คดีมาตรา 112 ของ ‘บังเอิญ’ กรณีโพสต์ภาพร. 10 และครอบครัว

ชวนจับตาคำพิพากษาคดีม. 112 คดีที่หนึ่งของ ‘บังเอิญ’ ศิลปินอิสระชาวขอนแก่น

29 มกราคม 2568 เวลา 9.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 703 ศาลอาญานัด ‘บังเอิญ’ ศิลปินอิสระชาวขอนแก่นวัย 26 ปีฟังคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 1901/2566 กรณีถูกกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมฯ จากการโพสต์ภาพรัชกาลที่สิบและครอบครัวพร้อมข้อความเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2565 

คดีมาตรา 112 ของ ‘บังเอิญ’ กรณีโพสต์ภาพร. 10 และครอบครัว

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2566 ‘บังเอิญ’ ถูกตำรวจจากกองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) จับกุมตามหมายจับของศาลอาญา โดยมีผู้ร้องทุกข์คือ อานนท์ กลิ่นแก้ว แกนนำศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) ซึ่งเห็นว่า มีลักษณะดูหมิ่น หมิ่นพระเกียรติรัชกาลที่สิบจึงมาร้องทุกข์ไว้ตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2565 ‘บังเอิญ’ ไม่เคยได้รับหมายเรียกในคดีนี้มาก่อน ทั้งนี้ตำรวจขอศาลออกหมายจับหลังเหตุการณ์พ่นสีที่กำแพงพระบรมมหาราชวังเพียงสองวัน เขาให้การปฏิเสธตั้งแต่ชั้นตำรวจมาจนถึงนัดสอบคำให้การในศาลอาญา  

วันที่ 28 มิถุนายน 2566 อัยการมีความเห็นสั่งฟ้อง ‘บังเอิญ’ ตามคำฟ้องระบุว่า ‘บังเอิญ’ โพสต์ภาพพื้นหลังของเฟซบุ๊กส่วนตัวของเขา เป็นภาพรัชกาลที่สิบและพระบรมวงศานุวงศ์ราชวงศ์จักรีพระองค์อื่นๆ มีการนำหน้ากากมาใส่บนพระพักตร์ของรัชกาลที่เก้าและรัชกาลที่สิบ รวมถึงพระบรมวงศานุวงศ์องค์อื่นๆ ประกอบคำบรรยายภาพ รูปภาพและข้อความทำให้ประชาชนเข้าใจว่า บุคคลในภาพเสียสติคล้ายคนบ้า ใช้อำนาจมนต์ดำ ใช้อำนาจมืดปกครองบ้านเมือง

คดีนี้ศาลนัดสืบพยานโจทก์และจำเลยวันที่ 26 และ 27 พฤศจิกายน 2567 ก่อนศาลมีนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 29 มกราคม 2568 ‘บังเอิญ’ ถูกกล่าวหาตามมาตรา 112 รวมสองคดี อีกคดีหนึ่งมีอานนท์เป็นผู้ร้องทุกข์เช่นเดียวกัน เหตุจากการโพสต์รูปภาพตนเองขณะยืนอยู่ใกล้แท่นด้านหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่สิบและพระราชินี โดยใช้มือซ้ายถือรองเท้าหนึ่งข้างหันไปทางบริเวณด้านหน้าพระบรมฉายาลักษณ์

นอกจากนี้ยังมีคดีการเมืองอื่นๆ อีกสามคดี โดยคดีที่เป็นที่รู้จักคือ คดีพ่นสีกำแพงพระบรมมหาราชวังในเดือนมีนาคม 2566 วันเกิดเหตุเขาตั้งใจจะพ่นสีเป็นสัญลักษณ์ Anarchy 112 ขีดฆ่าและ PEOPLE พ่นไปได้สองส่วนแรก กำลังจะพ่นคำว่า PEOPLE แต่ถูกจับเสียก่อน คดีนี้ศาลอาญาพิพากษาว่า มีความผิดตามพ.ร.บ.ความสะอาดฯ และพ.ร.บ.โบราณสถานฯ ลงโทษบทหนักที่สุดคือ พ.ร.บ.โบราณสถานฯ จำคุกหนึ่งปี ลดเหลือแปดเดือน

