วันที่ 18 ธันวาคม 2567 สภาผู้แทนราษฎรมีวาระประชุมเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ร่างพ.ร.บ.ประชามติฯ) ซึ่งผ่านการพิจารณาของกรรมาธิการร่วมกันมาแล้ว เหตุที่ต้องพิจารณาด้วยกรรมาธิการร่วมกัน สืบเนื่องมาจากฝั่งวุฒิสภา “แก้ไข” เนื้อหาร่างกฎหมายดังกล่าวและฝั่งสภาผู้แทนราษฎรไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข หลังจากกรรมาธิการร่วมกันพิจารณาเสร็จโดยคงเนื้อหาไว้ตามที่วุฒิสภาแก้ ได้ส่งร่างกลับมาให้ทั้งสองสภาลงมติ
โดยที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติ “ไม่เห็นชอบ” กับร่างพ.ร.บ.ประชามติฯ ที่ผ่านการพิจารณาจากกรรมาธิการร่วม ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 61 เสียง ไม่เห็นด้วย 326 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง เมื่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่เห็นชอบร่างกฎหมายดังกล่าว จึงต้อง “ยับยั้ง” ไว้ 180 วัน
กระบวนการพิจารณาร่างกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ให้อำนาจหลักในการพิจารณากฎหมายอยู่ที่สภาผู้แทนราษฎร หากฝั่งวุฒิสภาไม่เห็นชอบ หรือแก้ไขร่างกฎหมายนั้น จะต้องส่งกลับไปให้สภาผู้แทนราษฎรลงมติยืนยัน กรณีที่วุฒิสภาแก้ไขร่างกฎหมายที่ผ่านมือสภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว หากส่งกลับไปให้สภาผู้แทนราษฎรแล้วสภาเห็นด้วยกับการแก้ไข ก็นำไปสู่กระบวนการประกาศใช้ แต่หากสภาผู้แทนราษฎรไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข จะต้องตั้งกรรมาธิการร่วมกันซึ่งประกอบด้วยผู้ได้รับการเสนอชื่อจากสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาฝั่งละเท่าๆ กัน เพื่อมาพิจารณาร่างกฎหมายนั้น หากพิจารณาแล้วเสร็จก็ต้องส่งกลับไปให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาให้ความเห็นชอบ หากมีสภาใดสภาหนึ่งไม่เห็นชอบ จะต้อง “ยับยั้ง” ร่างพระราชบัญญัตินั้นไว้ก่อน และสภาผู้แทนราษฎรจะนำร่างพระราชบัญญัติที่ถูกยับยั้งนั้นขึ้นมาพิจารณาใหม่ได้ นับแต่เมื่อ “พ้น 180 วัน” นับแต่วันที่สภาใดสภาหนึ่งไม่เห็นชอบ
กรณีของร่างพ.ร.บ.ประชามติฯ จะพ้น 180 วันในวันที่ 17 มิถุนายน 2568 อย่างไรก็ดี วันดังกล่าวยังอยู่ในช่วงปิดสมัยประชุมสภา ซึ่งจะเปิดสมัยประชุมในวันที่ 3 กรกฎาคม 2568
เส้นทางการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว ในชั้นสภาผู้แทนราษฎรเสนอปลดล็อกเงื่อนไขเสียงข้างมากสองชั้นตามพ.ร.บ.ประชามติฯ พ.ศ. 2564 ที่ใช้บังคับอยู่ มาใช้เสียงข้างมากธรรมดาแทน เพื่อลดเงื่อนไขให้การทำประชามติไม่ว่าเรื่องใดหาข้อยุติได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ดี เมื่อร่างพ.ร.บ.ประชามติฯ มาถึงมือวุฒิสภา สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ข้างมากก็โหวต “พลิกกลับ” ให้ใช้เสียงข้างมากสองชั้นกับกรณีการทำประชามติสองกรณี คือ 1) ประชามติสืบเนื่องจากการแก้รัฐธรรมนูญบางเรื่องที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 256 กำหนดให้ต้องทำประชามติ และ 2) ประชามติกรณีที่ ครม. เคาะทำ ในเรื่องที่เกี่ยวกับการแก้รัฐธรรมนูญ
หลัง สว. แก้ไขเนื้อหาร่างพ.ร.บ.ประชามติฯ ก็ได้ส่งร่างกลับไปให้ฝั่ง สส. พิจารณาต่อ ซึ่งในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อ 9 ตุลาคม 2567 สส. ส่วนใหญ่มีมติ “ไม่เห็นด้วย” กับการแก้ไขของ สว. 348 เสียง ไร้เสียงเห็นด้วย และงดออกเสียง 65 เสียงจากสส. พรรคภูมิใจไทย ซึ่งมีทิศทางที่ “เห็นด้วย” กับการแก้ไขของ สว. โดยระหว่างการพิจารณา แนน บุณย์ธิดา สมชัย และ มัลลิกา จิระพันธุ์วาณิช สส. จากพรรคภูมิใจไทย อภิปรายเห็นด้วยกับการแก้ไขของ สว. โดยระบุว่า การปรับมาใช้เกณฑ์เสียงข้างมากสองขั้น “คล้าย” กับร่างของพรรคภูมิใจไทยที่เคยเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรในวาระหนึ่ง
เพราะเหตุฝั่ง สส. ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขร่างพ.ร.บ.ประชามติฯ ของฝั่ง สว. จึงนำไปสู่การตั้งกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณา ซึ่งประกอบด้วยผู้ได้รับการเสนอชื่อจากฝั่ง สส. และฝั่ง สว. ฝั่งละ 14 คนรวม 28 คน หลังกรรมาธิการร่วมกันพิจารณาแล้วเสร็จ กรรมาธิการข้างมากยืนยันเนื้อหาร่างพ.ร.บ.ประชามติฯ ตามที่ฝั่ง สว. แก้ไข ขั้นตอนหลังจากนั้นคือต้องส่งให้วุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรลงมติ
ในการประชุมวุฒิสภาเมื่อ 17 ธันวาคม 2567 ที่ประชุมวุฒิสภาก็ลงมติเห็นด้วยกับร่างที่ผ่านกรรมาธิการร่วมกันมาแล้ว ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 153 เสียง ไม่เห็นด้วย 24 เสียง งดออกเสียง 13 เสียง
ขณะที่ฝั่งสภาผู้แทนราษฎร ในการประชุม 18 ธันวาคม 2567 สส. หลายรายต่างอภิปรายไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขของ สว. และยืนยันว่าควรใช้กติกาเสียงข้างมากชั้นเดียวเพื่อไม่ให้การทำประชามติโดยเฉพาะการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อเขียนรัฐธรรมนูญใหม่มีเงื่อนไขยุ่งยาก เช่น
จุลพงศ์ อยู่เกษ สส. พรรคประชาชน อภิปรายว่า ในการทำประชามติปี 2559 เพื่อขอความเห็นชอบรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ใช้บังคับอยู่ ยังใช้เกณฑ์เสียงข้างมากธรรมดา ตอนที่รับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ใช้เสียงข้างมากแค่ชั้นเดียว แต่พอจะแก้รัฐธรรมนูญ เหตุใดถึงสร้างเงื่อนไขให้ต้องใช้เสียงข้างมากสองชั้น เมื่อวานนี้ (17 ธันวาคม 2567) ตนฟัง สว. อภิปราย อ้างผลโพลของนิด้าว่าประชาชนเห็นด้วยกับเงื่อนไขเสียงข้างมากสองชั้น แต่การทำโพลสำรวจนั้น ก็ไม่ได้ใช้เสียงข้างมากสองชั้น หากใช้เงื่อนไขดังกล่าวจริงก็ต้องสำรวจจากประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งครึ่งหนึ่ง ทั้งนี้ ขอยืนยันว่าสภาผู้แทนราษฎรควรจะยืนยันการใช้เสียงข้างมากชั้นเดียวกับการทำประชามติ
อดิศร เพียงเกษ สส. พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า ตอนที่คณะรัฐประหารเข้ามาฉีกรัฐธรรมนูญ ก็ฉีกง่ายๆ แต่พอมีรัฐธรรมนูญ 2560 กลับแก้ไขยาก ในตอนพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประชามติฯ ชั้นสภาผู้แทนราษฎร ทุกพรรคการเมืองเสียงไม่แตก เห็นด้วยให้ใช้เสียงข้างมากชั้นเดียว อยู่ๆ ก็มีผู้ที่กลับลำโหวต “งดออกเสียง” ไปร่วมกับฝั่ง สว. ทั้งๆ ที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกัน และรัฐบาลก็มีนโยบายเร่งจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พรรคร่วมรัฐบาล ควรจะปฏิบัติตามนี้ ถ้าไม่ปฏิบัติตามนี้จะลงเรือลำเดียวกันไปทำไม เหตุใดจึงไม่รวมใจกันมาแก้รัฐธรรมนูญ ขอกราบเรียนไปยังประธานกรรมาธิการร่วม และ สส. ที่อยู่ฝั่งสภาสูง กลับใจมาแก้รัฐธรรมนูญ รัฐสภาแห่งนี้เป็นพื้นที่พิจารณาแก้ไข ไม่ใช่ที่ถ่วงความเจริญ
ขณะที่สส.พรรคภูมิใจไทย ไชยชนก ชิดชอบ อภิปรายว่า แม้แต่การทำงานของ สส. ที่เป็นตัวแทนประชาชน ยังต้องกำหนดจำนวนองค์ประชุมที่กึ่งหนึ่ง การทำประชามติซึ่งเป็นประชาธิปไตยทางตรง คืนอำนาจให้ประชาชน หากไม่มีเกณฑ์ผู้ออกมาใช้สิทธิ การทำประชามตินั้นๆ จะสามารถพูดได้เต็มปากเต็มคำหรือว่าเป็นการตัดสินใจของพี่น้องประชาชนทั้งประเทศ และจะได้รับการยอมรับจากประชาชนทั้งประเทศหรือว่าเป็นการตัดสินใจที่ศักดิ์สิทธิ์เพียงพอ หรือเรากำลังจะเปิดช่องให้เสียงส่วนมากมีโอกาสถูกมองข้ามเพียงเพราะคำว่า “ง่าย” หรือเปล่า พรรคภูมิใจไทย จึงยืนยันว่าควรจะต้องมีเกณฑ์ผู้ออกมาใช้สิทธิประชามติมากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
ความเห็นแตกต่างกันระหว่างสว. กับสส. เป็นเหตุให้ร่างพ.ร.บ.ประชามติฯ ไม่ผ่านการพิจารณาและต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้นอีกหลายเดือน เป็นครั้งแรกที่วุฒิสภาชุดนี้ใช้อำนาจอย่างชัดเจนในการ “ยับยั้ง” การออกกฎหมาย หรือถ่วงดุลอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นปรากฏการณ์การใช้อำนาจของสว. ที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก
การลงมติเห็นแตกต่างกันของสส. และสว. ในประเด็นนี้ทำให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างสองสภา ที่มีสส. จากพรรคภูมิใจไทยพรรคเดียวลงมติไปในทางเดียวกันกับสว. ซึ่งไม่เพียงส่งผลให้กฎหมายยังไม่ผ่านการพิจารณาเท่านั้น แต่มีผลให้การทำประชามติรัฐธรรมนูญยังไม่เกิดขึ้นในเร็ววันนี้ และยังทำให้นโยบายการจัดทำรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2560 ของรัฐบาลชุดนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจริง และไม่มีเวลาพอที่จะเกิดขึ้นได้ตามแผนการของรัฐบาลชุดนี้
อย่างไรก็ดี ในบรรดาสมาชิกวุฒิสภาทั้งหมด ยังมีถึง 37 คนที่ลงมติแตกต่างไปจากเสียงส่วนใหญ่ของสว. ดังนี้
ลงมติไม่เห็นด้วย 24 คน ดังนี้
- กัลยา ใหญ่ประสาน
- ชิบ จิตนิยม
- เทวฤทธิ์ มณีฉาย
- นรเศรษฐ์ ปรัชญากร
- นวลนิจ หงษ์วิวัฒน์
- นันทนา นันทวโรภาส
- ประทุม วงศ์สวัสดิ์
- ประภาส ปิ่นตบแต่ง
- ประหยัด จตุพรพิทักษ์กุล
- เปรมศักดิ์ เพียยุระ
- พรชัย วิทยเลิศพันธุ์
- มณีรัฐ เขมะวงค์
- ยะโก๊ป หีมละ
- ยุคล ชนะวัฒน์ปัญญา
- รัชนีกร ทองทิพย์
- รศ.แล ดิลกวิทยรัตน์
- พล.ต.ท.วันไชน เอกพรพิชญ์
- วิธาวีร์ ประทุมสวัสดิ์
- วีรยุทธ์ สร้อยทอง
- เศรณี อนิลบล
- พ.ต.ท.สง่า ส่งมหาชัย
- สุนทร พฤกษพิพัฒน์
- อภินันท์ เผือกผ่อง
- อังคณา นีละไพจิตร
ลงมติงดออกเสียง 13 คน ดังนี้
- พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ (รองประธาน)
- เกียรติชาย ไมตรีวงษ์
- ชวพล วัฒนพรมงคล
- ณภพ ลายวิเศษกุล
- นิคม มากรุ่งแจ้ง
- วนิชาภา สุวรรณนาค
- ปฏิมา จีระแพทย์
- ปริญญา วงษ์เชิดขวัญ
- ปิยพัฒน์ สุภาวรรณ
- มงคล สุระสัจจะ (ประธาน)
- ผศ.วราวุธ ตีระนันทน์
- สหพันธ์ รุ่งโรจนพณิชย์
- เอกชัย เรืองรัตน์