5 พฤศจิกายน 2567 ศาลปกครองกลางมีคำสั่งรับฟ้อง คดีที่พ.ต.อ.ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ อดีตข้าราชการตำรวจเป็นผู้ฟ้องคดีขอให้เพิกถอนผลการสรรหาคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ของคณะกรรมการสรรหา และขอให้คุ้มครองชั่วคราวโดยการยับยั้งการเสนอรายชื่อดังกล่าวต่อวุฒิสภา ซึ่งแม้ศาลปกครองจะรับฟ้องไว้แล้วเป็นคดีหมายเลขดำที่ 1814/2567 แต่ไม่ได้สั่งคุ้มครองชั่วคราวให้ ทำให้กระบวนการยังเดินหน้าต่อไป หากศาลปกครองเห็นว่ากระบวนการที่เกิดขึ้นนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็จะต้องเริ่มการรับสมัครและสรรหาใหม่ทั้งหมด
คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เป็นหนึ่งใน “องค์กรอิสระ” ตามรัฐธรรมนูญที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินของรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐ ให้เป็นไปตามกฎหมายวินัยการเงินการคลัง การสรรหากรรมการตรวจเงินแผ่นดินมีขั้นตอนเช่นเดียวกับองค์กรอิสระอื่น อย่าง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คือ ให้มีคณะกรรมการสรรหาขึ้นหนึ่งชุด ประกอบด้วยประธานศาลฎีกา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้าน ประธานศาลปกครองสูงสุด และตัวแทนที่องค์กรอิสระอื่นแต่งตั้งมาองค์กรละหนึ่งคน รวมแล้วเก้าคน เมื่อคณะกรรมการสรรหาคัดเลือกรายชื่อบุคคลผู้สมควรได้รับการคัดเลือกเสร็จแล้วก็จะส่งให้วุฒิสภาลงมติให้ความเห็นชอบ
ในปี 2567 กรรมการตรวจเงินแผ่นดินหกจากเจ็ดคนหมดวาระ จึงมีการเปิดรับสมัครผู้เข้ารับการคัดเลือกระหว่างวันที่ 17 มิถุนายน 2567 ถึงวันที่ 1 กรกฎาคม 2567 และมีผู้สมัครรวม 48 คน ซึ่งผู้ได้รับการคัดเลือกทั้งหมดหกคน ได้แก่
1. ยุทธพงษ์ อภิรัตนรังสี อดีตอธิบดีอัยการ สำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ สำนักงานอัยการสูงสุด
2. นายเฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ
3. นายนิวัติไชย เกษมมงคล อดีตเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
4. นางพรพิมล นิลทจันทร์ อดีตรองเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญและอดีตนักตรวจสอบภายใน สำนักตรวจสอบภายใน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
5. นางเกล็ดนที มโนสันติ์ อดีตรองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)
6. นางสาวพศุตม์ณิชา จำปาเทศ อดีตรองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)
ประธานศาลปกครองป่วย กรรมการสรรหาไม่ครบองค์ประกอบ
พ.ต.อ.ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ เป็นหนึ่งในผู้สมัครเข้ารับการสรรหาและได้เข้าร่วมกระบวนการคัดเลือก เห็นว่ากระบวนการที่เกิดขึ้นนั้นไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และไม่ชอบธรรม จึงยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้เพิกถอนการสรรหาที่เกิดขึ้น ซึ่งประเด็นสำคัญของคำฟ้องฉบับนี้ คือ ประธานศาลปกครองสูงสุดไม่ได้เข้าร่วมการประชุมของคณะกรรมการสรรหา ทำให้การประชุม “ไม่ครบองค์ประกอบ” ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 203
ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ศ.พิเศษ วรพจน์ วิศรุตพิชญ์ ผู้ดำรงตำแหน่งประธานศาลปกครองสูงสุด เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลศิริราช เพื่อทำการผ่าตัดจากกรณีกระดูกต้นคอทับเส้นประสาทอย่างรุนแรง ในช่วงเวลาประมาณวันที่ 12 กรกฎาคม 2567 ถึงวันที่ 26 สิงหาคม 2567 ดังนั้น การประชุมหลายครั้งในเดือนกรกฎาคม เพื่อพิจารณาคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม พิจารณาแนวทางการแสดงวิสัยทัศน์ พิจารณาหลักเกณฑ์และวิธีการลงคะแนน เชื่อว่าประธานศาลปกครองสูงสุดไม่ได้เข้าร่วมด้วย
สำหรับการประชุมเพื่อให้ผู้สมัครแสดงวิสัยทัศน์และคัดเลือกในวันที่ 20 สิงหาคม 2567 นั้น ศ.พิเศษ วรพจน์ ยังรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล จึงเป็นที่ชัดเจนว่า การประชุมในวันดังกล่าวไม่มีประธานศาลปกครองสูงสุดอยู่ร่วมด้วย จึงเป็นการประชุมคณะกรรมการสรรหาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ขณะเดียวกันรศ.ดร.วิษณุ วรัญญู รองประธานศาลปกครองสูงสุด ซึ่งรักษาการในตำแหน่งประธานศาลปกครองสูงสุด ได้เดินทางมาเพื่อเข้าร่วมประชุมในฐานะกรรมการโดยตำแหน่งประธานศาลสูงสุด เนื่องจาก ศ.พิเศษ วรพจน์ เจ็บป่วยจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ แต่ที่ประชุมคณะกรรมการสรรหา ปฏิเสธไม่ยอมให้ รศ.ดร.วิษณุฯ เข้าประชุมแทน จึงทำให้องค์ประกอบคณะกรรมการไม่ครบถ้วน ซึ่งในคำฟ้องคดีนี้มองว่า การไม่อนุญาตให้รองประธานศาลปกครองสูงสุดเข้าประชุมแทนก็เป็นคำสั่งที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย
พ.ต.อ.ศิริพล ผู้ฟ้องคดี อธิบายความเห็นไว้ในคลิปวิดีโอตอนหนึ่งว่า ที่ประชุมที่พิจารณาเห็นว่าองค์ประชุมครบแล้ว จริงๆ มันไม่ใช่เรื่อง “องค์ประชุมครบ” แต่เป็นเรื่อง “องค์ประกอบไม่ครบ” กฎหมายเขียนไว้ชัดเจนว่า กรณีที่ตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านไม่มีนั้นไม่เป็นไร เพราะเป็นไปได้ที่ผู้นำฝ่ายค้านจะไม่มี เช่น ตอนที่พรรคก้าวไกลถูกยุบ ตามกฎหมายถือว่ายังครบองค์ประกอบ แต่กรณีของประธานศาลทั้งหลาย ตำแหน่งของส่วนราชการไม่มีทางว่างลง กรณีที่ปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ก็ต้องแต่งตั้งผู้รักษาการแทน โดยสภาพเป็นเรื่องของตำแหน่งจึงไม่มีวันที่จะไม่มีผู้แทน
“มันน่าสงสัยมากว่าทำไมถึงไม่ยอมให้เข้า ผมก็เลยฟ้อง” ผู้ฟ้องคดีกล่าว
โดยในคำฟ้องของพ.ต.อ.ศิริพล ยังอธิบายไว้ด้วยว่า สำหรับการคัดเลือกในวันที่ 31 สิงหาคม 2567 ที่พ.ต.อ.ศิริพล เข้ารับการคัดเลือกและแสดงวิสัยทัศน์นั้น ศ.พิเศษ วรพจน์ มาร่วมประชุมโดยนั่งรถเข็น อยู่ในสภาพของผู้ป่วยที่ไม่สามารถพูดคุยได้ อันเนื่องจากการผ่าตัด แม้จะเข้าร่วมประชุมด้วย แต่โดยสภาพเห็นได้จากทางกายภาพว่า ไม่พร้อมในการปฏิบัติหน้าที่เป็นกรรมการสรรหาคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และแม้ว่าจะเข้าร่วมประชุมครั้งนี้ และเป็นการครบองค์ประกอบก็ไม่ทำให้ การประชุมที่เสียไปครั้งก่อนๆ ตั้งแต่ต้นจะกลายเป็นผลโดยชอบทางกฎหมายขึ้นมาได้
แสดงวิสัยทัศน์ 5 นาที ตอบคำถามที่ไม่ตรงสาย
ในคำฟ้องฉบับนี้ตั้งประเด็นว่า กระบวนการคัดเลือกกำหนดให้ผู้สมัครแสดงวิสัยทัศน์ห้านาที และตอบคำถามห้านาที ซึ่งเป็นการกำหนดขั้นตอนกระบวนการที่น่าสงสัยอย่างมาก เพราะตำแหน่งกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน มีความสำคัญอย่างมาก แต่กำหนดให้แสดงวิสัยทัศน์เป็นพิธีเท่านั้น โดยในการประกาศรับสมัคร อนุญาตให้ผู้สมัครได้หลายด้านเช่น ด้านกฎหมาย ด้านการตรวจเงินแผ่นดิน ด้านการตรวจสอบภายใน ด้านการบัญชี ด้านการการเงินการคลัง หรือด้านอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อการตรวจเงินแผ่นดิน ไม่ว่าจะสมัครกี่ด้าน หรือมีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านใด ก็จะแสดงวิสัยทัศน์เพียงห้านาทีเช่นกัน และตอบคำถามต่างๆ ที่กรรมการสรรหาตั้งไว้ในเวลาจำกัดนั้น
ในส่วนของพ.ต.อ.ศิริพลแม้จะสมัครในด้านกฎหมาย แต่คำถามที่ได้รับ คือ AI AUDIT และคุณสมบัติของผู้ตรวจสอบบัญชี ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติด้านกฎหมายแต่ประการใด เป็นคำถามที่อยู่นอกเหนือบริบทที่อยู่ในขอบเขตความรับผิดชอบที่สมัครเข้ารับการคัดเลือกในสายกฎหมาย จึงน่าเชื่อว่าเป็นการตั้งคำถามเพื่อมีวัตถุประสงค์เฉพาะ
พ.ต.อ.ศิริพล กล่าวไว้ในคลิปวิดีโอตอนหนึ่งว่า กรรมการตรวจเงินแผ่นดินต้องตรวจบัญชีเป็นแสนๆ มูลค่าเป็นล้านล้าน กระบวนการสรรหาต้องเข้มข้นมาก ห้านาทีจะไปวัดอะไรได้ กรณีของผู้ดำรงตำแหน่งสูงๆ ในสหรัฐอเมริกา มีการตรวจสอบประวัติย้อนหลังไปมีกรรมการไต่สวน ให้มีโอกาสเปิดเผยต่อสาธารณะ ออกทีวีถามคำถามต่างๆ นานา ทำไมเห็นเรื่องนั้นอย่างนั้นอย่างนี้ เจาะลึกไปในประวัติการทำงาน แต่ของเราให้แสดงวิสัยทัศน์ห้านาที ไม่ว่าจะสมัครกี่ด้านก็ตามรวมแล้วก็ห้านาที ท่านว่ามันตลกไหมครับ ผมคิดว่ากระบวนการเหล่านี้มันไม่โอเคสำหรับการคัดเลือกคนเข้าไปทำงานที่สำคัญระดับชาติขนาดนี้
เล่นพรรคเล่นพวก? ผลการสรรหาสุดท้ายวนอยู่ในแวดวงองค์กรอิสระ
ในคำฟ้องต่อศาลปกครองอธิบายว่า ผลการคัดเลือกกรรมการตรวจเงินแผ่นดินที่ปรากฏออกมานั้น “เป็นเรื่องน่าพิศวงเป็นอย่างยิ่ง” เช่น ผู้ได้รับการคัดเลือกมาจากรองผู้ว่าการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินสองคน หากพิจารณาในด้านการตรวจสอบและการบริหาร บุคคลทั้งสองไม่สมควรได้รับการคัดเลือก เพราะหากมีการดำเนินการใดๆ ที่เป็นปัญหาอุปสรรคในอดีต หากทั้งสองคนได้ไปเป็นกรรมการตรวจเงินแผ่นดินแล้ว ย่อมไม่อาจแก้ไขหรือริเริ่มสิ่งใหม่ๆ
หลักการและเจตนารมณ์ของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินต้องการให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินมีความเชี่ยวชาญหลากหลายด้าน เพื่อช่วยกันกลั่นกรองและปฏิบัติหน้าที่ แต่ผลการคัดเลือกปรากฎว่า กรรมการสรรหาได้คัดเลือกผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ที่อยู่ในองค์กรคู่ขนานที่ต้องถูกตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณโดยคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ให้เข้ามาเป็นกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันก็มีกรรมการตรวจเงินแผ่นดินที่มาจากสำนักงบประมาณอยู่แล้วหนึ่งคน แต่กรรมการสรรหายังคัดเลือกผู้อำนวยการสำนักงบประมาณมาอีกหนึ่งคน
นอกจากนี้ยังตั้งข้อสังเกตได้ว่า คณะกรรมการสรรหาซึ่งส่วนใหญ่เป็นตัวแทนมาจาก “องค์กรอิสระ” ก็จะมีโอกาสพบปะรู้จักกันในแวดวงของการคัดเลือกองค์กรอิสระแต่ละครั้ง และผลการคัดเลือกก็เป็นการนำเอาบุคลากรที่ทำงานอยู่ในองค์กรอื่น เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เข้ามาทำงานอยู่ในแวดวงขององค์กรอิสระวนเวียนกันไปเช่นนี้
พ.ต.อ.ศิริพล ยังตั้งข้อสังเกตถึงผู้สมัครท่านหนึ่ง คือ ศาสตราจารย์ สหธน รัตนไพจิตร ศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งสมัครเข้ารับการคัดเลือกด้านกฎหมาย ด้านการตรวจสอบภายใน ด้านการเงินการคลังและด้านอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งไม่ได้รับการคัดเลือก แต่อดีตผู้ตรวจสอบภายในของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ได้รับการสรรหานั้น เคยเป็นลูกศิษย์ของศาสตราจารย์สหธน