คำพิพากษา

20250129-News

29 มกราคม 2568 เวลา 09.00 ห้องพิจารณาคดีที่ 703 ศาลอาญานัด ‘บังเอิญ’ ฟังพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อ.1901/2566 กรณีโพสต์รูปภาพครอบครัวของรัชกาลที่ 10 พร้อมข้อความเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2565 ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์(พ.ร.บ.คอมฯ) มีมวลชนมาร่วมรับฟังการพิจารณาคดีและให้กำลังใจ ‘บังเอิญ’จำนวนหนึ่ง

เวลา 09.20 น. ศาลออกนั่งบัลลังก์และเริ่มอ่านคำพิพากษาในเวลา 09.25 น. โดยมีใจความว่าเนื่องจากพยานโจทก์ทั้งสามคนล้วนเบิกความตรงกันว่าภาพและข้อความของจำเลยเป็นการดูหมิ่นรัชกาลที่ 10 อีกทั้งคมสันต์และกัญจ์บงกชซึ่งเป็นบุคคลทั่วไปยังให้การต่อพนักงานสอบสวนในทำนองเดียวกันกับพยานโจทก์อีกสามคน

เมื่อพิจารณาภาพที่จำเลยดัดแปลงจากต้นฉบับเห็นด้วยว่าจำเลยทำให้เป็นภาพขาวดำ ใช้สีดำตกแต่งพระพักตร์รัชกาลที่ 10 และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ดูน่ากลัวแตกต่างจากต้นฉบับที่เป็นภาพสีที่งดงาม พร้อมทั้งใส่ชื่อภาพว่า “วิปลาส อำนาจ มนต์ดำ” พร้อมกับข้อความเผด็จการจงพินาศประชาราษฎร์จงเจริญ และยกเลิก 112 เป็นต้น

แสดงว่ารูปภาพและข้อความดังกล่าว จำเลยต้องการสื่อให้ประชาชนทั่วไปที่มาเห็นเข้าใจว่า รัชกาลที่ 10 ใช้อำนาจประมุขคลาดเคลื่อน ใช้อำนาจมนต์ดำและเป็นเผด็จการ ทั้งที่กษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะของคนไทย จึงเชื่อได้ว่าจำเลยทำเพื่อใส่ความรัชกาลที่ 10 โดยเฉพาะข้อความ “ยกเลิก 112” จำเลยเบิกความว่าต้องการให้แก้ไข-ยกเลิก 112 ซึ่งเป็นข้อหาตามฟ้อง ชี้ให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาดูหมิ่นรัชกาลที่ 10

ศาลพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมฯ ให้ลงโทษตามมาตรา 112 ซึ่งเป็นโทษที่หนักที่สุด จำคุกสี่ปี ทางนำสืบมีประโยชน์ ลดโทษให้หนึ่งในสี่ คงจำคุกสามปี และให้เพิ่มโทษจำคุกหกเดือนสิบวัน จากคดีหมายเลขแดง อ.49/2564 (คดีส่วนตัว) ที่รอการลงโทษไว้ที่ศาลจังหวัดขอนแก่น รวมโทษจำคุกเป็นสามปี หกเดือน สิบวัน ไม่รอลงอาญา และให้นับโทษต่อจากคดี อ.1803/2566 ของศาลนี้ 

เวลาประมาณ 09.40 ตำรวจศาลเข้าควบคุมตัว‘บังเอิญ’ และนำตัวลงไปยังห้องเวรชี้เพื่อรอการประกันตัวระหว่างยื่นอุทธรณ์คดี

RELATED TAGS

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage