3 ธันวาคม 2567 เวลา 09.00 น. ห้องพิจารณาคดีที่ 905 ศาลอาญานัดอานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชนฟังคำพิพากษา หมายเลขคดีดำที่ อ.1395/2565 กรณีเขียนและโพสต์จดหมาย #ราษฎรสาส์น ถึงกษัตริย์รัชกาลที่สิบ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563 วิจารณ์การขยายพระราชอำนาจ หลังว่าที่ ร.ต.นรินทร์ ศักดิ์เจริญชัยกุล หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม “ไทยภักดี” เข้าแจ้งความให้ ปอท.ดำเนินคดี ถูกดำเนินคดีในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” และข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3)
เวลาประมาณ 09.10 น. อานนท์ นำภาเข้ามาในห้องพิจารณาคดี 905 ในชุดนักโทษสีน้ำตาล สองข้อเท้าถูกพันธนาการไว้ด้วยกุญแจเท้า บรรยากาศในห้องพิจารณาคดีเต็มไปด้วยมวลชนและครอบครัวที่มาให้กำลังใจ นอกจากนี้ยังมีตัวแทนจากสถานทูตอังกฤษและตัวแทนจากสถานทูตสวิตเซอร์แลนด์ที่มาร่วมรับฟังการพิพากษาคดี จนทำให้ต้องเปิดห้องพิจารณา 901 เพิ่มขึ้นอีกห้องเพื่อถ่ายทอดสดการพิพากษาคดี
เวลา 9.30 น. ศาลออกนั่งบัลลังก์และอ่านคำพิพากษาโดยมีใจความว่าจําเลยนําเข้าซึ่งข้อมูล รูปภาพ ข้อความและตัวอักษร ด้วยการโพสต์รูปภาพพร้อมด้วยตัวหนังสือ เป็นข้อความภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โดยมีข้อความภาษาไทยตอนหนึ่งว่า
“…นับแต่ท่านได้ขึ้นครองราชย์ ท่านได้ก้าวล่วงและละเมิดต่อหลักการประชาธิปไตยที่อนุญาตให้มีกษัตริย์เป็นประมุขในหลายประการ เช่น การสั่งให้แก้รัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติแล้ว การแก้ไขกฎหมายเพื่อประโยชน์ส่วนตนของท่าน การรับเอาเงินภาษีของพวกเราไปใช้อย่างเกินความจําเป็น รวมทั้งความเคลือบแคลงต่อการละเมิดสิทธิของราษฎรในหลายกรณี ซึ่งการกระทำเช่นนี้นับว่าร้ายแรงอย่างยิ่ง เพราะถือเป็นการขยายอำนาจจนเกินกว่าที่ระบอบอนุญาตให้ท่านทำได้
พวกเราเหล่าราษฎรเฝ้ามองปรากฏการณ์นี้มานานจนกระทั่งความไม่พอใจ ความคับแค้นใจได้ประทุขึ้นในห้วงเวลานี้ ดังที่ท่านคงทราบดี พวกเราเหล่าราษฎรได้ร่วมกันชุมนุมหลายคราว เพื่อสื่อสารและส่งสาส์นไปยังท่าน ทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อหวังให้ท่านปรับปรุงตน และกลับมาเป็นกษัตริย์ของพวกเราทุกคนตามที่ระบอบกำหนดไว้ แต่ท่านก็ไม่มีท่าทีที่จะปรับตนแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้ามกลับพยายามแสดงออกถึงความไม่พอใจในความเคลื่อนไหวครั้งนี้ รวมทั้งพยายามแสดงออกให้พวกเรากลายเป็น “ราษฎรอื่น” ในสายตาท่านไปเสีย”
ผ่านทางบัญชีเฟซบุ๊ก “อานนท์ นําภา” ซึ่งเป็นบัญชีเฟซบุ๊กของจําเลย โดยพิเคราะห์ข้อกล่าวอ้างของจำเลยว่าการโพสต์พร้อมรูปภาพเป็นการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการขยายพระราชอำนาจ การที่จำเลยต่อสู้ว่ามีเสรีภาพในการปกป้องสถาบันกษัตริย์และแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญมาตรา 34 วรรคแรกที่บัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น การจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันสุขภาพของประชาชน”
ศาลเห็นว่าสิทธิดังกล่าวมีข้อยกเว้นว่าการแสดงความคิดเห็นต้องไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น แม้เป็นเสรีภาพในการแสดงความเห็นแต่เมื่อการแสดงความเห็นกระทบต่อบุคคลอื่น รัฐต้องจำเป็นอย่างยิ่งในการลงโทษ
ในส่วน พ.ร.บ.คอมฯ โพสต์ของจำเลยทำให้บุคคลทั่วไป ประชาชนที่พบเห็นเข้าใจว่ากษัตริย์รัชกาลปัจจุบันก้าวล่วงละเมิดต่อหลักประชาธิปไตย ขยายอำนาจเกินขอบเขต ใช้ภาษีเกินความจำเป็น ข้อความดังกล่าวเป็นข้อความดูหมิ่น ทำให้กษัตริย์เสื่อมเสียพระเกียรติ วิธีการของจำเลยไม่ใช่ความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ เจตนาที่จำเลยกล่าวอ้างว่าเพื่อวิพากษ์วิจารณ์ไม่สามารถดูแค่เจตนาของจำเลยเพียงอย่างเดียวได้ โพสต์ของจำเลยเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงเป็นการส่งต่อข้อมูลที่รู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อความที่เกี่ยวกับความมั่นคง
พิพากษาลงโทษตามมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมฯ มาตรา 14(3)และ(5) จำคุก 3 ปี จำเลยให้การเป็นประโยชน์ มีเหตุลดโทษตามมาตรา 78 ลดโทษหนึ่งในสาม คงเหลือโทษจำคุก 2 ปี นับโทษต่อจากคดีอื่นรวมโทษจำคุกอานนท์ในคดีที่ตัดสินแล้วรวม 5 คดีมีโทษจำคุก 16 ปี 2 เดือน 20 วัน