เส้นทางเหลื่อมล้ำของการสอบเป็นผู้พิพากษา – อัยการ

judge and prosecutor examination
judge and prosecutor examination

อาชีพผู้พิพากษาและพนักงานอัยการเป็นฟันเฟืองที่สำคัญในกระบวนการยุติธรรม คนที่นั่งในตำแหน่งเหล่านี้ ได้รับการยอมรับว่า เป็นผู้มีความรู้และความเชี่ยวชาญทางกฎหมาย อีกทั้งยังต้องเป็นผู้ที่มีความขยันหมั่นเพียรอย่างสูง เพราะการที่จะเข้าไปดำรงตำแหน่งในวงการยุติธรรมได้นั้น บุคคลเหล่านี้ต้องผ่านสนาม “สอบ” คัดเลือกที่เข้มข้น        

“ความขยันหมั่นเพียร” เป็นกุญแจชิ้นสำคัญที่ผู้ที่เลือกก้าวเดินในเส้นทางนี้ต้องมีด้วยกันทุกคน จึงไม่แปลกที่เรื่องราวเกี่ยวกับความสำเร็จของสามัญชนที่สามารถไต่ “บันไดชีวิต” สู่อาชีพในกระบวนการยุติธรรม จะถูกผลิตซ้ำอยู่เสมอในช่วงใกล้สอบผู้พิพากษาหรืออัยการ ตลอดจนวาทกรรมที่ว่า “ใครๆ ก็เป็นผู้พิพากษาหรืออัยการได้ หากมีใจรักความยุติธรรมและความขยันอดทนเป็นที่ตั้ง” นอกจากนี้ การได้รับการยอมรับนับถือจากสังคม ตลอดจนผลตอบแทนที่สูงกว่าข้าราชการอื่นๆ ก็มีส่วนผลักดันให้อาชีพผู้พิพากษาหรืออัยการเป็นความฝันสูงสุดของผู้ศึกษากฎหมายหลายคนด้วย

อย่างไรก็ตาม ระบบการสอบคัดเลือกผู้พิพากษาและอัยการในประเทศไทยซึ่งแบ่งการสอบออกเป็นสามประเภท ตามวุฒิการศึกษา ประกอบกับคุณสมบัติผู้เข้าสอบและสถิติผู้สอบผ่านในแต่ละสนามที่แตกต่างกันกลับทำให้เกิดคำถามสำคัญว่า แท้จริงแล้ว โอกาสที่คนธรรมดาจะดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาหรืออัยการในประเทศไทยมีมากน้อยเท่าใด เพียงความรู้ความสามาร ความขยัน และใจรักความเป็นธรรมจะเป็นปัจจัยที่เพียงพอให้เดินไปถึงอาชีพนั้นได้จริงหรือไม่ และท้ายที่สุด เมื่อผู้ดำรงตำแหน่งในสถาบันตุลาการ หนึ่งในอำนาจอธิปไตย ล้วนมีที่มาจากระบบการคัดเลือกเช่นนี้จะยึดโยงกับประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยอย่างไร

เส้นทางการสอบผู้พิพากษา – อัยการ แยกสนามสอบตาม “วุฒิการศึกษา”

การก้าวเข้าสู่ตำแหน่งผู้พิพากษาในประเทศไทยเริ่มต้นจากการสอบบรรจุราชการเข้าเป็น “ผู้ช่วยผู้พิพากษา” เพื่อฝึกหัดก่อนการไปปฏับัติหน้าที่แบบเต็มตัว โดยการคัดเลือกผู้พิพากษาศาลยุติธรรมมี พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ.2543 (พ.ร.บ.ตุลาการศาลยุติธรรมฯ) เป็นหลักเกณฑ์กลาง และมีระเบียบคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมว่าด้วยการสมัคร การสอบคัดเลือก และการทดสอบความรู้ เพื่อบรรจุเป็นข้าราชการตุลาการ ในตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษา พ.ศ.2558 (ระเบียบการสอบฯ) และระเบียบก.ต.ว่าด้วยการสมัคร การสอบคัดเลือก และการทดสอบความรู้ฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 กำหนดคุณสมบัติและรายละเอียดของผู้ที่จะสอบเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษา โดยผู้เข้าสอบต้องมีคุณสมบัติตามที่พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม มาตรา 26 กำหนด ดังนี้

1) เป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทยโดยการเกิด

2) ผู้ที่สอบคัดเลือกหรือทดสอบความรู้ ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปีบริบูรณ์ แต่ถ้าเป็นกรณีเข้ารับการคัดเลือกพิเศษ ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปีบริบูรณ์

3) เลื่อมใสในการปกครองระบอบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญด้วยความบริสุทธิ์ใจ

4) เป็นสามัญสมาชิกแห่งเนติบัณฑิตยสภา

5)  ไม่เป็นผู้มีความประพฤติเสื่อมเสียหรือบกพร่องในศีลธรรมอันดี

6) ไม่เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว

7) ไม่เป็นผู้อยู่ระหว่างถูกสั่งให้พักราชการหรือถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน

8) ไม่เป็นผู้เคยถูกลงโทษไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ รัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นของรัฐ

9) ไม่เป็นผู้เคยต้องรับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

10) ไม่เป็นคนไร้ความสามารถ คนเสมือนไร้ความสามารถ คนวิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ หรือเป็นโรคที่ระบุไว้ในระเบียบของ ก.ต.

11) เป็นผู้ที่ผ่านการตรวจร่างกายและจิตใจโดยคณะกรรมการแพทย์

แม้กฎหมายจะกำหนดคุณสมบัติในเบื้องต้นไว้ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ แต่สิ่งที่แตกต่างกันในการแบ่งผู้สมัครสอบคือการกำหนด “วุฒิการศึกษา” โดยสามารถแบ่งการสอบแข่งขันออกเป็นสามประเภทตามคุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครสอบ ดังนี้

ประเภทที่ 1 การสอบคัดเลือก “สนามใหญ่” สำหรับวุฒิป.ตรี

พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม มาตรา 27 กำหนดคุณวุฒิของผู้สมัครสอบสนามใหญ่ไว้ว่า

1) ต้องเป็นนิติศาสตรบัณฑิต กล่าวคือ จบการศึกษาระดับปริญญาตรี หรือสอบไล่ได้ปริญญาหรือประกาศนียบัตรทางกฎหมายจากต่างประเทศ ซึ่ง ก.ต. เทียบไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี

2) สอบไล่ได้ตามหลักสูตรของสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา (สอบผ่านเนติฯ)

3) ประกอบวิชาชีพทางกฎหมาย เช่น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เจ้าพนักงานบังคับคดี หรือพนักงานคุมประพฤติของศาลยุติธรรม พนักงานอัยการ ทนายความ หรืออาชีพอื่นที่เกี่ยวกับกฎหมายตามที่ก.ต. กำหนด เป็นเวลาไม่น้อยกว่าสองปี

ประเภทที่ 2 การทดสอบความรู้ “สนามเล็ก” และ “สนามจิ๋ว”

สำหรับประเภทการทดสอบความรู้ สามารถแบ่งออกได้เป็นอีกสองรูปแบบ โดยผู้สอบทุกประเภทต้องสอบผ่านเนติฯ และมีประสบการณ์ทำงานด้านกฎหมายหนึ่งปี พร้อมกับวุฒิการศึกษา ดังนี้

รูปแบบแรก ผู้ที่จะทดสอบความรู้ในรูปแบบ “สนามเล็ก” ต้องมีคุณวุฒิอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้

๐ สอบไล่ได้ปริญญาโททางกฎหมายจากมหาวิทยาลัยในประเทศไทย ซึ่ง ก.ต. รับรอง และได้ประกอบวิชาชีพทางด้านกฎหมายเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งปี ตามมาตรา 28 (2) (ค) 

๐ เป็นนิติศาสตรบัณฑิตชั้นเกียรตินิยม และได้ประกอบวิชาชีพเป็นอาจารย์ในคณะนิติศาสตร์ในมหาวิทยาลัยของรัฐเป็นเวลาไม่น้อยกว่าห้าปี ตามมาตรา 28 (2) (ง)

๐ เป็นนิติศาสตรบัณฑิตและเป็นข้าราชการศาลยุติธรรมที่ได้ประกอบวิชาชีพทางกฎหมายในตำแหน่งตามที่ ก.ต. กำหนดเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหกปี และเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมรับรองว่ามีความซื่อสัตย์สุจริต มีความรู้ความสามารถดีและมีความประพฤติดีเป็นที่ไว้วางใจว่าจะปฏิบัติหน้าที่ข้าราชการตุลาการได้ ตามมาตรา 28 (2) (จ)

๐ สอบไล่ได้ปริญญาโทหรือปริญญาเอกในสาขาวิชาอื่นๆ ที่ ก.ต. กำหนด ซึ่งในระเบียบก.ต.ว่าด้วยการสมัคร การสอบคัดเลือก และการทดสอบความรู้ฯ ก็ได้กำหนดไว้หลายสาขาวิชา โดยมีทั้งสาขาวิชาในกลุ่มคณะสายวิทยาศาสตร์ เช่น แพทยศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ เภสัชศาสตร์ สัตวแพทยศาสตร์ และสาขาวิชาในกลุ่มสายสังคมศาสตร์ คือ สาขาบัญชี และต้องเป็นเป็นนิติศาสตรบัณฑิต ซึ่งได้ประกอบวิชาชีพทางด้านกฎหมาย หรือได้ประกอบวิชาชีพอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสาขาข้างต้นเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสามปี ตามมาตรา 28 (2) (ฉ) 

๐ สอบไล่ได้ปริญญาตรีในสาขาประเภทเดียวกันกับกรณีข้างต้นตามมาตรา 28 (2) (ฉ) และได้ประกอบวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับสาขาดังกล่าวเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 10 ปี จนมีความรู้ความเชี่ยวชาญในวิชาชีพนั้น และเป็นนิติศาสตรบัณฑิต ตามมาตรา 28 (2) (ช) กรณีนี้เป็นกรณีที่เป็นผู้จบสาขาวิชาในกลุ่มเดียวกับกรณีตามมาตรา 28 (2) (ฉ) แต่มีคุณวุฒิต่ำกว่า คือ ระดับปริญญาตรีเท่านั้น จึงกำหนดระยะเวลาประกอบวิชาชีพยาวถึง 10 ปี และต้องจบปริญญาตรีด้านนิติศาสตร์ด้วย หรืออาจอธิบายได้ว่าผู้ที่จะสอบในกรณีนี้อย่างน้อยต้องจบปริญญาตรีสองใบ สาขานิติศาสตร์ และสาขาอื่นตามที่ก.ต. กำหนด

สรุปความได้ว่า ผู้สมัครสอบ “สนามเล็ก” ต้องจบปริญญาโทกฎหมาย หรือเป็นอาจารย์ในคณะนิติศาสตร์ 5 ปี หรือเป็นข้าราชการทำงานในศาล 6 ปี หรือมีปริญญาและมีประสบการณ์ในการประกอบวิชาชีพอื่นๆ ประกอบด้วย เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในศาสตร์อื่นเข้ามาร่วมตัดสินคดีที่อาจต้องอาศัยความรู้นอกเหนือจากกฎหมายด้วย และหากมีคุณสมบัติที่จะสมัครสอบ “สนามจิ๋ว” ก็สามารถสอบ “สนามเล็ก” ได้ด้วย

รูปแบบที่สอง สำหรับผู้สมัครในรูปแบบ “สนามจิ๋ว” ต้องเป็นผู้มีคุณวุฒิในกรณีใดกรณีหนึ่ง ดังต่อไปนี้

๐ มีคุณวุฒิตามมาตรา 28 (2) (ก) สอบไล่ได้ปริญญาหรือประกาศนียบัตรทางกฎหมายจากต่างประเทศ โดยมีหลักสูตรเดียวไม่น้อยกว่าสามปี ซึ่ง ก.ต. เทียบไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือสอบไล่ได้ปริญญาเอกทางกฎหมายจากมหาวิทยาลัยในประเทศไทย ซึ่ง ก.ต. รับรอง

๐ มีคุณวุฒิตามมาตรา 28 (2) (ข) คือ สอบไล่ได้ปริญญาหรือประกาศนียบัตรทางกฎหมายจากต่างประเทศ โดยมีหลักสูตรเดียวไม่น้อยกว่าสองปีหรือหลายหลักสูตรรวมกันไม่น้อยกว่าสองปี ซึ่ง ก.ต. เทียบไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี และได้ประกอบวิชาชีพทางกฎหมายเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งปี

สรุปความได้ว่า ผู้สมัครสอบ “สนามจิ๋ว” ต้องจบปริญญาโทกฎหมายจากต่างประเทศที่เรียนไม่น้อยกว่า 3 ปี หรือจบปริญญาเอกกฎหมายในประเทศไทย หรือถ้าจบปริญญาโทกฎหมายจากต่างประเทศที่เรียน 2 ปี ก็ต้องมีประสบการณ์ทำงานอีก 1 ปีประกอบกัน

ประเภทที่ 3 การคัดเลือกพิเศษ

นอกจากการสอบสองประเภทข้างต้น พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ยังได้กำหนดอีกช่องทางหนึ่งในการเข้าสู่วิชาชีพผู้พิพากษา คือ “การคัดเลือกพิเศษ” โดยผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกพิเศษ ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบห้าปีบริบูรณ์ และมีคุณสมบัติ ดังนี้

1) สอบไล่ได้ตามหลักสูตรของสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา

2) เป็นผู้มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ดีเด่นในสาขาวิชากฎหมายตามที่ ก.ต. กำหนด

3) เป็นผู้มีความซื่อสัตย์สุจริต มีบุคลิกภาพ มีความประพฤติ และทัศนคติที่เหมาะสมแก่การปฏิบัติหน้าที่ข้าราชการตุลาการ

นอกจากคุณสมบัติข้างต้น ผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกพิเศษ ต้องมีคุณวุฒิอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้

๐ เป็นหรือเคยเป็นศาสตราจารย์หรือรองศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัยของรัฐ

๐ เป็นหรือเคยเป็นอาจารย์ในคณะนิติศาสตร์ในมหาวิทยาลัยของรัฐเป็นเวลาไม่น้อยกว่าห้าปี

๐ เป็นหรือเคยเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญหรือข้าราชการประเภทอื่นในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้อำนวยการกองหรือเทียบเท่าขึ้นไป

๐ เป็นหรือเคยเป็นทนายความมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 10 ปี

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันยังไม่ปรากฏว่ามีการเปิดสอบผู้ช่วยผู้พิพากษาประเภทนี้

สำหรับเส้นทางการประกอบวิชาชีพอัยการ ก็เป็นไปในทำนองเดียวกันกับการเป็นผู้พิพากษา การดำรงตำแหน่งข้าราชการอัยการก็ต้องเริ่มจากการเป็นอัยการผู้ช่วยก่อน ซึ่งระบบการสอบคัดเลือกอัยการอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์กลางตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ.2553 (พ.ร.บ.ระเบียบอัยการฯ)

พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ มาตรา 49 กำหนดคุณสมบัติพื้นฐานของผู้มีสิทธิสมัครสอบอัยการผู้ช่วยทุกประเภท ไว้ในทำนองเดียวกันกับการสอบผู้ช่วยผู้พิพากษา คือ ต้องเป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทยโดยการเกิด มีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปีบริบูรณ์ แต่ถ้าเป็นผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกพิเศษต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปี เลื่อมใสในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นสามัญสมาชิกแห่งเนติบัณฑิตยสภา (สอบผ่านเนติฯ) มีความซื่อสัตย์สุจริต และผ่านการตรวจร่างกายและจิตใจตามที่คณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) กำหนดและเห็นสมควรรับสมัครได้ อีกทั้งต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมาย

โดยการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุเป็นอัยการผู้ช่วยมี 3 ประเภท ดังนี้

ประเภทที่ 1 การสอบ “สนามใหญ่” หรือการสอบคัดเลือก

พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ มาตรา 50 กำหนดคุณวุฒิของผู้สมัครไว้ว่าต้องเป็นนิติศาสตรบัณฑิต สอบผ่านเนติฯ และได้ประกอบวิชาชีพทางกฎหมายตามที่กฎหมายกำหนด หรือตามที่ ก.อ. กำหนดเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสองปี ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ที่ไม่แตกต่างจากการสอบผู้ช่วยผู้พิพากษาอย่างมีนัยสำคัญ

ประเภทที่ 2 การทดสอบความรู้ “สนามเล็ก” และ “สนามจิ๋ว”

สำหรับประเภทนี้ สามารถแบ่งออกได้เป็นสองรูปแบบ ทำนองเดียวกันกับการสอบผู้ช่วยผู้พิพากษา โดยผู้สอบทุกประเภทต้องสอบผ่านเนติฯ 

รูปแบบแรก ผู้ที่จะทดสอบความรู้ในรูปแบบ “สนามเล็ก” ต้องมีคุณวุฒิอย่างใดอย่างหนึ่ง ตามมาตรา 51 ซึ่งพ.ร.บ.ระเบียบอัยการฯ กำหนดหลักเกณฑ์ไว้แทบไม่แตกต่างจากหลักเกณฑ์การสอบผู้ช่วยผู้พิพากษาตามพ.ร.บ.ตุลาการศาลยุติธรรมฯ โดยส่วนที่แตกต่างออกไปบ้าง เช่น มาตรา 51 (2) (ค) กำหนดให้ผู้ที่สอบผ่านเนติฯ ด้วยเกียรตินิยม ซึ่งมีน้อยมากหรือบางปีไม่มีเลย สามารถเข้าสอบสนามเล็กได้ ซึ่งการสอบผู้ช่วยผู้พิพากษาไม่ให้โอกาสคุณสมบัตินี้

รูปแบบที่สอง ผู้ที่จะทดสอบความรู้ในรูปแบบ “สนามจิ๋ว” ต้องมีคุณสมบัติตามมาตรา 51 (2) (ก) คือ เป็นผู้สำเร็จการศึกษาในทางกฎหมายหลักสูตรเดียวไม่น้อยกว่าสามปีจากต่างประเทศ ซึ่ง ก.อ. เทียบไม่ต่ำกว่าระดับปริญญาตรี หรือสอบไล่ได้ปริญญาเอกทางกฎหมายจากมหาวิทยาลัยในประเทศไทย ซึ่ง ก.อ. รับรอง หรือ มีคุณวุฒิตามมาตรา 51 (2) (ข) คือ เป็นผู้สำเร็จการศึกษาในทางกฎหมายหลักสูตรเดียวหรือหลายหลักสูตรรวมกันไม่น้อยกว่าสองปีจากต่างประเทศ ซึ่ง ก.ต. เทียบไม่ต่ำกว่าระดับปริญญาตรี และได้ประกอบวิชาชีพทางด้านกฎหมายไม่น้อยกว่าหนึ่งปี ซึ่งก็เป็นการกำหนดทำนองเดียวกับการสอบผู้ช่วยผู้พิพากษา

