วงวิชาการถก กฎหมายสมรสเท่าเทียมใช้บังคับแล้ว ต้องแก้ไขกฎหมายอีกหลายฉบับ รับรองสิทธิหน้าที่สถานะคู่สมรส

22 มกราคม 2568 เวลา 13.00 – 16.00 น. ศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานเสวนาทางวิชาการหัวข้อ “กฎหมายอาญาและกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเมื่อกฎหมายสมรสเท่าเทียมประกาศใช้” ณ ห้องจิตติ ติงศภัทิย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) เพื่อพูดคุยถึงประเด็นทางกฎหมายอาญาและวิธีพิจารณาความอาญา หลังจากพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567 หรือกฎหมายสมรสเท่าเทียม มีผลบังคับใช้

สิทธิหน้าที่และสถานะของ สามี-ภริยา นั้น ไม่ได้กำหนดไว้เพียงแต่ในบทบัญญัติว่าด้วยครอบครัวแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เท่านั้น แต่กฎหมายอื่นๆ อีกหลายฉบับก็เกี่ยวพันกับสิทธิหน้าที่ สถานะ ความรับผิดระหว่างคู่สมรส ซึ่งในกฎหมายเหล่านั้น บทบัญญัติบางมาตรา บางเรื่อง ก็กำหนดสิทธิหน้าที่หรือสถานะของสามี-ภริยา แตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 4 วรรคสอง กำหนดให้สามีฟ้องคดีอาญาแทนภริยาหากได้รับความยินยอมจากภริยา แต่ในทางกลับกัน ภริยาไม่สามารถฟ้องคดีอาญาแทนสามีได้ ส่งผลสืบเนื่องต่อไปว่า แม้จะแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เพื่อรับรองสมรสเท่าเทียมแล้ว แต่คู่สมรสตามกฎหมายแพ่งแก้ไขใหม่นี้ก็อาจมีสิทธิหน้าที่สถานะบางประการที่กำหนดสิทธิหน้าที่สามี-ภริยาแตกต่างกันไม่เหมือนกับคู่สมรสสามี-ภริยา ตามกฎหมายเก่า จนกว่าภาครัฐจะดำเนินการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

วงเสวนานี้ ประกอบด้วยผู้ร่วมแลกเปลี่ยนสามราย คือศ.สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปรีญาภรณ์ อุบลสวัสดิ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคนันท์ ชัยชนะ นักกฎหมายกฤษฎีกาชำนาญการพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา พูดคุยถึงประเด็นปัญหาการตีความประมวลกฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยเฉพาะในบทบัญญัติที่อ้างถึงสามี ภริยา บิดา มารดา บุตร ซึ่งสัมพันธ์กับกฎหมายสมรสเท่าเทียม

#สมรสเท่าเทียม แก้กฎหมายแพ่ง ใช้คำที่เป็นกลางทางเพศ

คนันท์ ชัยชนะ นักกฎหมายกฤษฎีกาชำนาญการพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เริ่มต้นการเสวนา โดยกล่าวถึงที่มาที่ไปและเส้นทางการยกร่างของกฎหมายสมรสเท่าเทียมที่ประเทศไทยมีพัฒนาการทางกฎหมายคล้ายคลึงกับประเทศเยอรมนี โดยเริ่มต้นจากความพยายามจากการผลักดันร่างกฎหมาย “คู่ชีวิต” ซึ่งเป็นระบบคู่ขนานกับ “คู่สมรส” ขึ้นมาใช้บังคับก่อน สิทธิและหน้าที่ระหว่างทั้งสองระบบยังไม่เท่าเทียมกัน ก่อนจะพัฒนามาเป็นร่างกฎหมายที่แก้ไขนิยามของคู่สมรสจาก “ชาย-หญิง” เป็น “บุคคล” ทำให้ทุกคนไม่ว่าเพศสภาพใดก็สามารถสมรสกันได้

กฎหมายสมรสเท่าเทียม มีหลักการสำคัญเพียงหลักการเดียว คือ การทำให้กฎหมายให้มีความเป็นกลางทางเพศ ตรงไหนเป็นชาย-หญิง ก็เปลี่ยนเป็นบุคคลให้หมด สามารถสรุปสาระสำคัญอย่างย่อได้สี่ประการ ได้แก่

  1. แก้ไขเงื่อนไขการสมรส จากเดิมกำหนดให้การสมรส มีเพียง “ชาย” และ “หญิง” เท่านั้นที่สามารถทำได้ เป็น “บุคคล” ไม่ว่าจะมีเพศใดก็สามารถสมรสกันได้ และเพิ่มเงื่อนไขด้านอายุขั้นต่ำในการจดทะเบียนสมรสจาก 17 ปี เป็น 18 ปี
  2. แก้ไขถ้อยคำในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ให้มีความเป็นกลางทางเพศ จาก “สามี-ภริยา” เป็น “คู่สมรส”
  3. แก้ไขเนื้อหาในบางมาตราให้สอดคล้องและครอบคลุมกับความสัมพันธ์ที่หลากหลาย เช่น เหตุฟ้องหย่า นิยามของการร่วมประเวณี 
  4. แก้ไขมาตราที่ออกแบบมาเพื่อใช้กับเพศชายและหญิง ด้วยเหตุผลทางด้านชีวภาพโดยเฉพาะ ให้มีความรัดกุมในการบังคับใช้มากยิ่งขึ้น เช่น การกำหนดให้ผู้หญิงต้องมีระยะรอคอย 310 วันหลังการสมรสครั้งก่อนสิ้นสุดลงหรือคลอดบุตรก่อน จึงจะสามารถสมรสใหม่ได้ 

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับกฎหมายสมรสเท่าเทียม

แก้ไขกฎหมายแพ่ง กระทบกฎหมายอาญา บทบัญญัติบางมาตราอาจมีปัญหาการตีความ

ศ.สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งข้อสังเกตว่า การแก้ไขกฎหมายสมรสเท่าเทียมในปัจจุบัน แก้ไขเพียงเฉพาะส่วนของความสัมพันธ์ระหว่าง “คู่สมรส” ในกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เท่านั้น แต่ยังไม่ได้มีการแก้ไขหรือบัญญัติถึงความสัมพันธ์ระหว่างคู่สมรสต่อบุคคลที่สามหรือบุคคลภายนอก ทำให้เกิดปัญหาในการตีความกฎหมายฉบับอื่นๆ ที่ยังคงใช้ถ้อยคำว่า “สามี-ภริยา” อยู่ โดยเฉพาะสิทธิและผลประโยชน์เกี่ยวกับทรัพย์สินหรือสวัสดิการต่างๆ ตลอดจนถึงสถานะในกฎหมายอาญา

แม้กฎหมายสมรสเท่าเทียมจะมีมาตรา 67 ซึ่งกำหนดให้กฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ข้อกำหนด ข้อบัญญัติ ประกาศ คำสั่ง หรือมติคณะรัฐมนตรีใดที่อ้างถึง “สามี ภริยา หรือสามีภริยา” ให้ถือว่าอ้างถึง “คู่สมรสที่จดทะเบียนสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ตามที่ได้แก้ไขเพิ่มเติมนี้ด้วย” จะทุเลาปัญหาไปได้บ้าง แต่ก็ยังคงมีประเด็นอยู่ โดยเฉพาะในกฎหมายอาญาที่เกี่ยวข้องกับสถานะของ “บิดามารดา” “บุพการี” และ “เครือญาติ” ทั้งไม่นับรวมถึงความสลับซับซ้อนที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยีทางการแพทย์และการเจริญพันธุ์ เช่น การอุ้มบุญ ซึ่งกฎหมายยังมีเนื้อหาครอบคลุมแค่เฉพาะเพศชายและหญิงเท่านั้น 

สำหรับผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประมวลกฎหมายอาญา ศ.สุรศักดิ์ แบ่งออกเป็นสองส่วน ดังนี้ 

ส่วนที่หนึ่ง บทบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญาที่ได้รับผลกระทบจากการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่ยังสามารถตีความปรับไปตาม มาตรา 67 ของกฎหมายสมรสเท่าเทียม โดยคู่สมรสตามกฎหมายใหม่มีสถานะเดียวกับสามีภริยาตามประมวลกฎหมายอาญา

  1. มาตรา 71 วรรคหนึ่ง : เหตุยกเว้นโทษในความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ ได้แก่ ความผิดฐานลักทรัพย์ ความผิดฐานฉ้อโกง ความผิดฐานยักยอกทรัพย์ ความผิดฐานรับของโจร ความผิดฐานบุกรุก ที่สามี-ภริยา เป็นผู้กระทำต่ออีกฝ่าย คู่สมรสตามกฎหมายสมรสเท่าเทียมหากกระทำความผิดดังกล่าวต่อคู่สมรสอีกฝ่าย ย่อมสามารถใช้เหตุยกเว้นโทษเพื่อไม่ต้องรับโทษได้เช่นเดียวกัน
  2. มาตรา 193 : เหตุยกเว้นโทษสำหรับผู้ที่กระทำความผิดฐานทำลายพยานหลักฐานในการกระทำความผิด ตามมาตรา 184 ความผิดฐานช่วยให้ที่พำนักหรือซ่อนเร้นผู้กระทำความผิด ตามมาตรา 189 ความผิดฐานให้พำนัก ซ่อนเร้น หรือช่วยผู้หลบหนีจากการคุมขัง ตามมาตรา 192 หากกระทำไปเพื่อช่วยสามีหรือภริยา ศาลจะไม่ลงโทษก็ได้ บทบัญญัตินี้ก็นำไปใช้กับคู่สมรสตามกฎหมายสมรสเท่าเทียม  
  3. 214 วรรคสอง : ความผิดฐานเป็นธุระจัดหาที่พำนัก ที่ซ่อนเร้น หรือที่ประชุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชน หากกระทำไปเพื่อช่วยสามีหรือภริยา ศาลจะไม่ลงโทษก็ได้ บทบัญญัตินี้ก็นำไปใช้กับคู่สมรสตามกฎหมายสมรสเท่าเทียม  
  4. มาตรา 276 วรรคสี่ : ความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา หากเป็นการกระทำความผิดระหว่างคู่สมรส และคู่สมรสนั้นยังประสงค์จะอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดเท่าใดก็ได้
  5. มาตรา 277 : ความผิดฐานกระทำชำเราเด็กซึ่งมิใช่ภริยาหรือสามีของตน คู่สมรสตามกฎหมายแพ่งแก้ไขใหม่ ก็อยู่ในนิยามคำว่าสามีภริยาตามมาตรานี้เช่นกัน

ส่วนที่สอง บทบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญาที่ได้รับผลกระทบจากการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และอาจเกิดปัญหาในการตีความ ส่วนมากเป็นบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างผู้เยาว์และบิดามารดาหรือความสัมพันธ์ทางเครือญาติ 

  1. มาตรา 71 วรรคสอง : : เหตุยกเว้นโทษในความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ ได้แก่ ความผิดฐานลักทรัพย์ ความผิดฐานฉ้อโกง ความผิดฐานยักยอกทรัพย์ ความผิดฐานรับของโจร ความผิดฐานบุกรุก ที่กระทำระหว่างบุพการี ผู้สืบสันดาน หรือพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
  2. มาตรา 77 : วิธีการสำหรับเด็กที่กำหนดให้ศาลอาจใช้ดุลยพินิจมีคำสั่งให้บิดามารดา หรือผู้ปกครอง ชำระเงินค่าปรับจากกการที่เด็กฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ศาลกำหนด
  3. มาตรา 193 และ 214 วรรคสอง : เหตุยกเว้นโทษหากกระทำเพื่อช่วยบิดา มารดา บุตร
  4. มาตรา 285 : การกระทำความความผิดทางเพศระหว่างเครือญาติ ต้องรับโทษหนักขึ้น
  5. มาตรา 289 (1) : ความผิดฐานฆ่าบุพการี

ป.วิอาญาฯ บางมาตราชาย-หญิง สิทธิไม่เท่ากัน คู่สมรสตามกฎหมายใหม่ยังไม่มีสิทธิจัดการคดีแทนคู่สมรส 

ปรีญาภรณ์ อุบลสวัสดิ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นทำนองเดียวกับ ศ.สุรศักดิ์ ว่าการแก้ไขแบบนี้จะทำให้เกิดปัญหาในการตีความกฎหมายอื่น รวมถึงประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญาฯ) ด้วย โดยเฉพาะในบทบัญญัติบางมาตราที่รายละเอียดที่เนื้อหายังสะท้อนความไม่เท่าเทียมกันระหว่างเพศตั้งแต่ต้น เช่น มาตรา 4 ที่ให้อำนาจ “สามี” เท่านั้น ที่สามารถฟ้องคดีแทน “ภริยา” ได้ โดยมีเงื่อนไขว่าต้องได้รับความยินยอมของ “ภริยา” ก่อน แต่ “ภริยา” จะไม่สามารถฟ้องคดีแทน “สามี” ได้ แม้ว่าจะได้รับความยินยอมแล้วก็ตาม ยกเว้นเสียแต่ว่าสามีคนนั้นจะถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้ หรือก็คือ ในทางสิทธิฟ้องร้องคดีแล้ว กฎหมายยังให้สถานะของสามีมากกว่าภริยา

