กมธ.กฎหมายฯรับเรื่อง #ก้องต้องได้สอบ เป็นวาระเร่งด่วน นัดสอบข้อเท็จจริงกับม.ราม วันที่ 5 ก.พ. นี้

29 มกราคม 2568 เวลา 13.00 น. ที่รัฐสภา นักกิจกรรมนำโดยอาภัสรา ตรวจนอก และศุกลวัฒน์ ธนาสิริกุลพงศ์ รักษาการประธานสภานักศึกษา ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎรเพื่อเรียกร้องให้ก้อง-อุกฤษฏ์ สันติประสิทธิ์กุลสามารถสอบภายในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครได้ ก้องเป็นนักศึกษากฎหมาย มหาวิทยาลัยรามคำแหง และนักกิจกรรมทางการเมืองจากกลุ่มทะลุราม  เขาถูกกล่าวหาในคดีมาตรา 112 สองคดี ซึ่งมีโทษจำคุกรวมเจ็ดปี 30 เดือน หรือประมาณเก้าปีกับหกเดือน วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 หลังศาลอาญาอ่านคำพิพากษาอุทธรณ์คดีมาตรา 112 คดีที่สอง ก้องก็ไม่ได้รับการประกันตัวนับแต่นั้น

ก้องเริ่มเข้าเรียนที่คณะนิติศาสตร์ในปี 2561 และหากเก็บหน่วยกิตไม่ครบเขามีโอกาสที่จะพ้นสภาพนักศึกษาตามโควต้าการลงทะเบียนเรียน (ไม่เกิน 8 ปี) ก่อนเข้าเรือนจำเขาเหลือวิชาที่จะสอบให้ผ่านเพื่อจบการศึกษาอีกสามวิชาได้แก่วิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมืองและกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 1-2 ในเดือนตุลาคม 2567 ระหว่างที่ก้องถูกคุมขัง เขาเขียนคำร้องขอให้อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหงพิจารณาการจัดสอบปลายภาคในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร “เพื่อมอบโอกาสให้กระผมได้จบการศึกษาปริญญาด้วย” นอกจากนี้ยังยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเพื่อให้ประสานสิทธิการสอบปลายภาคในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯให้ด้วย

ระหว่างนี้การสอบดำเนินไปทำให้ก้องตัดสินลงทะเบียนสอบซ่อมแทน โดยวันที่ 24 ธันวาคม 2567 ก้องยื่นคำร้องถึงคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหงระบุว่า เขาได้ลงทะเบียนสอบซ่อมและมีกำหนดสอบวันที่ 23-28 มกราคม 2567 ย้ำว่า หากไม่สามารถสอบซ่อมได้จะกระทบต่อการจบการศึกษา ต่อมาวันที่ 25 ธันวาคม 2567 รศ.นพคุณ คุณาชีวะ รองอธิการบดีฝ่ายนโยบายและแผน กรรมการสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง รักษาราชการแทนคณบดีคณะนิติศาสตร์ส่งหนังสือแจ้งผลคำร้องขอสอบในเรือนจำระบุว่า พิจารณาแล้วมีมติไม่อนุมัติ 

สำหรับในวันนี้ก้องยื่นคำร้องถึงประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมายฯ ระบุว่า 

กระผมอุกฤษฏ์ สันติประสิทธิ์กุล เป็นนักศึกษาปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง กระผมได้มีการลงทะเบียนสอบซ่อมภาคเรียนที่  1 ปีการศึกษา 2567 และมีกำหนดการสอบซ่อมดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 23-28 มกราคม พ.ศ. 2568 ตอนนี้กระผมถูกขังในคดีการเมือง ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ณ เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร และกระผมเหลืออีก 3 วิชา [วิชาวิธีพิจารณาความแพ่ง 1 LAW 3005 สอบวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2568, วิชาวิธีพิจารณาความแพ่ง 2 LAW 3007 สอบวันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2568, วิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง LAW 4003 สอบวันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2568] จะจบการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยกระผมได้ยื่นคำร้องเรื่องกระผมขอสอบซ่อมดังกล่าวในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครกับทางมหาวิทยาลัยรามคำแหง แต่ล่าสุดทางมหาวิทยาลัยรามคำแหงได้ปฏิเสธคำร้องดังกล่าวของกระผม ส่งผลให้มีโอกาสสูงที่กระผมจะไม่ได้สอบซ่อมดังกล่าวแน่นอน หากกระผมไม่ได้สอบซ่อมดังกล่าวได้ ย่อมส่งผลกระทบต่อการจบการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์…การที่ไม่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์ ไม่ได้ส่งผลแค่กระผมในฐานะที่กำลังจะจบปริญญาตรี แต่ส่งผลกระทบถึงว่าที่นักกฎหมายในอนาคตด้วยที่ประเทศไทยต้องเสียทรัพยากรมนุษย์อันมีค่าที่จะไปพัฒนาประเทศไทยด้วย

ดังที่กล่าวมาข้างต้น กระผมอยากให้ทางคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนผลักดันสอบซ่อมภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2567 ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครแก่กระผมเพื่อมอบโอกาสให้กระผมได้จบการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และมอบโอกาสให้ว่าที่นักกฎหมายมีอนาคตที่ดีขึ้นเพื่อจะได้นำองค์ความรู้ที่ศึกษามาไปพัฒนาประเทศชาติด้วย”

ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ ตัวแทนจากคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน และ สส.พรรคประชาชน เป็นผู้มารับหนังสือและได้มีการแถลงว่า 

คณะกรรมมาธิการฯจะนำเรื่องการสอบของก้อง-อุกฤษฏ์ สันติประสิทธิ์กุลบรรจุเข้าเป็นวาระเร่งด่วน ในวันพุธที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2568 เวลา 9.30 น.เพื่อสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงไม่อนุมัติให้มีการสอบไล่ภายในเรือนจำ กรมราชทัณฑ์เองก็เคยแจ้งกับคณะกรรมาธิการฯว่าทางกรมราชทัณฑ์มีแนวนโยบายที่จะให้ผู้ต้องขังทุกคนได้รับการศึกษาเพื่อที่จะออกไปแล้วประกอบอาชีพได้ ดังนั้นจึงไม่ติดขัดเลยหากจะมีการสอบในเรือนจำ จะเป็นที่ทางมหาวิทยาลัยรามคำแหงเองที่ไม่ได้มีการอนุมัติในครั้งนี้ จึงอยากให้ทางมหาวิทยาลัยออกมาชี้แจงว่ามติที่ไม่ได้รับการอนุมัติมีสาเหตุมาจากอะไร เพราะโดยปกติแล้วทางมหาวิทยาลัยจะต้องมุ่งมั่นให้นักศึกษาสามารถเรียนและสอบได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยรามคำแหงที่เป็นวิทยาลัยเปิด และกระทรวงอว. จะมีแนวทางหรือความคิดเห็นอย่างไรต่อเรื่องนี้

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage