9 เมษายน 2568 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีนัดพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. …. (ร่างพ.ร.บ. สถานบันเทิงครบวงจรฯ) และร่างกฎหมายนิรโทษกรรมอีกสี่ฉบับ ซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พรรคเพื่อไทย เสนอเลื่อนขึ้นมาพิจารณา “ก่อน” ร่างกฎหมายอื่นๆ ที่บรรจุระเบียบวาระอยู่

ตามวาระการประชุมสภาวันที่ 9 เมษายน 2568 จะเป็นการพิจารณาร่างกฎหมาย พ.ร.บ. สถานบันเทิงครบวงจรฯ ก่อน ซึ่งในวันที่ 8 เมษายน 2568 แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ก็นำคณะรัฐมนตรีมาแถลงว่าจะเลื่อนการพิจารณาร่างพ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจรฯ ออกไป ส่วนระเบียบวาระต่อมา คือการพิจารณาร่างกฎหมายนิรโทษกรรมอีกสี่ฉบับ ซึ่งประกอบไปด้วย
- ร่างที่เสนอโดยประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 36,723 คน เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2567
- ร่างที่เสนอโดย สส. พรรคร่วมไทยสร้างชาติ เสนอต่อสภาเมื่อ 28 มกราคม 2567
- ร่างที่เสนอโดย สส. พรรคครูไทยเพื่อประชาชน (ต่อมาย้ายไปสังกัดพรรคกล้าธรรม) เสนอเมื่อ 20 ธันวาคม 2566
- ร่างที่เสนอโดย สส. พรรคก้าวไกล (ก่อนศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคและสส. ที่ไม่โดนตัดสิทธิย้ายมาสังกัดพรรคประชาชน) ถูกเสนอเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2566
แต่ก่อนที่สภาจะเริ่มพิจารณาร่างกฎหมาย อรรถกร ศิริลัทธยากร สส. พรรคกล้าธรรม ลุกขึ้นอภิปรายเสนอญัตติด่วนเพื่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการที่สหรัฐอเมริกาขึ้นภาษีสินค้าซึ่งส่งผลกระทบต่อการส่งออกของประเทศไทย ตามมาด้วยสส. ทั้งจากฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านลุกขึ้นเสนอญัตติในทำนองเดียวกันนี้รวมทั้งหมด 10 ญัตติ ทำให้มีเวลาเหลือไม่พอพิจารณาร่างกฎหมายนิรโทษกรรม
การเสนอญัตติต่อสภา ผู้เสนอมีสิทธิชี้แจงญัตติของตนได้รวมถึง สส. อาจลงชื่อเข้าคิวกันอภิปรายสนับสนุนหรือเห็นค้านกับญัตตินั้นได้ เมื่อเวลาล่วงเลยมาจนถึง 19:26 น. ก็ยังมี สส. ที่ยังไม่ได้อภิปรายอย่างน้อย 20 คน ด้วยวาระเรื่องสำคัญที่สภาต้องถกก่อน ทำให้สภายังไม่ได้พูดคุยว่าจะเริ่มพิจารณาร่างกฎหมายนิรโทษกรรมหรือไม่
มากไปกว่านั้น วันที่ 10 เมษายน 2568 จะเป็นการประชุมสภาวันสุดท้ายในสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่สอง ประจำปี 2568 แม้ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมทั้งสี่ฉบับจะยังอยู่ในวาระ แต่กว่าจะได้พิจารณาในวาระหนึ่ง ก็ต้องรอจนกว่าจะเปิดสมัยประชุมถัดไป ซึ่งจะเริ่มในวันที่ 3 กรกฎาคม 2568