สถานการณ์การรัฐประหารและความไม่สงบที่มีขึ้นต่อเนื่องในประเทศเมียนมาส่งผลกระทบต่อชีวิตและความปลอดภัยของชาวเมียนมา กลุ่มคนทำงานเพื่อประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน สื่ออิสระ หรือภาคประชาสังคม ไม่สามารถอยู่อาศัยในประเทศตัวเองและทำงานเหล่านี้ได้จึงต้องอาศัยประเทศไทยเป็นสถานที่ปลอดภัยในการอยู่อาศัยและการทำงานเท่าที่จะสามารถทำได้ แต่ประเทศไทยก็ได้ปลอดภัยเสมอไป เพราะกฎหมายของประเทศไทยก็มีข้อจำกัดในการแสดงออก การรวมกลุ่มทำกิจกรรม และการเข้าเมือง
ล่าสุดกระทรวงมหาดไทยกำลังจัดทำร่างพ.ร.บ.สมาคมและมูลนิธิ สร้างเงื่อนไขเพิ่มขึ้นสำหรับการจดทะเบียนสมาคมและมูลนิธิ รวมทั้งให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาตรวจสอบการรับทุน และสามารถเข้าค้นสำนักงานได้ โดยหลักแล้วกฎหมายนี้มุ่งควบคุมการจดทะเบียนขององค์กรไทยโดยคนไทย แต่องค์กร Human Rights Myanmar กังวลว่า กฎหมายนี้อาจทำให้ภาคประชาสังคมและสื่อของเมียนมาได้รับผลกระทบอย่างมาก จึงออกบทความส่งความเห็นต่อความพยายามออกกฎหมายของประเทศไทย ดังนี้
“ร่างพระราชบัญญัติสมาคมและมูลนิธิ พ.ศ. …“ ของประเทศไทยที่เสนอขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานขององค์กรภาคประชาสังคม (CSOs) และสื่อของเมียนมาที่ลี้ภัยอยู่ในประเทศไทย โดยร่างกฎหมายฉบับนี้อาจกำหนดข้อจำกัดหรือเงื่อนไขบางประการที่ทำให้องค์กรเหล่านี้ดำเนินการต่อไปได้ยากขึ้น และอาจถึงขั้นต้องยุติการดำเนินงานในที่สุด แต่เดิมที่องค์กรเหล่านี้ถูกกีดกันออกจากสังคม และต้องทำงานภายใต้ความเสี่ยงด้านความปลอดภัยที่สูงอยู่แล้ว ก็จะยิ่งมีความเปราะบาง และทำให้งานสำคัญขององค์กรดังกล่าวตกอยู่ในอันตรายมากขึ้น
จดทะเบียนหรือเตรียมค่าปรับ (Register or face fines)
ร่างกฎหมายกำหนดให้การจัดตั้งสมาคมหรือมูลนิธิ ต้องได้รับอนุญาตจากทางการ (มาตรา 6), องค์กรที่ไม่ได้จดทะเบียนตามมาตรา 6 ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 50,000-100,000 บาท (มาตรา 51), หากผู้ใดกระทำความผิดตามมาตรา 51 คือถูกปรับไปแล้ว แต่ยังคงฝ่าฝืนตามบทบัญญัติดังกล่าว ต้องระวางโทษปรับทางปกครองอีกวันละไม่เกิน 1,000 บาท จนกว่าจะได้เลิกใช้ (มาตรา 61)
ร่างกฎหมายดังกล่าวครอบคลุมถึงกลุ่มเมียนมาทุกกลุ่มที่ระบุว่าตนเองเป็นองค์กรภาคประชาสังคม (CSO) และรวมถึงองค์กรสื่อที่ไม่แสวงหากำไรที่กำลังลี้ภัยอยู่ด้วย ซึ่งรวมถึงกลุ่มที่ดำเนินงานในประเทศไทยซึ่งระบุว่าตนเองเป็นองค์กรภาคประชาสังคม (CSOs) โดยใช้ภาษาต่างประเทศ เช่น ภาษาพม่า, ภาษาอังกฤษ หรือภาษาของชนกลุ่มน้อย (ตามมาตรา 51)
การห้ามไม่ให้องค์กรที่ไม่ได้จดทะเบียนดำเนินกิจการต่อ ถือเป็นการละเมิดกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่เกี่ยวกับเสรีภาพในการรวมกลุ่ม ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อกลุ่มต่างๆ จากเมียนมา ซึ่งหลายกลุ่มไม่สามารถลงทะเบียนได้ด้วยเหตุผลทางปฏิบัติและด้านความปลอดภัยตามเหตุผลต่อไปนี้
ข้อกำหนดเรื่องสัญชาติ กีดกันชาวเมียนมา (Nationality requirement excludes Myanmars)
องค์กรจากเมียนมามักดำเนินงานด้วยทรัพยากรจำกัด มีสมาชิกน้อย และไม่ค่อยได้รับการมีส่วนร่วมจากคนไทยเท่าใดนัก เนื่องจากการดำเนินการขององค์กรจะมุ่งเน้นไปที่การรณรงค์และการช่วยเหลือที่เกี่ยวข้องกับเมียนมาเป็นหลัก การกำหนดให้คณะกรรมการของสมาคมหรือมูลนิธิต้องเป็นคนไทยจำนวนครึ่งหนึ่ง ทำให้องค์กรเหล่านี้เหมือนถูกตัดสิทธิไปโดยสิ้นเชิง อีกทั้งหลายคนจากเมียนมาก็ไม่มีสถานะทางกฎหมายที่ชัดเจนในประเทศไทยและเกรงต่อการถูกเปิดเผยตัวตน ข้อกำหนดนี้จึงทำให้กลุ่มจากเมียนมาถูกตัดสิทธิ์จากการรับรองทางกฎหมาย และทำให้พวกเขาไม่สามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การละเมิดความเป็นส่วนตัวและการปกปิดตัวตน (No anonymity or privacy)
ในกระบวนการลงทะเบียน กฎหมายกำหนดให้นายทะเบียนรับจดทะเบียนและออกใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนให้แก่สมาคมนั้น และประกาศการจัดตั้งในราชกิจจานุเบกษา (มาตรา 14) และองค์กรจะต้องจัดให้มีป้ายชื่อติดไว้หน้าหรือสถานที่ซึ่งเห็นได้ชัดของสำนักงานใหญ่ และสำนักงาน (มาตรา 15) ให้สมาคมหรือองค์กรจัดทำและส่งสำเนารายงานการประชุม และสำเนางบดุลต่อนายทะเบียน (มาตรา 25) ให้นายทะเบียนและพนักงานมีอำนาจในการเข้าตรวจค้นสำนักงาน และตรวจสอบข้อมูลเอกสารต่าง ๆ (มาตรา 49)
การเผยแพร่ชื่อและการกำหนดให้มีป้ายชื่อที่สำนักงานจะทำให้สูญเสียสถานะปกปิดตัวตน ซึ่งเป็นสิ่งที่ช่วยปกป้องสมาชิกจากการคุกคามของกองทัพเมียนมา หากมีการเปิดเผยตัว เหล่าแกนนำและครอบครัวของพวกเขาอาจต้องเผชิญกับการคุกคาม การเฝ้าติดตาม หรือความรุนแรงทั้งในประเทศไทยและเมียนมา
การเงินภายใต้ความเสี่ยง (Funding under threat)
ร่างกฎหมายของไทยกำหนดไว้ว่า ในกรณีที่สมาคมหรือมูลนิธิ ได้รับเงินบริจาคจากองค์กร หน่วยงาน หรือเอกชนต่างประเทศ ต้องรายงานให้นายทะเบียนทราบภายใน 15 วัน (มาตรา 8) และเหล่ามูลนิธิ และสมาคมต่างๆ อาจจะไม่สามารถแบ่งปันรายได้แก่กันและกันได้ (มาตรา 8)
องค์กรภาคประชาสังคมของเมียนมา (CSOs) และสื่อที่ลี้ภัยมีความจำเป็นต้องพึ่งพาการสนับสนุนทางการเงินจากต่างประเทศเพื่อดำเนินงานต่อไป แต่ข้อจำกัดเหล่านี้จะเป็นการเพิ่มอุปสรรคทางธุรการที่ทำให้การทำงานร่วมกับพันธมิตรในท้องถิ่นหรือการแจกจ่ายทรัพยากรทำได้ยากขึ้น
อำนาจรัฐที่ไร้การถ่วงดุล (Unchecked government power)
ร่างกฎหมายนี้ให้อำนาจทางการไทยในการยุบเลิกมูลนิธิ หรือสมาคม ได้โดยไม่จำเป็นต้องมีเหตุผลที่ชัดเจนแน่นอน (มาตรา 30 ) นายทะเบียนมีอำนาจสั่งให้คณะกรรมการพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ และสามารถแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาแทนที่ได้ชั่วคราว (มาตรา 27) และมีอำนาจเพิกถอนมติของคณะกรรมการในที่ประชุมใหญ่ได้ (มาตรา 20)
ข้อกำหนดเหล่านี้เปิดทางให้ทางการไทยเข้าแทรกแซงหรือยุบองค์กรของเมียนมาโดยตรง ซึ่งจะยิ่งทำให้ความสามารถในการดำเนินงานขององค์กรเหล่านี้ลดลง อำนาจเต็มมือที่ไม่มีการตรวจสอบเช่นนี้จะสร้างความไม่มั่นคงและบั่นทอนการทำงานด้านการรณรงค์และมนุษยธรรมที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง
กฎหมายคลุมเครือที่คุกคามแกนนำ (Vague laws threaten leaders)
ร่างกฎหมายนี้วางหลักความผิดไว้อย่างกว้างและนิยามไม่ชัดเจน ทำให้ง่ายในการดำเนินคดีต่อแกนนำขององค์กร เช่น การกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อ “บุคคลอื่น” “ความสงบเรียบร้อย” หรือ “ศีลธรรมอันดีของประชาชน” (มาตรา 52 ) ซึ่งมีระวางโทษจำคุกสูงสุดไม่เกินสามปี
การใช้ภาษากฎหมายที่คลุมเครือในร่างกฎหมายเช่นนี้ อาจมุ่งเป้ามาที่ภาคประชาสังคมของเมียนมา แม้แต่กิจกรรมที่ปราศจากความรุนแรงก็ตาม เช่น การพูดหรือรณรงค์ส่งเสริมในประเด็นสาธารณะ หรือการวิพากษ์วิจารณ์กองทัพเมียนมา ซึ่งร่างกฎหมายไทยจะเปิดช่องให้การเคลื่อนไหวทางการเมืองเหล่านี้ถูกยัดข้อหาว่าผิดกฎหมาย หรือนำไปสู่การเรียกรับสินบนของเจ้าหน้าที่ได้
เจตนาที่แท้จริงของประเทศไทย ? (What is Thailand’s intention?)
ร่างกฎหมายของไทยที่เสนอขึ้นมีความคล้ายคลึงกับที่เห็นในรัสเซียและประเทศที่มีกฎเกณฑ์เข้มงวดอื่นๆ ที่มีความพยายามนำกฎหมายมาใช้ปราบปรามผู้เห็นต่าง โดยอ้างการกำกับดูแลความสงบเรียบร้อย แม้กฎหมายจะอ้างวัตถุประสงค์เพื่อแก้ปัญหาด้านความมั่นคงหรือความโปร่งใสทางการเงิน แต่ลักษณะบทบัญญัติที่มีขอบเขตและความหมายกว้างของร่างกฎหมายฉบับนี้ ดูเหมือนจะเป็นการมุ่งเน้นไปที่การเพิ่มอำนาจให้รัฐบาลในการควบคุมภาคประชาสังคมและจำกัดความพยายามในการเคลื่อนไหว โดยเฉพาะจากกลุ่มที่วิพากษ์วิจารณ์ผู้มีอิทธิพล
การประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้จะเสี่ยงต่อการบ่อนทำลายชื่อเสียงของประเทศไทยในฐานะพื้นที่ปลอดภัยสำหรับบุคคลและองค์กรที่ลี้ภัยคุกคามจากรัฐบาลทหารพม่ามาตั้งแต่การรัฐประหารในปี 2021 นอกจากนี้ยังสร้างความกังวลในวงกว้างเกี่ยวกับแนวโน้มการก้าวไปสู่ระบอบเผด็จการในภูมิภาคอีกด้วย
ข้อเสนอแนะ (Recommendations )
Human Rights Myanmar ขอเรียกร้องให้ทางการไทยถอนร่างกฎหมายที่เสนอออก แต่หากยังมีความจำเป็นต้องดำเนินการต่อไป เรามีข้อเสนอแนะให้ดังต่อไปนี้
1.อนุญาตให้องค์กรที่ไม่ได้จดทะเบียนสามารถดำเนินการต่อไปได้โดยไม่ต้องรับโทษ
2.นำบทบัญญัติที่คลุมเครือและบทลงโทษทางอาญาออกไป เพื่อป้องกันการนำไปใช้ในทางที่ผิด
3.ยกเลิกข้อกำหนดเรื่องสัญชาติสำหรับสมาชิกและแกนนำองค์กร
4.ปกป้องการปกปิดตัวตน เมื่อจำเป็นเพื่อรักษาความปลอดภัย
5.ผ่อนปรนข้อจำกัดเกี่ยวกับการเงินจากต่างประเทศ
_____________________________________________________________________
กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย จัดทำร่างพ.ร.บ.สมาคมและมูลนิธิขึ้น และเปิดรับฟังความคิดเห็นไปแล้ว ระหว่างวันที่ 28 ตุลาคม 2567 ถึง 26 พฤศจิกายน 2567 ผ่านทางเว็บไซต์ระบบกลางทางกฎหมาย ซึ่งในร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวมีมาตราที่น่าสนใจ และ Human Rights Myanmar หยิบยกขึึ้นมาพูดถึง ดังนี้
มาตรา 8 สมาคมหรือมูลนิธิอาจมีรายได้ เช่น รายได้จากการบริจาค รายได้จากการจัดงาน การกุศล รายได้จากการเรี่ยไร หรือรายได้ในลักษณะอื่น เพื่อดำเนินกิจการของสมาคมได้ แต่จะนำรายได้มาแบ่งปันกันมิได้
กรณีได้รับเงินอุดหนุนหรือเงินบริจาคจากองค์กร หน่วยงานหรือเอกชนต่างประเทศ เกินจำนวนที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดจะต้องรายงานต่อนายทะเบียนภายในสิบห้าวันนับแต่วันได้รับเงิน อุดหนุนหรือเงินบริจาคนั้น
มาตรา 14 เมื่อนายทะเบียนเห็นว่าคำขอและข้อบังคับถูกต้อง และวัตถุประสงค์ไม่ขัดต่อกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือไม่เป็นภยันตรายต่อความสงบสุขของประชาชนหรือความมั่นคงของรัฐ และรายการซึ่งจดแจ้งในคำขอหรือข้อบังคับสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ และผู้จะเป็นกรรมการนั้น มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 17 ตลอดจนมีฐานะและความประพฤติเหมาะสมในการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของสมาคม ให้นายทะเบียนรับจดทะเบียนและออกใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนให้แก่สมาคมนั้น และประกาศการจัดตั้งในราชกิจจานุเบกษา
มาตรา 15 สมาคมต้องใช้ชื่อซึ่งมีคำว่า “สมาคม” ประกอบกับชื่อของสมาคมให้สมาคมจัดให้มีป้ายชื่อติดไว้หน้าหรือสถานที่ซึ่งเห็นได้ชัดของสำนักงานใหญ่ และสำนักงาน สาขาของสมาคม และต้องเป็นอักษรไทยที่มองเห็นได้ชัดเจน จะมีอักษรต่างประเทศกำกับไว้ท้ายหรือใต้ชื่อ อักษรไทยด้วยก็ได้ แต่จะต้องมีความหมายสอดคล้องกัน และให้แสดงใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งไว้ ณสำนักงานในที่เปิดเผยซึ่งอาจเห็นได้ง่าย สมาคมใดมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วนตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้นายทะเบียนมีคำสั่งให้
ผู้ขอจดทะเบียนแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องภายในระยะเวลาที่นายทะเบียนกำหนด หากไม่แก้ไขให้ถูกต้องให้นายทะเบียนมีอำนาจสั่งให้เลิกสมาคมได้
กรรมการไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งหรือสมาชิกของสมาคมจำนวนไม่น้อยกว่าสิบคน มีสิทธิอุทธรณ์
คำสั่งของนายทะเบียนตามวรรคหนึ่งต่อคณะกรรมการได้ โดยทำเป็นหนังสือยื่นต่อนายทะเบียนภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง
มาตรา 17 ผู้จะเป็นกรรมการของสมาคมต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้
(1) อายุยี่สิบปีบริบูรณ์ นับถึงวันที่ยื่นคำขอ
(2) มีภูมิลำเนาและถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรไทย
(3) ไม่เป็นคนวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ หรือคนไร้สามารถ
(4) ไม่เป็นผู้เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ พ้นโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี หรือเป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
(5) ไม่เป็นผู้มีพฤติกรรมเสื่อมเสียหรือไม่เหมาะสมที่ขัดหรือแย้งกับวัตถุประสงค์ของสมาคมหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าอาจเป็นภัยต่อเศรษฐกิจ ความมั่นคงของประเทศ หรือต่อความสงบเรียบร้อยหรือ ศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเป็นปรปักษ์กับการปกครองในระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
(6) ไม่เคยถูกนายทะเบียนสั่งให้พ้นจากตำแหน่งกรรมการสมาคมตามมาตรา 25 เว้นแต่จะพ้นกำหนดห้าปีนับแต่วันที่ถูกสั่งให้พ้นจากตำแหน่ง
มาตรา 18 การแต่งตั้งกรรมการของสมาคมขึ้นใหม่ทั้งชุดหรือการเปลี่ยนแปลงกรรมการของสมาคม ให้กระทำตามข้อบังคับของสมาคม และต้องนำไปจดทะเบียนต่อนายทะเบียนแห่งท้องที่ที่สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีการแต่งตั้งหรือเปลี่ยนแปลงกรรมการของสมาคม หรือมูลนิธิ
กรรมการตามวรรคหนึ่งต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทยไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการของสมาคมทั้งหมด ในระหว่างที่ยังไม่มีการจดทะเบียนกรรมการชุดใหม่ ถ้าข้อบังคับของสมาคมมิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ให้กรรมการชุดเดิมปฏิบัติหน้าที่กรรมการต่อไปจนกว่าจะได้มีการจดทะเบียนกรรมการชุดใหม่
กรณีสมาคมไม่มาจดทะเบียนแต่งตั้งกรรมการขึ้นใหม่ทั้งชุดหรือการเปลี่ยนแปลงกรรมการ ภายในกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง นายทะเบียนมีอำนาจเรียกให้สมาคม หรือบุคคลที่มีหน้าที่ยื่นคำขอมาจดทะเบียนภายในเวลาที่กำหนด หากไม่มาให้ถือว่าบุคคลนั้นหรือกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้ง ไม่สมัครใจจะเป็นกรรมการต่อไป และให้นายทะเบียนมีคำสั่งจดทะเบียนแต่งตั้งกรรมการขึ้นใหม่ทั้งชุดหรือการเปลี่ยนแปลงกรรมการเท่าที่มีอยู่ เว้นแต่ คณะกรรมการที่เหลือมีจำนวนน้อยกว่าที่กำหนดในข้อบังคับของสมาคม ให้นายทะเบียนมีอำนาจสั่งให้เรียกประชุมใหญ่เพื่อมีมติเลือกคณะกรรมการใหม่ให้ครบจำนวนหากไม่อาจเลือกให้ครบจำนวนตามกำหนดในข้อบังคับหรือไม่อาจมีมติได้ ให้นายทะเบียนมีอำนาจสั่งให้เลิกสมาคมได้ กรรมการไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งหรือสมาชิกของสมาคมจำนวนไม่น้อยกว่าสิบคน มีสิทธิอุทธรณ์ คำสั่งของนายทะเบียนตามวรรคหนึ่งต่อคณะกรรมการได้ โดยทำเป็นหนังสือยื่นต่อนายทะเบียนภายในสามสิบ วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง
มาตรา 24 ให้สมาคมจัดทำรายงานประจำปีแสดงผลการดำเนินการ เสนอต่อที่ประชุมใหญ่ในคราวที่เสนองบดุล และให้ส่งสำเนารายงานการประชุมกับสำเนางบดุลในรายปีที่ผ่านมาซึ่งผู้ชำระบัญชีที่รับอนุญาตได้รับรองความถูกต้องแล้วไปยังนายทะเบียนภายในกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่มีการประชุมใหญ่การส่งสำเนารายงานการประชุมกับสำเนางบดุลต่อนายทะเบียน อาจยื่นส่งทางระบบรับส่งอิเล็กทรอนิกส์ได้ตลอดเวลาที่ระบบรับส่งอิเล็กทรอนิกส์เปิดใช้งาน โดยชำระค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายตามที่นายทะเบียนประกาศกำหนด การยื่นสำเนารายงานการประชุมและ/หรือสำเนางบดุลทางระบบหากกระทำเสร็จสมบูรณ์ นอกเวลาทำการปกติหรือนอกวันทำการปกติราชการ ให้ถือว่าเป็นการยื่นในเวลาแรกหรือวันทำการแรกที่เปิดทำการปกติถัดไปทั้งนี้ ให้ถือตามเวลาของระบบ รายงานการประชุมและเอกสารประกอบการชุม ให้เก็บรักษาไว้ไม่น้อยกว่าหนึ่งปี
มาตรา 49 เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ ให้นายทะเบียนและพนักงานเจ้าหน้าที่มีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้
(1) เข้าไปในอาคาร สถานที่ หรือบริเวณที่ทำการสมาคมหรือมูลนิธิ ในระหว่างพระอาทิตย์ขึ้น จนถึงพระอาทิตย์ตก เพื่อตรวจสอบสถานที่ ใบอนุญาต วิธีการจัดให้มีสมาคมหรือมูลนิธิหรือดำเนินกิจการสมาคมและมูลนิธิ ข้อมูล เอกสาร หรือหลักฐานการรับเงิน หรือทรัพย์สิน เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการจัดให้มีหรือดำเนินกิจการสมาคมและมูลนิธิโดยมิชอบ หากมีเหตุจำเป็นต้องดำเนินการต่อเนื่องไปถึงเวลากลางคืน ถ้าปล่อยเนิ่นช้าไปเอกสารและหลักฐานอื่นอาจถูกทำลายหรือยักย้ายได้ ให้กระทำได้ แต่ผู้ที่เป็น หัวหน้าการตรวจสอบจะต้องเป็นข้าราชการตั้งแต่ระดับชำนาญการหรือเทียบเท่าขึ้นไป
(2) จับกุมผู้กระทำความผิดซึ่งหน้า ซึ่งเป็นความผิดตามที่บัญญัติไว้ตามพระราชบัญญัตินี้
(3) ร้องทุกข์หรือกล่าวโทษต่อพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจ หรือพนักงานสอบสวน เพื่อให้ ดำเนินคดีกับบุคคลที่กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้
(4) มีหนังสือเรียกผู้ยื่นคำขออนุญาตจัดตั้งหรือดำเนินกิจการสมาคมและมูลนิธิ หรือบุคคลใดมาให้ถ้อยคำ หรือชี้แจง หรือส่งเอกสาร หรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณา กรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่า มีการกระทำผิด หรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้
(5) มีคำสั่งเป็นหนังสือให้กรรมการ พนักงาน ลูกจ้าง ตัวแทน หรือบุคคลใดที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินกิจการของสมาคมหรือมูลนิธิ ชี้แจงแสดงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกิจการของสมาคมหรือมูลนิธิ หรือเรียกบุคคล ดังกล่าวมาสอบถาม หรือให้ส่งหรือแสดงสมุดบัญชีและเอกสารต่าง ๆ ของสมาคมหรือมูลนิธิเพื่อตรวจสอบ
(6) ปฏิบัติหน้าที่ตามที่คณะกรรมการ หรือนายทะเบียนมอบหมายในการปฏิบัติหน้าที่ตาม (1) ผู้ได้รับอนุญาตหรือผู้ครอบครองสถานที่ ต้องอำนวยความสะดวกให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามสมควรในการปฏิบัติหน้าที่ตาม (2) ให้เป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในการดำเนินการตาม (4) และ (5) พนักงานเจ้าหน้าที่จะดำเนินการได้ต้องได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียน ]
มาตรา 51 สมาคมใด หรือมูลนิธิใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา๖ หรือผู้ใดใช้คำว่า สมาคม หรือมูลนิธิ หรือคำภาษาต่างประเทศซึ่งมีความหมายเดียวกัน ประกอบกับชื่อ ในดวงตรา ป้ายชื่อ จดหมาย ใบแจ้งความหรือเอกสารอย่างอื่นเกี่ยวกับการดำเนินกิจการโดยมิได้เป็นสมาคมหรือมูลนิธิที่ได้จดทะเบียนตามพระราชบัญญัตินี้ หรือที่ได้จดทะเบียนตามกฎหมายต่างประเทศไว้ เว้นแต่เป็นการใช้ประกอบการยื่นขอจดทะเบียนเกี่ยวกับการ ตั้งสมาคมหรือมูลนิธิ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าหมื่นถึงหนึ่งแสนบาท