กรรมาธิการกฎหมายฯเห็นพ้องว่า “ก้องต้องได้สอบ” จี้มหาวิทยาลัยรามคำแหงต้องเข้ามาชี้แจง

5 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 9.43 น. กรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ได้มีการประชุมพิจารณาเรื่อง การพิจารณาศึกษาเรื่องร้องเรียน กรณีแนวนโยบายและมาตรการเกี่ยวกับสิทธิในการได้รับการศึกษาและสิทธิในการสอบของผู้ต่องขังระหว่างอยู่ในเรือนจำของ ก้อง อุกฤษณ์ สันติประสิทธิกุล โดยมีกมลศักด์ ลีวาเมาะเป็นประธานในการประชุมครั้งนี้

การประชุมมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมได้แก่ กรมราชทัณฑ์ กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สภานักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง กลุ่ม Thumb Rights iLaw กลุ่มไฟรามทุ่ง เป็นต้น ครั้งนี้มหาวิทยาลัยรามคำแหงไม่ได้เข้าร่วมการประชุม เนื่องจากมีหนังสือแจ้งเลื่อนการประชุมมายังคณะกรรมาธิการฯว่า ติดภารกิจซักซ้อมงานพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัย

ก้อง อุกฤษณ์ สันติประสิทธิกุล เป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เข้าศึกษาในปี 2561  ต่อมาก้องถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 สองคดี ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า มีความผิดทั้งสองคดีโดยมีโทษจำคุกรวมเจ็ดปี 30 เดือน เขาไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างการสู้คดีในชั้นฎีกา ระหว่างการจำคุกก้องยังเหลือภารกิจต้องสอบอีกสามวิชาให้ผ่านเพื่อจบการศึกษา

ก้องและสภานักศึกษาจึงได้เขียนหนังสือยื่นขอสอบภายในเรือนจำต่ออธิการบดีมหาวิทยาลัย ต่อมาคณะนิติศาสตร์มีมติพิจารณาไม่อนุมัติตามคำร้อง ทำให้ต่อมาก้องและสภานักศึกษาได้เขียนจดหมายยื่นต่อคณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2567 หากนับระยะเวลาที่อยู่ในเรือนจำจนถึงวันที่ 5 กุมภาพันธ์2568 ก้องถูกจำคุก 352 วัน สูญเสียโอกาสการเรียนภาคฤดูร้อนในปีการศึกษา 2566 ไปและอาจสูญเสียการเรียนในปีการศึกษาปัจจุบันอีกครั้งหากไม่ได้สิทธิสอบ

สำหรับกรณีการสอบภายในเรือนจำเรื่องนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดขึ้น รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ได้ยืนยันในที่ประชุมอย่างชัดเจนว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและกรมราชทัณฑ์ให้ความสำคัญกับการศึกษามาโดยตลอด อีกทั้งกฎหมายยังไม่ได้มีการห้ามในเรื่องสิทธิการสอบภายในเรือนจำ เช่นกรณีของไผ่ ดาวดิน ในขณะที่ติดอยู่ในเรือนจำตอนนั้นเขาก็เป็นนักศึกษาและสามารถทำการสอบภายในเรือนจำได้ ไม่พบปัญหาติดขัดอะไร ส่วนของแผนการสอบมหาวิทยาลัยนั้น ผู้แทนกระทรวงอุดมศึกษาฯ ชี้แจงว่า แนวทางการสอบเป็นอำนาจของมหาวิทยาลัยโดยตรงจะให้มีแนวทางการสอบแบบไหน อย่างไร

ในมุมมองของกรรมาธิการในเรื่องนี้มีความเห็นไปในทางเดียวกันทั้งหมดคือ ก้องต้องได้รับสิทธิในการเข้าถึงการศึกษาแม้ว่าจะอยู่ในเรือนจำก็ตามและมหาวิทยาลัยรามคำแหงต้องมาชี้แจงต่อกรรมาธิการอย่างละเอียดว่า เพราะเหตุใดถึงไม่สามารถให้ก้องสามารถสอบในเรือนจำได้ ทั้งนี้อาจมีรายละเอียดข้อสังเกตที่แตกต่างกันออกไปบ้างเช่น บางคนความกังวลเรื่องของเวลา หากล่าช้าอาจทำให้ก้องเสียสิทธิ์การเรียน บางไม่เห็นด้วยหากโอนหน่วยกิตของก้องไปเทียบมหาวิทยาลัยอื่น บางคนกังวลหากมหาวิทยาลัยรามคำแหงไม่ให้สิทธิการสอบอาจทำให้เกิดการประพฤติมิชอบได้ เป็นต้น

สิริลภัส กองตระการ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานครได้เข้าร่วมประชุมด้วย เธอบอกว่า ในฐานะที่เป็นผู้แทนในพื้นที่ดังกล่าวจึงอยากเสนอเป็นตัวกลางระหว่างกรรมาธิการฯและมหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยจะยื่นหนังสือและเจรจากับอธิการบดีมหาวิทยาลัยเพื่อให้ก้องได้รับสิทธิการสอบ 

นอกจากนี้เธอยังได้รับข้อมูลมาว่า สาเหตุของการไม่ให้สิทธิการสอบนั้นอาจมาจากกลัวเกิดการรั่วไหลของข้อสอบ ส่วนตัวมองว่าเมื่อสอบในเรือนจำแล้ว การรั่วไหลอาจเกิดขึ้นได้ยากเพราะเป็นพื้นที่ปิด ต่อมาตัวแทนนักศึกษารามคำแหงบอกว่า การสอบนอกสถานที่สามารถทำได้ อย่างช่วงการแพร่ระบาดของ Covid -19 มหาวิทยาลัยเคยให้มีการสอบผานทางออนไลน์และสอบผ่านการส่งไปรษณีย์มาแล้วอีกด้วย

ท้ายสุดที่ประชุมเห็นพ้องต้องกันให้มีการดำเนินการดังต่อไปนี้

1. ทางกรรมาธิการฯ จะทำหนังสือเชิญทางมหาวิทยาลัยรามคำแหงอีกครั้ง ทั้งในส่วนของสภามหาวิทยาลัยและอธิการบดีเข้ามาชี้แจงที่ประชุมในเรื่องนี้

2. ให้กระทรวงอุดมศึกษาฯ และกรมราชทัณฑ์ทำหนังสือข้อเสนอแนะส่งไปยังมหาวิทยาลัยในเรื่องสิทธิการสอบของผู้ต้องหาในเรือนจำ

3. ให้ สส.สิริลภัส กองตระการในฐานะสส.ในพื้นที่คอยเป็นคนกลางประสานระหว่างมหาวิทยาลัยและกรรมาธิการฯ

4. กระทรวงอุดมศึกษาฯ รับประเด็นเรื่องสิทธิการสอบของผู้ต้องหาไปคิดนโยบายและแนวทาง เพื่อให้เกิดบรรทัดฐานต่อมหาวิทยาลัยทั่วประเทศต่อไป

📍ร่วมรณรงค์

JOIN : ILAW CLUB

ช่องทางการติดตาม

FACEBOOK PAGE

วิดีโอแนะนำ

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage