14-15 กุมภาพันธ์ 2568 การเดินทางของรัฐธรรมนูญประชาชนกำลังจะเขยิบขึ้นอีกก้าว เพราะกำลังจะมีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อให้มีการเสนอร่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ซึ่งจะเปิดทางให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ขึ้นมาจากการเลือกตั้งของประชาชน เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นของประชาชน และมีที่มาอันชอบธรรมจากประชาชนจริงๆ
อย่างไรก็ดี การจะผ่านร่างฉบับนี้ได้นั้นไม่ง่าย เพราะต้องอาศัยเสียงของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) และสมาชิกวุฒิสภา (สว.) รวมกันอย่างน้อย 351 เสียง โดยต้องเป็นเสียงของสว. อย่างน้อย 67 เสียงด้วย ก่อนที่จะถึงวันนั้นลงมติโดยรัฐสภาอยากชวนทุกคนร่วมย้อนความทรงจำด้วยกันว่า มีพรรคการเมืองไหนบ้างที่เคยให้สัญญากับประชาชนทั้งก่อนและหลังการเลือกตั้งว่า จะให้มีสสร.เพื่อเดินทางสู่รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน
เพื่อความเข้าใจง่ายจะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลักดังต่อไปนี้
กลุ่ม 1: พวกเธอมันแน่! ยืนยันตลอดว่าของมันต้องมี
สำหรับกลุ่มแรกเป็นกลุ่มที่สส. และคนของพรรคการเมืองพูดถึงเรื่องรัฐธรรมนูญประชาชนและสสร. มาโดยตลอดหรือค่อนข้างมีความชัดเจนสูงว่า จะผลักดันหรือสนับสนุนให้สสร. เกิดขึ้นจริงได้
พรรคเพื่อไทย: แม่ทัพรัฐบาล ประกาศเดินหน้าแต่พ่วงหลายเงื่อนไข
พรรคเพื่อไทยมีแนวทางชัดเจนในเรื่องการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนมาโดยตลอดถือได้ว่า เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของพรรคที่จะต้องดำเนินการให้เกิดขึ้น โดยประกาศไว้ในนโยบายชัดเจนว่า รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนนี้จะต้องมีที่มาจากสภาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนและต้องมีการลงประชามติรับรองอีกครั้ง โดยในวันปราศรัยครั้งใหญ่ของพรรค เศรษฐา ทวีสินในฐานะแคนดิเดทนายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงประเด็นนี้ไว้ว่า
“เราจะมีรัฐธรรมนูญที่เป็นของประชาชน โดยประชาชนและเพื่อประชาชน เป็นกฎหมายสูงสุดของระบอบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เราจะไม่มีการโค่นล้มรัฐธรรมนูญหรือก่อการรัฐประหารอีกเพราะเป็นเรื่องน่ารังเกียจ มีการบังคับใช้กฎหมายที่ชัดเจนและเป็นธรรม ใครหน้าไหนที่ล้มรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนต้องได้รับโทษอย่างเหมาะสม ถูกตราหน้าว่าเป็นอาชญากรของชาติ”
เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดทนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย
ต่อมาหลังจากการฉีก MOU ของพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกลที่จัดตั้งรัฐบาลไม่สำเร็จ พรรคเพื่อไทยแถลงกับสื่อมวลชนเเพิ่มเติมว่า การผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญและสรร.ต้องกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ ผ่านการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งแรกให้มีการจัดทำประชามติและจัดตั้งสสร.เลือกตั้ง สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วนให้เกิดขึ้น เมื่อรัฐธรรมนูญเสร็จสมบูรณ์ก็จะยุบสภาจัดการเลือกตั้งครั้งใหม่ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน
ถัดมาไม่ถึงเดือนกลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญที่นำรายชื่อเสนอคำถามประชามติหรือ #CONFORALL จำนวน 205,739 รายชื่อเสนอข้อเรียกร้องต่อพรรคเพื่อไทยให้รับคำถามประชามติจากประชาชนเข้าสู่การประชุมครม. ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทยในขณะนั้นให้ความเห็นว่า เรื่องดังกล่าวต้องมีการปรึกษากับพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ ร่วมด้วย แต่ในมุมของพรรคยังคงต้องผลักดันเรื่องนี้ให้เป็นประเด็นหลัก อีกทั้งในมุมของชูศักดิ์ ศิรินิล ตัวแทนจากพรรคเพื่อไทยที่มารับหนังสือมองว่า คำถามของภาคประชาชนและมุมของตนมีความใกล้เคียงกันอาจทำให้กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญสะดวกมากขึ้น
รัฐบาลเพื่อไทยชุดแรกถือกำเนิดขึ้นพร้อมผู้นำรัฐบาลอย่างเศรษฐา ทวีสิน แถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภาครั้งแรก โดยกำหนดให้การจัดทำรัฐธรรมนูญประชาชนเป็นวาระเร่งด่วน โดยเร่งหารือในการจัดทำประชามติที่ให้ความสำคัญกับประชาชนทุกภาคส่วนร่วมกันออกแบบกฎกติกาที่ทันสมัย เป็นประชาธิปไตยและเป็นที่ยอมรับของสังคม เน้นการใช้เวทีของรัฐสภาหารือแนวทางการจัดทำรัฐธรรมนูญให้เกิดขึ้น แต่ยังคงเงื่อนไขว่าจะยึดรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและไม่แก้ไขในหมวด 2 พระมหากษัตริย์
แม้ปัจจุบันจะเปลี่ยนเป็นรัฐบาลชุดใหม่ ประเด็นดังกล่าวปรากฏขึ้นในคำแถลงนโยบายของแพทองธาร ชินวัตร ในฐานะนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคเพื่อไทยเป็นการยืนยันให้เห็นว่า การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนและสสร.เป็นเรื่องเร่งด่วน โดยเน้นย้ำว่า รัฐธรรมนูญจะต้องสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนสากลและเคารพพหุวัฒนธรรมด้วย
7 มกราคม 2567 วิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.แบบบัญชีรายชื่อและหัวหน้าวิปฯ รัฐบาล ยื่นเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เข้าสู่ที่ประชุมพรรคเพื่อไทย และวันต่อมาพรรคเพื่อไทยมีมติเห็นชอบให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฏร (สส.) ลงชื่อยื่นเสนอเข้ารัฐสภา สาระสำคัญยังคงเว้นการแก้ไขหมวด 1 และ 2 อย่างแน่นอน
พรรคประชาชน: เสนอมาราธอนมาแล้วหลายชุด
ฝ่ายค้านตัวหลักอย่างพรรคประชาชนพูดเรื่องนี้เอาไว้ชัดเจนมาตั้งแต่สมัยเป็นพรรคอนาคตใหม่ พรรคก้าวไกลจนมาสู่พรรคประชาชน ซึ่งปรากฏอยู่ในนโยบายหลักของพรรคด้วย แนวทางการจัดทำรัฐธรรมนูญของพรรคประชาชนเน้นย้ำว่า ต้องมีการร่างใหม่ให้เกิดรัฐธรรมนูญที่มีที่มาจากประชาชน ผ่าน สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด
สส.ของพรรคประชาชน เคยยื่นเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อนำไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนและสสร.มาแล้วหลายครั้งผ่านความพยายามหลายรูปแบบ เช่น การเพิ่มหมวด 15/1 (ว่าด้วยการร่างรัฐธรรมนูญใหม่) หรือการแก้มาตรา 256 ให้ซับซ้อนน้อยลงและทำประชามติแค่สองครั้ง ซึ่งข้อเสนอเรื่องรัฐธรรมนูญจากพรรคนี้ยังไม่เคยผ่านการพิจารณาจากรัฐสภา จนกระทั่งเป็นผู้นำในการยื่นเสนอการแก้มาตรา 256 ภายใต้รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร อีกครั้งหนึ่ง
สำหรับพรรคประชาชนในฐานะพรรคฝ่ายค้านระดับเชิงนโยบายอาจไม่ได้เห็นมากเท่าไหร่ นอกจากเสนอเข้ารัฐสภาแล้วยังต้องทำงานทางความคิดกับรัฐสภามากอยู่พอสมควร หลายครั้งที่พรรคเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญจะถูกบรรดา สส. และ สว. หลายคนออกมาแสดงความเห็นคัดค้าน จนพริษฐ์ วัชระสินธุ ในฐานะของโฆษกพรรคออกตัวพร้อมทำความเข้าใจกับทุกฝ่ายอยู่เสมอ
พรรคชาติไทยพัฒนา: เราเอาด้วยแต่ไม่ต้องรีบร้อน
พรรคชาติไทยพัฒนาชูธงเรื่องนี้เอาไว้อย่างชัดเจนเพราะเป็นหนึ่งในนโยบาย WOW Thailand เรื่องที่ 1 ทางพรรคพร้อมผลักดันรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนโดยให้มาจาก สสร. เป็นคนร่างรัฐธรรมนูญตามแบบฉบับที่รัฐบาลสมัยบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกรัฐมนตรี เคยทำสำเร็จมาแล้วในปี 2539 ก่อนจะได้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540
ต่อมาแนวทางรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนแบบ “บรรหารโมเดล” ก็เริ่มมีเงื่อนไขเพิ่มเข้ามา จากการให้สัมภาษณ์ของวราวุธ ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนาระบุว่า การจัดทำรัฐธรรมนูญประชาชนนี้จะต้องไม่แตะต้องกับมาตรา 1 บททั่วไป มาตรา 2 พระมหากษัตริย์ ของรัฐธรรมนูญ อีกทั้งไม่ปรับปรุงแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ด้วย ส่วน สสร. ยังคงยืนยันตามเดิมว่าต้องเกิดขึ้น รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนยังไม่ได้เป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะต้องรีบแก้ไข ยังคงมีปัญหาความเดือดร้อนอื่นที่ประชาชนรอการแก้ไขอยู่
พรรคไทยสร้างไทย: ตอนนั้นตัวเด่น ตอนนี้เดาไม่ถูก
พรรคไทยสร้างไทยมีการเสนอประเด็นเรื่องรัฐธรรมนูญประชาชนและสสร.เลือกตั้งมาตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งปี 2566 ทางพรรคเคยร่วมจัดกิจกรรมเข้าชื่อ 50,000 รายชื่อเพื่อเสนอเข้าสู่รัฐสภาในขณะนั้น ต่อมาเมื่อเข้าสู่สนามเลือกตั้งอย่างเป็นทางการก็ได้นำมาเป็นหนึ่งในนโยบายหลักที่ใช้หาเสียงด้วย ภายใต้เงื่อนไขว่า การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ยังคงไม่แตะ “หมวด 1 หมวด 2” ของรัฐธรรมนูญ แต่จนกระทั่งต้นปี 2568 ที่พรรคนี้มีสส. อยู่ในฐานะฝ่ายค้านก็ยังไม่เห็นความเคลื่อนไหวเพิ่มเติม
พรรคประชาชาติ: ไม่ได้เขียนนโยบาย แต่บอกเห็นด้วย
พรรคประชาชาติไม่มีนโยบายออกมาชัดเจนในเรื่องนี้ แต่ได้เคยมีการกล่าวถึงรัฐธรรมนูญในเวทีดีเบตอนาคตประเทศไทย เปิดเวทีภาคใต้ พบแม่ทัพพรรคการเมือง กับนโยบายกินได้ จัดโดยเครือเนชั่นกรุป โดยทวี สอดส่องเลขาธิการพรรคในขณะนั้นกล่าวไว้ว่า พรรคประชาชาติมีนโยบายทำให้รัฐธรรมนูญต้องมีที่มาจากประชาชนเป็นผู้ร่างโดยตรง ซึ่งต่อมาทวีได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และวันมูฮัมหมัด นอร์ มะทา จากพรรคประชาชาติเล่นบทบาทสำคัญเป็นประธานรัฐสภา
พรรคเป็นธรรม: เห็นด้วย แต่ยังไม่มีรายละเอียด
พรรคเป็นธรรม เคยประกาศเป็นนโยบายไว้ก่อนการเลือกตั้งปี 2566 ว่าเห็นด้วยกับแนวทางการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ “ทั้งฉบับ” คล้ายกับพรรคประชาชน แต่ไม่พบรายละเอียดเพิ่มเติม รวมทั้งเรื่อง สสร. ด้วย
กลุ่ม 2: ไม่ใช่นโยบาย แต่ร่วมรัฐบาลแล้วก็เอาก็ได้
สำหรับพรรคการเมืองในกลุ่มนี้เรียกได้ว่า เป็นกลุ่ม “อำนาจเก่า” ที่ได้เป็นรัฐบาลหลังการเลือกตั้งปี 2562 และก่อนการเลือกตั้งในปี 2566 ไม่ได้ให้ความชัดเจนเป็นรูปธรรม ไม่ได้ประกาศไว้เป็นนโยบายหลักของพรรคที่โฆษณาหาเสียงว่าจะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน แต่เมื่อเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทยที่มีแนวนโยบายชัดเจนเรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนก็จึงแสดงความคิดเห็นทำนองว่า เห็นด้วยให้มีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนและสสร. แต่มีเงื่อนไขประกอบที่แข็งตัวมาก ซึ่งพรรคการเมืองเหล่านี้จะลงมติตามที่เคยพูดไว้หรือไม่ก็เป็นเรื่องที่น่าติดตามอย่างใกล้ชิด
พรรคภูมิใจไทย: เห็นด้วยให้มีสสร. แต่ต้องล็อคหมวด 1 และ 2
พรรคภูมิใจไทยไม่ได้มีนโยบาย เกี่ยวกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนหรือสสร.มาตั้งแต่แรกเริ่มในช่วงของการหาเสียง แต่พรรคแสดงท่าทีไม่เป็นปฏิปักษ์กับข้อเรียกร้องนี้มาตลอด วันที่ 24 กันยายน 2566 กรวีร์ ปริศนานันทกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) และกรรมการบริหารพรรคแถลงกับสื่อมวลชนว่า มติของพรรคภูมิใจไทยเห็นควรว่า จะต้องมีการแก้ไขทั้งฉบับและให้มี สสร. เกิดขึ้นจึงต้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 แต่มีข้อยกเว้นจะต้องไม่แตะต้องหมวด 1 บททั่วไปและหมวด 2 พระมหากษัตริย์ ของรัฐธรรมนูญ
ด้านอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยเคยกล่าวไว้หลังการเลือกตั้งปี 2566 ว่า หากจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อยากให้แก้ไขทั้งฉบับผ่านกระบวนการสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.)
พรรคประชาธิปัตย์: มีจุดยืนให้มีสสร.เลือกตั้ง แต่ไม่ทั้งหมด
พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ประกาศนโยบายเรื่องรัฐธรรมนูญประชาชนและสสร.มาตั้งแต่แรกเริ่ม ทว่า 3 กุมภาพันธ์ 2566 เพจเฟซบุ๊กของพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความว่า ราเมศ รัตนชเวงโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ในสมัยนั้นให้ความเห็นว่า พรรคมีจุดยืนชัดเจนตั้งแต่เริ่มแรกคือให้มี สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) จำนวน 200 คนมาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนในแต่ละจังหวัดจำนวน 150 คน ส่วนอีก 50 คน จะผสมผสานผู้มีประสบการณ์ เช่น สสร. ที่มาจากการเลือกของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญสาขากฎหมายมหาชนสาขารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ จำนวน 10 คน ผู้มีประสบการณ์ด้านการเมืองการบริหารราชการแผ่นดินหรือการร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 10 คน สมาชิกซึ่งรัฐสภาคัดเลือก จำนวน 20 คน และในส่วนของพรรคให้ความสำคัญกับนิสิตนักศึกษาคนรุ่นใหม่ที่จะมีกระบวนการสมัครเพื่อให้คณะกรรมการการเลือกตั้งเลือกเป็น จำนวน 10 คน เป็นระบบผสมที่จำเป็นจะต้องมีผู้เชี่ยวชาญบางส่วนในการยกร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญและให้ความสำคัญกับประชาชนที่มีความสนใจในทุกจังหวัดให้มีการเลือกตั้ง สสร แต่ละจังหวัดตามสัดส่วนของจำนวนประชากร
พรรคพลังประชารัฐ: เราเคยเสนอให้มี สสร. ด้วยนะ
สำหรับพรรคพลังประชารัฐนั้นไม่พบข้อมูลว่า ประกาศการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนเป็นนโยบายของพรรคทั้งก่อนเลือกตั้งและหลังการเลือกตั้ง แต่สำหรับประเด็นของ สสร. หลังการเลือกตั้งปี 2562 ในฐานะแกนนำฝ่ายรัฐบาล สส. ของพรรคพลังประชารัฐเคยเสนอร่างเข้าสู่รัฐสภาในช่วงปี 2563 ร่วมกับพรรคการเมืองอื่นๆ สาระสำคัญ คือ ให้มีสสร. ที่ใช้ระบบเลือกตั้งและสรรหาผสมกัน สัดส่วนคือ 150:50 ซึ่งร่างฉบับนี้ผ่านการพิจารณาในวาระแรก แต่ในวาระที่สามสส. ของพรรคพลังประชารัฐเองเปลี่ยนใจไม่สนับสนุนต่อ หลังจากนั้นพรรคนี้ก็ไม่ได้แสดงท่าทีต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีก
พรรครวมไทยสร้างชาติ: จะแก้ก็ได้ แต่มีเงื่อนไข
พรรครวมไทยสร้างชาติไร้วี่แววของการหาเสียงรัฐธรรมนูญประชาชนมาตั้งแต่ต้น ซึ่งหากมองพรรคการเมืองนี้เป็นพรรคการเมืองที่นำโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ย่อมต้องมีท่าทีปกป้องรัฐธรรมนูญที่จัดทำมาเพื่อการสืบทอดอำนาจให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติอยู่แล้ว
อย่างไรก็ดีเมื่อพรรครวมไทยสร้างชาติได้เข้ามาร่วมเป็นรัฐบาล จากบทสัมภาษณ์ของเอกนัฐ พร้อมพันธุ์เลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ ของ 101.World เมื่อเดือนกรกฎาคม 2567 เคยกล่าวไว้ว่า รัฐธรรมนูญ 2560 ความเห็นส่วนตัวควรมีการแก้ไขอยู่บางประเด็นตามที่ใครหลายคนมองว่าเป็นปัญหา คำถามสำคัญคือปัญหาอยู่ที่ส่วนไหนและควรมีการแก้ไขกันอย่างไรมากกว่า ไม่ได้บอกว่าจะร่างใหม่ทั้งหมด
หลังมีข่าวว่า ข้อเสนอให้เลือกตั้งสสร. ของพรรคประชาชนเข้าสู่การพิจารณา ธนกร วังบุญคงชนะ สส. แบบบัญชีรายชื่อ ให้สัมภาษณ์ว่า ไม่เห็นด้วยกับรายละเอียดตามร่างที่เสนอมา ขณะเดียวกันในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล ย้ำจุดยืนเดิมชัดเจนมาตลอดว่า แก้รัฐธรรมนูญได้ แต่ต้องไม่แตะหมวด 1 และ 2 ซึ่งลักษณะนี้เป็นการแสดงจุดยืนส่วนตัวว่า “ไม่เห็นด้วย” แต่ก็มีความเกรงใจในฐานะที่เป็นนโยบายของรัฐบาลนี้
7 มกราคม 2567 อัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ โฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติแถลงผลการประชุมของพรรครวมไทยสร้างชาติว่า มติของพรรคเห็นชอบให้สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้แต่มีเงื่อนไขอยู่ด้วยกัน 3 ประการได้แก่
- ต้องเคารพคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัด
- ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
- ต้องไม่แตะหรือแก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 ของรัฐธรรมนูญอย่างเด็ดขาด
กลุ่ม 3: จะชัดเจนกันกี่โมง?
