คดีมาตรา 112 ของอานนท์ นำภากรณีปราศรัยม็อบแฮร์รี่ พอตเตอร์ ปี’63

ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาคดีม. 112 ของทนายอานนท์กรณีปราศรัยม็อบแฮร์รี่ พอตเตอร์ ปี’63

19 ธันวาคม 2567 เวลา 9.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 711 ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ของอานนท์ นำภา  สืบเนื่องจากการปราศรัยในชุมนุม “เสกคาถาผู้พิทักษ์ ปกป้องประชาธิปไตย” หรือรู้จักกันในชื่อ #ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์ เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2563 คดีนี้ถือเป็นคดีมาตรา 112 คดีที่หกที่ศาลมีคำพิพากษาจากทั้งหมด 14 คดี ซึ่งในห้าคดีแรกอานนท์มีโทษจำคุกรวม 16 ปี 2 เดือน 20 วัน

แจกแจงปัญหาพระราชอำนาจล้นเกินผ่านการชุมนุม

ในวันดังกล่าวอานนท์วิจารณ์ “สถาบันพระมหากษัตริย์” หลายประเด็น ทั้งมิติด้านงบประมาณ พระราชอำนาจ บทบาททางการเมือง การประทับในต่างประเทศ การจัดการทรัพย์สินและข้าราชการส่วนพระองค์ รวมถึงวิจารณ์บทบาทของ คสช. และองคาพยพที่มีส่วนทำให้สถานะและพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์อยู่เกินขอบเขตของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

อานนท์ย้ำในการปราศรัยว่า “ต้องพูดถึงปัญหาพระราชอำนาจล้นเกินกว่าระบอบการปกครองอย่างตรงไปตรงมา” และเสนอวิธีแก้ไขปัญหาหลากหลายวิธี เช่น ให้รัฐสภาที่เป็นประชาธิปไตยแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในกรณีพระมหากษัตริย์ประทับอยู่ต่างประเทศ ให้ดึงทรัพย์สินสาธารณสมบัติที่ถูกถ่ายโอนไปกลับมาเป็นสาธารณสมบัติ หรือการกำหนดให้งบประมาณที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ต้องถูกตรวจสอบ เป็นต้น

หลังจากนั้นเขาถูกจับกุม พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหายุยงปลุกปั่น ตามมาตรา 116, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ, พ.ร.ก ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.ชุมนุมฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ โดยเขาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาและได้รับการประกันตัวในชั้นศาลโดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์ ต่อมาพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์เพิ่มอีกหนึ่งข้อหา ต่อมาวันที่ 14 กรกฎาคม 2564 อัยการมีคำสั่งฟ้องคดี 

ศาลไม่ออกหมายเรียกพยานเอกสาร-สั่งพิจารณาคดีลับ

วันที่ 27 พฤศจิกายน 2567 ในนัดสืบพยานโจทก์ ศาลไม่ออกหมายเรียกพยานเอกสารสำคัญได้แก่ ตารางการเดินทางของรัชกาลที่ 10 และเอกสารเกี่ยวกับงบประมาณ  อ้างว่า ขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 6  ทำให้จำเลยไม่สามารถซักค้านพยานโจทก์ได้ หลังจากนั้นอานนท์จึงถอดเสื้อประท้วงศาล ซึ่งเป็นครั้งที่สองแล้วที่เขาทำการประท้วงในลักษณะนี้

จากนั้นศาลจึงสั่งพิจารณาคดีลับและให้ผู้ที่อยู่ในห้องพิจารณาคดีออกไป มิฉะนั้นจะลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาล ต่อมาอานนท์ได้เขียนคำร้องขอตั้งข้อรังเกียจศาลและเปลี่ยนตัวผู้พิพากษา

ส่วนการถามค้านพยานโจทก์ “เนื่องจากศาลไม่ออกหมายเรียกพยานเอกสารสำคัญเข้ามาในคดี ศาลจึงถือว่าจำเลยไม่ติดใจถามค้าน ทำให้การสืบพยานโจทก์เสร็จสิ้น และศาลได้สั่งให้ทนายจำเลยนำพยานจำเลยเข้าสืบต่อในวัน” ซึ่งเดิมนัดดังกล่าวเป็นนัดสืบพยานโจทก์ ทำให้จำเลยยังไม่ได้ขอหมายเรียกพยานจำเลย และยังไม่ได้เตรียมเอกสารในการสืบพยานจำเลย

อานนท์โต้กระบวนการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลงดสืบพยานจำเลย

วันที่ 28 พฤศจิกายน 2567 อานนท์แถลงว่า กระบวนการพิจารณาคดีไม่ชอบด้วยกฎหมายสามประการคือ การที่ศาลไม่ออกหมายเรียกพยานเอกสารสำคัญ ศาลสั่งพิจารณาคดีลับโดยไม่มีเหตุตามกฎหมายและจำเลยได้ตั้งข้อรังเกียจและขอเปลี่ยนตัวผู้พิพากษา เนื่องจากศาลแสดงอคติ ซึ่งอาจส่งผลให้จำเลยไม่ได้รับความยุติธรรม ซึ่งทำให้ฝ่ายจำเลยไม่สามารถสืบพยานจำเลยได้

ศาลห็นว่า เมื่อฝ่ายจำเลยไม่นำพยานเข้าสืบ ถือว่าไม่ติดใจสืบพยาน และให้งดสืบพยานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 174 

จำคุกอานนท์ ม.112 ม็อบแฮร์รี่ฯ 2 ปี 8 เดือน รวม 6 คดี 18 ปี  10 เดือน 20 วัน

19 ธันวาคม 2567 เวลา 9:00 น. ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 711 ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ของอานนท์ นำภา  สืบเนื่องจากการปราศรัยในชุมนุม “เสกคาถาผู้พิทักษ์ ปกป้องประชาธิปไตย” หรือรู้จักกันในชื่อ #ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์ เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2563 คดีนี้ถือเป็นคดีมาตรา 112 คดีที่หกที่ศาลมีคำพิพากษาจากทั้งหมด 14 คดี ซึ่งในห้าคดีแรกอานนท์มีโทษจำคุกรวม 16 ปี สองเดือน 20 วัน 

เวลา 10:57 น. ศาลพิพากษาว่า ข้อความ “กษัตริย์แทรกแซงรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติแล้ว” ของอานนท์เข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ 116 ลงโทษจำคุกสี่ปี ให้การเป็นประโยชน์ลดโทษเหลือสองปี แปดเดือน รวมโทษหกคดี 18 ปี สิบเดือน 20 วัน

ประชาชนให้กำลังใจเนืองแน่นจนที่นั่งไม่พอ ศาลไม่ให้ยืนฟังเกรง “ไม่เรียบร้อย” 

ตั้งแต่เวลา 9:00 น. มีผู้สังเกตการณ์จากองค์กรสิทธิมนุษยชนและผู้แทนสถานทูตต่างๆ รวมถึงประชาชนจำนวนไม่น้อยกว่า 50 คนมารอติดตามคำพิพากษา เวลา 9:18 น. มีรายงานว่า ป้านก นักกิจกรรมไปรออานนท์บริเวณใต้ถุนศาลไม่พบอานนท์ลงรถราชทัณฑ์มา จึงถามเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ว่า เหตุใดอานนท์จึงไม่ได้มาด้วย เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ตรวจสอบรายชื่อพบว่า มีรายชื่ออานนท์ แต่ยังไม่ได้เบิกตัวมา ต่อมาเวลา 9:22 น. มีรายงานว่า อานนท์กำลังเดินทางมาที่ศาลอาญา

จากนั้นเจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์แจ้งว่า กำหนดการของศาลวันนี้จะมีการอ่านคำพิพากษาสามคดีและสืบพยานในคดีอื่นๆ โดยคดีของอานนท์จะเป็นคดีที่สามที่ศาลจะอ่านคำพิพากษา ขณะที่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ทยอยเบิกตัวจำเลยคดีอื่นมาฟังคำพิพากษาก่อน ด้วยห้องพิจารณาคดีมีขนาดเล็กทำให้ต้องขอให้ผู้สังเกตการณ์คดีอานนท์ออกไปรอด้านนอกก่อนเพื่อให้จำเลยและญาติในคดีอื่นๆสามารถเข้ามาอยู่ในห้องพิจารณาคดีได้

เวลา 10:27 น. เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์แจ้งว่า อานนท์ถูกคุมตัวมาถึงศาลอาญาแล้วโดยอยู่บริเวณใต้ถุนศาล ขณะที่ด้านห้องพิจารณาคดี ศาลอ่านคำพิพากษาสองคดีก่อนหน้าเรียบร้อยแล้ว ประชาชนที่รอด้านนอกยืนพูดคุยกันในประเด็นส่วนตัวและคดีทางการเมือง มีนักกิจกรรมนำหน้ากากหน้าอานนท์ นำภามาแจกผู้ที่มาสังเกตการณ์คดีในวันนี้ด้วย

เวลา 10:34 น. หลังศาลอ่านคำพิพากษาในสองคดีก่อนหน้าแล้วและญาติในสองคดีก่อนหน้าออกมาจากห้องพิจารณาคดีแล้ว แต่ตำรวจศาลยังไม่อนุญาตผู้สังเกตการณ์เข้าไปภายในห้องพิจารณาคดี ต่อมาทนายจำเลยแจ้งทำนองว่า ขณะนี้ศาลออกข้อกำหนดฯ ที่ใช้ภายในห้องพิจารณาคดี  ตำรวจศาลทยอยให้ผู้สังเกตการณ์เข้าและบอกว่า ให้เข้าไปได้จนกว่าม้านั่งจะเต็ม ไม่อนุญาตให้ยืนฟังคำพิพากษา

เวลา 10:37 น. จันทร์จิรา จันทร์แผ้ว ทนายความลุกขึ้นแถลงต่อศาลว่า ขอให้ประชาชนที่รอด้านนอกเข้ามายืนฟังคำพิพากษาด้วย เนื่องจากว่า พวกเขาเหล่านี้มาติดตามตั้งแต่เช้าแล้ว แต่ศาลปฏิเสธว่า “ไม่ได้ ศาลเอาแค่นี้ เอาพอให้เรียบร้อย”

เวลา 10:38 น. เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์คุมตัวอานนท์มาถึงห้องพิจารณาคดีและศาลเริ่มกระบวนพิจารณาคดี กล่าวว่า ก่อนที่ศาลจะอ่านคำพิพากษา จำเลยได้ยื่นการตั้งข้อรังเกียจศาล ขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาคดี แต่ไม่ได้มาดูคำสั่ง ศาลระบุว่า สรุปแล้วไม่มีคำสั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณาคดีและศาลจะอ่านคำพิพากษามีอะไรให้อุทธรณ์ไปตามกฎหมาย

จำคุกเพิ่มอีกสองปี แปดเดือน ศาลมองบอกกษัตริย์แทรกแซงรัฐธรรมนูญเป็นการหมิ่นเจ้า

ศาลอ่านคำพิพากษา เป็นการอ่านแต่ละส่วนโดยสรุป ดังนี้

คำฟ้องแบ่งเป็นสามข้อ

1.1 จำเลยชุมนุมทางการเมืองฝ่าฝืนต่อประกาศป้องกันโรคระบาด

1.2 โจทก์อ้างว่า จำเลยโพสต์เฟซบุ๊กชักชวนคนมาร่วมชุมนุม มีข้อความบางส่วนระบุว่า มีการตรากฎหมายขยายอำนาจสถาบันกษัตริย์ และที่ผ่านมามีกฎหมายอื่นๆที่ถูกใช้ในการโจมตีฝ่ายตรงข้ามสร้างความขัดแย้งมาตลอด หลายคนต้องติดคุก ต้องลี้ภัยและสูญหาย พร้อมทั้งมีการเรียกร้องข้อเรียกร้องสามข้อ

1.3 จำเลยปราศรัยเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2567 อัยการโจทก์อ้างทำนองว่า การกระทำตามฟ้องเป็นการกระทำกระด้างกระเดื่อง จาบจ้วง นอกจากนี้ยังมีการกล่าวถึงหน่วยราชการในพระองค์ที่บริหารงานตามอัธยาศัย มีกรณีที่รัฐธรรมนูญผ่านการทำประชามติจากประชาชนแล้ว นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าต่อรัชกาลที่สิบ หากหลังจากนั้นมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในสาระสำคัญหลายประการ แทรกแซงการประกาศใช้รัฐธรรมนูญอย่างเป็นทางการ เกิดขึ้นในไทยเป็นครั้งแร  ทั้งยังปรากฏข้อความทำนองว่า มีการสร้างซุ้มเฉลิมพระเกียรติจากงบประมาณของประชาชนโดยไม่จำเป็น

ขอให้ลงโทษในความผิดฐานฝ่าฝืนประกาศห้ามชุมนุม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ 116

การนำสืบของโจทก์และจำเลย

โจทก์นำสืบว่า วันที่ 29 กรกฎาคม 2563 กลุ่มมหานครเพื่อประชาธิปไตยโพสต์เชิญชวนให้มาชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย วันที่ 1 สิงหาคม 2563 จำเลยโพสต์ว่า ได้รับเชิญให้มาปราศรัยหัวข้อ ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

สถานีตำรวจนครบาลชนะสงคราม “อนุญาต” ให้จัดการชุมนุม โดยมีผู้ขอคือ ชลธิชา แจ้งเร็ส ให้ใช้เสียงตามที่กฎหมายกำหนด แต่ไม่พบว่า ได้ขออนุญาตให้ใช้เสียง จากการตรวจวัดระดับเสียงอยู่ที่ 115 เดซิเบลไม่เกินกฎหมายกำหนด การชุมนุมจัดขึ้นในสถานที่โล่ง ผู้ชุมนุมสวมหน้ากากอนามัน มีจุดคัดกรอง จำเลยได้รับเชิญให้ปราศรัย การชุมนุมเป็นไปโดยสงบ ปราศจากความวุ่นวาย

ไม่มีการสืบพยานจำเลย โดยศาลอ้างอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 174 วรรคท้าย ตามรายละเอียดกระบวนพิจารณาคดีวันที่ 27-28 พฤศจิกายน 2567 

พิเคราะห์แล้ว ในวันเกิดเหตุการชุมนุมได้รับการอนุญาตให้ชุมนุมและไม่ได้ขอใช้เครื่องขยายเสียง

จำเลยกระทำความผิดตามคำฟ้องหรือไม่

ในประเด็นเรื่องการจัดการชุมนุมฝ่าฝืนประกาศป้องกันโรคระบาดและการใช้เครื่องขยายเสียงนั้น  พ.ต.ท. วิบูลย์ นนทะแสง เบิกความว่า ในการชุมนุมมีการใช้เครื่องขยายเสียงขนาดเล็ก แต่วัดระดับเสียงไม่เกิน 115 เดซิเบล ไม่เกินที่กฎหมายกำหนด การชุมนุมได้รับการอนุญาตตามกฎหมาย

ร.ต.อ.เฉลิมพันธุ์ ภู่สมหมาย กองบังคับการตำรวจนครบาล 6 เบิกความว่า เขาทราบจากโซเชียลมีเดียว่า จะมีการชุมนุม ต่อมาวันที่ 3 สิงหาคม 2563 เมื่อไปถึงที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย พบผู้ชุมนุมประมาณ 50 คนกำลังเตรียมเวที ประชาชนส่วนใหญ่สวมใส่หน้ากากอนามัย มีจุดคัดกรองตรวจสอบอนามัย จำเลยได้รับเชิญให้ไปปราศรัย พื้นที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็นพื้นที่ที่ใช้ในการจัดชุมนุมเป็นประจำ ขณะเกิดเหตุมีประกาศเกี่ยวกับโรคระบาดโควิด 19 แต่อนุญาตให้จัดชุมนุมได้ การชุมนุมเป็นไปด้วยความเรียบร้อยดี ชุมนุมบนทางเท้าไม่ได้ลงไปบนผิวการจราจร ไม่มีเหตุวุ่นวาย ใช้สิทธิชุมนุมตามกฎหมาย

พ.ต.อ.วรศักดิ์ พิสิษฐบรรณกร ผู้กำกับการสน.ชนะสงครามขณะเกิดเหตุ เบิกความว่า มีการแจ้งการชุมนุม ตรวจสอบและอนุญาตการชุมนุม นอกจากนี้ในประเด็นเรื่องระดับเสียงยังมีรัตติกร สนั่นเกื้อ เจ้าหน้าที่สำนักงานเขตที่เกิดเหตุ ระบุว่า มีการตรวจสอบการใช้เครื่องขยายเสียงที่บริเวณร้านแมคโดนัลด์

ประเด็นนี้ศาลเห็นว่า การชุมนุมเป็นตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ไม่ขัดต่อกฎหมายเนื่องด้วยจำเลยไม่ได้เป็นผู้จัดการชุมนุม และไม่มีความผิดฐานไม่ขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียงตามข้อ 1.1 และ 1.2 จากนั้นศาลอ่านใหม่ว่า ข้อ 1.1 และ 1.4

ในความผิดตามฟ้องข้อ 1.3  ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยปราศรัยพาดพิงสถาบันกษัตริย์บ่อยครั้ง พูดพาดพิงการกระทำของสถาบันกษัตริย์ และเสนอให้มีการแก้ไขกฎหมาย แม้การกระทำของจำเลยจะไม่เหมาะสม แต่ไม่ถึงขนาดว่า จะเข้าข่ายความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ [หมายถึงในส่วนการโพสต์ข้อความบนโลกออนไลน์]

ในความผิดตามฟ้องข้อเดียวกันนี้ พยานโจทก์หลายคนเบิกความยืนยันตรงกันว่า ในการชุมนุมจำเลยปราศรัยตามฟ้องในข้อ 1.3 มีถ้อยคำเรียกร้องสามข้อ มีข้อความถ้อยคำที่หมิ่นพระมหากษัตริย์ มีการให้ร้ายในทางเสียหาย จาบจ้วงกษัตริย์ ใส่ร้ายหาว่า ไปแทรกแซงรัฐธรรมนูญ ใครที่วิจารณ์จะถูกอุ้มฆ่า ตำรวจสองนายคือ นิวัฒน์และธเนศยืนยันตรงกันว่า จำเลยพูดตามฟ้อง เช่น ใครที่พูดเกี่ยวกับสถาบันฯจะถูกอุ้มฆ่านอกจากนี้จำเลยเป็นนักกฎหมายต้องตระหนักในเรื่องดังกล่าว

ศาลระบุว่า พยานโจทก์ที่กล่าวอ้างเพียงพอให้ศาลวินิจฉัย ไม่ได้ทำให้ข้อเท็จจริงเปลี่ยนไป ศาลวินิจฉัยแค่ข้อความ อาศัยอำนาจตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 174  ศาลยังกล่าวถึงการเรียกเอกสารที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 6 ทำให้เกิดความวุ่นวายไม่หยุดหย่อน ขัดต่อการปกครอง ที่จำเลยอ้างเรื่องเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 34 เห็นว่า มาตราดังกล่าวยกเว้นเมื่อเป็นการกระทำเพื่อคุ้มครองสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ไม่ขัดเรื่องความสงบเรียบร้อย

พิเคราะห์ว่า การที่กล่าวทำนองว่า มีการแทรกแซงรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติมาแล้วเป็นการดูหมิ่นกษัตริย์ การเชิญชวนให้มาฟังความคิดเห็นของจำเลยไม่ได้กระทำในความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่การติชมโดยสุจริต  เพื่อสร้างความปั่นป่วยและกระด้างกระเดื่อง

เห็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ 116 (2) และ (3) เป็นการกระทำกรรมเดียวที่ผิดต่อกฎหมายหลายบท  ลงโทษจำคุกสี่ปี จำเลยให้การเป็นประโยชน์ลดโทษเหลือสองปี แปดเดือน

เวลา 10:57 น. ศาลอ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้นและบอกให้ทนายจำเลยมาตรวจเอกสารว่า ศาลมีคำสั่งอย่างไร อานนท์ถามศาลว่า เมื่อสักครู่ศาลลงโทษในความผิดตามมาตรา 112 หรือ 116  ศาลระบุว่า ทั้งสองมาตรา ในข้อความเดียวคือ กษัตริย์แทรกแซงรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติแล้ว

ต่อมาเอกชัย หงส์กังวานถามศาลว่า ทำไมเป็นสี่ปี บางคดีสามปี บางคดีสี่ปี ทำไมถึงหยิบสี่ ตำรวจศาลจะคุมตัวออกไปด้านนอก แต่ท้ายที่สุดไม่ได้คุมตัวออกไป จากนั้นเวลา 11:00 น. เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์คุมตัวอานนท์ออกไปทันที โดยผ่านประชาชนที่มารอให้กำลังใจที่ไม่สามารถเข้ามาในห้องพิจารณาคดีได้ โดยประชาชนตะโกนคำว่า ยกเลิก 112 ด้วยเสียงอันดังจนเข้ามาในห้องพิจารณาคดี 

ย้อนเส้นทางรัฐธรรมนูญ 2560 และข้อสังเกตพระราชทาน

รัฐธรรมนูญ 2560 ผ่านการทำประชามติเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 แต่ยังไม่ได้ถูกประกาศใช้เรื่อยมาจนกระทั่งข้ามเข้าสู่ปี 2560 ในช่วงต้นปีสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร เร่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ในเรื่องขั้นตอนก่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวร

เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2560 ราชกิจจานุเบกษาตีพิมพ์รัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว 2577 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 4) โดยในมาตรา 4 ให้เขียนวรรสิบเอ็ดของ มาตรา 39/1 ขึ้นใหม่ ดังนี้

“เมื่อนายกรัฐมนตรีนําร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายตามวรรคเก้าประกอบกับวรรคสิบแล้ว หากมีกรณีที่พระมหากษัตริย์พระราชทานข้อสังเกตว่าสมควรแก้ไขเพิ่มเติมข้อความใดภายในเก้าสิบวัน ให้นายกรัฐมนตรีขอรับพระราชทานร่างรัฐธรรมนูญนั้นคืนมา เพื่อดําเนินการแก้ไขเพิ่มเติมเฉพาะประเด็นตามข้อสังเกตนั้นและประเด็นที่เกี่ยวเนื่อง และแก้ไขเพิ่มเติมคําปรารภของร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกัน แล้วให้นายกรัฐมนตรีนําร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายใหม่ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับพระราชทานคืนมาตามที่ขอ เมื่อนายกรัฐมนตรีนําร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายและทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและใช้บังคับได้ โดยให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญหรือร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมและพระราชทานคืนมา หรือเมื่อพ้นเก้าสิบวันนับแต่วันที่นายกรัฐมนตรีนําร่างรัฐธรรมนูญหรือร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติม แล้วแต่กรณีขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายแล้วมิได้พระราชทานคืนมา ให้ร่างรัฐธรรมนูญหรือร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมนั้นเป็นอันตกไป”

บีบีซีไทย รายงานว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้นำทูลเกล้าฯถวายร่างรัฐธรรมนูญเพื่อลงพระปรมาภิไธย เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2559 หลังจากที่นำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯถวายแล้ว สำนักราชเลขาธิการทำเรื่องมาถึงรัฐบาลว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มีพระกระแสรับสั่งว่ายังมีเรื่องที่จำเป็นต้องแก้ไขให้เป็นไปตามพระราชอำนาจอยู่ 3-4 เรื่อง

20 มกราคม 2560 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯได้มีข้อสังเกตพระราชทานให้ปรับแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญในหมวดที่เกี่ยวกับพระราชอำนาจ รัฐบาลจึงรับทูลเกล้านำมาปรับแก้ไข

หลังจากนั้นรัฐธรรมนูญ 2560 ฉบับที่ถูกประกาศใช้เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 มีข้อความที่แตกต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับที่นำไปทำประชามติ 7 มาตรา

ประเด็นนี้อานนท์ นำภา นำกล่าวในการปราศรัยเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2563 เรียกร้องให้มีการปฏิรูปพระราชอำนาจ โดยกล่าวถึงกระบวนการที่เกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และในวันที่ 19 ธันวาคม 2567 ศาลอาญาพิพากษาว่า การกล่าวปราศรัยของอานนท์ เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามมาตรา 112 และให้ลงโทษจำคุก 4 ปี ลดโทษเหลือจำคุก 2 ปี 8 เดือน

ศาลพิเคราะห์ว่า การที่กล่าวทำนองว่า มีการแทรกแซงรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติมาแล้วเป็นการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ การเชิญชวนให้มาฟังความคิดเห็นของจำเลยไม่ได้กระทำในความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่การติชมโดยสุจริต เพื่อสร้างความปั่นป่วนและกระด้างกระเดื่อง

คดีนี้อานนท์ ต้องการพิสูจน์ในชั้นศาลว่าเนื้อหาที่เขากล่าวปราศรัยนั้นเป็นความจริง แต่ศาลไม่ออกหมายเรียกพยานเอกสารให้ และสั่งให้พิจรณาคดีเป็นการลับ ทำให้เขาคัดค้านความเป็นกลางของผู้พิพากษา ไม่มีโอกาสเบิกความหรือนำพยานของจำเลยเข้าเบิคกวาม และไม่มีโอกาสต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ว่าสิ่งที่เขาพูดนั้นเป็นความจริง

RELATED TAGS

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage