วันที่ 20 กันยายน 2567 เวลา 9.00 – 12.00 น. อาคารวิศิษฐ์ ประจวบเหมาะ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (TLHR) สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (HRLA) และมูลนิธิช่วยเหลือเด็ก (ประเทศไทย) (Save the Children Thailand) ได้ร่วมกันกิจกรรมเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนหัวข้อ “4 ปี กระบวนการยุติธรรมทางอาญาของเด็กและเยาวชนในคดีทางการเมือง: ความรุนแรง ความสับสน ความเงียบ และความหวัง” โดยเนื้อหาเป็นการเล่าเรื่องผ่านเด็กและเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีทางการเมือง ทนายความหรือที่ปรึกษากฎหมายและผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิเด็กและเยาวชน
เจ้าของคดี “เด็ก” เล่าความยุ่งยากของคดีที่นำสู่การรับสารภาพ
แซน ยุคลธร นักกิจกรรมจากกลุ่มทะลุฟ้ากล่าวถึงที่มาที่ไปของการเข้าร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองว่า เริ่มจากการตั้งคำถามในหลักสูตรมัธยมศึกษาที่เธอกำลังเรียนอยู่ “ตอนนั้นที่เราตั้งคำถามกับคุณครูแนะแนวแล้วก็ได้คำตอบประมาณว่า คือเรียน ๆ ไป อยู่ ๆไปเดี๋ยวมันก็ดีขึ้นเองแหละหรือถ้าไม่ดีมันก็จะทำยังไงได้…ตอนนั้นมันทำให้เรารู้สึกว่าเฮ้ยคนๆนึงเราคือเราจะทำได้แค่นี้ เอาแบบเราต้องทนไปอยู่จริงๆใช่ไหม” หลังจากที่ออกมาเรียกร้องและตั้งคำถามแล้วเธอเห็นว่า ไม่มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงเลย ส่วนหนึ่งก็อาจจะเป็นเพราะว่าโรงเรียนไม่ได้มีอำนาจ มันเลยเป็นจุดเริ่มต้นทำให้ออกมาเคลื่อนไหวนอกโรงเรียน
เธอระบุว่า ตอนแรกเรากลัวมากๆด้วยความที่เราเด็กๆแล้วตอนนั้นเราก็ยังเป็นเยาวชนอยู่ ในเรื่องการคุกคามตอนแรกตำรวจคงทำได้เพราะอีกฝ่ายคือเจ้าหน้าที่รัฐ แต่เมื่อเข้ามาเรียนรู้เรื่องสิทธิเยาวชนหรือการแสดงออกจึงรู้ว่า สิ่งที่เจ้าหน้าที่รัฐทำคือ สิ่งที่เลวร้าย เยาวชนเพียงแค่ออกมาตั้งคำถามแต่ถูกดำเนินคดีที่ไม่ใช่แค่เธอเท่านั้นแต่ยังมีอีกหลายคนที่ถูกดำเนินคดี “ถูกพรากชีวิตในวัยเด็กเลยก็ว่าได้ เพื่อนของเรายังอยู่ในคุกบ้านเมตตาอยู่ตอนนี้ หลายคนอาจมามองว่า ออกมาแล้วโดนคดีมีคนช่วย ยอมรับได้ แต่เรามองว่าคือมันเสียโอกาสในหลายๆอย่างในชีวิตเรา มันเหมือนเราต้องเสียเวลาในวัยเด็กไปแล้วก็อีกอย่างหนึ่งคือเราก็มี conflict หรือว่า มีปัญหากับที่โรงเรียนเก่าจนต้องลาออกและมาเรียนที่กศน.ในกรุงเทพฯ เรารู้สึกว่าการที่ถูกดำเนินคดีเป็นอะไรที่เสียเวลามาก รู้สึกว่าการที่แค่เราออกมาใช้สิทธิเรียกร้องสิ่งต่างๆ เรื่องที่ระฐควรจะทำอยู่แล้วด้วยซ้ำเหมือนเราแค่ออกมาย้ำว่าหน้าที่ของรัฐคืออะไรแต่ว่าเราโดนดำเนินคดี เป็นเรื่องที่ไม่ค่อยแฟร์มากๆ”
“พอหลังจากนั้นเราก็พยายามปรับตัวพยายามจัดตารางชีวิต…เพราะว่า ต้องขึ้นศาลอยู่บ่อยๆ สิ่งที่เราเห็น ล้มเหลวมากๆ เป็นอีกองค์กรหนึ่งที่ควรปฏิรูปได้แล้วคือกระบวนการยุติธรรม กระบวนการยุติธรรมที่เป็นภาพใหญ่ของผู้ใหญ่ว่า ล้มเหลวแล้วของเยาวชนยิ่งล้มเหลวเข้าไปใหญ่ตรงที่ว่า เป้าหมายหลักสำคัญของศาลเยาวชนก็คือเห็นประโยชน์หรือว่า คุณภาพของเยาวชนเป็นสำคัญใช่ไหมคะ แต่ว่า สิ่งที่ผู้พิพากษาทำ หรือว่าเจ้าหน้าที่ในศาลกลับตรงกันข้ามมาก อันที่จริงเขาต้องเราบอกว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ไว้ก่อน แต่ในที่เป็นอยู่ก็คือเขามองว่าเราเป็นเด็กที่ไม่ดีต้องถูกอบรมสั่งสอนอะไรนี้ การที่จะต้องเข้ามาตรการพิเศษจะต้องต้องรับสารภาพก่อน แต่ในสิ่งที่เรายืนยันอย่างหนักแน่นมากๆเลยก็คือ ทำไมรับสารภาพเพราะว่าออกมาแค่ใช้สิทธิ สิ่งที่เราทำไม่ได้ผิดทำไมเราต้องสารภาพ”
“แต่ด้วยความที่กระบวนการมันยุ่งยากมากๆ… ไม่ใช่ยุ่งยากแค่เรา มันยุ่งยากไปถึงผู้ปกครองด้วยแล้วก็คนอื่นๆที่อยู่รอบตัวเราด้วย แล้วมันยิ่งบีบบังคับให้เราต้องทำอะไรสักอย่างที่มันง่ายที่สุดก็คือการเข้ามาตรการพิเศษ ตอนนั้นเราก็เลยรับสารภาพไปอยู่ประมาณ สองสามคดีเพื่อที่จะให้เห็นกระบวนการไปได้ง่ายขึ้น ถามว่าไปง่ายขึ้นจริงๆไหม เรารู้สึกว่ามันไม่ได้ต่างอะไร แล้วก็เจอเจ้าหน้าที่ที่เขาไม่ได้เห็นคุณค่าของเรา คือตอนที่เราไม่ได้เข้ามาตรการพิเศษเราไปเจอผู้พิพากษาที่ลดทอนความเป็นมนุษย์ของเราหรือว่า เขาก็พูดบั่นทอนอะไรสักอย่างเกี่ยวกับความคิดเห็นหรือสิ่งที่เราคิด มันว่าแย่แล้วแต่เราต้องไปเข้ากระบวนการที่เขาใช้คำว่า เจอนักจิตฯซึ่งนักจิตฯหรือว่านักสังคมสงเคราะห์ที่ใกล้ชิดกับเยาวชนเป็นศาลเยาวชน เราไม่แน่ใจว่าเขามีการอบรมเรื่องสิทธิของเด็กมากน้อยแค่ไหน หนูมั่นใจมากว่าเขาไม่มีความรู้เรื่องสิทธิเด็กอยู่เลยเพราะว่าแต่ละประโยคที่เขาถามหรือว่าทุกการกระทำที่เขาปฏิบัติกับเราที่เป็นเยาวชนมันไม่ได้บ่งบอกองค์ความรู้ที่เขามีต่อเรื่องสิทธิของเด็กเลย”
ในตอนท้ายเธอเรียกร้องให้ผู้ปฏิบัติงานในกระบวนการยุติธรรมได้รับการอบรมและอัพเดทเรื่องสิทธิของเยาวชนและพลเมืองอยู่เสมอ การตัดสินคดีควรจะเป็นอิสระและเป็นไปตามดุลพินิจของผู้พิพากษาเจ้าของคดีและ “ถ้าอยากให้กระบวนการมันฟังก์ชันกับเยาวชนจริงๆ นั่นก็คือการให้เยาวชนไปร่วมออกแบบด้วยในทุกๆกระบวนการ ทุกๆ กิจกรรม ในทุกๆองค์กรที่เยาวชนจะต้องเจอ…สำคัญมากๆคือต้องให้กลุ่มคนนั้นออกแบบด้วยไม่ใช่แค่เยาวชนกันหรือว่าแบบคนอื่นๆที่เกี่ยวข้องเพื่อให้กระบวนการมีประสิทธิภาพมากที่สุด”
การดำเนินคดีม. 112 ถือเป็นการละเมิดสิทธิอย่างรุนแรง เสนอยกเลิกคดี
อัครชัย ชัยมณีการเกษ หัวหน้าฝ่ายต่างประเทศและนโยบาย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน อธิบายสถานการณ์สิทธิเด็กที่บรรจุในรายงาน “จากห้องเรียน สู่ห้องพิจารณาคดี” ว่า ตั้งแต่ปี 2563 มีเด็กและเยาวชนที่อายุไม่ถึง 18 ปี ออกมาในชีวิตเสรีภาพในการแสดงออกในการชุมนุมในการวิพากษ์วิจารณ์ตั้งคำถามเกี่ยวกับรัฐบาลหรือสถาบันพระมหากษัตริย์ “เราก็เห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือการที่ใช้กฎหมายอาญาดำเนินคดีกับเด็กที่อายุยังไม่ถึง 18 ปีบริบูรณ์ ซึ่งสำหรับเรามันเป็นอะไรที่แปลกใหม่มากในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่” โดยนับตั้งแต่ปี 2563 มีเด็กและเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีเกือบ 300 คน การดำเนินคดีจำนวนมากทำให้เกิดข้อสงสัยในกระบวนการการดำเนินคดีกับเด็กและเยาวชนนำไปสู่การเขียนรายงานเรื่อง “จากห้องเรียน สู่ห้องพิจารณาคดี” ซึ่งพบว่า มีปัญหาดังนี้
- ปัญหาการจำกัดสิทธิเสรีภาพการแสดงออกของเด็กและเยาวชน ซึ่งจำกัดด้วยความรุนแรง โดยเฉพาะในบริบทของการบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในการดำเนินคดีกับเด็กที่อาจมีการปราศรัย ตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ประเทศไทยเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC) ในข้อ 13 มีการพูดถึงสิทธิเสรีในการแสดงออกของเด็กอย่างชัดเจนประเทศไทยลงนามเป็นภาคีจึงมีพันธกรณีในการปฏิบัติตาม แต่เวลาเราดูข้อเท็จจริงแล้วการใช้มาตรา 112 เพื่อดำเนินคดีอาญากับเด็กถือเป็นเรื่องรุนแรงมาก เรากำลังพูดถึงกฎหมายที่มีโทษรุนแรงถึงสามถึง 15 ปีและอยู่ในหมวดความมั่นคง หมายความว่า ผู้ที่ถูกดำเนินคดีรัฐกำลังกล่าวหาว่า เขากำลังเป็นภัยต่อความมั่นคง เป็นกฎหมายที่โทษสูงเท่ากับข้อหาฆ่าคนโดยไม่เจตนา…” ในตัวอย่างคดีในรายงานคือ คดีมาตรา 112 ของเพชร ซึ่งถูกดำเนินคดีมาตรา 112 รวมสามคดี ปัจจุบันมีผู้ถูกดำเนินคดีรวม 20 คนใน 24 คดี “เราคิดว่า นี่เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพการแสดงออกของเยาวชนที่รุนแรงมาก”
- ปัญหาเกี่ยวกับการควบคุมตัวเด็ก โดยเฉพาะการควบคุมและเด็กในสถานพินิจ ซึ่งควรเป็นมาตรการสุดท้าย มันไม่ควรถูกนำมาใช้หากไม่มีความจำเป็นจริงๆ และไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
- ปัญหาที่เด็กต้องประสบพบเจอในกระบวนการยุติธรรม เช่นตั้งแต่ขั้นจับกุม ซึ่งตามกฎหมายแล้วระบุให้การจับกุมเป็นไปอย่างละมุนละม่อม ต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเด็ก ห้ามใช้เครื่องพันธนาการ จะใช้ได้ก็ต่อเมื่อมีเหตุไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ มีความจำเป็นเพื่อรักษาความปลอดภัยของตัวเด็กเอง ความปลอดภัยผู้อื่น หรือป้องกันการหลบหนี และการจับแล้วต้องไปตรวจสอบการจับกุมภายใน 24 ชั่วโมงกับศาลเยาวชนฯ แต่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นพบว่า ในชั้นจับกุมเด็กและเยาวชนได้รับบาดเจ็บ มีการใช้เครื่องพันธนาการและในตอนที่หวังว่า จะให้ศาลเยาวชนฯตรวจสอบว่า การจับกุมไม่ชอบ แต่เมื่อที่ปรึกษากฎหมายพาเด็กและเยาวชนไปพร้อมบาดแผลฟกช้ำ เลือดออกเพื่อตรวจสอบการจับกุม ศาลก็มีความเห็นว่า การจับกุมเป็นได้โดยชอบด้วย
- ปัญหาการสังเกตการณ์คดีเด็กและเยาวชน หลักทั่วไปจะไม่สามารถเปิดให้สาธารณชนเข้าสังเกตการณ์ได้เพื่อปกป้องสิทธิความเป็นส่วนตัวของเด็ก แต่ในกรณีที่เด็กหรือผู้ปกครองมีความประสงค์ชัดแจ้งว่า ต้องการให้ตัวแทน บุคคลจากภาคประชาสังคม องค์กรสิทธิมนุษยชนเข้าไปสังเกตการณ์ เขาควรได้รับสิทธินั้นหรือไม่ แต่ส่วนมากแล้วศาลจะไม่อนุญาตให้บุคคลที่สามเข้าไปสังเกตการณ์
รายงานดังกล่าวยังมีข้อเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการดำเนินคดีกับเด็กและเยาวชนภายใต้มาตรา 112 และกฎหมายอาญาอื่นๆที่ไม่มีความจำเป็นแล้ว
ปักจุดยืนเรื่องสิทธิเสรีภาพ เปลี่ยนกระบวนทัศน์ต่อคดีการเมืองเด็ก
คุ้มเกล้า ส่งสมบูรณ์ ผู้จัดการฝ่ายคดีศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้พูดถึงรายงานฉบับที่สอง“อิสรภาพแบบมีเงื่อนไข” ซึ่งเป็นรายงานต่อเนื่องมาจากรายงานฉบับแรก โดยเธอกล่าวว่า หากรายงานฉบับแรกเป็นการรวบรวมปัญหาในชั้นจับกุม ไปถึงการเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาล รายงานฉบับที่สองนี้ก็เป็นเหมือนภาคต่อที่กล่าวถึง การใช้มาตรการพิเศษแทนการดำเนินคดีอาญา สำหรับเด็ก และเยาวชนที่ถูกคดีทางการเมือง จากการรวบรวมข้อมูลตั้งแต่ปี พ.ศ.2563 – 2567 เพื่อรายงานถึงสภาพปัญหาจากประสบการณ์ของตัวเด็กและเยาวชน ผู้ปกครอง ที่ต้องประสบพบเจอตั้งแต่มาตรการก่อนฟ้อง หลังฟ้อง และมาตรการแทนการดำเนินคดีอาญา
รายงานฉบับดังกล่าวมาจากการทำงานร่วมกันระหว่างนักกฎหมาย นักจิตวิทยาและนักสังคมสงเคราะห์ ซึ่งล้วนแต่เป็นวิชาชีพที่สะท้อนถึงภาพปัญหาที่เกิดขึ้น เช่น ทัศนคติของเจ้าหน้าที่บางรายในสถานพินิจไม่เป็นมิตรต่อเด็กอย่างการสอบถามในเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับคดีอย่างการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกอายุเท่าใดและมีเพศสภาพใด และมาตรการพิเศษแทนการดำเนินคดีในชั้นก่อนฟ้องตามมาตรา 86 ของพ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ ที่จะต้องมีแผนบำบัดฟื้นฟู ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ถามเงื่อนไขในชีวิตหรือความชอบของเด็ก แต่ท้ายที่สุดมาตรการที่กำหนดออกมาไม่ได้เป็นไปตามที่เด็กต้องการ เป็นเรื่องของการมีส่วนร่วมที่แท้จริงและเมื่อถามแล้วสุดท้ายได้รับฟังหรือไม่
อีกประเด็นหนึ่งคือ มาตรการแทนการดำเนินคดีหลังฟ้อง สภาพปัญหาเป็นเรื่องของการที่กฎหมายมาตรา 90 กำหนดไว้ว่า หากเด็กสำนึกผิด เป็นคดีที่อัตราโทษจำคุกไม่เกิน 20 ปี พฤติการณ์คดีอาจไม่ร้ายแรง หากมีผู้เสียหาย ผู้เสียหายยินยอมให้เข้ามาตรการก็สามารถใช้ช่องนี้ได้ “กฎหมายกำหนดไว้เพียงแค่ว่าให้เด็กสำนึกผิด แต่เนื่องจากในทางปฏิบัติก็ต้องทำเป็นพิธีโดยการนำวิอาญาเข้ามาจับคือเด็กต้องให้การรับสารภพ ซึ่งจริงๆกฎหมายไม่ได้ระบุไว้แบบนั้น แต่ในทางปฏิบัติถ้าหากจะเข้ามาตรการหรือไม่ต้องการนำไปสู่การตัดสินคดีคุณต้องยอมรับสารภาพถึงจะได้เข้ามาตรการ”
คุ้มเกล้ากล่าวถึงข้อเสนอในเชิงหลักการว่า เราต้องกลับมาที่จุดเริ่มต้นถึงที่มาของการออกมาใช้สิทธิเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมของเด็กและเยาวชนที่เป็นไปตามกฎหมายภายในและระหว่างประเทศ หากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมีความเข้าใจในประเด็นนี้ การปฏิบัติต่อเด็ก ทัศนคติท่าทีที่มีต่อกันมันจะเป็นอีกแบบหนึ่งที่อยู่บนฐานที่เข้าใจเด็กและเยาวชน ตัวมาตรการและแผนต่าง ๆ หลังจากนี้จะอยู่ในฐานที่แก้ไข ปรับปรุง ตอบโจทย์ให้สอดคล้องตามพันธกรณีสำหรับเด็กที่ออกมาใช้สิทธิเสรีภาพโดยสงบและปราศจากอาวุธ อาจจะบางส่วนที่มีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เช่น พ่นสีหรือเผาทำลายทรัพย์สินของรัฐเพื่อต่อต้านรัฐก็ต้องมีการกำหนดมาตรการที่พอเหมาะพอสมกับมูลเหตุกับเรื่องก็จะนำไปสู่การกำหนดแผนแก้ไขฟื้นฟูที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น
