ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีขณะนั้นกล่าวว่า “นโยบายเร่งด่วนสุดท้าย คือ การแก้ปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ เพื่อให้คนไทยได้มีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น” และต่อมาเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2568 แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันตอบเรื่องการยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความว่า จะต้องมีการทำประชามติก่อนถึงจะแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ว่า “เดี๋ยวขอคุยกันเรื่องนี้อีกที”
สองคำพูดที่ดูต่างช่วง ต่างเวลาแต่สิ่งที่เหมือนกันคือพูดถึงประเด็นเดียวกันคือเรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญและนายกรัฐมนตรีทั้งสองมาจากพรรคเดียวกันคือพรรคเพื่อไทย ระยะเวลากว่า 550 วันมาแล้วภายใต้การดำเนินงานของรัฐบาลเพื่อไทย คำมั่นสัญญาเรื่องรัฐธรรมนูญเป็นประเด็นที่ถูกนำมาใช้หาเสียงเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของพรรคมาโดยตลอด
![](https://live.staticflickr.com/65535/54321136850_48741a9606_c.jpg)
แต่ว่าในวันที่ 13-14 กุมภาพันธ์ 2568 ที่รัฐสภากำลังจะมีการประชุมเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เพื่อเปิดทางสู่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ยังคงไร้เสียงที่ชัดเจนหนักแน่นของหัวหน้าพรรคเพื่อไทยกับประเด็นดังกล่าว
ย้อนดูจุดยืนของแพทองธารในฐานะนายกฯ และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย:
12 กันยายน 2567 นายกรัฐมนตรีได้มีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเพื่อแสดงวิสัยทัศน์การแก้ไขปัญหาของประเทศ เรื่องรัฐธรรมนูญก็ยังเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ถูกนำขึ้นมาแถลงต่อรัฐสภามีเนื้อหาอยู่ว่า
“รัฐบาลจะเร่งจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น โดยเร็วที่สุด โดยยึดโยงกับประชาชนและหลักการของประชาธิปไตย สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนสากล เคารพพหุวัฒนธรรม เพื่อเป็นบันไดสู่การพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศไทย ให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน โดยมีเสถียรภาพทางการเมืองเป็นปัจจัยเร่งที่สำคัญ รวมถึงการสร้าง สันติภาพและสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน” แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี12 กันยายน 2568
17 กันยายน 2567 พรรคเพื่อไทยได้มีการเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบรายมาตราเข้าไปรัฐสภา เกี่ยวกับประเด็นจริยธรรมนักการเมือง นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องนักการเมืองโดยเฉพาะ ต้องให้มีการไปพูดคุยกันในรัฐสภาต่อไป โดยครั้งนี้มอบหมายให้ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีเป็นคนดูเเล
24 กันยายน 2567 การแก้ไขรัฐธรรมนูญจริยธรรมนักการเมือง ต่อมาเกิดการวิจารณ์อย่างกว้างขวางและทีท่าของพรรคร่วมรัฐบาลที่มีแนวทางไม่เห็นด้วยหลายพรรค นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์กับนักข่าวว่า อย่าถามอะไรที่เป็นการยุแยง รัฐบาลขอให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาอุทกภัยก่อน
1 ตุลาคม 2567 ทำเนียบรัฐบาลกล่าวถึงการแถลงของนายกรัฐมนตรีไว้ว่า จะต้องมีการหารือร่วมกับพรรครัฐบาลในเรื่องนี้แต่เอาไว้คุยกันนอกรอบ เมื่อมีความเห็นของแต่ละพรรคการเมืองแล้วจึงนำมาหาข้อตกลงทำงานร่วมกันต่อไป แต่ท้ายสุดคำตอบจะอยู่ที่ประชาชน หากถามว่ารัฐธรรมนูญจะเสร็จในรัฐบาลนี้หรือไม่ก็ต้องดูความคิดเห็นที่ออกมาก่อน
5 พฤศจิกายน 2567 หลังจากการขอเข้าพบของพริษฐ์ วัชระสินธุ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาชนได้ขอเข้าพบเพื่อพูดคุยเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายกรัฐมนตรียินดีที่จะร่วมพูดคุย ส่วนเนื้อหารายละเอียดเราต้องทำในสิ่งที่สามารถทำได้ก่อนเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาภายหลัง ตนเข้าใจดีถึงปัญหาที่มีอยู่มากแต่หากรีบเกินไปก็อาจถูกฟ้องร้องได้ เราต้องรับฟังเสียงให้ครบและมาดูแผนระยะเวลาว่าจะเอาอย่างไร เว้นการแก้หมวด 1 บททั่วไป และ 2 พระมหากษัตริย์ ในรัฐธรรมนูญ กระบวนการจัดทำต้องเอื้อต่อประชาธิปไตยและประชาชนมากที่สุด
11 กุมภาพันธ์ 2568 หลังการประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีการตอบคำถามกับสื่อมวลชนเกี่ยวกับเรื่องการประชุมรัฐสภาที่มีการเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ทั้งจากฝั่งพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชน นายกรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นเพียงแค่ว่า “เดี๋ยวขอคุยกันเรื่องนี้อีกที”
แม้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นนโยบายสำคัญของพรรคเพื่อไทย แต่ท่าทีของแพทองธารกลับไม่ชัดเจน ทั้งที่ในฐานะหัวหน้าพรรคควรแสดงจุดยืนเพื่อสร้างความมั่นใจว่าจะทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องสำเร็จในรัฐบาลเพื่อไทย โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด