ภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอันเนื่องมาจากการสะสมของก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศล้วนเป็นผลมาจากการทำกิจกรรมของมนุษย์ ไม่ว่ากิจกรรมนั้นจะเกิดขึ้นที่ใดบนโลกก็ตาม แต่ผลจากการกระทำนั้นจะกระทบต่อทุกชีวิตบนโลก ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของฤดูกาล การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ หรือภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างร้ายแรง
ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ให้สัตยาบันเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงปารีส 2558 เท่ากับว่าประเทศไทยก็จะต้องดำเนินนโยบายหรือแก้ไขกฎหมายภายในประเทศที่เกี่ยวข้องเพื่อผลักดันให้มีมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
มาตรสำคัญคือการทำให้กิจกรรมของมนุษย์ภายในประเทศลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้มากที่สุด โดยอาจสนับสนุนให้มีวิจัยหรือนำเทคโนโลยีพลังงานสะอาดเข้ามาทดแทนเทคโนโลยีที่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม กำหนดเพดานสิทธิหรือจำนวนตันคาร์บอนไดออกไซด์ที่เอกชนจะสามารถปล่อยได้ภายในหนึ่งปีและปรับลดเพดานนั้นให้ต่ำ ลงเรื่อยๆ ตามระยะเวลา หรืออาจกำหนดให้เอกชนรายใดที่มีความสามารถในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสามารถแปลงการลดของตนเป็นสิ่งที่เรียกว่า “คาร์บอนเครดิต” ได้ และอาจนำเครดิตนั้นไปขายให้กับเอกชนรายที่ยังไม่สามารถลดการปล่อยก๊าซได้อย่างมีประสิทธิภาพ
มาตรการเหล่านี้จะถูกกำหนดไว้ในร่างกฎหมายทั้งสามฉบับ ได้แก่ ร่างพ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. … ซึ่งเสนอโดย ศนิวาร บัวบาน สส. พรรคประชาชนและคณะ ร่างพ.ร.บ. ส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจกและคาร์บอนเครดิต พ.ศ. … ซึ่งเสนอโดยพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ สส. พรรคพลังประชารัฐ และคณะ และร่างพ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อีกหนึ่งฉบับที่ผลักดันโดยกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า “กรมโลกร้อน” ในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
แม้ว่าร่างกฎหมายโลกร้อนทั้งสามฉบับ จะมีเป้าหมายเดียวกันคือการพยายามให้ประเทศไทยมีความเป็นกลางทางคาร์บอนและมีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในอนาคต แต่วิธีการบริหารจัดการเพื่อไปสู่เป้าหมายนั้นก็แตกต่างกัน
สารบัญร่างกฎหมายโลกร้อน
แสดง / ซ่อน
- ระบบคุ้มครองสิทธิตามกฎหมายโลกร้อน
- เป้าหมายรับมือกับสภาพภูมิอากาศแตกต่างกัน
- ตั้งบอร์ดใหญ่วางแผนแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศ
- กองทุนโลกร้อน อุดหนุนภาครัฐ-เอกชน
- วางแผนแม่บท กำหนดทิศทางหน่วยงานรัฐต้องไปทางเดียวกัน
- แผนปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศ ควบคู่แผนแม่บท
- แผนการลดก๊าซเรือนกระจก
- บังคับโรงงานต้องส่งข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
- ระบบจัดสรรสิทธิก๊าซเรือนกระจก ใครปล่อยได้เท่าไหร่
- มาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แปะป้ายธุรกิจที่ยังไม่กรีน
- การควบคุมราคาคาร์บอนข้ามพรมแดน
- ภาษีคาร์บอน สินค้าที่ปล่อยก๊าซตั้งแต่ผลิต-ใช้งานจะถูกเก็บภาษีเพิ่ม
- คาร์บอนเครดิต
- ร่างกรมโลกร้อน-พปชร. เน้นปรับเป็นพินัย ร่างพรรคประชาชนมีบทลงโทษอาญา
- บทเฉพาะกาล ใช้แผนเดิมไปก่อนได้ เขียนแผนใหม่ภายในห้าปี
ร่างกรมโลกร้อน- พปชร.เขียนรับรองสิทธิกว้างๆ ร่างพรรคประชาชนระบุเพิ่มรัฐต้องคุ้มครองสิทธิมีคุณภาพชีวิตที่ดี
บททั่วไปของร่างกฎหมายโลกร้อนทั้งสามฉบับ กำหนดสิทธิของบุคคลและชุมชนซึ่งจะเป็นการคุ้มครองสิทธิของประชาชนในกรณีที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการดำเนินนโยบายของรัฐในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ในร่างฉบับที่กรมโลกร้อนผลักดัน ระบุไว้อย่างคร่าว ให้บุคคลและชุมชนมีสิทธิในการได้รับการแจ้งข้อมูลข่าวสาร เข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือมาตรการในการแก้ไขปัญหาของภาครัฐ มีสิทธิแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ส่วนร่างที่ สส.พรรคพลังประชารัฐเสนอ แม้ว่าจะมีหลายส่วนที่สอดคล้องกับร่างของกรมโลกร้อน แต่ก็ระบุเพิ่มให้บุคคลและชุมชนมีสิทธิได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือจากผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ทั้งในรูปแบบที่เกิดขึ้นฉับพลันและรูปแบบที่ค่อยเป็นค่อยไป และสิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมและได้รับการเยียวยาหากสิทธิหรือเสรีภาพถูกละเมิดโดยมิชอบ
ขณะที่ร่างของพรรคประชาชนระบุชัดเจนครอบคลุมหลายกลุ่มโดยระบุเพิ่มให้ภาครัฐต้องรับรองและคุ้มครองสิทธิในชีวิต ทรัพย์สิน และการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน รัฐมีพันธกรณีต้องเคารพ คุ้มครอง และทำให้เติมเต็มสำหรับทุกคน โดยเพิ่มความสามารถในการปรับตัว ให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสร้างเสริมทักษะในการประกอบอาชีพสีเขียว
นอกจากนี้ ยังกำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องคำนึงถึงผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ บูรณาการแนวคิดการบรรเทาผลกระทบการปรับตัวและสร้างความยืดหยุ่นโดยให้ความสำคัญกับความเสมอภาคและสิทธิมนุษยชนในการตัดสินใจดำเนินงาน
สามฉบับ วางเดดไลน์เป้าหมายรับมือกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงแตกต่างกัน
ในการดำเนินงานเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ จะต้องมีการกำหนดเป้าหมายเพื่อให้บรรลุได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด เนื่องจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มสูงขึ้นจะยิ่งส่งผลให้อุณหภูมิโลกปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย การแก้ไขปัญหาให้ทันตามระยะเวลาที่กำหนดไม่ใช่เพียงแค่ประเทศใดประเทศหนึ่งแต่เป็นในภาพรวมจะช่วยยับยั้งผลกระทบที่เกิดจากอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น โดยในการกำหนดเป้าหมายมีคำที่สำคัญอยู่สองคำ ได้แก่ “ความเป็นกลางทางคาร์บอน” (carbon neutrality) และ “การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์” (net zero)
ตามนิยามที่อธิบายโดยสหประชาชาติ ความเป็นกลางทางคาร์บอน หมายถึง สภาวะที่การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปสู่ชั้นบรรยากาศมีความสมดุลกันระหว่างการปล่อยและการลด โดยมีจำนวนที่ลดลงหรือถูกหลีกเลี่ยงไม่ปล่อยไปสู่ชั้นบรรยากาศ ในขณะที่ส่วนที่มีการปล่อยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ไปสู่ชั้นบรรยากาศนั้นถูกชดเชยด้วยการทดแทนด้วยพลังงานสะอาด การลดการปล่อย หรือการดูดซับคาร์บอน ผ่านการซื้อขายระบบคาร์บอนเครดิต
ส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ หมายถึง สภาวะที่ก๊าซเรือนกระจกทุกประเภท ไม่ใช่แค่เฉพาะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มีปริมาณเหลือในชั้นบรรยากาศน้อยที่สุด และชดเชยปริมาณที่เหลือให้เท่ากับปริมาณที่ดูดซับได้ ผ่านกลไกต่าง ๆ เช่น การฟื้นฟูระบบนิเวศ โดยจะไม่ใช้การซื้อขายผ่านระบบคาร์บอนเครดิตอีกต่อไป
ความแตกต่างระหว่างความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ คือประเภทของก๊าซที่ต้องควบคุม โดยความเป็นกลางทางคาร์บอนให้ความสำคัญกับเพียงแค่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ในขณะที่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ หมายรวมถึงก๊าซเรือนกระจกทุกประเภท กล่าวอีกแง่หนึ่ง คือการเป็นกลางทางคาร์บอนเป็นเป้าหมายระยะกลางที่จะต้องบรรลุให้ได้ เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายในระยะยาวที่ก๊าซเรือนกระจกมีปริมาณสุทธิเป็นศูนย์
โดยเป้าหมายที่กำหนดโดยสหประชาชาติผ่านโครงการ Climate Neutral Now ระบุให้จะต้องบรรลุเป้าหมายในการเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593
ในร่างฉบับกรมโลกร้อน ระบุเป้าหมายไว้ชัดเจนตรงตามที่สหประชาชาติกำหนด คือจะต้องบรรลุเป้าหมายให้ประเทศไทยมีความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 ส่วนเป้าหมายในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์จะต้องให้เกิดขึ้นภายในปี 2608
ส่วนร่างฉบับของพรรคประชาชน ระบุเป้าหมายที่แตกต่างกันโดยกำหนดให้เป้าหมายทั้งสองเกิดขึ้นเร็วกว่าแนวทางของกรมโลกร้อนและสหประชาชาติ ซึ่งกำหนดให้ประเทศไทยจะต้องมีความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2578 และกำหนดให้เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์เกิดขึ้นภายในปี 2593 ทั้งนี้ในร่างของพรรคประชาชนระบุให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและแผนการดำเนินงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่จะต้องบรรลุเป้าหมายตามระยะเวลาดังกล่าวให้ได้ อย่างไรก็ดีมีการระบุเพิ่มว่าอาจกำหนดระยะเวลาและเป้าหมายที่กำหนดในยุทธศาสตร์ระยะยาวในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่างของประเทศและมีการทบทวนทุกห้าปีเว้นแต่มีเหตุจำเป็นจะต้องทบทวนก่อนถึงระยะเวลา
ขณะที่ร่างฉบับของพรรคพลังประชารัฐไม่ได้มีกำหนดตายตัวว่าจะต้องบรรลุเป้าหมายให้เสร็จสิ้นภายในปีใดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการชุดใหญ่ในการกำหนดเป้าหมาย
ตั้งบอร์ดใหญ่วางแผนแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศ กรมโลกร้อน-พปชร. เน้นตั้งข้าราชการประจำ พรรคประชาชนเปิดพื้นที่ภาคประชาสังคม 9 ตำแหน่ง
ในร่างกฎหมายโลกร้อนสามฉบับนี้กำหนดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเป็น “บอร์ดใหญ่” ทำหน้าที่เสนอนโยบายเป้าหมายและมาตรการด้านการลดก๊าซเรือนกระจก การปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศ นำเสนอแผนแม่บทหรือแผนต่างๆ เสนอแนวทางและท่าทีในเวทีระหว่างประเทศ รวมถึงติดตามกำกับดูแลให้การดำเนินงานของหน่วยงานรัฐเป็นไปตามแนวทางที่กำหนดไว้ โดยแต่ละฉบับมีชื่อเรียกคณะกรรมการแตกต่างกัน
โดยหลักคณะกรรมการชุดนี้คณะกรรมการชุดนี้มีวาระดำรงตำแหน่งคราวละห้าปีและอาจได้รับการแต่งตั้งอีกได้แต่จะดำรงตำแหน่งเกินกว่าสองวาระติดกันไม่ได้
ในร่างที่ผลักดันโดยกรมโลกร้อน และร่างฉบับที่เสนอโดย สส. พรรคพลังประชารัฐ ให้พื้นที่กับ “กรรมการโดยตำแหน่ง” จากข้าราชการประจำ ถึง 21 ที่นั่ง หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 60 จากจำนวนกรรมการทั้งหมด ขณะที่ร่างฉบับที่เสนอโดย สส.พรรคประชาชน ล็อกโควตาไว้ให้ข้าราชการประจำเพียง 10 ที่นั่งเท่านั้น และเพิ่มพื้นที่ให้กับกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในสัดส่วน “ภาคประชาสังคม” โดยกำหนดให้คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้ซึ่งเครือข่ายภาคประชาสังคมร่วมกันเลือกไม่เกินเก้าคน ซึ่งอาจมาจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในด้านเกษตรกรรม ภาคประมง ภาคการท่องเที่ยว ภาคพลังงาน ภาคเด็กหรือเยาวชนหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ เช่น กลุ่มชาติพันธุ์ เป็นต้น
ร่างกฎหมายโลกร้อนทั้งสามฉบับระบุคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิไว้คล้ายกัน ดังนี้
- มีสัญชาติไทย
- อายุ : ร่างฉบับที่ผลักดันโดยกรมโลกร้อน และร่างฉบับที่ สส.พรรคพลังประชารัฐเสนอ ระบุไว้ว่า ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 30 ปีและไม่เกิน 70 ปี ขณะที่ร่างที่ สส.พรรคประชาชนเสนอ กำหนดเพดานอายุต่ำสุดกว่าร่างอีกสองฉบับ คือ ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปี
- ไม่เป็นผู้ไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ
- ไม่เคยรับคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกเว้นแต่เป็นความผิดโดยประมาณหรือความผิดลหุโทษ
- ไม่เป็นบุคคลที่หน่วยงานรัฐหรือเอกชนไล่ออกหรือเลิกจ้างเพราะเหตุทุจริตต่อหน้าที่หรือประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง
- ไม่เป็นข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ เว้นแต่เป็นผู้สอนหรือนักวิจัยในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ
- ไม่เป็นข้าราชการการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งรับผิดชอบการบริหารพรรคการเมือง ที่ปรึกษาพรรคการเมืองหรือเจ้าหน้าที่พรรคการเมือง
นอกจากนี้ ร่างที่เสนอโดย สส. พรรคประชาชน เพิ่มลักษณะต้องห้ามที่ไม่มีในร่างอีกสองฉบับ ว่ากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิต้องไม่เป็นผู้มีผลประโยชน์ทับซ้อนในฐานะกรรมการ
กองทุนโลกร้อน อุดหนุนภาครัฐ-เอกชน
เพื่อส่งเสริมการดำเนินงานด้านเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในร่างกฎหมายทั้งสามฉบับกำหนดให้มี “กองทุน” ขึ้นมา ในร่างแต่ละฉบับจะมีชื่อเรียกกองทุน เป้าหมายของการจัดการของทุนและและบริหารจัดการกองทุนที่แตกต่างกัน
โดยรายได้ของกองทุนชุดนี้ ร่างฉบับพรรคพลังประชารัฐที่ชื่อว่า “กองทุนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ระบุที่มารายได้หลักไว้สองประเภท 1) รายได้ที่ได้รับจากการอุดหนุน เช่น รายได้ที่ได้รับจากการอุดหนุนโดยงบประมาณแผ่นดิน รายได้ที่รับจากการบริจาคจากจากเอกชนภายในหรือภายในประเทศ รัฐบาลต่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศ และ 2) รายได้ที่ได้รับจากการดำเนินงานตามร่างกฎหมายนี้ เช่น การซื้อขายสิทธิปล่อยก๊าซเรือนกระจก เงินค่าธรรมเนียมคาร์บอนเครดิต ค่าปรับเป็นพินัย รวมถึงเงินจากดอกผลของกองทุนนี้
ส่วนร่างฉบับพรรคประชาชนที่ชื่อว่า “กองทุนการเปลี่ยนผ่านสีเขียว การปรับตัวและการรับมือภัยพิบัติ” มีแหล่งที่มาของรายได้เหมือนกันกับร่างฉบับพรรคพลังประชารัฐ ส่วนกองทุนในร่างของกรมโลกร้อนที่มีชื่อว่า “กองทุนภูมิอากาศ” แตกต่างกันตรงที่มีรายได้จากการปรับกลไกราคาคาร์บอนข้ามพรมแดนขึ้นมาด้วย
เป้าหมายหลักของกองทุนนี้คือการจัดสรรเงินทุนสำหรับการดำเนินงานต่างๆ เพื่อสนับสนุนการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยในร่างของกรมโลกร้อนระบุให้กองทุนสามารถใช้ได้เพื่อภารกิจ คือ จัดสรรให้กู้ยืมหรือให้เปล่า แก่หน่วยงานรัฐ นิติบุคคล องค์กรเอกชนที่ขึ้นทะเบียนในด้านสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สถานบันการศึกษา หรือชุมชน เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับก๊าซเรือนกระจก การลดหรือใช้ประโยชน์จากก๊าซเรือนกระจก การปรับตัว และการวิจัยหรือสนับสนุนการวิจัยต่างๆ รวมถึงการบริหารกองทุน หรือการดำเนินการอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการชุดใหญ่เห็นสมควร
ในขณะที่ร่างฉบับพรรคพลังประชารัฐเน้นไปที่การสนับสนุนโดยการให้กู้ยืมเงินเพียงเท่านั้น ไม่มีการให้เปล่า รายละเอียดส่วนอื่นสอดคล้องกับร่างของกรมโลกร้อน เว้นแต่ส่วนที่เกี่ยวข้องกับมาตรการในการส่งเสริมการดำเนินงานเพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งการส่งเสริมในส่วนนี้มีเฉพาะในร่างฉบับพรรคพลังประชารัฐและพรรคประชาชนเท่านั้น
ร่างของพรรคประชาชนระบุวัตถุประสงค์ของกองทุนในลักษณะที่แตกต่างกับสองฉบับที่เหลือโดยมีรายละเอียด ดังนี้
- ส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างความตระหนักรู้ถึงปัญหา การปรับตัว ผ่านการประชาสัมพันธ์ การรณรงค์ หรือกิจกรรมต่างๆ
- ศึกษาวิจัย หรือสนับสนุนการวิจัย
- พัฒนาขีดความสามารถ และศักยภาพในการปรับตัวของทุกภาคส่วนตั้งแต่รัฐ เอกชน ไปจนถึงชุมชน
- ส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างอาชีพและทักษะอาชีพ เพื่อบรรเทาผลกระทบ การปรับตัวและเพิ่มความยืดหยุ่นของประชาชนในทุกระดับ
- ส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งในระดับภายในและระหว่างประเทศ
- ชดเชยผู้เสียหายหรือผู้ได้รับผลกระทบอย่างเป็นธรรม เพียงพอ เข้าถึงง่ายและทันท่วงที
- ช่วยเหลืออุดหนุนการเปลี่ยนแปลงไปสู่พลังงานสะอาด โดยเฉพาะภาคประชาชน
ในส่วนวัตถุประสงค์ของกองทุน ด้านส่งเสริม-สนับสนุน ร่างพรรคพลังประชารัฐและพรรคประชาชนมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน โดยร่างของพรรคประชาชนมุ่งสนับสนุนตั้งแต่ระดับหน่วยงานรัฐ เอกชนที่ขึ้นทะเบียนด้านสิ่งแวดล้อม องค์การมหาชน สถาบันการศึกษา ไปจนถึงวิสาหกิจและบุคคล ส่วนพรรคพลังประชารัฐไม่มีส่วนของรัฐวิสาหกิจและบุคคลเข้ามาในส่วนมาตรการส่งเสริม
โดยมาตรการส่งเสริมนี้ มุ่งเน้นไปยังการส่งเสริมเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไปจนถึงข้อมูลที่เกี่ยวกับความเสี่ยงและผลกระทบ ส่งเสริมโครงการในการดูดซับ การลด ดักจับ กักเก็บ และใช้ประโยชน์ก๊าซเรือนกระจก การวิจัยพัฒนาองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องต่างๆ หรือตามที่ผู้บริหารกองทุนเห็นสมควร
อย่างไรก็ดีการใช้จ่ายงบประมาณในกองทุนนี้อาจใช้จ่ายในส่วนอื่นที่อยู่นอกเหนือจากวัตถุประสงค์อื่นๆ ที่กล่าวไว้ข้างต้นได้ แต่จะต้องเป็นความเห็นชอบของคณะกรรมการผู้บริหารกองทุนเป็นผู้กำหนด โดยผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการชุดใหญ่ ซึ่งรูปแบบในการบริหารจัดการกองทุนของร่างแต่ละฉบับก็ยังคงมีความแตกต่างกันในเนื้อหา
ตั้งคณะกรรมการบริหารกองทุน ร่างพรรคประชาชนเป็นร่างเดียวที่มีภาคประชาสังคมเป็นกรรมการ
ร่างกฎหมายโลกร้อนที่เสนอโดย สส. พรรคประชาชน กำหนดให้มีคณะกรรมการกองทุน ประกอบไปด้วย รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และข้าราชการระดับผู้อำนวยการ อธิบดี ไปจนถึงประธานสมาคมเอกชนต่างๆ โดยมีกรรมการในสัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒิเพิ่มขึ้นมาอีกแปดคน ในแปดคนนี้ ครึ่งหนึ่ง (สี่คน) ต้องมาจากสัดส่วนของภาคประชาสังคมที่ดำเนินกิจกรรมด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมหรือสุขภาพ
ร่างฉบับที่เสนอโดย สส.พรรคพลังประชารัฐ ใช้โครงสร้างที่คล้ายกับกับร่างของพรรคประชาชน แม้ไม่มีข้าราชการการเมืองระดับรัฐมนตรีรวมอยู่ในคณะกรรมการกองทุน แต่มีข้าราชการระดับสูงของแต่ละกระทรวงอยู่ และไปเพิ่มสัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ อีกสามคน และจากเอกชน เช่น สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย หน่วยงานละหนึ่งคน ไม่มีสัดส่วนของภาคประชาสังคมรวมอยู่ในการบริหารจัดการกองทุน
ส่วนในการบริหารจัดการกองทุนตามระบบของกรมโลกร้อนแม้ว่าจะมีสัดส่วนที่คล้ายกับพรรคพลังประชารัฐคือส่วนใหญ่เป็นข้าราชการและมีผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนหนึ่ง แต่ให้มีการตั้งสำนักงานกองทุนภูมิอากาศขึ้นมาด้วย ซึ่งถือว่าเป็นการตั้งหน่วยงานรัฐขึ้นมาใหม่ภายในร่างกฎหมายฉบับนี้ โดยมีหน้าที่เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการกองทุนเป็นหลัก
วางแผนแม่บท กำหนดทิศทางหน่วยงานรัฐต้องไปทางเดียวกัน
เพื่อกำหนดทิศทางในการขับเคลื่อนการดำเนินงานของภาครัฐทั้งประเทศให้สอดคล้องไปในแนวทางเดียวกันในร่างกฎหมายโลกร้อนทั้งสามฉบับกำหนดให้มี “แผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” จัดทำขึ้นโดยคณะกรรมการชุดใหญ่ โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ให้เป็นกรอบการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภายในระยะเวลาที่กำหนด
แผนแม่บทนี้จะต้องกำหนดระยะเวลาในการใช้บังคับ และให้มีการทบทวนทุกห้าปี เว้นแต่มีเหตุจำเป็นให้ทบทวนใหม่ ซึ่งการปรับปรุงแก้ไขแผนแม่บทให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการชุดใหญ่โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีดังเดิม
นอกจากระยะเวลาที่ใช้บังคับแล้ว ยังจะต้องรายงานสถานการณ์ภายในประเทศไทย ซึ่งประกอบไปด้วยข้อมูลปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบ ต้องกำหนดเป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจก การปรับตัว และยุทธศาสตร์ระยะยาวในการลดก๊าซเรือนกระจกอีกด้วย ทั้งนี้ในร่างของกรมโลกร้อนไม่ได้มีระบุว่าในการจัดทำแผนแม่บทจำเป็นต้องมียุทธศาสตร์ระยะยาวในการลดก๊าซเรือนกระจกแต่อย่างใด
แผนแม่บทฉบับนี้ยังเป็นแผนที่หน่วยงานรัฐทั้งประเทศต้องปฏิบัติตามไปในทางเดียวกันเพื่อให้มีการขับเคลื่อนการดำเนินงานการด้านเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตามแผนแม่บท ซึ่งมีการติดตาม รายงานผล และประเมินผลการดำเนินงานในแผนแม่บทด้วย หากหน่วยงานรัฐไม่สามารถดำเนินงานให้สอดคล้องกับแผนฉบับนี้ กรมโลกร้อนมีหน้าที่ต้องติดตามและสนับสนุนให้การดำเนินงานสอดคล้องกับแผนแม่บท หากหน่วยงานรัฐไม่ปฏิบัติตามหรือพบเจออุปสรรคใดๆ กรมโลกร้อนอาจหารือกับคณะกรรมการชุดใหญ่เพื่อแจ้งเรื่องไปยังคณะรัฐมนตรีให้สั่งการเพื่อแก้ไขปัญหาได้
แผนปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศ ควบคู่แผนแม่บท
นอกจากแผนแม่บทในการขับเคลื่อนแล้วยังมีแผนสนับสนุนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย โดยในขั้นแรกกรมโลกร้อนจะต้องจัดทำข้อมูลและองค์ความรู้เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงชุดข้อมูลนี้ผ่านระบบสารสนเทศได้ด้วย ซึ่งกรมโลกร้อนจะต้องเรียกข้อมูลหรือเข้าถึงข้อมูลต่างๆ จากหน่วยงานรัฐ ซึ่งชุดข้อมูลเหล่านี้จะต้องประกอบไปด้วย
- ข้อมูลการตรวจวัดภูมิอากาศในอดีต การติดตามสภาพภูมิอากาศ การคาดการณ์สภาพอากาศในระยะสั้นและระยะกลาง ภาพฉายการเปลี่ยนแปลงในระยะยาว
- การประเมินความเสี่ยงและผลกระทบ
- แนวทางและตัวอย่างการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศ
นอกจากชุดข้อมูลดังกล่าวแล้วกรมโลกร้อนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องประเมินความเสี่ยงและผลกระทบในด้านต่างๆ แล้วแจ้งคณะกรรมการชุดใหญ่เพื่อประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการรับมือกับผลกระทบนั้นอีกด้วย
เพื่อการวางแผนงานและลดความสูญเสียและความเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ให้คณะกรรมการชุดใหญ่จัดทำแผนการปรับตัว และหน่วยงานรัฐต่างๆ จะต้องปฏิบัติตามแผนนี้ด้วย ซึ่งแผนฉบับนี้ไม่ต้องผ่านความเห็นชอบคณะรัฐมนตรีเหมือนแผนแม่บท
แผนปรับตัวจะต้องระบุถึงวัตถุประสงค์ เป้าหมายของการดำเนินงานในด้านการจัดการน้ำ อาหาร การท่องเที่ยว สาธารณสุข การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การคมนาคม และความมั่นคงของมนุษย์ ต้องกำหนดแนวทาง มาตรการ และระยะเวลารวมถึงตัวชี้วัดในการดำเนินงานด้วย
แผนการลดก๊าซเรือนกระจก
นอกจากแผนแม่บท และแผนในการปรับตัวแล้ว ตามร่างกฎหมายโลกร้อนทั้งสามฉบับ ยังระบุให้คณะกรรมการชุดใหญ่ จัดทำแผนปฏิบัติการที่เรียกว่า “แผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ” เพื่อกำหนดแนวทางในการดำเนินงานของหน่วยงานรัฐให้สอดคล้องกับเป้าหมายตามระยะเวลาและเป้าหมายในแผนแม่บท
ซึ่งการจัดทำแผนการลดก๊าซเรือนกระจก จะต้องคำนึงถึงนโยบายและแผนการพัฒนาประเทศ ขีดความสามารถในการดำเนินงานของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องผล กระทบด้านเศรษฐกิจสังคมและสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นแก่ประชาชนรวมถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมกฎหมายของประเทศพันธกรณีระหว่างประเทศและหลักการสากลที่เกี่ยวข้อง
โดยร่างกฎหมายโลกร้อนฉบับพรรคประชาชนระบุเพิ่มเติมว่าให้คำนึงถึงสิทธิในการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีของประชาชน ที่ได้รับการรับรองโดยสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติรวมถึงสิทธิมนุษยชนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น สิทธิที่จะมีชีวิต อิสรภาพและความปลอดภัย สิทธิในมาตรฐานการดำรงชีวิต หน้าที่รับผิดชอบร่วมกัน และอิสระจากการลิดรอนสิทธิโดยรัฐหรือบุคคลใด
กรณีที่ปรากฏต่อคณะกรรมการชุดใหญ่ว่าหน่วยงานใดดำเนินงานไม่สอดคล้องกับแผนการลดก๊าซเรือนกระจกหรือมีความคืบหน้าไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ คณะกรรมการอาจสั่งให้กรมโลกร้อนหารือกับหน่วยงานนั้นเพื่อหาทางแก้ไขปัญหา หรือเสนอแนะไปยังรัฐมนตรีเจ้าของสังกัดหน่วยงานนั้นได้ ในกรณีที่หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องไม่รายงานความคืบหน้าหรือมีปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานหรือความขัดแย้งระหว่างการปฏิบัติตามแผน คณะกรรมการชุดใหญ่อาจรายงานปัญหาไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่อสั่งการเพิ่มเติมได้
อย่างไรก็ดีร่างกฎหมายทั้งสามฉบับระบุเหมือนกันว่าในการจัดทำแผนแม่บท แผนการลดก๊าซเรือนกระจกแผนการปรับตัว ให้กรมโลกร้อนซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งในส่วนของภาครัฐและภาคประชาชน และให้นำผลการรับฟังความคิดเห็นมาใช้ประกอบการทำแผนด้วย
บังคับโรงงานต้องส่งข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ร่างกฎหมายโลกร้อนทั้งสามฉบับ กำหนดให้กรมโลกร้อนมีหน้าที่รวบรวมข้อมูล เพื่อจัดทำเป็นบัญชีก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงฐานข้อมูลผ่านระบบสารสนเทศได้ โดยให้อำนาจกรมโลกร้อนเรียกข้อมูลจากหน่วยงานรัฐอื่น ดังนี้
- ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์จากแหล่งกำเนิด
- ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกกักเก็บโดยแหล่งดูดซับก๊าซเรือนกระจกโดยธรรมชาติหรือกิจกรรมของมนุษย์
- ปริมาณการลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิ ตามกรอบระยะเวลาในแผนการลดก๊าซเรือนกระจก
โดยให้ออกเป็นกฎกระทรวงเพื่อประโยชน์ในการจัดทำฐานข้อมูล ซึ่งจะต้องประกอบไปด้วย
- จำพวกของบุคคลหรือนิติบุคคลที่ต้องรายงานข้อมูล
- จำพวกของบุคคลที่จะต้องรายงานข้อมูล ได้แก่ ผู้ประกอบกิจการพลังงานตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการพลังงาน ผู้ประกอบกิจการตามโรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน เจ้าของโรงงานควบคุมและเจ้าของอาคารควบคุมตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน หรือบุคคลอื่นตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการชุดใหญ่
- ข้อมูลกิจกรรมที่ต้องรายงาน หมายรวมถึง กิจกรรมด้านพลังงานและคมนาคมขนส่ง ด้านกระบวนการอุตสาหกรรม ด้านการเกษตร ด้านป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดิน ด้านการจัดการของเสีย หรือ ด้านอื่นๆ ตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการชุดใหญ่
- วิธีรายงานข้อมูล
- กำหนดระยะเวลาการรายงานข้อมูล
- หน่วยงานรัฐที่บุคคลต้องรายงานข้อมูลให้สำหรับข้อมูลแต่ละประเภท
- หน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบดูแลจัดเก็บข้อมูล
ทั้งนี้ก่อนการออกกฎกระทรวงต้องจัดให้มีการวิเคราะห์ผลกระทบและรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและให้นำความคิดเห็นนั้นมาใช้ประกอบการจัดทำกฎกระทรวงด้วย
แน่นอนว่าข้อมูลบางส่วน ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลเกี่ยวกับการลดหรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อาจมีความลับทางการค้าตามกฎหมายว่าด้วยความลับทางการค้าอยู่ กรมโลกร้อนหรือหน่วยงานรัฐที่ได้ข้อมูลนั้นมาครอบครองอยู่ ต้องถือว่าเป็นความลับอย่างเคร่งครัด ผู้ใดจะนำไปเปิดเผยไม่ได้
ทั้งนี้ หากกรมโลกร้อนเห็นว่า ข้อมูลปริมาณการปล่อยการกักเก็บหรือการลดก๊าซเรือนกระจกในส่วนใดหากเปิดเผยต่อสาธารณะแล้วจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง เป็นการเฉพาะกลุ่มอาจไม่เปิดเผยข้อมูลในส่วนนั้นได้ บุคคลที่เห็นว่าตนเสียหายจากการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวมีสิทธิยื่นคำร้องต่ออธิบดีกรมโลกร้อนเพื่อขอให้ไม่เปิดเผยข้อมูลนั้นได้ ทั้งยังมีสิทธิในการยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการชุดใหญ่เพื่อพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งของอธิบดีกรมโลกร้อนได้
หน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจ นิติบุคคลตามกฎหมายเอกชน นิติบุคคลตามกฎหมายมหาชน มีหน้าที่ตรวจวัดและรายงานผลปริมาณการปล่อยและดูดกลับก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกิจการ สถานประกอบการ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กรมประกาศกำหนด โดยอย่างน้อยจะต้องมีสาระสำคัญดังนี้
- ขอบเขตกิจกรรมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและประเภทก๊าซที่นำมาประเมินการปล่อยหรือลดก๊าซเรือนกระจก
- การตรวจวัดปริมาณการปล่อยหรือลดก๊าซเรือนกระจก
- การจัดทำรายงานปริมาณการปล่อย
- การทวนสอบรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
- การนำส่งรายงานก๊าซเรือนกระจก
ซึ่งข้อมูลเหล่านี้นิติบุคคลที่เกี่ยวข้องต้องส่งรายงานปริมาณการปล่อยหรือดูดกลับก๊าซเรือนกระจกภายในสาม เดือนนับแต่วันสิ้นสุดของแต่ละปี หน่วยงานของรัฐมีหน้าที่ในการทดสอบความถูกต้องของรายงานของข้อมูล
หากนิติบุคคลไม่นำส่งรายงานข้อมูลดังกล่าวให้องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกมีอำนาจตรวจสอบและวินิจฉัยปริมาณการปล่อยหรือลดก๊าซ โดยอาจพิจารณาจากข้อมูลในอดีตและผลประกอบกิจการในปัจจุบัน หรือเทียบเคียงกับนิติบุคคลอื่นที่ประกอบกิจการในลักษณะใกล้เคียงกัน โดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกอาจเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการดำเนินการดังกล่าวจากนิติบุคคลได้
ทั้งนี้มิให้ถือว่าข้อมูลปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมสุทธิของกิจการสถานประกอบการ รวมถึงปริมาณที่จำแนกตามขอบเขตการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ปริมาณการดูดกลับก๊าซเรือนกระจกสุทธิ ที่จำแนกตามพื้นที่หรือสถานประกอบการ หรือข้อมูลอื่นที่กรมประกาศกำหนดเพิ่มเติมในอนาคตเป็นความลับ
ระบบจัดสรรสิทธิก๊าซเรือนกระจก ใครปล่อยได้เท่าไหร่
หลังจากที่มีฐานข้อมูลการปล่อยและลดก๊าซเรือนกระจกแล้ว ขั้นตอนต่อไป คือการจัดสรรสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้แก่หน่วยงานของรัฐรวมถึงนิติบุคคลต่างๆ เพื่อควบคุมปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ภายในประเทศ
โดยกรมโลกร้อน มีหน้าที่และอำนาจดังต่อไปนี้
- จัดทำแผนการจัดสรรสิทธิเสนอต่อคณะกรรมการชุดใหญ่เพื่อพิจารณา
- จัดทำรายงานสรุปผลการดำเนินงานตามแผนการจัดสรร
- จัดให้มีระบบทะเบียนและบัญชีเพื่อจัดการข้อมูลเกี่ยวกับระบบการซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงบัญชีของนิติบุคคลควบคุมแต่ละรายเพื่อจัดสรรรสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
- ดำเนินการให้นิติบุคคลควบคุมได้รับการจัดสรรสิทธิ ในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามแผนจัดสรร
- ดำเนินการให้มีการประมูลสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามร่างกฎหมายนี้
- ให้ความรู้คำแนะนำและคำปรึกษาแก่ภาคเอกชนหน่วยงานรัฐเพื่อให้ดำเนินการตามระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
- ดำเนินการให้มีความร่วมมือทางวิชาการเพื่อสนับสนุนการส่งเสริมหลักการของข้อตกลงระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
สำหรับการซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกคณะกรรมการชุดใหญ่จะมีหน้าที่ในการพิจารณาเห็นชอบแผนการจัดสรรสิทธิของกรมโลกร้อนและผลักดันกำกับดูแลและติดตามการดำเนินงานในส่วนนี้
ในร่างกฎหมายโลกร้อนที่ สส. พรรคประชาชน เสนอ ยังระบุให้องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก กำหนดเพดานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายอุตสาหกรรม ตั้งเป้าหมายก๊าซเรือนกระจกและจำกัดสัดส่วนในการซื้อสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแบบ “ก้าวหน้า” ในรายอุตสาหกรรมอีกด้วย
ร่างฉบับที่สส. พรรคพลังประชารัฐ เสนอ ระบุให้คณะกรรมการชุดใหญ่มีอำนาจในการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติหน้าที่ตามที่คณะกรรมการได้มอบหมายตามความจำเป็นและความเหมาะสม
ในขณะที่ร่างฉบับ สส. พรรคประชาชน ระบุให้มีคณะอนุกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะอนุกรรมการกำกับดูแลระบบการซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก” ซึ่งจะเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการดำเนินการการระบบซื้อขายสิทธิ โดยกำหนดให้ รองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธานกรรมการ และมีกรรมการโดยตำแหน่ง เป็นปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงพลังงาน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเป็นกรรมการ กรรมการอีกส่วนหนึ่งซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนหกคน ซึ่งคณะกรรมการชุดใหญ่จะแต่งตั้งจากผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านกฎหมายเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม หรือด้านอื่นที่เป็นประโยชน์ เกี่ยวกับการซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
แผนจัดสรรสิทธิ พรรคประชาชนบังคับให้ลดสิทธิแบบก้าวหน้า
กรมโลกร้อนจะต้องจัดทำแผนที่ชื่อว่าแผนการจัดสรรสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งแผนการจัดสรรสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตามร่างฉบับของกรมโลกร้อน ระบุให้แผนฉบับนี้ต้องสอดคล้องกับแผนแม่บทซึ่งมีระยะเวลาไม่มากกว่าครั้งละห้าปี ส่วนร่างของพรรคพลังประชารัฐ ระบุให้มีระยะเวลาไม่ต่ำกว่าครั้งละสามปี ในขณะที่ร่างของพรรคประชาชนระบุชัดว่า จะต้องมีระยะเวลาสามถึงห้าปี โดยมีกลไกในการลดสิทธิแบบก้าวหน้าในทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแผน ซึ่งจะทำให้ ผู้ถือสิทธิจำนวนมากสุดจะมีสัดส่วนการลดสิทธิมากสุดด้วยเช่นกัน
ระบบการจัดสรรสิทธิแบบก้าวหน้านี้เป็นระบบที่ถูกใช้ในสหภาพยุโรป หรือเรียกว่า CAP and Trade ที่แปลเป็นภาษาไทยว่า กำหนดเพดานและอนุญาตให้ซื้อขาย นิติบุคคลใดสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ โดยการดูด กักเก็บ หรือวิธีใดๆ ได้น้อยกว่าจำนวนที่สามารถปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ก็สามารถนำส่วนต่างนั้นไปขายให้นิติบุคคลควบคุมที่ยังไม่สามารถลดได้และจำเป็นต้องปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าที่ตนมีสิทธิ
ขณะเดียวกัน เพดานโดยรวมของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งประเทศก็จะถูกปรับลดลงตามระยะเวลา เช่น หนึ่งปีหรือสามปี วิธีการนี้ไม่ใช่วิธีการที่ทำให้เกิดการค้ากำไรจากการซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นหลัก แต่เป็นวิธีการที่มุ่งเน้นไปยังเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่คาดหวังผลได้ในระยะยาว
รายละเอียดของแผนฉบับนี้ จะต้องระบุถึงจำนวนสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด จำนวนสิทธิ ระยะเวลา หลักเกณฑ์และวิธีการในการจัดสรร ชนิดหรือประเภทของก๊าซเรือนกระจกที่ถูกควบคุม ขอบเขตของกิจการก๊าซเรือนกระจกที่ถูกควบคุม จำนวนสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสำรองไว้เป็นสิทธิสำรอง จำนวนสูงสุดของสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและระยะเวลาที่สามารถเก็บหรือหักกลบสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ จำนวนสูงสุดของสิทธิที่สามารถยืมได้ จำนวนสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งจัดสรรด้วยวิธีการประมูล โดยในร่างฉบับของกรมโลกร้อนมีการระบุจำนวนสิทธิซึ่งจัดสรรโดยวิธีการให้เปล่าอีกด้วย
การจัดทำหรือปรับปรุงแผนการจัดสรรสิทธิจะต้องมีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องโดยจะต้องดำเนินการรับฟังความคิดเห็นอย่างทั่วถึง
กรมโลกร้อนจัดทำรายชื่อนิติบุคคลควบคุมที่ต้องส่งข้อมูลการปล่อยก๊าซและต้องลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ตามร่างกฎหมายโลกร้อนทั้งสามฉบับ กำหนดให้กรมโลกร้อนมีหน้าที่กำหนดรายชื่อ “นิติบุคคลควบคุม” ที่ดำเนินโครงการหรือประกอบกิจการที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก และมีหน้าที่กำหนดประเภทและชนิดของโครงการหรือกิจการของนิติบุคคลตามกฎหมายเอกชนหรือนิติบุคคลตามกฎหมายมหาชนที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม โดยจัดทำเป็นกฎกระทรวงเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการชุดใหญ่
โดยนิติบุคคลควบคุมจะต้องลงทะเบียน ตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขตามที่คณะกรรมการชุดใหญ่ประกาศกำหนดจึงจะสามารถมีส่วนร่วมกับระบบการซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ หากไม่ลงทะเบียนอาจมีโทษด้วย
นิติบุคคลทั่วไปที่ไม่ใช่นิติบุคคลควบคุม ตามที่ระบุไว้ในกฎกระทรวงดังกล่าวอาจสามารถยื่นคำขอต่อกรมโลกร้อนเพื่อขออนุญาตเป็นนิติบุคคลควบคุมได้
สำหรับระบบการจัดสรรสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หลังจากที่นิติบุคคลควบคุมได้ยื่นคำขอเพื่อรับการจัดสรรสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้ว กรมโลกร้อนหรือคณะอนุกรรมการ จะต้องจัดสรรสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ และแจ้งแก่นิติบุคคลควบคุมแต่ละรายให้ทราบ ซึ่งจำนวนสิทธิอาจเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมได้ขึ้นอยู่กับว่ามีการปรับปรุงแผนจัดสรร หรือมีการเปิดกิจการใหม่ หรือขยายตัวของกิจการของนิติบุคคลควบคุม
กรมโลกร้อนหรือคณะอนุกรรมการอาจเพิกถอนสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกับนิติบุคคลใดในกรณีที่มีการปรับปรุงแผนจัดสรร หรือนิติบุคคลควบคุมเลิกหรือหยุดพักการดำเนินโครงการ หรือในกรณีที่นิติบุคคลควบคุมได้รับสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
การซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ร่างกฎหมายโลกร้อนทั้งสามฉบับ กำหนดให้สิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ถือเป็นทรัพย์สินที่สามารถโอน รับโอน ซื้อหรือขาย หรือจำหน่ายโดยประการอื่นไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน โดยแสดงเป็นหน่วยตันคาร์บอนไดออกไซด์ ร่างฉบับที่ สส. พรรคพลังประชารัฐเสนอ ระบุให้การซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หมายความว่า การโอน รับโอน ซื้อ ขาย หรือจำหน่ายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จะต้องถูกกำกับตามเงื่อนไนที่คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กำหนด และเงื่อนไขการซื้อขาย จะต้องเป็นไปตามกฎหมายดังกล่าว
ในร่างฉบับกรมโลกร้อน ระบุให้คณะกรรมการชุดใหญ่ออกระเบียบเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไข เพื่อให้นิติบุคคลอื่นนอกเหนือจากนิติบุคคลควบคุมสามารถซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ ขณะที่ในร่างของพรรคประชาชนระบุให้คณะอนุกรรมการกำกับดูแลระบบซื้อขายสิทธิประกาศกำหนดแทนคณะกรรมการชุดใหญ่
การซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนี้ จะมีผลก็ต่อเมื่อจดทะเบียนกับกรมโลกร้อนตามระเบียบที่กำหนดไว้และเพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาดในการซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก กรมโลกร้อนโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการชุดใหญ่ อาจดำเนินการหากเหตุการณ์ดังต่อไปนี้เกิดขึ้น
- ราคาเฉลี่ยในช่วงหกเดือนติดต่อกันของก๊าซเรือนกระจกเกินกว่าราคาเฉลี่ยในช่วงสองปีก่อนหน้า ในอัตราส่วนที่คณะกรรมการชุดใหญ่กำหนด
- จำนวนสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีมากเกินไปจนทำให้ราคาของสิทธิลดลงในอัตราส่วนที่คณะกรรมการชุดใหญ่กำหนด
- มีการซื้อขายเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในระยะเวลาอันสั้น
- เหตุอื่นใดตามที่คณะกรรมการชุดใหญ่ประกาศกำหนด
โดยอาจใช้มาตรการเหล่านี้เพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาด
- จัดสรรสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มโดยไม่เกิน 25% ของสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสิทธิสำรอง
- เพิกถอนสิทธิ ในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
- กำหนดจำนวนสูงสุดหรือต่ำสุดในการถือสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
- เพิ่มเติมแก้ไข เปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับการคืนการเก็บ และการ หักหลบสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ในร่างฉบับของพรรคประชาชนระบุให้กรมโลกร้อนอาจจัดตั้งดำเนินการหรือมอบหมายให้บุคคลอื่นจัดตั้ง ศูนย์การซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมถึงกิจการอื่นใดที่เป็นประโยชน์ตามที่คณะอนุกรรมการกำหนด
มาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แปะป้ายธุรกิจที่ยังไม่กรีน
ในร่างกฎหมายโลกร้อนทั้งสามฉบับ กำหนดให้มีการจัดทำมาตรฐานขึ้นมาชุดหนึ่ง เป็นเครื่องชี้วัดและเป็นการสร้างความเข้าใจให้ทุกภาคส่วนใช้ในการอ้างอิงและประเมินสถานะในการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ละฉบับมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน ดังนี้
ร่างที่ สส.พรรคประชาชนเสนอ ระบุชื่อมาตรฐานการจัดกลุ่มทางเศรษฐกิจนี้เรียกว่า “มาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม” โดยจัดให้มีคณะทำงานที่เรียกว่า “คณะทำงานขับเคลื่อนการกำหนดนิยามและจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม” ซึ่งจะต้องประกอบไปด้วยหน่วยงานของรัฐภาคเอกชนและภาคประชาสังคมที่มีความเชี่ยวชาญเข้าร่วมเพื่อสะท้อนความเห็นทุกภาคส่วน ซึ่งคณะทำงานชุดนี้มีหน้าที่
- จัดทำมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม
- จัดทำรายละเอียดในแต่ละภาคเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับความจำเป็นเร่งด่วนโดยคำนึงถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นและความพร้อมในการปรับตัวแต่ละภาคส่วน
- พัฒนาให้หน่วยงานหรือบุคลากรที่รับรองมาตรฐานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมภายในประเทศ
- มีกลไกในการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียวเช่นกลุ่มเปราะบางหรือชุมชนเพื่อให้เป็นไปตามหลักการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม
การจัดทำมาตรฐานนี้กรมโลกร้อนจะต้องจัดให้ประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นเพื่อประกอบการจัดทำมาตรการดังกล่าวด้วยโดยการรับฟังความเห็นต้องทั่วถึงเปิดเป็นสาธารณะและเป็นไปตามหลักการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม
ร่างฉบับพรรคพลังประชารัฐระบุให้เป็นหน้าที่ของกรมโลกร้อนในการที่จะจัดทำมาตรฐานชุดนี้ ส่วนในร่างฉบับกรมโลกร้อนให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการชุดใหญ่ในการกำหนดขอบเขตทางเศรษฐกิจ
พิรุณ สัยยะสิทธิพานิช อธิบดีกรมโลกร้อนอธิบายว่ามาตรฐานนี้จะเป็นการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยอาจแบ่งเป็นสีเขียว สีส้มและสีแดง โดยสีเขียวหมายถึงกลุ่มเศรษฐกิจที่มีแผนเศรษฐกิจที่สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สีส้มหมายถึงกลุ่มเศรษฐกิจที่มีแผนทางเศรษฐกิจแต่อาจไม่สอดรับกับเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม ในขณะที่กลุ่มสีแดงหมายถึงกลุ่มที่ยังยึดโยงกับพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นหลัก
การควบคุมราคาคาร์บอนข้ามพรมแดน
ในร่างกฎหมายโลกร้อนที่ผลักดันโดยกรมโลกร้อนเป็นร่างเพียงฉบับเดียวที่ระบุถึงกลไกการปรับราคาคาร์บอนข้ามพรมแดนเพื่อจัดการกับการรั่วไหลของคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการนำเข้าสินค้าตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ซึ่งจะต้องพิจารณาถึงการจัดสรรสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วย
กรมโลกร้อนจะมีหน้าที่ในการจัดทำระบบทะเบียนและบัญชีเพื่อจัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับกลไกการปรับราคาข้ามพรมแดนรวมถึงบัญชีของผู้นำเข้าแต่ละรายเพื่อจัดเก็บข้อมูลปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการชำระราคาใบรับรองการปรับราคาคาร์บอนข้ามพรมแดน
ผู้นำเข้าสินค้า ตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง มีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขตามที่กรมโลกร้อนประกาศกำหนด หากไม่ปฏิบัติตาม เช่น ไม่ชำระราคาใบรับรองการปรับราคาคาร์บอน อาจถูกเพิกถอนทะเบียนผู้นำเข้าได้
ภาษีคาร์บอน สินค้าที่ปล่อยก๊าซตั้งแต่ผลิต-ใช้งานจะถูกเก็บภาษีเพิ่ม
นอกจากระบบการกำหนดจำนวนสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้แก่หน่วยงานต่างๆ ทั้งรัฐวิสาหกิจ ภาครัฐ และเอกชนแล้ว ยังมีระบบการจัดเก็บภาษีเพื่อทำให้การผลิตสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่มีการรั่วไหลของก๊าซเรือนกระจกถูกจำกัดมากยิ่งขึ้น
ในร่างฉบับกรมโลกร้อน ระบุให้ผู้ประกอบอุตสาหกรรมหรือผู้นำเข้าสินค้ามีหน้าที่ต้องเสียภาษีตามบัญชีพิกัดอัตราภาษีที่อยู่แนบท้ายร่างกฎหมายฉบับนี้ ยกตัวอย่างเช่น เบนซิน 91 และเบนซิน 95 จะต้องเสียภาษีลิตรละ 80 บาท ดีเซลพื้นฐานจะต้องเสียภาษีลิตรละ 100 บาท ถ่านอัด เสียภาษีกิโลกรัมละ 100 บาท แก๊สแอลพีจีเสียภาษีกิโลกรัมละ 80 บาท เป็นต้น โดยกำหนดไว้ว่าเศษหน่วยจะถูกปัดเป็นหนึ่งหน่วยตามร่างกฎหมายนี้
สำหรับสินค้าที่ผลิตขึ้นภายในประเทศ จะต้องเสียภาษีตอนที่นำสินค้าออกจากโรงงาน แต่หากสินค้าถูกนำไปเก็บไว้ในคลังสินค้าทัณฑ์บนตามกฎหมายสรรพสามิต กฎหมายศุลกากร เขตปลอดอากร หรือเขตประกอบการเสรี ถ้าผู้ประกอบการอุตสาหกรรมหรือบุคคลใดนำสินค้าไปใช้ภายในโรงงานอุตสาหกรรมถือว่าเป็นการนำสินค้าออกจากโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งจะต้องเสียภาษีด้วยเช่นกัน
สำหรับสินค้าที่นำเข้า จะต้องเสียภาษีในตอนที่เสียอากรศุลกากร ส่วนในกรณีที่สินค้านั้นถูกนำไปเก็บไว้ที่คลังสินค้าทัณฑ์บนหรือกรณีที่คล้ายกับสินค้าที่ผลิตขึ้นภายในประเทศ ให้ถือว่าจะต้องเสียภาษีเมื่อสินค้าถูกนำออกไปใช้ด้วยเช่นกัน
ในร่างฉบับพรรคพลังประชารัฐและพรรคประชาชนไม่ได้ระบุบัญชีแนบท้ายที่จะกำหนดรายการภาษีของสินค้าแต่ประเภทของสินค้า การกำหนดลักษณะต่างๆ ให้ออกเป็นกฎกระทรวงในภายหลังแทน ซึ่งร่างฉบับพรรคประชาชนระบุเพิ่มว่าจะต้องกำหนดอัตราภาษีในแบบก้าวหน้าและตามลำดับของอุตสาหกรรมหรือกิจกรรมที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ผู้เสียภาษีมีหน้าที่ต้องยื่นแบบรายการภาษีต่อกระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพสามิต หรือกรมศุลกากร แล้วแต่กรณี หากไม่ยื่น ยื่นไม่ครบ ไม่ชำระ หรือชำระไม่ครบอาจถูกปรับได้ ในร่างฉบับพรรคประชาชนและพรรคพลังประชารัฐระบุให้ผู้ไม่ชำระภาษีหรือชำระไม่ครบต้องเสียเงินเพิ่มร้อยละ 1.5 ต่อเดือน โดยเบี้ยปรับ และเงินเพิ่มให้ถือเป็นรายได้ของแผ่นดิน
เมื่อเจ้าพนักงานสรรพสามิต หรือเจ้าพนักงานศุลกากรได้รับรายการภาษีที่ผู้เสียภาษียื่นแล้วจะต้องมีหน้าที่ในการประเมินภาษี หากผู้เสียภาษีไม่เห็นด้วยกับผลการประเมินก็มีสิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีได้ ในร่างฉบับพรรคพลังประชารัฐและพรรคประชาชนไม่ได้กำหนดวิธีการหรือรายละเอียดไว้ ในร่างที่พรรคพลังประชารัฐเสนอ กำหนดให้รายละเอียดการอุทธรณ์กำหนดภายหลังโดยออกเป็นกฎกระทรวง ส่วนร่างพรรคประชาชน ให้กำหนดในพระราชกฤษฎีกา ในร่างฉบับของกรมโลกร้อน กำหนดไว้ให้อุทธรณ์ภายใน 30 วันนับแต่ที่ได้รับการแจ้งการประเมินและรัฐมนตรีจะต้องอุทธรณ์ให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน นับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ รัฐมนตรีอาจขยายเวลาออกไปอีกได้แต่ต้องไม่เกิน 90 วัน เมื่อพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวแล้วให้ผู้อุทธรณ์มีสิทธิฟ้องต่อศาลได้โดยไม่ต้องรอฟังผลพิจารณาของรัฐมนตรี แต่ต้องยื่นฟ้องภายใน 30 วันนับแต่ที่พ้นเวลาดังกล่าว ทั้งนี้ในส่วนของการจัดการภาษีคาร์บอน ยังมีกลไกในการลดหย่อนภาษี ยกเว้นภาษีและคืนภาษี จะถูกกำหนดเงื่อนไขไว้ในกฎกระทรวงเป็นการต่อไป
ส่วนรายได้ที่ได้จากการเก็บภาษีคาร์บอน ในร่างฉบับของพรรคพลังประชารัฐระบุไว้แต่เพียงว่า เงินภาษี คาร์บอนให้นำส่งคลังเป็นรายได้ของแผ่นดิน ส่วนร่างของกรมโลกร้อน แม้ว่าจะคล้ายกับร่างของพรรคพลังประชารัฐ แต่ก็มีรายละเอียดเพิ่มว่าให้ผู้เสียภาษีมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นเพื่อราชการส่วนท้องถิ่นสำหรับสินค้าที่จะกำหนดไว้ในกฎกระทรวงภายในภายหลังแต่ไม่เกิน 10% ของภาษี ซึ่งเจ้าพนักงานสรรพสามิตหรือพนักงานศุลกากรจะต้องส่งมอบเงินภาษีในส่วนนี้ให้แก่กระทรวงมหาดไทย โดยหักค่าใช้จ่ายไว้ 5% ของเงินภาษีที่เก็บได้
ส่วนร่างของพรรคประชาชนระบุไว้ว่า เงินภาษี ค่าธรรมเนียมก๊าซเรือนกระจกจากผลิตภัณฑ์ เบี้ยปรับและเงินเพิ่ม ให้นำส่งคลังเป็นรายได้ของแผ่นดิน หรือให้เป็นรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือให้นำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดินและแบ่งสรรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นสัดส่วน 40% ของรายได้ทั้งหมด หรือตามสัดส่วนที่คณะกรรมการชุดใหญ่เห็นชอบ
คาร์บอนเครดิต
เมื่อหน่วยงานรัฐ หน่วยงานส่วนท้องถิ่นต่างๆ บริษัทเอกชน หรือชุมชนใดสามารถทำโครงการหรือกิจกรรมที่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือสามารถดูดซับหรือกักเก็บก๊าซเรือนกระจกได้ โดยที่มีองค์กรของรัฐเข้ามารับรองก็จะได้รับคาร์บอนเครดิตโดยมีหน่วยเป็นตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2eq) ซึ่งหน่วยงานที่ได้รับคาร์บอนเครดิตมาสามารถนำไปขายให้กับนิติบุคคลควบคุมต่างๆ ที่ยังไม่สามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้และจำเป็นต้องปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรืออาจจะจำเป็นต้องปล่อยเกินสิทธิการปล่อยก๊าซที่ได้รับการจัดสรรไว้โดยรัฐ
เช่นเดียวกับสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก คาร์บอนเครดิตถือเป็นทรัพย์สินซึ่งสามารถโอน รับโอน ซื้อ ขาย หรือจำหน่ายโดยประการอื่นไม่ว่าจะทั้งหมดหรือบางส่วนได้ คาร์บอนเครดิตตามร่างกฎหมายโลกร้อนทั้งสามฉบับ ต้องเป็นคาร์บอนเครดิตที่เกิดจากโครงการลดก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นภายในประเทศและได้การรับรองตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก
ในร่างฉบับพรรคพลังประชารัฐ ใช้แนวคิดเดิมที่สอดคล้องกับการซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยการจัดตั้งและดำเนินการศูนย์การซื้อขายคาร์บอนเครดิตให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และในการดำเนินการผ่านศูนย์ซื้อขายคาร์บอนเครดิตผู้ใดประสงค์จะประกอบการเป็นศูนย์ ซื้อขายคาร์บอนก็สามารถทำความตกลงเพื่อเชื่อมโยงระบบของศูนย์ซื้อขายคาร์บอนเครดิตกับระบบทะเบียนขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกได้
ส่วนในร่างฉบับของกรมโลกร้อน มีความแตกต่างกับร่างฉบับของพรรคพลังประชารัฐอยู่ตรงที่การซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่ผ่านศูนย์การซื้อขายให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กฎหมายว่าด้วยสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล แต่หากเป็นการโอนรับโอน ซื้อขายหรือจำหน่ายโดยประการอื่น ระหว่างบุคคล หรือแบบผู้ซื้อผู้ขายตกลงกันโดยตรง ให้องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก กำหนดหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขอีกทีหนึ่ง
เนื่องจากในร่างฉบับของพรรคประชาชนมีการกำหนดเป้าหมายในการเป็นกลางทางคาร์บอนไว้ที่ปี 2578 ซึ่งจะหมายความว่าหลังจากปี 2578 เป็นต้นไป หน่วยงานของรัฐหรือเอกชน จะไม่สามารถชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยการซื้อขายคาร์บอนเครดิตได้อีกแล้ว หน่วยงานต่างๆ จะต้องดำเนินการลดหรือดูดกลับและกักเก็บคาร์บอนหรือก๊าซเรือนกระจกไว้เท่านั้นเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2593
ร่างที่เสนอโดย สส.พรรคประชาชนระบุไว้อีกด้วยว่า คาร์บอนเครดิตที่ได้รับการรับรองจะต้องเป็นไปตามกรอบของข้อตกลงปารีส ปี 2558 ซึ่งมีรายละเอียดเช่น
- ทุกๆ หนึ่ง ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต้องเป็นการป้องกันไม่ให้ก๊าซเรือนกระจกถูกปล่อยออกมาและดูดซับออกจากชั้นบรรยากาศได้จริง
- คาร์บอนเครดิตที่ถูกนำไปชดเชยแล้วจะต้องถูกหักออกจากบัญชี
- โครงการคาร์บอนเครดิตจะต้องดำเนินการอย่างรัดกุมเพื่อลดการรั่วไหลของก๊าซเรือนกระจก
- โครงการที่เป็นรูปธรรมจะสามารถตรวจสอบย้อนกลับไปยังแหล่งกำเนิดได้
- มีกลไกป้องกันทางสังคมและสิ่งแวดล้อมซึ่งเปิดโอกาสให้ชุมชนที่ดูแลทรัพยากรมีส่วนร่วมในการออกแบบ เป็นต้น
ทั้งนี้ยังมีการกำหนดไว้อีกด้วยว่าคาร์บอนเครดิตจากภาคป่าไม้ที่ได้การรับรองจะต้องเป็นไปตามหลักการ ให้ฉันทานุมัติที่ได้รับการรับรู้ บอกแจ้งล่วงหน้า และเป็นอิสระสำหรับชนเผ่าพื้นเมือง ซึ่งเป็นกลไกคุ้มครองสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองตามปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง ปี 2550 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมปรึกษาหารือจากล่างขึ้นบนของประชากรพื้นเมืองก่อนที่จะเริ่มพัฒนาบนที่ดินของบรรพบุรุษ หรือใช้ทรัพยากรในดินแดนของประชากรพื้นเมือง
ส่วนในร่างฉบับของพรรคพลังประชารัฐและกรมโลกร้อนแม้จะไม่ได้ระบุรายละเอียดของคาร์บอนเครดิต ไว้แต่ก็ให้เป็นอำนาจหน้าที่ขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ที่จะตรวจวัดรายงานและทวนสอบปริมาณการลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อให้การรับรองคาร์บอนเครดิตสำหรับการใช้คาร์บอนเครดิต
ร่างกรมโลกร้อน-พปชร. เน้นปรับเป็นพินัย ร่างพรรคประชาชนมีบทลงโทษอาญา
เพื่อให้การดำเนินงานของประเทศ บรรลุเป้าหมายการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยการ พยายามที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเปลี่ยนผ่านประเทศ ไปสู่เป้าหมายในการที่จะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนและ บรรลุภาวะการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในอนาคต จึงจำเป็นต้องมีการกำหน โทษ เพื่อให้หน่วยงานรัฐและบุคคล โดยเฉพาะหน่วยงานเอกชนต้องปฏิบัติตาม ซึ่งในร่างฉบับของพรรคพลังประชารัฐและในร่างฉบับของกรมโลกร้อน ส่วนใหญ่เน้นบทลงโทษปรับเป็นพินัย และในร่างกรมโลกร้อนมีความผิดเพียงฐานเดียวที่กำหนดไว้เป็นโทษทางอาญาคือโทษจำคุก ขณะที่ร่างที่ สส. พรรคประชาชนเสนอ มีทั้งโทษทางอาญาและโทษทางปกครองรวมอยู่ในบทกำหนดโทษด้วย
การกำหนดบทลงโทษปรับเป็นพินัย ซึ่งมีกฎหมายกลาง คือ พระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 มุ่งเน้นใช้กับความผิดที่กฎหมายมองว่า “ไม่ร้ายแรง” มีข้อแตกต่างจากโทษทางอาญา คือ ผู้ที่กระทำความผิดไม่ถูกบันทึกประวัติอาชญากรรม ไม่ใช้กระบวนการพิจารณาเหมือนคดีอาญา ทำให้ผู้กระทำความผิดไม่ถูกขังระหว่างพิจารณาคดี หากชำระค่าปรับคดีก็จะจบ แต่หากไม่มีเงินชำระค่าปรับ ก็ยังมีช่องทางให้เจ้าหน้าที่หรือศาลสั่งให้ผ่อนขำระได้ แต่หากไม่ชำระค่าปรับเป็นพินัยภายในระยะเวลาที่กำหนด เจ้าหน้าที่ก็จะส่งเรื่องไปให้อัยการฟ้องต่อศาล เป็นคดี “ความผิดทางพินัย” ถ้าศาลพิพากษาให้ชำระค่าปรับเป็นพินัยและยังไม่ชำระภายในเวลาที่ศาลกำหนด ศาลมีอำนาจออกหมายบังคับคดีเพื่อยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องในทรัพย์สินนั้นเพื่อชำระค่าปรับเป็นพินัย
บทกำหนดโทษที่ร่างฉบับกรมโลกร้อนและร่างฉบับพรรคพลังประชารัฐคล้ายกัน มีดังต่อไปนี้
ความผิด | บทลงโทษ | |
ร่างกรมโลกร้อน | ร่างพรรคพลังประชารัฐ | |
ผู้ใดไม่จัดเก็บหรือรายงานข้อมูลกิจกรรมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในระยะเวลาที่กำหนดในหนังสือแจ้งเตือนโดยไม่มีเหตุอันสมควร | ต้องชำระค่าปรับเป็นพินัยตั้งแต่ 10,000-100,000 บาทและปรับอีกวันละไม่เกิน 1,000 บาทจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง | |
ผู้ใดจงใจรายงานข้อมูลอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อมูลที่จะต้องรายงาน | ต้องชำระค่าปรับเป็นพินัยตั้งแต่ 30,000-300,000 บาท และปรับอีกวันละไม่เกิน 3,000 บาทจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง | |
ผู้ใดจงใจรายงานข้อมูลอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อมูลที่จะต้องรายงาน “เพื่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้หนึ่งผู้ใด” | ||
ผู้ใดส่งรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเจตนาให้ข้อมูลอันเป็นเท็จ | ต้องชำระค่าปรับเป็นพินัยไม่เกิน 5,000,000 บาท หรือสามเท่าของมูลค่าผลประโยชน์ที่ได้รับจากการกระทำดังกล่าว แล้วแต่อย่างใดจะสูงกว่า | |
ผู้ใดไม่นำส่งรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก | ต้องชำระค่าปรับเป็นพินัยไม่เกิน 100,000 บาทและปรับอีกวันละไม่เกิน 10,000 บาท จนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง | |
หน่วยงานทวนสอบเเละผู้ทวนสอบการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่ต้องรายงานผลทวนสอบ รายงานผลอันเป็นเท็จหรือไม่ตรงกับความเป็นจริง | ต้องชำระค่าปรับเป็นพินัยไม่เกิน 5,000,000 บาท หรือสามเท่าของมูลค่าผลประโยชน์ที่ได้รับจากการกระทำดังกล่าว แล้วแต่อย่างใดจะสูงกว่า | ต้องชำระค่าปรับเป็นพินัยไม่เกิน 1,000,000 บาท หรือสามเท่าของมูลค่าผลประโยชน์ที่ได้รับจากการกระทำดังกล่าว แล้วแต่อย่างใดจะสูงกว่า |
ผู้ใดไม่อำนวยความสะดวกแก่ผู้ทวนสอบ หรือไม่ให้ความร่วมมือ กับการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่การทวนสอบรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซหรือดูดกลับก๊าซเรือนกระจก | ต้องชำระค่าปรับเป็นพินัยไม่เกิน 1,000,000 บาทและปรับอีกวันละไม่เกิน 100,000 บาท จนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง | |
ผู้ใดไม่เก็บรักษารายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก | ต้องชำระค่าปรับเป็นพินัยไม่เกิน 100,000 บาท | |
นิติบุคคลควบคุมไม่เวนคืนสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือเวนคืนไม่ครบ | ต้องชำระค่าปรับเป็นพินัยจำนวนไม่เกินสามเท่าของราคาเฉลี่ยของสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่จัดสรรโดยการประมูลในระยะปีดำเนินการที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกนั้นของจำนวนสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ไม่คืนหรือคืนไม่ครบ | ต้องชำระค่าปรับเป็นพินัยจำนวนไม่เกินสามเท่าของราคาเฉลี่ยของสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในตลาดสำหรับปีดำเนินการที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกนั้นของจำนวนสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ไม่เวนคืนหรือเวนคืนไม่ครบแต่ต้องไม่เกิน 10,000 บาท ต่อหนึ่งตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า |
นิติบุคคควบคุมที่เลิกหรือหยุดพักการประกอบกิจการหรือไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามกำหนดระยะเวลาเดิม แล้วไม่แจ้งข้อมูลแก่กรมโลกร้อนภายใน 30 วัน | มีความผิดทางพินัยต้องชำระค่าปรับเป็นพินัยไม่เกิน 1,000,000 บาทหรือสามเท่าของมูลค่า ผลประโยชน์ที่ได้รับจากการกระทำดังกล่าวแล้วแต่อย่างใดจะสูงกว่า | |
ผู้ใดทำให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับการจัดสรร การจัดสรรเพิ่มเติม การเปลี่ยนแปลงสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยมิชอบด้วยกฎหมาย/โดยทุจริต | ต้องชำระค่าปรับเป็นพินัยไม่เกิน 5,000,000 บาท หรือสามเท่าของมูลค่าผลประโยชน์ที่ได้รับจากการกระทำดังกล่าว แล้วแต่อย่างใดจะสูงกว่า | |
ผู้ใดประกอบธุรกิจคาร์บอนโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก | ต้องชำระค่าปรับเป็นพินัยตั้งแต่ 10,000-100,000 บาท และปรับอีกวันละไม่เกิน 1,000 บาทจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง | |
ผู้ใดเวนคืนสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยใช้สิทธิปล่อยก๊าซเรือนกระจกแบบหักกลบ หรือขอใช้สิทธิการลดหย่อน โดยมิชอบด้วยกฎหมาย/โดยทุจริต | ต้องชำระค่าปรับเป็นพินัยไม่เกิน 5,000,000 บาทหรือสามเท่าของมูลค่าที่ได้รับจากการกระทำดังกล่าว แล้วแต่อย่างใดจะสูงกว่า | |
ผู้ใดยื่นคำขอเพื่อใช้คาร์บอนเครดิต แปลงเป็นสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยทุจริต | ไม่มีความผิดนี้ | ต้องชำระค่าปรับไม่เกิน 5,000,000 บาทหรือ สามเท่าของมูลค่าผลประโยชน์ที่ได้รับจากการกระทำดังกล่าว แล้วแต่อย่างใดจะสูงกว่า |
ผู้ใดไม่ส่งรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้านำเข้า | ต้องชำระค่าปรับเป็นพินัยไม่เกิน 5,000,000 บาท และปรับอีกวันละไม่เกิน 10,000 บาทจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง | ไม่มีความผิดนี้ |
ผู้ใดส่งรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากสินค้านำเข้าโดยเจตนาให้ข้อมูลอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อมูลอันพึงรายงาน | ต้องชำระค่าปรับเป็นพินัยไม่เกิน 5,000,000 บาท หรือสามเท่าของมูลค่าผลประโยชน์ที่ได้รับจากการกระทำดังกล่าว แล้วแต่อย่างใดจะสูงกว่า | |
ผู้นำเข้าสินค้าหากไม่นำส่งรายงานปริมาณก้อยก๊าซเรือนกระจกให้แก่กรมโลกร้อนภายในห้าเดือนนับแต่วันสิ้นสุดปีปฏิทินตามหลักเกณฑ์ที่ กรมโลกร้อนประกาศ | ต้องชำระค่าปรับเป็นพินัย ไม่เกิน 100,000 บาทหรือปรับอีกวันละไม่เกิน 10,000 บาทจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง | |
ผู้นำเข้าใดไม่เก็บ รายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้านำเข้า รายงานการทดสอบหรือบรรทุกข้อมูลที่จำเป็นในการคำนวณปริมาณปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้านำเข้า ไว้ไม่น้อยกว่าเจ็ดปีนับแต่ที นำของเข้ามา หรือไม่จัดเก็บเอกสารหลักฐาน ที่จำเป็นเพื่อแสดงว่าได้มีการชำระราคาคาร์บอน จากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ผลิต ในประเทศผู้ผลิตสินค้าที่นำเข้ามา รวมถึงเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับส่วนลดการหักลบหรือการชดเชยในรูปแบบใดๆที่มีอยู่ไว้แล้ว ไม่น้อยกว่าสี่ปีนับแต่วันที่นำของเข้ามา | ต้องชำระค่าปรับเป็นพินัยไม่เกิน 100,000 บาท | |
ผู้ใดไม่ชำระราคาใบรับรอง การปรับราคาคาร์บอน | ต้องชำระค่าปรับเป็นพินัยจำนวนไม่เกิน 5,000,000 บาทหรือ สามเท่าของมูลค่าผลประโยชน์ที่ได้รับจากการกระทำดังกล่าว แล้วแต่อย่างใดจะสูงกว่า | |
ผู้ประกอบอุตสาหกรรมใดไม่จัดทำบัญชีประจำวันและงบเดือนตามแบบที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด | ต้องชำระค่าปรับเป็นพินัยไม่เกิน 100,000 บาท | |
ผู้ใด ทำลาย ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้นหรือโอนให้แก่บุคคลอื่นซึ่งทรัพย์สิน หรือสิทธิเรียกร้องที่ถูกยึดหรืออายัดจากการชำระภาษีที่ค้าง | จำคุกไม่เกินสามปีและปรับไม่เกิน 400,000 บาท |
นอกจากนี้ยังมีการกำหนด ให้ในกรณีที่การกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้นเกิดจากการสั่งการหรือการกระทำของกรรมการหรือผู้จัดการหรือบุคคลใดซึ่งต้องรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้นหรือในกรณีที่บุคคลดังกล่าวมีหน้าที่ต้องสั่งการหรือกระทำการและละเว้นไม่สั่งการหรือไม่กระทำการจนเป็นเหตุให้ นิติบุคคลนั้นกระทำความผิดผู้นั้นต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้ในความผิดนั้นด้วย
ในร่างฉบับกรมโลกร้อนมีการระบุเพิ่มว่าให้รัฐมนตรีมีอำนาจแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นผู้มีอำนาจปรับเป็นพินัย และถ้าค่าปรับเป็นพินัยมีอัตราสูงไม่เกิน 10,000 บาทจะกำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐคนเดียวปรับเป็นพินัยก็ได้ แต่ถ้าค่าปรับเป็นพินัยมีอัตราสูงเกิน 10,000 บาทจะกำหนดให้การปรับเป็นพินัยกระทำเป็นองค์คณะประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่น้อยกว่าสามคนมีหัวหน้าองค์คณะหนึ่งคนและองค์คณะไม่น้อยกว่าสองคน
ส่วนในร่างฉบับของพรรคพลังประชารัฐระบุให้รัฐมนตรีอาจตั้งคณะกรรมการพิจารณาค่าปรับทางพินัยซึ่งประกอบไปด้วยปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหรือผู้แทนเป็นประธานกรรมการ ผู้แทนสำนักอัยการสูงสุด ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้แทนหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบ จัดเก็บข้อมูลกิจกรรมนั้นและอธิบดีกรมโลกร้อนหรือผู้แทนเป็นกรรมการ และให้ข้าราชการในสังกัดกรมโลกร้อน ที่อธิบดีกรมโลกร้อนแต่งตั้งเป็นเลขานุการและผู้ช่วยเลขานุการอีกไม่เกินสองคน
บรรดาความผิดทางพินัยตามร่างกฎหมายโลกร้อน ให้คณะกรรมการเปรียบเทียบค่าปรับทางพินัยมีอำนาจออกคำสั่งลงโทษปรับทางพินัยตามอัตราหลักเกณฑ์และวิธีการตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด และในกรณีที่ผู้ถูกลงโทษปรับทางพินัยไม่ยอมชำระค่าปรับทางพินัยให้อธิบดีกรมโลกร้อนหรือผู้ซึ่งอธิบดีกรมโลกร้อนมอบหมายมีหนังสือเตือนผู้นั้น ให้ผู้นั้นชำระภายในระยะเวลาที่กำหนดแต่ต้องไม่น้อยกว่าเจ็ดวันถ้าไม่มีการปฏิบัติตามคำเตือนให้อธิบดีกรมโลกร้อนหรือผู้ซึ่งอธิบดีกรมโลกร้อนมอบหมายนำบทบัญญัติเกี่ยวกับการปรับเป็นพินัยตามกฎหมายว่าด้วยการปรับเป็นพินัยมาบังคับใช้เท่าที่ไม่ขัดกับร่างกฎหมายโลกร้อน
ส่วนในบทกำหนดโทษของพรรคประชาชนมีการกำหนดโทษทั้งอาญาและโทษทางปกครอง
ในส่วนของโทษทางอาญา ได้แก่
ความผิด | บทลงโทษ |
ผู้ใดบอกกล่าว เผยแพร่ หรือให้คำรับรองข้อความอันเป็นเท็จ รวมถึงการแอบอ้างเกินจริง เพื่อลดทอนความจำเป็นในการแก้ไข ปัญหา และหรือสร้างภาพลักษณ์ที่รับผิดชอบต่อสังคม แต่อาจไม่ได้มีการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจริง อาจก่อให้เกิด ความสำคัญผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับการลดก๊าซเรือนกระจก | จำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับตั้งแต่ 500,000-2,000,000 หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีที่ผู้ฝ่าฝืนเป็นกรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใด ซึ่งต้องรับผิดชอบในการดำเนินงานของบุคคลควบคุม จะมีโทษหนักขึ้นจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับตั้งแต่ 1,000,000-5,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ |
ผู้ใดบอกกล่าวเผยแพร่ หรือให้คำรับรองข้อความอันเป็นเท็จหรือข้อความอันอาจก่อให้เกิดความสำคัญผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับราคาซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือข้อมูลอื่นใดที่เกี่ยวกับสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยประการที่น่าจะทำให้มีผลกระทบต่อราคาสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือต่อการตัดสินใจในการซื้อสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจก | จำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับตั้งแต่ 500,000 บาทถึง 2,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีที่ผู้ฝ่าฝืนเป็นกรรมการผู้จัดการหรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของบุคคลควบคุมจะมีโทษหนักขึ้น จำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับตั้งแต่ 1,000,000-5,000,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ |
ผู้ใดจงใจรายงานข้อมูลอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อมูลอันพึงรายงาน เพื่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้หนึ่งผู้ใด | ปรับทางปกครอง ตั้งแต่ 30,000-300,000 บาทและปรับอีกวันละไม่เกิน 3,000 จนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง |
ผู้ใดส่งรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยเจตนาให้ข้อมูลอันเป็นเท็จหรือไม่ตรงความเป็นจริง | ปรับไม่เกิน 500,000 บาท |
ผู้ใดฝ่าฝืนประกาศของกรมโลกร้อนที่เกี่ยวกับการรายงานข้อมูลการปล่อยก๊าซ และดูดกลับก๊าซเรือนกระจกของนิติบุคคล หรือไม่รายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการหยุดกับก๊าซเรือนกระจกให้เป็นไปตาม แบบและรายละเอียดที่กรมประกาศกำหนด | ปรับไม่เกิน 50,000 บาท |
หน่วยงานทวนสอบและผู้ทวนสอบการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่รายงานผลการทวนสอบ อันเป็นเท็จหรือไม่ตรงความเป็นจริง | จำคุกไม่เกินสามปีและปรับไม่เกิน 500,000 บาท |
ในกรณีที่หน่วยงานทวนสอบและผู้ทวนสอบการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ล่วงรู้หรือได้มาซึ่งความลับทางการค้าของผู้ประกอบการที่จองจัดทำและส่งรายงานการปล่อยรัตกาล ปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือโดยเหตุ ที่เป็นผู้ช่วยในการประกอบอาชีพนั้นแล้วเปิดเผยความลับนั้นในประการที่น่าจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ หนึ่ง ผู้ใด | จำคุกไม่เกินสามปีและปรับไม่เกิน 50,000 บาท ทั้งนี้ไม่ตัดสิทธิของผู้เสียหายที่จะนำความไปฟ้องคดีแพ่ง |
ผู้ใดทำหรือทำให้ผู้อื่นได้รับการจัดสรรการจัดสรรเพิ่มเติมการเปลี่ยนแปลงสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยทุจริต | ต้องชำระค่าปรับไม่เกิน 100,000 บาทหรือสามเท่าของมูลค่าของประโยชน์ที่ได้รับจากการกระทำดังกล่าว แล้วแต่อย่างใดจะสูงกว่า |
ผู้ใดเวนคืนสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยใช้สิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแบบหักกลบโดยทุจริต | ต้องชำระค่าปรับไม่เกิน 100,000 บาทหรือสามเท่าของมูลค่าของประโยชน์ที่ได้รับจากการกระทำดังกล่าว แล้วแต่อย่างใดจะสูงกว่า |
ผู้ประกอบธุรกิจคาร์บอนที่ไม่ขึ้นทะเบียนการประกอบธุรกิจคาร์บอนกับคณะกรรมการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก | จำคุกไม่เกินสามปีและปรับไม่เกิน 100,000 บาท |
เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรการที่คณะกรรมการ ตามร่างกฎหมายโลกร้อนฉบับนี้กำหนดขึ้นเพื่อป้องเฝ้าระวังดูแลรักษาสภาพอากาศที่ดีต่อสุขภาพและการจัดการปัญหาสภาพภูมิอากาศที่กระทบต่อสุขภาวะ | จำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท |
บรรดาความผิดอาญาตามพระราชบัญญัตินี้ที่มีโทษปรับสถานเดียวหรือเป็นความผิดที่มีโทษปรับหรือจำคุกไม่เกินสองปีให้คณะกรรมการเปรียบเทียบมีอำนาจเปรียบเทียบได้
ในกรณีที่พนักงานสอบสวนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่พบว่าบุคคลใดกระทำความผิดที่มีโทษปรับสถานเดียวหรือความผิดที่มีโทษปรับหรือโทษจำคุกไม่เกินสองปีและบุคคลนั้นยินยอมให้เปรียบเทียบ ให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่แล้วแต่กรณีส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการเปรียบเทียบภายในเจ็ดวันนับแต่ที่บุคคลนั้นแสดงความยินยอมให้เปรียบเทียบ
เมื่อผู้ต้องหาได้ชำระค่าปรับตามจำนวนที่เปรียบเทียบภายใน 30 วันนับแต่ที่มีการเปรียบเทียบแล้วให้ถือว่าคดีเลิกกันตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
โทษทางปกครองในร่างฉบับพรรคประชาชน มีดังนี้
ความผิด | โทษ |
ผู้ใดไม่จัดเก็บหรือรายงานข้อมูลกิจกรรม ภายในระยะเวลาที่กำหนดในหนังสือแจ้งเตือนโดยไม่มีเหตุอันสมควร | โทษปรับทางปกครองตั้งแต่ 10,000-100,000 บาทและปรับอีกวันละไม่เกิน 1,000 บาทจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง |
ผู้ใดไม่จัดส่งรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก | ต้องชำระค่าปรับทางปกครองไม่เกิน 100,000 บาทและปรับอีกวันละไม่เกิน 5,000 บาทตลอดระยะเวลาที่ยัง ไม่ปฏิบัติให้ถูกต้อง |
นิติบุคคลควบคุมได้ไม่เว้นคืนสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือเวนคืนสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่ครบ | ต้องชำระค่าปรับจำนวนไม่เกินสามเท่าของราคาเฉลี่ยของสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในตลาดสำหรับปีดำเนินการที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกนั้นของสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เวนคืนหรือเวนคืนไม่ครบ แต่ต้องไม่เกิน 10,000 บาทต่อ หนึ่งตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า |
ผู้ใดไม่ลงทะเบียนตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขตามระเบียบที่คณะอนุกรรมการกำกับดูแลระบบการซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก | ต้องชำระค่าปรับไม่เกิน 10,000 บาท |
ในกรณีที่มีการจัดสรรสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้แก่นิติบุคคลควบคุม และนิติบุคคลควบคุมไม่แจ้งการ เปิดสถานประกอบกิจการใหม่การเปลี่ยนแปลงหรือการขยายตัวของกิจการหรือโครงการของนิติบุคคลควบคุมในระหว่างระยะเวลาที่จัดสรร | ต้องชำระค่าปรับไม่เกิน 100,000 บาทหรือสาม เท่าของมูลค่าผลประโยชน์ที่ได้รับจากการกระทำดังกล่าวแล้วแต่อย่างใดจะสูงกว่า |
ผู้ใดขอรับรองหรือได้การรับรองโครงการก๊าซเรือนกระจกโดยทุจริต | ต้องชำระค่าปรับไม่เกิน 100,000 บาทหรือสาม เท่าของมูลค่าผลประโยชน์ที่ได้รับจากการกระทำดังกล่าวแล้วแต่อย่างใดจะสูงกว่า |
ในกรณีที่การกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้นเกิดจากการสั่งการหรือการกระทำของกรรมการหรือผู้จัดการหรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้นหรือในกรณีที่บุคคลดังกล่าวมีหน้าที่ต้องสั่งการหรือกระทำการและละเว้นไม่สั่งการหรือไม่กระทำการจนเป็นเหตุให้นิติบุคคลนั้นกระทำความผิด ผู้นั้นต้องรับโทษตามบัญญัติไว้ที่บัญญัติไว้ในบัญญัติความผิดนั้นด้วย
บรรดาความผิดทางปกครองตามพระราชบัญญัตินี้ให้คณะกรรมการ เปรียบเทียบมีอำนาจ ออกคำสั่งลงโทษปรับทางปกครองตามอัตราหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด
ในกรณีที่ผู้ถูกลงโทษปรับทางปกครองไม่ยอมชำระค่าปรับทางปกครองให้อธิบดีกรมโลกร้อนหรือผู้ซึ่งอธิบดีกรมโลกร้อนมอบหมายมีหนังสือเตือนไปยังผู้นั้นให้ชำระ ภายในเวลากำหนดแต่ต้องไม่น้อยกว่าเจ็ดวันถ้าไม่มีการปฏิบัติตามคำเตือนให้อธิบดีกรมโลกร้อนหรือผู้ซึ่งอธิบดีกรมโลกร้อนมอบหมาย นำบทบัญญัติเกี่ยวกับการบังคับทางปกครองตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองมาใช้บังคับโดยอนุโลมและในกรณีที่มีข้อขัดข้องในการบังคับทางปกครองดังกล่าวให้อธิบดีกรมโลกร้อนมีอำนาจฟ้องคดีศาลปกครองเพื่อบังคับชำระค่าปรับในการนี้ถ้าศาลปกครองเห็นว่าคำสั่งให้ชำระค่าปรับนั้นเป็นที่สุดก็ให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาและบังคับให้มีการยึดหรืออายัดทรัพย์สินขายทอดตลาดชำระค่าปรับได้
บทเฉพาะกาล ใช้แผนเดิมไปก่อนได้ เขียนแผนใหม่ภายในห้าปี
สำหรับบทเฉพาะกาล ภายใต้ร่างกฎหมายโลกร้อนทั้งสามฉบับนี้ ระบุให้ในวาระเริ่มแรกคณะกรรมการชุดใหญ่ให้ประกอบไปด้วย ข้าราชการการเมืองและข้าราชการประจำต่างๆ ปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อน จนกว่าจะสามารถได้มาซึ่งคณะกรรมการชุดใหญ่ที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิได้ แต่จะต้องไม่เกิน 90 วันนับแต่ที่พระราชบัญญัติ ใช้บังคับ
ในวาระเริ่มแรกเพื่อให้การดำเนินงานด้านนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีความต่อเนื่องให้แผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2558 ถึง พ.ศ. 2593 ที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2558 เป็นแผนแม่บทตามพระราชบัญญัตินี้ให้การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนดฉบับปรับปรุงครั้งที่สองและยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศไทยที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2565 เป็นแผนลดก๊าซเรือนกระจกตามพระราชบัญญัตินี้และให้แผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2567 เป็นแผนการปรับตัวตามพระราชบัญญัตินี้และให้มีการทบทวนแผนดังกล่าวให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัตินี้ภายในห้าปีนับแต่ที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
บรรดาระเบียบคำสั่งหรือประกาศที่ออกตามความในระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติมใช้บังคับอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้ จนกว่าจะมีระเบียบประกาศหรือคำสั่งที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้
นอกจากนี้ในร่างฉบับกรมโลกร้อนยังได้มีการยกเว้นการชำระราคาใบรับรองการปรับราคาคาร์บอนสำหรับผู้นำเข้าในระยะเวลาสองปีแรกของการดำเนินการกลไกการปรับราคาคาร์บอนตามพระราชบัญญัตินี้