14-17 ม.ค. 68 ศาลนัดสืบพยานคดี ม.112 ของอานนท์และเพนกวิน กรณี #ม็อบ17พฤศจิกา

คดี #ม็อบ17พฤศจิกา #กูสั่งให้มึงอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ

วันที่ 14-17 มกราคม 2568 ศาลอาญานัดสืบพยานโจทก์และจำเลยคดีมาตรา 112 ของเพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์และอานนท์ นำภา กรณีการปราศรัยในการชุมนุม #ม็อบ17พฤศจิกา #กูสั่งให้มึงอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ที่หน้ารัฐสภาเมื่อปี 2563 ก่อนหน้านี้มีนัดหมายสืบพยานโจทก์ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2566 และพิจารณาเรื่อยมาจนถึงปี 2568 

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 เวลา 9.00 น. รัฐสภามีนัดพิจารณาเพื่อลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยร่างที่จะพิจารณามีทั้งหมดเจ็ดร่าง เป็นร่างของพรรคร่วมรัฐบาล พรรคร่วมฝ่ายค้านและภาคประชาชนที่รวบรวมรายชื่อมากกว่าหนึ่งแสนรายชื่อ วันดังกล่าวผู้ชุมนุมปฏิรูปสถาบันกษัตริย์และฝ่ายปกป้องสถาบันกษัตริย์ต่างนัดรวมตัวกันแสดงออก เวลาประมาณ 14.00 น. ระหว่างที่รัฐสภากำลังพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ด้านนอกมีการใช้กำลังของตำรวจควบคุมฝูงชนในการผลักดันกลุ่มราษฎรผู้ชุมนุมฝ่ายปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ไม่ให้เข้ามายังถนนสามเสน หน้ารัฐสภา ท้ายที่สุดผู้ชุมนุมสามารถฝ่านแนวตำรวจควบคุมฝูงชนและสิ่งกีดขวางได้

ต่อมาในช่วงค่ำมีเหตุปะทะระหว่างผู้ชุมนุมราษฎรและฝ่ายปกป้องสถาบันกษัตริย์ มีการ์ดอาชีวะของกลุ่มราษฎรถูกยิงด้วยกระสุนจริง เหตุการณ์ดังกล่าวมีผู้บาดเจ็บไม่น้อยกว่าสิบคน หลังเหตุการณ์สงบอานนท์และเพนกวินได้ปราศรัยโดยทั้งสองคนชวนให้ผู้ชุมนุมไปร่วมชุมนุมที่แยกราชประสงค์ในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 ที่แยกราชประสงค์ 

คดีนี้มีสมชาย อิสระ และประดิษฐ์ ต้นจาน เป็นผู้ร้องทุกข์ ตามคำฟ้องระบุข้อความที่ถูกกล่าวหาว่า เข้าข่ายหมิ่นประมาทกษัตริย์ของทั้งสองแบ่งเป็นกรณีของอานนท์เขาปราศรัยตั้งคำถามถึงการปรับตัวของสถาบันกษัตริย์กับข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ของผู้ชุมนุมที่ไม่ได้มีความชัดเจน แต่กลับมีการเสด็จพระราชดำเนินตามจังหวัดต่างๆ เพื่อแจกลายเซ็นและถ่ายภาพเซลฟี่ ขณะที่เพนกวินปราศรัยการออกแบบรัฐสภาและระบบศักดินาในทำนองว่า ยอดเจดีย์สีทองที่ครอบสภาอยู่นั้นคือการที่ศักดินาใช้เท้าเหยียบหัวประชาชน ต่อไปนี้จะไม่มีวันที่ประชาชนจะเป็นฝุ่นให้ศักดินาเหยียบย้ำและทำร้าย

นอกจากมาตรา 112 แล้วเพนกวินยังถูกกล่าวหาในความผิดอื่นๆ อีก ได้แก่ ฝ่าฝืนประกาศและข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ  ไม่แจ้งการชุมนุมก่อนเริ่มการชุมนุมเป็นเวลา 24 ชั่วโมงและไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ผู้จัดการชุมนุมตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และมาตรา 215 โดยคาดว่า วันที่ 17 มกราคม 2568 จะสามารถดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานจำเลยเสร็จสิ้นและนัดฟังคำพิพากษาในคดีนี้ได้

เนื่องจากเพนกวินลี้ภัยทางการเมืองและกำลังศึกษาต่อที่อเมริกา ทำให้ในนัดพิจารณาคดีและนัดพิพากษาที่กำลังจะมาถึงจะเหลือเพียงอานนท์คนเดียว ซึ่งหากเสร็จสิ้น คดีนี้จะเป็นคดีมาตรา 112 คดีเจ็ดของอานนท์ที่ศาลจะมีคำพิพากษา จนถึงวันที่ 13 มกราคม 2568 อานนท์มีโทษจำคุกคดีมาตรา 112 หกคดีจาก 14 คดีรวม 18 ปี สิบเดือน 20 วัน 

วันที่ 1 ตุลาคม 2567 เพนกวินโพสต์เฟซบุ๊กแจ้งว่า เขาได้รับทุนเต็มจำนวนเพื่อศึกษาต่อระดับปริญญาโทและเอก จึงได้เดินทางออกนอกประเทศมาโดยไม่ได้ร่ำลาใคร โดยเขายืนยันว่า “กฎหมายมาตรา 112 นั้น เป็นกฎหมายป่าเถื่อน ล้าหลัง และปิดกั้นสิทธิเสรีภาพของประชาชน ไม่เป็นที่ยอมรับของประชาคมนานาชาติ ผมจึงมิได้เป็นอาชญากรในสายตาสังคมอารยะประเทศทั้งหลาย” 

ศาลเลื่อนนัดสืบพยานคดีม. 112 #ม็อบ17พฤศจิกา เป็น 1-8 พ.ค. 68 เหตุเพนกวินลี้ภัย

14 มกราคม 2568 เวลา 09.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 906 ศาลอาญานัดสืบพยานคดีมาตรา 112 ของเพนกวิน – พริษฐ์ ชิวารักษ์และอานนท์ นำภา กรณีการปราศรัยในการชุมนุม #ม็อบ17พฤศจิกา #กูสั่งให้มึงอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ เวลา 09:04 น. อัยการและทนายจำเลยได้เข้ามาเตรียมสำนวนคดีและความพร้อมก่อนที่จะเริ่มมีการพิจารณา ขณะเดียวกันประชาชนประมาณเจ็ดคนทยอยเดินทางเข้ามาร่วมสังเกตการณ์คดี หนึ่งในผู้เข้าร่วมได้มีพกแผ่นป้ายกระดาษและรูปภาพของอานนท์ เพื่อมาเป็นกำลังใจและแสดงจุดยืนว่าควรปล่อยผู้ต้องหาจากคดีการเมือง

เวลา 09:47 น. เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์คุมตัวอานนท์มาถึงยังห้องพิจารณาคดีโดยมีการใส่กุญแจเท้าด้วย อานนท์เดินเข้ามาทักทายทุกคนที่เข้าร่วมรับฟังและพูดคุยสอบถามสารทุกข์สุกดิบกับผู้เข้ามาเป็นกำลังใจ เมื่อเริ่มการพิจารณาคดี ผู้พิพากษาได้ทำการตรวจสอบองค์ประกอบการพิจารณาทั้งสองฝั่ง ทำให้ทราบว่าเพนกวินในฐานะจำเลยที่หนึ่ง ไม่ได้เดินทางเข้ามาร่วมการพิจารณาคดี ผู้พิพากษาแจ้งว่าทราบว่าตอนนี้เพนกวินได้เดินทางออกนอกประเทศไปแล้ว ลำดับต่อไปศาลจะต้องออกหมายจับเพื่อเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายต่อไป

จากกรณีที่จำเลยเข้าร่วมการพิจารณาคดีไม่ครบทำให้เกิดการเจรจาต่อรองจากฝั่งของจำเลย ทนายจำเลยเสนอว่า เมื่อเพนกวินไม่สามารถเดินทางเข้ามาพิจารณาคดีได้และมองว่าหากมีการสืบพยานลับหลังเกรงว่าจะเกิดความไม่เป็นธรรมต่อเพนกวิน จึงเสนอสองแนวทางได้แก่ แนวทางแรกให้มีการจำหน่ายคดีนี้ออกไปหรือแนวทางที่สองเลื่อนการพิจารณาคดีออกไปก่อนหลังจากออกหมายจับเพนกวินไปแล้วสามเดือนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีความอาญามาตรา 172 ทวิ/1 ขณะเดียวกันก็รอผลของคำพิพากษาศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่องการสืบพยานลับหลังด้วย

ในขณะที่ฝั่งของอัยการมีความเห็นแย้ง อัยการบอกว่าคดีนี้ได้มีการสืบพยานมาแล้วหลายครั้ง เห็นว่าควรสืบพยานต่อไปให้คดีเดินต่อ ทั้งสองฝ่ายได้ต่างยื่นข้อเสนอต่อศาล ผู้พิพากษาจึงแจ้งว่าเรื่องจำเป็นต้องปรึกษากับทาง ‘ผู้ใหญ่’ หรือผู้บริหารศาลก่อนในเวลา 10:02 น. ศาลใช้ระยะเวลากว่าหนึ่งชั่วโมงในการพิจารณาข้อเสนอนี้ 11:06 น.ผู้พิพากษาจึงกลับเข้ามาอีกครั้งพร้อมแจ้งผลการพิจารณากับทางฝั่งของโจทก์และจำเลยดังต่อไปนี้

ศาลเห็นชอบตามข้อเสนอของอัยการให้มีการพิจารณาคดีนี้ต่อไป ศาลเห็นว่าเพนกวินมีพฤติกรรมหลบหนี มีความเห็นให้ออกหมายจับ ให้ปรับนายประกันเต็มสัญญา หากภายในสามเดือนเพนกวินยังไม่มาเข้าพิจารณาคดี ให้มีการสืบพยานลับหลัง ศาลให้เลื่อนการนัดสืบพยานจากวันที่ 14-17 มกราคม 2568 ออกไปเป็นสองช่วงคือ วันที่ 1 – 2 พฤษภาคม 2568 เป็นนัดสืบพยานโจทก์เวลา 09:00 – 16:30 น. และวันที่ 7 – 8 พฤษภาคม 2568 เป็นนัดสืบพยานจำเลยเวลา 09.00 – 16.30 น.

เวลา 11:58 น. เสร็จสิ้นกระบวนพิจารณาคดี เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์คุมตัวอานนท์ออกไป โดยมีประชาชนที่มาสังเกตการณ์ให้พูดให้กำลังใจอานนท์จนสุดทาง

RELATED TAGS

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage