8 เมษายน 2568 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานในเวลา 15.52 น. ว่า พอล แชมเบอร์ส นักวิชาการชาวอเมริกันสังกัดมหาวิทยาลัยนเรศวรที่ถูกกองทัพภาคที่สามร้องทุกข์กล่าวโทษดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ต้องเข้าเรือนจำหลังศาลจังหวัดพิษณุโลกไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยก่อนหน้านั้นในวันที่ 4 เมษายน 2568 สภ.เมืองพิษณุโลกแจ้งกับคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวรว่า พอลเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับของศาลจังหวัดพิษณุโลกฉบับลงวันที่ 31 มีนาคม 2568 หลังทราบว่าตัวเองถูกออกหมายจับโดยที่ไม่เคยได้รับหมายเรียกผู้ต้องหามาก่อน พอลและทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงได้ประสานขอเข้าพบพนักงานสอบสวนในวันที่8 เมษายน 2568

เท่าที่ไอลอว์มีข้อมูลก่อนหน้ากรณีของพอลเคยมีบุคคลสัญชาติอื่นอีกอย่างน้อยห้าคนที่ถูกคุมขังในเรือนจำด้วยมาตรา 112 ดังนี้
กรณีของโอลิเวอร์ จูเฟอร์
โอเลิเวอร์มีสัญชาติสวิส โอลิเวอร์แต่งงานกับภรรยาชาวไทยและอาศัยอยู่ที่ประเทศไทยเป็นเวลาประมาณสิบปี เขาถูกจับกุมเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2549 ตอนนั้นเขาอายุ 57 ปี โดยถูกกล่าวหาว่าพ่นสีสเปรย์บนพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่เก้าโดยการกระทำดังกล่าวเกิดขึ้นภายใต้ฤทธิ์แอลกอฮอล์
โอลิเวอร์ให้การรับสารภาพต่อศาลในเดือนมีนาคม 2550 ศาลจังหวัดเชียงใหม่มีคำพิพากษาในเดือนเดียวกันลงโทษจำคุกโอลิเวอร์ด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นเวลารวม 20 ปี จากการกระทำความผิดรวมห้ากระทง เนื่องจากโอลิเวอร์ให้การรับสารภาพจึงลดโทษจำคุกให้เขากึ่งหนึ่ง คงจำคุกเป็นเวลาสิบปี ต่อมาวันที่ 11 เมษายน 2550 โอลิเวอร์ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำเพราะได้รับพระราชทานอภัยโทษ เขาถูกเนรเทศออกนอกประเทศในวันถัดจากที่ได้รับการปล่อยตัว โดยมีข้อน่าสังเกตว่ากรณีของโอลิเวอร์ได้รับพระราชทานอภัยโทษค่อนข้างเร็วคือประมาณ 13 วัน หลังศาลมีคำพิพากษา
กรณีของแฮรี นิโคไล
แฮรีมีสัญชาติออสเตรเลีย เขาถูกจับกุมในวันที่ 31 สิงหาคม 2551 โดยถูกกล่าวหาว่าตีพิมพ์นิยายชื่อ “verisimilitude” ประมาณ 50 เล่ม ออกเผยแพร่ โดยเนื้อหาส่วนหนึ่งกล่าวถึงเรื่องโรแมนติกของบุคคลในราชวงศ์ไทยโดยไม่ได้ระบุพระนาม ก่อนตีพิมพ์แฮรีเคยส่งต้นฉบับนิยายของเขาไปให้สำนักพระราชวังพิจารณาพร้อมสอบถามว่าเนื้อหาของหนังสือเข้าข่ายผิดกฎหมายหรือไม่ แต่ทางสำนักพระราชวังไม่ได้ตอบกลับมาแต่อย่างใด ขณะที่ตัวแฮรีก็ไม่ทราบว่าตัวเองถูกออกหมายจับกระทั่งมาถูกจับกุมที่สนามบินขณะจะเดินทางกลับออสเตรเลีย
ตลอดการพิจารณาคดีแฮรีไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ต่อมาวันที่ 19 มกราคม 2552 ศาลอาญาพิพากษาจำคุกแฮรีเป็นเวลาหกปี แต่จำเลยรับสารภาพจึงลดโทษจำคุกเหลือสามปีโดยไม่รอการลงโทษ แฮรีได้รับการปล่อยตัวในคืนวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2552 หลังได้รับพระราชทานอภัยโทษ รวมแล้วเขาถูกคุมขังในเรือนจำเป็นเวลาประมาณเกือบหกเดือน หลังได้รับการปล่อยตัวแฮรีถูกส่งตัวกลับประเทศออสเตรเลียอย่างเร่งด่วนในวันถัดมา
กรณีของวันชัย แช่ตัน
วันชัยมีสัญชาติสิงคโปร์ เขาถูกดำเนินคดีมาตรา 112 รวมสองคดี โดยถูกกล่าวหาว่าแจกจ่ายเอกสารที่มีเนื้อหาเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กับบุคคลอื่น และนำเอกสารอีกจำนวนหนึ่งไปวางไว้ที่บริเวณใกล้โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เหตุการณ์ทั้งสองเกิดขึ้นในปี 2552 วันชัยถูกคุมขังในปีเดียวกับที่เกิดเหตุแต่ไม่มีข้อมูลว่าเขาถูกจับกุมและถูกฝากขังในวันใด มีเพียงข้อมูลว่าคดีที่เขาถูกกล่าวหาว่าแจกเอกสารให้บุคคลอื่น วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2553 ศาลอาญามีคำพิพากษาลงโทษจำคุกวันชัยเป็นเวลา 15 ปี แต่เนื่องจากจำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดีลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุกสิบปี
ส่วนคดีวางเอกสารใกล้โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศาลอาญามีคำพิพากษาในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2554 ลงโทษจำคุกสิบปี แต่จำเลยรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุกห้าปี ต่อมาวันที่ 4 มิถุนายน 2556 วันชัยได้รับการปล่อยตัวหลังได้รับพระราชทานอภัยโทษ หากนับจากปี 2552 ที่เขาถูกคุมขัง วันชัยจะถูกคุมขังในเรือนจำเป็นเวลาประมาณสามปีเศษ สองวันหลังได้รับการปล่อยตัววันชัยถูกเนรเทศกลับประเทศสิงคโปร์
กรณีของ ‘ซัลมาน’
‘ซัลมาน’ เป็นนามสมมติของบุคคลสัญชาติซาอุดิอาระเบีย เขาถูกจับกุมเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2553 จากกรณีที่ถูกกล่าวหาว่า เผยแพร่ข่าวเท็จเกี่ยวกับอาการประชวรของรัชกาลที่เก้าในเดือนสิงหาคม 2553 ‘ซัลมาน’ถูกคุมขังในเรือนจำถึงเดือนพฤศจิกายน 2553 ก็ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างการต่อสู้คดี โดยเขาต่อสู้ว่าไม่ได้มีเจตนาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ เขาเป็นชาวต่างชาติที่ไม่รู้ภาษาไทยพอเห็นข่าวเกี่ยวกับอาการพระประชวรของรัชกาลที่เก้าก็เพียงแต่โพสต์ข้อความบนเว็บบอร์ดของเว็บไซต์บริษัทค้าหุ้นเพื่อเตือนเพื่อนนักลงทุนให้ชะลอการลงทุนไปก่อนโดยที่เขาเข้าใจว่าข่าวดังกล่าวเป็นข่าวจริง อย่างไรก็ตามทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ต่างเห็นว่า ‘ซัลมาน’ มีความผิด ให้ลงโทษจำคุกเป็นเวลาสามปี ก่อนลดโทษให้หนึ่งในสามคงจำคุกสองปีเพราะจำเลยให้การเป็นประโยชน์
หลังศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาจำคุกในวันที่ 29 สิงหาคม 2556 ‘ซัลมาน’ก็ถูกคุมขังในเรือนจำ ในภายหลังเขาตัดสินใจไม่สู้คดีในชั้นฎีกาและภรรยาของเขาไปดำเนินการขอพระราชทานอภัยโทษในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2556 ก่อนที่เขาจะได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 22 มกราคม 2557 รวมแล้วซัลมานถูกคุมขังหลังศาลมีคำพิพากษาเป็นเวลาประมาณเกือบห้าเดือน หลังได้รับการปล่อยตัว ‘ซัลมาน’และภรรยาชาวไทยของเขาพยายามหาทางอุทธรณ์เรื่องการถูกเนรเทศเนื่องจาก ‘ซัลมาน’ ต้องดูแลครอบครัวแต่ท้ายที่สุดเขาก็ถูกเนรเทศกลับไปซาอุดิอาระเบียในวันที่ 8 พฤษภาคม 2557
กรณีของโจ กอร์ดอน
เลอพงษ์หรือ โจ กอร์ดอน เป็นคนไทยที่ถือสัญชาติอเมริกัน เขาถูกจับกุมในวันที่ 24 พฤษภาคม 2554 โดยเขาถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้แปลหนังสือต้องห้าม “The King Never Smile” เป็นภาษาไทยรวมถึงได้นำไฟล์ดิจิทัลของหนังสือเล่มดังกล่าวไปโพสต์ให้บุคคลอื่นเข้าถึงบนเว็บบอร์ดฟ้าเดียวกัน โจถูกจับกุมตัวที่บ้านพักในจังหวัดนครราชสีมาโดยเจ้าหน้าที่ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) นับจากวันที่ถูกจับกุมจนถึงวันที่ศาลมีคำพิพากษาเขาไม่เคยได้รับอนุญาตให้ปล่อยตตัวชั่วคราว การถูกคุมขังในชั้นพิจารณาคดีทำให้โจตัดสินใจกลับคำให้การจากปฏิเสธเป็นรับสารภาพ ศาลอาญามีคำพิพากษาจำคุกเขาเป็นเวลาห้าปีในวันที่ 8 ธันวาคม 2554 เนื่องจากโจรับสารภาพโทษจำคุกของเขาจึงลดเหลือสองปี หกเดือน โจถูกคุมขังจนถึงวันที่ 11 กรกฎาคม 2555 ก็ได้รับการปล่อยตัวหลังได้รับพระราชทานอภัยโทษ เขาถูกคุมขังเป็นเวลาประมาณหนึ่งปีสองเดือน หลังได้รับการปล่อยตัวโจเดินทางกลับสหรัฐอเมริกาแต่ไม่มีข้อมูลว่าเป็นการเดินทางกลับโดยสมัครใจหรือเนรเทศ