ในทุกวันสิ้นปีถือเป็นโอกาสดีที่จะได้ถอดบทเรียน ทบทวนอดีตถึงสิ่งใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นและสิ่งเก่าๆ ที่ผ่านไป เพื่อเริ่มปีใหม่ที่จะก้าวไปข้างหน้าโดยไม่เดินวนซ้ำเส้นทางที่ผ่านมา เตือนความจำกันซักหน่อยว่า สถานการณ์การเมืองไทยตลอดปี 2567 ผ่านอะไรกันมา และประชาชนไทยได้อะไรใหม่บ้าง
“สว.ใหม่” ที่ไม่ได้มาจากทหาร แต่มาจากการ “เลือกกันเอง”
ในปี 2567 ประเทศไทยใช้งานระบบการเลือกสมาชิกวุฒิสภาหรือ สว. แบบใหม่ที่ไม่เคยมีที่ไหนในโลก ที่ชื่อว่าระบบการ “แบ่งกลุ่ม-เลือกกันเอง” โดยผู้ที่มีสิทธิลงคะแนนเลือก สว. ต้องเป็นผู้ที่ลงสมัครเพื่อจะเป็น สว. โดยมีคุณสมบัติที่ต้องอายุ 40 ปีขึ้นไป และต้องจ่ายค่าสมัคร 2,000 บาท สมัครตามกลุ่มอาชีพที่มีความเชี่ยวชาญมากกว่า 10 ปีขึ้นไป และต้องสมัครในเขตพื้นที่ที่มีความเกี่ยวข้องตามเงื่อนไข
เมื่อกลางปี 2567 ประชาชนไทยก็ได้เห็นโฉมหน้า สว.ชุดใหม่ 200 คน ที่มีเสียงส่วนใหญ่เชื่อมโยงกับอิทธิพลทางการเมืองในระดับจังหวัด การทำงานในสภาก็มีมติความเห็นไปในทิศทางเดียวกับพรรคภูมิใจไทย ในช่วงปลายปีก็ฝากผลงานเด่น คือ การเห็นค้านกับการแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติฯ ที่ผ่านความเห็นชอบจาก สส. แล้ว หรือการใช้อำนาจของสว. “ยับยั้งกฎหมาย” ส่งผลให้การทำประชามติรัฐธรรมนูญใหม่ไม่ได้เกิดขึ้นจริงเสียที และในปี 2568 “สว.ใหม่” ยังมีอำนาจเห็นชอบองค์กรอิสระที่ทะยอยหมดวาระอีกด้วย อ่านบทสรุป สว.67 https://www.ilaw.or.th/articles/41759
“นายกฯ ใหม่” จากพรรคเดิม
หลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติ เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2567 ให้เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย พ้นจากตำแหน่ง เหตุจากการแต่งตั้ง “พิชิต ชื่นบาน” สภาผู้แทนราษฎรนัดประชุมเป็นการด่วนในวันที่ 16 สิงหาคม 2567 เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลมีฉันทามติเสนอแพทองธาร เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 31 ของประเทศไทย เป็นนายกรัฐมนตรีที่มีอายุน้อยที่สุดเท่าที่เคยมีมาของประเทศไทย และเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนที่ 2 ต่อจากยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และเป็นนายกรัฐมนตรีที่ใช้นามสกุล “ชินวัตร” คนที่ 3
การลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งนี้เป็นครั้งแรกหลังการประกาศใช้รัฐธรรนูญ 2560 ที่ไม่มีสมาชิกวุฒิสภา (สว.) เข้ามาร่วมลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีด้วยเหมือนการเลือกเมื่อปี 2562 หรือ 2566 เนื่องจากบทเฉพาะกาล มาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดกรอบระยะเวลาที่ สว. จะมีส่วนร่วมในการเลือกนายกรัฐมนตรีไว้เพียงแค่ 5 ปี
อ่านผลมติสภาผู้แทนราษฎรเลือกนายกคนที่ 31 https://www.ilaw.or.th/articles/41168
“ผู้นำฝ่ายค้านคนใหม่”
7 สิงหาคม 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกลจากการถูกร้องว่ากระทำการล้มล้างการปกครองฯ และกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองฯ เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคเป็นระยะเวลา 10 ปี
อ่านคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญกรณียุบพรรคก้าวไกล https://www.ilaw.or.th/articles/40880
ต่อมาวันที่ 9 สิงหาคม 2567 อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกลที่เหลือย้ายบ้านหลังใหม่ไปยัง “พรรคประชาชน” นำโดย ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ เป็นหัวหน้าพรรค เนื่องจากพรรคประชาชนมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากที่สุดในกลุ่มพรรคการเมืองฝ่ายค้าน ทำให้ภายหลังเสร็จสิ้นการแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 64 ณัฐพงษ์จึงเป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรไปโดยปริยาย และมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเมื่อวันที่ 25 กันยายน ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม และณัฐพงษ์เป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรไทยที่มีอายุน้อยที่สุดเมื่อเข้าดำรงตำแหน่ง
“สมรสเท่าเทียม”
วันที่ 24 กันยายน 2567 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567 หรือกฎหมาย #สมรสเท่าเทียม ซึ่งมีเนื้อหารับรองการสมรสระหว่างบุคคล โดยไม่จำกัดเฉพาะชาย-หญิง อีกต่อไป โดยกฎหมายนี้จะมีผลบังคับใช้เมื่อพ้น 120 นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ดังนั้น ในปีหน้าตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม 2568 เป็นต้นไป กฎหมายแพ่งใหม่จึงจะมีผลใช้บังคับระหว่าง บุคคลกับบุคคล ไม่ว่าเพศกำเนิดระบุไว้อย่างไรก็สามารถจดทะเบียนสมรสกันได้
อ่านรายละเอียดเนื้อหา #สมรสเท่าเทียมเพิ่มเติม https://www.ilaw.or.th/articles/43563
_______________
ปี 2568 การเมืองไทยยังคงมีหมุดหมายที่ชวน ร่วมคิด ร่วมฝัน ร่วมจับตากันต่อไม่ว่าจะเป็น
“รัฐธรรมนูญใหม่”
ที่เป็นคำมั่นสัญญาของทั้งพรรคแกนนำรัฐบาลและฝ่ายค้าน ที่รอทำประชามติและยังคงเลื่อนไปเรื่อยๆ ด้วยการจับมือขวางของเหล่าสมาชิกวุฒิสภาและสส. พรรคภูมิใจไทย
“สมรสเท่าเทียม”
ในปีหน้าสำหรับคู่รักไม่ว่าเพศไหนสามารถจูงมือไปจดทะเบียนสมรสได้ ตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม 2568 เป็นต้นไป กฎหมายแพ่งแก้ไขใหม่จะมีผลบังคับใช้ รับรองสิทธิระหว่าง “คู่สมรส” ทั้งสิทธิการสมรส สิทธิในการให้ความยินยอมรักษาพยาบาล การรับบุตรบุญธรรมร่วมกัน สิทธิประโยชน์ตามกฎหมายประกันสังคม สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี และสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายอื่นๆ
“การเลือกตั้ง อบจ.”
หรือ การเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด ทั้งตำแหน่งสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด และนายกฯ สำหรับจังหวัดที่ยังไม่มีการเลือกตั้งซ่อมนายก อบจ. การเลือกตั้งจะมีขึ้นวันเสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ซึ่งจะไม่มีการเลือกตั้งล่วงหน้า และการเลือกตั้งนอกเขต อีกทั้งยังเป็นวันที่ตรงกับงานรับปริญญามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ด้วยอุปสรรคมากมาย ชวนส่งเสียงให้ประชาชนกลับบ้านไปใช้สิทธิเลือกตั้งในเขตทะเบียนบ้านของตัวเองให้ได้มากที่สุด ซึ่งต่อจากนั้นในปีเดียวกันก็จะมีทั้งการเลือกตั้งผู้บริหารเทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบลด้วย
“นิรโทษกรรมคดีการเมือง”
ประเด็นข้อถกเถียงทางการเมืองที่สำคัญที่อาจจะเข้าสภาในช่วงต้นปี 2568 คือ การออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับคดีความจากการชุมนุมทางการเมือง ข้อถกเถียงสำคัญในการออกกฎหมายนิรโทษกรรม คือ จะนิรโทษกรรมให้กับความผิดที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงเวลาใดบ้าง และจะนิรโทษกรรมให้กับคดีมาตรา 112 ที่กำลังมีคดีความดำเนินอยู่กว่า 300 คดี และเป็นข้อหาที่ทำให้คนติดคุกเป็นจำนวนมากหรือไม่
ในปีหน้าจะได้เห็นสิทธิในการสมรสได้ถูกปลดล็อค การมีส่วนร่วมของประชาชนผ่านการเลือกตั้งยังคงเป็นที่ตั้งคำถามถึงการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนมีส่วนร่วม สิทธิการแสดงออกทางการเมืองยังเป็นที่ถกเถียง และสถานการณ์รัฐธรรมนูญใหม่ที่ผ่านไปหนึ่งปีกว่าไม่มีความคืบหน้า แล้วตัวคุณอยากได้อะไรใหม่ในปี 2568 ?