ชาวบ้านเฮ! ครม.รับข้อเรียกร้องแก้กฎหมาย-ผลักดันนิรโทษกรรมป่าไม้ที่ดิน

24 มีนาคม 2568 ผู้ได้รับผลกระทบจากพระราชกฤษฎีกาโครงการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติตามมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ 2562 และพระราชกฤษฎีกาโครงการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหรือเขตห้ามล่าสัตว์ป่าตามมาตรา 121 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2562 รวมตัวกันชุมนุมที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่เรียกร้องให้รัฐบาลเดินหน้าแก้ไขปัญหาการจัดการป่าไม้ที่ดินรวมหกข้อ เช่น หยุดผลกระทบจากพ.ร.ฎ.ทั้งสองฉบับและแก้ไขปัญหาด้านสัญชาติ และเร่งมีมาตรการคุ้มครองสิทธิในที่ดินของพี่น้องที่มีปัญหาสิทธิสถานะบุคคล ต่อมาวันที่ 1 เมษายน 2568 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีรับหลักการและบันทึกข้อตกลงแนวทางการแก้ไขปัญหาของผู้ได้รับผลกระทบทั้งหมด

ชาวบ้านเฮ! ครม.รับข้อเรียกร้องแก้กฎหมาย-ผลักดันนิรโทษกรรมป่าไม้ที่ดิน

ย้อนที่มาที่ไปของพ.ร.ฎ.โครงการอนุรักษ์ฯ

ปี 2562 มีการผ่านพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ 2562 (พ.ร.บ.อุทยานฯ) และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2562 (พ.ร.บ.คุ้มครองสัตว์ป่าฯ) มาตรา 64 ของพ.ร.บ.อุทยานฯ กำหนดว่า ให้มีการสำรวจการถือครองที่ดินของประชาชนที่อยู่อาศัยหรือทำกินในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแต่ละแห่งและเมื่อพ้นกำหนดเวลา 240 วันนับตั้งแต่พ.ร.บ.ใช้บังคับ หากรัฐบาลมีแผนในการช่วยเหลือประชาชนที่ไม่มีที่ดินทำกินและอาศัยในพื้นที่อุทยานแห่งชาติมาก่อนวันที่พ.ร.บ.อุทยานฯใช้บังคับ ให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชจัดทำโครงการเกี่ยวกับการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ แต่จะไม่มีสิทธิในที่ดินนั้น โครงการจะมีระยะเวลาคราวละไม่เกิน 20 ปี ขณะที่มาตรา 121 ของพ.ร.บ.คุ้มครองสัตว์ป่าฯ บัญญัติไว้ในทำนองเดียวกันแต่เป็นพื้นที่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหรือเขตห้ามล่าสัตว์ป่า นอกจากนี้โครงการยังต้องมีการกำหนดหน้าที่ของบุคคลที่อาศัยหรือทำกินในชุมชนในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ

ต่อมาวันที่ 12 พฤศจิกายน 2567 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพ.ร.ฎ.ตามมาตรา 64 ของพ.ร.บ.อุทยานฯ และมาตรา 121 ของพ.ร.บ.สงวนสัตว์ป่าฯ และมีการเผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษาในอีกสองวันถัดมา แม้ว่าพ.ร.ฎ.ทั้งสองฉบับจะมีวัตถุประสงค์ในการช่วยเหลือประชาชนที่ไม่มีที่ดินทำกินและอยู่มาก่อนการบังคับใช้พ.ร.บ.อุทยานฯและพ.ร.บ.คุ้มครองสัตว์ป่าฯ  แต่สร้างผลกระทบและความกังวลให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่อย่างน้อยๆสองประการคือ ตามมาตรา 11 ของพ.ร.ฎ.ทั้งสองฉบับที่ระบุว่า ผู้อยู่อาศัยหรือทำกินภายใต้โครงการอนุรักษ์จะต้องมีสัญชาติไทย และอายุของโครงการที่มีระยะเวลาคราวละ 20 ปี 

เสียงจากผู้ได้รับผลกระทบ : ครอบครองได้ 20 ปี ขอมีส่วนร่วมจัดการป่า

เปีย – ศรสวรรค์ วัจน์นาถรุ่งโรจน์ เยาวชนชาวม้งจากจังหวัดเชียงรายเล่าว่า ตั้งแต่เกิดมาบรรพบุรุษและพ่อแม่บอกกับเธอว่า คนม้งจะต้องอยู่กับป่า พ่อแม่ของเธอประกอบอาชีพเกษตรกรจำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยพื้นที่ป่าเขาทั้งผืนดินและแหล่งน้ำในการทำเกษตร ผืนป่าจึงเปรียบเสมือนจิตวิญญาณของครอบครัว  “พ.ร.ฎ.นี้บอกไว้แล้วว่า เราสามารถอยู่ได้ชั่วคราวได้ 20 ปี ไม่แน่ใจว่า รุ่นตัวเองยังสามารถอยู่ได้…แล้วก็จะสามารถสืบสานเจตนารมณ์ของพ่อแม่ต่อไปได้ไหม รวมถึงทรัพยากรในชุมชนด้วย”

นอกจากเรื่องกำหนดเวลาแล้ว พ.ร.ฎ.ทั้งสองฉบับยังกำหนดหน้าที่ให้ผู้อยู่อาศัยหรือทำกินอนุรักษ์ ฟื้นฟู ดูแลทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเธอมองว่า ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวมาก่อนควรมีส่วนร่วม

“มันต้องเป็นการจัดการร่วมกันกับชุมชนที่เขาอยู่ในพื้นที่นั้นอย่างจริงจังที่ไม่ใช่แค่คนกลุ่มใดกลุ่มนึงมาคิด มาให้เราทำโดยที่สิ่งที่เขาคิด สิ่งที่เขาทำ เขาใช้เพียงแค่มุมมองของเขาจากการเป็นคนข้างนอกมองเข้ามา เขาไม่ได้รู้จักพื้นที่นั้นโดยตรงเลยด้วยซ้ำเทียบเท่ากับพวกเราที่เป็นคนที่อยู่ในพื้นที่นั้นมาตลอด เป็นคนเห็นตั้งแต่เกิดจนเราตาย…เราเห็นการเปลี่ยนแปลงของมันมาตลอด เรารู้ว่า จะทำยังไงให้มันเกิดความยั่งยืนต่อไป เราจึงมองเห็นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนหรือว่าคนในพื้นที่ที่จะเข้ามามีส่วนในการจัดการตรงนี้ด้วยที่จะไม่ใช่เพียงแนวนโยบายของรัฐเพียงอย่างเดียว รวมถึงองค์ความรู้ดั้งเดิมของชุมชนเองด้วยที่เขามีอยู่แล้วในการดำรงปกปักษ์รักษาพื้นที่ เพราะฉะนั้นมันควรจะเอาสิ่งเหล่านี้เข้ามาประยุกต์ใช้ด้วยการดูแลรักษาพื้นที่ป่าในชุมชนไปด้วยกัน”  

ขณะที่เครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมืองได้รายงานความเห็นของชนเผ่าพื้นเมืองที่อาศัยในเขตพื้นที่ป่าอุทยานแจ้ซ้อน  จังหวัดลำปางว่า “นี่เป็นเรื่องอัปยศที่สุดที่เกิดขึ้นกับพวกเรา สิ่งที่เป็นห่วงมาก คือ การอวสานของหมู่บ้าน ภายใต้ข้อกำหนดให้อาศัยอยู่ได้ 20 ไร่ 20 ปี เหมือนไม่ให้มีลูกหลาน”

ปักหลักชุมนุมกดดันจนครม.มีมติตามข้อเรียกร้อง

ผู้ได้รับผลกระทบชุมนุมต่อเนื่องจนถึงวันที่ 29 มีนาคม 2568 ประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี เจรจากับผู้ชุมนุมและตอบรับข้อเรียกร้องหกข้อ โดยให้สัญญาว่า จะนำเข้าสู่การพิจารณาของการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 1 เมษายน 2568  อย่างไรก็ตามผู้ชุมนุมระบุว่า พวกเขา “ไม่ไว้ใจตัวแทนรัฐบาลอีกแล้ว” จากการที่ประเสริฐไม่ยอมลงนามในบันทึกผลเจรจาที่เกิดขึ้นและยังไม่ปรากฏว่า วาระของผู้ชุมนุมได้รับการบรรจุในวาระประชุมคณะรัฐมนตรี  ดังกล่าวจึงทำให้ผู้ชุมนุมที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายรัฐบาลส่งตัวแทน 500 คนมาติดตามการประชุมคณะรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 1 เมษายน 2568 

ต่อมาประเสริฐได้ออกมาชี้แจงกับผู้ชุมนุมว่า ได้นำผลการเจรจาข้อเรียกร้องเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเป็นให้รับทราบเรียบร้อยแล้ว โดยมติที่ประชุมมีการรับหลักการและบันทึกข้อตกลงแนวทางการแก้ไขปัญหา

  1. ตั้งคณะกรรมการแก้ไขกฎหมายไม่ขยายและไม่ประกาศพื้นที่เพิ่ม รวมถึงชะลอการประกาศเขตป่าอนุรักษ์เพิ่มเติมจำนวน 23 แห่ง และชะลอการดำเนินการใด ๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและละเมิดสิทธิชุมชน โดยให้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ แต่งตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาร่วมโดยมีตัวแทนภาคประชาชนและหน่วยงานราชการเท่า ๆ กัน เพื่อปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 ทั้งฉบับ ภายใน 30 วัน
  2. ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มอบหมายกรมป่าไม้เร่งดำเนินการสำรวจการถือครองที่ดินของกลุ่มบุคคลตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2567 และมอบหมายรองนายกรัฐมนตรีประเสริฐ จันทรรวงทอง ประสานรองนายกรัฐมนตรีสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เพื่อลงนามในคำสั่งแต่งตั้งผู้แทนองค์กรชุมชน ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้แทนองค์กรไม่แสวงหากำไร ในคณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน (ปจช.) ภายใน 7 วัน
  3. การแก้ไขปัญหาสถานะบุคคล มีข้อสั่งการให้พิจารณาเร่งรัดดำเนินการออกประกาศกระทรวงมหาดไทย ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2567 ให้ครบถ้วนโดยเร็ว ซึ่งในที่ประชุมครม. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รับทราบแล้ว รวมทั้งจะดำเนินการออกประกาศให้แล้วเสร็จภายในเดือนเมษายน 2568
  4. สำหรับการตรวจสอบสิทธิสถานะในที่ดินทำกิน สั่งการให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มอบหมายกรมป่าไม้เร่งดำเนินการสำรวจการถือครองที่ดินของกลุ่มบุคคลตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2567 โดยเร่งด่วน
  5. ให้รองนายกรัฐมนตรีประเสริฐ จันทรรวงทอง ประสานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เร่งดำเนินการนำร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ราษฎร ซึ่งได้รับความเสียหายหรือได้รัยผลกระทบจากการดำเนินการตามนโยบายของรัฐฯ ที่ยกร่างแล้วเสร็จเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบ