19 มกราคม 2568 ครบรอบสี่ปีที่ศาลอาญาพิพากษาจำคุกอัญชัญ ปรีเลิศ ในคดีมาตรา 112 จากการแชร์และอัพโหลดคลิปรายการของดีเจบรรพต 29 คลิป คลิปละสามปีรวม 87 ปี อัญชัญให้การรับสารภาพลดโทษเหลือจำคุก 29 ปี กับ 174 เดือน หรือประมาณ 43 ปี ที่ผ่านมาเธอได้รับการอภัยโทษมาแล้วสองครั้งและมีกำหนดออกจากเรือนจำในวันที่ 24 กันยายน 2574 หรืออีกหกปี แปดเดือนกับอีกหกวัน
คลิปที่เป็นเหตุในคดีนี้มีที่มาจากการจัดรายการของดีเจบรรพตที่เป็นลักษณะรายการวิทยุใต้ดินเผยแพร่บนยูทูปหรือช่องทางอื่นๆ เนื้อหาเป็น ‘ข่าวซีฟ’ เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์และการเมือง เดือนมกราคม 2558 อัญชัญถูกทหารเข้าจับกุม เธอไม่ได้รับการประกันตัวนับแต่นั้น ต่อมาอัยการศาลทหารกรุงเทพมีความเห็นสั่งฟ้องบรรยายฟ้องแยกการแชร์และอัพโหลดคลิปดีเจบรรพตหนึ่งครั้งเป็นหนึ่งกรรมหรือการกระทำความผิดรวม 29 กรรม อัญชัญให้การปฏิเสธและสู้คดีต่อแม้ไม่ได้รับการประกันตัว
เดือนกุมภาพันธ์ 2558 ดีเจบรรพตหรือหัสดิน เจ้าของ ‘ข่าวซีฟ’ ถูกจับกุมและฟ้องแยกเป็นอีกคดีหนึ่ง ดีเจบรรพตรับสารภาพตั้งแต่ชั้นจับกุมจนถึงชั้นศาล แม้ดีเจบรรพตจะเป็นเจ้าของเนื้อหาที่อัญชัญนำไปเผยแพร่ต่อแต่คดีของเขา อัยการศาลทหารกรุงเทพสั่งฟ้องเป็นความผิดกรรมเดียว ต่อมาศาลทหารกรุงเทพพิพากษาว่า มีความผิดลงโทษจำคุกสิบปี รับสารภาพลดเหลือห้าปี วันที่ 29 ธันวาคม 2561 ในตอนที่ดีเจบรรพตได้รับการอภัยโทษและออกจากเรือนจำ อัญชัญยังต้องต่อสู้คดีในศาลทหารกรุงเทพ
“ที่มันเจ็บก็คือตัวบรรพตที่เป็นคนทำเขาถูกฟ้องจากรายการแค่ตอนเดียว ทั้ง ๆ ที่เขาทำคลิปไปน่าจะเกิน 1,000 ตอนแล้ว แต่ตัวพี่แค่แชร์มาบนเฟซบุ๊กตัวเอง”
คำว่า “เจ็บ” ของอัญชัญคงไม่ได้ต้องการให้ดีเจบรรพตต้องรับโทษจากคลิป 1,000 ตอน หากคงเป็นคำที่สะท้อนสภาพจิตใจที่คนๆหนึ่งต้องเผชิญกับไม่เป็นธรรมซ้ำอีกครั้งหลังจากการต้องเจอคดีโทษหนักอย่างมาตรา 112 เพียงเพราะใช้เสรีภาพในการแสดงออก การต้องสู้คดีแบบปิดลับในศาลทหารและการถูกปฏิเสธสิทธิการประกันตัว
เธอเปรียบเปรยว่า เรือนจำคือ “นรก” ด้วยรู้สึกว่าไม่ได้รับการปฏิบัติที่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เดือนพฤศจิกายน 2561 อัญชัญได้รับการประกันตัวสู่ “อิสรภาพชั่วคราว” ปีถัดมาศาลทหารกรุงเทพโอนคดีของอัญชัญมาที่ศาลยุติธรรม อัญชัญตัดสินใจรับสารภาพอาจด้วยระยะเวลาการต่อสู้คดีที่ยาวนานและความหวังที่ว่า คำสารภาพจะเปลี่ยนเป็น “ความเมตตา” ให้โทษไม่หนักหนาเกินไปนัก
ไม่ว่าศาลจะต้องการแสดง “ความเมตตา” พยายามทำให้โทษเบาลงแค่ไหนแต่มาตรา 112 ลงโทษได้น้อยที่สุดคือสามปีต่อหนึ่งกรรม เมื่อคำฟ้องบรรยายการกระทำความผิดของอัญชัญแยกมา 29 กรรมโทษ 87 ปีคือโทษขั้นต่ำที่ไม่ว่าใครคงคาดหมายได้ และคงไม่จำเป็นพูดถึงการรอลงอาญาในยามที่มาตรา 112 ถูกนำกลับมาบังคับใช้อย่างเข้มข้นหลังห่างหายไปช่วงหนึ่ง
หากคำนวณโทษที่อัญชัญได้รับตั้งแต่ฝากขังครั้งแรกในศาลทหารกรุงเทพเรื่อยมาจนถึงวันครบกำหนดโทษ อัญชัญจะถูกจำคุกรวม 5,272 วันหรือประมาณ 14 ปี ขณะที่ดีเจบรรพตรับโทษรวม 689 วันหรือเกือบสองปี
ชวนเขียนจดหมายให้กำลังใจอัญชัญได้ที่นี่
อ่านเพิ่มเติม
๐ คดีมาตรา 112 ของเครือข่ายบรรพต