11 มกราคม 2568 เอพีรายงานข้อมูลจากจดหมายของชาวอุยกูร์ที่ถูกกักตัวในประเทศไทยตั้งแต่ช่วงปี2557 ว่า รัฐบาลไทยกำลังเตรียมตัวในการส่งตัวพวกเขากลับไปประเทศจีน ในจดหมายที่เอพีได้รับระบุทำนองว่า พวกเขาอาจถูกคุมขังและอาจจะต้องเสียชีวิต จึงเรียกร้องต่อองค์กรต่างประเทศและประเทศต่างๆที่มีความกังวลในสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในการแทรกแซงการส่งกลับอย่างเร่งด่วนเพื่อที่จะปกป้องพวกเขาจากชะตากรรมที่น่าเศร้าก่อนที่จะสายเกินไป
อุยกูร์เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในมณฑลซินเจียงของประเทศจีนและนับถือศาสนาอิสลาม หลังจากถูกปราบปรามจากรัฐบาลกลางปักกิ่งมาเป็นเวลากว่าทศวรรษ รัฐบาลจีนทำการปราบปรามอย่างรุนแรงอันเป็นมาตรการที่ประเทศตะวันตกรวมทั้งสหรัฐอเมริกามองว่า เป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ มีความเป็นไปได้ว่า ชาวอุยกูร์มากถึงล้านคนถูกกวาดต้อนและคุมขังที่ค่ายปรับทัศนคติ (Re-education camp) ชาวอุยกูร์ที่เคยถูกคุมขังรายงานถึงการถูกทำร้ายและบางรายถึงขั้นเสียชีวิต
เดือนกุมภาพันธ์ 2567 ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติในประเด็นเช่น เรื่องสิทธิมนุษยชนของผู้อพยพ ประเด็นชนกลุ่มน้อย และเสรีภาพในศาสนาหรือความเชื่อ ส่งจดหมายถึงรัฐบาลไทยระบุว่า ปี 2557 ชาวอุยกูร์ประมาณ 350 คนลี้ภัยมาที่ประเทศไทยใกล้กับชายแดนไทยและมาเลเซียเป้าหมายคือต้องการเดินทางไปยังตุรกี เดือนกรกฎาคม 2558 ชาวอุยกูร์ที่ประกอบด้วยผู้หญิงและเด็กรวม 173 คนถูกส่งตัวไปที่ตุรกี ขณะที่มีชาวอุยกูร์อีกกลุ่มรวม 109 คน เป็นผู้ชาย ผู้หญิงและเด็กถูกบังคับส่งกลับไปยังประเทศจีน ไม่ทราบถึงชะตากรรมและที่อยู่ของผู้ที่ถูกส่งตัวกลับเหล่านั้น
ชาวอุยกูร์ที่เหลือ 58 คนแบ่งเป็นผู้ที่ถูกกักตัวอยู่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง 43 คน มีห้าคนที่กำลังรับโทษจากการพยายามหลบหนีและอีกห้าคนเสียชีวิตในสถานกักตัว ในจำนวนนี้มีเด็กสองคน
18 มกราคม 2568 วอยซ์ออฟอเมริการายงานว่า มาร์โค รูบิโอ วุฒิสมาชิกเรียกร้องให้ไทยไม่ส่งกลับชาวอุยกูร์ 48 คน เขาระบุว่า ชาวอุยกูร์เหล่านี้ถูกคุมขังเพียงเพราะชาติพันธุ์และศาสนาของเขาพวกเขา และมีการนำตัวชาวอุยกูร์เข้าไปในค่ายและกลายเป็นแรงงานบังคับ หรือแรงงานทาส มาร์โคเป็นวุฒิสมาชิกที่มีบทบาทในการวิจารณ์รัฐบาลปักกิ่ง เป็นหนึ่งในผู้ร่วมสนับสนุนร่างกฎหมายแรงงานบังคับอุยกูร์ในปี 2564 ที่แบนการนำเข้าจากซินเจียงเว้นแต่จะปลอดการใช้แรงงานบังคับ จุดยืนของเขาในเรื่องสิทธิมนุษยชนในจีนนำสู่การคว่ำบาตรจีนตั้งแต่ปี 2563
หลังการเผยแพร่ข่าวการเตรียมส่งตัวกลับไปจีน องค์กรสิทธิมนุษยชนต่างๆ ออกมาเรียกร้องในประเด็นนี้รวมถึงองค์กรที่ทำงานเรื่องสิทธิมนุษยชนของชาวอุยกูร์ เช่น สภาอุยกูร์โลก (World Uyghur Congress) เรียกร้องให้ไทยหยุดความพยายามในการส่งกลับชาวอุยกูร์ทั้ง 48 คน ขณะที่กลุ่ม Uyghur Rights สร้างแคมเปญบน Change เรียกร้องรัฐบาลไทยยุติการบังคับส่งตัวผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ ร่วมมือกับ UNHCR และองค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดหาที่พักพิงที่ปลอดภัยสำหรับชาวอุยกูร์ อนุญาตให้ผู้สังเกตการณ์ระหว่างประเทศเข้าถึงชาวอุยกูร์เพื่อให้แน่ใจว่าได้รับการปฏิบัติอย่างมีมนุษยธรรม และยืนยันคำมั่นของประเทศไทยที่มีต่อกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและหลักมนุษยธรรม
ร่วมลงชื่อเพื่อให้รัฐบาลไทยยุติการบังคับส่งกลับชาวอุยกูร์ได้ที่นี่ : https://www.change.org/p/the-petition-to-thai-government-don-t-deport-uyghur-to-china