ประกอบกับเมื่อพิจารณา มาตรา 67 วรรคสอง ของกฎหมายสมรสเท่าเทียม ที่กำหนดข้อยกเว้น ไม่ให้ตีความคำว่า “คู่สมรส” ตามกฎหมายนี้ไปใช้กับบรรดากฎหมายอื่นๆ ที่กำหนดให้สิทธิ หน้าที่ หรือสถานะของ “สามี-ภริยา” แตกต่างกัน ดังนั้นแล้ว ป.วิอาญาฯ มาตรา 4 ซึ่งสถานะอำนาจของสามี-ภริยามีไม่เท่ากัน บทบัญญัตินี้จึงถูกยกเว้นโดยผลของกฎหมายสมรสเท่าเทียม มาตรา 67 วรรคสองโดยปริยาย เป็นเหตุให้ “คู่สมรส” ที่ไม่ใช่ “ชาย-หญิง” ตามกฎหมายสมรสเท่าเทียม จะยังคงไม่มีสิทธิในการจัดการหรือฟ้องคดีแทนคู่สมรสของตน เรื่องนี้ ปรีญาภรณ์ยังมีข้อสังเกตต่อไปด้วยว่า บทบัญญัติดังกล่าวอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 29 ที่รับรองให้ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน

สำหรับผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ปรีญาภรณ์ แบ่งออกเป็นสองส่วน ดังนี้ 

ส่วนที่หนึ่ง บทบัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่ได้รับผลกระทบจากการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่ยังสามารถตีความปรับไปตาม มาตรา 67 ของกฎหมายสมรสเท่าเทียม โดยคู่สมรสตามกฎหมายใหม่มีสถานะเดียวกับสามีภริยาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

  1. มาตรา 29 : การดำเนินคดีแทนกันเมื่อสามี ภริยา ที่เป็นผู้เสียหาย เสียชีวิต
  2. มาตรา 55 : การส่งและรับหมายเรียกให้สามีภริยาของผู้ต้องหา
  3. มาตรา 90 วรรคหนึ่ง : การยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวสามีภริยา
  4. มาตรา 149 : การจัดการศพตายผิดธรรมชาติของสามีภริยา
  5. มาตรา 150 วรรคสอง : การแจ้งสามีหรือภริยาผู้ตายเพื่อดำเนินการชันสูตรพลิกศพ
  6. มาตรา 150 วรรคแปด : สิทธิที่เกี่ยวข้องกับการไต่สวนการตาย
  7. มาตรา 246 : การร้องขอให้ทุเลาการบังคับโทษจำคุก

ส่วนที่สอง บทบัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่ได้รับผลกระทบจากการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และอาจเกิดปัญหาในการตีความส่วนมากเป็นบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างบิดามารดาและบุตร เช่น 

  1. มาตรา 134 วรรคหนึ่ง : การสอบถามข้อมูลพื้นฐานของพนักงานสอบสวน
  2. สถานะของผู้สืบสันดานและบุพการี ตามมาตรา 5 วรรคสอง มาตรา 29 วรรคหนึ่ง และมาตรา 150 วรรคสองและวรรคแปด 

นักกฎหมายกฤษฎีกาชี้ กฎหมายเกี่ยวข้องกับสามี-ภริยามีจำนวนมาก หน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบต้องทบทวนเสนอแก้ไขต่อไป

คนันท์ อธิบายถึงสาเหตุของการขาดความชัดเจนดังกล่าว ว่าเกิดจากความตั้งใจของคณะผู้ร่างกฎหมายเอง ที่จะไม่แตะต้องบทบัญญัติเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบิดามารดาและบุตร เนื่องจากเห็นว่ามีความสลับซับซ้อนและกระทบกับบุคคลที่สาม ทั้งบทบัญญัติของกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เอง ยังคงตั้งอยู่บน “หลักสายโลหิต” ตามชีววิทยา แต่การรองรับความหลากหลายทางเพศนั้น จำเป็นต้องนำ “หลักความสัมพันธ์” เข้ามาใช้แทน ไม่นับรวมถึงปัจจัยด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์และการเจริญพันธุ์ คณะผู้ร่างฯ จึงเห็นควรให้หน่วยงานหรือภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เป็นผู้ลงมือแก้ไขส่วนของรายละเอียดให้สอดคล้องกันเองจะดีกว่า ส่วนคณะผู้ร่างฯ มุ่งเพียงแต่บัญญัติหลักการสำคัญเพื่อให้สิทธิทางเพศมีความเท่าเทียมกันโดยเร็วที่สุด 

ทั้งนี้ ในกระบวนการร่างกฎหมายเอง พบว่า กฎหมายที่มีการใช้ถ้อยคำเกี่ยวกับสามีภริยา มีจำนวนเท่าที่ตรวจพบกว่า 40 ฉบับ ไม่รวมถึงกฎหมายลำดับรองที่ไม่ทราบว่ามีจำนวนเท่าใด การร่างและแก้ไขกฎหมายต่างๆ ให้ครบถ้วนจึงไม่สามารถกระทำได้ภายในการร่างกฎหมายเพียงครั้งเดียว ทั้งอาจต้องผ่านการพิจารณาของรัฐสภาหลายครั้ง คณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและคณะผู้ร่างฯ พิจารณาชั่งน้ำหนักประเด็นนี้แล้ว จึงเลือกใช้แนวทางนี้ กล่าวคือ ให้มีบทบัญญัติมาตรา 67 ที่เขียนรับรองสิทธิหน้าที่ของคู่สมรสตามกฎหมายแพ่งแก้ไขใหม่ให้เหมือนสามี-ภริยาตามกฎหมายแพ่งเก่า ยกเว้นเรื่องที่กฎหมายกำหนดสิทธิสามี-ภริยาไว้แตกต่างกัน หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการทบทวนและเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อแก้ไขกฎหมายต่อไป

กฎหมายเกี่ยวกับสามี-ภริยากระจัดกระจาย นักวิชาการกังวล ประชาชนอาจไม่เข้าใจ-เสี่ยงเสียสิทธิ  

ปรีญาภรณ์และศ.สุรศักดิ์ ตั้งข้อกังวลเหมือนกันว่า ปัญหาสำคัญที่แท้จริงของแนวทางนี้ คือประชาชนอาจไม่เข้าใจ หรือต่อให้พยายามทำความเข้าใจ ก็เข้าใจได้ยาก เพราะการแก้ไขกฎหมายหลายส่วนที่กระจัดกระจายแบบนี้จะเข้าใจกันได้ก็เพียงแต่ในหมู่นักกฎหมายและผู้ศึกษาอย่างใกล้ชิดเท่านั้น กฎหมายไหนต้องใช้ กฎหมายไหนต้องปรับแก้ ลำพังที่หยิบยกมาพูดคุยในวันนี้ก็มีเพียงแค่ประมวลกฎหมายอาญาและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเท่านั้น ยังไม่รวมถึงกฎหมายลำดับรองอื่นๆ ซึ่งหากไม่ออกแบบมาตรการรองรับให้ดี อาจทำให้ประชาชนสูญเสียสิทธิหรือประโยชน์แทนที่จะได้รับความคุ้มครอง

นอกจากนี้ ศ.สุรศักดิ์ ยังเน้นย้ำถึงมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่รัฐจะต้องดำเนินการให้ประชาชนเข้าถึงตัวบทกฎหมายต่างๆ ได้ โดยสะดวกและสามารถเข้าใจกฎหมายได้ง่าย เพื่อให้สามารถปฏิบัติตามกฎหมายได้ถูกต้อง สุรศักดิ์เสนอว่า ให้ใช้วิธีการออกแบบร่างกฎหมาย โดยยกตัวอย่างจาก พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวกับความรับผิดในทางอาญาของผู้แทนนิติบุคคล พ.ศ. 2560 ที่มีการแก้ไขกฎหมายรวดเดียวทั้งหมด 76 ฉบับ โดยกำหนดเนื้อหาบทบัญญัติที่จะแก้ไขไว้ในบัญชีท้ายพระราชบัญญัติแทน หรืออย่าง พระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 ที่ใช้วิธีการรวบฐานความผิดทั้งหมดมาเป็นลักษณะเดียว ซึ่งประชาชนจะเห็นและเข้าใจได้ง่ายว่า กฎหมายหลายฉบับนั้นถูกแก้ไขโดยกฎหมายอีกฉบับอย่างไร

รับชมไลฟ์เสวนาย้อนหลังได้ที่ https://www.facebook.com/Thammasatlaw/videos/588843587367602

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage