เลือกตั้ง อบจ. 2568 เช็กให้ดีก่อนเข้าคูหา ผู้สมัครนายก อบจ. – ส.อบจ. จากกลุ่ม/พรรคเดียวกัน อาจมีหมายเลขต่างกัน

ในวาระการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) วันเสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งใน 47 จังหวัดที่ยังไม่ได้เลือกนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) ไปแล้วก่อนหน้า จะต้องเข้าคูหาลงกาบัตรสองใบ ใบแรกเลือกตั้งนายก อบจ. ใบที่สอง เลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.)

นายก อบจ. และ ส.อบจ. ล้วนมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสี่ปี แต่เมื่อนายก อบจ. ประกาศลาออกและจะต้องมีการเลือกตั้งใหม่แล้ว ส.อบจ. จะยังคงดำรงตำแหน่งอยู่ตามวาระเดิมจนกว่าจะครบวาระของตน ไม่เหมือนกับการยุบสภาผู้แทนราษฎร จึงอาจจะมีวาระการดำรงตำแหน่งที่ไม่ได้ซ้อนทับกันสนิท เหลื่อมกันมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับว่านายก อบจ. ประกาศลาออกหรือพ้นจากตำแหน่งก่อนที่ ส.อบจ. จะครบวาระเมื่อไร

อย่างไรก็ดีใน 29 จังหวัดที่เลือกนายก อบจ. ไปแล้ว จะได้กาบัตรเพียงบัตรใบเดียวเลือก ส.อบจ. เนื่องจากนายก. อบจ. พ้นตำแหน่งไปก่อนครบวาระ เช่น ชิงลาออกก่อน จึงทำให้ต้องมีการเลือกตั้งซ่อม นายก อบจ. ไปก่อนแล้ว

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเลือกตั้ง นายก อบจ. 29 จังหวัด ได้ที่ https://www.ilaw.or.th/articles/49134

สำหรับการเลือกตั้ง อบจ. ในวันเสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 พบว่ามีกลุ่มก้อน-พรรคการเมืองเป็นจำนวนมากสนับสนุนหรือส่งผู้สมัครลงสมัครทั้งตำแหน่ง นายก อบจ. และ ส.อบจ. แต่พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 และระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 “ไม่ได้กำหนดไว้” ว่าการลงสมัคร นายก อบจ. หรือ ส.อบจ. เป็นกลุ่มหรือเป็นพรรคจะต้องมีหมายเลขผู้สมัครเดียวกัน ดังนั้น ต่อให้ผู้สมัคร นายก อบจ. และ ส.อบจ. จับมือลงสมัครกันในนามกลุ่มหรือพรรคเดียวกัน ก็อาจมีหมายเลขประจำตัวผู้สมัครที่แตกต่างกันได้

ยกตัวอย่างเช่น

จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นจังหวัดที่จะมีการเลือกตั้ง นายก อบจ. และ ส.อบจ. ในคราวเดียวกัน เท่ากับว่าประชาชนจะได้ลงคะแนนในบัตรสองใบ ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง อบจ. ในจังหวัดสงขลาจะได้เลือกนายก อบจ. ซึ่งจะใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง ไม่ว่าทะเบียนบ้านจะอยู่ในอำเภอหรือตำบลใดก็จะเลือกผู้สมัคร นายก อบจ. คนเดียวกัน หมายเลขผู้สมัครก็จะเป็นชุดเดียวกันขึ้นอยู่กับว่าผู้สมัครคนนั้นได้รับหมายเลขใด

ส่วนการเลือกตั้ง ส.อบจ. แตกต่างกับ นายก อบจ. โดยแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.อบจ. ตามจำนวนประชากร เช่น จังหวัดสงขลาที่มี 16 อำเภอ และมี ส.อบจ. พึงมีในจังหวัดทั้งสิ้น 36 คน แต่ว่าในแต่ละอำเภอก็จะมีการแบ่งย่อยออกไปว่าตำบลหรือเทศบาลใดอยู่ในเขตเลือกตั้งใด

ดูการแบ่งเขตของ ส.อบจ. สงขลาได้ที่ลิงก์นี้ https://www.ect.go.th/web-upload/1xff0d34e409a13ef56eea54c52a291126/m_document/2667/25727/file_download/131f2361d37a33c6ef21173c801b46b9.pdf

โดยผู้สมัครนายก อบจ. และผู้สมัครส.อบจ. ของจังหวัดสงขลา ก็มีหมายเลขที่แตกต่างกันออกไป แม้ว่าจะสมัครโดยรวมกลุ่มหรือพรรคเดียวกันก็ตาม 

ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มสงขลาเข้มแข็ง ที่ลงสมัครทั้งนายก อบจ. และ ส.อบจ. นำโดยประสงค์ บริรักษ์ ผู้สมัครนายก อบจ. กลุ่มสงขลาเข้มแข็ง หมายเลขสาม โดยหนึ่งในผู้สมัครในทีมสงขลาเข้มแข็งที่ลงสมัครในตำแหน่ง ส.อบจ. ในเขตสองหาดใหญ่ คือไพสิษฐ์ ชูสวัสดิ์ หมายเลขสอง ซึ่งเป็นหมายเลขที่แตกต่างกัน

อีกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มพรรคประชาชนซึ่งใช้ชื่อว่า อบจ. ประชาชน นำโดยนิรันดร์ จินดานาค ผู้สมัคร นายก อบจ. สงขลา หมายเลขสอง โดยเขต ส.อบจ. ในเขตสอง หาดใหญ่ มีกลยุทธ คำประเทือง ลงสมัคร ส.อบจ. ในหมายเลขหนึ่ง 

ก่อนไปลงคะแนนเลือกตั้ง อบจ. ไม่ว่าจะในจังหวัดใดก็ตาม ควรตรวจสอบหมายเลขผู้สมัคร นายก อบจ. และ ส.อบจ. ที่ต้องการเลือกให้ดี โดยสามารถเช็กในแอปพลิเคชัน Smart Vote ได้ หรือตรวจสอบในข้อมูลออนไลน์ของ อบจ. หรือคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ของแต่ละจังหวัดได้เช่นเดียวกัน

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเลือกตั้ง อบจ. ในวันเสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์​ 2568 ได้ที่ https://www.ilaw.or.th/articles/48347

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage