9 ธันวาคม 2567 สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดกิจกรรมวันนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และวันสิทธิมนุษยชนสากล มีการบรรยายและพูดคุยเกี่ยวกับปัญหากฎหมายสิทธิมนุษยชนในหลายประเด็น โดยหนึ่งในประเด็นที่น่าสนใจคือ การบรรยายในหัวข้อ “การปล่อยตัวชั่วคราวและพัฒนาการของสิทธิมนุษยชนในกระบวนการยุติธรรมไทย” โดย รศ.ดร.ปกป้อง ศรีสนิท คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
สิทธิมนุษยชนทั่วไป และสิทธิมนุษยชนที่มิอาจถูกพักใช้ได้
อาจารย์ปกป้อง เริ่มต้นด้วยการอธิบายการแบ่งรูปแบบของสิทธิมนุษยชน ออกเป็นสองรูปแบบ ได้แก่ รูปแบบที่หนึ่ง สิทธิมนุษยชนทั่วไป เช่น เสรีภาพในการแสดงออกทางความคิด, สิทธิในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งสิทธิเหล่านี้สามารถถูกพักการใช้ หรือของดใช้สิทธิเหล่านี้ได้ในกรณีที่มีความจำเป็น เช่น อยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน สภาวะสงคราม หรือความไม่สงบต่าง ๆ และรูปแบบที่สอง สิทธิที่มิอาจถูกพักใช้ได้ (Non-derogable rights) หมายถึง สิทธิเด็ดขาดของมนุษย์ที่ไม่สามารถพักหรือ งดการบังคับใช้ได้ เป็นสิทธิติดตัวที่รัฐจะต้องคุ้มครองสิทธิเหล่านั้นตลอดเวลา แม้ในยามสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น สิทธิที่ไม่อาจถูกฆ่านอกกฎหมาย (right to life), สิทธิที่จะไม่ถูกทรมานหรือการปฏิบัติหรือการลงโทษที่ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี (right to be free from torture and other inhuman or degrading treatment or punishment) หรือ สิทธิที่จะไม่ถูกอุ้มหาย (right to be free from enfored disappearance) เป็นต้น
หากมีกรณีเจ้าหน้าที่ทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนดังกล่าวโดยอ้างสถานการณ์ฉุกเฉิน ก็ถือว่าเป็นการกระทำความผิดตามกฎหมาย เนื่องจากสิทธิมนุษยชนดังกล่าวถือเป็นสิทธิเด็ดขาดของมนุษย์สิทธิหนึ่ง ตามที่ปรากฏใน พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทำร้ายและการกระทำที่ทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 มาตรา 12
“มาตรา 12 พฤติการณ์พิเศษใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาวะสงครามหรือภัยคุกคามที่จะเกิดสงคราม ความไม่มั่นคงทางการเมืองภายในประเทศ หรือสถานการณ์ฉุกเฉินสาธารณะอื่นใด ไม่อาจนำมาอ้างเพื่อให้การกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย”
พ.ร.บ.อุ้มหาย กฎหมายสำคัญยกระดับสิทธิมนุษยชนของไทย
อาจารย์ปกป้องได้อธิบายถึงหลักการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ผ่านการยกตัวอย่างในพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทำร้ายและการกระทำที่ทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ที่ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐของไทยต้องคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนในการปฏิบัติหน้าที่ของตน โดยเนื้อหาในกฎหมายแบ่งฐานความผิดออกเป็นสามฐานความผิด ดังนี้
ความผิดฐานทรมาน (torture) ต้องเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ที่มีการพิสูจน์มูลเหตุจูงใจ เจตนาพิเศษ อย่างหนึ่งอย่างใดต่อไปนี้ เช่น ทำเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูล หรือคำรับสารภาพจากผู้ถูกกระทำ หรือบุคคลที่สาม, การลงโทษผู้ถูกกระทำเพราะเหตุอันเกิดจากการกระทำ หรือสงสัยการกระทำของผู้นั้น หรือบุคคลที่สาม, ข่มขู่ หรือขู่เข็ญ หรือเลือกปฏิบัติ ไม่ว่ารูปแบบใด โดยการกระทำให้เกิดความเจ็บปวด หรือความทุกข์ทรมานอย่างร้ายแรงแก่ร่างกายหรือจิตใจของผู้อื่น เช่น นำถุงดำคลุมหัวเพื่อบังคับให้รับสารภาพ, บังคับให้ผู้ต้องหาสารภาพผิดด้วยการแขวนคอแบบ Palestinian hanging, บังคับไม่ให้ผู้ต้องหานอนด้วยการฉีดน้ำ และทุบตี เป็นต้น
ความผิดฐานการกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ (Cruel, inhuman or degrading treatment ) เป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ที่กระทำไปโดยไม่ต้องมีการพิสูจน์มูลเหตุจูงใจ ขอแค่กระทำนั้นก่อให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกาย หรือจิตใจของผู้อื่น ก็เข้าลักษณะความผิดดังกล่าวแล้ว เช่น รุมทำร้ายให้เกิดอันตราย, ข่มขู่ว่าจะกระทำทรมานในขณะคุมตัว, การกักขังระยะยาวในสถานที่ผู้ต้องขังแน่นหนา และไม่ถูกสุขลักษณะ, การบังคับโกนผมโดยไม่มีฐานทางกฎหมาย, ถูกลงโทษให้ออกกำลังกายหนักเกินเหตุ เป็นต้น ข้อสังเกตคือไม่จำเป็นต้องเป็นการกระทำที่ร้ายแรง แค่การตบหน้า เตะ ต่อย
ความผิดฐานกระทำให้บุคคลสูญหาย (Enforced Disappearance) หรือชื่อที่คนทั่วไปเข้าใจคือ การอุ้มหาย โดยองค์ประกอบของอุ้มหาย มีอยู่สามประการได้แก่ การควบคุมตัว หรือลักพาตัวบุคใดโดยปราศจากยินยอม, เป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ หรือได้รับอำนาจจากรัฐ, มีการปฏิเสธ ปกปิดชะตากรรม หรือปกปิดสถานที่ที่ปรากฎตัวของบุคคลนั้น
เจ้าหน้าที่จะบังคับใช้กฎหมายอย่างไรไม่ให้เข้าข่ายผิดกฎหมายดังกล่าว คำตอบง่าย ๆ คือเจ้าหน้าที่เพียงปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมาย คือจะต้องมีอำนาจในการควบคุมตัว มีหมายจับ หรือเหตุที่สามารถจับได้ตามกฎหมาย, ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา นำตัวผู้ถูกจับไปไว้ที่ทำการของฝ่ายปกครอง หรือสถานีตำรวจซึ่งไม่ใช่ที่ลับโดยทันที และควบคุมไว้ตามเวลาที่กำหนด ในฐานะนักปกป้องสิทธิมนุษยชน หรือทนายความ สามารถคุ้มครองสิทธิของจำเลยได้ หากผู้ต้องหาถูกควบคุมตัวหรือถูกจับกุมโดยมิชอบ หรือถูกทำร้ายทรมาน หรือถูกอุ้มหาย ศาลก็สามารถปฏิเสธไม่ออกหมายขังได้ ในขณะที่คดีอาญายังคงสามารถดำเนินต่อไป
สิทธิมนุษยชนในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา
อาจารย์ปกป้องได้ถอดรหัส สิทธิมนุษยชนเข้ามาเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญาออกเป็นสองประเด็น ได้แก่ สิทธิมนุษยชนการดำเนินคดีทางอาญา เช่น สิทธิในการมีทนาย, สิทธิที่จะไม่ให้การปรักปรำตนเอง, สิทธิอุทธรณ์ต่อศาลที่สูงกว่า สิทธิเหล่านี้เป็นสิทธิในกระบวนการยุติธรรมที่เกิดขึ้นบนหลักการของสิทธิมนุษยชน และสิทธิมนุษยชนในการบังคับในคดีอาญา เช่น เวลาเจ้าหน้าที่ไปจับ ควบคุมตัว หรือนำตัวไปขังในระหว่างพิจารณาสอบสวนตามกฎหมายทั้งหลาย เจ้าหน้าที่กำลังใช้มาตรการบังคับทางอาญา หากมองในมุมมองของผู้ถูกจับกุม พวกเขาก็มีสิทธิมนุษยชนบางประการคุ้มครองอยู่ และสิทธิมนุษยชนได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับกระบวนการดำเนินคดีอาญาโดยที่เราอาจไม่รู้ทันรู้ตัว ยกตัวอย่าง เช่น
กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 9.3 “บุคคลผู้ถูกจับกุมหรือคุมขังในคดีอาญาจะถูกนำตัวไปปรากฏต่อหน้าศาลหรือเจ้าหน้าที่อื่นที่ได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจตุลาการโดยไม่ชักช้าและจะได้รับสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีภายในเวลาที่สมเหตุสมผลหรือได้รับการปล่อยตัว ไม่ใช่กฎเกณฑ์ทั่วไป ว่าบุคคลที่รอการพิจารณาคดีจะต้องถูกขัง แต่การปล่อยอาจอยู่ภายใต้หลักประกันเพื่อให้ผู้ถูกดำเนินคดีมาปรากฏ ตัวในการพิจารณาหรือเพื่อการบังคับการตามคำพิพากษา”
จากกติกาดังกล่าวส่งผลให้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 87 วรรค 3 บัญญัติว่า “ในกรณีที่ผู้ถูกจับไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราว และมีเหตุจำเป็นเพื่อทำการสอบสวน หรือการฟ้องคดี ให้นำตัวผู้ถูกจับไปศาลภายในสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่ผู้ถูกจับถูกนำตัวไปถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวน…” สะท้อนถึงหลักคิดเรื่องการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนที่ปรากฎในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา
เหตุใดต้องคุ้มครองผู้ถูกดำเนินคดีอาญา
การกำหนดกฎหมายให้สิทธิมนุษยชนเข้าไปคุ้มครองบุคคลที่เป็นจำเลยหรือผู้ต้องหาในคดีอาญา เช่น สิทธิที่จะไม่พูด, สิทธิที่จะมีทนาย, สิทธิในการอุทธรณ์ต่อศาลที่สูงกว่า ฯลฯ ทั้ง ๆ ที่เขาเป็นผู้กระทำความผิด หากอธิบายในเชิงหลักการ ในระบบกฎหมายทั่วโลก รัฐตำรวจและอัยการมีอำนาจเต็มมือในการสืบสวนสอบสวนคดีอาญา เช่น มีอำนาจจับ ค้น ยึด อายัต ออกหมายเรียก ซึ่งเป็นอำนาจที่รัฐใช้รวบรวมหลักฐานพิสูจน์ความผิดจำเลย เมื่อรัฐมีอำนาจเหล่านี้ตามกฎหมายแล้ว จึงไม่ใช่เรื่องที่รัฐต้องไปหาความจริงจากปากของผู้ต้องหาหรือจำเลย ในขณะที่ฝั่งจำเลยหรือผู้ต้องหา ไม่มีอำนาจอะไรเลย โดยเฉพาะหากจำเลยผู้ไม่มีความรู้ด้านกฎหมาย หากไม่มีการคุ้มครองสิทธิของจำเลยก็อาจนำไปสู่การลงโทษผู้บริสุทธิ์ หรือการซ้อมทรมานเพื่อบังคับให้ผู้บริสุทธิ์ต้องรับสารภาพ ดังนั้นกฎหมายจึงมอบเครื่องมือให้แก่จำเลยผู้ต้องหาในการต่อสู้กับอำนาจของรัฐเพื่อความเท่าเทียม เช่น หลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ (presumption of innocence)
เมื่อรัฐมีอำนาจกฎหมายในการสืบสวน รวบรวมหลักฐาน ประชาชนมีเครื่องมือหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ เครื่องมือก็มีความยุติธรรม ศาลจะเป็นผู้ตัดสินเองว่าความจริงคืออะไร กระบวนการทั้งหมดถูกสร้างมาเพื่อหลีกเลี่ยง หรือป้องกันไม่ให้มีการลงโทษผู้บริสุทธิ์ ลงโทษแพะ การให้อำนาจรัฐโดยไม่ให้จำเลยได้มีเครื่องมือในการต่อสู้ อาจทำให้จำเลยถูกซ้อม ถูกบังคับให้รับสารภาพ สร้างความเสียหายให้ผู้บริสุทธิ์ และสร้างความเสียหายให้สังคม
สำหรับสิทธิในการต่อสู้คดีอย่างเป็นธรรม (Right to fair trial) ประกอบไปด้วย
1. ประชาชนทุกคนมีสิทธิได้รับการพิจารณาคดีโดยเปิดเผย โดยศาลที่เป็นอิสระและเที่ยงธรรม
2. สิทธิที่จะได้รับการแจ้งข้อหา
3. สิทธิที่จะมีทนายความ
4. สิทธิที่จะได้รับการดำเนินคดีในเวลาที่เหมาะสม
5. สิทธิที่จะเผชิญหน้ากับพยานหลักฐาน
6. สิทธิที่จะมีล่าม
7. สิทธิที่จะไม่ให้การปรักปรำตนเอง (right to remain silent)
8. สิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ (presumption of innocence)
9. สิทธิอุทธรณ์ต่อศาลที่สูงกว่า
10. สิทธิที่จะได้รับการเยียวยาจากกระบวนการยุติธรรมที่ผิดพลาด
11. สิทธิที่จะไม่ถูกดำเนินคดีซ้ำในความผิดกรรมเดียว (ne bis in idem)
โดยสิทธิเหล่านี้ปรากฏอยู่ในกระบวนการพิจารณาคดีความอาญาไว้แล้ว
การคุมขังและการปล่อยระหว่างดำเนินคดี
การดำเนินคดีอาญา กับการมีตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยอยู่บนหลักที่แตกต่างกัน การดำเนินคดีอาญา คือ การที่รัฐกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย ดังนั้นในระหว่างดำเนินคดีอาญากับผู้ต้องหาหรือจำเลย รัฐจะมีตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยหรือไม่ก็ได้ การที่รัฐจะมีการควบคุมตัว หรือขังผู้ต้องหาหรือจำเลยระหว่างคดีอาญานั้น มีเหตุผลคือเมื่อผู้ต้องหาจะหลบหนี หรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือป้องกันไม่ให้เขาก่อเหตุร้ายประการอื่น เช่น กระทำความผิดซ้ำ รัฐก็จะใช้สาเหตุเหล่านี้ในการคุมขังผู้ต้องหาเอาไว้ โดยปรากฎในรัฐธรรมนูญของไทย ดังนี้
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 28 วรรค 2 “การจับและการคุมขังบุคคลจะกระทำมิได้ เว้นแต่มีคำสั่งหรือหมายของศาลหรือมีเหตุอย่างอื่นตามที่กฎหมาย บัญญัติ”
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 29 วรรค 3 “การควบคุมหรือคุมขัง ผู้ต้องหาหรือจำเลยให้กระทำได้เพียงเท่าที่จำเป็น เพื่อป้องกันมิให้มีการหลบหนี”
ดังนั้นหลักการการคุมขังผู้ต้องหาหรือจำเลยของรัฐ จึงเป็นไปด้วยสามเหตุผลดังกล่าวเท่านั้น แต่สิ่งที่เป็นปัญหาในการขังและปล่อยของประเทศไทยคือ กฎหมายและแนวปฏิบัติของไทยคือ “ขังเป็นหลัก ปล่อยเป็นข้อยกเว้น” เพราะเมื่อพนักงานสอบสวนควบคุมตัว 48 ชั่วโมงเสร็จ ก็จะนำตัวผู้ต้องหาไปที่ศาลเพื่อออกหมายขัง เมื่อศาลประทับตราแล้วก็จะรอให้ผู้ต้องหา หรือญาติผู้ต้องหา นำเงินมายื่นคำร้องขอประกันตัวปล่อยชั่วคราว หากผู้ต้องหาไม่มีเงินยื่นประกันขอปล่อยตัวชั่วคราว หรือไม่มีญาติมาทำให้ จำเลยก็จะถูกขังทันที การถูกคุมขังของประเทศไทยจึงมีความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยและคนจน
อาจารย์ปกป้องได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับหลักการคุมขังในต่างประเทศ โดยยกตัวอย่างในประเทศฝรั่งเศส คิดกลับกันกับไทย การออกหมายขังเป็นข้อยกเว้น หลักคือการปล่อยแบบมีเงื่อนไข และหากนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเรื่องนี้ได้ จะช่วยจำเลยผู้ต้องหาที่ยากไร้อีกหลายคน โดยไม่จำเป็นต้องไปหาหลักประกันมาวาง โดยอาจารย์ปกป้องได้ให้ข้อมูลดังนี้
ในฝรั่งเศส พนักงานสอบสวนมีหน้าที่ต้องนำตัวผู้ต้องหาไปศาลเหมือนไทย เพื่อไปให้ศาลพบผู้ต้องหา และตรวจสอบว่าจับกุมโดยชอบหรือไม่ มีการทรมานหรือไม่ เมื่อศาลตรวจสอบเสร็จ ศาลจะมีการพิจารณาปล่อยตัว หรือจะขังชั่วคราว ซึ่งโดยหลัก ศาลจะปล่อยผู้ต้องหาเป็นหลักก่อนเสมอ และกำหนดเงื่อนไข เช่น ต้องมารายงานกับตำรวจ, ห้ามเข้าเขตที่กำหนด คือจะปล่อยแบบมีเงื่อนไขเป็นหลัก แต่หากมีเหตุให้ศาลต้องขังผู้ต้องหาดังกล่าว ให้พนักงานอัยการยื่นคำขอขังผู้ต้องหากับศาล
ในขณะที่ผู้ต้องหาจะได้รับความช่วยเหลือจากทนายความ และศาลจะเปิดการไต่สวนขึ้นมา ทุกครั้งที่รัฐต้องการขังผู้ต้องหา รัฐต้องมายื่นคำร้อง และแสดงหลักฐานว่าผู้ต้องหาคนนี้มีพฤติการณ์หลบหนี หรือพฤติการณ์ใด ๆ ที่จะสร้างความเดือดร้อน เช่น ยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน, กระทำความผิดอุจฉกรรจ์ร้ายแรง เป็นต้น ผ่านกระบวนการที่จำเลยมีทนายคอยช่วยเหลืออยู่เสมอ เช่น จำเลยยืนยันว่าจะไม่หลบหนี หรือมีการขอใส่กำไล EM เพื่อยืนยันที่อยู่ สุดท้ายศาลจะเป็นผู้ตัดสินว่าจะขังหรือจะปล่อย การขังในฝรั่งเศสจึงเป็นเรื่องยากมาก
ทั้งนี้หากผ่านกระบวนการไต่สวนการขังจากศาลแล้ว จะไม่มีการนำเงินมาวางประกัน ซึ่งแตกต่างกับประเทศไทยคือ ขังง่าย โดยปล่อยให้จำเลยขอประกันตัว แต่สร้างภาระในกระบวนการยุติธรรม คือต้องมาฝากขังทุก ๆ 10 กว่าวัน ซึ่งปกป้องมองว่า เพียงแค่ระยะเวลา 10 กว่าวัน ข้อเท็จจริงไม่เปลี่ยน อีกทั้งปัญหาที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย คือคนยากจนมักไม่มีเงินยื่นขอประกันตัว วางหลักทรัพย์ไม่พอ จึงต้องถูกขัง ในขณะที่คนรวยสามารถวางประกันแล้วกลับบ้านได้ทันที
ดังนั้นกรณีของประเทศฝรั่งเศสจึงไม่เกิดปัญหาคุกมีไว้ขังคนจนแบบไทย เพราะไม่มีการเรียกหลักประกัน ทุกคดีจะปล่อยแบบมีเงื่อนไขหมด ยกเว้นว่าศาลจะเห็นว่าคดีใดต้องมีการขัง ไปหาหลักฐานมาพิสูจน์ หากรัฐมีหลักฐานว่าควรขัง แม้มีหลักประกันเป็น 10 ล้าน ศาลก็ไม่ไม่ปล่อย เพราะป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นในสังคม ข้อที่อยากฝากไว้คือน่าจะเปลี่ยนกฎหมายได้ เพราะชื่อของกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาใช้คำว่า ปล่อยชั่วคราว แต่หลักการจริง ๆ ควรใช้คำว่า ขังชั่วคราว มากกว่า