สรุปเสวนา “เขียนผืนแผ่นดินเป็นรัฐธรรมนูญ” ภาคประชาชนยันเขียนใหม่ทั้งฉบับ #เลือกตั้งสสร. 100%

วาระการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ถูกหยิบยกขึ้นมาประเด็นอีกครั้งหลังรัฐสภามีนัดสำคัญที่จะพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 256 เพื่อเดินหน้าสู่การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ในวันที่ 13 – 14 กุมภาพันธ์ 2568 

3 กุมภาพันธ์ 2568 ขบวนการประชาธิปไตย (Isaan Democracy Movement) จัดวงเสวนา “เขียนผืนแผ่นดินเป็นรัฐธรรมนูญ : เขียนใหม่ทั้งฉบับ ยึดโยงกับประชาชน” ที่ห้องบรรยาย 1 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมีวิทยากรร่วมแลกเปลี่ยนในวงเสวนาได้แก่ ไพฑูรย์ สร้อยสด สมัชชาคนจน ภรณ์ทิพย์ สยมชัย เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ ณัฐวุฒิ กรมภักดี คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)ภาคอีสาน สราวุธ ศรีวัง เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) และณัฐปกร นามเมือง เครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ (CALL) ดำเนินรายการโดยพงศธรณ์ ตันเจริญ ร่วมแลกเปลี่ยนถึงเส้นทางการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ โดยผู้ร่วมเสวนาเห็นพ้องต้องกันว่าการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่จะต้องเขียนใหม่ได้ทั้งฉบับและประชาชนจะต้องได้เลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) เพื่อเป็นตัวแทนประชาชนเข้าไปทำหน้าที่เขียนรัฐธรรมนูญใหม่

รัฐธรรมนูญ 2560 เหมือนบ้านที่เราไม่ได้ออกแบบ

ณัฐวุฒิ กรมภักดี จากคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ภาคอีสาน กล่าวถึงภาพรวมปัญหาของรัฐธรรมนูญ 2560 ว่า ถ้าเปรียบประเทศเป็นบ้าน เราจะพอใจหรือไม่ถ้าบ้านที่เราอยู่ไม่ได้ถูกออกแบบโดยพวกเรา เราไม่ได้กำหนดว่าอยากอยู่บ้านแบบไหน นี่คือปัญหาสำคัญของรัฐธรรมนูญ 2560 ถ้าเราเชื่อว่ารัฐธรรมนูญคือความเชื่อมโยงของชีวิต โดยที่ปัญหาของประชาชนจะถูกแก้ไขภายใต้กฎหมายโดยที่ประชาชนมีส่วนร่วม เราต้องเริ่มด้วยการรื้อโครงสร้างบ้านหลังนี้ใหม่ นอกจากการวางโครงสร้างบ้านแล้วก็ยังมีการวางกลไกที่บิดเบี้ยว เช่น การมีวุฒิสภาที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ศาลรัฐธรรมนูญที่ขวางเจตจำนงของประชาชน เป็นต้น

มากไปกว่านั้น ในอดีตพี่น้องชาวบ้านที่ลุกขึ้นประท้วงกับการถูกละเมิดสิทธิจากรัฐก็มักจะใช้มาตราในรัฐธรรมนูญฉบับเก่าเพื่อต่อสู้ในชั้นศาลปกครอง ราวกับว่ารัฐธรรมนูญคุ้มครองสิทธิอยู่บ้าง แต่ในรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่มีความคุ้มครองนี้ กลายเป็นไม่ใช่สิทธิของประชาชน

หากถามว่าเห็นปัญหาเหล่านี้แล้วจะต้องทำอย่างไรต่อไป ถ้าเราอยากมีชีวิตที่ดีขึ้น อยากมีบ้านอยู่ อยากมีอากาศสะอาด เราต้องเปลี่ยนการเมืองให้มารับใช้ประชาชน รัฐธรรมนูญต้องเป็นเครื่องมือเพื่อให้ประชาชนมีชีวิตที่ดี เราต้องเขียนรัฐธรรมนูญใหม่โดยประชาชนจะต้องมีส่วนร่วม ให้รัฐธรรมนูญสามารถเขียนใหม่ได้ทุกหมวดทุกมาตราและมี สสร. มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน ไม่ใช่ให้คนไม่กี่กลุ่มมาเขียนแทนประชาชน ณัฐวุฒิกล่าวทิ้งท้าย

ด้านไพฑูรย์ สร้อยสด จากสมัชชาคนจน เสริมว่า รัฐธรรมนูญควรจะรับรองและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่ปัจจุบันรัฐธรรมนูญ 2560 มุ่งเน้นไปที่ความมั่นของรัฐ คุ้มครองชนชั้นนำและนายทุน และกฎหมายต่างๆ ที่ออกมาตามรัฐธรรมนูญ 2560 ล้วนแต่เป็นการรวบอำนาจ กระชับอำนาจไปที่ส่วนกลางเสียส่วนใหญ่ สมัชชาคนจนเห็นว่าเราไม่สามารถจะอยู่ในสภาพการเมืองแบบนี้ได้ จึงจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับคนจน ที่รวบรวมความเห็นจากพี่น้องในเครือข่ายที่มีต่อการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ผู้คนมักจะคิดว่ารัฐธรรมนูญต้องให้นักวิชาการหรือนักกฎหมายเข้ามาเขียน เพราะมันยากเกินกว่าที่ประชาชนจะแตะต้องได้ แต่เราเห็นว่ารัฐธรรมนูญชาวบ้านก็เขียนได้ คนทั่วไปก็เขียนได้ และไม่จำเป็นต้องใช้ถ้อยคำวิเศษวิโส

รัฐธรรมนูญที่ดีต้องมีจุดเริ่มต้นจากประชาชน

ณัฐปกร นามเมือง จากเครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ (Constitution Advocacy Alliance : CALL) กล่าวถึงกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ว่า เวลาคุยกับคนทั่วไปถ้าบอกว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด ใจความก็จะจลอยู่แค่นั้น แต่หากบอกว่ารัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือในการจัดการรัฐไม่ให้ละเมิดสิทธิของประชาชน จะทำให้เห็นมิติที่ประชาชนมีส่วนร่วมกับกระบวนการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ด้วย

ในอดีตรัฐธรรมนูญ 2540 หลังวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่นำไปสู่การปฏิรูปการเมือง เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่เปิดโอกาสให้คนนอกได้เข้ามาร่างรัฐธรรมนูญแม้ว่าจะไม่ได้มาจากการเลือกตั้งก็ตาม ใน สสร. ชุดนั้นส่วนหนึ่งใช้วิธีการเลือกกันเองในจังหวัดแล้วให้รัฐสภาเลือก อีกส่วนหนึ่งคือนักวิชาการนักกฎหมายต่างๆ เรื่องที่สำคัญมากและคนไทยหวงแหนอย่างยิ่งในรัฐธรรมนูญ 2540 คือระบบประกันสุขภาพ ที่ระบุให้คนไทยมีสิทธิเสมอภาคกันในการรับบริการสาธารณสุข ซึ่งเป็นการจัดรูปความสัมพันธ์ของรัฐกับประชาชนว่าประชาชนจะต้องมีความเท่าเทียมกัน นี่เป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่าทำไมรัฐธรรมนูญ 2540 อยู่ในใจของประชาชน

ในรัฐธรรมนูญ 2560 สิทธิสุขภาพเสมอกันก็หายไป หรืออย่างในประเด็นที่อยู่อาศัย ก็ตัดคำว่า “มีสิทธิที่จะได้รับความช่วยเหลือ” ออก หรือการตัดคำว่า ค่าแรงที่ “เป็นธรรม” ออก รวมถึงสิทธิในการอยู่อาศัยในสิ่งแวดล้อมที่ดีด้วย เราก็จะเห็นว่ารัฐธรรมนูญ 2560 ลดทอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนลง แล้วจะแก้ปัญหาอย่างไร ถ้าแก้รายมาตราก็ต้องแก้สองร้อยกว่ามาตรา เหมือนการซ่อมบ้าน ทุบสร้างใหม่ง่ายกว่า

ในอดีตเราเคยมีรัฐธรรมนูญที่ดีเพราะมันมีส่วนร่วมจากประชาชน ซึ่งอาจเป็นตัวชี้วัดได้ เพราะในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ประชาชนไม่มีส่วนร่วมเลยแม้แต่น้อยกลับสร้างปัญหาได้มากมายขนาดนี้ ดังนั้น รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะต้องให้ประชาชนเข้าไปร่าง ประชาชนเข้าใจปัญหาของตัวเองและรู้ว่าตัวเองต้องการอะไร ให้ประชาชนที่พร้อมและมีความมุ่งมั่นไปเป็นตัวแทนของประชาชนในการร่างผ่านการเลือกตั้ง และคนที่เป็นตัวแทนไปร่างก็ต้องกลับมารับฟังความคิดเห็นจากประชาชนว่ากำลังจะเขียนรัฐธรรมนูญไปในทิศทางไหนก่อนที่จะลงประชามติให้ความเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนั้น

ป่าไม้ ที่ดิน เหมืองแร่ ปัญหาเรื้อรังของรัฐธรรมนูญ 2560

ภรณ์ทิพย์ สยมชัย จากเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ อธิบายปัญหารัฐธรรมนูญ 2560 กับประเด็นเหมืองแร่ว่า ตั้งแต่การรัฐประหาร 2557 เป็นต้นมา รัฐเขียนกฎหมายเกี่ยวกับแร่ขึ้นใหม่ ก่อนหน้านี้ในรัฐธรรมนูญ 2540 ระบุไว้ชัดเจนว่าห้ามทำเหมืองแร่ในพื้นที่บริเวณลุ่มน้ำหรือเขตป่าสงวน แต่ในสมัยคณะรัฐประหารก็เขียนกฎหมายขึ้นมาใหม่ให้ทำในลุ่มน้ำหรือเขตป่าสงวนหรืออุทยานได้ ตอนนี้รัฐพยายามทำให้มีเหมืองทั่วประเทศ เช่น สตูล อุดรธานี หรือสระบุรี กลายเป็นว่าผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ต้องได้รับผลกระทบจากการทำเมืองกลับไม่ได้เป็นผู้เขียนรัฐธรรมนูญแม้แต่มาตราเดียว สิ่งที่เราทำได้คือการไป “ประท้วง” ดังนั้นประชาชนจึงควรที่จะเขียนรัฐธรรมนูญใหม่เองได้ด้วยตัวเองและเขียนใหม่ได้ทั้งฉบับ

ด้านณัฐวุฒิ กรมภักดี จากเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน กล่าวถึงประเด็นรัฐธรรมนูญกับประเด็นป่าไม้ที่ดินว่า ในอดีตรัฐพยายามที่จะบริหารจัดการป่าไม้หรือที่ดินโดยไม่มีโอกาสที่ประชาชนจะเข้าไปมีส่วนร่วมเลยแม้แต่น้อย รัฐจะให้ใครก็ขึ้นอยู่กับรัฐและเขียนกฎหมายออกมาเพื่อรองรับโดยไม่ได้ถามชาวบ้านเลย เรานอนอยู่ดีๆ อาจกลายเป็นบุกรุกที่ดินป่าไม้ได้ รัฐธรรมนูญ 2560 มาพร้อมกับแผนทวงคืนผืนป่าซึ่งทำให้พี่น้องที่มีคดีความพิพาทกับรัฐกว่า 48,000 คดี ดังนั้นการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่จึงเป็นการคืนสิทธิของเราคืนมา โดยเฉพาะยิ่งการให้ชุมชุนได้มีตัวตน มีประวัติชุมชนและสามารถให้ชุมชนเป็นอีกหนึ่งแหล่งข้อมูลที่รับรองที่ดินได้ ไม่ควรมีแต่หลักฐานจากฝ่ายรัฐเพียงอย่างเดียว

รับชมไลฟ์ย้อนหลังเสวนา “เขียนผืนแผ่นดินเป็นรัฐธรรมนูญ : เขียนใหม่ทั้งฉบับ ยึดโยงกับประชาชน” ได้ที่ https://www.facebook.com/IsaanRecordThai/videos/934585305328746

RELATED TAGS

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage