11 ธันวาคม 2567 เวลา 17.00 น. ที่ลานหน้าอาคารรัฐสภา ประตูทางเข้าฝั่งสภาผู้แทนราษฎร องค์กรภาคประชาสังคมและเครือข่ายนักกิจกรรมทางการเมือง ประกอบด้วยกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย กลุ่มสหภาพคนทำงานแลละกลุ่มสังคมนิยมแรงงาน ร่วมจัดชุมนุม “เปิดสภาตามหา นิรโทษกรรม 112” เนื่องในวาระก่อนวันเปิดสมัยประชุมสภา
บรรยากาศภายในงานมีตัวแทนเยาวชนจากกลุ่มไฟรามทุ่งและกลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์มาเล่าถึงแรงบันดาลใจในการออกมาขับเคลื่อนสังคมและความใฝ่ฝันที่จะเห็นประเทศที่ดีในอนาคต และวงเสวนานิรโทษกรรม 112 ใครได้ ใครเสีย ต่อด้วยการฉายวิดีโอซึ่งเป็นบทสัมภาษณ์ของอานนท์ นำภาที่ปัจจุบันถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพจากข้อหามาตรา 112 จากนั้นตัวแทนนักกิจกรรมได้ออกมาอ่านแถลงการณ์เรียกร้องให้สภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่รวมมาตรา 112 (อ่านแถลงการณ์เพิ่มเติมด้านล่าง) และการปราศรัย “เสียงจากจำเลยในคดีทางการเมือง” ที่เล่าถึงเรื่องราวในห้องพิจารณาคดี
สำหรับวงเสวนา “นิรโทษกรรม 112 ใครได้ ใครเสีย” เป็นการแลกเปลี่ยนและเล่าเรื่องราวการเสนอกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการนิรโทษกรรมในประเทศไทย โดยมีผู้ร่วมพูดคุยได้แก่ อนุสรณ์ อุณโณ อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) เพชรรัตน์ ศักดิ์ศิริเวทย์กุล แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สภาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พรรคประชาชน และเทวฤทธิ์ มณีฉาย สมาชิกวุฒิสภา (สว.) มีรายละเอียดดังนี้
ประวัติศาสตร์นิรโทษกรรมไม่เคยมีการแยกนิรโทษฯบางคน บางกลุ่มหรือบางคดี
ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ จากโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) เริ่มต้นพูดคุยด้วยการปฏิเสธว่าเขาไม่ได้อยู่ดีๆ ก็ลุกขึ้นมาพูดว่าต้องนิรโทษกรรม มาตรา 112 “ผมบอกว่าถ้าจะมีนิรโทษกรรม ต้องรวมทุกคดีไม่ใช่เอาบางคดี แล้วทิ้งบางคดีไว้” ยิ่งชีพกล่าวว่าประเทศไทยนิรโทษกรรมกันมาเยอะมากในประวัติศาสตร์ เป็นประเทศที่แปลกมากเนื่องจากมีรัฐประหาร 20 ครั้งก็มีนิรโทษกรรมในจำนวนเท่าๆกัน การนิรโทษกรรมมาคู่กับรัฐประหารและมาคู่กับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์การเมืองทุกครั้งและทุกครั้งไม่เคยมีการแยกข้อหาว่าจะนิรโทษกรรมเฉพาะบางคน บางกลุ่ม บางข้อหา บางคดีและให้อีกกลุ่มหนึ่งที่ติดคุกอยู่นั้นติดคุกต่อไป เขาย้ำว่าสิ่งนี้ไม่เคยเกิดขึ้น แต่พอวันหนึ่งก็มีพรรคการเมืองหลายพรรคลุกขึ้นมาเสนอ เช่น พรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งเคยเป็นพรรคการเมืองที่เสนอชื่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี และบอกว่าอยากจะสมานฉันท์ปรองดอง พรรคนี้เป็นฝ่ายบอกว่าอยากจะให้ประเทศออกจากความขัดแย้ง สมานฉันท์ ปรองดอง จึงขอนิรโทษกรรมแต่นิรโทษกรรมบางส่วนเท่านั้น ไม่รวมคนบางส่วน
“อย่างนี้เขาไม่เรียกว่านิรโทษกรรม เขาไม่เรียกว่าอยากจะสมานฉันท์ปรองดองหรือจะก้าวข้ามความขัดแย้งแต่เขาเรียกว่า คุณจะเอาตัวคุณรอดแค่ไม่กี่คน คุณจะเอาเพื่อนคุณรอดแค่ไม่กี่คน เพื่อนคุณที่ชุมนุมกันตั้งแต่เสื้อเหลือง ตั้งแต่กกปส. ไม่อยากติดคุก 10 กว่าปีที่ผ่านมายื้อคดีมาเรื่อย เดี๋ยวป่วย เดี๋ยวไปต่างประเทศไม่ยอมไปศาลจนมันจะติดคุกอยู่แล้ว ทำอย่างไรดี มาอ้างอยากจะปรองดองนั้น ขอนิรโทษกรรมให้ฉันและให้เพื่อนก็แล้วกันแต่ไอ้อีกฝั่งหนึ่งที่มันติดคุกอยู่มันติดต่อไป ผมไม่ปล่อยพวกคุณออกมาอย่างนี้ เขาไม่เรียกว่าปรองดอง เขาเรียกว่าเอาตัวรอด”
ยิ่งชีพกล่าวว่า เขาพยายามที่จะมองแววตาของผู้คนที่อยู่ในพรรครวมไทยสร้างชาติที่ออกมาให้ความเห็นว่าไม่อยากรวม 112 ว่าเขาเหล่านั้นคิดอะไรอยู่ เขาเหล่านั้นคิดว่าอยากให้คนอย่างอานนท์ นำภา คนอย่างตะวัน คนอย่างเพนกวิน คนที่ออกมาเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ติดคุกหรือไม่นั้น ยิ่งชีพคิดว่าคนเหล่านี้คงไม่ได้มีความโกรธแค้นอะไรมาก แต่จริงๆ ในใจคือไม่กล้าเพราะถ้าเกิดรวมคนกลุ่มนี้เข้ามาด้วยก็จะทำให้ตัวเองและเพื่อนของตัวเองไม่ได้นิรโทษกรรมด้วยจึงได้อ้างเหตุผลมากมายในการไม่ให้นิรโทษกรรมรวม มาตรา 112
ในส่วนของพรรคเพื่อไทย ยิ่งชีพกล่าวว่า พรรคเพื่อไทยถ้าไม่กล้าเสนอให้รวมมาตรา 112 นั้น เขารู้แล้ว รู้มาตั้งนานแล้วเพราะตอนที่เพื่อไทยเสนอนิรโทษกรรมในปี 2556 ก็ไม่มีการรวมมาตรา 112 ย้อนกลับไปตอนนั้นคนเสื้อแดงในคุกก็เลือกเพื่อไทยกันทั้งนั้นเลย ยิ่งชีพย้ำว่าตัวเองไม่เคยบอกให้พรรคเพื่อไทยเสนอให้รวมมาตรา 112 แต่ถ้าเป็นเช่นนั้นเขาจะเป็นคนเสนอเองก็ได้ แล้วเขาก็ได้เสนอแล้ว ส่วนพรรคเพื่อไทยจะมีท่าทีเป็นปฏิปักษ์หรือเป็นมิตรขนาดไหนนี่เป็นคำถามและสิ่งที่เกิดขึ้นตลอด 11 เดือนที่ผ่านมาคือเพื่อไทยไม่ทำอะไรเลย ไม่รับหรือจะปฏิเสธก็ลำบาก จนกระทั่งภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีออกมาพูดเมื่อเดือนที่แล้วว่า ไม่เอามาตรา 112 และในกรณีที่ภูมิธรรมระบุว่า เมื่อเปิดประชุมสภาจะนำร่างเข้าสู่สภาทันทีในวันที่ 12 ธันวาคม 2567 เขามองว่า ไม่น่าจะเป็นความจริงและคิดว่าร่างกฎหมายนิรโทษกรรมจะไม่เข้าสภาในเร็วๆนี้
มาตรา 112 มีปัญหาทั้งตัวกฎหมายและวิธีใช้กฎหมาย
เพชรรัตน์ ศักดิ์ศิริเวทย์กุล จากแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวถึงประเด็นของมาตรา112 ในมุมมองของกฎหมายระหว่างประเทศ เธอชวนถามว่า “ทุกคนคิดว่ามาตรา 112 ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศไหม” จากนั้นเธอได้อธิบายว่าขอแบ่งออกเป็นสามประเด็น ได้แก่กฎหมายมาตรา 112 มีปัญหาอย่างไร กฎหมายระหว่างประเทศไม่ใช่เฉพาะแค่ UN หรือต่างประเทศมองว่าอย่างไร และตอนนี้ทั่วโลกพยายามอย่างไรที่จะทำให้คนไทยเห็นว่า 112 มีปัญหาอย่างไร
เธอกล่าวว่าเรื่องของมาตรา 112 ในต่างประเทศมีการพูดถึงกันมาเยอะมาก ในทางสากลบอกว่าสามารถพูดสิ่งใดๆ ได้ถ้ามันไม่ใช่ Hate speech หรือเป็นการพูดที่ขัดแย้งต่อสีผิว ความเป็นเชื้อชาติหรือความมั่นคงระดับชาติ ซึ่งเธอขยายความว่ามันคือการพูดสิ่งใดๆ ก็ตามที่จะทำให้ประเทศชาติแหลกสลาย ดังนั้นการที่ใช้เสรีภาพในการพูดที่ไม่ได้เข้าข่ายที่กล่าวไปก่อนหน้านี้จึงเป็นการใช้เสรีภาพในการพูดโดยทั่วไป มาตรา 112 ถูกนำมาใช้อย่างผิดหลักการตั้งแต่แรกและกฎหมายระหว่างประเทศพูดตลอดเวลาว่ามันควรแก้ไขหรือไม่ควรมีอยู่ กฎหมายพวกนี้ต้องทำตามมาตรฐานสากลเธอกล่าวว่าคนทุกคนที่โดนโดน 112 ไม่ควรจะโดนตั้งแต่แรก กฎหมายเหล่านี้ไม่ควรถูกเอามาใช้ตั้งแต่แรก ดังนั้นมันอธิบายได้ชัดเจนว่าทำไมต้องรวมมาตรา 112 ในการนิรโทษกรรมและกล่าวเพิ่มว่าผู้เชี่ยวชาญต่างๆ หรือสหประชาชาติก็พูดมาเสมอว่ามาตรา 112 มีปัญหาทั้งตัวกฎหมายเองและวิธีใช้กฎหมาย
เธอคิดว่าการนิรโทษกรรมเป็นหนึ่งในวิธีการหาทางออกในความขัดแย้ง “ถ้ารัฐยอมรับ ถ้ารัฐจริงใจกับประชาชน ไม่ควรเอา 112 มาใช้ตั้งแต่ต้น แต่ตอนนี้ในเมื่อมันมีคดีอยู่แล้ว คือจะทำยังไงให้คนที่อยู่ในคุก ให้คนที่โดนคดีอยู่หมดคดีไป การนิรโทษกรรมก็กลายเป็นหนึ่งในวิธีการ”
มองเพื่อไทยวางตัวชัดแล้วจะไม่มีนิรโทษกรรมรวม 112 แน่นอน
อนุสรณ์ อุณโณ อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล่าย้อนภูมิทัศน์ทางการเมืองในคดีมาตรา 112 ว่า ในการเคลื่อนไหวตั้งแต่ปี 2548 มีการชุมนุมที่เรียกร้องนายกพระราชทาน การอ้างถึงมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องให้พระมหากษัตริย์ใช้อำนาจนี้เพื่อให้เกิดการปฏิรูปการเมืองอย่างเป็นรูปธรรม ถึงแม้ว่าข้อเสนอของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจะถูกปฏิเสธ แต่หลังจากนั้นก็จะเห็นถึง “ความผิดปกติ” ของตุลาการที่ไปเข้าเฝ้าพระมหากษัตริย์ในปี 2549 และตามด้วยเหตุการณ์ที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การเลือกตั้งในปี 2549 เป็นโมฆะ
ที่น่าสนใจสำหรับอนุสรณ์คือหลังจากนั้นความขัดแย้งทางการเมืองก็พยายามอิงตัวเองเข้ากับสถาบันพระมหากษัตริย์ การขับเคี่ยวกันทางการเมืองในช่วงของเสื้อเหลือง เสื้อแดงมันมีการใช้กำลัง ทำให้มีการบาดเจ็บ มีการเสียชีวิต แต่ในขณะเดียวกันมันก็มีในเรื่องของการใช้กฎหมายด้วยเพียงแต่ว่าความเข้มข้นของการใช้กฎหมายมันอาจจะยังไม่ได้รุนแรงเท่าใช้กำลัง เขากล่าวว่าสิ่งที่น่าสนใจคือกฎหมายมาตรา 112 ที่ถูกนำมาบังคับใช้อย่างรุนแรงหลังจากการออกมาชุมนุมของกลุ่มเยาวชนในปี 2563
อนุสรณ์กล่าวโดยสรุปว่า การนิรโทษกรรมมีนัยยะสองด้าน หนึ่ง คือ ใช้เป็นเครื่องมืออย่างที่เคยเป็นมาส่วนใหญ่แล้วจะเป็นนิรโทษกรรมให้กับการรัฐประหาร เจตจำนงที่จะใช้การนิรโทษกรรมเป็นเครื่องมือของตัวเองก็ได้สืบทอดมาจนถึงรัฐบาลนี้ ซึ่งจะเห็นได้จากกรณีของพรรครวมไทยสร้างชาติหรือพรรคครูไทยเพื่อประชาชน ทั้งสองพรรคนี้เสนอร่างกฎหมายชื่อเดียวกันคือ “สร้างสร้างเสริมสังคมสันติสุข” และยังมีเนื้อหาที่คล้ายคลึงกันอีกด้วย และอีกทางหนึ่งคือการใช้นิรโทษกรรมเป็นเครื่องมือในการขจัดฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองจากการไม่ให้รวมมาตรา 112 บีบให้คนกลุ่มหนึ่งเข้าคุกไปและในส่วนที่ถามว่าพรรคเพื่อไทยที่จับพลัดจับผลูเข้ามาอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งนี้จะจัดให้เขาอยู่ตรงไหน อนุสรณ์กล่าวว่า “เดาว่าคงอยู่ในระดับที่ชัดเจนว่าจะไม่มี 112 แน่นอน แต่ถ้าถามว่าจะจัดการกับมาตรา 112 ยังไงเป็นสิ่งที่ก็ต้องหาคำตอบกันต่อไป”
มาตรา 112 เป็นคดีการเมือง ผู้มีอำนาจควรรับฟังข้อเรียกร้องประชาชน
เทวฤทธิ์ มณีฉาย สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ตอบคำถามของผู้ดำเนินรายการที่ถามว่า สมาชิกวุฒิสภาชุดนี้จะมีความเห็นอย่างไรต่อการนิรโทษกรรมและจะเป็นอุปสรรคในการรวมมาตรา 112 ด้วยหรือไม่ เทวฤทธิ์กล่าวว่ามีโอกาสที่จะเป็นอุปสรรคเพราะเมื่อดูประเด็นพ.ร.บ.ประชามติฯ ตอนที่โหวตนั้นเป็นอย่างไรทิศทางของนิรโทษกรรมก็คงจะเป็นเช่นนั้น เขาย้ำต่อว่า อย่างไรก็ดีถึงที่สุดแล้วกระบวนการก็จะเหมือนพ.ร.บ. ประชามติฯ หมายความว่า ถ้าสภาผู้แทนราษฎรผ่านกฎหมายและขึ้นมาพิจารณาต่อที่วุฒิสภา ถ้าวุฒิสภาเสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย เหมือนกับที่ไม่เห็นด้วยกับพ.ร.บ. ประชามติฯ ก็จะเกิดความขัดแย้งกัน ตามกฎหมายแล้วต้องตั้งกรรมาธิการร่วมขึ้นมาและพิจารณา ถ้าหากว่าได้ข้อสรุปก็จะเข้าไปที่ทั้งสองสภาเพื่อพิจารณาอีกรอบแต่ถ้ามีความขัดแย้งกันอีกก็ประวิงเวลาไว้ 180 วัน หากครบ 180 วันแล้วก็สามารถเอากลับมาโหวตใหม่ได้ ถ้าหากผ่านในชั้นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็สามารถบังคับใช้ได้เลย ดังนั้นจุดชี้ขาดจึงอยู่ที่สภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภามีอำนาจเพียงแค่ประวิงเวลา 180 วันเท่านั้น
เทวฤทธิ์มองว่า การที่ประชาชนออกมาเรียกร้องหรือแสดงความคิดเห็นต่อสถาบันกษัตริย์ล้วนมีที่มาที่ไป ย้อนกลับไปในปี 2559 ประชามติร่างรัฐธรรมนูญผ่านความเห็นชอบโดยเสียงของประชาชนส่วนใหญ่ ซึ่งอาจมีการลงมติเห็นชอบด้วยสภาพบังคับให้หลุดพ้นจากระบอบของคสช. แต่แล้วรัชกาลที่สิบกลับมี “ข้อสังเกตพระราชทาน” นำสู่การแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญทั้งหมดเจ็ดมาตราที่ต่างออกไปจากรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านการลงประชามติโดยประชาชนมาแล้ว ต่อมามีการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ เช่น พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ 2560 พ.ร.ก.จัดระเบียบราชการและการบริหารข้าราชการในพระองค์ปี 2560 พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ปี 2560 และพ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบกกองทัพไทยกระทรวงกลาโหมไปเป็นหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยพระองค์ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์
จากนั้นบนโซเชียลมีเดียก็มีการแสดงความคิดเห็นต่างๆ ซึ่งเทวฤทธิ์กล่าวว่าในข้อเท็จจริงเหล่านี้พลเมืองที่รู้สึกว่าตนเองเป็นเจ้าของประเทศคงเป็นเดือดเป็นร้อนกับกฎหมายเหล่านี้ที่มีผลออกมาบังคับใช้ เขากล่าวต่อว่าในวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2563 สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสและสื่อสำนักรายงานตรงกันว่าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกลาโหมให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า ‘ทำไมมาตรา 112 ถึงไม่ถูกดำเนินคดีเพราะทรงมีเมตตาทรงพระมหากรุณาธิคุณได้กำชับมากับผมโดยตรง’ ต่อมาจึงเกิดการชุมนุมขับไล่พลเอกประยุทธ์ เรียกร้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญและปฏิรูปสถาบันฯ พล.อ.ประยุทธ์ได้ออกมาแถลงเตือนประชาชนให้รับทราบว่ารัฐบาลจำเป็นจะต้องใช้กฎหมายทุกมาตราและยืนยันจะไม่ลาออกจากตำแหน่ง
เทวฤทธิ์กล่าวว่าข้อเท็จจริงเหล่านี้ยืนยันได้สองอย่าง ประการแรก คือ ประชาชนไม่ได้อยู่เฉยๆ แล้วออกมาวิพากษ์วิจารณ์หรือออกมาแสดงความคิดเห็นหรือออกมาเรียกร้องประชาชนในฐานะที่เป็นเจ้าของประเทศก็รู้สึกว่าก็ต้องวิจารณ์เพราะเป็นนโยบายที่กระทบ อย่างน้อยก็ต้องใช้งบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เขาต้องเสียไป ประการที่สอง คือ เดิมทีเดียวพล.อ.ประยุทธ์เองก็มาการันตีว่า เคยไม่ใช้มาตรา 112 แล้วก็กลับมาใช้ หมายความว่าตัวกฎหมายตัวนี้มันเป็นการเมืองด้วยตัวมันเอง ดังนั้น ผู้มีอำนาจควรที่จะรับฟังข้อเสนอข้อเรียกร้อง และนำไปปรับหรือแก้ไข การพยายามกดปราบด้วยกฏหมายและความกลัวมันทำให้ประชาชนถูกจำกัดเสรีภาพอย่างไม่สมสัดส่วนและสิ่งที่ดีที่สุดของปัญหานี้คือการอธิบาย ถ้าประชาชนเข้าใจผิดก็อธิบายให้มันถูก ถ้าประชาชนเข้าใจถูกก็แก้ปัญหาตามสิ่งที่เขาเห็น
จับตา ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ เข้าสภา 18 ธ.ค. 67
ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สภาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พรรคประชาชน ตอบคำถามในประเด็นของร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ที่จะเข้าสภาว่า “เท่าที่จำได้ก็คือว่ากฎหมายล่าสุดที่พิจารณาก่อนที่จะปิดสภา คือ ร่างพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้าซึ่งอยู่ในวาระที่ 5.5 ซึ่งวาระที่ 5.6 คือวาระถัดไป ซึ่งก็คือร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง นั่นหมายความว่าจริงๆ แล้วมันคือร่างถัดไปด้วยซ้ำ” เธออธิบายว่าโดยปกติถ้าร่างค้างอยู่แบบนี้วันที่ 18 ธันวาคม 2567 ร่างกฎหมายจะต้องเข้าสู่สภาแล้วโดยศศินันท์อธิบายเพิ่มเติมว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจัดประชุมอยู่สองวัน คือ วันพุธและพฤหัสบดี ในส่วนของวันพุธจะเป็นการนำร่างกฎหมายเข้าสู่สภาแต่วันพฤหัสบดีจะเป็นวันที่พูดคุยเกี่ยวกับเรื่องของคณะกรรมาธิการ เพราะฉะนั้นถ้าไม่ได้มีอะไรผิดพลาดหรือมีอะไรขึ้นมาทำให้เกิดการแซงคิว นิรโทษกรรมควรจะเข้าในวันพุธที่ 18ธันวาคม 2567 “แต่อย่างที่บอกว่าแต่ละร่างกฎหมายไม่ได้มาตามขั้นตอนทุกครั้งเพราะอาจมีการยกมือขอให้ร่างกฎหมายนี้ขยับออกไปก่อนและนำร่างกฎหมายที่เร่งด่วนกว่าเข้ามาพิจารณา”
แถลงการณ์เรียกร้องให้สภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบร่างนิรโทษกรรมที่รวมมาตรา 112
“สภาผู้แทนราษฎรต้องผ่านความเห็นชอบร่างพรบ.นิรโทษกรรมรวมมาตรา 112 รัฐประหารปี 2549/2557 ทำลายประชาธิปไตย ทำให้ประชาชนทุกข์ยากเดือดร้อนแสนสาหัส ประชาชนจึงต่อต้านการรัฐประหารมาอย่างต่อเนื่องให้ได้มาซึ่งความเป็นธรรม สิทธิเสรีภาพ ประชาธิปไตย โดยรัฐบาลเผด็จการที่ผ่านมาใช้มาตรา 112 เป็นเครื่องมือในการปิดกั้นเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นและการปราบปรามประชาชนมีผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 จำนวน 276 คน ใน 308 คดี และดำเนินคดีอื่นๆ กว่า 1,700 คน
อานนท์ นำภาและนักโทษการเมืองที่ถูกคุมขังในขณะนี้คือประชาชนที่ต่อต้านการรัฐประหาร จนนำมาซึ่งการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2562 และ 2566 เป็นผู้สร้างคุณูปการต่อประชาธิปไตยและความเป็นธรรมมาโดยตลอด ทำให้มีรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งในขณะนี้
การปล่อยให้ประชาชนที่ใฝ่หาประชาธิปไตย ได้ร่วมกันต่อต้านการรัฐประหาร ต้องถูกดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรมรัฐบาลจากเผด็จการที่ผ่านมา ย่อมเป็นการแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลไม่จริงใจต่อการพัฒนาประชาธิปไตย การนิรโทษกรรมที่เป็นการยกเว้นมาตรา 112 เท่ากับเป็นการสืบทอดอำนาจเผด็จการ เป็นการออกกฎหมายนิรโทษกรรมที่เลือกปฏิบัติ ไม่อาจยุติความขัดแย้งในสังคมที่ยืดเยื้อยาวนานกว่า 20 ปี
ดังนั้นรัฐบาลแพทองธาร จึงต้องนิรโทษกรรมประชาชนรวมมาตรา 112 เพื่อคืนความยุติธรรม สร้างหลักประกันในสิทธิประชาธิปไตยและยุติความขัดแย้งในสังคม พวกเราขอเรียกร้องต่อประชาชนผู้รักชาติ รักประชาธิปไตยและความเป็นธรรมในสังคม ผนึกกำลังกันต่อสู้เรียกร้องต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้ผ่านความเห็นชอบต่อร่างกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชนที่รวมมาตรา 112 อันเป็นการคืนความยุติธรรม ยุติความขัดแย้งในสังคม สร้างความปรองดองและสันติสุขในสังคมเพื่อความเจริญก้าวหน้าของประเทศไทยต่อไป”