วันที่ 13-14 กุมภาพันธ์ 2568 ถูกกำหนดให้มีวาระการประชุมของรัฐสภา ซึ่งประกอบไปด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) และสมาชิกวุฒิสภา (สว.) เพื่อพิจารณาและลงมติในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นครั้งแรกของสส. และสว. ชุดนี้ โดยร่างที่บรรจุรอการพิจารณาอยู่มีประเด็นที่เสนอให้จัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) เพื่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
แม้ว่า ผลการเลือกตั้งในปี 2566 จะชัดเจนว่า พรรคการเมืองที่ชูนโยบายการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนได้ที่นั่งอย่างล้นหลาม และบรรจุเป็นนโยบายของรัฐบาล แต่ความพยายามแก้ไขหรือจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ล้มลุกคลุกคลานมาตลอดระยะเวลาปีกว่าๆ การประชุมนัดนี้จึงถือว่า “สำคัญที่สุด” ที่จะเกิดขึ้นภายใต้รัฐบาล “ผสมข้ามขั้ว” ที่นำโดยพรรคเพื่อไทย
1. ที่มาของการนัดหมาย วันที่ 13-14 กุมภาพันธ์ 2568
ตามแนวทางการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่รัฐบาลประกาศไว้ จะเริ่มต้นด้วยการทำประชามติเพื่อเปิดทาง “ก่อน” โดยรวมแล้วต้องทำประชามติสามครั้ง ใช้เวลาสามปีเศษๆ แต่ข้อเสนอแก้ไขพ.ร.บ.ว่าด้วยการจัดทำประชามติ ถูกยับยั้งไว้เพราะสว. ไม่เห็นด้วย และต้องรอระยะเวลาอีก 180 วัน ทำให้แนวทางของรัฐบาลยังเริ่มเดินไม่ได้ และหากยึดตามแนวทางนี้ไม่มีทางที่จะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ทันภายใต้รัฐบาลชุดนี้
หนทางที่จะยังเดินหน้าสู่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้โดยไม่เสียเวลามากเกินไป จึงต้องข้ามประชามติครั้งแรกที่ไม่จำเป็นไปก่อน และเริ่มต้นกระบวนการด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2560 เพื่อเปิดทางให้มีการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ แล้วค่อยทำประชามติหลังจากนั้น ซึ่งเป็นแนวทางที่ภาคประชาชนเสนอขึ้นมา และสอดคล้องกับที่สส. พรรคประชาชน และสส. พรรคเพื่อไทย เคยยื่นข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเช่นนี้ไว้แล้วตั้งแต่ต้นปี 2567 แต่ครั้งนั้นประธานรัฐสภาตัดสินใจ “ไม่บรรจุ” ร่างทั้งสองฉบับเข้าสู่การพิจารณา และส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก่อน
จนถึงช่วงปลายปี 2567 การเดินทางสู่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามแนวทางของรัฐบาลยังไม่คืบหน้า พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.พรรคประชาชน นัดหมายพูดคุยเพื่อปรึกษาหารือกับทั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ประธานรัฐสภา และฝ่ายกฎหมายของรัฐสภา จนได้ข้อสรุปว่า รัฐสภาพร้อมบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อการจัดตั้งสสร. พริษฐ์ จึงนำสส.จากพรรคประชาชนเสนอฉบับใหม่ขึ้นมา ซึ่งต่อมาพรรคเพื่อไทยก็แถลงว่า จะเสนอร่างที่มีหลักการคล้ายกันเข้าพิจารณาไปพร้อมกัน เท่ากับว่า รัฐสภาได้ขานรับแนวทางที่จะเริ่มกระบวนการด้วยวิธีนี้
2. เนื้อหาสาระของร่างที่จะเข้าสู่พิจารณา
ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะพิจารณาในวันที่ 13-14 กุมภาพันธ์ 2567 มีหลักการสำคัญให้แก้ไขมาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งเป็นมาตราที่กำหนดหลักเกณฑ์วิธีการที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ หรือเรียกว่า “ร่างแก้ 256” โดยข้อเสนอแบ่งเป็นสองประเด็นใหญ่ๆ
- แก้หลักเกณฑ์ที่จะให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเสียงของ สว. จำนวน 1 ใน 3 และไม่จำเป็นต้องทำประชามติในเรื่องที่รัฐสภาควรจะมีอำนาจแก้ไขได้
- เพิ่มหมวดใหม่ว่าด้วยวิธีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เป็นมาตรา 256/1 และเพิ่มเลขมาตราไปเรื่อย ๆ โดยให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร. มีที่มาจากการเลือกตั้ง โดยออกแบบระบบวิธีการเลือกตั้ง อำนาจหน้าที่ของสสร. และกรอบเวลาการทำงานไว้ด้วย
ตามร่างที่เสนอโดยสส. พรรคประชาชนกำหนดให้มีสสร. 200 คน มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตจังหวัด 100 คน และแบบบัญชีรายชื่อที่ให้สมัครเป็นทีมอีก 100 คน ส่วนร่างที่สส. พรรคเพื่อไทยเสนอกำหนดให้มีสสร. 200 คนมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตจังหวัดทั้งหมด
3. ข้อถกเถียงสำคัญที่จะเกิดขึ้น
แม้ว่าพรรคการเมืองส่วนใหญ่ โดยเฉพาะพรรคที่มีสส. จำนวนมาก ต่างก็เคยแสดงจุดยืนแล้วว่า ต้องการให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนเพราะเป็นหลักการที่ถูกต้อง แต่ “กลุ่มอำนาจเก่า” ยังต้องพึ่งพากลไกของรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อรักษาฐานอำนาจไว้ จึงยังคงมีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่ต้องการให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และไม่ประสงค์ที่จะคืนอำนาจการออกแบบอนาคตของประเทศให้ประชาชน ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้อาจยกเหตุผลที่ไม่ถูกต้องขึ้นมากล่าวอ้าง โดยมีข้อถกเถียงที่เคยถูกยกขึ้นมาหลายครั้งแล้วได้แก่
1) ยังตั้งสสร. ไม่ได้ เพราะต้องทำประชามติ “ก่อน”
คนบางกลุ่มอ้างว่า รัฐธรรมนูญ 2560 ผ่านการทำประชามติโดยประชาชนมาก่อน รัฐสภาไม่มีอำนาจที่จะเปิดให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ ต้องทำประชามติถามประชาชน “ก่อน” ที่จะ “แก้ 256” คนกลุ่มนี้จะอ้างคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 4/2564 ซึ่งเป็นการอ้างอิงที่ “ผิด” เพราะคำวินิจฉัยฉบับนี้ระบุว่า “รัฐสภามีอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้” และจากคำวินิจฉัยส่วนตนเห็นได้ว่า ตุลาการ “เสียงข้างมาก” อธิบายไว้ว่า ต้องทำประชามติสองครั้ง จึงไม่มีกฎหมาย หรือคำวินิจฉัยใดที่จะอ้างได้ว่า ต้องทำประชามติ “ก่อน” การ “แก้ 256”
2) ต้องล็อคห้ามแก้ไข “หมวด 1 หมวด 2”
คนบางกลุ่มหวั่นเกรงว่า การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อาจนำไปสู่การ “ล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์” โดยเขียนหลักการเกี่ยวกับพระราชอำนาจใหม่ จึงต้องชัดเจนว่า สสร. จะไม่มีอำนาจแก้ไขหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์ ทั้งที่ในประวัติศาสตร์การเขียนรัฐธรรมนูญทุกครั้งไม่เคยมีข้อจำกัดว่า จะแก้ไขเรื่องใดหรือหมวดใดไม่ได้ และหมวด 1 กับหมวด 2 ก็ถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลงมาตลอด โดยเป็นเรื่องรายละเอียดหรือเรื่องทางเทคนิคไม่ใช่การลดทอนพระราชอำนาจ และร่างแก้ 256 ที่พรรคประชาชนเสนอก็จำกัดไว้แล้วว่า จะเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองหรือรูปแบบของรัฐไม่ได้ การอ้างเช่นนี้จึงเป็นอีกครั้งที่สถาบันพระมหากษัตริย์ถูกดึงให้มาเป็นเกราะป้องกันทางการเมืองของคนที่ไม่พร้อมเสียอำนาจ
4. คาดการณ์ความหวังในการลงมติ
ในวันที่ 13-14 กุมภาพันธ์ 2568 ทั้งสส. และสว. จะประชุมร่วมกันโดยทั้งสามฝ่ายได้แก่ สส.ฝ่ายรัฐบาล สส.ฝ่านค้าน และสว. จะมีเวลาในการอภิปรายใกล้เคียงกัน ก่อนลงมติว่าจะ “รับหลักการ” ร่างแก้ 256 ที่เสนอมาหรือไม่ วิธีการลงมติใช้วิธีการเรียกชื่อ “ขานมติ” ทีละคนเรียงตามลำดับตัวอักษร ซึ่งน่าจะทำในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2568 โดยจะใช้เวลารวมแล้วหลายชั่วโมง
การลงมติที่จะเกิดขึ้นเป็นเพียงวาระที่หนึ่ง ขั้นรับหลักการ ร่างที่จะ “ผ่าน” วาระที่หนึ่งได้ ต้องได้เสียงสนับสนุนจากสส. และสว. รวมกันไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง คือ 350 จาก 700 เสียง และในจำนวนนี้ต้องประกอบด้วยเสียงของสว. อย่างน้อย 1 ใน 3 หรือ 67 เสียง
ฝ่ายรัฐบาลในวันนี้มี สส. เกือบถึง 350 เสียงแล้ว หากพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลตกลงกันได้ และลงมติไปทางเดียวกันก็จะเป็นจำนวนเสียงที่มีน้ำหนักมาก หรือหาก สส.พรรคประชาชน สส.พรรคเพื่อไทย และสส.จากพรรคที่ประกาศนโยบายในการหาเสียงไว้ว่าจะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ลงมติ “รับหลักการ” ก็จะมีเสียงรวมกันเกือบ 350 เสียงแล้วเช่นกัน แต่ผลการตัดสินจะขึ้นกับ สว. “เสียงส่วนใหญ่” ที่ในวันนี้เกาะกลุ่มกันได้กว่า 140 เสียงแล้ว หากสว. กลุ่มนี้ตกลงกันที่จะลงมติ “รับหลักการ” หรือ “ไม่รับหลักการ” ร่างฉบับใดก็มีแนวโน้มสูงมากที่จะชี้ขาดผลการลงมติในวาระแรกได้ หาก สว. กลุ่มนี้จับมือกันเหนียวแน่นและต้องการขัดขวางกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน พวกเขาก็อาจจะทำได้
การลงมติในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2568 จะแสดงให้เห็นว่า สส. ฝ่ายรัฐบาลมีความจริงใจที่จะเดินหน้านโยบายจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามที่ประกาศไว้หรือไม่ สส. พรรคใดบ้างที่รักษาสัญญาตามนโยบายที่เคยประกาศไว้ก่อนการเลือกตั้ง และ สว. มีใครบ้าง มีถึงจำนวน 1 ใน 3 หรือไม่ที่พร้อมสนับสนุนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อให้อำนาจคืนสู่มือของประชาชน
5. ความสำคัญและผลหลังจาก วันที่ 13-14 กุมภาพันธ์ 2568
หลังจากที่มีสภาผู้แทนราษฎรและรัฐบาลชุดใหม่จากการเลือกตั้งในปี 2566 หลังการคัดเลือกวุฒิสภาในปี 2567 เป็นต้นมา ทั้งสส. และสว. ที่อยู่ในสภาปัจจุบัน ยังไม่เคยอภิปรายและลงมติในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเลย การประชุมวันที่ 13-14 กุมภาพันธ์ 2568 จะเป็นครั้งแรกของสภาชุดนี้ซึ่งมีความยึดโยงกับคณะรัฐประหารที่เบาบางลงแล้ว จึงเป็นโอกาสแรกที่ประชาชนจะได้ติดตามทวงถาม และได้รู้ว่า ใครจะลงมติอย่างไรบ้าง
หากผลการลงมติ คือ “รับหลักการ” ก็จะต้องนำร่างแก้ 256 เข้าสู่การพิจารณารายละเอียดในวาระที่สอง และต้องลงมติอีกครั้งในวาระที่สาม และต้องนำไปทำประชามติถามประชาชน ขั้นตอนสู่การเลือกตั้งสสร. และการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ยังต้องพบเจอกับอุปสรรคอีกมาก แต่หากผลการลงมติ คือ “ไม่รับหลักการ” ร่างแก้ 256 แม้แต่ฉบับเดียว ก็ยังเดินหน้าต่อไม่ได้ ในทางกฎหมายยังไม่ใช่ทางตันเพราะสามารถเสนอร่างแก้ 256 เพื่อจัดตั้งสสร. เข้าสู่การพิจารณาและลงมติใหม่ได้อีกในการประชุมสภาสมัยถัดไปช่วงกลางปี 2568 แต่ในทางการเมืองหากไม่มี “จุดเปลี่ยน” สำคัญเกิดขึ้น ก็คงคาดหวังว่า สส. และสว. จะเปลี่ยนใจลงมติเป็นอย่างอื่นได้ยาก และโอกาสจะมีการจัดตั้งสสร. ภายใต้รัฐบาลนี้ก็จะยิ่งริบหรี่ลงไปอีก หรืออาจะต้องรอโอกาสใหม่ถึงหลังการเลือกตั้งครั้งถัดไป
อย่างไรก็ดี หากรัฐสภาลงมติ “ไม่รับหลักการ” ถ้ารัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทยยังต้องการทำตามคำประกาศของตัวเองก็ยังกลับไปใช้แนวทางเดิมที่วางไว้ได้ คือ การเริ่มต้นด้วยการทำประชามติ “ก่อน” ซึ่งอย่างเร็วที่จะมีการทำประชามติครั้งแรกได้ก็คือช่วงปลายปี 2568 และเริ่มเสนอร่างแก้ 256 ใหม่ช่วงต้นปี 2569 โดย “ไม่มีทาง” ที่จะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ภายใต้รัฐบาลนี้
6. ประชาชนทำอะไรได้บ้าง
โอกาสที่จะเปลี่ยนระบบอำนาจทางการเมืองแบบที่เป็นอยู่ก็คือต้อง “เขียนรัฐธรรมนูญใหม่” ซึ่งช่องทางอย่างเป็นทางการที่จะเกิดขึ้นได้ก็คือ การผ่านร่างแก้ 256 โดยรัฐสภาเท่านั้น ไม่ว่าผลการลงมติในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2568 จะเป็นอย่างไร สิ่งที่ประชาชนทุกคนทำได้และต้องช่วยกันทำ คือ “การส่งเสียง” เพื่อยืนยันว่า ต้องมีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ “ทั้งฉบับ” โดยตัวแทนของประชาชนที่มาจากการเลือกตั้ง “ทั้งหมด”
ซึ่งก็คือเป้าหมายของแคมเปญ #Conforall “เขียนใหม่ทั้งฉบับ เลือกตั้ง100%” ที่ประชาชนเคยลงชื่อสนับสนุนกว่า 200,000 คนภายในระยะเวลาสามวัน เจตนารมณ์เหล่านั้นยังต้องเดินหน้าต่อไป และก่อนถึงวันนัดสำคัญเราชวนทุกคนส่งเสียงผ่านช่องทางและวิธีการที่สะดวก ดังนี้
- ถ้าเห็นด้วยและพร้อมสนับสนุนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยสสร. ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ช่วยกันลงชื่อผ่าน change.org เพื่อรวบรวมและนำยื่นต่อรัฐบาล และรัฐสภา ก่อนวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 รวมถึงช่วยกันส่งต่อแคมเปญและชวนคนอื่นมาลงชื่อเพิ่มเติมได้
- ช่วยกันแสดงออกถึงจุดยืนของตัวเองว่า ต้องการการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยสสร. ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ผ่านทางช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ของตัวเองตามความชอบและความสนใจ ก่อนวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 ผ่าน #อยากเลือกตั้งสสร โดยสามารถนำภาพกราฟฟิก และโปสเตอร์ของแคมเปญไปใช้เผยแพร่หรือดัดแปลงต่อได้
- ช่วยกันแสดงออกถึงจุดยืนของตัวเองว่า ต้องการการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยสสร. ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ผ่านสื่อรณรงค์ทั้งแผ่นพับ เสื้อยืด และสติ๊กเกอร์ โดยระหว่างวันที่ 10 มกราคม 2568 – 13 กุมภาพันธ์ 2568 สามารถสั่งซื้อเสื้อยืดและสติ๊กเกอร์ได้ในราคาทุน และสามารถขอรับแผ่นพับเพื่อไปแจกจ่ายต่อได้ฟรี ติดต่อทาง inbox เพจ iLaw
- เตรียมตัวให้ว่าง แล้วไปร่วมกิจกรรมใน วันที่ 13-14 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ลานประชาชน หน้ารัฐสภา เพื่อร่วมกันแสดงออกและส่งเสียงถึงสมาชิกรัฐสภาว่า ประชาชนต้องการการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยสสร. ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด รายละเอียดกิจกรรมรอติดตามในอนาคต