เปิดประสบการณ์ Sex Worker อาชีพที่ไม่มีตัวตน ชีวิตที่ต้องผิดกฎหมายตลอดเวลา

อาชีพให้บริการทางเพศ หรือ Sex Worker อาจเคยมีคำเรียกในเชิงดูถูก เช่น โสเภณี คนขายตัว แต่ไม่ว่าจะใช้คำว่าอะไร งานเหล่านี้ก็เป็นงานแบบหนึ่งที่คนทำงานต้องลงแรง ลงทุน ใช้เวลา ฝึกฝนพัฒนาทักษะ เพื่อแลกกับค่าตอบแทน เมื่อมีประเด็นเรื่อความเชื่อและศีลธรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้งานประเภทนี้ไม่ได้รับการยอมรับว่าเป็น “อาชีพ” แบบหนึ่ง เช่นเดียวกับคนทำงานประเภทอื่นๆ เมื่อสถานะไม่ได้รับการยอมรับ ไม่ใช่เพียงแค่คำดูถูกจากสังคมเท่านั้น แต่สถานะทางกฎหมายของอาชีพ Sex Worker ก็ถูกกำหนดให้แตกต่างจากงานอื่นๆ และส่งผลกระทบต่อสิทธิทางกฎหมายที่คนทำงานควรได้รับ

เพื่อแก้ไขกฎหมายให้ยอมรับอาชีพการให้บริการทางเพศ มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ และเครือข่ายภาคประชาสังคม กำลังรวบรวมรายชื่อประชาชน เพื่อเสนอร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ให้บริการทางเพศ ที่จะเปลี่ยนแนวคิดของกฎหมาย จากเดิมที่มุ่งปราบปรามการกระทำความผิด เป็นการคุ้มครองให้คนที่ทำงาน Sex Worker และที่เกี่ยวข้อง มีสิทธิในสัญญาจ้างแรงงานเช่นเดียวกับอาชีพอื่น และได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานทั้งเรื่องค่าตอบแทน ค่าใช้จ่ายเพื่อบริการด้านสุขภาพ สิทธิประกันสังคม ฯลฯ และเน้นการกำกับดูแลสถานบริการให้ต้องได้รับอนุญาตให้เปิดบริการภายใต้เงื่อนไขที่เหมาะสม จำกัดอายุทั้งผู้ให้บริการและลูกค้า สร้างระบบที่ปลอดภัย และไม่รบกวนสังคมชุมชน 

ในโอกาสที่กำลังรณรงค์เพื่อเสนอกฎหมายฉบับนี้ ไอลอว์ได้รับการแนะนำให้พูดคุยกับคนที่ทำงานให้บริการทางเพศสามคน ที่จะเล่าประสบการณ์ชีวิตของพวกเขาที่ต้องพบเจอระหว่างการทำงานบริการทางเพศภายใต้กฎหมายไทย เพื่อให้เห็นว่า ทำไมวันนี้ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ให้บริการทางเพศ ฉบับประชาชน จึงจำเป็นต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพวกเขา

ทั้งสามคนเป็นพนักงานที่ Can Do Bar ในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นร้านที่มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์สร้างขึ้นเพื่อเป็นสถานที่สร้างรายได้และให้โอกาส Sex Worker มาทำงานได้อย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีสัญญาจ้างแรงงานและสิทธิสวัสดิการครบถ้วน พนักงานที่นี่หลายคนเป็นแรงงานข้ามชาติที่จดทะเบียนและมีใบอนุญาตทำงานถูกต้องตามกฎหมายไทย นอกจากพวกเขาจะทำงานบาร์เพื่อหารายได้แล้ว พวกเขายังมีโอกาสใช้ชีวิตร่วมกันในชุมชนที่เรียนรู้เรื่องสิทธิ พัฒนาความรู้ทักษะชีวิต และทำกิจกรรมขับเคลื่อนเพื่อให้กฎหมายที่มีอยู่เป็นธรรมกับชีวิตของ Sex Worker ให้มากขึ้นด้วย 

หญิงสาวที่ข้ามแดนมา ต้องหาทางรอดให้ชีวิต

อิน อายุ 42 ปี เล่าเรื่องชีวิตของเธอให้ฟังว่า เธอเป็นคนไทใหญ่ เดินทางเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่อายุ 15 ปี (ประมาณปีพ.ศ.2541) เนื่องจากในยุคสมัยนั้นบ้านเมืองฝั่งรัฐฉาน ประเทศเมียนมาร์ มีสถานการณ์สู้รบ อินใช้คำว่า “อยู่บ้านก็ไม่ได้อยู่ โรงเรียนก็ไปบ้างไม่ได้ไปบ้าง” เป็นช่วงที่ทหารเป็นใหญ่และไม่มีความปลอดภัยในชีวิต บ้านที่มีลูกสาวสวยก็อาจจะถูกทหารมาจับไปทำเป็นเมีย พ่อกับแม่ของอินเลยให้อินกับพี่สาวไปใช้ชีวิตหลบๆ ซ่อนๆ อยู่ในสวนข้าวโพด บางวันต้องนอนในสวนข้าวโพด ทำอาหารกินในสวนข้าวโพดเพื่อให้ทหารหาตัวไม่เจอ

“เราไม่ชอบชีวิตแบบนี้ คนอื่นเขาไปประเทศไทยได้เราก็อยากไปหาชีวิตที่ดีกว่านี้ แต่พ่อแม่ก็ไม่ได้ยอมให้มา สองคนพี่น้องคุยกัน ก็เลยแอบมา… เดินเท้ามาแล้วก็มาทำงานเป็นแม่บ้าน เลี้ยงเด็ก แล้วก็ไปอยู่ปั๊มน้ำมัน ช่วงนั้นเงินเดือนแค่ 800-1200 แล้วอินก็แต่งงานกับคนไทย มีลูกคนนึง เลิกกัน พอได้งานประจำแล้ว ตอนที่ลูกอยู่ป.4 ก็รับลูกมาอยู่ด้วย มาเรียนที่เชียงใหม่” อินเล่า

อินเล่าต่อว่า ในฐานะที่เป็นแรงงานข้ามชาติ จึงมีภาระค่าใช้จ่ายพิเศษที่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเพื่อต่อใบอนุญาตทำงานทุกปี ซึ่งแต่ละครั้งใช้เงินหลักหมื่น อินมีภาระที่ต้องส่งลูกเรียนหนังสือ และต้องดูแลยายที่แก่ชราและป่วยหนัก การทำงานประจำหนึ่งงานได้เงินเดือนก็ไม่พอใช้ ช่วงนั้นเธอทำงานที่ร้านอาหารขนาดใหญ่ แม้จะทำงานเพิ่มเป็นสองกะได้เงินเดือนละประมาณ 18,000 บาท ก็ยังไม่พอ ไม่มีเงินเก็บ และไม่มีเวลาดูแลลูก

สำหรับประสบการณ์ครั้งแรกที่เข้าสู่งาน Sex Worker อินถ่ายทอดเรื่องราวในอดีตว่า เธอไม่ได้ตั้งใจที่จะทำงานนี้แต่เป็นจังหวะชีวิตที่มีลูกค้าเรียกหา “ตอนนั้นทำงานสองกะ น้ำหนัก 52 กิโล พอสี่โมงเย็นก็กลับไปอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้า ใส่ชุดพื้นเมือง เกล้าผม เป็นพนักงานต้อนรับอยู่หน้าร้าน แล้วมีลูกค้าบอกว่าจะเอาอีน้องนี่ ถ้าอีน้องนี่ไม่มาก็ไม่สั่งอะไรเลย ซึ่งเป็นลูกค้าที่มาทีนึงสั่งไวน์ขวดนึงสองสามพัน เจ้าของก็เลยบอกว่าเธอต้องทำยอดบ้างแล้วนะ ก็เลยไปคุยกับลูกค้า เขาก็สั่งอาหารเต็มที่เลย แล้วก็สั่งเผื่อพนักงานให้สเต็กคนละจานๆ ทุกคนก็เลยเชียร์ว่าให้ไปกับลูกค้าคนนี้เลย ลูกค้าก็ชวนไปข้างนอก ก็ลองขอเขาว่า จ่ายไหม 5,000 หนึ่งชั่วโมง เขาก็จ่าย …”

พิงค์ อายุ 39 ปี เป็นอีกคนหนึ่งที่พื้นเพเดิมเป็นชาวไทใหญ่ เกิดในรัฐฉาน ประเทศเมียนมาร์ พิงค์เดินทางเข้าประเทศไทยตั้งแต่อายุประมาณ 16 ปี เธอเล่าว่า ตัวเธอเรียนหนังสือไม่จบ พี่สาวซึ่งมาทำงานในประเทศไทยก่อนก็พาเธอมาและเป็นคนฝากฝังงานให้ทำในประเทศไทย เมื่อมาถึงก็มาทำงานแม่บ้านอยู่ประมาณหนึ่งปี ต่อมาก็ทำงานคาราโอเกะแล้วก็ทำงานตามบาร์ต่างๆ เป็นพนักงานนั่งดริ๊งก์ ซึ่งงานนั่งดริ๊งก์ก็เป็นงานที่จะมีโอกาสออกไปกับลูกค้านอกร้านต่อ แล้วก็มาทำอะโกโก้ ซึ่งเป็นงานที่ได้เงินดีที่สุด เมื่อถามว่างานแบบไหนที่เธอชอบหรืออยากจะทำ พิงค์ตอบว่าก็งานที่ได้เงินดีก็ทำ

ชีวิตของพิงค์อาจจะต่างจากอินตรงที่เธอไม่ได้มีลูก และไม่มีภาระทางครอบครัว ทำให้สามารถเลือกทำงานเพื่อหาเงินเท่าที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ และพิงค์ก็พยายามเก็บเงินให้ได้เพื่อสร้างเนื้อสร้างตัวในประเทศไทย จนต่อมาเธอก็ลดงานในฐานะพนักงานบริการลง เมื่ออายุเยอะขึ้นพิงค์บอกว่า เริ่มขี้เกียจแล้ว ก็เลือกทำงานหลายอย่างมากขึ้น แต่ยังมาร่วมงานกับมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์อยู่เรื่อยๆ และตอนนี้กำลังพยายามหางานด้านการเกษตรทำ คือ การเช่าที่ดินทำสวนลำไย ซึ่งได้รายได้มากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่ละปี 

น้ำ อายุ 35 ปี มีเรื่องราวชีวิตคล้ายกับรุ่นพี่ทั้งสองคน เธอเดินทางเข้ามาในประเทศไทย อยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ตั้งแต่อายุ 16 ปี ด้วยความคาดหวังจากครอบครัวว่าจะต้องทำงานแล้วส่งเงินกลับไปช่วยเลี้ยงครอบครัว เธอทำงานตั้งแต่เป็นแม่บ้าน รับจ้างดูแลคนแก่ และรับจ้างขายเสื้อผ้าที่กาดหลวง วัฒนธรรมของครอบครัวที่เป็นภาระของเธอทำให้บางครั้งน้ำก็รู้สึกเหมือนเป็นทาสที่ต้องมีหน้าที่ตอบแทนบุญคุณ จนตัวเธอเองไม่ได้มีเงินเพียงพอสำหรับการเลี้ยงดูตัวเองให้มีคุณภาพชีวิตในประเทศไทย

“มาตั้งแต่สมัยข้าวเหนียวห่อละสามบาท ตั้งแต่ถนนช้างคลานยังเป็นป่าอยู่ สมัยนั้นเงินเดือนได้เดือนละ 3,000-4,000 เอง ค่าห้องก็ 1,400-1,500 รวมค่ากินก็ค่อนข้างจะไม่พอ ก็ทำงานสองอย่างไปพร้อมกัน ทำงานในห้องครัวช่วงเวลากลางคืนที่ร้านอาหาร ทำทุกอย่างในร้านเป็นเด็กเสิร์ฟด้วย ทำงานตอนกลางวันขายเสื้อผ้าถึงหกโมงเย็น ตอนกลางคืนทำถึงเที่ยงคืน ได้เงินเดือนสองที่ก็ยังไม่ถึงหนึ่งหมื่นบาท ไม่พอใช้ ทำอย่างนี้ทุกวันจนร่างกายเริ่มทรุดลง กลางวันก็แอบไปนอนบ้าง บางครั้งก็มางานสายบ้าง” น้ำเล่า 

น้ำเล่าถึงจังหวะที่เธอถูกชักชวนเข้ามาทำงานให้บริการทางเพศภายใต้สถานการณ์บีบคั้นด้านการเงินช่วงโควิดว่า “เรามาหาตังค์เนอะ คนทางบ้านเขาก็รออยู่ เราก็ต้องส่งตังค์ไปให้ที่บ้าน ก็เริ่มมาทำคาราโอเกะ นั่งดื่มนับชั่วโมงละหกสิบบาท เดือนนึงได้หมื่นกว่า แล้วก็มีช่วงเคอร์ฟิวที่ปิดร้านบ่อย พอไม่ได้นั่งก็ไม่ได้ตังค์ หนึ่งเดือนได้สองพัน หลังจากนั้นก็มีคนชักชวนมา… จนถึงปัจจุบัน” 

ทำงานก็กลัวโดนจับแล้วส่งกลับ ทั้งที่กลับบ้านไม่ได้แล้ว

อิน เล่าชีวิตของเธอว่า ตั้งแต่เข้ามาทำงานในประเทศไทยก็ไม่ได้กลับบ้านที่เมียนมาร์อีกเลย เธอแต่งงานกับคนไทยและมีลูก ทำงานเพื่อหาเงินเลี้ยงลูกมาตลอดและมีเป้าหมายของชีวิตคือการส่งลูกเรียนให้จบ จนตอนนี้ลูกของเธออายุ 24 ปีแล้ว เพิ่งเรียนจบด้านเทคโนโลยี ชีวิตของเธออยู่ที่ประเทศไทย พ่อกับแม่ของเธอที่เมียนมาร์ก็เสียชีวิตแล้ว จึงไม่มีเหตุต้องกลับไปและไม่มีบ้านให้ต้องกลับไปอีกแล้ว แต่การทำงานบริการทางเพศ เป็นอาชีพที่กฎหมายไทยไม่ได้ยอมรับและทำให้เธอตกอยู่ในความเสี่ยงว่า หากถูกจับกุมก็จะถูกส่งตัวกลับไปเมียนมาร์อยู่ตลอดเวลา

อินเล่าว่า เธอมีเพื่อนสนิทชาวเมียนมาร์ที่มีลูกสามคนอยู่ในประเทศไทย ซึ่งเคยถูกจับฐานตามกฎหมายป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี และนำตัวส่งกลับประเทศเมียนมาร์ แต่เจ้าหน้าที่ที่พาไปส่งก็ไม่ได้สนใจว่าจะต้องส่งที่ทางออกชายแดนตรงจุดไหน เมื่อพาตัวไปปล่อยไว้ในจุดที่ไม่รู้จัก ก็เดินทางไปต่อไม่ได้ จะกลับบ้านก็ไม่ได้ ทำให้เพื่อนของอินต้องเป็นหนี้เป็นสินหยิบยืมเงินเพื่อจ้างคนให้พากลับเข้ามาประเทศไทยแบบผิดกฎหมายเพื่อมาหาลูก แต่เมื่อกลับเข้ามาก็ทำงานไม่ได้แล้วเพราะไม่มีใบอนุญาต จึงต้องไปรับจ้างก่อสร้างรายวันเพื่อให้มีเงินกินข้าวไปวันๆ แล้วอนาคตของลูกทั้งสามคนก็จบลงไปด้วย ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้เป็นสิ่งที่อินกลัวที่สุดว่าจะเกิดกับตัวเอง และจะทำให้ลูกของเธอลำบากไปด้วย

“ถ้าเป็นอาชีพอื่นก็จับ ปรับ แล้วปล่อย (ปรับข้อหาทำงานผิดประเภทจากใบอนุญาต) ก็ยังสามารถอยู่แล้วไปทำงานอื่นต่อได้ แต่ถ้าเป็นงานขายบริการ เขาจับแล้วไม่ได้จะปล่อย เขาจะปั๊มพาสปอร์ตและใบอนุญาตทำงาน ห้ามเข้าประเทศไทยตลอดชีวิต และจะส่งกลับประเทศต้นทาง นี่มาตั้งแต่เด็ก ถ้าโดนส่งกลับไปแล้วจะไปทางไหน ภาษาพม่าก็งูๆ ปลาๆ ลืมไปหมดแล้ว ตั้งแต่มายังไม่เคยกลับเลย” อินกล่าว

“กฎหมายทำให้เรากลายเป็นอาชญากร เหมือนเราเท่ากับค้ายา ทั้งๆ ที่เราก็ไม่ได้ไปทำร้ายใครเลย เราก็แค่ทำงานเพื่อจะหาเลี้ยงครอบครัวของเรา เพื่อจะให้ลูกเรามีอนาคตที่ดี เป็นอนาคตของชาติ ถ้าสมมติว่าเขาขังแม่ ขังคนที่หาเงินส่งเขาเรียน ลองคิดดูว่าชีวิตเด็กคนนึงจะเป็นยังไง ช่วงนั้นอินมีทั้งลูกทั้งยายที่ป่วยเป็นมะเร็งด้วย หาเงินคนเดียวจากงานประจำมันไม่พอใช้หรอก ถ้าเราโดนจับแล้วส่งกลับไปทางนู้น เราก็ต้องแอบเข้ามาหาลูก ก็ต้องอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ จะไปทำบัตรใหม่ก็ไม่ได้ เพราะปั๊มลายนิ้วมือก็ขึ้นแล้วว่าเป็นอาชญากร”

ขอสินเชื่อไม่ได้ ไร้ตัวตนในระบบการเงิน

สำหรับพิงค์ที่ทำงานอยู่ในประเทศไทยแล้วเริ่มมีเงินเก็บเพื่อจะตั้งตัวใช้ชีวิตให้ได้ เธอก็อยากจะมีทรัพย์สินเป็นของตัวเอง แต่เมื่อทำธุรกรรมกับทางธนาคารก็ต้องเปิดเผยอาชีพของเธอและรายได้ ซึ่งการระบุว่า เป็นพนักงานบริการทางเพศ เป็นอาชีพที่ไม่ได้รับการยอมรับจากระบบการเงินการธนาคาร สิ่งที่เธอต้องการจริงๆ คือ การขอสินเชื่อเพื่อซื้อบ้านเป็นของตัวเอง ซึ่งเธอเข้าใจว่าการไม่ได้เป็นคนไทยนั้นไม่สามารถซื้อบ้านได้ แต่เธอพบว่า การขอสินเชื่อเพื่อซื้อรถก็ไม่สามารถทำได้

“เราไม่สามารถเข้าถึงธุรกรรมการเงินสักอย่างเดียว เพราะเขาต้องถามว่าเราทำงานอะไร ถ้าเราบอกว่าเราทำงานคาราโอเกะ ทำงานบาร์ แม้จะมีรายได้เดือนละเป็นหมื่น แต่เมื่อจะขอสินเชื่อผ่อนรถเขาไม่ให้ผ่าน เขาบอกว่างานเราไม่มั่นคง งานพนักงานบริการไม่มีอยู่ในระบบ” 

“คือ ไม่มีตัวตน ไม่มีชีวิตอยู่ในระบบการเงิน จะขอกู้ไม่ได้ ถ้าเป็นคนไทยทำงานบริการจะซื้อบ้านหรือผ่อนบ้านก็ไม่ได้ เราเป็นพม่าถ้าจะผ่อนคอนโด จริงๆ ก็ซื้อได้แต่เขาไม่ให้ ตอนนั้นผ่อนรถ ต้องให้คนไทยซื้อให้แล้วเราเป็นคนผ่อนเอง ตอนแรกเราก็จะซื้อเองแต่เขาบอกว่าไม่ได้” พิงค์เล่าถึงผลกระทบจากการที่อาชีพของเธอไม่ได้รับการยอมรับเท่าเทียมกับอาชีพอื่น

โดนลูกค้าทำร้าย แต่ไปแจ้งความไม่ได้ กลัวจะเป็นจำเลยเสียเอง

ปัญหาใหญ่อย่างหนึ่งที่ผู้คนในแวดวง Sex Worker รู้กันดี อันเป็นผลมาจากกฎหมายไทยที่ไม่ยอมรับอาชีพนี้ คือ กรณีที่พนักงานบริการถูกรังแก ถูกเอาเปรียบ หรือตกเป็นผู้เสียหาย หากเดินไปแจ้งความและเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้กับตำรวจได้ฟัง แทนที่ตำรวจจะช่วยเหลือเพื่อปกป้องสิทธิของพวกเธอในฐานะผู้เสียหาย จะกลายเป็นว่า พนักงานบริการอาจตกเป็นผู้ต้องหาเองฐานค้าประเวณี และอาจถูกจับ ปรับ หรือถูกส่งกลับประเทศและถูกขึ้นบัญชีที่ไม่สามารถกลับเข้ามาในประเทศไทยได้อีก ซึ่งพวกเขาเรียกเป็นภาษาปากกันว่า “โดนสองต่อ” 

น้ำเล่าว่า เธอมีเพื่อนพนักงานบริการที่เป็นคนไทยโดนลูกค้าขโมยของ จึงไปแจ้งความกับตำรวจ แต่ตำรวจบอกว่าต้องเสียค่าปรับ 1,000 บาท เพราะ “คุณก็รู้ว่าทำงานอะไรอยู่” ถ้าไม่อยากเสียค่าปรับก็ต้องนอนห้องขังหนึ่งคืนแทนการจ่ายค่าปรับ กลายเป็นว่าของที่หายไปตำรวจก็ไม่ได้สนใจช่วยกันติดตาม แต่สนใจอาชีพที่ทำมากกว่า แม้สุดท้ายเพื่อนของเธอก็ได้แจ้งความเรื่องที่ของถูกขโมย แต่ก็ต้องจ่ายค่าปรับตามกฎหมายเกี่ยวกับการค้าประเวณีไปก่อน

ส่วนตัวของน้ำเองก็เคยมีประสบการณ์ไม่ดีจากการทำงาน เคยถูกลูกค้าใช้ความรุนแรง ซึ่งเธอรู้สึกโกรธแค้นมากแต่ก็ไม่เคยกล้าไปแจ้งความกับตำรวจ 

“ตอนอยู่ในร้านเขาก็ดีนะ มันดูไม่ออกเลย เหมือนจะใจดี แต่พอไปถึงโรงแรมจริงๆ มันก็แบบ… จะให้โม้กสด เรายืนยันว่าจะให้ใส่ถุง แล้วเขาก็มาดึงผมใช้ความรุนแรง บังคับเรา เราก็บอกว่าไม่เอานะ ถ้าเป็นแบบนี้ ฉันจะกลับบ้าน ตังค์ก็ไม่เอาแล้ว ใส่เสื้อผ้าจะเดินออกแล้วแต่เขาไม่ให้ออก เขาดึงกลับมาโยนใส่เตียง ด้วยอารมณ์นะเราก็ร้องกรี๊ด พอเราร้องแล้วเขาเลยตบปาก มาโดนตา ก็ช้ำเลย แล้วก็เรามีสองชั่วโมงนะ เขาก็ปู้ยี่ปู้ยำจนถึงนาทีสุดท้ายถึงให้กลับ เขาก็ให้ตังค์แต่เราถูกทำร้ายไง” 

เมื่อถามย้อนว่า กรณีที่เกิดขึ้นนั้นหากเลือกได้น้ำอยากจะไปแจ้งความดำเนินคดีหรือไม่ น้ำตอบว่า “แน่นอนค่ะ เพราะว่าเราแค้นมาก ไม่อยากให้มันลอยนวล ทั้งๆ ที่เราถูกกระทำ แต่กลายเป็นว่าเราก็… ไม่กล้าไปแจ้ง” 

น้ำยืนยันว่า ส่วนใหญ่แล้วลูกค้าที่เธอเคยเจอจะปฏิบัติดีต่อกัน จะทำหรือไม่ทำอะไรก็สามารถพูดคุยกันดีๆ ได้ นานๆ ถึงจะเจอลูกค้าแย่ๆ ประมาณหนึ่งในร้อยเท่านั้น เมื่อถามต่อว่า ประสบการณ์ของเพื่อนคนอื่นที่ทำอาชีพเดียวกันต้องเจอเหตุการณ์ที่ลูกค้าทำไม่ดีกันทุกคนหรือไม่ น้ำตอบว่า มันก็ต้องเจอบ้างอยู่แล้ว เพราะคนเราคงไม่ได้เจอแต่คนดีหมด เพียงแต่ว่าบางทีเรื่องแบบนี้มันก็เล่าให้คนอื่นฟังไม่ได้ เพราะการเล่ามันเหมือนตอกย้ำ

รอยยิ้มเมื่อรอเห็นกฎหมายใหม่ ที่ให้สิทธิเหมือนกับทุกอาชีพ

ทั้งอิน พิงค์ และน้ำ ร่วมกิจกรรมกับมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์และทำความเข้าใจร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ให้บริการทางเพศ มาอย่างดี พวกเธอมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมรณรงค์ แต่เนื่องจากไม่ได้เป็นคนไทยจึงไม่มีสิทธิเป็นหนึ่งใน 10,000 รายชื่อที่จะร่วมกันเสนอกฎหมายฉบับนี้ เมื่อถามถึงเนื้อหาของกฎหมายที่จะให้อาชีพ Sex Worker นับเป็นอาชีพที่ถูกกฎหมาย มีสิทธิและศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับอาชีพอื่น ไม่ถูกเลือกปฏิบัติเพราะเหตุว่าเคยทำงานนี้มาก่อน ก็สังเกตเห็นรอยยิ้มบนใบหน้าของพวกเธอเพิ่มขึ้นมาทันที ต่างจากตอนที่ต้องเล่าถึงประสบการณ์บนเส้นทางชีวิตที่ต้องเผชิญหน้ากับการด้อยค่าที่พวกเธอเลือกเองไม่ได้

“ก็ดีนะ สมมติว่าเราไปโดนข้อหาค้าประเวณี จะมีประวัติมันจะขึ้นไว้ เวลาเราไปทำงานที่อื่นก็จะถูกตีตรา เขาจะไม่ยอมรับ ถ้าเปลี่ยนกฎหมายได้สังคมก็จะมองอีกแบบว่า งานไหนๆ ก็เท่าเทียมกัน สิทธิต่างๆ ก็อาจจะดีกว่า การแจ้งความ การไปทำงานที่อื่น การเข้าเรียน สมัครไปเรียนที่ต่างๆ ก็มีผลนะ” น้ำแสดงความคิดเห็นต่อกฎหมายที่กำลังจะเสนอ

น้ำยังเล่าเพิ่มด้วยว่า ปัญหาอีกอย่างหนึ่งที่พนักงานบริการส่วนใหญ่ต้องพบเจอในการทำงาน คือ เจ้าของสถานประกอบการส่วนมากจะตั้งกฎเกณฑ์การทำงานที่ทำให้พวกเธอไม่มีทางเลือกหรือต่อรอง เช่น การตั้งกฎเกณฑ์ควบคุมน้ำหนักตัว การบังคับให้เสียเงินซื้อเสื้อผ้าใส่ให้เหมือนกัน การปรับเงินเมื่อมาสายนาทีละห้าบาท หรือการปรับเงินเมื่อจะขอลาหยุด ทั้งๆ ที่สถานประกอบการไม่ได้จ่ายเงินค่าตอบแทนให้เป็นรายเดือนแต่กลับมีกติกาที่จะต้องหักเงินมากมายจากคนทำงาน จนบางครั้งการไปทำงานจะเสียเงินเยอะกว่าการไม่ไปทำงาน ดังนั้น เธอจึงอยากให้มีกฎหมายใหม่ที่รองรับอาชีพพนักงานบริการให้มีข้อตกลงในการจ้างงานเหมือนกับอาชีพอื่น ให้เป็นระบบการจ้างงานเหมือนพนักงานออฟฟิศทั่วไปที่จะมีวันหยุด วันลา ช่วงเทศกาลก็สามารถหยุดพักได้บ้าง

ขณะที่พิงค์บอกว่า อยากให้กฎหมายของเราผ่าน คิดว่าจะช่วยให้พวกเราจะได้ทำงานอิสระมากขึ้น คนที่ไปทำงานกับร้านก็ไม่ต้องถูกหักสำหรับการ “ขาด-ลา-มาสาย” ทุกวันนี้คนที่ทำงานกับบางร้านไม่มีประกันสังคม ไม่มีเงินเป็นรายเดือน แต่ให้ไปอาศัยลูกค้าของเขาแล้วได้ค่าดริ๊งก์เป็นค่าตอบแทน พิงค์ฝันว่า ถ้าอาชีพนี้ถูกกฎหมายทุกร้านจะให้ค่าตอบแทนเป็นเงินเดือน มีประกันสังคมให้ ทำให้พวกเธอสามารถทำงานได้เหมือนมนุษย์เงินเดือนอาชีพอื่นๆ 

ด้านอินบอกว่า อยากให้มีกฎหมายคุ้มครองให้อาชีพของพวกเธอให้เป็นงานเหมือนงานอื่นๆ เพราะเธอเองก็ทำงานเลี้ยงครอบครัว ไม่ได้ไปสร้างความเดือดร้อนให้ใคร กฎหมายที่กำลังเสนอนี้จะทำให้คนประกอบอาชีพให้บริการไม่ผิดกฎหมาย แต่ว่าร้านยังอยู่ใต้กำกับของกฎหมายอยู่ และยังคุ้มครองผู้บริโภคด้วย ถ้าลูกค้าไม่พอใจก็ยังสามารถแจ้งความเอาผิดกับพนักงานบริการได้ ไม่ได้อำนวยความสะดวกให้เพียงแต่ฝ่าย Sex Worker อย่างเดียว กฎหมายนี้จะคอยควบคุมไม่ให้เยาวชนมาทำงานนี้ คนซื้อถ้าอายุไม่ถึงก็ไม่ได้เหมือนกัน 

“เราไม่ได้ต้องการอะไรพิเศษมากกว่าใคร แค่อยากให้กฎหมายยอมรับว่างานนี้ก็เหมือนงานทั่วๆ ไป แค่นั้นเอง ตอนนี้สังคมมองงานบริการเป็นคนรักสบาย ถ้ากฎหมายยอมรับแล้วว่า งานของเราเป็นงาน คำดูถูกต่างๆ ก็อาจจะเบาขึ้น สังคมอาจจะเปลี่ยนทัศนคติขึ้นมาว่า เขาก็ทำงานเลี้ยงครอบครัวเหมือนกันนี่หว่า มันก็เหมือนงานอื่นๆ นี่หว่า ก็อาจจะดีขึ้นค่ะ” เสียงจากอิน 

สำหรับผู้ที่เห็นด้วย ช่วยลงชื่อสนับสนุนร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ให้บริการทางเพศได้ โดยคลิกที่นี่

เปิดประสบการณ์ Sex Worker อาชีพที่ไม่มีตัวตน ชีวิตที่ต้องผิดกฎหมายตลอดเวลา

ในวันที่เต็มไปด้วยถ้อยคำดูถูก 

ทั้งอิน พิงค์ และน้ำ ต่างมีประสบการณ์ทำงานในประเทศไทยมากว่า 20 ปี แม้จะไม่ได้ทำงานให้บริการทางเพศตลอด แต่ก็คลุกคลีอยู่ในงานบาร์ คาราโอเกะ ซึ่งเป็นอาชีพที่ไม่ได้สวยงามนักในสังคมที่ยึดถือ “ศีลธรรม” เราจึงสอบถามประสบการณ์ของพวกเธอว่า เคยเจอการเลือกปฏิบัติ หรือถ้อยคำดูถูก เพราะอาชีพที่เธอเลือกทำมาอย่างไร

อินเล่าว่า เธอเคยมีประสบการณ์โดยตรงที่เคยเจอคนใกล้ตัวดูถูกดูแคลน โดยบุคคลนั้นบอกว่า ทำไมต้องทำขนาดนั้นเลย ต้องทำเพื่อเงินเลยเหรอ ทำอย่างอื่นไม่ได้แล้วเหรอ ซึ่งทำให้เธอรู้สึกเสียใจที่เธอไม่ได้รับความเห็นอกเห็นใจในความจำเป็นที่เธอต้องเลี้ยงดูทั้งลูกและยาย 

“เมื่อก่อนเจ็บ ตอนแรกยืนร้องห่มร้องไห้เลยนะ มันผิดมากเหรออาชีพที่ชั้นทำอะ แต่ตอนนี้เราพอที่จะแยกได้ว่า คำที่เขามาดูถูกเรา ไม่ได้ช่วยให้ชีวิตเราดีขึ้นเลย ถ้าไม่ทำแบบนี้แล้วไปมีผัวขี้เหล้าต้องไปดูแลมันทุกวันๆ ชีวิตมันไม่มีความหมายเลยนะ เมื่อก่อนเคยเสียใจแต่พอรู้ว่า เราไม่ได้ไปสร้างความเดือดร้อนกับเขา ถ้าเขาอยากด่าหรืออยากดูถูกเรา มันเป็นความทุกข์ของเขา มันเป็นปัญหาของเขา เราขอแค่ว่า คนในครอบครัวเรามีเงินกิน มีเงินเรียน โดยที่ไม่เดือดร้อน” อินกล่าว

พิงค์ เล่าว่า เธอเคยเจอคำกล่าวหาที่ว่า อาชีพงานบริการนี้เป็นคนขี้เกียจ ชอบสบาย ทำงานง่ายๆ เกาะผู้ชายกิน ทั้งที่จริงงานของเธอไม่ได้ง่ายขนาดนั้น การทำอาชีพนี้ก็ต้องอาศัยทักษะที่จะต้องเอาใจลูกค้าให้อยู่ และยังต้องฝึกทักษะด้านภาษาหลากหลายด้วย เพื่อจะได้สื่อสารกับลูกค้าที่เป็นคนชาติต่างๆ ได้ ต้องเรียนรู้ว่า ถ้าไปทำงานร้านนี้จะมีคนมาจากประเทศไหนมามากที่สุด ก็ต้องไปเรียนรู้ภาษานั้น เช่น ตอนนี้พิงค์ก็พูดภาษาจีนได้ ภาษาญี่ปุ่น ภาษาเกาหลี และภาษาอังกฤษได้นิดหน่อย 

เมื่อถามถึงบรรยากาศของการดูถูกอาชีพ Sex Worker ที่เคยสัมผัสมา น้ำบอกว่า ที่เมียนมาร์บ้านเกิดของเธอจะมีทัศนคติที่แย่กว่าที่ประเทศไทย จะเรียกว่ารังเกียจเลยก็ได้ ตั้งแต่เธอตัดสินใจมาทำงานนี้ก็ไม่อยากให้คนที่บ้านรู้เพราะไม่อยากให้ต้องเสียใจไปด้วย ชีวิตของน้ำในประเทศไทยเมื่อเธอไปสมัครเรียนเพื่อฝึกทักษะวิชาชีพเสริมและไปเจอเพื่อนจากอาชีพอื่นเธอก็จะต้องปกปิดงานของตัวเอง ถ้าถูกถามเธอก็เลือกจะตอบว่า “ทำงานบาร์ทั่วไป” เมื่อเธอได้ยินคำกล่าวหาหรือคำดูถูกจากในโลกออนไลน์ น้ำจะรู้สึกอยากเถียง เพราะอยากให้คนเห็นว่า อาชีพของเธอก็มีค่า แต่ก็ยังไม่เคยเถียงตอบโต้เพราะเชื่อว่า การเถียงกันไปจะไม่จบสิ้น และเชื่อว่า คนที่เข้าใจก็มีอยู่ไม่น้อยในทุกวันนี้ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ที่เธอสังเกตได้ถึงความเปลี่ยนแปลงทางทัศนคติของสังคมทั่วๆ ไปในช่วงเวลากว่า 20 ปีที่เธอมาอยู่ในประเทศไทย