ภาคประชาชนส่งเสียงร่างรัฐธรรมนูญใหม่ – สสร. เลือกตั้ง 100%

19 กันยายน 2567 เวลา 16.00 – 20.00 น. เครือข่ายประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ (Conforall) จัดกิจกรรม “รัฐธรรมนูญใหม่ไปกันต่อ สสร. เลือกตั้ง” ที่ห้องประชุมสัมมนา B1-2 อาคารรัฐสภา (เกียกกาย) โดยภายในงานมี ‘Free Mic’ ภาคประชาชนส่งเสียงร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดย อารีฟีน โสะ จาก The Patani กันต์ธีทัต ปวีณ์กรณ์สมบัติ จากคณะก่อการล้านนาใหม่ กรกช แสงเย็นพันธ์ จากกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG) ฉัตรชัย พุ่มพวง จากสหภาพคนทำงาน และจรัสศรี จันทร์อ้าย จากสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ

เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ต้องยึดโยงกับประชาชน

อารีฟีน โสะ จาก The Patani กล่าวว่า “สิ่งที่ผมกล่าวเสนอ ก็เป็นเสียงเสียงหนึ่งของคนที่มาจากพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือที่ผมเรียกตัวเองว่าปาตานี ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา การสร้างรัฐไทยสมัยใหม่ เราคิดว่าเราถูกบังคับให้ถูกแต่งงาน โดยที่เราไม่สามารถเลือกได้ว่า เราจะแต่งงานกับเขาหรือเปล่า”

“คนที่ทางตอนใต้ เรามีอัตลักษณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกับคนสยามโดยทั่วไป เรามีชาติพันธุ์มลายู มีอัตลักษณ์ความเป็นอิสลาม แต่เราถูกบังคับให้แต่งงานอยู่ในรัฐไทย คนรุ่นปู่รุ่นย่าเราเข้าสู่จบไปแล้ว ถูกผนวกให้เป็นอีกดินแดนหนึ่งของประเทศไทยไปแล้ว แต่สถานการณ์ความขัดแย้งยังมีมาตลอดประวัติศาสตร์อย่างน้อยเป็นร้อยปี จนมาถึงยุคหลัง ยุคปี 2547 ที่มีการปะทุในระลอกใหม่ภายใต้รัฐบาลพรรคไทยรักไทยในตอนนั้น”

“20 ปีต่อมา รัฐบาลพรรคเพื่อไทยก็เป็นรัฐบาลที่เป็นเครือเดียวกันที่นำนโยบายความมั่นคงมาจัดการปัญหา ใช้รูปแบบการปราบปรามทางการเมืองของคนปาตานีกับสยามมา ยิ่งตอกย้ำให้เห็นสถานการณ์ความรุนแรง ผลกระทบต่อพี่น้องประชาชน และงบประมาณจำนวนมหาศาล”

“วังวนอย่างนี้ยังเดินต่อไปอย่างต่อเนื่องไม่รู้จบ ยิ่งภายใต้รัฐธรรมนูญนี้ ภายใต้รัฐที่มีรัฐซ้อนรัฐ ถ้าเราไม่ยืนหยัด ไม่ร่วมกันแก้ไข สถานการณ์ก็ยังอยู่ในวังวนเดิม รัฐบาลก็ไม่มีเจตจำนงทางการเมืองที่จะแก้ไขปัญหาจริงๆ เพราะคนที่คุมรัฐบาลจริงๆ ไม่ใช่รัฐบาล เป็นคนที่อยู่หลังม่าน เป็นทหาร จะทำอะไรก็ต้องเกรงใจทหาร กระบวนการสันติภาพที่นำโดยรัฐบาลเพื่อไทยเมื่อ 10 ปีที่แล้ว จนปัจจุบัน ก็ยังไม่ได้ไปไหน เพราะรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไม่สามารถแสดงเจตจำนงทางการเมืองได้ อยู่ภายใต้การควบคุมสั่งการของฝ่ายความมั่นคง พอกรอบความมั่นคงมาจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก มีกฎอัยการศึก มีพ.ร.บ.ความมั่นคงฯ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนก็แทบจะไม่มี ความรุนแรงก็เกิดขึ้นต่อเนื่อง อุตสาหกรรมความรุนแรงก็ถูกหล่อเลี้ยงด้วยนโยบายความมั่นคงของรัฐบาล ของทหาร ที่ให้งบประมาณจำนวนมหาศาลตลอด 20 ปีที่ผ่านมา”

“พอกันที พอกันได้แล้วกับวังวนนี้ เราควรมีทิศทางใหม่ มี political view (มุมมองทางการเมือง) ที่ทุกคนสามารถมีเจตจำนงทางการเมืองในที่สาธารณะได้ ไม่ถูกจับ มีเสรีภาพในการแสดงออกและปลอดภัย เพื่อที่จะรับประกันว่า เมื่อมีการพูดในที่สาธารณะได้แล้ว การใช้ความรุนแรงก็จะลดระดับลง เมื่อคนสามารถพูดถึงความฝันของตัวเองได้ ใช้ความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างเต็มที่”

“เราควรจัดการแว่นความมั่นคงในการจัดการปัญหาของปาตานี ปล่อยให้พื้นที่ทางการเมือง ให้รัฐบาลพลเรือนสามารถออกแบบบริหารจัดการการจัดการความขัดแย้งได้ โต๊ะเจรจาที่รัฐบาลที่มาจากประชาชน สามารถนำเสนอนโยบายที่เขาสัญญากับประชาชนได้”

“รัฐธรรมนูญประชาชนเป็นหลักสำคัญที่จะบอกว่าประชาชนสามารถร่างรัฐธรรมนูญได้ มีสภาร่างรัฐธรรมนูญที่ยึดโยงกับประชาชนเลือกตั้ง 100% พี่น้องเราที่อยู่ทางตอนใต้ ที่มีอัตลักษณ์ทางการเมือง สามารถส่งตัวแทนมาร่วมร่างรัฐธรรมนูญได้ ซึ่งรัฐธรรมนูญที่ประชาชนร่าง 100% ไม่เคยเกิดขึ้นเลยตลอดประวัติศาสตร์ชาติไทย ดังนั้น ผมคิดว่า รัฐธรรมนูญที่เป็นของประชาชนจริงๆ ต้องเกิดขึ้น ท้องถิ่นต้องมีการกระจายอำนาจที่สอดคล้องกับบริบทของท้องถิ่น จังหวัด และภูมิภาค สามารถกำหนดอนาคตของตนเองได้ นี่เป็นตัวยืนหยัดในกระบวนการสร้างสันติภาพที่ยั่งยืนได้”

การกระจายอำนาจ เป็นเรื่องของประชาชนทุกคน

กันต์ธีทัต ปวีณ์กรณ์สมบัติ จากคณะก่อการล้านนาใหม่ กล่าวว่า“ผมเชื่อว่า การกระจายอำนาจ เป็นของประชาชนทุกคน เราต่างต้องกำหนดวิถีชีวิต กำหนดอนาคตของตัวเองได้ (การกระจายอำนาจ) เป็นการจัดสรรทั้งการบริหารที่ดิน น้ำ ป่า ของจังหวัดและท้องถิ่นตนเอง”

“คนในจังหวัดต้องเป็นผู้ได้ออกแบบอนาคตตนเอง ไม่ใช่ให้คนที่ไหนมาออกแบบหรือมาร่างกฎหมายที่ไม่ได้สอดคล้องกับบริบทของคนในชุมชน คนในพื้นที่ คนในจังหวัดแม้แต่น้อย ยกตัวอย่างอุปสรรคหลักๆ ที่ผ่านมา สถานการณ์น้ำท่วมในภาคเหนือ หรือแม้แต่หลายจังหวัด ใครเป็นคนตัดสินใจที่แท้จริง ผู้ใหญ่บ้าน อปท. (องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น) คนที่ใกล้ชิดท้องถิ่นเหล่านี้ ไม่มีอำนาจตัดสินใจแม้แต่น้อย ต้องรออำนาจจากส่วนกลาง รอผู้ว่าฯ อนุมัติ ซึ่งมาจากส่วนกลางอีกที”

“กลับมาดูรัฐธรรมนูญ 60 ในหมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่มีคำว่าการกระจายอำนาจแม้แต่คำเดียว ผมคิดว่ามันเป็นฉุดรั้งการกระจายอำนาจของประชาชน”

คืนอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญสู่ประชาชน เขียนใหม่ทั้งฉบับ – เลือกตั้ง สสร. 100%

กรกช แสงเย็นพันธ์ จากกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG) กล่าวว่า “ครั้งแรกที่ผมอยากเขียน (รัฐธรรมนูญใหม่) ทั้งฉบับ ก็คือตอนที่ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรัฐประหาร สั่งให้คณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ขึ้นมา เพราะว่ามันเป็นรัฐธรรมนูญของคณะรัฐประหาร”

“ครั้งต่อมา ที่ผมอยากเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ก็คือตอนที่ผมเดินเข้าเรือนจำ เพราะว่ารณรงค์ไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน”

“ครั้งต่อมา ผมอยากเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ก็คือตอนที่ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้อำนาจตามมาตรา 44 (รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557) แก้ไขรัฐธรรมนูญตามข้อสังเกตพระราชทาน ทำให้รัฐธรรมนูญ 2560 ห่างไกลจากความเป็นประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ”

“จึงเป็นเหตุผลสำคัญว่า ที่ผ่านมา รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้เป็นของเรา อำนาจสถาปนาไม่ได้เป็นของเรา เป็นที่มาที่ไปที่เราเรียกร้องให้เขียนใหม่ทั้งฉบับ”

“ผมเคยถูกสอนไว้ตั้งแต่เด็ก ว่าภาษีของประชาชนต้องถูกนำไปพัฒนาประเทศและพัฒนาคุณภาพชีวิตของเรา แต่สิ่งที่เราพบเห็นเมื่อต้นปีที่ผ่านมา คือการตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่งขึ้นมาเพื่อคิดคำถามประชามติ เรากลับพบว่าภาษีของเราถูกใช้ไปเพื่อยึดคืนอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญของเราไป คือการคิดคำว่าที่ว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไขหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์” เป็นสิ่งที่ผมประหลาดใจมาก ตอนที่เห็นว่ามีการทำคำถามแบบนี้ขึ้นมา จึงนำไปสู่เรื่องสำคัญที่เราต้องคุยกันว่า เราจะร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อย่างไรให้รัฐธรรมนูญเป็นของประชาชนจริงๆ”

“เรามีตัวเลือกไม่มาก ตัวเลือกแรก ก็คือเขียน (รัฐธรรมนูญใหม่) ทั้งฉบับ ส่วนตัวเลือกที่สอง เลือกตั้ง สสร. 100% เรามีทางเลือกแค่นี้ เราไม่มีทางเลือกอื่นแล้วในการทำให้รัฐธรรมนูญกลับมาเป็นของประชาชนอีกครั้งหนึ่ง”

“เพราะฉะนั้น อยากส่งเสียงถึงรัฐบาล ว่าอย่าได้ปิดกั้นการมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญของประชาชน อย่าล็อก ให้ประชาชนได้เป็นผู้ตัดสินใจเองว่าเขาอยากได้รัฐธรรมนูญฉบับไหน เพราะสิ่งนั้นสำคัญว่าอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของใคร ถ้าเราไม่เขียนใหม่ทั้งฉบับ รัฐธรรมนูญจะไม่มีทางเป็นของประชาชนได้เลย”

“สิ่งที่พวกเราเรียกร้อง คือโอกาสที่เราจะได้ตัดสินใจอีกครั้งหนึ่ง ตัดสินใจบนสิ่งที่เราเลือกจริงๆ ไม่ใช่บางส่วนที่เขาให้เลือก ไม่ใช่เสรีภาพบางส่วนที่เขาบอกว่าให้ใช้ได้”

“นี่เป็นโอกาสสุดท้ายของรัฐบาล ที่จะดำเนินการให้เกิดกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการออกแบบเนื้อหาทั้งหมด และเปิดโอกาสให้พวกเขามีสิทธิตัดสินใจผ่านตัวแทน ผ่านการเลือกตั้ง สสร. เพื่อเข้าไปทำหน้าที่นั้น อย่าให้ความพยายามที่ประชาชนส่งเสียงตั้งแต่เราอยู่ภายใต้คณะรัฐประหารสูญเปล่า อย่าให้ภาษีที่เราจ่ายไปถูกใช้เพื่อลิดรอนอำนาจสถาปนา ทางเลือกเดียวเท่านั้นคือเขียนใหม่ทั้งฉบับ เลือกตั้ง สสร. 100%”

รัฐธรรมนูญใหม่ต้องให้ประชาชน คน 99% ของประเทศมีโอกาสเขียนร่วมกัน

ฉัตรชัย พุ่มพวง จากสหภาพคนทำงาน กล่าวว่า “หลายคนเกิดมาในโลกนี้ต่างปีกัน บางคนมีอายุมา 20 ปี 30 ปี 40 ปี 50 ปี แต่เราจะเห็นว่า ปัญหาในประเทศนี้มีหลายอย่างที่ซ้ำซาก ปัญหาน้ำท่วม ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ความมั่นคั่ง ปัญหาเรื่องที่ดิน ปัญหาเรื่องชุมชน ปัญหาเรื่องเขื่อน อากาศที่ควรเป็นของทุกคนถูกทำให้กลายเป็นพิษจากฝุ่น PM 2.5 หรือว่าน้ำก็ถูกทำให้สกปรกโดยการปล่อยกากอุตสาหกรรมผิดกฎหมาย การทำลายระบบนิเวศน์ด้วยเอเลียนสปีชีส์ของบริษัทยักษ์ใหญ่ ทั้งหมดนี้ อากาศ น้ำ ระบบนิเวศน์ เพื่อกำไร เพื่อความต้องการของคน 1% ซึ่งมันส่งผลกระทบต่อพวกเรา ต่อแรงงาน ต่อประชาชน ต่อคน 99%”

“10 ปีที่ผ่านมา ข้าวของก็แพงขึ้นเรื่อยๆ แต่ว่าค่าแรงกลับไม่ขยับเลย เราไม่สามารถเลือกได้ว่าเราจะทำงานกี่ชั่วโมง เราต้องทำงานให้หนักที่สุดเพื่อให้มีเงินพอกิน หลายคนต้องอพยพเข้ามาทำงานในเมืองใหญ่หรือในกรุงเทพฯ ก็เป็นเรื่องการรวมศูนย์อำนาจ การรวมศูนย์ทางเศรษฐกิจ การรวมศูนย์ทางการเมือง”

“คนที่เชียงใหม่ คนที่ปัตตานี คนที่ขอนแก่น จะทำอะไร ก็ต้องกลับมาถามที่กรุงเทพฯ งบประมาณของประเทศนี้ 70% กลายเป็นของกรุงเทพฯ อีก 28-29% แบ่งกันอีก 76 จังหวัด”

“ทั้งหมดนี้คือปัจจัยพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของพวกเราคน 99% ของพี่น้องแรงงาน ของคนทำงาน ของเกษตรกร ทั่วทั้งประเทศนี้”

“ปัญหาเหล่านี้ที่เราเห็นที่เราเผชิญ ที่เราไม่สามารถมีชีวิตที่ต้องการหรือมีความสุขได้ หรือไม่สามารถเลือกที่จะอยู่บ้านเกิดของตัวเองได้ เพราะว่ารัฐธรรมนูญซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างของสังคม มันไม่ได้มีเพื่อพวกเรา มันไม่ได้ถูกเขียนเพื่อพวกเราด้วยซ้ำ มันถูกเขียนด้วยคน 1% ถูกร่าง ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อผลประโยชน์ของคน 1%”

“หลักฐานหนึ่งที่ชัดเจนมากๆ ของรัฐธรรมนูญ 60 คือ มีคำว่า กษัตริย์ 89 คำ แต่มีคำว่าแรงงานสามคำ นี่คือตัวอย่างหนึ่งที่ทำให้เห็นว่า คำว่าแรงงานซึ่งเกี่ยวข้องกับคนหลัก (คนส่วนใหญ่) 40 ล้านคน กลับมีแค่สามคำในรัฐธรรมนูญนี้ เป็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมมากว่ารัฐธรรมนูญนี้ไม่ใช่รัฐธรรมนูญของพวกเรา คน 99% แต่เป็นรัฐธรรมนูญที่เขียนโดยคน 1% และเพื่อคน 1%”

“เพราะฉะนั้น ถ้าเราอยากมีอากาศที่สะอาด อยากมีน้ำประปาดื่มได้ อยากมีระบบนิเวศน์ที่สมบูรณ์ พืชผลทางการเกษตรสมบูรณ์ มีค่าแรง มีรายได้ที่ทันกับค่าครองชีพ และมากกว่านั้นคือเหลือเก็บสามารถกำหนดอนาคตตัวเองได้ มีการศึกษา มีสาธารณสุข และเลือกได้ว่าจะทำงานอยู่ที่ไหน จะอยู่ที่บ้านเกิดอยู่กับครอบครัว เราต้องแก้สิ่งนี้ เราต้องร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยพวกเราคน 99% โดยพวกเราที่มิติหนึ่งของชีวิตก็คือคนทำงาน”

“รัฐธรรมนูญใหม่ที่เราจะเขียนร่วมกัน ต้องรับรองความต้องการ ต้องรับรองความสามารถ การตัดสินใจในการกำหนดชีวิตของพวกเราคน 99%”

“เรื่องพวกนี้ ฟังดูเป็นเรื่องใหญ่ จะเปลี่ยนได้จริงๆ หรือ แต่เราก็เห็นแล้วว่า ภัยพิบัติรอบนี้ (น้ำท่วม) ที่เกิดขึ้นกับพี่น้องภาคเหนือที่เชียงราย มีคนติดอยู่ มีคนกำลังจะอดข้าวอดน้ำ มีบางคนกำลังจะตายถ้าไม่มีใครไปช่วย แต่เราก็เห็นว่าภาคประชาชนช่วยกันคนละไม้คนละมือ เราสามารถเปลี่ยนแปลงผลลัพธ์นั้นได้ เราทำให้คนที่กำลังจะตายไม่ตาย เราทำให้คนที่กำลังจะไม่มีข้าวไม่มีน้ำกินสามารถมีข้าวมีน้ำกินได้จากการที่เราร่วมไม้ร่วมมือกัน”

“รัฐธรรมนูญที่เป็นโครงสร้าง ที่เป็นปัญหา อาจจะไม่ใช่ภัยพิบัติ แต่มันคือความวิบัติของชีวิตของคน 99% ความวิบัตินี้เปลี่ยนได้ ความวิบัตินี้สามารถทำให้ดีขึ้นได้ ถ้าพวกเราช่วยกัน”

“สิ่งที่เราต้องช่วยกันปลุก คือเพื่อนของเรา คือประชาชน คนทำงาน พี่น้องเกษตรกร พี่น้องในสามจังหวัด พี่น้องในภาคเหนือ ภาคอีสาน มาช่วยกันเปลี่ยนประเทศนี้ มาช่วยกันเปลี่ยนโครงสร้างนี้ มาช่วยกันร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ และเลือกตั้ง สสร. 100%”

รัฐธรรมนูญต้องมีหลักประกันสิทธิชุมชน

จรัสศรี จันทร์อ้าย จากสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ “รัฐธรรมนูญ 60 ไม่เคยตอบสนองเรื่องสิทธิของชุมชน ลิดรอนสิทธิของเราไป เช่น มอบอำนาจให้กับหน่วยงานรัฐ ซึ่งไม่ได้ตระหนักถึงหน่วยงานของชุมชนหรือสิทธิของชุมชนที่พึงจะมี”

จรัสศรีระบุว่า ที่ผ่านมาเราโดนลิดรอนสิทธิไป และรัฐธรรมนูญ 2560 ยังให้อำนาจรัฐออกกฎหมายต่างๆ ที่เอื้อต่อรัฐเอง เช่น พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และพ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ. 2562 นอกจากนี้ยังมี “คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ” (คทช.) ตามพ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ที่รวบอำนาจจัดการที่ดินต่างๆ มาใช้หน่วยงานนี้ ทั้งที่ควรจะให้ชุมชนมีส่วนตัดสินใจในการใช้ทรัพยากร ที่ดิน ป่าไม้ของชุมชนด้วย

จรัสศรีเสนอว่า ในรัฐธรรมนูญควรมีหมวดเฉพาะของสิทธิชุมชน กฎหมายหรือนโยบายใดที่ละเมิดสิทธิชุมชนก็ควรถูกยกเลิก เช่น นโยบายของ คทช. รวมถึงกฎหมายอุทยานแห่งชาติและกฎหมายป่าชุมชนที่ออกภายใต้รัฐบาลจากการรัฐประหาร

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage