคมและได้รับวัฒนธรรมการปกครองจากอังกฤษ

สองระบบกฎหมายนี้มีหลักการและแนวคิดในเรื่องอายุความแตกต่างกัน โดยระบบกฎหมายคอมมอนลอว์ มองว่าความผิดในคดีอาญาเป็นการกระทำที่รบกวนความสงบเรียบร้อยของส่วนรวม ซึ่งมีกษัตริย์เป็นผู้ดูแล การฟ้องคดีอาญาจึงกระทำในนามของกษัตริย์ กษัตริย์ในอดีตนั้นมีฐานะเสมือนเป็นตัวแทนของพระเจ้าในโลกนี้ อำนาจของกษัตริย์จึงมีไม่จำกัดและไม่อาจถูกควบคุมด้วยเวลา เกิดเป็นหลักการทางกฎหมายว่า “อายุความไม่ใช้กับกษัตริย์” (Nullum tempus occurrit regi) และหลักการนี้ก็ได้ถ่ายทอดไปยังรัฐที่เป็นผู้ทรงอำนาจอธิปไตยแทนกษัตริย์ในเวลาต่อมา

ประกอบกับนักกฎหมายในระบบคอมมอนลอว์ มีแนวคิดเกี่ยวกับอาชญวิทยาว่า ไม่ควรมีบุคคลใด ได้ประโยชน์จากการกระทำความผิด ส่งผลให้ “การไม่มีอายุความ” กลายมาเป็นหลักการทั่วไปในระบบกฎหมายคอมมอนลอว์ ส่วนการมีอายุความจะเป็นข้อยกเว้น เช่น ในกรณีของประเทศอังกฤษ จะอนุโลมอายุความไว้ให้กับความผิดเล็กน้อยหรือความผิดพิเศษบางประเภทเท่านั้น

ขณะที่ระบบกฎหมายแบบซิวิลลอว์ รวมถึงประเทศไทย จะนำเหตุผลข้างต้นมาใช้ในการเขียนกฎหมาย โดยมีการกำหนดอายุความไว้เป็นหลัก และการไม่มีอายุความกลายเป็นข้อยกเว้น

ประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายคอมมอนลอว์

อังกฤษ

อังกฤษ เป็นต้นแบบของระบบกฎหมายคอมมอนลอว์ และหลัก​ “อายุความไม่ใช้กับกษัตริย์” เองก็เกิดขึ้นที่ประเทศนี้  จึงทำให้ในสถานการณ์และเงื่อนไขทั่วไปแล้ว รัฐสามารถฟ้องคดีอาญาได้โดยไม่จำกัดระยะเวลา แต่เมื่อสถานการณ์ของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ฝ่ายนิติบัญญัติของอังกฤษก็โดยนำเหตุผลและที่มาของระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษรบางส่วนมาปรับใช้ เพื่อกำหนดอายุความขึ้นในคดีความผิดบางฐาน เช่น การกบฎหรือการจลาจล ความผิดเกี่ยวกับการเลือกตั้ง แจ้งความหรือให้การเท็จ การล่าสัตว์ในเวลากลางคืน และความผิดอื่นที่มีโทษสถานเบา

อย่างไรก็ดี อังกฤษ ไม่มีการตราบทบัญญัติหรือหลักการเกี่ยวกับการหยุดนับอายุความหรือทำให้อายุความสะดุดลง ทั้งนี้ก็อาจเป็นเพราะระบบกฎหมายของอังกฤษในภาพรวมแล้ว ยังคงยึดตามหลักการทั่วไปของระบบคอมมอนลอว์ ซึ่งอายุความจะไม่ถูกใช้กับการดำเนินคดีอาญา

สหรัฐอเมริกา

สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่กฎเกณฑ์ในการบังคับใช้กฎหมายค่อนข้างหลากหลาย เนื่องจากปกครองในรูปแบบของสหพันธรัฐ ทำให้แต่ละรัฐมีอำนาจในการออกกฎหมายเป็นของตนเอง เรียกว่า กฎหมายมลรัฐ (State Law) หรือ กฎหมายท้องถิ่น (Local Law) ขณะที่รัฐบาลกลางจะมีอำนาจออกกฎหมายที่มีประเด็นสำคัญร่วมกันของทุกรัฐ เรียกว่า กฎหมายรัฐบาลกลาง (Federal Law)

เรื่องอายุความในแต่ละรัฐจะกำหนดกฎเกณฑ์และระยะเวลาที่แตกต่างกันไป แต่ส่วนใหญ่แล้ว จะเป็นไปในทิศทางเดียวกับกฎหมายของรัฐบาลกลางและแนวคิดพื้นฐานของระบบคอมมอนลอว์ คือ กำหนดให้ไม่มีอายุความในความผิดฐานฆาตกรรมหรือที่มีโทษประหารชีวิต รวมถึงความผิดร้ายแรงอื่นๆ เช่น ก่อการร้าย อาชญากรรมข้ามชาติ ฉ้อโกง อายุความจะมีในฐานความผิดสถานเบาหรือไม่ร้ายแรงเท่านั้น เช่น หมิ่นประมาท ฉ้อโกงหลักประกัน เป็นต้น

US Code Title 18 มาตรา 3281 การฟ้องคดีสำหรับความผิดใดๆ ที่มีอัตราโทษประหารชีวิต สามารถดำเนินการได้ตลอดเวลาโดยปราศจากอายุความ”

ขณะที่ความผิดฐานอื่นๆ ที่ไม่ได้มีการเขียนไว้ และอัตราโทษไม่มีการประหารชีวิต กฎหมายรัฐบาลกลางให้เหมารวมใช้กรอบระยะเวลาเดียวกันคือห้าปี

US Code Title 18 มาตรา 3282 ห้ามไม่ให้ฟ้อง พิจารณา หรือลงโทษการกระทำความผิดใดๆ ที่ไม่ใช่ความผิดที่มีโทษถึงประหารชีวิต หากไม่มีการฟ้องโดยผ่านคณะลูกขุนใหญ่ หรือมีการยื่นฟ้องภายในกำหนดห้าปี นับแต่วันที่กระทำความผิด”

กรณีของการหลบหนีระหว่างพิจารณาคดีนั้น กฎหมายของสหรัฐกำหนดให้อายุความสะดุดหยุดอยู่ ตรงกันข้ามกับกฎหมายไทย ผู้หลบหนีจะไม่สามารถอ้างการขาดอายุความเป็นข้อต่อสู้เพื่อให้ศาลยกฟ้องได้ และอายุความนั้นจะเริ่มนับต่ออีกครั้ง เมื่อผู้ต้องหาหรือจำเลยที่หลบหนีกลับเข้ามาอยู่ภายในเขตอำนาจของศาลแล้ว

US Code Title 18 มาตรา 3290 บทบัญญัติว่าด้วยอายุความจะไม่ถูกนำมาใช้บังคับกับบุคคลผู้หลบหนีจากความยุติธรรม”

ในบางคำพิพากษาของศาลสหรัฐการนับอายุความยังถูกขยายรวมไปถึงความผิดก่อนการฟ้องคดี เช่นในคดีที่ผู้ต้องหาต่างด้าวคนหนึ่งหลบหนีเข้าประเทศและหลบหนีการจับกุมโดยให้ข้อมูลอันเป็นเท็จแก่หน่วยงานรัฐ กรณีนี้แม้จะยังไม่มีการไต่สวนหรือฟ้องคดีก็ตาม ศาลก็พิพากษาตีความให้ถือว่าอายุความในความผิดดังกล่าวหยุดนับลง ตั้งแต่ผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้นให้ข้อมูลเท็จและหลบหนี ตามนัยของมาตรา 3290 เช่นกัน

ในคดีร้ายแรงที่ไม่สามารถชี้ตัวผู้กระทำความผิดได้ อันเนื่องจากการขาดแคลนหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ มาตรา 3297 ก็กำหนดให้อายุความหยุดลงเช่นกัน จนกว่าจะมีการตรวจพิสูจน์ผู้กระทำความผิดด้วยหลักฐานดีเอ็นเอจนแน่ชัดแล้ว และให้เริ่มนับอายุความต่อหลังจากการตรวจพิสูจน์นั้นเสร็จสิ้น

US Code Title 18 มาตรา 3297 ในกรณีที่ผลการตรวจ DNA บ่งชี้ว่าบุคคลใดเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดอาญาอุกฉกรรจ์ จะไม่มีอายุความที่ขัดขวางการฟ้องร้องคดีได้จนกว่าช่วงเวลาหลังจากการชี้ตัวบุคคลนั้นด้วยการตรวจ DNA ผ่านพ้นไปก่อน ซึ่งช่วงเวลานี้เท่ากับช่วงอายุความที่บังคับใช้”

ส่วนกรณีที่กฎหมายรัฐบาลกลางกำหนดให้เลื่อนเวลาเริ่มต้นการนับอายุความออกไป จะมีเพียงสองกรณี ได้แก่ กรณีแรก คดีเกี่ยวกับเพศ ความรุนแรง และลักพาตัว ที่กระทำต่อผู้เยาว์ โดยให้เริ่มนับอายุความเมื่อผู้เยาว์บรรลุนิติภาวะ หรือมีอายุความ 10 ปีนับแต่วันกระทำความผิด ขึ้นอยู่กับว่าระยะเวลาใดจะนานกว่ากัน กรณีที่สอง ความผิดฐานปกปิดทรัพย์สิน ให้นับอายุความก็ต่อเมื่อการปกปิดได้สิ้นสุดลง

US Code Title 18 มาตรา 3283 อายุความของฐานความผิดเกี่ยวกับเพศ ความรุนแรง และลักพาตัว ที่กระทำต่อผู้เยาว์อายุต่ำกว่า 18 ปี ห้ามมิให้นับตลอดระยะเวลาที่ผู้เสียหายยังเป็นผู้เยาว์ หรือ 10 ปีนับตั้งแต่วันที่ได้กระทำความผิด แล้วแต่ว่าระยะเวลาใดนานกว่า”

สิงคโปร์

สิงคโปร์ไม่มีการกำหนดอายุความใดๆ สำหรับคดีอาญา และไม่มีการตรากฎหมายลำดับรองใดๆ ให้การกระทำความผิดมีอายุความ ไม่ว่าจะร้ายแรงหรือเล็กน้อย ส่วนคดีแพ่งอาจมีอายุความได้ ซึ่งแตกต่างกันไปประเภทของคดี เมื่อไม่มีการกำหนดอายุความในทางอาญา กฎหมายสิงค์โปร์จึงไม่มีมาตรการหรือเงื่อนไขที่กำหนดให้อายุความหยุดนับหรือชะงักลงเช่นกัน

ประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายซิวิลลอว์

เยอรมนี

แม้ประเทศเยอรมนีจะกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับอายุความในการฟ้องคดีอาญาไว้ในประมวลกฎหมายอาญา เช่นเดียวกับประเทศไทย โดยใช้วิธีการกำหนดแบบขั้นบันได เรียงลำดับตามน้ำหนักของอัตราโทษ มีรายละเอียดปรากฎตามมาตรา 78 (3) ดังนี้

  1. ความผิดอาญาที่มีโทษจำคุกตลอดชีวิต มีอายุความ 30 ปี
  2. ความผิดอาญาที่มีโทษจำคุกสูงสุดมากกว่า 10 ปี มีอายุความ 20 ปี
  3. ความผิดอาญาที่มีโทษจำคุกสูงสุดมากกว่าห้าปี แต่ไม่ถึง 10 ปี มีอายุความ 10 ปี
  4. ความผิดทางอาญาที่มีโทษจำคุกสูงสุดมากกว่าหนึ่งปี แต่ไม่ถึงห้าปี มีอายุความห้าปี
  5. ในกรณีความผิดอาญาที่มีโทษอย่างอื่น มีอายุความสามปี

อย่างไรก็ตาม กฎหมายเยอรมันยังได้กำหนดข้อยกเว้นให้ฐานความผิดอาญาบางส่วน เช่น การฆาตกรรมแบบมีเหตุฉกรรจ์ ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกตลอดชีวิต เป็นความผิดที่ไม่มีอายุความ รวมถึงอาชญากรรมสากลสี่ฐานความผิดตามธรรมนูญกรุงโรมฯ

ส่วนประเด็นผู้กระทำความผิดหลบหนีนั้น มีการระบุมาตรการป้องกันไว้เป็นการเฉพาะ ประมวลกฎหมายอาญาเยอรมัน มาตรา 78c (1) ข้อ 5 ข้อ 10 และมาตรา 78b (5) กำหนดให้อายุความหยุดนับชั่วคราว ในกรณีดังต่อไปนี้

  1. เมื่อมีการออกหมายจับกุม
  2. มีคำสั่งให้ควบคุมตัว
  3. มีคำสั่งให้นำตัวมาศาลเพื่อสอบปากคำและมีการตัดสินของศาล
  4. เมื่อมีการจำหน่ายคดี เนื่องจากไม่มีตัวผู้กระทำความผิดที่ได้มีการสั่งฟ้องไว้
  5. ผู้กระทำความผิดอยู่นอกรัฐและเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจได้ทำคำร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนไปยังรัฐที่ผู้กระทำความผิดแล้ว

สี่กรณีแรก จะเริ่มกลับมานับอายุความต่อจากเวลาเดิม เมื่อได้ตัวผู้กระทำความผิดมาแล้ว หรือเหตุแห่งการสะดุดหยุดลงนั้นสิ้นสุดลง แต่กรณีสุดท้าย จะพิเศษกว่ากรณีอื่น คือจะกลับมานับต่อเมื่อมีเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งดังต่อไปนี้เกิดขึ้น

  • ผู้กระทำความผิดยอมมอบตัวต่อเจ้าหน้าที่
  • ผู้กระทำความผิดได้ออกไปจากรัฐที่ได้รับคำร้อง
  • รัฐนั้นได้ปฏิเสธคำร้องและส่งคำปฏิเสธมายังเจ้าหน้าที่
  • รัฐได้ถอนคำร้องส่งผู้ร้ายข้ามแดน

นอกจากนี้ กฎหมายเยอรมันยังมีหลักการเกี่ยวกับอายุความอีกว่า “อายุความฟ้องคดีอาญาไม่ควรเป็นประโยชน์แก่ผู้กระทำความผิด หากว่ากระบวนการฟ้องคดีนั้นไม่อาจดำเนินการได้“ โดยกำหนดให้มี “ข้อยกเว้น” ในการนับอายุความ หากมีข้อเท็จจริงชัดเจนที่ทำให้เกิดอุปสรรคในการฟ้องคดี ข้อใดข้อหนึ่ง ดังนี้

  1. ผู้กระทำความผิดเป็นสมาชิกนิติบัญญัติ ซึ่งได้รับเอกสิทธิ์คุ้มครองจากการดำเนินคดีอาญาระหว่างปฏิบัติหน้าที่
  2. ผู้กระทำความผิดถูกส่งตัวให้ศาลอาญาระหว่างประเทศหรือต่อรัฐที่มีอำนาจลงโทษได้

ฝรั่งเศส

อายุความฟ้องคดีอาญาในประเทศฝรั่งเศสถูกกำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แบ่งอายุความออกเป็นสามประเภท ตามลำดับความร้ายแรงน้อยไปถึงความร้ายแรงมาก ดังนี้

  1. ความผิดลหุโทษ​ (Contravention) เป็นความผิดที่กฎหมายกำหนดโทษปรับไว้ไม่เกิน 3,000 ยูโร และไม่มีโทษจำคุก มีอายุความหนึ่งปี
  2. ความผิดปานกลาง ((Délit) เป็นความผิดที่กฎหมายกำหนดโทษปรับขั้นต่ำตั้งแต่ 3,750 ยูโร และ/หรือจำคุกตั้งแต่สองเดือนถึง 10 ปี มีอายุความหกปี และบางกรณีที่ผู้เสียหายเป็นผู้เยาว์ ในฐานความผิดเกี่ยวกับเพศหรือค้ามนุษย์ อายุความอาจขยายยาวนานขึ้นเป็น 10 หรือ 20 ปี
  3. ความผิดรุนแรง ​(Crime) เป็นความผิดที่กฎหมายกำหนดโทษปรับขั้นต่ำตั้งแต่ 3,750 ยูโร และ/หรือจำคุกตั้งแต่ 15 ปี ถึงจำคุกตลอดชีวิต มีอายุความ 20 ปี และบางกรณีที่ผู้เสียหายเป็นผู้เยาว์ ในฐานความผิดเกี่ยวกับเพศหรือค้ามนุษย์ หรือความผิดที่มีความร้ายแรง เช่น ค้ายาเสพติด ก่อการร้าย กฎหมายอาจขยายให้มีอายุความ 30 ปี

การนับอายุความเองก็ใช้วิธีการนับแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับลักษณะพิเศษของการกระทำความผิด เช่น กระทำความผิดเป็นประจำหรือไม่ ต่อเนื่องหรือไม่ ผู้ถูกกระทำเป็นผู้เยาว์และได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรงหรือไม่ หรือเป็นความผิดซ่อนเร้นหรือปกปิด

การหยุดนับชั่วคราวของอายุความ กฎหมายฝรั่งเศสจะกำหนดให้มีเงื่อนไขที่เรียกว่า เหตุที่ทำให้พ้นวิสัยที่จะฟ้องคดี ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้จากทั้งเหตุที่เป็นอุปสรรคทางกฎหมายและเหตุที่ไม่ใช่อุปสรรคทางกฎหมาย ผลที่เกิดขึ้นคือ จะทำให้อายุความของคดีนั้นหยุดนับชั่วคราว และนับต่อจากจุดเดิมเมื่อเหตุแห่งการสะดุดนั้นได้สิ้นสุดลงไปแล้ว

ตัวอย่างเหตุที่เป็นอุปสรรคทางกฎหมาย เช่น เอกสารที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีสูญหาย การปลอมเอกสารในคดี การมีเอกสิทธิ์คุ้มครองผู้ถูกฟ้อง เกิดอุปสรรคในระหว่างการสอบสวน มีการหารือขององค์คณะ มีการอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา เป็นต้น

ตัวอย่างเหตุที่ไม่เป็นอุปสรรคทางกฎหมาย เช่น เกิดภัยพิบัติธรรมชาติ โรคระบาดเป็นวงกว้าง ถูกรุกรานโดยกองทัพข้าศึก การปกปิดซ่อนเร้นอำพรางคดี เหตุเหล่านี้ก็สามารถนำมาใช้อ้างให้หยุดนับอายุความชั่วคราวได้กัน

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 9-3 อุปสรรคทางข้อกฎหมายใด ซึ่งกำหนดโดยบทบัญญัติของกฎหมาย หรืออุปสรรคทางข้อเท็จจริงใด อันมิอาจก้าวล่วงได้ ซึ่งเทียบเท่ากับเหตุสุดวิสัย อันเป็นเหตุให้พ้นวิสัยที่จะเริ่มต้นหรือดำเนินการฟ้องคดีอาญาได้นั้น ย่อมทำให้อายุความฟ้องคดีสะดุดหยุดอยู่”

เปิดกฎหมายระหว่างประเทศ ธรรมนูญกรุงโรมฯ วางหลักย้ำสี่ฐานความผิดร้ายแรงต่อมนุษยชาติไม่มีอายุความ

นอกจากกฎหมายภายในประเทศแล้ว ข้อตกลงหรือสนธิสัญญาที่แต่ละประเทศเข้าร่วมก็ยังมีส่วนเกี่ยวข้องในการกำหนดอายุความด้วยเช่นกัน ตามธรรมนูญกรุงโรมฯ ซึ่งเป็นกฎหมายระหว่างประเทศที่ว่าด้วยการตั้งเขตอำนาจของศาลอาญาระหว่างประเทศและกำหนดฐานความผิดที่เป็นอันตรายร้ายแรงสูงสุดต่อมวลมนุษยชาติ กำหนดให้สี่ฐานความผิดเหล่านี้ไม่มีอายุความ ได้แก่ ความผิดฐานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ อาชญากรรมสงคราม อาชญากรรมการรุกราน

สี่ฐานความผิดอันเป็นสากลนี้ นำไปสู่การเกิดขึ้นตามมาของหลักความเป็นสากลในเรื่องอายุความ ผ่านการรับรองและให้สัตยาบันของนานาประเทศใน อนุสัญญาว่าด้วยการไม่สามารถใช้บทบังคับกำหนดอายุความกับอาชญกรรมสงครามและอาชญกรรมต่อมนุษยชาติ (Convention on the Non-Applicability of Statutory Limitations to War Crimes and Crimes against Humanity) ซึ่งเป็นไปตามมติการประชุมของสหประชาชาติ เมื่อปี 1968 แม้แต่ประเทศที่เคร่งครัดในการกำหนดอายุความ อาทิ เยอรมนีและฝรั่งเศส ก็ยังลงนามในอนุสัญญาดังกล่าว และอนุวัติเป็นกฎหมายภายใน กำหนดให้สี่ฐานความผิดดังกล่าวไม่มีอายุความ หรือต่อให้ประเทศใดกำหนดอายุความขึ้นมา ก็ไม่สามารถใช้เป็นข้ออ้างปฏิเสธไม่ให้ศาลอาญาระหว่างประเทศหยิบยกขึ้นมาดำเนินคดีได้ ตามบทบัญญัติข้อ 29 ของธรรมนูญกรุงโรมฯ

ประเทศไทยเองได้ลงนามสนับสนุนธรรมนูญกรุงโรมฯ แต่ยังไม่ได้ให้สัตยาบันว่าจะปฏิบัติตามและมีผลผูกพัน ทั้งนี้เป็นเพราะมีข้อกังวลว่า ข้อผูกพันดังกล่าวจะต้องโอนย้ายอำนาจตุลาการบางส่วนของไทยไปให้ศาลอาญาระหว่างประเทศ ซึ่งอาจทำให้ไทยต้องสูญเสียอำนาจอธิปไตยไปบางส่วน หรือข้อ 27 ของธรรมนูญกรุงโรมฯ ที่มีเนื้อหายกเว้นความคุ้มครองข้าราชการหรือประมุขของรัฐ มีผลให้พระมหากษัตริย์ไทยไม่สามารถอ้างความคุ้มทางศาลที่รับรองไว้ในกฎหมายไทย ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 6

ส่วนอีกอนุสัญญาหนึ่งที่มีเนื้อหาพูดถึงชัดเจนเกี่ยวกับอายุความ คือ อนุสัญญาสหประชาชาติเพื่อต่อต้านการทุจริต (United Nations Convention Against Corruption) ซึ่งมีการกำหนดรายละเอียดไว้ในข้อ 29 ว่า

UNCAC ข้อ 29 ประเทศภาคีในแต่ละประเทศ ในกรณีที่สมควร พึงกำหนดบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยระยะเวลาของอายุความภายใต้กฎหมายของประเทศนั้น ในเรื่องเกี่ยวกับการฟ้องดำเนินคดีสำหรับความผิดที่ระบุไว้ในอนุสัญญาฉบับนี้ให้นานพอสมควร และพึงกำหนดให้มีระยะเวลาของอายุความยาวขึ้นหรือกำหนดให้อายุความนั้นสะดุดหยุดลงในกรณีที่ผู้ถูกหล่าวหาว่ากระทำความผิดนั้นได้หลบหนีจากกระบวนการยุติธรรม”

ถึงแม้แต่ละประเทศที่ให้ความเห็นชอบและให้สัตยาบันกับอนุสัญญาฯ นี้ จะไม่ได้เห็นว่า ความผิดเกี่ยวกับการทุจริต จะรุนแรงมากถึงขนาดระดับเดียวกับความผิดตามธรรมนูญกรุงโรมฯ แต่ก็ได้มีการรับหลักแนวคิดที่ว่า “อายุความไม่ควรเป็นประโยชน์กับผู้หลบหนีความยุติธรรม” มาใช้ในอนุสัญญา โดยกำหนดให้การนับอายุความนั้นจะหยุดนับลงชั่วคราว เมื่อผู้ต้องหาหรือจำเลยหลบหนีจากกระบวนการยุติธรรม และกลับมานับต่ออีกครั้งเมื่อผู้ต้องหาหรือจำเลยกลับมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

แหล่งอ้างอิง

  • ธีรเจต สกนธวัฒน์, ‘อายุความฟ้องคดีอาญา: ศึกษาความเป็นได้ของการขยายกำหนดเวลา’(วิทยานิพนธ์ นิติศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2565)
  • ชลวิภา วิริยะกุล, ‘การกำหนดอายุความในคดีอาญา’ (วิทยานิพนธ์ นิติศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช 2562)
  • ว่าที่ร้อยโทกิตติพัฒน์ ทิพย์สุวรรณ, ‘มาตรการทางกฎหมายเกี่ยวกับอายุความในคดีอาญา’ (วิทยานิพนธ์ นิติศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยบูรพา 2557)
  • ถอดวงเสวนา มองไปข้างหน้าแก้ไขกฎหมายอายุความ ป้องกันเจ้าหน้าที่รัฐลอยนวลพ้นผิด https://www.ilaw.or.th/articles/48179
  • Time Limits for Charges: State Criminal Statutes of Limitations https://www.findlaw.com/criminal/criminal-law-basics/time-limits-for-charges-state-criminal-statutes-of-limitations.html
  • Explainer: Is there any time limit on criminal charges? https://www.todayonline.com/singapore/explainer-there-any-time-limit-criminal-charges-1796606#:~:text=There%20is%20no%20such%20concept,reasonable%20doubt%20by%20the%20prosecution.