ประเภทที่ 3 การคัดเลือกพิเศษ

พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ.2553 มาตรา 49 กำหนดให้ผู้สมัครต้องมีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบห้าปีบริบูรณ์ และมาตรา 52 กำหนดให้บุคคลดังกล่าวต้องมีประสบการณ์ในการเป็นหรือเคยเป็นศาสตราจารย์หรือรองศาสตราจารย์ในสถาบันอุดมศึกษา ซึ่ง ก.อ. รับรอง เป็นหรือเคยเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ หรือข้าราชการประเภทอื่นในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้อำนวยการกองหรือเทียบเท่าขึ้นไป หรือเป็นหรือเคยเป็นทนายความมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 10 ด้วย ซึ่งก็ยังไม่เคยปรากฏว่ามีการเปิดสอบอัยการผู้ช่วยประเภทนี้

ทั้งนี้ ในการสอบผู้ช่วยผู้พิพากษา ผู้ที่มีคุณวุฒิตรงตามที่กฎหมายกำหนดมากกว่าหนึ่งสนาม ก็สามารถสอบได้มากกว่าหนึ่งสนาม ตัวอย่างเช่น ผู้ที่จบปริญญาโทในประเทศไทย ก็สามารถใช้คุณวุฒิปริญญาตรีสำหรับสอบสนามใหญ่ และใช้คุณวุฒิปริญญาโทสำหรับสอบสนามเล็กได้ ส่วนกรณีของผู้ที่จบปริญญาโทจากต่างประเทศ ก็สามารถใช้คุณวุฒิปริญญาตรีสอบสนามใหญ่ และใช้วุฒิปริญญาโทสอบสนามเล็กหรือสนามจิ๋วได้

จะเห็นได้ว่า หลักเกณฑ์คุณสมบัติและคุณวุฒิของผู้ที่จะมาประกอบวิชาชีพ “ผู้พิพากษา” และ “อัยการ” ไม่ได้แตกต่างกันในสาระสำคัญ โดยยึดหลักเกณฑ์เดียวกันราวกับเป็นวิชาชีพเดียวกัน หรือเรียกได้ว่า สร้างเส้นทางเดินให้กับคนที่เรียนจบกฎหมายต้องเดินไม่ต่างกัน

สนามใหญ่เน้นสอบวิชากฎหมาย 270 คะแนน

ขณะที่สนามจิ๋วใช้คะแนนวิชากฎหมาย 110 คะแนน

นอกจากการแบ่งสนามสอบตามคุณวุฒิที่แตกต่างกันของผู้สมัครแล้ว สนามสอบแต่ละประเภทยังกำหนดสัดส่วนข้อสอบและคะแนนสอบที่แตกต่างกัน โดยที่กำหนดเหมือนกับทั้งสนามของคนที่จะเป็นผู้พิพากษาและอัยการ

การสอบผู้ช่วยผู้พิพากษาเป็นไปตามระเบียบก.ต.ว่าด้วยการสมัคร การสอบคัดเลือก และการทดสอบความรู้ฯ ส่วนกรณีการสอบอัยการผู้ช่วยมีระเบียบคณะกรรมการอัยการว่าด้วยการสอบคัดเลือกเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการอัยการและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอัยการผู้ช่วย สามฉบับ กำหนดรายละเอียดการสอบอัยการผู้ช่วยแบ่งตามการสอบอัยการผู้ช่วยสนามใหญ่สนามเล็ก และสนามจิ๋ว ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

๐ ข้อสอบผู้ช่วยผู้พิพากษาและอัยการผู้ช่วย “สนามใหญ่” มีข้อสอบวิชากฎหมายจำนวน 27 ข้อ รวม 270 คะแนน และวิชาภาษาอังกฤษ 10 คะแนน

๐ ข้อสอบผู้ช่วยผู้พิพากษาและอัยการผู้ช่วย “สนามเล็ก” มีข้อสอบวิชากฎหมายจำนวน 15 ข้อ รวม 150 คะแนน และวิชาภาษาอังกฤษจำนวน 2 ข้อ คะแนนเต็ม 20 คะแนน

ทั้งนี้ สำหรับการสอบผู้ช่วยผู้พิพากษา ในส่วนของข้อสอบหนึ่งข้อจาก 15 ข้อของวิชากฎหมายทั้งหมด ให้ผู้สอบเลือกสอบวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญหรือภาษาอังกฤษก็ได้หนึ่งข้อด้วย ส่วนกรณีการสอบอัยการผู้ช่วย ให้เลือกตอบระหว่างวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญหรือวิชากฎหมายปกครอง ดังนั้น ในระบบของสนามเล็กวิชารัฐธรรมนูญจึงไม่ได้เป็นวิชาบังคับที่ต้องสอบเหมือนกรณีของสนามใหญ่ 

๐ ข้อสอบผู้ช่วยผู้พิพากษาและอัยการผู้ช่วย “สนามจิ๋ว” มีข้อสอบวิชากฎหมายจำนวน 11 ข้อ รวม 110 คะแนน และวิชาภาษาอังกฤษจำนวนสามข้อ คะแนนเต็ม 60 คะแนน

คะแนนสอบผู้ช่วยผู้พิพากษาและอัยการผู้ช่วย แบ่งตามสนามสอบ
 สนามใหญ่สนามเล็กสนามจิ๋ว
วิชากฎหมาย270 คะแนน150 คะแนน110 คะแนน
วิชาภาษาอังกฤษ10 คะแนน20 คะแนน60 คะแนน

จะเห็นได้ว่า การสอบประเภทสนามจิ๋วให้น้ำหนักกับการสอบภาษามากกว่าการสอบประเภทอื่นๆ และมีสัดส่วนข้อสอบและสัดส่วนคะแนนวิชากฎหมายน้อยกว่า ในขณะที่ข้อสอบของสนามใหญ่ให้ความสำคัญกับการสอบวิชากฎหมายมากที่สุด 

ผู้ที่ “สอบผ่าน” และมีสิทธิเข้าสอบปากเปล่าต่อไป จะต้องได้คะแนนสอบข้อเขียนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ของคะแนนสอบทั้งหมด โดยเป็นระบบที่ผู้เข้าสอบต้องพยายามทำคะแนนให้ถึงเกณฑ์เท่านั้น ไม่ต้องแข่งขันกับผู้สมัครคนอื่น

เปิดสถิติการสอบผู้พิพากษา – อัยการ สนามจิ๋วมีโอกาสสอบติดมากกว่า 10 เท่า

จากการสำรวจสถิติการสอบผู้ช่วยผู้พิพากษาและอัยการผู้ช่วยโดยข้อมูลจากทางเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการศาลยุติธรรม จากเฟซบุ๊กแฟนเพจสอบผู้ช่วยผู้พิพากษา และเพจเวิร์คไป สอบผู้พิพากษา อัยการ เนติบัณฑิตไป ซึ่งได้บันทึกภาพจากไฟล์ประกาศผลสอบไว้ และจากเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการอัยการ ในระยะเวลาห้าปีมานี้ แสดงให้เห็นว่าอัตราส่วนของ ‘ผู้สอบผ่านข้อเขียน’ ในแต่ละสนามแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด และเมื่อผ่านการสอบปากเปล่า แล้ว จำนวนจะลดลงจากผู้สอบผ่านข้อเขียนบ้าง อาจเพราะมีผู้สละสิทธิ์ หรือสอบปากเปล่าไม่ผ่าน 

ในการสอบ “สนามจิ๋ว” ซึ่งต้องการคุณสมบัติผู้สมัครสูงที่สุดมีผู้เข้าสอบเฉลี่ยประมาณ 300 คน แต่มีผู้สอบผ่านมากถึงร้อยละ 10 – 30 ในขณะที่การสอบสนามใหญ่ แม้จะมีผู้เข้าสอบมากกว่าสนามจิ๋วเกือบ 20 เท่า แต่กลับมีอัตราส่วนของผู้สอบผ่านข้อเขียน ‘น้อยมาก’ น้อยกว่าสนามจิ๋วถึง 10 เท่า ส่วนการสอบในสนามเล็กนั้น อาจจะมีสัดส่วนผู้ที่สอบผ่านมากกว่าสนามใหญ่อยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก ขณะที่การสอบผู้ช่วยผู้พิพากษาสนามใหญ่ในปี 2562 มีอัตราแข่งขันสูงถึง 1 : 37 แต่ในการสอบสนามจิ๋วมีอัตราการแข่งขันเพียงประมาณ 1 : 6 หรือในปี 2563 การสอบผู้ช่วยผู้พิพากษาสนามเล็กมีผู้สอบผ่านข้อเขียนเพียง 6 คนเท่านั้น ทำให้อัตราการแข่งขันพุ่งเป็น 1 : 526 ในขณะที่สนามจิ๋วมีอัตราการแข่งขันประมาณ 1 : 10 หรือแม้แต่ในการสอบอัยการผู้ช่วย ปี 2563 สำหรับสนามจิ๋ว ผู้ที่สอบผ่านข้อเขียนก็มีมากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้สมัครทั้งหมด 

โดยในการสอบผู้ช่วยผู้พิพากษานั้น ไม่มีการกำหนดอัตราจำนวนที่ต้องการ ผู้ใดที่สอบได้ตามหลักเกณฑ์ ก็มีโอกาสได้บรรจุเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษา ขณะที่การสอบอัยการผู้ช่วยบางปีจะมีการกำหนด “อัตราบรรจุ” เอาไว้ กล่าวคือ พิจารณาผู้สอบได้ตามหลักเกณฑ์ ประกอบกับจำนวนอัตรากำลังคนที่ต้องการประกอบกัน โดยจะประกาศผู้มีสิทธิบรรจุตามจำนวนที่กำหนดอัตราบรรจุไว้ แต่ถ้ามีผู้สละสิทธิ์ ก็จะประกาศเพิ่มเติมภายหลัง ในการย้อนดูสถิติการสอบ ไอลอว์จึงนับทั้งประกาศฉบับแรกและประกาศเพิ่มเติม เพื่อดูจำนวนของบุคคลที่มี “โอกาส” ที่จะได้เป็นผู้พิพากษา-อัยการ

สถิติการสอบผู้ช่วยผู้พิพากษา
ปีประเภทจำนวนผู้สมัคร (คน)ผู้สอบผ่านข้อเขียนผู้ผ่านการทดสอบทั้งหมด
   จำนวน (คน)เปอร์เซ็นต์จำนวน (คน)เปอร์เซ็นต์
2559สนามใหญ่7,1131702.39%1652.32%
สนามเล็ก3,421280.82%280.82%
2560สนามใหญ่7,014330.47%330.47%
สนามจิ๋ว34811633.33%11533.05%
2561สนามใหญ่6,4901141.76%1131.74%
สนามเล็ก3,082431.40%421.36%
สนามจิ๋ว2756122.18%6122.18%
2562สนามใหญ่6,3521712.69%1712.69%
สนามเล็ก3,2121625.04%1594.95%
สนามจิ๋ว2604517.31%4216.15%
2563สนามเล็ก3,15660.19%60.19%
สถิติการสอบอัยการผู้ช่วย
ปีประเภทจำนวนผู้สมัคร (คน)ผู้สอบผ่านข้อเขียนผู้ผ่านการทดสอบทั้งหมด
   จำนวน (คน)เปอร์เซ็นต์จำนวน (คน)เปอร์เซ็นต์
2559สนามใหญ่7,476110.15%110.15%
สนามเล็ก3,306952.87%78 (76+2)2.36%
สนามจิ๋ว31133 (30+3)10.61%29 (28+1)9.32%
2560สนามใหญ่6,868158 (150+8)2.30%150 (142+8)2.18%
สนามเล็ก3,283702.13%702.13%
สนามจิ๋ว2546023.62%60 (59+1)23.62%
2562สนามเล็ก3,053125 (80+33+9+3)4.09 %87 (54+33)2.85%
สนามจิ๋ว2166931.94%6731.02%
2563สนามใหญ่7,535310 (309+1)4.11%3094.10%
สนามจิ๋ว21711753.92%11653.46%

แบ่ง “สนามใหญ่” “สนามเล็ก” และ “สนามจิ๋ว” สร้างความเหลื่อมล้ำในวงการยุติธรรม

จากสถิติการสอบที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าสัดส่วนผู้สอบผ่านผู้ช่วยผู้พิพากษาและอัยการผู้ช่วยใน “สนามจิ๋ว” มีจำนวนมากกว่า “สนามเล็ก” และ “สนามใหญ่” อย่างมีนัยสำคัญ ประกอบกับข้อสอบในแต่ละสนามที่มีมาตรฐานการคัดเลือกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด จนนำไปสู่การตั้งคำถามของผู้คนสังคม และนักวิชาการว่า คนธรรมดามีโอกาสก้าวเข้าสู่ตำแหน่งผู้พิพากษาหรืออัยการเท่าเทียมกันจริงหรือไม่

รองศาสตราจารย์สมชาย ปรีชาศิลปกุล แสดงความเห็นไว้ในบทความ “อำมาตย์ตุลาการอำพราง” ว่า แม้การสอบคัดเลือกบุคคลากรขององค์กรตุลาการจะเป็นระบบการสอบที่เป็นธรรมที่สุดระบบหนึ่งของวงการข้าราชการไทย แต่การแบ่งคุณสมบัติของผู้เข้าสอบออกเป็นสนามใหญ่ สนามเล็ก และสนามจิ๋ว ประกอบกับความเป็นไปได้อันน้อยนิดที่บุคคลจะสอบผ่าน เป็น “การพรางตัวของชนชั้นนำตุลาการ” อย่างหนึ่ง เพราะจากสถิติที่ผู้เข้าสอบในสนามจิ๋วมีโอกาสสอบผ่านมากกว่า และลักษณะข้อสอบที่ซับซ้อนน้อยกว่าสนามใหญ่และสนามเล็ก ทำให้บุคลากรในองค์กรตุลาการซึ่งมีโอกาสสะสมทุนและประสบการณ์ในแวดวงตุลาการมากกว่าคนกลุ่มอื่นๆ สามารถส่งลูกหลานของตนเองไปศึกษาในต่างประเทศ เพื่อให้กลับมาสอบในสนามจิ๋ว และดำเนินรอยตามได้อย่างไม่ลำบากนัก

เช่นเดียวกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์รณกรณ์ บุญมี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่แสดงความคิดเห็นไว้ในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า การเปิดช่องให้ผู้ที่มีความพร้อมทางเศรษฐกิจมากกว่ามีโอกาสสอบได้ต่อครั้งสูงกว่าทำให้การแบ่งประเภทสนามสอบเช่นนี้กลายเป็น “ระบบอุปถัมภ์ซ่อนรูป” และ “การเลือกปฏิบัติเพราะเหตุฐานะทางการเงิน” และคนที่มีฐานะทางการเงินก็มีโอกาสสอบจำนวนครั้งมากกว่า และรณกรณ์ยังได้ตั้งคำถามว่า ถ้าหากกำหนดให้ฝ่ายนิติบัญญัติอย่างส.ส. หรือให้ฝ่ายบริหารอย่างรัฐมนตรี ต้องจบการศึกษาจากต่างประเทศ เราคงรับไม่ได้ แต่ทำไมเราถึงรับได้ที่ผู้พิพากษา ซึ่งเป็นฝ่ายตุลาการ รวมไปถึงอัยการ มีสนามสอบสำหรับผู้ที่จบจากต่างประเทศ

ในขณะที่ รองศาสตราจารย์อานนท์ มาเม้าอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ได้โพสต์ข้อเสนอไว้ในเฟซบุ๊กส่วนตัว ว่า หากการเปิดสอบหลายสนามเป็นไปเพื่อให้องค์กรตุลาการมีบุคคลากรที่มีความรู้ทางกฎหมายเฉพาะทางและมีความเชี่ยวชาญในภาษาต่างประเทศ ก็ควรจัดให้ผู้ที่สอบสนามจิ๋วได้ทำงานในส่วนงานที่มีความจำเป็นต้องใช้ความรู้ความสามารถเหล่านี้ ไม่ใช่ให้ทำหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีทั่วไปที่เป็นอยู่ และควรกำหนดกรอบอัตรากำลังคนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางตามที่หน่วยงานต้องการ ตลอดจนกำหนดวุฒิการศึกษาหรือสาขาของผู้สมัครให้เป็นไปตามความต้องการของศาลในแต่ละปี เพื่อให้ตอบสนองต่อความขาดแคลนในสาขานั้นๆ ด้วย และมาตรฐานของข้อสอบ ควรมีมาตรฐานเดียวกับสนามใหญ่ ไม่ใช่ต่างกันอย่างที่เป็นอยู่ โดยอานนท์มองว่าการที่สนามจิ๋วมีสัดส่วนคะแนนภาษาต่างประเทศมากอย่างที่เป็นอยู่ก็ทำให้โอกาสที่จะสอบผ่านมีมากกว่าในสนามอื่นเช่นกัน เพราะผู้สอบผ่านสนามจิ๋วอาจสอบผ่านเพราะวิชาภาษาต่างประเทศ แต่ตกวิชากฎหมาย

ในฟากขององค์กรที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรงอย่างสำนักงานศาลยุติธรรม สราวุธ เบญจกุลเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบีบีซีไทย ว่า การกำหนดสัดส่วนการคัดเลือกที่แตกต่างกันในแต่ละสนามเป็นไปเพื่อให้สอดรับกับคุณสมบัติของผู้สมัครที่แตกต่างกัน และเนื่องจากองค์กรต้องการบุคลากรที่มีความรู้ภาษาอังกฤษ จึงให้น้ำหนักกับการวัดความรู้ภาษาต่างประเทศในการสอบสนามจิ๋วสูงกว่าสนามอื่นๆ

เปรียบเทียบที่มาผู้พิพากษาต่างประเทศ 

 เยอรมนี ใช้คณะกรรมการคัดเลือก มีรัฐมนตรีและตัวแทนจากสภาร่วม

ในวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอก เรื่อง การถ่วงดุลและตรวจสอบตุลาการในระบบกฎหมายไทย โดยฤทธิภัฏ กัลยาณภัทรศิษฏ์ ได้อธิบายระบบการคัดเลือกผู้พิพากษาของประเทศเยอรมนีและฝรั่งเศสไว้ว่า

ในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ระบบการคัดเลือกผู้พิพากษาทั่วไปในระดับมลรัฐ เป็นไปตามรัฐบัญญัติสหพันธ์ว่าด้วยผู้พิพากษา (Deutsches Richtergesetz: DRiG) ซึ่งเป็นกฎเกณฑ์กลางที่กำหนดให้ผู้มีสิทธิที่จะได้รับการคัดเลือกต้องสอบผ่านการทดสอบแห่งรัฐ (Staatsexam) ทั้งสองครั้ง เพื่อให้ได้มาซึ่งคุณสมบัติของการประกอบวิชาชีพทางกฎหมาย และผู้ที่สอบผ่านและประสงค์จะเป็นผู้พิพากษาจะต้องผ่านกระบวนการคัดเลือกผู้พิพากษาอีกครั้งเสียก่อน หลังจากนั้น แต่ละมลรัฐจะกำหนดรายละเอียดการคัดเลือกผู้พิพากษาศาลมลรัฐของตนเอง ซึ่งแต่ละมลรัฐก็มีรายละเอียดแตกต่างกัน โดยบางมลรัฐอาจกำหนดให้รัฐมนตรีที่รับผิดชอบกิจการของศาลนั้นๆ ซึ่งมีหลายกระทรวง แบ่งตามประเภทของศาลเป็นผู้มีอำนาจโดยตรง หรือกำหนดให้มีคณะกรรมการคัดเลือกผู้พิพากษา (Richterwahlausschüsse) ร่วมคัดเลือกกับฝ่ายบริหารด้วยก็ได้  โดยคณะกรรมการดังกล่าวแต่ละมลรัฐก็จะมีองค์ประกอบที่แตกต่างกันออกไป แต่ส่วนใหญ่มักจะประกอบไปด้วยตัวแทนจากฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ เนติบัณฑิตยสภาหรือสภาผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายและตัวแทนจากฝ่ายตุลาการ

ส่วนผู้พิพากษาศาลสหพันธ์ตามรัฐบัญญัติสหพันธ์ (Richterwahlgesetz : RiWG) จะได้รับการแต่งตั้งโดยคณะกรรมการคัดเลือกผู้พิพากษา ประกอบไปด้วย

๐ รัฐมนตรีที่รับผิดชอบศาลนั้นในระดับสหพันธ์ เป็นประธานคณะกรรมการ โดยกระทรวงยุติธรรมสหพันธ์รับผิดชอบดูแลศาลยุติธรรมสหพันธ์ ศาลปกครองสหพันธ์และศาลภาษีสหพันธ์ กระทรวงแรงงาน รับผิดชอบดูแลศาลนศาลแรงงานสหพันธ์กับศาลสังคมสหพันธ์

๐ รัฐมนตรีกระทรวงที่รับผิดชอบศาลในระดับมลรัฐทุกมลรัฐเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง ปัจจุบันมี 16 มลรัฐ จึงมี 16 คน

๐ กรรมการที่มาจากการคัดเลือกโดยสภาผู้แทนราษฎร แบ่งตามสัดส่วนของพรรคการเมืองที่มีที่นั่งในสภา จำนวนเท่ากับกรรมการประเภทรัฐมนตรี

ฝรั่งเศส การสอบแข่งขันที่ประชาชนสมัครได้ ไม่ต้องจบกฎหมาย

ในประเทศฝรั่งเศส การคัดเลือกตุลาการแบ่งออกเป็นสองระบบ คือ ระบบการคัดเลือกผู้พิพากษาทั่วไป และระบบการคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิ

สำหรับระบบการคัดเลือกผู้พิพากษาทั่วไป วิทยาลัยตุลาการแห่งชาติ ทำหน้าฝึกอบรมผู้ที่จะเข้าไปเป็นผู้พิพากษา คัดเลือกผู้ที่จะเข้ารับการอบรมในตำแหน่งผู้พิพากษาฝึกหัดซึ่งจะได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้พิพากษาต่อไป โดยการคัดเลือกแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

1. การสอบแข่งขันทั่วไป มีทั้งการสอบข้อเขียนและสอบปากเปล่า คณะกรรมการควบคุมการสอบอันประกอบไปด้วย สมาชิกของฝ่ายตุลาการ ศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัย สมาชิกของสภาที่ปรึกษาแห่งรัฐ (Conseil d’état) และประชาชนทั่วไป  โดยรับสมัครทั้งผู้มีสัญชาติฝรั่งเศสที่สำเร็จการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยโดยไม่จำกัดสาขาวิชา ไม่จำกัดว่าต้องเป็นผู้จบนิติศาสตร์บัณฑิตเท่านั้น มีอายุไม่เกิน 31 ปี หรือเป็นข้ารัฐการที่ปฏิบัติหน้าที่มาแล้วอย่างน้อย 4 ปี  ต้องมีอายุไม่เกิน 46 ปี ห้าเดือน หรือผู้ที่มีประสบการณ์ทำงานพิเศษแปดปี อายุไม่เกิน 40 ปี

ผู้สมัครที่สามารถสอบผ่านจะมีสถานะเป็น “ผู้พิพากษาฝึกหัด” จะต้องเข้ารับการฝึกอบรมในวิทยาลัยตุลาการแห่งชาติ (École Nationale de la Magistrature : ENM) ซึ่งมีสถานะเป็นองค์กรมหาชน อยู่ใต้กำกับกระทรวงยุติธรรม ใช้เวลาอบรมสองปี เจ็ดเดือน อบรมทั้งทางทฤษฎีและฝึกปฏิบัติงานจริง จากนั้นจะต้องสอบจัดลำดับ คะแนนสอบจัดลำดับจะนำไปรวมกับคะแนนประเมินระหว่างการฝึกอบรม จากนั้นคณะกรรมการอิสระ (Jury) ที่แต่งตั้งโดยรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม จะพิจารณาว่าผู้พิพากษาฝึกหัดนั้นผ่านการฝึกอบรมหรือไม่ หรือจะต้องฝึกอบรมเพิ่ม และคณะกรรมการชุดนี้ยังทำหน้าที่ให้คำแนะนำว่าควรจะแต่งตั้งผู้พิพากษาฝึกหัดให้ดำรงตำแหน่งครั้งแรก ณ ที่ใด

2. การสอบแข่งขันพิเศษ เป็นช่องทางสำหรับผู้ที่มีประสบการณ์ในทางวิชาชีพกฎหมาย การปกครอง เศรษฐศาสตร์ หรือประสบการณ์ทางสังคมอื่นที่จำเป็นต่อการปฏิบัติหน้าที่ตุลาการอย่างน้อย 10 ปี หรือ 15 ปี เพื่อเข้ารับการฝึกอบรมในวิทยาลัยตุลาการ หลังจากจบการฝึกอบรมแล้ว คณะกรรมการอิสระจะพิจารณาตำแหน่งที่เหมาะสมและดำเนินกระบวนการแต่งตั้งเป็นตุลาการชั้นสองหรือตุลาการชั้นหนึ่งต่อไป โดยจำนวนของผู้พิพากษาที่จะผ่านการคัดเลือกจะถูกจำกัดไม่ให้เกินกว่าหนึ่งในห้าสำหรับตุลาการชั้นสองทั้งหมดของปีที่ผ่านมา หรือไม่เกินหนึ่งใน 10 จากตุลาการชั้นหนึ่งที่ได้รับการเลื่อนตำแหน่งในปีที่ผ่านมา

3. การแต่งตั้งให้เป็นผู้พิพากษาฝึกหัดโดยตรง เปิดโอกาสให้ผู้ที่มีคุณสมบัติพิเศษ เช่น เป็นผู้สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาโทในสาขากฎหมาย เศรษฐศาสตร์ หรือสังคมศาสตร์ และมีประสบการณ์ทำงานด้านกฎหมาย เศรษฐศาสตร์ หรือสังคมอย่างน้อยสี่ปี สามารถเข้าฝึกอบรมที่วิทยาลัยตุลาการแห่งชาติได้โดยการแต่งตั้งของรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม ด้วยความยินยอมของคณะกรรมการเลื่อนชั้น (Commission d’avancement)

ผู้ทรงคุณวุฒิสามารถเข้าสู่ตำแหน่งผู้พิพากษาในระดับสูงได้โดยไม่ต้องไต่เต้าจากตำแหน่งระดับล่าง สำหรับการแต่งตั้งตุลาการชั้นสอง จะคัดเลือกจากผู้ที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปี มีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น มีคุณสมบัติในการเป็นสมัครสอบแข่งขันเข้าวิทยาลัยตุลาการ และมีประสบการณ์วิชาชีพที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ทางตุลาการไม่น้อยกว่าเจ็ดปี เป็นจ่าศาลในศาลสูงหรือศาลชั้นต้นหรือในศาลแรงงานอย่างน้อยเจ็ดปี เป็นผู้อำนวยการหรือหัวหน้าหน่วยงานในกระทรวงยุติธรรม หรือผู้อำนวยการวิทยาลัยตุลาการแห่งชาติ ซึ่งจะต้องดำรงตำแหน่งดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี เป็นผู้บรรยายของคณะนิติศาสตร์ในมหาวิทยาลัยของรัฐซึ่งได้บรรยายมาแล้วอย่างน้อย 10 ปีในฐานะศาสตราจารย์หรือรองศาสตราจารย์ หรือเป็นทนายความประจำสภาแห่งรัฐหรือศาลฎีกา หรือสมาชิกหรืออดีตสมาชิกซึ่งว่าความมาแล้วอย่างน้อย 20 ปี ส่วนการแต่งตั้งตุลาการชั้นหนึ่ง และตุลาการชั้นพิเศษ ก็จะคัดเลือกจากผู้มีคุณสมบัติ มีประสบการณ์ทำงานที่สูงขึ้นไปอีก

อเมริกา ประธานาธิบดีแต่งตั้ง จากคำแนะนำของวุฒิสภา

ในทางตรงกันข้าม ระบบการคัดเลือกผู้พิพากษาในสหรัฐอเมริกา ไม่ได้ใช้ระบบการสอบแข่งขัน แต่จะคัดเลือกจากผู้ที่มีประสบการณ์ในการประกอบวิชาชีพกฎหมายมาแล้วในระดับหนึ่ง โดยในการคัดเลือกผู้พิพากษาระดับสหพันธรัฐ รัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกาได้กำหนดให้ประธานาธิบดีซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารเป็นผู้แต่งตั้งผู้พิพากษาในทุกลำดับชั้นศาลของระบบศาลสหพันธ์ โดยคำแนะนำและยินยอมของวุฒิสภาซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ เพื่อตรวจสอบและถ่วงดุลฝ่ายตุลาการ และเพื่อให้ฝ่ายตุลาการมีความยึดโยงกับประชาชนตามหลักการประชาธิปไตย จากการได้รับการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดีและวุฒิสภาซึ่งต่างก็มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนนั่นเอง

ในระดับมลรัฐ แต่ละมลรัฐใช้วิธีการเลือกแตกต่างกัน แต่สามารถเลือกใช้วิธีการคัดเลือกผู้พิพากษาระดับมลรัฐที่เห็นว่าเหมาะสมที่สุดได้ โดยมีทั้งการแต่งตั้งผู้พิพากษาโดยผู้ว่าการมลรัฐซึ่งเป็นฝ่ายการเมืองหรือการแต่งตั้งโดยสภานิติบัญญัติของมลรัฐ หรือใช้วิธีการเลือกตั้งผู้พิพากษาโดยประชาชนซึ่งอาจเป็นการเลือกตั้งแบบไม่เกี่ยวกับพรรคการเมือง หรือมีพรรคการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องในการกำหนดตัวบุคคลที่จะสมัครรับเลือกตั้งหรือหาเสียงก็ได้ บางมลรัฐอาจใช้วิธีการคัดเลือกแบบผสมการแต่งตั้งและการเลือกตั้งที่เรียกว่า ระบบผสมมิสซูรี่ ซึ่งมีคณะกรรรมการสรรหาผู้ที่เหมาะสมทำหน้าที่เสนอรายชื่อต่อผู้ว่าการรัฐ เพื่อแต่งตั้งบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งผู้พิพากษามลรัฐ และเมื่อผู้พิพากษาคนดังกล่าวได้ปฏิบัติหน้าที่ครบหนึ่งปีประชาชนก็จะออกเสียงลงคะแนนเพื่อตรวจสอบทบทวนว่าสมควรจะให้ผู้นี้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้พิพากษาต่อไปหรือไม่

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage