
25 กุมภาพันธ์ 2568 จะเป็นอีกหนึ่งวันที่ประชาชนต้องคอยจับตา กับการประชุมคณะกรรมการของ ”กรมสอบสวนคดีพิเศษ” (กคพ.) หรือ “ดีเอสไอ” ซึ่งประกอบขึ้นจากตัวแทนหน่วยงานรัฐ กระบวนการยุติธรรม ภาคการเมือง และภาคเอกชน ว่าจะมีมติเห็นชอบให้รับข้อร้องเรียน “ฮั้วเลือกตั้ง สว.” มาเป็นคดีพิเศษตาม พ.ร.บ.กรมสอบสวนคดีพิเศษฯ หรือไม่ หลัง สว. ค่ายสีน้ำเงิน ประกบ นักการเมืองพรรคภูมิใจไทย ทยอยเดินหน้าออกแถลงการณ์ต่อต้านการตรวจสอบนี้ ระบุเหตุผลว่าดีเอสไอไม่มีอำนาจ และเป็นความพยายามของฝ่ายการเมืองในการล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ
ถ้าดีเอสไอตัดสินใจ “เดินหน้า” และองค์กรต่างๆ รับลูก จนทำให้ สว. จำนวนประมาณ 140 คน หรือเกินกว่าครึ่งของสภาหลุดจากตำแหน่งได้จริง ตัวสำรองก็จะเลื่อนขึ้นมาแทนที่ หากเหลือตัวสำรองไม่พอก็อาจถึงขั้นต้องจัดการเลือกวุฒิสภาขึ้นใหม่ และเหตุการณ์นี้ก็จะกลายเป็นจุดเปลี่ยนทางการเมืองของประเทศไทยที่จำไม่ลืมอย่างแน่นอน
กรมสอบสวนคดีพิเศษนั้น ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อสอบสวนแทนตำรวจใน “คดีพิเศษ” ที่ไม่ได้มีอำนาจสอบสวน “ทุกคดี” ในราชอาณาจักร โดยเฉพาะเมื่อเป็นเรื่องเลือกตั้งที่มีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีอำนาจโดยตรงอยู่แล้ว ถ้าหากจังหวะนี้ดีเอสไอ “ก้าวไม่ถูก” ใช้การเมืองนำกฎหมายและกระบวนการทางกฎหมายไปไม่สุด ก็อาจ “ขาพลิก” กลายเป็นแผลใหญ่ทางการเมืองกันได้
อำนาจสืบสวนสอบสวน เป็นจุดตั้งต้นที่ต้องมีกฎหมายรองรับ
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120 บัญญัติไว้ว่า “ห้ามมิให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีใดต่อศาล โดยมิได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อน” หมายความว่า การที่อัยการคนใดคนหนึ่งจะฟ้องคดีแก่ผู้กระทำความผิดคนใด คดีนั้นต้องผ่านการสืบสวนสอบสวนมาก่อน ถ้าคดีนั้นไม่มีการสอบสวน อัยการจะไม่สามารถยื่นฟ้องคดีได้เลย หรือถ้ายื่นฟ้องไปแล้วศาลต้องยกฟ้องสถานเดียว ไม่ว่าจำเลยจะกระทำความผิดจริงหรือไม่ก็ไปต่อไม่ได้
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 นิยามความหมายของการสืบสวนสอบสวนไว้ดังนี้
“การสืบสวน” หมายความถึง การแสวงหาข้อเท็จจริงและหลักฐาน ซึ่งพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจได้ปฏิบัติไปตามอำนาจและหน้าที่เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน และเพื่อที่จะทราบรายละเอียดแห่งความผิด
“การสอบสวน” หมายความถึง การรวบรวมพยานหลักฐานและการดำเนินการทั้งหลายอื่นตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ ซึ่งพนักงานสอบสวนได้ทำไปเกี่ยวกับความผิดที่กล่าวหา เพื่อที่จะทราบข้อเท็จจริงหรือพิสูจน์ความผิดและเพื่อจะเอาตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ
จากตัวบทกฎหมาย จะเห็นได้ว่า หลังจากสืบสวนจนได้รายละเอียดแห่งความผิดแล้ว พนักงานสอบสวน ผู้มีอำนาจในการสอบสวน จึงรวบรวมรายละเอียดแห่งความผิดดังกล่าวมาอยู่ในรูปแบบของพยานหลักฐานต่างๆ เพื่อใช้ในการพิสูจน์ความผิด การสืบสวนและสอบสวนจึงเป็นของคู่กัน และต้องทำโดยเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจถูกต้องตามกฎหมายทั้งหมด นี่คือหลักการพื้นฐานที่เป็น “จุดตั้งต้น” ในกระบวนการนำตัวผู้กระทำความผิดมาพิจารณาคดีและลงโทษได้
ในบรรดาหน่วยงานรัฐทั้งหลาย ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐทุกคนจะสืบสวนและสอบสวนคดีอาญาได้ทั้งหมด เฉพาะคนที่มีอำนาจเท่านั้นสามารถทำได้ หากกฎหมายไม่ได้ยืนยันหลักการนี้ก็จะเป็นการให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐกว้างขวางเกินไป จนกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน
หลักห้ามไม่ให้สืบซ้ำสอบซ้อน
ในกฎหมายอาญา มีหลักการพิจารณาคดีที่สำคัญหลักหนึ่ง เพื่อใช้ในการประกันสิทธิเสรีภาพของบุคคล คือ หลักห้ามดำเนินคดีอาญาซ้ำ (ne bis in idem) อันมีความหมายว่า บุคคลจะไม่ได้รับความเดือดร้อนซ้ำสองสำหรับการกระทำเดียวกัน ซึ่งในการดำเนินคดีอาญา ไม่ถูกดำเนินคดีจากข้อสงสัยเดียวกันหลายครั้งโดยหลายหน่วยงาน ผู้ดำเนินคดีจำเป็นต้องคำนึงถึงหลักกฎหมายดังกล่าว เพื่อให้การดำเนินคดีอาญาเป็นไปอย่างรวดเร็ว ต่อเนื่อง เป็นธรรม และไม่ลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ
ลองนึกภาพเหตุการณ์ว่า หากในการกระทำที่สงสัยว่าเป็นความผิดหนึ่งครั้ง มีการสืบสวนสอบสวนโดยเจ้าหน้าที่ที่มาจากหลายหน่วยงาน โดยไม่ได้คุยหรือตกลงกันมาก่อน ต่างคนต่างสอบสวน พยานหลักฐานในคดีที่อาจจะมีชิ้นเดียวก็แย่งกันไป และข้อเท็จจริงที่ได้ก็อาจจะไม่ครบถ้วนหรือไม่ตรงกัน พอถึงชั้นอัยการก็ต้องสงสัยว่าควรยื่นฟ้องหรือมีคำสั่งตามสำนวนคดีไหนกันแน่ หรือเลวร้ายที่สุด ถ้าอัยการต่างคนกันก็ฟ้องซ้ำไปเลย ทำให้บุคคลผู้ต้องสงสัยว่ากระทำความผิดนั้นต้องแบกรับภาระหนักเกินสมควร กฎหมายจึงกำหนดให้มีหลักการดังกล่าวเพื่อประกันสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องหา
ทั้งนี้ อำนาจสืบสวนสอบสวน ซึ่งเป็นอำนาจในการบังคับใช้กฎหมายหรืออำนาจบริหาร ไม่สามารถถูกแบ่งแยกได้ ผู้ใช้คือฝ่ายบริหาร แม้ในการทำงานจะมีการแบ่งแยกความรับผิดชอบของหน่วยงานออกไปตามท้องที่หรือตามประเภทคดีต่างๆ เพื่อความสะดวกในการปฏิบัติงาน แต่ไม่ใช่การแยกอำนาจของการสืบสวนสอบสวนออกจากกัน อย่างไรก็ตาม ก็อาจมีข้อสังเกตได้ว่า รัฐธรรมนูญตั้งแต่ พ.ศ. 2540 เป็นต้นมา กำหนดให้มีการถ่ายโอนอำนาจสืบสวนสอบสวนในคดีบางประเภทไปเป็นของ “องค์กรอิสระ” ซึ่งไม่อยู่ภายใต้บังคับของฝ่ายบริหาร กรณีนี้เกิดขึ้นคล้ายกันในบางประเทศ เช่น ไต้หวัน
นิยาม “คดีพิเศษ” เปิดกว้าง เปิดทาง กคพ. ลงมติ
กรอบอำนาจการสืบสวนและสอบสวนคดีของดีเอสไอทั้งหมดขึ้นอยู่กับการนิยามว่า คดีใดถือเป็น “คดีพิเศษ” คือ ถ้าไม่ใช่คดีพิเศษ เจ้าหน้าที่ของดีเอสไอไม่สามารถทำอะไรได้เลย การนิยามขอบเขตของคดีพิเศษระบุอยู่ใน พ.ร.บ.กรมสอบสวนคดีพิเศษฯ (หรือที่เรียกว่า “พ.ร.บ.ดีเอสไอฯ) มาตรา 21 สรุปได้ดังนี้
1) ฐานความผิดตามบัญชีแนบท้าย พ.ร.บ.กรมสอบสวนฯ รวมแล้วมี 41 กลุ่มฐานความผิด ส่วนใหญ่เป็นความผิดเกี่ยวกับเศรษฐกิจและการเงิน สามารถดูรายละเอียดได้ที่นี่ แต่ไม่ปรากฎว่ามีความผิดเกี่ยวกับอั้งยี่-ซ่องโจร หรือการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาแต่อย่างใด ทั้งนี้ประเภทของความผิดที่จะถูกจัดเป็นคดีพิเศษต้องมีองค์ประกอบลักษณะดังต่อไปนี้อย่างใดอย่างหนึ่งด้วย
- เป็นคดีซับซ้อน ต้องใช้วิธีการสืบสวนสอบสวน และรวบรวมพยานหลักฐานเป็นพิเศษ
- คดีที่มีผลกระทบรุนแรงต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ความมั่นคงของประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือระบบเศรษฐกิจหรือการคลังของประเทศ
- คดีข้ามชาติหรือองค์กรอาชญกรรม
- คดีที่มีผู้ทรงอิทธิพลเป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุน
- คดีที่มีพนักฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ที่ไม่ใช่ดีเอสไอเป็นผู้ต้องสงสัย
สรุปสั้นๆ ว่า ต้องเป็นฐานความผิดที่มีการกำหนดไว้ในบัญชีท้าย พ.ร.บ. และต้องเข้าเงื่อนไข้อ 1-5 ข้อใดข้อหนึ่งด้วย ถ้าไม่เข้าเงื่อนไข จะไม่เป็นคดีพิเศษ และดีเอสไอไม่มีอำนาจสอบสวน
2) คดีความผิดอาญาอื่นที่กคพ. มีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของคณะกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ให้รับเป็นคดีพิเศษ
ข้อสองนี้เป็นอำนาจเปิดกว้างมาก คือคดีอาญาใดๆ ก็ได้ ไม่ว่าจะข้อหาอะไร จะเล็กจะน้อยใหญ่ โดยไม่จำกัดว่าต้องเข้าเงื่อนไขเช่นเดียวกับคดีในข้อ 1. หาก กคพ. เห็นด้วยโดยมีมติ 2 ใน 3 คดีเหล่านั้นสามารถกลายเป็น “คดีพิเศษ” และทำให้เจ้าหน้าที่ของดีเอสไอมีอำนาจสืบสวนสอบได้
ข้อหาตามกฎหมายสว. อำนาจกกต. ยังมีศักดิ์ใหญ่กว่า
กคพ. ตามมาตรา 5 ของพ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ มีองค์ประกอบ 20 คน ได้แก่ (1) นายกรัฐมนตรี (2) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (3) ปลัดกระทรวงยุติธรรม (4) ปลัดกระทรวงการคลัง (5) ปลัดกระทรวงมหาดไทย (6) ปลัดกระทรวงพาณิชย์ (7) อัยการสูงสุด (8) ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (9) เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา (10) เจ้ากรมพระธรรมนูญ (11) นายกสภาทนายความ และ (12-20) ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่ง ครม. แต่งตั้งจากแขนงต่างๆ กล่าวคือ พากันมาครบทีม เกินกว่าครึ่งของผู้มีอำนาจในกระบวนการยุติธรรมกองอยู่ตรงนี้แล้ว
นอกจากนี้ในช่วงท้ายของ มาตรา 21 ยังกำหนดให้อำนาจใน “คดีพิเศษ” ที่มีลักษณะเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท (หมายถึง ในการกระทำความผิดครั้งเดียว แต่ผิดกฎหมายหลายเรื่อง เช่น ยิงคนตายด้วยปืนเถื่อน ผิดทั้งกฎหมายห้ามฆ่าคน และห้ามครอบครองปืนโดยไม่ได้รับอนุญาติ) หรือหลายเรื่องต่อเนื่องหรือเกี่ยวพันกัน (เช่น ฉ้อโกงและฆ่าพยานปิดปาก) เจ้าหน้าที่คดีพิเศษสามารถขยายอำนาจสืบสวนสอบสวนไปยังความผิดเรื่องอื่นได้ด้วย แม้ว่าความผิดนั้นจะไม่ใช่คดีพิเศษก็ตาม ยกตัวอย่าง นาย ก. เป็นตำรวจชั้นผู้ใหญ่และปล่อยแชร์ลูกโซ่ แต่ต่อมามีคนจะไปแจ้งความ จึงฆ่าปิดปาก กรณีนี้แม้ความผิดฐานฆ่าคนจะไม่ได้เป็นคดีพิเศษ แต่เป็นการกระทำความผิดที่ต่อเนื่องหรือเกี่ยวกันพัน กฎหมายก็กำหนดให้อำนาจสอบสวนของเจ้าหน้าที่ดีเอสไอขยายครอบคลุมมาถึงฐานฆ่าคนตายด้วย
เมื่อพิจารณาตามกฎหมายของดีเอสไอ ประกอบกับหนังสือจากดีเอสไอถึง กกต. ที่เผยแพร่ในโซเชียลมีเดีย ระบุความเห็นของดีเอสไอว่า เหตุการณ์ฮั้วเลือก สว. เข้าข่ายเป็นความผิด 3 กรณี ได้แก่ [1] ความผิดตาม พ.ร.ป.การได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาฯ มาตรา 77 (1) [2] ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 (ความผิดฐานอั้งยี่-ซ่องโจร) และ [3] ความผิดฐานฟอกเงินตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินฯ ซึ่งมีเพียงแค่ความผิดฐานฟอกเงินเท่านั้นที่เป็นความผิดในบัญชีแนบท้าย
แต่ทั้งนี้ ความผิดฐานฟอกเงินดังกล่าว เป็นผลสืบเนื่องมาจากที่ พ.ร.ป.การได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาฯ มาตรา 77 วรรคสอง กำหนดให้ความผิดตาม (1) ถือเป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินด้วย ดังนั้น ในกรณีข้อสงสัยการฮั้วเลือก สว. ก็ยังไม่ได้เป็นการฟอกเงินด้วยตัวเอง แต่เป็นความผิดที่กฎหมายกำหนดให้ “ถือเสมือน” เป็นการฟอกเงิน และเมื่อถือเสมือน ก็จะเข้าข่ายเป็นความผิดตามบัญชีแนบท้ายของ พ.ร.บ.ดีเอสไอฯ ทันที
แต่ก็จะเกิดความสับสนขึ้นต่อมาว่าอำนาจสืบสวนสอบสวนในกรณีการทุจริตเลือกสว. นั้น สรุปแล้วเป็นของ กกต. หรือดีเอสไอกันแน่ เพราะตามหลักกฎหมายที่กล่าวไปข้างต้น ไม่ควรจะมีการสืบสวนสอบสวนที่ซ้ำซ้อนกัน ทั้งนี้ กกต. อาจจะได้เปรียบตรงที่เป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ ขณะที่ดีเอสไอเป็นราชการส่วนกรม ในสังกัดของกระทรวงยุติธรรม ตั้งขึ้นตามกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ กกต. จึงมีสิทธิและศักดิ์สูงกว่าดีเอสไอในคดีเหล่านี้
ส่วนความผิดตาม พ.ร.ป การได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาฯ และอั้งยี่ซ่องโจรที่ไม่อยู่ในบัญชีแนบท้ายของ พ.ร.บ.ดีเอสไอฯนั้น กรณีที่จะให้ดีเอสไอมีอำนาจสืบสวนสอบได้ ก็จะต้องใช้กลไกผ่านการลงคะแนนเสียง มติ 2 ใน 3 ของ กคพ. เพื่อให้รับเอาคดีดังกล่าวมาเป็นคดีพิเศษ ให้เจ้าหน้าที่ดีเอสไอมีอำนาจสืบสวนสอบสวนได้
ส่วนการที่ดีเอสไอกำลังจะก้าวเข้ามาทำหน้าที่ที่ กกต. มีหน้าที่เดิมอยู่แล้ว แต่ยังไม่มีผลงานปรากฏนั้น ก็ยังตั้งคำถามเรื่องความเหมาะสมได้ เพราะจากสถิติคดีที่มีการรายงานในผลการดำเนินของดีเอสไอ ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา (2004-2024) คดีพิเศษกว่าร้อยละ 67.91 นั้นเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับอาชญกรรมทางเศรษฐกิจ เทคโนโลยีสารสนเทศ ทรัพย์สินทางปัญญา ผู้บริโภค สิ่งแวดล้อม และมาตรฐานอุตสาหกรรม ขณะที่จำนวนคดีที่เหลือถูกจัดอยู่ในหมวดอาชญกรรมข้ามชาติและอาชญกรรมพิเศษ ความเชี่ยวชาญของดีเอสไอไม่ใช่เรื่องการเลือกตั้งหรือการเมืองมาก่อนหน้านี้
กกต. ผูกขาดคดีเลือกตั้ง-พรรคการเมือง ดึงคดีมาเก็บไว้เองได้หมด
หน่วยงานที่รัฐธรรมนูญฯ กำหนดให้มีอำนาจโดยตรงในการสืบสวน ไต่สวน และดำเนินคดีความผิดเกี่ยวกับ “กฎหมายการเลือกตั้งและพรรคการเมือง” โดยตรงอย่าง “คณะกรรมการการเลือกตั้ง” ปรากฎตามมาตรา 224 (2) แห่งรัฐธรรมนูญฯ บัญญัติว่า
“มาตรา 224 ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้
(2) ควบคุมดูแลการเลือกตั้งและการเลือกตาม (1) ให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และควบคุมดูแลการออกเสียงประชามติให้เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย เพื่อการนี้ ให้มีอำนาจสืบสวนหรือไต่สวนได้ตามที่จำเป็นหรือที่เห็นสมควร”
ประกอบกับ พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งฯ และ พ.ร.ป.การได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาฯ นิยามต้องตรงกันว่า “กฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง” หมายความว่า “กฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กฎหมายว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา กฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง กฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง กฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น และให้หมายความรวมถึงกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติด้วย”
และยังกำหนดให้บุคคลซึ่ง กกต. แต่งตั้งให้สืบสวนไต่สวน มีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งฯ มาตรา 42 วรรค 4 และให้สำนวนไต่สวนนั้นมีฐานะเป็นการสอบสวนของพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ตามมาตรา 44 ด้วย
กฎหมายยังตอกย้ำความเป็นเจ้าข้าวเจ้าของในอำนาจการดำเนินคดีของกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมืองของ กกต. ด้วยบทบัญญัติในมาตรา 42 วรรค 5 และมาตรา 49
“มาตรา 42 วรรค 5 ความในวรรคหนึ่งไม่เป็นการตัดอำนาจคณะกรรมการ (กกต.) ที่จะดำเนินการให้พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการดำเนินการไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา”
“มาตรา 49 เมื่อความปรากฎต่อคณะกรรมการว่าหน่วยงานของรัฐหรือพนักงานสอบสวนได้รับเรื่องการกระทำความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมืองไว้พิจารณา และคณะกรรมการเห็นว่าเป็นการสมควรที่คณะกรรมการจะดำเนินการเองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ให้คณะกรรมการมีหนังสือแจ้งให้หน่วยงานของรัฐหรือพนักงานสอบสวนนั้นโอนเรื่องหรือส่งสำนวนการสอบสวนเกี่ยวกับการกระทำความผิดนั้นมาให้คณะกรรมการเพื่อดำเนินการต่อไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ในกรณีเช่นนี้ให้หน่วยงานของรัฐหรือพนักงานสอบสวนโอนเรื่องหรือส่งสำนวนการสอบสวนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมืองมาให้คณะกรรมการภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งดังกล่าว”
หมายความว่า หากตำรวจ ดีเอสไอ หรือหน่วยงานต่างๆ ที่มีอำนาจสอบสวนการกระทำความผิดอาญา ได้รับเรื่องร้องเรียนที่เห็นว่ามีมูลจะดำเนินคดีในฐานความผิดเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง ก็สามารถทำได้ แต่กกต. มีอำนาจเหนือกว่าที่จะพิจารณาว่า คดีใดต้องการจะให้หน่วยงานอื่นดำเนินการหรือต้องการที่จะเอามาทำเอง ถ้า กกต. ต้องการดึงคดีทั้งหลายมาทำเองก็ยังสามารถออกคำสั่งให้โอนเรื่องมาไว้ในมือของกกต. เท่านั้นก็ได้
ดีเอสไอ “มุดโพรง” ใช้ช่องอั้งยี่-ซ่องโจร หลบอำนาจกกต.
จากข้อกฎหมายที่กล่าวมาข้างต้น พอเห็นได้ว่า อำนาจการดำเนินคดีเกี่ยวกับกฎหมายการเลือกตั้งและพรรคการเมืองนั้นอยู่ภายใต้การตัดสินใจของ กกต. เป็นใหญ่ที่สุด หน่วยงานอื่นจะดำเนินคดีได้ก็ต่อเมื่อ กกต. อนุญาตให้ทำ
ดังนั้น หากกคพ. ตัดสินใจรับคดี “ฮั้วเลือก สว.” เป็นคดีพิเศษ ผ่านวิธีการลงคะแนนเสียง 2 ใน 3 ของ กคพ. โดยใช้มูลเหตุฐานความผิดตาม พ.ร.ป.การได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาฯ มาตรา 77 (1) เช่นนี้ กกต. ก็จะสามารถเข้ามามีอำนาจในการตัดสินใจตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการเลือกตั้งฯ ว่าจะให้ดีเอสไอทำคดีต่อไปหรือไม่ หรือจะเก็บคดีมาทำไว้เองต่อไป จะเห็นได้จากที่ดีเอสไอมีหนังสือไปถาม กกต. ตามที่เปิดเผยออกมาในโซเชียลมีเดียว่า จะให้ดีเอสไอสืบสวนหรือ กกต. จะสืบสวนเอง
แต่ในข้อเท็จจริงปรากฏตอบช่วงเวลาที่มีการจัดการเลือกสว. ว่า มีผู้สมัครสว. ยื่นเรื่องเรื่องร้องเรียนเช่นนี้ต่อ กกต. มานานแล้ว และเป็นจำนวนหลายคดี ซึ่งอยู่ระหว่างกระบวนการสืบสวนอยู่ แต่ไม่เห็นผลลัพธ์จนกระทั่งกกต. ประกาศรับรองผลการเลือกไปก่อน และสว. ชุดใหม่เข้าทำหน้าที่มาแล้วหลายเดือนการตรวจสอบของกกต. ก็ไม่คืบหน้า หากให้ดีเอสไอสืบสวนต่อไปตามทางนี้ ก็จะเป็นการใช้อำนาจสืบสวนสอบสวนซ้ำซ้อน ซึ่งผิดกับหลักคุ้มครองสิทธิเสรีภาพทางกฎหมายอาญา แต่หาก กกต. เลือกทิ้งการสืบสวนสอบสวนของตัวเอง และให้ดีเอสไอทำคดีต่อ ก็จะเป็นการฉีกหน้าตนเองทิ้งยับเยิน
ทางเลือกที่เหลือคือ ดีเอสไอและกคพ. เลือกใช้ “ฐานความผิด” ในการดำเนินคดีนี้ที่ไม่ใช่กฎหมายการเลือกตั้งและพรรคการเมือง เข้ามาจับเป็นคดีพิเศษ ผ่านวิธีการลงมติคะแนนเสียง 2 ใน 3 ของ กคพ. เช่นกัน ซึ่งในที่นี้ ตามที่มีการเผยรายงานทางสื่อมวลชน ดีเอสไอเลือกชงฐานความผิด “อั้งยี่-ซ่องโจร” ตามประมวลกฎหมายอาญมาตรา 209-210 ขึ้นมา ซึ่งไม่เข้าเกณฑ์ ทั้งบัญชีแนบท้าย พ.ร.บ.กรมสอบสวนคดีพิเศษฯ และไม่เป็นความผิดตามกฎหมายการเลือกตั้งและพรรคการเมือง ซึ่งทำให้ กกต. จะไม่มีอำนาจในการเข้ามายุ่งเกี่ยวกับฐานความผิดนี้
อย่างไรก็ดี หากเลือกใช้ทางตั้งข้อหา “อั้งยี่-ซ่องโจร” ข้อกังวลที่จะเกิดขึ้นต่อไปคือ การฮั้วเลือก สว. มีองค์ประกอบความผิดครบถ้วนตามข้อหานี้หรือไม่หรือไม่ เพราะองค์ประกอบของ “อั้งยี่” ต้องมีการรวมตัวกันเพื่อกระทำการอันไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขณะที่ซ่องโจรต้องกระทำผิดอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่บัญญัติในภาค 2 ของประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งดีเอสไอในฐานะผู้สืบสวนสอบสวนและชงประเด็นนี้ขึ้นมาก็เป็นฝ่ายหาหลักฐานมาพิสูจน์ให้ได้ และอาจจะมีผลต่อการพิสูจน์ความถูกผิดในชั้นศาล เพราะหากไม่สามารถหาหลักฐานให้เข้าองค์ประกอบของข้อหา “อั้งยี่-ซ่องโจร” ได้เพียงพอ แต่กลับดำเนินคดีไปโดยเน้นที่องค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.ป.การได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาฯ มาตรา 77 (1) แทน ก็อาจเข้าข่ายว่าจะสืบสวนสอบสวนทับซ้อนกับคดีในมือของ กกต. ก็เป็นได้
ข้อมูลเพิ่มเติม
ความผิดฐานอั้งยี่-ซ่องโจร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 และมาตรา 210
มาตรา 209 ผู้ใดเป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการและมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นอั้งยี่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี และปรับไม่เกินหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท
ถ้าผู้กระทำความผิดเป็นหัวหน้า ผู้จัดการหรือผู้มีตำแหน่งหน้าที่ในคณะบุคคลนั้น ผู้นั้นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท
มาตรา 210 ผู้ใดสมคบกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 นี้ และความผิดนั้นมีกำหนดโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นซ่องโจร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าเป็นการสมคบเพื่อกระทำความผิดที่มีระวางโทษถึงประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิตหรือจำคุกอย่างสูงตั้งแต่สิบปีขึ้นไป ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สี่หมื่นบาทถึงสองแสนบาท