
ความพยายามเปิดช่องทางการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน เพื่อแทนที่รัฐธรรมนูญ 2560 ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2564 ที่รัฐสภาลงมติให้ถามศาลรัฐธรรมนูญถึงอำนาจของรัฐสภาในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นครั้งแรก จนถึงเดือนมีนาคม 2568 ก็นับเป็นครั้งที่สามแล้วที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องเข้ามามีบทบาท และจะชี้เป็นชี้ตายต่อกระบวนการที่จะเกิดขึ้นข้างหน้า
แม้รัฐธรรมนูญจะกำหนดให้รัฐสภาสามารถส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีมี “ปัญหาอำนาจหน้าที่” แต่ไม่ใช่ทุกประเด็นข้อสงสัยจะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญได้ทั้งหมด ยังมีเงื่อนไขทางกฎหมายที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องพิจารณา คือ กรณีนั้น “เป็นปัญหาซึ่งเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจที่เกิดขึ้นแล้ว” หรือไม่ หมายความว่า เรื่องที่จะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญต้องไม่ใช่เรื่องที่กฎหมายเขียนไว้ชัดเจนแล้ว ไม่ใช่เรื่องที่สงสัยและจินตนาการว่าอาจเป็นปัญหา ไม่ใช่เพียงแค่การขอหารือหรือปรึกษาให้ศาลรัฐธรรมนูญช่วยตีความ
การที่รัฐสภายังคงส่งเรื่องไปถามศาลรัฐธรรมนูญครั้งที่สามในประเด็นประชามติ “ก่อน” จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญและคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 เขียนชัดเจนแล้ว ไม่ใช่การให้ศาล “ชี้ขาด” อำนาจหน้าที่ตามปัญหาที่เกิดขึ้น แต่เป็นการยืมมือขอศาลมาอธิบายคำวินิจฉัยเพื่อแก้ไขปัญหาทางการเมืองที่แต่ละพรรคการเมืองเห็นแตกต่างกัน จึงอาจได้รับคำตอบจากศาลรัฐธรรมนูญว่า “ไม่รับคำร้อง”
ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัย “ปัญหาอำนาจหน้าที่ที่เกิดขึ้นแล้ว”
รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 (พ.ร.ป.ศาลรัฐธรรมนูญฯ) มาตรา 7 (2) กำหนดไว้ ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรอิสระ
รัฐธรรมนูญ 2560
มาตรา 210 ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้
(1) พิจารณาวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายหรือร่างกฎหมาย
(2) พิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรอิสระ
(3) หน้าที่และอำนาจอื่นตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
พ.ร.ป.ศาลรัฐธรรมนูญฯ
มาตรา 7 ให้ศาลมีหน้าที่และอํานาจพิจารณาวินิจฉัยคดี ดังต่อไปนี้
(2) คดีเกี่ยวกับหน้าที่และอํานาจของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรอิสระ
ผู้ที่จะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ ตามพ.ร.ป.ศาลรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 41 วรรคสอง (4) กำหนดว่า ต้องเป็น สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรอิสระ องค์กรอื่นนอกจากนี้หากมีปัญหาเรื่องอำนาจหน้าที่ต้องให้ศาลปกครองวินิจฉัย ซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) สมาชิกวุฒิสภา (สว.) รัฐมนตรี หรือกรรมการองค์กรอิสระที่เป็นบุคคลจะยื่นเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญด้วยตัวเองทำเองคนเดียวไม่ได้ ต้องส่งโดยตัวองค์กรเท่านั้น
องค์กรที่จะส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยอำนาจหน้าที่ คือ รัฐสภา สส. หรือ สว. จะต้องเสนอเป็นญัตติเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภา โดยต้องมีผู้รับรองไม่น้อยกว่า 40 คน ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อ 31 และจะต้องได้มติของรัฐสภาว่าจะส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยใช้เสียงข้างมากตัดสิน (ข้อ 54 วรรคสอง) วิธีการออกเสียงทำโดยเปิดเผย ใช้เครื่องเสียบบัตรลงคะแนน (ข้อ 56 (1)) ประชาชนสามารถตรวจสอบผลการลงมติรายบุคคลได้ว่า สส. สว. แต่ละคนลงมติอย่างไร
เหตุของการยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคดีประเภทนี้ มีสองรูปแบบ
- มีปัญหาโต้แย้งในเรื่องอำนาจหน้าที่ระหว่างองค์กรตั้งแต่สององค์กรขึ้นไป เช่น รัฐสภาโต้แย้งกับคณะรัฐมนตรี หากมีประเด็นที่รัฐสภาเห็นว่าอยู่ในอำนาจของตัวเองแต่คณะรัฐมนตรีก็เห็นว่าอยู่ในอำนาจของตัวเอง แปลว่าปัญหาเรื่องอำนาจหน้าที่เกิดขึ้น ผู้ที่มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ก็คือ ทั้งรัฐสภาหรือคณะรัฐมนตรี
- มีปัญหาอำนาจหน้าที่ขององค์กรเดียว เช่น ถ้าองค์กรที่ทำงานในรูปแบบคณะกรรมการ มีกรรมการบางคนเห็นว่าองค์กรมีหน้าที่ออกคำสั่งในเรื่องหนึ่งๆ แต่กรรมการอีกส่วนหนึ่งเห็นว่าองค์กรไม่มีอำนาจที่จะออกคำสั่งในเรื่องนั้นได้ กรณีแบบนี้ผู้ที่มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ก็คือองค์กรนั้นเอง
ทั้งนี้ ปัญหาอำนาจหน้าที่ดังกล่าว จะต้องเป็นอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ ไม่รวมถึงอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายอื่นๆ บัญญัติไว้
เมื่อส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้ว เบื้องต้นศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาว่าผู้ที่จะขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตรงตามเงื่อนไขมาตรา 41 หรือไม่ และศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาว่า ปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรนั้นเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วหรือไม่ (พ.ร.ป.ศาลรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 44) หากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า คำร้องให้วินิจฉัยคดีดังกล่าว ไม่ใช่ปัญหาซึ่งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ หรือปัญหายังไม่เกิดขึ้น ก็จะไม่รับคำร้องไว้พิจารณา
มาตรา 44 การยื่นขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยคดีตามมาตรา 7 (2) ต้องเป็นปัญหาซึ่งเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจที่เกิดขึ้นแล้ว โดยในกรณีที่ปัญหานั้นเกิดขึ้นกับหน่วยงานใด ให้หน่วยงานนั้นเป็นผู้มีสิทธิยื่นหนังสือต่อศาลขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัย ในกรณีที่เป็นปัญหาโต้แย้งระหว่างหน่วยงาน ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีสิทธิยื่นหนังสือต่อศาลเพื่อขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัย
สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเคยเผยแพร่บทความเพื่ออธิบาย คดีเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรอิสระ ไว้ว่า หากปัญหายังไม่เกิดขึ้น “ศาลรัฐธรรมนูญย่อมไม่อาจรับปัญหาดังกล่าวไว้พิจารณา เพราะศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรตุลาการซึ่งทำหน้าที่ในการวินิจฉัยปัญหาหรือข้อพิพาททางกฎหมายที่เกิดขึ้นแล้วเท่านั้น หากศาลรัฐธรรมนูญรับปัญหาที่ยังไม่เกิดขึ้นไว้พิจารณา ศาลรัฐธรรมนูญก็จะไม่ใช่ศาลอีกต่อไป แต่จะกลายสภาพเป็นผู้รับตีความรัฐธรรมนูญหรือให้คำปรึกษาทางกฎหมายแก่องค์กรตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่ใช่คุณลักษณะและภารกิจของศาลรัฐธรรมนูญในฐานะองค์กรตุลาการ”
ศาลรัฐธรรมนูญอธิบายชัด ต้องมีปัญหา ไม่ใช่แค่ขอหารือ/มีข้อสงสัย
นอกจากคำอธิบายจากบทความข้างตน ศาลรัฐธรรมนูญเองก็เคยอธิบายถึงคดีเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรรัฐธรรมนูญ ผ่านคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญหลายฉบับ สามารถสรุปหลักเกณฑ์สำคัญได้ คือ ศาลรัฐธรรมนูญจะรับวินิจฉัย เฉพาะกรณีที่มีลักษณะเข้าเงื่อนไขครบทุกข้อ ดังนี้
- จะต้องเป็นกรณีที่เรื่องนั้นๆ มีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เพียงข้อสงสัย ข้อหารือ หรือคาดการณ์ล่วงหน้า
- หากองค์กรตามรัฐธรรมนูญยังไม่ได้ใช้อำนาจนั้น ก็ไม่เป็นกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่เกิดขึ้น
- หากกฎหมายเขียนถึงอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญนั้นชัดเจนแล้ว ก็ไม่เป็นกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่เกิดขึ้น
คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ 1/2561 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหาอำนาจหน้าที่ของ กกต. โดยความตอนหนึ่งของคำสั่งนี้ ระบุว่า “พิจารณาแล้วเห็นว่า แม้รัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) เป็นบทบัญญัติที่ให้องค์กรอิสระมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยในปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจขององค์กรอิสระนั้นโดยไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องที่มีความขัดแย้งเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจระหว่างองค์กรอิสระตั้งแต่สององค์กรขึ้นไปก็ตาม แต่การยื่นคำร้องในกรณีดังกล่าวจะต้องเป็นเรื่องที่มีปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจเกิดขึ้น มิใช่กรณีเป็นเพียงข้อสงสัย ข้อหารือ หรือการคาดการณ์ว่าอาจจะเกิดปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจขององค์กรอิสระนั้นๆ”
คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ 16/2562 กกต. ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอำนาจหน้าที่ในประเด็นการคำนวณหา สส. แบบบัญชีรายชื่อ ความตอนหนึ่งของคำสั่งระบุว่า “ข้อเท็จจริงตามคำร้องยังไม่ปรากฏว่าผู้ร้องได้ใช้หน้าที่และอำนาจตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายบัญญัติ กรณีจึงยังถือไม่ได้ว่ามีปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของผู้ร้องเกิดขึ้นแล้ว คำร้องนี้จึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 44 ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับไว้พิจารณาได้”
คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ 43/2563 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอำนาจวินิจฉัยชี้มูลความผิดทางวินัยตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ความตอนหนึ่งของคำสั่งนี้ระบุว่า “จากบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวกรณีจึงมีความชัดเจนในประเด็นที่ผู้ร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้ว กรณีของผู้ร้องในคำร้องนี้จึงไม่มีปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของผู้ร้องที่จะขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 7 (2) และมาตรา 44 ได้อีก”
คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ 21/2567 ชูศักดิ์ ศิรินิล สส.พรรคเพื่อไทย เสนอญัตติให้รัฐสภามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาในการบรรจุร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมให้จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ และขั้นตอนในการประชามติ “ก่อน” จัดทำรัฐธรรมนูญ ความตอนหนึ่งของคำสั่งระบุว่า “คำร้องมีสาระสำคัญอันเป็นเพียงข้อสงสัยขอหารือให้ศาลรัฐธรรมนูญอธิบายเนื้อหาคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยโดยละเอียดและชัดเจนแล้ว ไม่ใช่กรณีปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาที่เกิดขึ้น ไม่ต้องด้วยเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 7 (2) และมาตรา 44
ยืมมือศาลรัฐธรรมนูญชี้แนวทางทางการเมือง อาจถูกปัดไม่รับคำร้อง
แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำสั่งไม่รับคำร้องในประเด็นประชามติ “ก่อน” จัดทำรัฐธรรมนูญ มาหนึ่งครั้งแล้ว แต่ก็ยังคงถูกยืมมือถามเรื่องเดิมอีกรอบ เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2568 รัฐสภามีมติส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา โดยมาจากญัตติที่ สส. และ สว. เสนอ สองญัตติ
1) ญัตติที่เสนอโดย เปรมศักดิ์ เพียยุระ สว. ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า
