ผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายป่าไม้ปักหลักทำเนียบรัฐบาล ขอแก้ กม.อนุรักษ์-ติดตามข้อเรียกร้อง 6 ข้อ

1 เมษายน 2568 สมัชชาชุมชนคนอยู่กับป่า (สชป.) สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) และขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) นัดหมายรวมตัวกันที่ทำเนียบรัฐบาล

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2567 มีการผ่านร่างพระราชกฤษฎีกาโครงการอนุรักษ์และดูแลทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ ตามมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และร่างพระราชกฤษฎีกาโครงการอนุรักษ์และดูแลทรัพยากรธรรมชาติภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ตามมาตรา 121 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ซึ่งส่งผลต่อสิทธิในที่อยู่อาศัย ที่ทำกินของชาวบ้าน ต่อมามีการพูดคุยเพื่อหาทางออกแต่ยังไม่มีความคืบหน้า เป็นผลให้วันที่ 24 มีนาคม 2568 ผู้ได้รับผลกระทบจากพ.ร.ฎ.ดังกล่าวจึงรวมตัวชุมนุมที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่

วันที่ 29 มีนาคม 2568 ประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี เจรจากับผู้ชุมนุมและตอบรับข้อเรียกร้องหกข้อ โดยให้สัญญาว่า จะนำเข้าสู่การพิจารณาของการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 1 เมษายน 2568  อย่างไรก็ตามผู้ชุมนุมระบุว่า พวกเขา “ไม่ไว้ใจตัวแทนรัฐบาลอีกแล้ว” จากการที่ประเสริฐไม่ยอมลงนามในบันทึกผลเจรจาที่เกิดขึ้นและยังไม่ปรากฏว่า วาระของผู้ชุมนุมได้รับการบรรจุในวาระประชุมคณะรัฐมนตรี  ดังกล่าวจึงทำให้ผู้ชุมนุมที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายรัฐบาลส่งตัวแทน 500 คนมาติดตามการประชุมคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับผลการคืบหน้าการเจรจาระหว่างผู้ชุมนุมกับ ที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2568

สำหรับข้อเรียกร้องทั้งหกข้อมีเช่น การแก้กฎหมายป่าอนุรักษ์ และหยุดผลกระทบจากพระราชกฤษฎีกาโครงการอนุรักษ์ในเขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตห้ามล่าสัตว์ป่า

บรรยากาศการชุมนุมวันนี้ตั้งแต่เวลา 06:40 น. ตำรวจปิดการจราจรถนนพิษณุโลกตั้งแต่แยกสวนมิสกวันถึงแยกพาณิชยการ กั้นแผงเหล็กและนำรถกระบะกองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน (บก.อคฝ.) มาจอดขวางบนสะพานชมัยมรุเชฐ แต่เปิดช่องเล็กๆให้ประชาชนหรือผู้ที่มีธุระกับหน่วยงานราชการเดินผ่านเข้าไปได้  เวลาประมาณ 9:00 น. ผู้ชุมนุมยานภัณฑ์ที่ปักหลักชุมนุมเรียกร้องให้นำงบกลางมาจ่ายค่าชดเชยการเลิกจ้างบริเวณหน้าสำนักงานกพร.เคลื่อนขบวนมาที่แยกสวนมิสกวันเพื่อขอให้ตำรวจเปิดแนวกั้นให้ผู้ชุมนุมสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) และสมัชชาชุมชนคนอยู่กับป่า (สชป.)เข้ามาชุมนุมที่บริเวณเดียวกันได้ 

ตำรวจใช้เครื่องขยายเสียงประกาศระบุว่า พื้นที่บริเวณนี้มีคำสั่งห้ามชุมนุมในรัศมี 50 เมตรรอบทำเนียบรัฐบาลตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 7 วรรคท้าย ให้กลุ่มสกน.และสชป.กลับไปชุมนุมที่หน้าอาคารสหประชาชาติ และแรงงานยานภัณฑ์กลับไปที่หน้าสำนักงานกพร.  ผู้ชุมนุมแย้งว่า สกน.และสชป.แจ้งการชุมนุมว่า จะชุมนุมรอบทำเนียบรัฐบาลไม่ใช่หน้าอาคารสหประชาชาติ และการออกคำสั่งห้ามชุมนุมของตำรวจต้องพิจารณาเรื่องจำนวนและพฤติการณ์ด้วย ตำรวจยังคงปิดกั้นและประกาศว่า ผู้ชุมนุมละเมิดพ.ร.บ.ชุมนุมฯ มีการบันทึกภาพไว้แล้วและอาจถูกดำเนินคดีในภายหลัง

ต่อมาจำนงค์ หนูพันธ์ พีมูฟ ประกาศว่า ไม่ขอโต้เถียงกับตำรวจ ขอใช้เครื่องขยายเสียงเปิดเพลงแทน และให้ผู้ชุมนุมนั่งลงรอ หลังจากนั้นตำรวจประกาศทำนองว่า ให้ลดเสียงและจะมีการวัดระดับเสียงด้วย ท้ายที่สุดตำรวจยอมให้ผู้ชุมนุมไปรวมกันที่หน้าสำนักงานกพร. ระหว่างนั้นแรงงานยานภัณฑ์ที่อดอาหารเพื่อเรียกร้องค่าชดเชยเป็นลมหนึ่งคน

เวลา 10:30 น. ผู้ชุมนุมทั้งสองกลุ่มยังปักหลักเพื่อรอความชัดเจน โดยประเสริฐจะเป็นผู้ออกมาชี้แจงกับผู้ชุมนุมทั้งสองประเด็น  มีการผลัดเปลี่ยนกันปราศรัย ขณะที่ผู้ชุมนุมยานภัณฑ์ที่อดอาหารสามคนมีสภาพร่างกายที่อ่อนแอจนต้องนำส่งโรงพยาบาล จนถึงวันที่ 1 เมษายน 2568 มีผู้อดอาหารทั้งหมดหกคน อดนานที่สุดคือ 22 วัน