เมื่อผู้นำเหล่าทัพปรากฎตัวบนหน้าจอโทรทัศน์เป็นสัญญาณที่ทำให้ประชาชนคนไทยรับรู้ว่าการบริหารประเทศภายใต้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งสิ้นสุดลง ตั้งแต่การประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2540 ที่มาพร้อมกับการเมืองไทยในศตวรรษที่ 21 พบว่าเมื่อนายพลเริ่มยึดอำนาจ กลไกใดๆ ตามปกติของรัฐก็ไม่อาจต้านทานการยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนได้ หรืออาจเป็นเพราะยังไม่เคยมีกลไกเหล่านั้นมาก่อนหรือไม่
จุดยืนเรื่องการรัฐประหารเป็นที่ถกเถียงในทุกการเลือกตั้ง นับตั้งแต่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ตั้งแต่การเลือกตั้งทั่วไปในปี 2562 การเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานครในปี 2565 ไปจนถึงการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2566 ซึ่งบรรดาผู้สมัครจากพรรคการเมืองต่างๆ ก็ได้แสดงจุดยืนที่แตกต่างกันออกไป บ้างก็คัดค้านอย่างสุดขีด บ้างก็ยืนยันว่าจำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อลดอำนาจกองทัพเพื่อให้การรัฐประหารเกิดได้ยากขึ้น ในขณะที่บ้างก็โทษว่าเป็นความผิดของนักการเมืองที่ทำให้เกิดการรัฐประหารต้องแก้ไขที่นักการเมืองมากกว่า
สารบัญ
แสดง / ซ่อน
- รัฐประหาร49ที่มาอำนาจทหารเหนือพลเรือน
- ที่มาที่ไปแก้ไขลดอำนาจกองทัพ-สกัดรัฐประหาร-หลังเลือกตั้ง-66
- วางกลไกรัฐบาลพลเรือนขวางนายพลยึดอำนาจ
- ปรับโครงสร้างสภากลาโหม-ลดจำนวนเหล่าทัพในสภากลาโหม
- พรรคประชาชนเสนอลดบทบาทสภากลาโหมให้เป็นแค่สภาที่ปรึกษา
- จัดระบบใหม่-ภาคการเมืองมีบทบาทในการแต่งตั้ง-“นายพล”
- เสริมความโปร่งใส-ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดหายุทโธปกรณ์
รัฐประหาร 49 ที่มาอำนาจทหารเหนือพลเรือน
พระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551 (พ.ร.บ. กลาโหมฯ) ไม่ใช่แค่กฎหมายการปกครองฝ่ายทหารธรรมดา แต่นับว่าเป็นมรดกที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ หรือ คมช. ทิ้งไว้ให้การเมืองไทยอีกด้วย หลัง คมช. เข้ายึดอำนาจรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ได้มีการโปรดเกล้าแต่งตั้ง พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ร่วมกับสภานิติบัญญัติแห่งชาติในเวลานั้นได้ผ่านร่างกฎหมาย พ.ร.บ. กลาโหมฯ ปี 2551 ขึ้นมา ซึ่งเป็นการเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพและรัฐบาลพลเรือนไปโดยสิ้นเชิง แต่โดยเดิมก่อนที่จะมี พ.ร.บ.กลาโหมฯ ในปี 2551 พ.ร.บ. จัดระเบียบกระทรวงกลาโหมปี 2503 แม้ว่าจะมีโครงสร้างคล้ายกับฉบับปี 2551 แต่สาระสำคัญในการแต่งตั้งนายพลนั้นเป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (รมต.กลาโหม) โดยตรง ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นความเห็นชอบโดยฝ่ายทหารตามฉบับปี 2551
ไม่ใช่ว่า พ.ร.บ. กลาโหม ปี 2551 จะไม่เคยถูกท้าท้ายมาก่อน ในช่วงปี 2556 ในรัฐบาลของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พรรคเพื่อไทยผ่านคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชนของสภาผู้แทนราษฎรในขณะนั้นได้เคยเสนอร่างแก้ไขมาแล้ว โดยมีสาระสำคัญคือการอนุญาตให้ รมต.กลาโหมตั้งกองกำลังเฉพาะกิจต่อต้านการกบฏหรือการล้มล้างรัฐธรรมนูญได้ และปรับเปลี่ยนระบบการแต่งตั้งโยกย้ายนายพลที่ต้องได้รับความเห็นชอบโดย รมต.กลาโหมเป็นขั้นตอนสุดท้ายแทนการพิจารณาของคณะกรรมการที่ล้วนมีแต่นายพลเป็นส่วนใหญ่
ที่มาที่ไปแก้ไขลดอำนาจกองทัพ สกัดรัฐประหาร หลังเลือกตั้ง 66
ภายใต้รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร พ.ร.บ. กลาโหมฯ กลับมาเป็นที่ถกเถียงอีกครั้งเมื่อนักการเมืองไม่ว่าจะฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาลพยายามนำเสนอร่างแก้ไข โดยเป้าหมายหลักในการแก้ไขนี้นอกจากจะเป็นการลดอำนาจกองทัพที่มีอยู่เหนืออำนาจรัฐบาลพลเรือนแล้ว ยังมุ่งออกแบบกลไกในการพยายามจะป้องกันการรัฐประหารไม่ให้เกิดขึ้นอีก
ตั้งแต่เริ่มสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ชุดที่ 26 เป็นต้นมา มีร่างแก้ไข พ.ร.บ. กลาโหมฯ อย่างน้อยสามฉบับ โดยเริ่มที่ร่างฉบับพรรคประชาชน (เดิมชื่อพรรคก้าวไกลขณะที่เสนอ) ภายหลังจากการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2566 ไม่นานพรรคก้าวไกลนำโดยเรืออากาศโทธนเดช เพ็งสุข ก็ได้เสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ. กลาโหมฯ โดยเปิดรับฟังความคิดเห็นตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม 2566 ถึง 2 พฤศจิกายน 2566 ร่างฉบับพรรคประชาชนนี้มีสาระสำคัญในการลดอำนาจสภากลาโหมจากเดิมที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (รมต.กลาโหม) จะปฏิบัติหน้าที่ใดภายในกระทรวงก็ต้องผ่านความเห็นชอบของสภากลาโหมเสียก่อน ข้อเสนอของพรรคก้าวไกลคือการปรับเปลี่ยนบทบาทจากสภาบริหารไปเป็นสภาที่ปรึกษา รวมถึงปรับสัดส่วนภายในกระทรวงกลาโหมและเปลี่ยนกระบวนการแต่งตั้งนายพลให้ยึดโยงกับรัฐบาลพลเรือนมากขึ้น
ร่างฉบับพรรคประชาชนเข้าสู่การพิจารณาของ สส. เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2567 โดยที่ประชุมมีมติให้นำร่างกฎหมายฉบับนี้ไปพิจารณาก่อนลงมติรับหลักการ และคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2567 ได้แจ้งกลับมายัง สส. ว่าเห็นควรให้ชะลอการพิจารณาไว้ก่อนเพื่อจะได้พิจารณาพร้อมกับร่างฉบับที่กรมพระธรรมนูญ กระทรวงกลาโหมกำลังร่างและจะได้พิจารณาพร้อมกัน
กรมพระธรรมนูญ โดยการสนับสนุนของสุทิน คลังแสง รมต.กลาโหม ในขณะนั้น ได้นำเสนอร่างแก้ไขฉบับของตนและได้เปิดให้รับฟังความคิดเห็นผ่านระบบกลางทางกฎหมายตั้งแต่วันที่ 8 กรกฎาคม – 22 กรกฎาคม 2567 ซึ่งในร่างฉบับกรมพระธรรมนูญนี้มีเนื้อหาที่ต่างจากร่างฉบับพรรคประชาชน แม้ว่าจะมีการปรับโครงสร้างของสภากลาโหมเช่นเดียวกัน แต่บทบาทและหน้าที่ยังคงไว้ดังเดิม ประเด็นสำคัญของร่างฉบับกรมพระธรรมนูญคือการออกแบบกลไกการป้องกันการรัฐประหาร ซึ่งประเด็นการออกแบบกลไกป้องกันการรัฐประหารนี้จะคล้ายกับร่างฉบับพรรคเพื่อไทย
ประยุทธ์ ศิริพาณิชย์ สส. พรรคเพื่อไทยได้นำเสนอร่างแก้ พ.ร.บ. กลาโหมฯ โดยเปิดให้รับฟังความคิดเห็นตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2567 – 1 มกราคม 2567 เมื่อร่างฉบับพรรคเพื่อไทยในฐานะแกนนำรัฐบาลถูกนำเสนอขึ้นมาแล้ว พรรคร่วมรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นพรรคภูมิใจไทย พรรครวมไทยสร้างชาติ รวมถึงอดีตพรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคพลังประชารัฐต่างออกมาคัดค้านอย่างสุดขีด โดยให้เหตุผลว่าการรัฐประหารเกิดขึ้นเพราะนักการเมืองทั้งสิ้น ไม่จำเป็นต้องมีการแก้ไข พ.ร.บ. กลาโหมฯ เพื่อป้องกันการรัฐประหาร โดยจะเห็นว่าพรรคการเมืองต่างๆ ที่ออกมาคัดค้านต่างก็เป็นพรรคร่วมรัฐบาลเก่าของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาในสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 25 ทั้งสิ้น
ไม่นานหลังกระแสคัดค้านจากฝ่ายอนุรักษ์นิยมเริ่มเข้มข้น วิสุทธ์ ไชยอรุณ วิปฝ่ายรัฐบาล ระบุว่าพรรคเพื่อไทยถอนร่างฉบับพรรคเพื่อไทยแล้วและ ภูมิธรรม เวชยชัย รมต.กลาโหม จะนำไปหารือกับสภากลาโหมเพื่อพิจารณาใหม่ ทั้งที่มีร่างฉบับกรมพระธรรมนูญที่ผ่านความเห็นชอบของสภากลาโหมมาแล้วก็ตาม
ชวนอ่านร่างแก้ไขพระราชบัญญัติจัดระเบียบกระทรวงกลาโหมทั้งสามฉบับได้ ดังนี้
วางกลไกรัฐบาลพลเรือนขวางนายพลยึดอำนาจ
ใน พ.ร.บ. กลาโหมฯ พ.ศ. 2551 หมวดที่ 4 มาตรา 35 กำหนดบทบาทของกองทัพในการใช้กองกำลัง เพื่อการปราบจลาจลให้เป็นไปตามที่กระทรวงกลาโหมกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี อย่างไรก็ตามในร่างฉบับพรรคเพื่อไทยมีข้อเสนอเพิ่มกลไกการต่อต้านการรัฐประหาร ซึ่งเพิ่มข้อความในมาตรา 35 ไว้ดังต่อไปนี้
“ห้ามมิให้ใช้กองกำลังทหารหรือข้าราชการทหารเพื่อกระทำการดังต่อไปนี้
- เพื่อยึดอำนาจหรือควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินจากรัฐบาล หรือเพื่อก่อการกบฏ
- เพื่อขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ราชการของส่วนราชการต่างๆ
- เพื่อธุรกิจหรือกิจการอันเป็นประโยชน์ส่วนตัวของผู้บังคับบัญชา
- เพื่อกระทำการอันมิชอบด้วยกฎหมายประการอื่น
ข้าราชการทหารผู้ใดได้รับคำสั่งให้กระทำการดังกล่าวย่อมมีสิทธิที่จะไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนั้นโดยไม่ให้ถือว่าเป็นการกระทำความผิดวินัยทหารหรือกฎหมายอาญาทหาร”
และให้เพิ่มมาตรา 35/1 ที่ระบุว่า เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่านายทหารชั้นสัญญาบัตรผู้ใดได้กระทำการหรือตระเตรียมการเพื่อกระทำการในการยึดอำนาจหรือควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินจากรัฐบาลหรือเพื่อก่อการกบฏ ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจให้นายทหารผู้นั้นหยุดปฏิบัติหน้าที่ไว้เป็นการชั่วคราวระหว่างรอการสอบสวนโดยไม่ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนการสั่งพักราชการตามที่กฎหมายกำหนดไว้
หากเนื้อหาในมาตรา 35 และมาตรา 35/1 ในร่างฉบับพรรคเพื่อไทยถูกบัญญัติเป็นกฎหมายแล้วจะหมายความว่า การใช้กองกำลังหรือข้าราชการทหารไปเพื่อธุรกิจส่วนตัวของนายพล ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของส่วนราชการอื่นๆ หรือยึดอำนาจการปกครองประเทศ นายพลผู้บังคับบัญชาจะสั่งนายทหารในสังกัดให้ก่อการไม่ได้ รวมถึงนายทหารที่ถูกสั่งให้ก่อการเหล่านี้จะไม่ต้องถือว่าเป็นการผิดวินัยหรือกฎหมายอาญาทหารด้วย
และเมื่อพบข้อเท็จจริงว่านายทหารชั้นสัญญาบัตร ซึ่งคือนายทหารตั้งแต่ยศร้อยตรี เรือตรี หรือเรืออากาศตรีขึ้นไปได้ตระเตรียมการหรือกระทำการเพื่อยึดอำนาจการปกครองประเทศ นายกรัฐมนตรีมีอำนาจในการสั่งให้นายทหารผู้นั้นหยุดปฏิบัติหน้าที่ไว้ชั่วคราวได้ โดยไม่ต้องปฏิบัติตามที่กฎหมายอื่นกำหนดไว้ แต่ต้องได้รับความเห็นชอบโดยคณะรัฐมนตรีเสียก่อน
ส่วนในร่างฉบับกระพระธรรมนูญนั้นกำหนดบทบัญญัติในการต่อต้านรัฐประหารไว้ที่คล้ายกับร่างฉบับของพรรคเพื่อไทย แต่ไประบุเพิ่มไว้ในมาตรา 33/1 ซึ่งมาตรา 33 ปัจจุบันเป็นมาตราที่เกี่ยวกับการจัดวางกำลังและการใช้กำลังทหารเพื่อปฏิบัติราชการทหาร โดยข้อเสนอของกรมพระธรรมนูญ ระบุในมาตรา 33/1 ดังนี้
“การใช้กำลังทหารหรือข้าราชการทหาร ให้เป็นไปตามระเบียบแบบแผนของราชการแต่กรณีดังต่อไปนี้จะกระทำมิได้
- เพื่อยึดหรือควบคุมอำนาจการบริหารราชการแผ่นดินจากรัฐบาล หรือเพื่อก่อการกบฏ
- เพื่อขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ราชการที่ชอบด้วยกฎหมายของส่วนราชการต่างๆ
- เพื่อธุรกิจหรือกิจการอันเป็นประโยชน์ส่วนตัวหรือของผู้บังคับบัญชา
- เพื่อกระทำการนั้นมิชอบด้วยกฎหมายประกันอื่น
ข้าราชการทหารผู้ใดได้รับคำสั่งให้กระทำการดังกล่าว ย่อมมีสิทธิที่จะไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนั้นได้ โดยมิให้ถือว่าเป็นความผิดทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย ระบุเพิ่มว่าการใช้กำลังทหารเพื่อการปราบปรามการจลาจลให้เป็นไปตามที่กระทรวงกลาโหมกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี”
รวมถึงเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าข้าราชการทหารผู้ใดถูกฟ้อง ถูกกล่าวหา ต้องหา หรือถูกสอบสวนว่ากระทำการหรือจะเตรียมการเพื่อกระทำการตามสิ่งที่จะกระทำมิได้ ให้นายกรัฐมนตรีภายใต้ความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีสั่งพักราชการผู้นั้นทันทีโดยให้นำข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยการสั่งให้ข้าราชการทหารพักราชการมาใช้โดยอนุโลม
จะเห็นว่าร่างฉบับกรมพระธรรมนูญนั้นคล้ายกับร่างฉบับพรรคเพื่อไทยในการมีกลไกหยุดรัฐประหารตั้งแต่ที่ “ต้นเหตุ” คือนายทหารผู้บังคับบัญชาจะไม่อาจสั่งให้นายทหารใต้บังคังบัญชาก่อการรัฐประหารได้ แต่อาจแตกต่างกันตรงที่ “ปลายเหตุ” เมื่อพบว่านายทหารชั้นสัญญาบัตรผู้ใดได้เตรียมการยึดอำนาจแล้ว ร่างฉบับพรรคเพื่อไทยระบุว่าต้องมีข้อเท็จจริงเสียก่อน ในขณะที่ร่างฉบับกรมพระธรรมนูญระบุชัดแค่ถูกกล่าวหา หรือถูกสอบสวนว่าจะยึดอำนาจ นายกรัฐมนตรีก็สามารถสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่ก็ต้องได้รับความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีเหมือนกัน
ปรับโครงสร้างสภากลาโหม ลดจำนวนเหล่าทัพในสภากลาโหม
ในหมวดที่ 5 ตาม พ.ร.บ. กลาโหมฯ มีคณะผู้บริหารชุดหนึ่งที่เรียกว่า “สภากลาโหม” โดยมีหน้าที่ในการกำหนดนโยบายต่างๆ ภายในการปฏิบัติราชการทหารของกระทรวงกลาโหม เช่น นโยบายการทหาร นโยบายการระดมสรรพกำลัง นโยบายการปกครองและการบังคับบัญชา พิจารณางบประมาณทหาร การพิจารณาร่างกฎหมายหรือเรื่องที่กฎหมายที่เกี่ยวข้องกำหนดอื่น ๆ ซึ่ง รมต.กลาโหมจะปฏิบัติหน้าที่หรือมีคำสั่งใดๆ จำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากสภากลาโหมเสียก่อน
สภากลาโหมใน พ.ร.บ. กลาโหมฯ เดิมกำหนดให้สมาชิกสภากลาโหมเป็นข้าราชการทหารเป็นส่วนใหญ่ มีเพียง รมต.กลาโหม และ รมช.กลาโหม เท่านั้นที่เป็นคนนอกกองทัพ โดยมีข้อเปรียบเทียบกับข้อเสนอจากภาคส่วนต่างๆ ดังนี้
สภากลาโหมตาม พ.ร.บ. กลาโหมฯ พ.ศ. 2551 | พรรคเพื่อไทย | พรรคประชาชน | กรมพระธรรมนูญ |
1.รมต.กลาโหม เป็นประธานสภากลาโหม 2.รมช.กลาโหม เป็นรองประธานสภากลาโหม 3.จเรทหารทั่วไป 4.ปลัดกระทรวงกลาโหม 5.รองปลัดกระทรวงกลาโหม6.บัญชาการทหารสูงสุด 7.รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด 8.เสนาธิการทหาร 9.ผู้บัญชาการทหารบก 10.รองผู้บัญชาการทหารบก 11.ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก 12.เสนาธิการทหารบก 13.ผู้บัญชาการทหารเรือ 14.รองผู้บัญชาการทหารเรือ 15.ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารเรือ 16.เสนาธิการทหารเรือ 17.ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ 18.ผู้บัญชาการทหารอากาศ 19.รองผู้บัญชาการทหารอากาศ 20.ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารอากาศ 21.เสนาธิการทหารอากาศ 22.ผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการทหาร ความมั่นคง หรือด้านอื่นที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงกลาโหมไม่เกินสามคนที่รมต.กลาโหมแต่งตั้งตามมติของสภากลาโหม | 1.นายกรัฐมนตรี เป็นประธานสภากลาโหม 2.รมต.กลาโหมเป็นรองประธานสภากลาโหม 3.จเรทหารทั่วไป 4.ปลัดกระทรวงกลาโหม 5.ผู้บัญชาการทหารสูงสุด 6.เสนาธิการทหาร 7.เสนาธิการทหารบก8.ผู้บัญชาการทหารเรือ 9.เสนาธิการทหารเรือ 10.ผู้บัญชาการทหารอากาศ 11.เสนาธิการทหารอากาศ 12.อธิบดีกรมบัญชีกลาง 13.ผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการทหาร ความมั่นคง หรือด้านอื่นที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงกลาโหมไม่เกินสามคนที่รมต.กลาโหมแต่งตั้งโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี | 1.รมต.กลาโหม เป็นประธานสภากลาโหม 2.รมช.กลาโหม เป็นรองประธานสภากลาโหม 3.ปลัดกระทรวงกลาโหม 4.ผู้บัญชาการทหารสูงสุด 5.ผู้บัญชาการทหารบก 6.ผู้บัญชาการทหารเรือ 7.ผู้บัญชาการทหารอากาศ 8.ผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการทหาร ความมั่นคง หรือด้านอื่นที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงกลาโหมไม่เกินห้าคน ตามที่รมต.กลาโหมแต่งตั้งตามมติของคณะรัฐมนตรี | 1.รมต.กลาโหม เป็นประธานสภากลาโหม 2.รมช.กลาโหม เป็นรองประธานสภากลาโหม 3.จเรทหารทั่วไป 4.ปลัดกระทรวงกลาโหม 5.ผู้บัญชาการทหารสูงสุด 6.รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด 7.เสนาธิการทหาร 8.ผู้บัญชาการทหารบก 9.รองผู้บัญชาการทหารบก 10เสนาธิการทหารบก 11.ผู้บัญชาการทหารเรือ 12.รองผู้บัญชาการทหารเรือ 13.เสนาธิการทหารเรือ 14.ผู้บัญชาการทหารอากาศ 15.รองผู้บัญชาการทหารอากาศ 16.เสนาธิการทหารอากาศ 17.ผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการทหาร ความมั่นคง หรือด้านอื่นที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงกลาโหมไม่เกินห้าคน ที่ รมต.กลาโหมแต่งตั้งโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี |
สมาชิกสภากลาโหมในตำแหน่งที่ผู้ทรงคุณวุฒินั้น มีวาระดำรงตำแหน่งคราวละสองปีนับแต่ที่ได้รับการแต่งตั้งและอาจได้รับการแต่งตั้งอีกได้แต่ต้องไม่เกินสองวาระ
จากสัดส่วนนายพลจากเหล่าทัพต่างๆ ที่มีมากเหนือรัฐบาลพลเรือนภายในสภากลาโหมทำให้เราเห็นว่าสภากลาโหมถือเป็นกองบัญชาการที่ใหญ่ที่สุดในการปฏิบัติการทางการทหารไม่ว่าจะเป็นในยามสงบหรือยามสงคราม รมต.กลาโหมอาจเป็นผู้บริหารสูงสุดในทางกฎหมายของกระทรวงกลาโหมแต่ว่าในการปฏิบัติหน้าที่ใดๆ ภายในกระทรวงกลาโหมก็ยังจำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากสภากลาโหมนี้อยู่ดี เช่น การเห็นชอบให้แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ทางการทหาร การเห็นชอบนายทหารพล การเห็นชอบให้จัดวางกำลังทั้งในยามสงบและในยามสงคราม เป็นต้น
ข้อเสนอในการแก้ไข พ.ร.บ. กลาโหมของพรรคเพื่อไทย พรรคประชาชน และกรมพระธรรมนูญสอดคล้องกันในประเด็นของการปรับลดจำนวนผู้นำจากเหล่าทัพต่างๆ ให้มีจำนวนที่ลดน้อยลง อาจแตกต่างกันตรงที่ประเภทของผู้นำเหล่าทัพและจำนวนผู้ทรงคุณวุฒิ แต่ในร่างฉบับพรรคเพื่อไทยได้มีการเพิ่มนักการเมืองที่สำคัญในรัฐบาลพลเรือนอย่างตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และข้าราชการด้านงบประมาณอย่างอธิบดีกรมบัญชีกลางเข้าไปในสภากลาโหมด้วย ส่วนประเด็นของผู้ทรงคุณวุฒิยังสอดคล้องกันในการให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่รมต.กลาโหมเสนอ แต่ยังคงแตกต่างกันที่จำนวน ซึ่งร่างฉบับกรมพระธรรมนูญและฉบับพรรคประชาชนเป็นแค่สองร่างที่มีการเพิ่มจำนวนผู้ทรงคุณวุฒิจากสามคนเป็นห้าคน
ทั้งนี้ในร่างฉบับพรรคเพื่อไทยและกรมพระธรรมนูญ แม้ว่าจะมีการเพิ่มกลไกการต่อต้านรัฐประหารและการปรับจำนวนสมาชิกสภากลาโหมแต่ไม่ได้มีการปรับบทบาทหน้าที่ของสภากลาโหมที่ยังมีอำนาจเหนือ รมต.กลาโหมแต่อย่างใด ข้อเสนอในการปรับบทบาทของสภากลาโหมอยู่ในร่างฉบับพรรคประชาชน
พรรคประชาชนเสนอลดบทบาทสภากลาโหมให้เป็นแค่สภาที่ปรึกษา
ในร่างแก้ไข พ.ร.บ. กลาโหมฯ ฉบับพรรคประชาชน มีการปรับเปลี่ยนบทบาทของสภากลาโหมจากการที่มีหน้าที่ในการบริหารเป็นการให้มีหน้าที่ในการให้คำปรึกษาแก่รมต.กลาโหม เพียงเท่านั้น ซึ่งลดบทบาทลงไม่ให้มีบทบาทในการบริหารจัดการที่อยู่เหนือกว่ารมต.กลาโหม
ในพ.ร.บ.กลาโหมฯ มาตรา 43 กำหนดว่าในการดำเนินงานของรัฐมนตรีกลาโหมในเรื่องนโยบายการทหาร ระดมสรรพกำลัง การปกครองและการบังคับบัญชา การพิจารณางบประมาณ การพิจารณาร่างกฎหมาย หรือหน้าที่อื่นตามกฎหมายนี้ต้องเป็นไปตามมติของสภากลาโหม แต่ร่างฉบับพรรคประชาชนเสนอแก้ไขใหม่ให้สภากลาโหมมีเพียงอำนาจหน้าที่ในการให้คำปรึกษาแก่รัฐมนตรีในด้านต่างๆ นี้แทน รวมถึงยกเลิกอำนาจในมาตรา 46 วรรคสี่ ที่กำหนดให้ “มติของสภากลาโหมนั้นให้ส่วนราชการต่างๆ ในกระทรวงกลาโหมถือปฏิบัติ” อีกด้วย
นอกจากนี้ร่างของพรรคประชาชนมีการแก้ไขนิยามคำว่า “เจ้าหน้าที่ทางการทหาร” ใหม่ โดยแก้ไขมาตรา 4 พ.ร.บ. กลาโหมฯ จากปัจจุบันเจ้าหน้าที่ทางการทหารหมายความว่า “ผู้ซึ่งรมต.กลาโหมโดยความเห็นชอบของสภากลาโหม เพื่อปฏิบัติภารกิจการตามพระราชบัญญัตินี้” ในร่างฉบับพรรคประชาชนตัดถ้อยคำที่เขียนว่า “โดยความเห็นชอบของสภากลาโหม” ออก ซึ่งจะทำให้เจ้าหน้าที่ทางทหารตามพระราชบัญญัตินี้ไม่จำเป็นต้องผ่านความเห็นชอบของสภากลาโหมอีก รมต.กลาโหมสามารถแต่งตั้งโดยตรงได้
พรรคประชาชนตัดอำนาจสภากลาโหมในยามสงคราม ให้ทำได้แค่เสนอความเห็น
ในส่วนของการปฏิบัติราชการทหารเพื่อป้องกันประเทศหรือรักษาความสงบในกรณีที่จำเป็นต้องปราบปรามการก่อกบฏหรือการปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ ในช่วงที่มีการประกาศกฎอัยการศึก สำหรับในกฎหมายจัดระเบียบกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551 กำหนดกระบวนการขั้นตอนไว้สำหรับการปฏิบัติหน้าที่ทางการทหารในยามที่ประเทศเกิดสงครามหรือต้องรักษาความสงบภายในประเทศไว้
โดยกฎหมายปัจจุบัน รมต.กลาโหม อาจกำหนดหน่วยงานหรือแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ทางการทหารและกำหนดอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ทางทหารได้ตามความเหมาะสมแก่ภารกิจ หรือเมื่อเกิดการรบหรือสงครามหรือการรักษาความสงบในการปราบปรามการกบฏสิ้นสุดลงหรือมีการยกเลิกกฎอัยการศึก รมต.กลาโหมอาจพิจารณาสั่งยกเลิกหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ที่แต่งตั้งไว้ก่อนหน้าได้ได้รวมถึงในกรณีที่จำเป็นต้องกำหนดพื้นที่ที่จำเป็นต่อการปฏิบัติการทางการทหารหรือยุทธบริเวณ รมต.กลาโหมสามารถกำหนดพื้นที่ได้ แต่ในมาตรา 34 กำหนดว่าการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ทหาร การกำหนดอำนาจหน้าที่ การยกเลิกอำนาจหน้าที่ที่ได้แต่งตั้งไว้ รวมถึงการกำหนดพื้นที่ที่จำเป็นต่อการปฏิบัติการทางทหาร ต้องได้รับความเห็นชอบโดยสภากลาโหมเท่านั้น รมต.กลาโหมไม่สามารถที่จะดำเนินการตัดสินใจทางการทหารได้ด้วยตนเอง
ทั้งนี้ในร่างฉบับพรรคประชาชนเปลี่ยนแปลงบทบาทของสภากลาโหมใหม่ โดยตัดอำนาจในการเห็นชอบในการปฏิบัติหน้าที่ของรมต.กลาโหมโดยให้เปลี่ยนอำนาจของสภากลาโหมเป็นเพียงแค่การเสนอความเห็นต่อรมต.กลาโหมเท่านั้น การสั่งการในการแต่งตั้งหรือยกเลิกการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ทหารในยามที่มีการรบ การสงคราม การปราบปรามการกบฏ หรือในช่วงที่มีการประกาศกฎอัยการศึก ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของรมต.กลาโหมแต่เพียงผู้เดียว สภากลาโหมทำได้เพียงเสนอความเห็นว่าควรจะดำเนินการอย่างไรเท่านั้น
ในขณะเดียวกันสำหรับการปฏิบัติหน้าที่ในการสั่งการให้มีการจัดวางกำลังในพื้นที่ที่เหมาะสมในยามปกติ มาตรา 37 และมาตรา 38 ของพ.ร.บ.กลาโหมฯ กำหนดให้รมต.กลาโหมอาจจัดวางกำลังในพื้นที่ที่เห็นว่าเหมาะสมเพื่อปฏิบัติหน้าที่และภารกิจของกระทรวงกลาโหมได้ในยามปกติโดยความเห็นชอบของสภากลาโหม หรือในกรณีที่เห็นว่ามีความจำเป็นเพื่อใช้กำลังทหารในการปฏิบัติภารกิจเพื่อสันติภาพตามมติของคณะรัฐมนตรีและความเห็นชอบของสภากลาโหม ซึ่งในมาตราดังกล่าวร่างของพรรคประชาชนเสนอให้ สภากลาโหมนั้นมีเพียงอำนาจในการให้ความเห็นเท่านั้น รมต.กลาโหมมีอำนาจเต็มในการสั่งการจัดการกองกำลัง
ในการจัดวางกำลังเพื่อปฏิบัติภารกิจสันติภาพ รมต.กลาโหมโดยความเห็นชอบของสภากลาโหมมีอำนาจกำหนดหน่วยงานและแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ตามภารกิจนั้น ร่างแก้ไขฉบับพรรคประชาชนเสนอให้รมต.กลาโหมมีอำนาจในการจัดวางกำลังเพื่อปฏิบัติภารกิจสันติภาพโดยสภากลาโหมทำหน้าที่เพียงให้ความเห็น แต่สำหรับการใช้กำลังทหารในปฏิบัติภารกิจเพื่อสันติภาพยังจำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากสภากลาโหมอยู่ดี
พรรคประชาชนตัดบทบาทสภากลาโหม-ทหารวังทำหน้าที่แทน รมต.กลาโหม
ส่วนในการจัดระเบียบราชการทั่วไปตาม มาตรา 24 ของ พ.ร.บ.กลาโหมฯ กำหนดให้รมต.กลาโหมเป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของกระทรวงกลาโหม โดยในวรรคห้ากำหนดบริบทว่าในอำนาจของรมต.กลาโหมที่จะสั่งการ อนุญาต อนุมัติ ปฏิบัติราชการ ปฏิบัติหน้าที่ตามหน้าที่ของรมต.กลาโหม หรือการดำเนินการตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย หรือ “มติของสภากลาโหม” หรือมติของคณะรัฐมนตรี ทั้งหมดที่กล่าวมานี้รมต.กลาโหมสามารถมอบอำนาจให้ผู้อื่นทำการแทนได้ อย่างไรก็ตามในร่างฉบับพรรคประชาชนยกเลิกการปฏิบัติหน้าที่ของ รมต.กลาโหม ตามมติสภากลาโหมออกไป
และร่างของพรรคก้าวไกลยกเลิกไม่ให้สมุหราชองครักษ์ ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ทำหน้าที่แทนรัฐมนตรีได้ โดยผู้ที่สามารถทำการแทนได้ให้เหลือเพียง รมช.กลาโหม ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ หรือผู้บัญชาการทหารอากาศเท่านั้น
นอกจากในการบริหารจัดการทั่วไปในระดับโครงสร้างส่วนบนของกระทรวงกลาโหมแล้ว ร่างฉบับพรรคประชาชนยังแก้ไขในมาตรา 24 วรรคหก ซึ่งกำหนดอำนาจในการที่ผู้บัญชาการทหารต้องพึงปฏิบัติโดยอาจมอบหมายให้ผู้บัญชาการคนอื่นทำแทนได้ โดยการปฏิบัติหน้าที่นั้นพรรคประชาชนเสนอแก้ไขให้ตัดบทบาทที่จะต้องปฏิบัติตามมติของสภากลาโหมออกด้วย เท่ากับว่าผู้บัญชาการทหารจะต้องปฏิบัติตามหน้าที่ที่พึงปฏิบัติหรือดำเนินการตามกฎหมายระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่งใดๆ หรือมติของคณะรัฐมนตรีเท่านั้น มติของสภากลาโหมไม่สามารถสั่งการผู้บัญชาการทหารได้
นอกจากนี้ในร่างฉบับพรรคประชาชนระบุไว้ในมาตรา 14 ซึ่งอยู่ท้ายร่างกฎหมายฉบับนี้ว่าให้สภากลาโหมที่ดำรงตำแหน่งอยู่พ้นจากตำแหน่งทันทีเมื่อพระราชบัญญัตินี้มีผลบังคับใช้ และในวาระเริ่มแรกให้ดำเนินการเลือกสภากลาโหมให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่ที่มีการบังคับใช้กฎหมายแก้ไขนี้ ทั้งนี้ในวาระที่ยังไม่มีการแต่งตั้งสมาชิกสภากลาโหมในวาระเริ่มแรกหลังจากที่พระราชบัญญัติฉบับนี้มีผลบังคับใช้ให้ถือว่ายังไม่มีสภากลาโหมและให้อำนาจหน้าที่ทั้งหมดของสภากลาโหมยังไม่มีผลใช้บังคับ
จัดระบบใหม่ ภาคการเมืองมีบทบาทในการแต่งตั้ง “นายพล”
โครงสร้างของการบริหารจัดการกำลังพลในการพิจารณาแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลของสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมและส่วนราชการในกองทัพไทย ตามมาตรา 25 ของพ.ร.บ.กลาโหมฯ จะต้องดำเนินการโดยที่ส่วนราชการในส่วนนั้นแต่งตั้งขึ้นแล้วเสนอคณะกรรมการเพื่อพิจารณา โดยคณะกรรมการชุดดังกล่าวประกอบไปด้วย รมต.กลาโหม เป็นประธาน รมช.กลาโหม เป็นรองประธาน ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ และผู้บัญชาการทหารอากาศเป็นกรรมการ โดยมีปลัดกระทรวงกลาโหมเป็นกรรมการและเลขานุการ
คณะกรรมการชุดนี้ถูกขนานนามโดยสื่อมวลชนว่า “บอร์ด 7 เสือกลาโหม” ซึ่งเท่ากับว่าระบบในการแต่งตั้งนายพลของประเทศไทย ต่อรมต.กลาโหม และรมช.กลาโหม ซึ่งเป็นนักการเมืองในรัฐบาลพลเรือนจะแปะมือกันแต่งตั้งใครก็อาจต้องพ่ายแพ้ต่อผู้นำเหล่าทัพทั้งสี่ที่มีคะแนนเสียงมากกว่า ฝ่ายพลเรือนที่มีอยู่แค่สองเสียง เนื่องจากข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยการแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพล 2551 ข้อ 9 วรรคสามระบุชัดเจนว่าให้ใช้เสียงข้างมากเป็นการชี้ขาดในที่ประชุม ซึ่งอธิบายในอีกความหมายหนึ่งได้ว่าการแต่งตั้งนายพลภายใต้ พ.ร.บ.กลาโหม 2551 รัฐบาลพลเรือนไม่อาจกำหนดนโยบายได้โดยตรง
พรรคประชาชนเสนอระบบคุณธรรม ตัดขั้นคณะกรรมการให้ รมต. แต่งตั้งโดยตรง
เพื่อแก้ไขให้การแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลมีความยึดโยงกับรัฐบาลในฐานะที่เป็นตัวแทนของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย ในร่างฉบับพรรคประชาชนเสนอให้การแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลเปลี่ยนจากการพิจารณาโดยคณะกรรมการชุดดังกล่าว เป็นการพิจารณาด้วยระบบคุณธรรมด้วยการคัดเลือกผู้มีคุณสมบัติตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่งโดยคณะกรรมการที่ส่วนราชการนั้นแต่งตั้งขึ้นแล้วเสนอต่อรมต.กลาโหมพิจารณาแทน เท่ากับว่าในการแก้ไขของพรรคประชาชนจะตัดอำนาจของผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และปลัดกระทรวงกลาโหมโดยตรงออกจากการพิจารณาแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพล ทั้งนี้ให้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงกลาโหมกำหนด
พรรคเพื่อไทย เสนอเคาะสามชั้นตั้งนายพล
ส่วนในร่างฉบับพรรคเพื่อไทย ระบุให้กระทรวงกลาโหมกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับแต่งตั้งแต่ละระดับไว้ จากนั้นให้ส่วนราชการนั้นๆ แต่งตั้งขึ้น จากนั้นเสนอคณะกรรมการพิจารณา และสุดท้ายเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป ทั้งนี้ให้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงกลาโหมกำหนด
โดยในคณะกรรมการพิจารณา พรรคเพื่อไทยเสนอให้เพิ่มปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีร่วมเป็นกรรมการด้วย และเมื่อในการประชุมคณะกรรมการชุดนี้มีเสียงเท่ากันให้ประธานซึ่งคือ รมต.กลาโหมออกเสียงเพิ่มหนึ่งเสียงเพื่อเป็นเสียงชี้ขาด
เมื่อคณะกรรมการเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาแล้ว คณะรัฐมนตรีมีอำนาจในการให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบรายชื่อใดรายชื่อหนึ่งหรือทุกรายชื่อ แล้วส่งเรื่องไปยังรมต.กลาโหมเพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการพิจารณา เพื่อพิจารณาทบทวนหรือเปลี่ยนแปลงรายชื่อผู้ได้รับการแต่งตั้งและเสนอต่อไปยังคณะรัฐมนตรีใหม่ โดยนายทหารชั้นนายพลที่ได้รับการแต่งตั้งจะต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
- ต้องไม่เคยมีพฤติกรรมเป็นผู้มีอิทธิพลหรือมีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับยาเสพติด การค้ามนุษย์ การทำลายทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าโดยตรงหรือทางอ้อม
- ต้องไม่เป็นคู่สัญญากับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงกลาโหม หรือประกอบธุรกิจกิจการอันเกี่ยวกับราชการของกระทรวงกลาโหม
- ไม่อยู่ในระหว่างถูกสอบสวนทางวินัยหรือระหว่างถูกดำเนินคดีอาญา เว้นแต่ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท ความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือความผิดลหุโทษ
กล่าวโดยสรุปคือระบบการแต่งตั้งนายพลตามข้อเสนอของพรรคเพื่อไทยคือการทำเป็นลำดับขั้นขึ้นไปสามชั้น โดยเริ่มให้คณะกรรมการในส่วนราชการต่างๆ เสนอชื่อผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายพลตามที่กำหนดไว้ในแต่ละระดับ แล้วเสนอต่อคณะกรรมการที่เรียกว่า “เสือกลาโหม” ซึ่งให้เพิ่มปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นกรรมการด้วย เมื่อคณะกรรมการชุดดังกล่าวพิจารณาแล้วให้เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบเป็นขั้นตอนสุดท้าย ซึ่งกลไกลตามข้อเสนอพรรคเพื่อไทยนี้จะช่วยลดอำนาจของนายพลในการช่วยกันเลือกนายพลกันเอง โดยเพิ่มบทบาทของคณะรัฐมนตรีขึ้นมาเป็นผู้พิจารณาในขั้นตอนสุดท้าย
ข้อเสนอกรมพระธรรมนูญเพิ่มคุณสมบัตินายพล ที่เหลือคงเดิม
ส่วนในร่างฉบับกรมพระธรรมนูญแม้ว่าจะคล้ายกับร่างฉบับพรรคเพื่อไทย แต่ไม่ได้มีระบบสามชั้นแบบพรรคเพื่อไทย โดยความแตกต่างระหว่างร่างฉบับกรมพระธรรมนูญกับ พ.ร.บ. กลาโหมฯ 2551 ระบุให้การพิจารณาแต่งตั้งทนายหารชั้นนายพล ให้กระทรวงกลาโหมกำหนดคุณสมบัติผู้ที่จะได้รับแต่งตั้งในแต่ละระดับไว้ด้วย โดยอย่างน้อยต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามดังนี้
- ต้องไม่เคยมีพฤติกรรมเป็นผู้มีอิทธิพลหรือมีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับยาเสพติด การค้ามนุษย์ การทำลายทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมอันเกี่ยวข้องกับราชการของกระทรวงกลาโหม
- ต้องไม่เป็นคู่สัญญากับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงกลาโหม หรือประอบธุรกิจหรือกิจการ
- ไม่อยู่ในระหว่างถูกสอบสวนทางวินัยหรือระหว่างถูกดำเนินคดีทางอาญา เว้นแต่ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท ความผิดฐานหมิ่นประมาท หรือความผิดลหุโทษ
ข้อน่าสังเกตุที่น่าสนใจเกี่ยวกับข้อเสนอในการปฏิรูประบบในการแต่งตั้งนายพล ตามร่าง พ.ร.บ.กลาโหมฯ มาตรา 25 คือการวางท้ายด้วยข้อความว่า “ทั้งนี้ให้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงกลาโหมกำหนด” ซึ่งพบว่ามีข้อความนี้ในร่างฉบับของพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชน ซึ่งเดิมวิธีกระบวนการพิจารณาตั้งแต่ชั้นคณะกรรมการส่วนราชการ หรือคณะกรรมการเสือกลาโหมนั้น เดิมจะยึดโยงอยู่กับ ข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยการแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพล พ.ศ. 2551 และสำหรับการออกข้อบังคับในลักษณะนี้เชื่อมโยงกับมาตรา 43 (5) การพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวกับราชการทหาร ซึ่งเดิมกำหนดไว้ว่าต้องผ่านมติของสภากลาโหมเสียก่อน
ในบรรดาร่างแก้ไข พ.ร.บ.กลาโหมฯ ทั้งสามฉบับ มีเพียงร่างของพรรคประชาชนร่างเดียวที่มีการแก้ไขในส่วนนี้ โดยแก้ไขในมาตรา 43 ว่าสภากลาโหมมีอำนาจหน้าที่ในการให้คำปรึกษาแก่ รมต. กลาโหมแทน ดังนั้นในข้อเสนอของพรรคประชาชน รมต.กลาโหมจึงจะเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการออกข้อบังคับ รวมถึงข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งนายพลด้วย แม้ว่าพรรคเพื่อไทยจะกำหนดกระบวนการขั้นตอนในการตั้งแต่นายพลไว้สามชั้นและให้การให้ความเห็นชอบคณะรัฐมนตรีเป็นกระบวนการขั้นตอนสุดท้ายก่อนนำรายชื่อทูลเกล้าฯ แต่งตั้ง แต่หลักเกณฑ์และวิธีการข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งนายพลตั้งแต่ขั้นแรกหรือขั้นคณะกรรมการส่วนราชการ ขั้นสองหรือขั้นคณะกรรมการเสือกลาโหม ต้องได้เป็นไปตามมติที่สภากลาโหมเห็นชอบเช่นเดิม
ในการปรับสัดส่วนสภากลาโหมของพรรคเพื่อไทยแม้ว่าจะมีการปรับลดภาคส่วนจากกองทัพให้ลดลงแล้ว แต่สัดส่วนของนายทหารก็ยังเป็นเสียงข้างมาก โดยสมาชิกสภากลาโหมฝ่ายทหารในร่างฉบับพรรคเพื่อไทยมีจำนวน 10 คน ประกอบด้วย จเรทหารทั่วไป ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เสนาธิการทหาร ผู้บัญชาการทหารบก เสนาธิการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ เสนาธิการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และเสนาธิการทหารอากาศ และสมาชิกสภากลาโหมที่ไม่ใช่ฝ่ายทหารจะมีเพียงแค่หกคน ประกอบไปด้วย นายกรัฐมนตรี รมต.กลาโหม อธิบดีกรมบัญชีกลาง และผู้ทรงคุณวุฒิที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบสามคน
จะเห็นได้ว่าสมาชิกสภากลาโหมที่ไม่ใช่ฝ่ายทหารจะเป็นเสียงข้างน้อยในสภากลาโหมภายใต้ร่างฉบับพรรคเพื่อไทย การออกข้อบังคับที่จะกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการแต่งตั้งนายพล แม้ว่าคณะรัฐมนตรีจะเป็นผู้ให้ความเห็นชอบในขั้นสุดท้ายแต่ก็อาจไม่ง่ายหากฝ่ายทหารเป็นผู้กำหนดข้อบังคับตั้งแต่แรกเพียงฝ่ายเดียว
เสริมความโปร่งใส-ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดหายุทโธปกรณ์
พ.ร.บ.กลาโหมฯ 2551 มาตรา 30 ระบุให้กระทรวงกลาโหมต้องกำหนดระเบียบหลักเกณฑ์และขั้นตอนการปฏิบัติเกี่ยวกับการส่งกำลังบำรุงร่วมและมาตรฐานยุทโธปกรณ์ตามความต้องการของกองทัพไทยโดยให้มีคณะกรรมการที่กระทรวงกลาโหมแต่งตั้งขึ้นรับผิดชอบการดำเนินการส่งกำลังหรือมาตรฐานยุทโธปกรณ์ต่างๆ
ทั้งนี้ในร่างฉบับพรรคประชาชนเสนอแก้ไข โดยระบุให้ระบบส่งกำลังบำรุงร่วมนั้นจะต้องเป็นการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ให้กับกองทัพไทยซึ่งต้องคำนึงถึงความจำเป็นยิ่งยวด ความประหยัด มาตรฐานขีดความสามารถในการรบ การจัดซื้อจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์จะต้องดำเนินการโดยสุจริต โปร่งใส เปิดเผย ศึกษาเปรียบเทียบคุณสมบัติเฉพาะ พิจารณาถึงการส่งกำลังบำรุง การถ่ายทอดเทคโนโลยี และให้มีการจ้างงานภายในประเทศ เปิดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการต่างๆ ด้วยทุกขั้นตอน
กล่าวโดยสรุปคือ ในพ.ร.บ.กลาโหมฯ ระบุให้การส่งกำลังบำรุงร่วมและมาตรฐานยุทโธปกรณ์นั้นดำเนินการโดย “ความต้องการของกองทัพไทย” แต่ในร่างแก้ไขของพรรคประชาชนระบุให้ต้องคำนึงถึงความจำเป็น ขีดความสามารถในการรบ การจัดซื้อจัดหาโดยสุจริตโปร่งใส และประชาชนสามารถมีส่วนร่วมได้