- รัฐสภามีอำนาจพิจารณาและลงมติร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่มีการเพิ่มหมวด 15/1 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยที่ยังไม่มีการดำเนินการจัดให้มีการออกเสียงประชามติว่า ประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่เสียก่อนได้หรือไม่
- หากรัฐสภามีอำนาจ การดำเนินการจัดให้มีการออกเสียงประชามติ สามารถกระทำภายหลังรัฐสภาให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมแล้ว โดยทำพร้อมกับการทำประชามติว่า ประชาชนเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมหรือไม่ ได้หรือไม่ อย่างไร
2) ญัตติที่เสนอโดยวิสุทธิ์ ไชยอรุณ สส. พรรคเพื่อไทย ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า รัฐสภาจะพิจารณาและลงมติร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่มีบทบัญญัติให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยยังไม่มีผลการออกเสียงประชามติว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้หรือไม่
หากพิจารณาจากคำถามจากสองญัตติดังกล่าว พบว่า ทั้งกฎหมาย รวมถึงคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมาก่อนหน้านี้ ก็สามารถตอบคำถามข้อสงสัยดังกล่าวได้อยู่แล้ว ดังนี้
หนึ่ง รัฐธรรมนูญ 2560 เขียนชัดว่า รัฐสภาอำนาจหน้าที่แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 256 อีกทั้งไม่มีบทบัญญัติใด ที่กำหนดให้ต้องทำประชามติ “ก่อน” การเริ่มพิจารณาวาระที่หนึ่งในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
สอง หลังรัฐสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มหมวดการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ต้องทำประชามติ “ก่อน” จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่อยู่แล้ว ตามมาตรา 256 (8) สอดคล้องกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ซึ่งวินิจฉัยว่า “รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้องให้ประชาชนลงประชามติเห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง”
ส่วนการกำหนดประเด็นคำถามประชามติ เป็นหน้าที่ที่รัฐสภาจะต้องทำงานร่วมกับนายกรัฐมนตรี และ กกต. ซึ่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2564 (พ.ร.บ.ประชามติฯ) กำหนดไว้ในมาตรา 10 ว่า หากต้องทำประชามติเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ให้ประธานรัฐสภาแจ้งให้นายกรัฐมนตรีทราบ โดยต้องส่งร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมและสรุปสาระสำคัญในลักษณะที่ประชาชนจะสามารถเข้าใจได้โดยสะดวกให้นายกรัฐมนตรีทราบ และ กกต. ดำเนินการต่อไป และในมาตรา 14 กำหนดว่า การทำประชามติกรณีดังกล่าว กกต. จะต้องเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญและสาระสำคัญให้ประชาชนทราบ ทั้งทางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ และราชกิจจานุเบกษา รวมทั้งจัดทำเอกสารข้อมูลส่งให้เจ้าบ้าน
เมื่อกฎหมายรวมถึงคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเขียนไว้ชัดเจนแล้ว แต่ในทางการเมืองยังเดินไปไม่สำเร็จเพราะสส. พรรคร่วมรัฐบาลมีความเห็นไม่ตรงกัน หรือเพราะสว. ไม่สนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย การ “ยืมมือ” ถามคำถามทำนองเดิมต่อศาลรัฐธรรมนูญเป็นรอบที่สาม จึงไม่ใช่การให้ศาลรัฐธรรมนูญช่วย “ชี้ขาด” ข้อขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ตามมิติของกฎหมาย แต่เป็นโยนบทให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็น “ผู้ชี้ทาง” ตามมิติของการเมืองโดยหวังให้ศาลชี้ออกมาในทางที่ตัวเองเห็นด้วย เพื่อนำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไปใช้อ้างอิงทางการเมืองต่อเท่านั้น
ดังนั้น หากพิจารณาจากข้อกฎหมายและแนวทางคำวินิจฉัยก่อนหน้านี้ การยื่นเรื่องไปถามศาลรัฐธรรมนูญตามมติรัฐสภาเมื่อ 17 มีนาคม 2568 ไม่ใช่กรณีที่มีปัญหาอำนาจหน้าที่ที่เกิดขึ้นแล้ว ตามพ.ร.ป.ศาลรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 44 หากศาลรัฐธรรมนูญทำงานโดยยึดถือแนวทางที่เคยมีมา ก็จะมีคำสั่งไม่รับคำร้อง เหมือนดังที่เคยสั่งไว้แล้วในปี 2567