กลุ่มสุดท้ายนี้ เรียกได้ว่า เป็นพรรคการเมืองที่มีสส. จำนวนไม่มาก และยังไม่มีความชัดเจนเรื่องจุดยืนต่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน โดยไม่พบในการประกาศนโยบายก่อนการเลือกตั้ง และยังไม่พบการเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองเหล่านี้ในช่วงที่กำลังจะถกเถียงกันในสภายกใหม่ แม้ว่าคนจากพรรคการเมืองจะเคยตอบคำถามถึงเรื่องนี้อยู่บ้างก็ตามที
พรรคชาติพัฒนา (ชาติพัฒนากล้า) : จะมีแหละ แต่จะพรรคจะเอายังไงอีกเรื่องหนึ่ง
พรรคชาติพัฒนาในช่วงของการเลือกตั้งปี 2566 ลงสมัครในนามพรรคชาติพัฒนากล้า ไม่ได้มีการพูดถึงเรื่องของรัฐธรรมนูญประชาชนและสสร. ในการหาเสียง แต่มีคำให้สัมภาษณ์ของกรณ์ จาติกวนิช อดีตหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้าในบทความ “ผมอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง” ของ The 101.World ว่า พรรคชาติพัฒนากล้ามองในอนาคตจะมีสสร.มาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เพื่อให้ประชาชนรู้สึกมีความเป็นเจ้าของเหมือนกับรัฐธรรมนูญ 2540 แต่ยังไม่มีคำตอบที่แน่ชัดในเรื่องของการจะสนับสนุนทั้งสองประเด็น
พรรคเสรีรวมไทย: พูดถึงอยู่ แต่ไม่พูดต่อ
พรรคเสรีรวมไทยยังไม่มีทีท่าที่ชัดเจนทั้งต่อเรื่องรัฐธรรมนูญประชาชนหรือสสร.ตั้งแต่สมัยหาเสียงเลือกตั้ง มีเพียงคำให้สัมภาษณ์ของ รศ.สมชัย ศรีสุทธิยากร ประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบายพรรคเสรีรวมไทยในขณะนั้นเคยมีการพูดถึงเรื่อง สสร. อยู่บ้างแต่ใจความสำคัญยังคงมุ่งเน้นไปที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ตัดอำนาจสมาชิกวุฒิสภา(สว.) เลือกนายกรัฐมนตรี หลังการเลือกตั้งในปี 2566 พรรคเสรีรวมไทยได้สส. เพียงคนเดียวและรศ.สมชัย ไม่ได้รับเลือกเป็นสส.
สำหรับพรรคไทรวมพลัง พรรคประชาธิปไตยใหม่และพรรคน้องใหม่อย่างกล้าธรรมยังคงไร้ความชัดเจนทั้งประเด็นรัฐธรรมนูญประชาชนและสสร.
จากข้อมูลทั้งหมดพบว่า เกือบทุกพรรคการเมืองมีความคิดเห็นต่อเรื่องรัฐธรรมนูญประชาชนและสสร.ไปในทิศทางเดียวกันแทบทั้งหมด ไม่มีพรรคการเมืองไหนกล้าปฏิเสธว่ารัฐธรรมนูญไม่ควรมาจากประชาชน หรือควรจะอยู่กับรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 ตลอดไป เพียงแต่ “ท่าที” การวางจังหวะทางการเมือง และการตั้งเงื่อนไขต่อเรื่องการมีสสร. นั้นแตกต่างกันมาก ซึ่งอาจส่งผลโดยตรงต่อการลงมติรับหรือไม่รับหลักการในร่างฉบับที่แตกต่างกัน
หากสส. ของพรรคการเมืองต่างๆ ที่เคยประกาศไว้ทั้งก่อนการเลือกตั้ง และการแถลงจุดยืนของพรรค ลงมติตามที่ประกาศไว้จริงๆ ทุกคน ก็เท่ากับเสียงข้างมากเกือบทั้งหมดของสภาผู้แทนราษฎรพร้อมที่จะให้มีสสร.จากการเลือกตั้ง และการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน
แต่หนทางข้างหน้า ไม่ได้พึ่งพาเเค่เสียงของ สส. เพียงอย่างเดียว หลังจากนี้ก็ต้องจับตากับ สว. ว่า พวกเขาจะลงมติตามความเห็นของ สส. หรือไม่ หรือจะกล้าลงมติ “ขวาง” ความเห็นของตัวแทนที่ประชาชนเลือกตั้งมา