การ “เขียนรัฐธรรมนูญใหม่” กลับมาอยู่บนวาระให้รัฐสภาต้องพิจารณาอีกครั้ง หลังประธานรัฐสภา วันมูหะมัดนอร์ มะทา บรรจุวาระในการแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 256 เพื่อเปิดกระบวนการให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยก่อนหน้านี้ในช่วงเดือนเมษายน 2567 รัฐสภาเคยมีข้อถกเถียงกันว่าจะสามารถบรรจุวาระแก้รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 256 เพื่อเดินหน้าเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ได้หรือไม่เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ระบุว่าการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่จะต้องทำประชามติ “ก่อน” และ “หลัง” ด้วย
ประเด็นคำวินิจฉัยที่ 4/2564 นี้นำไปสู่ข้อถกเถียงว่าสำหรับการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่โดยการเพิ่มหมวด “การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” จะต้องทำประชามติทั้งสิ้นกี่รอบ ตามแนวทางของรัฐบาลเพื่อไทยระบุว่าจะต้องทำทั้งสิ้นสามครั้ง โดยทำครั้งที่หนึ่งก่อนที่รัฐสภาจะริเริ่มแก้ไขมาตรา 256 ครั้งที่สองเพื่อแก้รัฐธรรมนูญ ตามเงื่อนไขของมาตรา 256 เดิม และทำครั้งที่สามภายหลังจากที่สภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่เสร็จสิ้นแล้วและให้ประชาชนลงมติว่าเห็นชอบหรือไม่
ในขณะที่พรรคประชาชนและภาคประชาชนต่างเห็นพ้องว่า การทำประชามติเพื่อเขียนรัฐธรรมนูญใหม่นั้นทำแค่สองครั้งก็เพียงพอแล้ว โดยเห็นว่าสำหรับคำวินิจฉัยที่ 4/2564 นั้น เมื่อดูคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งหมดแล้วก็จะพบว่ามีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก จำนวนหกคนจากเก้าคน ที่ระบุว่าการทำประชามติเพื่อเขียนรัฐธรรมนูญใหม่นั้น ต้องทำ “สองครั้ง” โดยตัดการทำประชามติครั้งแรกก่อนการแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 256 ออก
หลังพรรคประชาชนและเครือข่าย Conforall ยื่นหนังสือต่อประธานรัฐสภาเรียกร้องให้พิจารณาทบทวนการบรรจุวาระแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 256 เพื่อเปิดทางไปสู่การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ และมีการนัดหมายพูดคุยกันระหว่างพริษฐ์ วัชรสินธุ และประธานรัฐสภา กับทีมงานฝ่ายกฎหมายของรัฐสภา ล่าสุดประธานรัฐสภาตัดสินใจนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ บรรจุวาระเรียบร้อยแล้วซึ่งจะทำให้วาระการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่กลับมาถูกพิจารณาในรัฐสภาอีกครั้ง
ซึ่งร่างที่บรรจุวาระในเว็บไซต์ web.parliament.go.th เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2567 คือร่างที่ถูกเสนอโดยสส. พรรคประชาชน นำโดยพริษฐ์ วัชรสินธุ โดยในร่างฉบับนี้มีสาระสำคัญสองส่วน ส่วนแรกคือการปรับแก้เนื้อหาของมาตรา 256 ว่าด้วยอำนาจของสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนที่สอง คือ การเพิ่มหมวด 15/1 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อจัดตั้ง สสร. จากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรงทั้งหมด
ตัดเงื่อนไข สว. แก้รัฐธรรมนูญ เพิ่มเงื่อนไขเสียง 2 ใน 3 ของสส.
ในร่างแก้รัฐธรรมนูญ ที่ สส. พรรคประชาชน เสนอเพื่อแก้กลไก “วิธีการการแก้ไขรัฐธรรมนูญ” ระบุเหตุผลว่า เพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปตามฉันทามติในวงกว้างของประชาชนหรือความเห็นชอบของ สส. ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน จึงต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 256 ซึ่งใจความหลักของข้อเสนอของพรรคประชาชนในการแก้ไขมาตรา 256 คือตัดเงื่อนไขที่จะต้องได้เสียง สว. หนึ่งในสาม หรือต้องมี สว. เห็นชอบไม่น้อยกว่า 67 คน ในการลงมติเห็นชอบกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระที่หนึ่งและวาระที่สาม เปลี่ยนเป็นต้องอาศัย “เสียงข้างมากเด็ดขาด” คือ ต้องได้เสียงสองในสามของสส.
รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 256 กำหนดวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยวางกลไกตั้งแต่ขั้นการเสนอญัตติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญไปจนถึงขั้นสุดท้ายในการนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขขึ้นทูลเกล้าฯ ซึ่งเป็นกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ยากและซับซ้อนที่สุดในประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญไทย โดยเดิมพื้นฐานวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 แบ่งออกเป็นสามขั้นตอนหลัก คือ
- การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ
- การพิจารณาของรัฐสภา
- การประกาศใช้รัฐธรรมนูญ
ข้อเสนอของพรรคประชาชนจะปรับปรุงทั้งในสามขั้นตอนดังกล่าว ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1: สส. – รัฐสภา เสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ง่ายขึ้น
สำหรับการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น นอกจากคณะรัฐมนตรีและประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 50,000 คนแล้ว สส. และสมาชิกรัฐสภา (สส. และ สว.) ยังมีสิทธิเข้าชื่อกันไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของ สส. (สส. ไม่น้อยกว่า 100 คน) หรือของสมาชิกรัฐสภา (สส.และสว. ไม่น้อยกว่า 140 คน) เพื่อเสนอญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้ หลักเกณฑ์นี้ทำให้ที่ผ่านมาสส. ที่จะเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญได้จะต้องมาจากพรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่มีสส. เกิน 100 คน หรือต้องเกิดจากการเจรจาและ “ดีล” ทางการเมืองจึงจะทำให้ข้อเสนอถูกบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมได้
โดยข้อเสนอของพรรคประชาชนปรับเกณฑ์เงื่อนไขจำนวนขั้นต่ำในการเสนอญัตติ โดยปรับลดจากหนึ่งในห้าเป็น “หนึ่งในสิบ” ซึ่งจะทำให้การเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อรัฐสภาทำได้ง่ายขึ้น โดยเงื่อนไขใหม่นี้จะใช้เสียง สส. ไม่น้อยกว่า 50 คน และสมาชิกรัฐสภา ไม่น้อยกว่า 70 คน เท่านั้น
หรือกล่าวโดยง่ายว่าการปรับเกณฑ์ขั้นต่ำที่ สส. หรือสมาชิกรัฐสภาจะเสนอญัตติแก้รัฐธรรมนูญ ให้น้อยลง “สองเท่า”
ขั้นตอนที่ 2: ตัดเงื่อนไข สว. 1 ใน 3 ใช้เสียง 2 ใน 3 ของ สส. แทน
อุปสรรคหลักในการแก้ไขรัฐธรรมนูญคือการจะต้องผ่านด่าน “รับหลักการ” ในวาระที่หนึ่ง และด่านลงมติในวาระที่สาม ซึ่งในทั้งสองด่านนี้ รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 256 (3) และ (6) ระบุให้ นอกจากที่สมาชิกรัฐสภาจะต้องเห็นด้วยไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งหรือไม่น้อยกว่า 350 คนแล้ว ในจำนวนที่เห็นชอบนี้จะต้องประกอบไปด้วยเสียงเห็นชอบของ สว. ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสาม หรือต้องมี สว. เห็นชอบไม่น้อยกว่า 67 คนอีกด้วย
ด่านรับหลักการ
ข้อเสนอของพรรคประชาชนปรับเปลี่ยนเกณฑ์เงื่อนไขที่รัฐสภาจะมีมติเห็นชอบเพื่อรับหลักการการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยแก้ไขเงื่อนไขในการรับหลักการจากเดิมที่ในจำนวนเห็นชอบไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา หรือไม่น้อยกว่า 350 คนของรัฐสภานั้นจะต้องประกอบไปด้วยเสียงของ สว. ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสาม หรือ สว. เห็นชอบไม่น้อยกว่า 67 คน
แก้ไขเป็นในจำนวนเสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา หรือ ไม่น้อยกว่า 350 คน จะต้องประกอบไปด้วยเสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่าสองในสามของ สส. หรือ สส. เห็นชอบด้วยอีกไม่น้อยกว่า 334 คนแทน ซึ่งจะทำให้การลงมติของรัฐสภาในการพิจารณารับหลักการการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่จำเป็นต้องใช้เสียง สว. อีกต่อไป หาก สว. ทั้งหมดยืนกรานไม่เห็นชอบให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่เสียงเห็นชอบจากสส. รวมกันได้ไม่น้อยกว่า 350 โดยเป็นเสียง สส. อย่างน้อย 334 คนเห็นชอบ ก็ผ่านด่านขั้นแรกไปได้
ด่านวาระที่สาม
เมื่อผ่านด่านรับหลักการและด่านการพิจารณารายมาตราในวาระที่สองแล้ว ในเงื่อนไขการพิจารณาในด่านวาระที่สามนี้ เดิมจะต้องมีเสียงเห็นชอบจากสมาชิกรัฐสภามากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ หรือไม่น้อยกว่า 351 คน และมีเกณฑ์เสียงเห็นชอบมากกว่ากึ่งหนึ่งนี้จะต้องประกอบไปด้วย
- สส. จากพรรคที่ไม่มี สมาชิกเป็นรัฐมนตรี ประธานสภา หรือรองประธานสภา (พรรคฝ่ายค้าน) ร้อยละ 20
- สว. ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสาม หรือไม่น้อยกว่า 67 คน
ซึ่งพรรคประชาชนเสนอแก้ไขหลักเกณฑ์ในวาระสามนี้ โดยให้จำนวนเห็นชอบมากกว่ากึ่งหนึ่งหรือไม่น้อยกว่า 351 เสียงนั้นต้องประกอบไปด้วยเสียงเห็นชอบของ สส. ไม่น้อยกว่าสองในสามหรือ สส. เห็นชอบไม่น้อยกว่า 334 เสียงแทน
โดยสรุปสำหรับในขั้นตอนการพิจารณาของรัฐสภา พรรคประชาชนเสนอตัดเงื่อนไขการลงมติเห็นชอบของ สว. ออกทั้งหมด ซึ่ง สว. จะลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบด้วยจำนวนเท่าไหร่ก็ได้ แต่ญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้จะผ่านอุปสรรคทั้งสองด่านไปได้ ภายใต้หลักเกณฑ์เช่นนี้ รัฐสภาสามารถใช้เพียงเสียง สส. 351 เสียงก็เพียงพอต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งเกินเกณฑ์ทั้งเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา และไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวน สส. อีกด้วย โดย สว. จะลงมติอย่างไรก็ได้
ขั้นตอนที่ 3: ทำประชามติแค่การแก้หมวด 15 – เขียนรัฐธรรมนูญใหม่เท่านั้น
ตามหลักเกณฑ์ของรัฐธรรมนูญ 2560 เมื่อร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญใดๆ ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาทุกเงื่อนไขทุกวาระแล้ว ก่อนที่จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ และประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญ หากว่าในร่างแก้ไขนั้นมีการแก้ไขในประเด็นต่างๆ ดังต่อไปนี้ จะต้องจัดให้มีการทำประชามติเสียก่อนที่จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ
- หมวด 1 บททั่วไป
- หมวด 2 พระมหากษัตริย์
- หมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
- เรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ
- เรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออำนาจของศาล หรือองค์กรอิสระ
- เรื่องที่ทำให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติตามหน้าที่หรืออำนาจได้
พรรคประชาชนเสนอแก้ไขให้จำเป็นต้องทำประชามติเฉพาะการแก้ไขรัฐธรรมนูญในเรื่องที่เกี่ยวกับหมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และการแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เท่านั้น เท่ากับว่า ตามข้อเสนอชุดนี้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมายตราในประเด็นคุณสมบัติของรัฐมนตรี ผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ หรือการแก้ไขอำนาจของศาลและองค์กรอิสระ ไม่จำเป็นต้องทำประชามติอีกต่อไป หากผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้วสามารถนำขึ้นทูลเกล้าฯ ประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญต่อไปได้
ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก่อนขึ้นทูลเกล้าเพิ่มเป็นเกณฑ์ 1 ใน 5
ในกรณีที่สส. หรือสว. บางส่วนเห็นว่า ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภามาแล้ว อาจเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองหรือรูปแบบของรัฐ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 255 หรือเป็นร่างที่ต้องจัดทำประชามติเสียก่อน ให้ สส. สว. หรือสมาชิกรัฐสภา ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบ หรือจำนวนดังนี้
- สส. ไม่น้อยกว่า 50 คน
- สว.ไม่น้อยกว่า 20 คน
- หรือสมาชิกรัฐสภาไม่น้อยกว่า 70 คน
มีสิทธิเข้าชื่อเสนอเรื่องไปยังประธานสภาของตน หรือประธานรัฐสภาให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยได้ โดยในระหว่างที่ศาลยังไม่มีคำวินิจฉัยยังไม่สามารถนำร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่ผ่านความเห็นชอบนี้ขึ้นทูลเกล้าฯได้ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่ที่ได้รับเรื่อง ซึ่งขั้นตอนนี้ยังไม่เคยมีกรณีเกิดขึ้นจริงแต่ก็อาจจะถูกใช้เพื่อ “ถ่วงเวลา” การแก้ไขรัฐธรรมนูญจากฝ่ายที่ต้องการรักษาฐานอำนาจเดิมเอาไว้ให้ยาวนานที่สุดได้
พรรคประชาชนเสนอแก้ไขให้ขั้นตอนนี้ทำได้ยากขึ้น โดยแก้ไขสัดส่วนจากเดิมที่ สส. สว. หรือสมาชิกรัฐสภาไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบมีสิทธิเสนอเรื่องให้เป็นหนึ่งในห้าแทน หรือจำนวนดังนี้
- สส. ไม่น้อยกว่า 100 คน
- สว.ไม่น้อยกว่า 40 คน
- หรือสมาชิกรัฐสภาไม่น้อยกว่า 140 คน
กล่าวโดยง่ายว่าจะต้องใช้เสียงมากขึ้น “สองเท่า” ในการที่จะส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย
เลือกตั้ง สสร. วางแนวทางเขียนรัฐธรรมนูญใหม่
ข้อเสนอของพรรคประชาชนระบุให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยจะมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร. มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง ซึ่งการเสนอนี้ทำโดยการเพิ่มหมวด 15/1 การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งจะมีเพิ่มมาทั้งสิ้น 29 มาตรา ตั้งแต่ มาตรา 256/1 – 256/29
มาตรา 256/1 – 256/29 ระบุตั้งแต่วิธีการได้มาซึ่ง สสร. อำนาจหน้าที่และการกำหนดกรอบระยะเวลาในการทำงานเพื่อเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ของ สสร. วิธีการดำเนินงานของ สสร. ไปจนถึงว่า กระบวนการหาก สสร. ไม่สามารถดำเนินภารกิจเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ได้ทันภายในเงื่อนไขเวลาจะต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป
ตามข้อเสนอของพรรคประชาชน สสร. มีที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนทั้งสิ้น 200 คน โดยแบ่งเป็น
- แบบแบ่งเขตตามจังหวัด 100 คน
- แบบบัญชีรายชื่อโดยใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง 100 คน
คุณสมบัติ สสร. อายุ 18 ก็สมัครได้
ข้อเสนอพรรคประชาชนกำหนดคุณสมบัติของ สสร. ไว้อย่าง “ผ่อนคลาย” ต่างจากคุณสมบัติของ สส. ที่จะต้องอายุ 25 ปี ในวันเลือกตั้ง หรือต่างจาก สว. 2567 ที่จะต้องมีอายุมากถึง 40 ปี รวมถึงไม่ได้กำหนดการศึกษาขั้นพื้นฐานไว้อีกด้วย เป็นการเปิดกว้างให้ประชาชนทุกภาคส่วนสามารถสมัครเพื่อเข้ามาเป็นคนเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ได้
โดยผู้ที่จะสามารถสมัครเป็น สสร. ให้ประชาชนเลือกได้นั้น ตามมาตรา 256/4 จะต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้
- มีสัญชาติไทย
- อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี ในวันเลือกตั้ง สสร.
- ผู้สมัครในแบบแบ่งเขตตามจังหวัดจะต้องมีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
- มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่สมัครติดต่อกันไม่น้อยกว่าหนึ่งปีจนถึงวันสมัคร
- อาศัย ทำงาน หรือเรียน ในเขตเลือกตั้งนั้นติดต่อกันไม่น้อยกว่าหนึ่งปีนับถึงวันเลือกตั้ง สสร.
- เกิดในจังหวัดที่สมัคร
- เคยเรียนอยู่ในสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในจังหวัดที่สมัครติดต่อกันไม่น้อยกว่าสามปีการศึกษา
- เคยรับราชการหรือปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐ เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสามปี
- เคยมีชื่ออยู่ในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้ง เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสามปี
และตามมาตรา 256/6 ผู้ที่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้ ห้ามไม่ให้ลงสมัคร สสร.
- เป็นภิกษุ สามเณร หรือนักบวช
- อยู่ระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ว่าคดีนั้นจะสิ้นสุดแล้วหรือไม่
- วิกลจริต จิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
- ติดยาเสพติดให้โทษ
- ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายศาล
- เคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
- ให้ถูกสั่งได้พ้นราชการหน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจเพราะทุจริตต่อหน้าที่หรือทุจริตหรือประพฤติมิชอบในราชการ
- เคยต้องทำพิพากษาของศาลให้ถึงที่สุดให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติหรือต้องคำพิพากษาอันเป็นที่สุดให้ลงโทษจำคุกเพราะกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
- เคยต้องคำพิพากษาให้ถึงที่สุดว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน กฎหมายเกี่ยวข้องกับยาเสพติดในความผิดฐานเป็นผู้ผลิ ตนำเข้า ส่งออก หรือผู้ค้า กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินในความผิดฐานฟอกเงิน
- เคยต้องทำพิพากษาถึงที่สุดว่าทุจริตในการเลือกตั้ง
- พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากหาประโยชน์จากการพิจารณางบประมาณ หรือถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสินให้มีความผิดตาม รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 144 หรือมาตรา 235
- เป็น สส. สว. หรือรัฐมนตรี
- เป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
- เป็นข้าราชการการเมือง
- เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ
ผู้ที่มีคุณสมบัติครบตามมาตรา 256/4 และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 256/6 สามารถสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้สมัคร สสร. ได้ โดยจะต้องสมัครในรูปแบบอย่างใดอย่างหนึ่ง ระหว่างแบบแบ่งเขตตามจังหวัดและแบบบัญชีรายชื่อ จะสมัครทั้งสองรูปแบบพร้อมกันไม่ได้
สสร. แบ่งเขต ประชาชนเลือกเป็นคน ตามจังหวัด 100 คน
โดยในการเลือก สสร. แบบแบ่งเขตตามจังหวัดจะมี สสร. ทั้งสิ้น 100 คน ผู้สมัครจะต้องสมัครเป็นรายบุคคล (ไม่สังกัดทีมหรือพรรค) ซึ่งจะชี้วัดกันที่ผลการเลือกตั้งในจังหวัดโดยให้เรียงคะแนนตามลำดับจนครบจำนวน สสร. พึงมีในแต่ละจังหวัด และให้ผู้สมัครที่ได้คะแนนมากที่สุดซึ่งอยู่ในจำนวน สสร. พึงมีของจังหวัดนั้นเป็นผู้ได้รับเลือกเป็น สสร. แบบแบ่งเขตตามจังหวัด
แต่ละจังหวัดจะมี สสร. ได้จำนวนไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับจำนวนประชากร ซึ่งมาตรา 256/2 ได้กำหนดวิธีคำนวณ สสร. ที่แต่ละจังหวัดจะพึงมีไว้ดังนี้
- ใช้จำนวนราษฎรทั้งประเทศตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรที่ประกาศในปีสุดท้ายก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง สสร. เฉลี่ยด้วยจำนวน สสร. แบบแบ่งเขต คือ 100 คน
เช่น หากประเทศไทยมีราษฎรทั้งประเทศ 60 ล้านคนเมื่อเฉลี่ยด้วยจำนวน สสร. 100 คน ก็จะได้ราษฎร 600,000 คน ต่อ สสร.หนึ่งคน หากจังหวัดใดมีประชากร 600,000 คนพอดี ก็ถือว่ามี สสร หนึ่งคน
- จังหวัดใดมีราษฎรไม่ถึงเกณฑ์ สสร.หนึ่งคน ให้จังหวัดนั้นมี สสร. ได้หนึ่งคนเท่านั้น
เช่น เมื่อมีการเฉลี่ยจำนวนราษฎรต่อสสร.แบบจังหวัดหนึ่งคนแล้ว หากจังหวัด ข. มีจำนวนราษฎรเพียง 300,000 คนให้ถือว่าจะมี สสร. พึงมี ได้ หนึ่งคน
- ส่วนจังหวัดใดมีราษฎรเกินจำนวนราษฎรต่อจำนวน สสร. หนึ่งคน ให้จังหวัดนั้นเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคนทุกจำนวนราษฎรที่ถึงเกณฑ์ราษฎรต่อ สสร. หนึ่งคน แต่จะเพิ่มให้จังหวัดใดมี สสร. เกินห้าคนไม่ได้
เช่น เมื่อมีการเฉลี่ยจำนวนราษฎร 600,000 คน ต่อสสร.แบบจังหวัดหนึ่งคน หากจังหวัด ค. มี ประชากร 3,600,000 คน เมื่อคำนวณแล้ว จังหวัด ค. จะต้องมี สสร. พึงมีหกคน แต่ในข้อที่ 3 นี้ระบุให้มีเพียงห้าคนเท่านั้น จึงทำให้ จังหวัด ค. จะมี สสร. ได้แค่เพียงห้าคน แม้ว่าจะมีจำนวนราษฎรเกินเกณฑ์ก็ตาม
- เมื่อคำนวณหา สสร. พึงมีของแต่ละจังหวัดแล้วพบว่ามีจำนวน สสร. แบ่งเขตตามจังหวัดทั้งหมดไม่ครบ 100 คน ให้จังหวัดที่มีเศษเหลือจากการคำนวณมากที่สุด ให้จังหวัดนั้นมี สสร. เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคน และให้เพิ่ม สสร. ตามวิธีการเดียวกันแก่จังหวัดที่มีเศษรองลงมาตามลำดับ จนกว่าจะมีจำนวน สสร. ครบ 100 คน
เช่น เมื่อมีการเฉลี่ยจำนวนราษฎร 600,000 คน ต่อสสร.แบบจังหวัดหนึ่งคน หากจังหวัด ง มีราษฎรทั้งสิ้น 1,799,900 คน เมื่อนำจำนวนราษฎรมาคำนวณแล้วจะต้องมี สสร. พึงมีเพียง 2 คน แต่เนื่องด้วยมีเศษส่วนต่างสูงถึง 599,900 คน จังหวัด ง. จะมีจำนวน สสร. พึงมีเพิ่มอีกหนึ่งคน และให้ใช้วิธีการดังกล่าวนี้กับจังหวัดที่มีเศษส่วนต่างน้อยกว่าจังหวัด ง. ไปตามลำดับ
- เมื่อคำนวณหา สสร. พึงมีของแต่ละจังหวัดแล้วพบว่ามีจำนวน สสร. แบ่งเขตตามจังหวัดทั้งหมดเกิน 100 คน ให้จังหวัดที่มีการคำนวณว่ามี สสร. พึงมีตั้งแต่สองคนขึ้นไป และมีเศษที่เหลือจากการคำนวณน้อยที่สุด ให้จังหวัดนั้นลดจำนวน สสร. ลงหนึ่งคน และให้ลดจำนวน สสร. ตามวิธีการเดียวกันแก่จังหวัดที่มีเศษที่เหลือในลำดับรองลงมาตามลำดับจนมีจำนวน สสร. ครบ 100 คน
เช่น เมื่อมีการเฉลี่ยจำนวนราษฎร 600,000 คน ต่อสสร.แบบจังหวัดหนึ่งคน และในขณะนี้มี สสร.ที่คำนวนมาแล้ว 102 คน ซึ่งจังหวัด จ. มีราษฎรทั้งสิ้น 1,200,200 คน ซึ่งถือว่ามีเศษส่วนต่างน้อยที่สุดในบรรดาทุกจังหวัดและถูกคำนวณให้มี สสร. สามคน จังหวัด จ. จะต้องลดจำนวน สสร. พึงมีในจังหวัดนี้ลงหนึ่งคน และหากจังหวัด ฉ. มีราษฎรทั้งสิ้น 1,200,205, คน ซึ่งเป็นลำดับถัดไปที่มีเศษส่วนต่างน้อยที่สุดจากจังหวัด จ. และถูกคำนวณให้ต้องมี สสร. พึงมี 3 คนเช่นเดียวกัน ก็จะต้องลดจำนวน สสร. ลงหนึ่งคนด้วย ให้ สสร. มีจำนวนเท่ากับ 100 คน
วิธีการดังกล่าวนี้จะถูกทำซ้ำไปจนกว่าที่จะมี สสร. แบบแบ่งเขตตามจังหวัดครบ 100 คนพอดี
สมัครเป็นทีม ประชาชนเลือกเป็นทีม ใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง 100 คน
ส่วนการสมัครแบบบัญชีรายชื่อ มาตรา 256/9 ผู้สมัครจะต้องสมัครเป็นทีม โดยแต่ในละทีมจะต้องมีผู้สมัครรวมกันทีมละไม่น้อยกว่า 20 คน แต่ต้องไม่เกิน 100 คน โดยแต่ละทีมจะต้องจัดทำบัญชีรายชื่อที่มีการเรียงลำดับผู้สมัครในทีมด้วย โดยในแต่ละทีมต่างๆจะต้องมีผู้สมัครที่ไม่ซ้ำกัน
ซึ่งประชาชนจะต้องลงคะแนนเลือกผู้สมัครในแบบบัญชีนี้เป็นทีมและจะเลือกได้เพียงหนึ่งทีมเท่านั้น
ส่วนวิธีการคำนวณคะแนนว่าทีมใดจะมี สสร. แบบบัญชีรายชื่อเท่าไหร่ ให้ดำเนินการคล้ายการคำนวนสส. ระบบบัญชีรายชื่อ ดังนี้
- ให้รวมผลคะแนนทั้งหมดที่ทุกทีมได้รับจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อทั้งประเทศ
- ให้คำนวณคะแนนรวมตามข้อที่ 1 นำมาหารด้วย 100 ร้อย ซึ่งเป็นจำนวน สสร. แบบบัญชีรายชื่อ ผลลัพธ์ที่ได้ให้ถือว่าเป็นคะแนนเฉลี่ยต่อ สสร. หนึ่งคน
เช่น มีจำนวนบัตรดีที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง สสร. ในแบบบัญชีรายชื่อรวมกัน 30,000,000 คะแนน เมื่อนำมาหารด้วยจำนวน สสร. คือ 100 คน จะเท่ากับ ราษฎร 300,000 คน ต่อ สสร. แบบบัญชีรายชื่อหนึ่งคน
- ในการคำนวณหาจำนวน สสร. ที่แต่ละทีมจะพึงมี ให้นำคะแนนรวมจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละทีมได้รับ หารด้วยคะแนนเฉลี่ยต่อ สสร. หนึ่งคน ผลลัพธ์ที่ได้เฉพาะส่วนที่เป็นจำนวนเต็มคือจำนวน สสร. ที่ทีมนั้นพึงมี
เช่น เมื่อมีการเฉลี่ยจำนวนราษฎร 300,000 คน ต่อสสร.แบบบัญชีรายชื่อหนึ่งคนหากทีม ก. ซึ่งมีผู้สมัครในทีม 20 คน ได้รับคะแนนเลือกประชาชน 300,001 คน ในทีมนั้นก็ผู้ที่อยู่ในลำดับบัญชีรายชื่อแรกสุดก็จะได้รับเลือกให้เป็น สสร. เพียงหนึ่งคนในทีมนั้น
- ในกรณีที่มีการคำนวณ สสร. ที่แต่ละทีมได้รับมีจำนวนไม่ครบ 100 คน ให้ทีมที่มีผลลัพธ์เป็นเศษโดยไม่มีจำนวนเต็ม และทีมที่มีเศษหลังจากการคำนวณจำนวนเต็มทีมใดเป็นเศษที่มีจำนวนมากที่สุด ให้ได้รับจำนวน สสร. ที่คำนวณในข้อที่ 2 อีกหนึ่งคนตามลำดับ จนกว่าจะมี สสร. ที่ทีมทั้งหมดจะพึงมีจนครบจำนวน 100 คน
เช่น เมื่อมีการเฉลี่ยจำนวนราษฎร 300,000 คน ต่อสสร.แบบบัญชีรายชื่อหนึ่งคน ทีม ข. ได้รับคะแนนจากประชาชน 599,999 คน ตามข้อที่ 3 จะมี สสร. แบบบัญชีรายชื่อได้เพียงหนึ่งคน แต่หากจำนวน สสร. ยังไม่ครบ 100 คน ให้ถือว่าทีม ข. ซึ่งเป็นทีมที่มีเศษเป็นจำนวนมากที่สุดแล้วมี สสร. แบบบัญชีรายชื่อเพิ่มอีกหนึ่งคน
- ในกรณีที่มีการดำเนินการตามข้อที่ 4 จนทำให้มีจำนวน สสร. เกินจำนวน 100 คน ถ้าในลำดับใดมีเศษเท่ากันให้ตัวแทนของทีมที่มีเศษเท่ากันจับสลากตามวันและเวลาที่ กกต. กำหนด เพื่อให้ได้ สสร. ครบตามจำนวน
ให้ถือว่าผู้สมัครตามบัญชีรายชื่อตามจำนวนที่ทีมนั้นได้รับการคำนวณเมื่อเฉลี่ยคะแนนแล้ว ได้รับเลือกตั้งเรียงตามลำดับหมายเลขในบัญชีรายชื่อของทีมนั้นให้ครบจำนวน แต่ต้องไม่เกินจำนวนเท่าที่มีอยู่ในบัญชีรายชื่อในทีมนั้นได้ส่งสมัคร ในกรณีที่ยังขาดอยู่ ให้ สสร. แบบบัญชีรายชื่อ ประกอบด้วยสมาชิกเท่าที่มีอยู่
เลือก สสร. ประชาชนกาบัตรสองใบ เลือกคนหนึ่งใบ เลือกทีมหนึ่งใบ
การเลือกตั้ง สสร. ให้ใช้วิธีออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับเหมือนกับการเลือกตั้ง สส. โดยให้ใช้บัตรเลือกตั้งแบบละหนึ่งใบ คือ เลือก สสร. แบบเบ่งเขตจังหวัดหนึ่งใบ และเลือกสสร.แบบบัญชีรายชื่อที่จะเลือกเป็นทีมอีกหนึ่งใบ เท่ากับว่าประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งหนึ่งคนจะต้องใช้สิทธิลงคะแนนเลือก สสร. ในบัตรทั้งสิ้นสองใบ
ซึ่งผู้มีสิทธิเลือกตั้งนั้นจะต้องมีสัญชาติไทย อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีในวันเลือกตั้ง สสร.และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 90 วันนับถึงวันเลือกตั้ง สสร. โดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ไม่ได้อยู่บ้าน สามารถลงทะเบียนเพื่อขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขต หรือเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรได้
คิ๊กออฟรับสมัคร สสร. ภายใน 30 วัน ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่อีก 360 วัน
ข้อเสนอแก้รัฐธรรมนูญ ตั้ง สสร. ของพรรคประชาชน มาตรา 5 ระบุให้ต้องตราพระราชกฤษฎีกากำหนดให้มีการรับสมัคร สสร. ภายใน 30 วันนับแต่ที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ และมาตรา 256/11 กำหนดให้ กกต. จะต้องจัดให้มีการเลือกตั้ง สสร. ให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน ซึ่งจะต้องกำหนดให้วันเลือกตั้งเป็นวันเดียวกันทั้งประเทศ เมื่อได้มีการเลือกตั้ง สสร. แล้ว กกต. จะต้องประกาศรับรองผลการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน
เมื่อ กกต.ประกาศผลการเลือกตั้ง สสร. แล้วจะต้องมีการจัดให้มีการประชุม สสร. ไม่ช้ากว่า 15 วันนับแต่ที่มีประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง สสร. ซึ่งสภาร่างรัฐธรรมนูญสามารถมีประธานสภา สสร.หนึ่งคน และรองประธานสภา สสร. หนึ่งหรือสองคนก็ได้
สสร.ภายใต้หมวด 15/1 จะมีอำนาจและหน้าที่ดังต่อไปนี้
- จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้แล้วเสร็จภายใน 360 วันนับแต่ที่มีการประชุม สสร. ครั้งแรก ซึ่งหาก สสร. ไม่สามารถจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เสร็จภายในเวลาที่กำหนดไว้ได้อำนาจหน้าที่ของ สสร. ชุดนั้นจะสิ้นสุดลงทันที ซึ่งจะต้องมีการเลือกตั้ง สสร. ใหม่ขึ้นอีกครั้ง และ สสร. ชุดเดิมจะไม่สามารถเป็น สสร. ได้อีก
- จัดทำ พ.ร.ป. ที่ถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้แล้วเสร็จภายใน 180 วันนับแต่ที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประกาศใช้แล้ว ซึ่งจะต้องดำเนินการทันทีที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของ สสร. ให้ สสร. จัดให้มีการรับฟังความเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึง โดยให้ สสร. คณะรัฐมนตรีและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องมีการเผยแพร่เนื้อหาสาระและความคืบหน้าในร่างรัฐธรรมนูญผ่านสื่อมวลชนและเวทีแสดงความคิดเห็นต่างๆ
การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ อยู่ภายใต้กรอบว่าไม่สามารถเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือมีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ
ตั้ง กรธ. เป็นทีมยกร่าง ตั้งคนนอก สสร. ได้ 1 ใน 3
ในร่างของพรรคประชาชนมาตรา 256/20 ระบุว่าให้ สสร. แต่งตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ขึ้นมาคณะหนึ่งเพื่อทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญตามแนวทางที่ สสร. กำหนด เพื่อเสนอต่อ สสร. ซึ่งจะต้องประกอบไปด้วยกรรมาธิการจำนวนอย่างน้อย 45 คน โดยต้องแต่งตั้งจากบุคคลซึ่งเป็น สสร. อย่างน้อย 2 ใน 3 ส่วนที่เหลืออาจตั้งคนนอกผู้มีความรู้หรือความเชี่ยวชาญในประเด็นต่างๆ เข้ามาเป็นทีมยกร่างก็ได้ ซึ่งกลไกนี้จะทำให้สามารถมีตัวแทนของนักกฎหมายมหาชน หรือผู้เชี่ยวชาญทางเทคนิคเข้ามาร่วมยกร่างรัฐธรรมนูญโดยที่ไม่ได้มีอำนาจตัดสินใจเหนือไปกว่าสสร. จากการเลือกตั้ง
เมื่อ สสร. จัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วให้นำเสนอต่อรัฐสภา ซึ่งรัฐสภาจะต้องพิจารณาเพื่ออภิปรายแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่ที่ได้รับร่างโดยไม่มีการลงมติ เมื่ออภิปรายเสร็จสิ้นแล้วให้ประธานรัฐสภานำร่างรัฐธรรมนูญส่งให้ กกต. ภายใน 7 วัน เพื่อจัดให้มีการลงประชามติว่าประชาชนเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับ สสร. นี้หรือไม่
กกต. จะต้องประกาศกำหนดวันออกเสียงประชามติซึ่งต้องไม่เร็วกว่า 90 วันและไม่ช้ากว่า 120 วันนับแต่ที่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญจากรัฐสภา โดยคำถามที่ใช้ถามประชาชนในการออกเสียงประชามติจะต้องชัดเจน เข้าใจง่าย ไม่ชี้นำ และเป็นกลางต่อทุกฝ่าย เมื่อมีการออกเสียงประชามติแล้ว กกต. จะต้องประกาศผลการออกเสียงประชามติให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน
หากผลการออกเสียงประชามติ “เห็นชอบ” ด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญของ สสร. ให้ประธาน สสร. นำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ และประกาศในราชกิจจานุเบกษา แต่หากผลประชามติมีข้อยุติว่า “ไม่เห็นชอบ” กับร่างรัฐธรรมนูญของ สสร.ให้ร่างรัฐธรรมนูญนั้น “ตกไป”
รวมทั้งสิ้นในกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามข้อเสนอของพรรคประชาชนจะมีไทม์ไลน์ดังนี้
- กกต.จะต้องประกาศรับสมัครและจัดการเลือกตั้ง สสร. ให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับแต่ที่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ฉบับแก้ไขตามข้อเสนอพรรคประชาชน
- เมื่อเลือกตั้ง สสร. แล้ว กกต.จะต้องประกาศรับรองผลให้เสร็จภายใน 15 วัน นับแต่วันเลือกตั้ง สสร.
- การประชุม สสร. นัดแรกจะต้องจัดขึ้นไม่ช้ากว่า 15 วันนับตั้งแต่ที่ กกต. ประกาศรับรองผลแล้ว
- นับแต่การประชุม สสร. นัดแรก สสร. จะต้องรับฟังความเห็นและจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เสร็จภายใน 360 วัน
- เมื่อ สสร. จัดทำร่างเสร็จสิ้นแล้วจะต้องส่งให้รัฐสภาเพื่ออภิปรายแสดงความคิดเห็นร่างฉบับ สสร. โดยไม่ลงมติให้เสร็จภายใน 30 วัน นับแต่ที่ สสร. นำเสนอร่างต่อรัฐสภา
- และเมื่อรัฐสภาอภิปรายเสร็จสิ้นแล้วต้องส่งให้ กกต. ภายใน 7 วันเพื่อจัดทำประชามติ
- กกต. จะต้องจัดทำประชามติเพื่อให้ประชาชนเห็นชอบกับร่างฉบับ สสร. ไม่เร็วกว่า 90 วัน แต่ต้องไม่ช้ากว่า 120 วัน นับแต่วันที่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญจากรัฐสภา
- และ กกต. จะต้องประกาศผลการออกเสียงประชามติให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน นับแต่วันลงประชามติ
- หากว่าผลประชามติเห็นชอบกับร่างฉบับ สสร. สามารถนำร่างขึ้นทูลเกล้าฯ ประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญใหม่ได้
หากว่าทุกตัวแสดงในกระบวนการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ไม่ว่าจะ กกต. สสร. หรือรัฐสภาใช้เวลาเต็มตามที่ข้อเสนอของพรรคประชาชนระบุว่าต้องไม่เกินกี่วันแล้ว ไทม์ไลน์การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ของพรรคประชาชนจะใช้กรอบเวลา 622 วัน นับตั้งแต่ข้อเสนอตามร่างฉบับนี้ประกาศใช้จริง
หากไม่ผ่านประชามติ กระบวนการจะต้องเริ่มใหม่ตั้งแต่เลือกตั้ง สสร.
ในกรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ สสร. จัดทำขึ้นถูกประชาชนส่วนใหญ่ลงมติไม่เห็นชอบ บุคคลดังต่อไปนี้ มีสิทธิเสนอญัตติต่อรัฐสภาเพื่อให้รัฐสภามีมติให้การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ได้
- คณะรัฐมนตรี หรือ
- สส. ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของ สส. หรือ
- สมาชิกรัฐสภาไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของรัฐสภาของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของรัฐสภา
การลงมติเพื่อให้ความเห็นชอบในญัตตินี้ จะต้องมีเสียงเห็นชอบด้วยมากกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งรัฐสภา หรืออย่างน้อย 351 เสียง ซึ่งในจำนวนนี้จะต้องมี สส. เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของ สส. ทั้งนี้ หากรัฐสภาลงมติไม่เห็นชอบกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ญัตตินี้จะเสนออีกไม่ได้จนกว่าจะมีการเลือกตั้งครั้งต่อไป
เท่ากับว่า หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ ก็ยังไม่ได้หมายความว่าจะต้องอยู่กับรัฐธรรมนูญ 2560 ตลอดไป รัฐสภาแต่ละชุดสามารถลงมติเห็นชอบ เพื่อจะให้มีการดำเนินกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นอีกครั้งได้ โดยเริ่มใหม่ตั้งแต่ขั้นตอนการเลือกตั้ง สสร. ซึ่ง สสร. ที่จะถูกเลือกเข้ามาใหม่นี้บุคคลเดิมจะเป็นซ้ำอีกไม่ได้