7 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 10.00 – 12.00 น. คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานเสวนา “พิรงรอง Effect ทิศทางกำกับดูแล และคุ้มครองผู้บริโภคสื่อต่อจากนี้…” เพื่อแลกเปลี่ยนพูดคุยถึงทิศทางการกำกับดูแลและการคุ้มครองผู้บริโภคสื่อในอนาคตหลังจากกรณี บริษัท ทรูดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด ฟ้องศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูตร คณะกรรมการกสทช. กรณีออกหนังสือเตือนโฆษณาแทรกบนแพลตฟอร์มทรูไอดี โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและการควบคุมสื่อเข้าร่วมเสวนาได้แก่ สุภิญญา กลางณรงค์ อดีตกรรมการ กสทช. และผู้ร่วมก่อตั้ง Co-fact Thailand ระวี ตะวันธรงค์ ที่ปรึกษาสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ รศ.ดร.ณรงค์เดช สุรโฆษิต อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ดำเนินรายการโดย ประวีณมัย บ่ายคล้อย
เมื่อกฎหมายไทยตามไม่ทันโลกส่งผลให้มีช่องว่างในการเอาเปรียบผู้บริโภค
ระวี ตะวันธรงค์ ที่ปรึกษาสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ อธิบายถึงรูปแบบของการให้บริการสื่อวิดิโอในประเทศไทยปัจจุบัน แบ่งเป็นสองประเภท ได้แก่
1. IPTV (Internet Protocal Television) คือการให้บริการเนื้อหาวิดีโอผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่มีการจัดการโดยผู้ให้บริการเฉพาะ ซึ่งมักจะเป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) หรือผู้ให้บริการโทรทัศน์ ระบบนี้ต้องการอุปกรณ์เฉพาะ เช่น กล่องรับสัญญาณ
2. ภายหลังการเข้ามาของอินเตอร์เน็ตไร้สาย ทำให้เกิดการให้บริการรูปแบบใหม่ขึ้น เรียกว่า OTT (Over the top) เป็นประเภทที่สอง ซึ่งให้บริการเนื้อหาผ่านอินเทอร์เน็ตสาธารณะโดยไม่ต้องพึ่งพาเครือข่ายหรือโครงสร้างพื้นฐานของผู้ให้บริการเฉพาะเหมือน IPTV
ปัญหาหลักของประเทศไทยคือ ในปัจจุบันกฎหมายไทยได้ให้การกำกับดูแลเฉพาะระบบ IPTV เท่านั้น และยังไม่ครอบคลุมถึงการให้บริการสื่อแบบ OTT แม้จะมีการเตรียมแผนยุทธศาสตร์ และแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาเกี่ยวกับการกำกับดูแล OTT ก็ตาม แต่ยังไม่มีความคืบหน้าใด ๆ ดังนั้นการกระทำใด ๆ บนการให้บริการสื่อแบบ OTT จึงไม่ได้อยู่ภายใต้อำนาจของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติหรือกสทช. ทำให้เกิดช่องว่างในการเอาเปรียบผู้บริโภค เช่น โฆษณาเกินเวลา และหากปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไปในอนาคตข้างหน้า ผู้ประกอบการจะแห่กันทิ้งทีวีดิจิทัลเพื่อเข้าสู่ตลาดออนไลน์ กลายเป็นตลาดที่มีผู้เล่นจำนวนมาก ที่แย่งลูกค้ากันโดยตรง แต่ขาดการควบคุมและส่งผลให้มูลค่าตลาดสื่อออนไลน์ของไทยลดลง
เร่งหากติกาคุม OTT ที่เป็นธรรม รักษาอุตสาหกรรมสื่อไทย
สุภิญญา กลางณรงค์ อดีตกรรมการ กสทช. และผู้ร่วมก่อตั้ง Co-fact Thailand ระบุว่าจากข้อมูลที่เธอได้รับรู้มา การทำงานของกรรมการ กสทช. ในปัจจุบันมีวาระที่ค้างพิจารณาเป็นจำนวนมาก และเรื่องการกำกับดูแล OTT ก็เป็นหนึ่งในเรื่องที่ค้างมาตั้งแต่ปลาย กสทช.ชุดที่แล้ว แต่เนื่องจากช่วงนั้นอยู่ในช่วงหลังรัฐประหารไม่นาน อีกทั้งท่าทีที่แสดงออกของ กสทช.ต่อสาธารณะ ทำให้สังคมรู้สึกเคลือบแคลงใจในวิธีการกำกับดูแล OTT ของรัฐ ว่า จะเป็นการปิดกั้นเสรีภาพของสื่อหรือไม่ ลามไปถึงข่าวลือเกี่ยวกับการควบคุมอินเตอร์เน็ตของรัฐบาลทหาร ทำให้กระแสสังคมในยุคนั้นไปในทิศทางที่ให้การสนับสนุน OTT เสรีมากกว่า ดังนั้นนโยบายการเข้ามากำกับดูแลวิธีเผยแพร่สื่อแบบ OTT จึงไม่ได้รับการสนับสนุนจากสังคมเท่าที่ควร แต่เมื่อเวลาผ่านไปคนในสังคมเริ่มตระหนักได้ว่าประเทศไทยกำลังสูญเสียอธิปไตยในการสื่อสารออนไลน์ เพราะเม็ดเงินไหลไปหาสตรีมมิ่งจากต่างประเทศ ดังนั้นการกำกับดูแลควรจะเป็นรูปเป็นร่างได้แล้ว เพื่อให้ทันกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพราะหากยิ่งช้าก็จะยิ่งส่งผลกระทบกับอุตสาหกรรมสื่อในประเทศไทยในอนาคต
ดังนั้นคดีของอาจารย์พิรงรองจึงเหมือนเป็นกรณีหนึ่งที่กระตุ้นให้ประเทศไทยต้องมีการผลักดันกฎหมายเกี่ยวกับการกำกับดูแล OTT บนพื้นฐานของการสร้างสมดุลระหว่างการให้พื้นที่สิทธิเสรีภาพในการสื่อสาร และการแสดงออกในโลกออนไลน์ ในขณะเดียวกันต้องเพิ่มการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรมในอุตสาหกรรมสื่อ และการคุ้มครองผู้บริโภคด้วย
อดีตกสทช.ยังฝากถึงผู้ประกอบการ OTT ในประเทศไทยด้วยว่า แม้จะเป็นรายใหญ่ก็ตาม แต่หากไม่สนับสนุนให้มีการกำกับดูแล OTT ที่เป็นธรรม อนาคตผู้ประกอบการเจ้าใหญ่ ๆ ก็จะไม่มีที่ยืนด้วย เนื่องจากปัจจุบันคนไทยนิยมรับชมสื่อวิดิโอผ่านแพลตฟอร์ทออนไลน์ต่างประเทศมากขึ้น จึงเป็นคำถามว่าเรากำลังเสียอธิปไตยในทางเศรษฐกิจอยู่หรือเปล่า และหากไม่ร่วมกันหาแนวทางการกำกับที่เป็นธรรมแล้วอุตสาหกรรมสื่อไทยจะอยู่อย่างไร แทนที่จะมาเสียเวลาทะเลาะกันเอง แล้วจะเอาเรี่ยวแรงที่ไหนไปรับมือกับปัจจัยภายนอกที่ถาโถมเข้ามา แม้แต่ภาคเอกชนผู้ประกอบการของไทย แม้ว่าจะรายใหญ่หากไม่ร่วมกันสร้างกติกาที่เป็นธรรมก็จะได้รับผลกระทบเช่นกัน
ใช้กฎหมายปิดปาก สร้างความหวาดกลัวให้เจ้าหน้าที่ไม่กล้าปฏิบัติงาน
ในมิติของกฎหมาย รศ.ดร. ณรงค์เดช กล่าวว่า เขายังไม่ได้อ่านคำพิพากษาฉบับเต็ม แต่อ่านจากจดหมายข่าวที่มีเพียงสามหน้า ดังนั้นการอธิบายใด ๆ ต้องดูกระบวนการพิจารณาฉบับเต็มว่ามีข้อเท็จจริงอย่างไร เนื่องจากกระบวนการพิจารณาของศาล จะพิจารณาจากหลักฐานของโจทก์และจำเลยแล้วพิจารณาวินิจฉัยออกมา แต่สำหรับจดหมายข่าวที่เขียนออกมานั้นน่าตั้งคำถาม เพราะจำเลยเป็นกรรมการกสทช. แต่สำนักงานเป็นผู้ออกจดหมายที่เป็นต้นเหตุของการฟ้องคดี โดยปกติความรับผิดทางอาญา ผู้เซ็นจดหมาย ต้องเป็นจำเลยที่ 1 ส่วนผู้สั่งการเป็นจำเลยที่สอง จึงเกิดคำถามว่า เหตุใดจึงมีเพียงอาจารย์พิรงรอง ที่ถูกฟ้องร้องคดี ในขณะที่สำนักงานผู้ออกจดหมายอันเป็นเหตุแห่งการฟ้องร้องไม่ได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญาด้วย
เขากล่าวว่า ผลคำพิพากษาคดีอาจาร์พิรงรองจะยิ่งทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่กล้าปฏิบัติงาน จากเดิมที่ไม่กล้าอยู่แล้ว ซึ่งผู้รับผลกระทบคือ ประชาชน ทั้งที่หน้าที่ของรัฐคือคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ และตั้งข้อสังเกตถึงกรณีข้อเท็จจริงในที่ประชุมที่หลุดออกมาในที่สาธารณะ ระบุว่า เหตุใดข้อมูลคำพูดในที่ประชุมหลุดออกมาให้ถูกใช้โจมตีได้ เนื่องจากโดยหลักการแล้ว การจัดตั้งองค์กรของรัฐแบบองค์กรกลุ่มในรูปของคณะกรรมการ มีจุดมุ่งหมายให้คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญมาร่วมกันพูดคุย ถกเถียงประเด็นปัญหาอย่างตรงไปตรงมา ความสำคัญในกระบวนการนี้คือต้องกล้าพูด แต่จากกรณีของอาจารย์พิรงรอง เห็นได้ชัดว่า กสทช. ไม่ได้ให้ความสำคัญกับความลับในที่ประชุม อนาคตข้างหน้าจึงจะเกิดปัญหาที่กรรมการไม่สามารถพิจารณาถกเถียงวาระได้อย่างตรงไปตรงมาเนื่องจากกลัวความลับรั่วไหล และนำไปสู่การฟ้องร้องคดีแบบที่เกิดขึ้นแล้ว