เดินหน้าเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ไปไงต่อ? ความเป็นไปได้หลังพรรคร่วมรัฐบาล – สว. เล่นเกมสภาล่มสองวันติด

13-14 กุมภาพันธ์ 2568 รัฐสภามีนัดพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมสองฉบับซึ่งเสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พรรคประชาชน และ สส. พรรคเพื่อไทย เพื่อปลดล็อกรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 256 เปิดช่องให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.)​ มาจากการเลือกตั้งของประชาชน อย่างไรก็ดี การประชุมทั้งสองวันจบลงด้วยเหตุ “สภาล่ม” ไม่ได้เริ่มพิจารณาแก้รัฐธรรมนูญ หลังพรรคร่วมรัฐบาล – สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ใช้แทคติกไม่แสดงตน – ไม่ร่วมพิจารณา อ้างขัดกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

การประชุมในสองวันนี้แทนที่จะได้พิจารณาถึงเนื้อหาสาระ เหตุผลและวิธีในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อเปิดทางไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทว่า บทสนทนาของ สส. สว. กลับเป็นประเด็นว่า จะต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยอีกครั้งว่าการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาหรือไม่ ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยให้ยื่นศาลระบุว่าคำวินิจฉัยที่ 4/2564 ระบุไว้ชัดเจนแล้วว่าเป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาและไม่จำเป็นต้องทำประชามติก่อนการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ด้านฝ่ายที่ต้องการยื่นศาลระบุในทางตรงกันข้าม เพื่อความสบายใจของสมาชิกรัฐสภาบางส่วนที่กังวลจึงเห็นควรให้ยื่นศาลวินิจฉัยก่อน ซึ่งพรรคร่วมรัฐบาลและ สว. สีน้ำเงิน อ้างว่าเมื่อขัดกับคำวินิจฉัยแล้วอาจมีความสุ่มเสี่ยงจะถูกร้องดำเนินคดีได้

ที่ประชุมในวันที่ 13 กุมภาพันธ์​ 2568 ปัดตกข้อเสนอเลื่อนญัตติยื่นศาลของ สว. เปรมศักดิ์​ เพียยุระ ขึ้นมาพิจารณาก่อน จึงทำให้นับแต่นั้นเป็นต้นมาทั้ง สว.เปรมศักดิ์ และ สส. เพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาล พยายามดึงเกมขอให้นับองค์ประชุมจึงทำให้ “สภาล่ม” สองวันติด พรรคเพื่อไทยระบุว่า “จำเป็น” ต้องยื่นศาลให้วินิจฉัยไม่เช่นนั้นข้อเสนอจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่จะถูกคว่ำ แม้ว่าก่อนหน้านี้พรรคเพื่อไทยจะมีจุดยืนในทางตรงกันข้ามก็ตาม

เดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญต่อได้ในสมัยประชุมนี้ ยังมีโอกาสก่อนสงกรานต์ 68 

หลังจาก “สภาล่ม” สองวันติดแล้ว อนาคตในการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ภายใต้รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตรก็ยังคงไม่ได้หมดไปเสียทีเดียว ถ้า สส. สว. “กลับใจ” จะพิจารณาร่างแก้รัฐธรรมนูญ โดยไม่ต้องถามศาลรัฐธรรมนูญ “อีกรอบ” ก็ยังสามารถทำได้ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาสามารถนัดประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาวาระเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ต่อได้ โดยพิจารณาร่างแก้รัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับที่บรรจุวาระไปแล้วและยังไม่ได้เริ่มพิจารณาในวาระหนึ่ง 

โดยสมัยประชุมรัฐสภา สมัยประจำปีครั้งที่สอง ปีที่สอง จะปิดสมัยในวันที่ 10 เมษายน 2568 หากรัฐสภาเห็นว่าเป็นเรื่อง “เร่งด่วน” ที่จะต้องเริ่มพิจารณาโดยเร็ว จะเปิดสมัยประชุมวิสามัญก็ได้ ไม่จำเป็นต้องรอให้ถึงเปิดสมัยประชุมถัดไป ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 123 สส. และ สว. รวมกัน หรือ สส. ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนทั้งหมด สามารถเข้าชื่อต่อประธานรัฐสภา ให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อมีพระบรมราชโองการประกาศเรียกประชุมรัฐสภาเป็นการประชุมสมัยวิสามัญได้

ต่อให้ สว. คว่ำร่าง ไม่ได้แปลว่าจะจะต้องรออีกนาน

หากรัฐสภาเดินหน้าพิจารณาวาระการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ จนไปถึงการลงมติว่าที่ประชุมรัฐสภาจะรับหลักการหรือไม่ ต่อให้เสียงข้างมากของ สส. สว. จะโหวต “คว่ำ” ร่างแก้รัฐธรรมนูญ หรือ สว. โหวตเห็นด้วย ไม่ถึงหนึ่งในสาม จนร่างตกไป ก็ไม่ได้หมายความว่า กระบวนการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อเปิดทางเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ จะสิ้นสุดลงภายใต้รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร

แม้ว่าข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อ 41 ระบุว่าญัตติใดที่ตกไปแล้ว ห้ามเสนอซ้ำอีกในสมัยประชุมเดียวกัน เว้นแต่เป็นญัตติที่ยังไม่ได้ลงมติ หรือประธานสภาอนุญาต เมื่อเห็นว่าเหตุการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป แต่รัฐสภาก็ยังมีโอกาสพิจารณาร่างแก้รัฐธรรมนูญได้ในสมัยประชุมถัดไป ซึ่งจะเริ่มวันที่ 3 กรกฎาคม 2568 หรือหากประธานรัฐสภาเห็นว่า เหตุการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป ยังสามารถบรรจุวาระเพื่อให้รัฐสภาพิจารณาได้

ยื้อส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก็ได้ แต่อาจออกลูกเดิม

ถ้าเสียงข้างมากของ สส. สว. อยากแก้ “ข้อกังวล” ของพรรคเพื่อไทย พรรคร่วมฝ่ายค้าน หรือ สว. สีน้ำเงิน ว่ารัฐสภาจะมีอำนาจในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยที่ยังไม่ได้ทำประชามติก่อนเสนอร่างได้หรือไม่ ที่ประชุมรัฐสภาก็ยังสามารถพิจารณาญัตติยื่นศาลของ สว. เปรมศักดิ์ที่เสนอมาในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 ได้ โดยอาจจะเลื่อนขึ้นมาพิจารณาก่อนแก้รัฐธรรมนูญ

แม้ว่ารัฐสภาจะปัดตกข้อเสนอให้เลื่อนญัตติของ สว. เปรมศักดิ์ไปแล้ว แต่ก็ไม่ใช่การปัดตกข้อเสนอในการยื่นศาลรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด ประธานรัฐสภาอาจพิจารณาอนุญาตให้สามารถเลื่อนญัตติยื่นศาลขึ้นมาพิจารณาก่อนได้ หากพิจารณาแล้วเห็นว่าเหตุการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป ตามข้อยกเว้น ความตอนท้ายในข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อ 41 

อย่างไรก็ดี หากส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ก็มีโอกาสออก “ลูกเดิม” เพราะเมื่อ 29 มีนาคม 2567 รัฐสภาซึ่งประกอบด้วย สส. ชุดนี้ และ สว. แต่งตั้ง ก็เคยมีมติให้ส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้วินิจฉัยเป็นครั้งที่สอง ว่า “รัฐสภาจะบรรจุวาระและพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่มีบทบัญญัติให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยยังไม่มีผลการออกเสียงประชามติว่าประชาชนประสงค์ให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ได้หรือไม่” และถ้าหากว่ารัฐสภาสามารถบรรจุร่างรัฐธรรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่มีบทบัญญัติให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้แล้ว การจัดให้ประชาชนผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญออกเสียงประชามติว่าสมควรมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ จะสามารถกระทำในขั้นตอนที่รัฐสภาลงมติให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมในวาระสามแล้ว โดยสอบถามประชาชนไปพร้อมกับกรณีตามมาตรา 256 (8) ได้หรือไม่ เพื่อให้สอดคล้องกับคำวินิจฉัยที่ 4/2564 ถ้าหากทำประชามติไปพร้อมกับกรณีมาตรา 256 (8) ไม่ได้ แล้วจะต้องสอบถามประชาชนในขั้นตอนใด

อย่างไรก็ดี วันที่ 17 เมษายน 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณา ด้วยมติเอกฉันท์ 7 ต่อ 0  โดยให้เหตุผลว่า การบรรจุวาระการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเป็นหน้าที่และอำนาจของประธานรัฐสภา กรณีนี้ไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา คำร้องมีสาระสำคัญเป็นเพียงข้อสงสัย และขอให้ศาลรัฐธรรมนูญอธิบายเนื้อหาคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยโดยละเอียดและชัดเจนแล้ว ไม่ใช่กรณีปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาที่เกิดขึ้นแล้ว

ทั้งนี้ คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ระบุว่า รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ เป็นคำตอบที่ชัดเจนว่า “รัฐสภาทำได้” และสำหรับคำถามที่ว่า จะต้องทำประชามติกี่ครั้ง คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญก็ชัดเจนแล้วว่า ต้องให้ประชาชนลงประชามติ “เสียก่อน” และหลังทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้วก็ทำประชามติ “อีกครั้งหนึ่ง” คำว่า “อีกครั้งหนึ่ง” อันเป็นคำสุดท้ายของคำวินิจฉัยฉบับนี้จึงทำให้เห็นชัดแล้วว่า ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ทำประชามติสองครั้ง ชัดเจนโดยไม่ต้องตีความอีก

นอกจากนี้หากดูคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเก้าคนที่วินิจฉัยในคดีนี้ ก็พบว่า เสียงข้างมาก หกคน เห็นว่าต้องทำประชามติสองครั้ง สองคนเห็นว่า จะต้องทำประชามติสามครั้ง ขณะที่เสียงข้างน้อย หนึ่งคนเขียนชัดว่า รัฐสภาไม่มีอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เลย ยิ่งชัดเจนขึ้นไปอีกว่า “เสียงส่วนใหญ่” ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนั้นตอบคำถามชัดเจน จึงไม่มีปัญหาใดให้ต้องถกเถียงอีก

หากรัฐสภาส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญ รอบที่สาม ก็อาจจะได้รับคำตอบจากศาลรัฐธรรมนูเหมือนเดิม จะยิ่งทำให้โอกาสในการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ล่าช้าขึ้นไปอีก 

📍ร่วมรณรงค์

JOIN : ILAW CLUB

ช่องทางการติดตาม

FACEBOOK PAGE

วิดีโอแนะนำ

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage
Trending post