คุ้มเกล้ากล่าวถึงข้อเสนอที่มีต่อศาลและอัยการ ขอให้พิจารณาการกระทำของเด็กก่อนแทนการดำเนินคดีอาญาโดยการกระทำนั้นต้องเข้าข่ายว่ามีการทำผิดกฎหมายจริง หากเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ เป็นไปด้วยสงบ ปราศจากอาวุธมันไม่ผิดกฎหมาย อัยการก็มีอำนาจตามกฎหมายสั่งไม่ฟ้องคดีได้ รวมถึงข้อเสนอต่อบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด ตั้งแต่ผู้พิพากษา พนักงานคุมประพฤติ นักจิตวิทยา ทั้งสถานพินิจ ศูนย์ให้คำปรึกษา และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ในกระบวนการที่เกี่ยวกับเด็กควรเปิดโอกาสให้เด็กมีส่วนร่วมในการกำหนดแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูตนเองให้คำนึงถึงพฤติการณ์และคดีที่ถูกกล่าวหาด้วย และมาตรการต้องสอดคล้องกับเงื่อนไขชีวิตที่เปลี่ยนไปด้วย
ว่าด้วยสถานการณ์สิทธิเด็กกับการปิดปาก–อยู่เป็น–สปอยล์อำนาจ
ป้ามล-ทิชา ณ นคร ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิเด็กและเยาวชนกล่าวว่า “การนำเด็กเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและการเปลี่ยนสถานะของเด็กๆเป็นจำเลย มันย้อนแย้งกับสิ่งที่รัฐบาลในฐานะรัฐภาคีพึงกระทำนั้นก็คือว่าไม่สืบค้นไม่ค้นหาว่า ทำไมเด็กถึงต้องใช้สิทธิในการชุมนุม รัฐไม่คิดจะค้นหาคำตอบนี้ กระโจนเข้าไปที่จะจับกุมเด็กๆที่จะต้องใช้สิทธิในการชุมนุมใช้เสรีภาพในการแสดงออกแม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยจะให้การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพต่างๆ แต่นั่นคือการที่เด็กๆ เข้าไปแบกรับภาระ คำถามก็คือว่าอะไรทำให้เด็กๆผลักไสเด็กๆ ให้เข้าไปแบกรับภาระที่เกินอายุเช่นนั้น สิ่งนี้ไม่มีใครตั้งคำถาม แต่ป้าบันทึกเอาไว้และป้าก็ถามเหมือนกันว่าเห้ยทำไมลูกเรา ทำไมเด็กที่เรารู้จักจำนวนหนึ่ง ไม่เข้าไปแบกรับภาระอันเกินอายุนั้น แต่ทำไมเด็กคนอื่นทำและนั่นคือสิ่งที่ผู้ใหญ่ต้องหาคำตอบให้ได้ว่า เพราะอะไรถึงเอาตัวเองเข้าไปแบกรับภาระนั้น แต่เราไม่ถาม แต่เรากลับใช้กฎหมายเพื่อที่จะจัดการกับเด็กๆ
เธอกล่าวว่า ตัวแทนจากหน่วยงานรัฐที่นั่งอยู่ตรงนี้ต้องกลับไปถามว่า รัฐบาลของตัวเองอยู่ตรงไหนจึงทำให้เด็กสิ้นหวังสิ้นศรัทธาและมองไม่เห็นอนาคต “การตั้งคำถาม การหาคำตอบนี้อาจหมายถึงการปฏิรูปอย่างเป็นระบบคือสิ่งที่รัฐบาลในฐานะรัฐภาคีพึงจะต้องกระทำเพื่อเปลี่ยนเสียงร้องหาอนาคตดีกว่าของเด็กคนหนึ่งให้เป็นคำตอบของเด็กๆทุกคน…มันจะต้องเปลี่ยนเสียงร้องหาอนาคตที่ดีกว่าของเด็กคนหนึ่งให้เป็นคำตอบของเด็กๆทุกคน แต่สิ่งนี้ก็ไม่เคยถูกคิดอีกในหมู่ของเจ้าหน้าที่และผู้ที่มีอำนาจในประเทศนี้ แน่นอนย่อมดีกว่าและดีที่สุดเพราะรัฐบาลในรัฐภาคีไม่อาจเปลี่ยนเสียงเสียงร้องหาอนาคตที่ดีกว่าของเด็กให้เป็นผู้ต้องหา คุณต้องเปลี่ยนเป็นโอกาสของสังคม….คำถามคือว่า ในรัฐนี้ ในแผ่นดินนี้มีผู้ใหญ่สักกี่คนที่ทำเช่นนั้นกับเด็กๆ ยกเว้นการตั้งข้อหา การตั้งข้อหาเด็กและเยาวชนเพื่อนำไปสู่กระบวนการยุติธรรมและเปลี่ยนสถานะของเด็กเป็นผู้ต้องหานั้นอาจลงโทษเด็กได้ตามกฎหมายเพราะรัฐบาลมีอำนาจทั้งที่ชอบธรรมในฐานะที่เป็นผู้กำหนดกติกา และการมีอำนาจที่มองไม่เห็นในฐานะผู้บังคับบัญชาของผู้คนเหล่านั้น ทุกกลไก ทุกห่วงโซ่ของคดีความ….จริงๆแล้วเด็กๆที่เข้าสู่กระบวนการเหล่านี้เขาไม่รู้การมีส่วนร่วมที่จริงๆอนุสัญญาอนุญาตให้ใช้ด้วย ถ้าดูจากบันไดการมีส่วนร่วม”
ในบันไดการมีส่วนร่วมถูกออกแบบโดยคณะกรรมการสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ ขั้นแรกคือ ถูกบงการ ทิชาบอกว่า “คือเลือดเนื้อแห่งความไทย เราอยู่ตรงนี้แหละ เราถูกบงการ” ขั้นที่สอง ไม้ประดับ ขั้นที่สาม ทำพอเป็นพิธี สามขั้นแรกคือ เด็กไม่ได้คิดและไม่ได้ตัดสินใจ ขั้นที่สี่ คือ ถูกมอบหมายให้ทำแต่รับทราบก่อน “แน่นอนว่า เราถูกมอบหมายให้ทำเราก็จะไม่พ้นจากรังสีอำมหิต เรายังอยู่ในรังสีนั้นอยู่” ขั้นที่ห้า ขอคำปรึกษาเด็กที่ฟังก็จริงแต่จะไปตัดสินในที่ประชุม ซึ่งในที่ประชุมแห่งนั้นเด็กอาจจะไม่เข้าร่วมด้วย ขั้นที่หก ผู้ใหญ่ริเริ่มแต่เด็กมีส่วนร่วมการตัดสินใจ ขั้นที่เจ็ด เด็กริเริ่ม เด็กกำหนด และข้อที่แปดคือ เด็กริเริ่ม ผู้ใหญ่ร่วมตัดสินใจ ในข้อสุดท้ายนี้เป็นลักษณะของการแบ่งปันอำนาจกัน ทิชามองว่า หากเทียบรายงานสิทธิเด็กในไทยกับบันไดการมีส่วนร่วม “ประเทศไทยสอบตกซ้ำซาก เราสอบตกซ้ำซาก นี่เป็นเหตุผลที่ทำให้ป้ารู้สึกว่า ป้าอยากอยู่ข้างๆเด็กๆ ไม่ใช่สปอยล์เด็กๆ…ถ้าเราพอจะเห็นพอจะรู้บางเรื่อง และถ้าเราปิดปากเราเองเพื่อให้เราอยู่เป็น ป้าคิดว่า เรากำลังทำสิ่งที่เรียกว่า ไม่มีความเคารพในตัวเองเลยแม้แต่น้อย ป้าเชื่อว่า คนที่นั่งอยู่ตรงนี้ ไม่ได้นั่งอยู่ตรงนี้อีกจำนวนมากมายรู้ว่า ประเทศไทยลงนามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ข้อผูกพันของประเทศไทยคืออะไร แต่อยู่เป็น”
เธอกล่าวทำนองว่า วันนี้มีการพูดคุยว่าจะพูดในแง่บวก แต่ “ป้าไม่ได้พูดบวก ป้าขอโทษ ไม่ได้แปลว่า ป้าไม่เคยพูดบวก เราพูดบวกกันมาค่อนชีวิตแล้ว พูดมาค่อนชีวิตแล้วและถามว่า เด็กๆได้ผลลัพธ์อะไรจากการพูดบวกยกเว้นเชื่องขึ้น เชื่องขึ้น เชื่องขึ้น แต่ธรรมชาติของมนุษย์ มันไม่ได้เชื่องแล้ววันหนึ่งมันต้องระเบิด ภายใต้ความเชื่องที่เราเห็นมันก็กลายเป็นเหมือนระเบิดเวลาได้เหมือนกัน…อย่าเชื่องเลย พูดในสิ่งที่ควรจะพูด ทำในสิ่งที่ควรจะทำ ไม่อย่างนั้นถ้าเรายังเชื่องอยู่ เรานี่แหละคือผู้สมคบคิดคนสำคัญที่ทำให้ประเทศนี้วินาศ เพราะเรากำลังสปอยล์อำนาจ”