คดีมาตรา 112 ของศิระพัทธ์ กรณีปลดรูป ร.10 หน้าหมู่บ้านประชาชื่น

ชวนติดตามคำพิพากษาอุทธรณ์ม. 112 ของไปป์-ศิระพัทธ์กรณีนำกรอบรูปร. 10 ทิ้งคลองบางตลาด

11 ธันวาคม 2567 ศาลจังหวัดนนทบุรีนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาคหนึ่งในคดีที่ อ.1204/2564 ของไปป์-ศิระพัทธ์ ดีสวัสดิ์ ชาวนนทบุรีซึ่งถูกกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากเหตุการณ์ปลดพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 หน้าหมู่บ้านประชาชื่นและทิ้งกรอบลงคลองบางตลาด นนทบุรี โดยในคดีเดียวกันนี้ยังมีกนกวรรณ  ชาวจังหวัดนครราชสีมาซึ่งถูกกล่าวหาว่า “รับของโจร” คือนำพระบรมฉายาลักษณ์ที่ศิระพัทธ์ลักมาเก็บรักษาไว้  ในส่วนคดีมาตรา 112 ของศิระพัทธ์ ศาลชั้นต้นยกฟ้องเห็นว่า พฤติกรรมของศิระพัทธ์เป็นเพียงเจตนาที่ต้องการลักทรัพย์ในยามวิกาล จำเลยได้กระทำเพียงลำพังและกรอบรูปหนัก ไม่สามารถเดินถือด้วยวิธีการปกติได้ การที่จำเลยต้องลากรูปไปกับพื้นจึงเป็นวิธีการหนึ่งที่จงใจลักทรัพย์ และฟังมิได้ว่าจำเลยมีเจตนาพิเศษที่ดูหมิ่นกษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อย่างไร

จับโดยไม่มีหมายจับ-หมายค้น เริ่มแรกยังไม่มีม. 112

ย้อนกลับไปวันเกิดเหตุคือ วันที่ 7 สิงหาคม 2564 เป็นวันที่มีการชุมนุมของเยาวชนปลดแอกเคลื่อนขบวนไปที่ดินแดงเป็นวันแรก วันนั้นเขากับกนกวรรณดื่มเหล้าที่ร้านค้าของเขา พูดคุยกับเพื่อนเรื่องสัพเพเหระทั่วไป ช่วงนั้นรัฐบาลยังประกาศเคอร์ฟิวอยู่ เขาและเพื่อนก็นั่งดื่มรอเวลาพ้นเคอร์ฟิว หลังจากดื่มไปสักพักจนมึนเมา ช่วงเวลาประมาณ 03.00 น. ของวันที่ 8 สิงหาคม 2564 เขาก็ออกไปปลดพระบรมฉายาลักษณ์จากหน้าหมู่บ้านประชาชื่นลงมา เขาทิ้งเพียงแต่กรอบพระบรมฉายาลักษณ์เท่านั้น ส่วนพระบรมฉายาลักษณ์ตำรวจกล่าวหาว่า อยู่ที่กนกวรรณ เพื่อนที่ดื่มเหล้าด้วยกัน ซึ่งก็อยู่ในสภาพมึนเมาเช่นกัน

ต่อมาบ่ายวันที่ 10 สิงหาคม 2564 ตำรวจ สภ.รัตนาธิเบศร์พร้อมตำรวจภูธรจังหวัดนนทบุรีรวม 13 นายได้เดินทางเข้าขอตรวจค้นบ้านพักของศิระพัทธ์โดยไม่มีหมายและไม่ได้มีการแสดงยศ บัตรเจ้าหน้าที่ หมายค้น หรือหมายจับแต่อย่างใด ซึ่งศิระพัทธ์ก็อนุญาตให้เข้าค้น ซึ่งในระหว่างตรวจค้นเจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้ศิระพัทธ์แตะต้องข้าวของส่วนตนของตน จากนั้นก็ทำการยึดโทรศัพท์และคอมพิวเตอร์ไว้เพื่อตรวจสอบ

“ตอนนั้นไข้ขึ้นจากวัคซีนทำอะไรไม่ได้เลย เขาก็มาดึงตัวผมไป ทั้งที่ใส่ผ้าเช็ดตัวอยู่ตัวเดียว ผมขอแต่งตัวก่อน เขาก็ยืนเฝ้า ตอนที่เขามาจับมีแฟนผมและน้องหมาอีกหนึ่งตัว เขาก็พาไปหมดเลยวันนั้นเลยไม่ได้แจ้ง ไม่ได้มีใครรู้เลย จนคนที่ตลาดเขาเห็นว่า อยู่ดีๆ ผมโดนเหมือนจะกึ่งๆ ลักพาตัวไป เขาก็แจ้งศูนย์ทนายฯ และไม่มีใครรู้เลยว่า ผมถูกพาตัวไปที่ไหน”

ศิระพัทธ์เล่าว่า ตำรวจยึดโทรศัพท์และ iMac ของเขาไปตรวจสอบว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มการเมืองใดหรือไม่ เมื่อตำรวจตรวจก็ไม่พบอะไรเพราะเขาไม่ได้อยู่สังกัดกลุ่มใด ตอนแรกตำรวจแจ้งข้อกล่าวหาว่า ลักทรัพย์ในเวลากลางคืนและฝ่าฝืนกำหนดใน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เรื่องการห้ามออกนอกเคหสถานในระหว่างเวลา 21.00 – 04.00 น. ซึ่งในระหว่างการจับกุม ศิระพัทธ์ ไม่ได้รับอนุญาตจากหน้าที่ตำรวจให้ติดต่อเพื่อนหรือทนายแต่อย่างใด

เขาถูกควบคุมตัวอยู่ที่สภ.รัตนาธิเบศวร์เป็นเวลาหนึ่งคืนก่อนที่จะนำตัวส่งศาลจังหวัดนนทบุรีเพื่อขอฝากขังในวันที่ 11 สิงหาคม 2564 โดยอ้างว่าการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้นและคัดค้านการประกันโดยอ้างว่าเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูงและเกรงผู้ต้องหาจะหลบหนี ต่อมาศาลนนทบุรีได้อนุญาตให้ประกันตัว โดยให้วางหลักทรัพย์เป็นเงิน 100,000 บาท โดยใช้เงินจากกองทุนราษฎรประสงค์ 

ต่อมาวันที่ 30 สิงหาคม 2564 ตำรวจแจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เพิ่มเติม
หลังถูกดำเนินคดีเขาได้รับผลกระทบอยู่บ้าง เพราะมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบติดตามเขามาที่ร้านที่เขาขายของอยู่ด้วย เขาเล่าว่า มีอยู่ครั้งหนึ่ง แม่บอกว่า เพื่อนบ้านมาแจ้งว่า มีรถตำรวจเข้าไปที่บ้าน หรือวันไหนที่เขาปิดร้าน ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่เห็นเขาที่ร้านก็จะมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบไปถ่ายรูปที่บ้านด้วย

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2564 อัยการจังหวัดนนทบุรีมีคำสั่งฟ้องคดี ตามคำฟ้องระบุว่า เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2564 จําเลยได้กระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกันคือ ออกจากเคหสถานในเวลาเคอร์ฟิว, ทำการลักทรัพย์โดยการปีนขึ้นไปเอารูปพระบรมฉายาลักษณ์ รัชกาลที่ 10 ซึ่งติดตั้งไว้บริเวณเหนือป้อมรักษาความปลอดภัยทางเข้าออกหมู่บ้านชุมชนประชาชื่น เพื่อแสดงความจงรักภักดีต่อองค์พระมหากษัตริย์

จําเลยได้บังอาจดูหมิ่นพระมหากษัตริย์โดยการนําพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 ซึ่งอยู่ในกรอบรูปที่จําเลยลักเอาไปคว่ำหน้าลงที่พื้นถนนแล้วลากไปตั้งแต่ที่เกิดเหตุไปถึงตลาดสุขสมบูรณ์เป็นระยะทางประมาณ 190 เมตร การกระทำดังกล่าวถือเป็นการดูถูกเหยียดหยาม ไม่แสดงความเคารพสักการะต่อองค์พระมหากษัตริย์ 

รวมคดีรับของโจร-สั่งพิจารณาคดีลับ

วันที่ 24 สิงหาคม 2567 กนกวรรณ ชาวจังหวัดนครราชสีมา พร้อมทนายความได้เดินทางเข้าพบเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ. รัตนาธิเบศร์ หลังทราบว่าตนถูกออกหมายจับในคดีของศิระพัทธ์ ซึ่งหมายจับดังกล่าวเป็นหมายจับที่ออกโดยศาลจังหวัดนนทบุรีที่ 381/2564 ในข้อหา “ช่วยซ้อนเร้น ช่วยเอาไปเสีย หรือรับไว้โดยประการใดซึ่งทรัพย์อันได้มาโดยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ หรือรับของโจร” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 357 กนกวรรณถูกนำตัวไปฝากขังที่ศาลนนทบุรีก่อนศาลให้ประกันตัวโดยวางหลักประกันเป็นเงินสด 90,000 บาท ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจเชื่อมโยงโดยกล่าวหาว่ากนกวรรณคือเพื่อนที่ศิระพัทธ์นำพระบรมฉายาลักษณ์ไปมอบให้

วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 ศาลจังหวัดนนทบุรีสอบคำให้การในคดีนี้โดยอัยการได้ยื่นรวมทั้งสองดีของศิระพัทธ์และกนกวรรณเข้าด้วยกัน และขอให้ศาลสั่งพิจารณาคดีเป็นการลับเพื่อประโยชน์แห่งความเรียบร้อยและหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตามประมวลกำหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 177 เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีความผิดในฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์

ศาลพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้รวมการพิจารณาทั้งสองเข้าด้วยกันโดยให้คดีของศิระพัทธ์เป็นคดีหลักและยังสั่งให้ตลอดการพิจารณาในคดีนี้เป็นความลับและให้เฉพาะคู่ความในคดีทั้งสองเท่านั้นเข้าร่วม จำเลยทั้งสองยืนยันให้การปฏิเสธตามข้อกล่าวหา  ในชั้นศาลศิระพัทธ์ให้การรับสารภาพในข้อหาลักทรัพย์และฝ่าฝืนข้อกำหนดห้ามออกนอกเคหสถาน แต่ยืนยันให้การปฏิเสธในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

ชั้นต้นยกฟ้อง ม.112 ให้รอลงอาญา ฝืนเคอร์ฟิวส์-ลักทรัพย์

วันที่ 1 มิถุนายน 2566 ศาลพิพากษาในคดีนี้โดยเห็นว่าศิระพัทธ์ได้กระทำผิดในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จริง ส่วนในข้อหาลักทรัพย์ที่จำเลยโยนกรอบรูปลงคูน้ำ จำเลยได้วางเงินบรรเทาความเสียหายแก่เจ้าของทรัพย์ซึ่งเป็นประธานชุมชนไปแล้ว ส่วนกรณีที่มีพยานโจทก์ระพีพงศ์ ชัยยารัตน์ ประธานกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน เบิกความให้การว่าการลากรูปไปตามทางเดินและคว่ำรูปนั้นเป็นการไม่ประสงค์ดีต่อรัชกาลที่สิบ ซึ่งถือเป็นการอาฆาตมาดร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นั้น

ศาลเห็นว่าพฤติกรรมของศิระพัทธ์เป็นเพียงเจตนาที่ต้องการลักทรัพย์ในยามวิกาล จำเลยได้กระทำเพียงลำพังและกรอบรูปหนัก ไม่สามารถเดินถือด้วยวิธีการปกติได้ การที่จำเลยต้องลากรูปไปกับพื้นจึงเป็นวิธีการหนึ่งที่จงใจลักทรัพย์ และฟังมิได้ว่าจำเลยมีเจตนาพิเศษที่ดูหมิ่นกษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อย่างไร

ส่วนกนกวรรณนั้นศาลพิพากษายกฟ้องเนื่องจากพยานโจทก์มีเพียงบันทึกจับกุมซึ่งเป็นพยานบอกเล่าที่น้ำหนักเบา ประกอบกับไม่พบของกลางอยู่ที่กนกวรรณจึงเห็นควรให้ประโยชน์แก่กนกวรรณ พิพากษายกฟ้อง

ทั้งนี้ ศิระพัทธ์ ยังมีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และลักทรัพย์ในเวลากลางคืน ศาลเห็นว่าเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษตัวบทกฎหมายที่หนักที่สุด โดยลงโทษในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จำคุกหกเดือน ปรับ 40,000 บาท และลงโทษในข้อหาลักทรัพย์ในเวลากลางคืน จำคุกหนึ่งปี ปรับ 20,000 บาท แต่จำเลยได้ให้การรับสารภาพ มีเหตุให้บรรเทาโทษ ลดโทษในความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เหลือจำคุกสามเดือน ปรับ 20,000 บาท และความผิดฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืน ลดโทษเหลือจำคุก 6 เดือน ปรับ 10,000 บาท รวมโทษจำคุก 9 เดือน ปรับ 30,000 บาท

อย่างไรก็ตาม ศาลเห็นว่าจำเลยไม่เคยมีประวัติการกระทำผิดมาก่อน สมควรให้ปรับปรุงตัว มีเหตุให้รอการลงโทษจำคุกไว้สองปี คุมประพฤติเป็นเวลาสองปี และทำงานบริการสังคม 36 ชั่วโมง ส่วนในข้อหามาตรา 112 ให้ยกฟ้อง 

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นยกฟ้องคดี ม.112 ไปป-ศิระพัทธ์ กรณีลักรูป ร.10 หน้าหมู่บ้านประชาชื่น

11 ธันวาคม 2567 ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 13 ศาลจังหวัดนนทบุรีอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีมาตรา 112 ของไปป์-ศิระพัทธ์ ดีสวัสดิ์ กรณีลักพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่สิบ พร้อมกรอบรูปไปจากหน้าหมู่บ้านและนำกรอบรูปทิ้งลงคลองบางตลาด  โดยศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องมาตรา 112 ตามศาลชั้นต้น ส่วนโทษฝ่าฝืนพระราชกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ) ที่ศาลชั้นต้นให้รอการลงโทษคงไว้ดังเดิม 

เวลา 09.42 น. ผู้พิพากษาขึ้นบัลลังก์อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาคหนึ่ง สรุปใจความได้ดังนี้ 

โจทก์คือพนักงานอัยการอุทธรณ์เฉพาะในส่วนของจำเลยที่หนึ่งซึ่งคือ ศิระพัทธ์ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่าพฤติการณ์ของจำเลยที่ปีนขึ้นไปปลดพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่สิบ แล้วลากในลักษณะคว่ำไปกับพื้นเป็นความผิดในฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112  ศาลอุทธรณ์เห็นว่ากรอบรูปพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่สิบ ในคดีนี้มีลักษณะใหญ่และหนัก ลำพังจำเลยคนเดียวไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ด้วยตนเอง การคว่ำและลากไปกับพื้นเป็นลักษณะของการลักทรัพย์แต่ไม่สามารถแสดงถึงเจตนาว่าเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ได้ คำอุทธรณ์ของโจทก์ไม่มีน้ำหนักเพียงพอ ศาลอุทธรณ์จึงมีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า พฤติกรรมในคดีนี้ของจำเลยร้ายแรงและไม่สมควรให้รอการลงโทษ ศาลอุทธรณ์เห็นว่าแม้ว่าจำเลยจะกระทำการฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ จริงและการนำกรอบพระบรมฉายาลักษณ์คว่ำหน้าและลากไปกับพื้นจะเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม แต่ศาลเห็นว่า จำเลยกระทำไปโดยความคึกคะนอง หลังจากที่ตำรวจได้ติดตามตัวจำเลยจนพบและเปิดภาพวีดีโอจากกล้องวงจรปิดให้จำเลยดู จำเลยก็ให้การยอมรับว่าตนเองเป็นผู้กระทำและให้การว่าตนนำกรอบพระบรมฉายาลักษณ์ไปทิ้งในคลองท้ายหมู่บ้าน จำเลยยอมรับและสำนึกในการกระทำของตนเอง ทั้งยังให้การเป็นประโยชน์ 

ศาลจึงเห็นว่าการจำคุกในระยะสั้นนั้นไม่เป็นผลดีกับจำเลย รวมถึงอาจทำให้จำเลยเสื่อมเสียประวัติในการประกอบสัมมาอาชีพในอนาคต การคุมประพฤติโดยมีเจ้าหน้าที่คอยช่วยเหลือตักเตือนเป็นประโยชน์กับจำเลยมากกว่า คำอุทธรณ์ของโจทก์จึงฟังไม่ขึ้น 

ในส่วนที่ให้ลงโทษในฐานฝ่าฝืนคำสั่งพนักงานควบคุมโรคตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อมาตรา 34 ศาลเห็นว่าในฐานความผิดดังกล่าวโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 192  ศาลจึงไม่สามารถพิพากษาเกินคำขอได้ จึงแก้คำพิพากษาให้จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ เท่านั้น

เดิมศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยมีความผิดตามพ.ร.ก. ฉุกเฉินฯและลักทรัพย์ในเวลากลางคืน ศาลเห็นว่าเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษด้วยตัวบทกฎหมายที่หนักที่สุด โดยให้จำคุกหกเดือนปรับ 40,000 บาทลงโทษในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตามพ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ และให้จำคุกหนึ่งปี ปรับ 20,000 บาทในข้อหาลักทรัพย์ในเวลากลางคืน แต่จำเลยได้ให้การรับสารภาพ มีเหตุให้บรรเทาโทษ จึงลดโทษในฐานฝ่าฝืนพ.ร.ก. ฉุกเฉินฯให้เหลือจำคุกสามดือนและปรับ 20,000 บาท และลดโทษในความผิดฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืนเหลือจำคุกหกเดือนปรับ 10,000 บาท รวมโทษทั้งหมดคือจำคุกเก้าเดือนปรับ 30,000 บาทและให้รอการลงโทษ

ในการฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์วันนี้มี เจ้าหน้าที่สังเกตการณ์คดีของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เจ้าหน้าที่ไอลอว์ และอาสาสมัครสังเกตการณ์คดีของ ThumbRights ประชาชน และเพื่อนของศิระพัทธ์ ร่วมฟังคำพิพากษาด้วย

เมื่อถามว่ารู้สึกอย่างไรกับคำตัดสินของศาลอุทธรณ์ ศิระพัทธ์ ตอบว่า ”โล่งใจมากเลยครับ ดีใจแบบบอกไม่ถูก ยิ่งมีกระแส “หนมน้า” ยิ่งทำให้ประสาทแทบกิน ผมถือว่าตัวเองโชคดีในฐานะผู้ต้องการทางการเมืองคดีนี้ ผมยังคอยเป็นกำลังใจให้คนที่ติดคุกในคดีการเมืองอยู่และจะคอยติดตามไปเรื่อยๆ หวังว่าเขาจะโชคดีแบบผมบ้างในซักวัน”

สำหรับกระแส “หนมหน้า” เป็นกระแสในโลกออนไลน์ที่พูดถึงชีวิตที่อยู่ภายในเรือนจำ คำว่า “หนมน้า” เป็นคำย่อมาจากคำว่า “ขนมของน้า” ซึ่งหมายถึงในกรณีที่ผู้ที่ถูกศาลพิพากษาให้จำคุกหรือฝากขังและต้องเข้าไปในเรือนจำนั้นเป็นผู้ที่ยังอายุน้อยหรือาจมีใบหน้าละอ่อน อาจเป็นที่หมายปองในทางความสัมพันธ์หรือในทางเพศของนักโทษคนอื่น จึงอาจให้ขนมเป็นการตอบแทนเพื่อขอแลกกับการมีความสัมพันธ์หรือเพศสัมพันธ์ด้วย ซึ่งในกรณีนี้เป็นความกังวลของผู้ที่ถูกฟ้องในคดีทางการเมืองต้องเผชิญหากถูกตัดสินให้ต้องโทษจำคุกและต้องเข้าเรือนจำ

RELATED TAGS

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage