3 คูหา – 2 ประชามติ – 1 เลือกตั้ง : เส้นทางร่างรัฐธรรมนูญประชาชนที่เร็วที่สุด

ความไร้เสถียรภาพทางการเมืองอันเป็นผลจากการรัฐประหาร ความขัดแย้งแบ่งขั้วทางอุดมการณ์ที่รุนแรง และการถอดถอนรัฐบาลออกจากอำนาจแบบที่คาดเดาไม่ได้ สิ่งเหล่านี้คือ ความท้าทายหรือปัญหาทางการเมืองของประเทศไทย ที่ถูกระบุไว้ในคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ นำโดย แพทองธาร ชินวัตร

ในคำแถลงนโยบายดังกล่าว ยังระบุแนวทางการรับมือด้วยว่า ‘รัฐบาลจะเร่งจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นโดยเร็วที่สุด’ โดยจะยึดโยงกับประชาชน และหลักการประชาธิปไตย สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนสากล เคารพพหุวัฒนธรรม เพื่อเป็นบันไดสู่การพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศไทยให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน 

อย่างไรก็ดี ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา รัฐบาลพรรคเพื่อไทยยังไม่ได้เริ่มต้นกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และมีแนวโน้มว่า กระบวนการอาจจะยิ่งล่าช้าออกไป หากรัฐบาลชุดใหม่ยังเดินตามข้อเสนอคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติฯ ที่เสนอให้ต้องทำประชามติถึง 3 ครั้ง รวมถึงการทำประชามติครั้งแรกยังมีความเสี่ยงที่จะไม่ผ่านความเห็นชอบจากประชาชน เพราะคำถามประชามติซับซ้อนซ่อนเงื่อน

ด้วยเหตุนี้ หากรัฐบาลชุดใหม่ต้องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนโดยเร็วที่สุด และไม่ต้องเสี่ยงเจอทางตันทางการเมือง รัฐบาลอาจจะพิจารณา ‘ทำประชามติเพียง 2 ครั้ง’ โดยไม่ต้องทำประชามติครั้งแรกตามที่คณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติฯ เสนอ

โดยรัฐบาลต้องเริ่มต้นจากการให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้ง แล้วจึงทำประชามติครั้งที่ 1 และเมื่อ สสร. ทำการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่เสร็จสิ้นแล้ว จึงทำประชามติครั้งที่ 2 เพื่อให้ประชาชนเป็นผู้เห็นชอบรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เท่านี้ก็จะได้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนอย่างเร็วที่สุด

สส. พปชร. และ สว. แต่งตั้ง ผู้สร้างวาทกรรม ‘ประชามติ 3 ครั้ง’

รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 256 กำหนดให้การแก้รัฐธรรมนูญจะต้องได้รับเสียงเห็นชอบ ‘เกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา’ และจะต้องได้เสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของสมาชิกวุฒิสภา (สว.) รวมถึงจะต้องได้รับเสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 จากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) จากพรรคที่ไม่มีสมาชิกเป็นรัฐมนตรี ประธานสภา หรือ รองประธานสภา 

แต่หากเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในหมวดที่ 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ตามขั้นตอนของรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้หลังจากผ่านการพิจารณาในวาระสามแล้ว ก่อนที่จะนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ  ‘ต้องทำประชามติ’ ถามประชาชนว่าเห็นด้วยกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจากรัฐสภาหรือไม่ เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะต้องทำประชามติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 (8) จำนวน 1 ครั้ง

อย่างไรก็ดี จากเงื่อนไขการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ที่ให้ทำประชามติเพียง 1 ครั้ง กลับถูก ‘ขยายความ’ ให้ต้องทำประชามติถึง 3 ครั้ง เนื่องจาก ไพบูลย์ นิติตะวัน สส. พรรคพลังประชารัฐ และ สมชาย แสวงการ สว. แต่งตั้ง ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอำนาจของรัฐสภา ว่ามีอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ 

โดยศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 4/2564 ว่า “รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่า ประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้องให้ประชาชนลงประชามติเห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง”

จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญสรุปได้ว่า รัฐสภามีอำนาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ต้องทำประชามติ 2 ครั้ง คือ ทำประชามติว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และทำประชามติหลังจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่าประชาชนเห็นชอบด้วยหรือไม่

แต่ทว่า บรรดา สส.พรรคพลังประชารัฐ และ สว. แต่งตั้ง กลับตีความคำวินิจฉัยว่า รัฐสภาไม่มีอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่จนกว่าจะทำประชามติก่อน ดังนั้น บรรดา สว.แต่งตั้ง จึงร่วมกันลงมติงคว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ในวาระสาม และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทาง ‘การทำประชามติ 3 ครั้ง’

‘ประชามติ 3 ครั้ง’ จากทางออกสู่ทางตันการร่างรัฐธรรมนูญใหม่

หลังการเลือกตั้ง ปี 2566 สองพรรคการเมืองที่มีที่นั่งในสภามากที่สุดอย่างพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยต่างมีจุดยืนตรงกันว่า เพื่อให้การจัดทำรัฐธรรมนูญสามารถฝ่าด่าน สว. แต่งตั้ง ไปได้ จึงจำเป็นจะต้องทำประชามติ 3 ครั้ง โดยหวังให้บรรดา สว. แต่งตั้ง ที่เป็นปราการขวางการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ยอมรับมติของมหาชน

เมื่อเส้นทางการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่กลายเป็น 3 ครั้ง ทำให้ภาคประชาชนในนาม “ประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ” หรือ Con for All รณรงค์เข้าชื่อเสนอคำถามประชามติจนได้รายชื่อมาทั้งสิ้น 211,904 รายชื่อ เพื่อเสนอคำถามว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า รัฐสภาต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับโดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน” 

โดยคำถามดังกล่าวถูกออกแบบมาเพื่อสร้างหลักประกันว่า รัฐสภาหรือบรรดา สส. และ สว. จะต้องดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ และจัดทำโดย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนทั้งหมด

เมื่อมีการสลับขั้วทางการเมือง จนได้ ครม. ชุดใหม่ที่นำโดย เศรษฐา ทวีสิน สิ่งแรกที่ ครม. ชุดใหม่ทำ ไม่ใช่การเดินหน้าทำประชามติ แต่กลับเป็นการตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติฯ ที่มี ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่เป็นประธาน และใช้เวลาไปเกือบสามเดือนเพื่อให้ได้ข้อสรุปแบบเดิมว่า จะยังคงทำประชามติทั้งหมด 3 ครั้ง ได้แก่

  • ทำประชามติก่อนรัฐสภาเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระหนึ่ง 
  • ทำประชามติหลังรัฐสภาเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระสาม 
  • ทำประชามติหลัง สสร. จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่

แต่สิ่งที่น่ากังวลมากที่สุดจากข้อเสนอของคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติฯ คือ คำถามที่จะใช้ทำประชามติครั้งแรกที่ถามว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไขหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์” ซึ่งคำถามดังกล่าวนำไปสู่ปัญหาอย่างน้อย 2 ประการ ได้แก่

  1. คําถามนี้มี 2 ประเด็น ที่ซ้อนกันในคำถามเดียว คือ เห็นด้วยหรือไม่ กับการจัดทํารัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ และเห็นด้วยหรือไม่ กับการคงเนื้อหาหมวด 1 และหมวด 2 ไว้ตามเดิม ทำให้ประชาชนที่ต้องการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เผชิญกับ ‘สภาวะไร้ทางเลือก’ เพราะฝ่ายต้องการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับก็ไม่มีทางเลือกว่าจะออกเสียงประชามติอย่างไร และอาจจะถูก ‘บิดเบือนเจตนารมณ์’ ในการออกเสียงได้ เช่น หากลงมติเห็นชอบก็เท่ากับปฏิเสธการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ แต่ครั้นจะลงมติไม่เห็นชอบก็อาจจะถูกตีความว่า ไม่เห็นด้วยกับการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ 

  1. คำถามนี้นำประเด็นเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์มาทำประชามติ ทำให้ประเด็นเรื่องบทบาทสถานะทางกฎหมายของพระมหากษัตริย์กลายเป็นหัวข้อหลักในการถกเถียงเสมือนเป็นโจทย์หลักของการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ และจะยิ่งทำให้บรรยากาศการออกเสียงประชามติเต็มไปด้วยความขัดแย้ง จนทำให้การทำประชามติครั้งแรกที่ควรจะเป็นประตูบานแรกไปสู่การสร้างฉันทามติในสังคมว่าต้องการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ กลายเป็นประชามติที่ล้มเหลวเพราะไม่ได้ผ่านความเห็นชอบจากประชาชน


จากสิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมการเดินหน้าทำประชามติ 3 ครั้ง ที่เคยเป็นเส้นทางแห่งความหวังไปสู่รัฐธรรมนูญใหม่ จึงกลับกลายเป็นทางตันทางการเมือง ที่ยิ่งเดินหน้าก็ยิ่งขัดแย้ง ยิ่งเดินหน้าก็ยิ่งไม่มีทางออก

‘2 ประชามติ – 1 เลือกตั้ง’ สู่รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

หากรัฐบาลชุดใหม่ที่นำโดย แพทองธาร ชินวัตร ยังคงเดินหน้าตามแนวทางของคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติฯ ที่เสนอให้ต้องทำประชามติถึง 3 ครั้ง ก็มีความเป็นไปได้ที่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จไม่ทันการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2570 หรือ เสร็จไม่ทันในสมัยของรัฐบาลเพื่อไทย และหากประชามติครั้งแรกที่วางเอาไว้ไม่ผ่านความเห็นชอบจากประชาชน ก็จะยิ่งทำให้กระบวนการล่าช้าออกไปอีก

ดังนั้น หากรัฐบาลชุดใหม่ต้องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนโดยเร็วที่สุด และไม่ต้องเสี่ยงเจอทางตันทางการเมือง รัฐบาลอาจจะพิจารณา ‘ทำประชามติเพียง 2 ครั้ง’ ด้วยการไม่ต้องทำประชามติครั้งแรกตามที่คณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติฯ เสนอ โดยเหตุผลสนับสนุนแนวทางดังกล่าวมี 2 ข้อ ได้แก่

  1. คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้บังคับให้ทำประชามติ 3 ครั้ง



ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ระบุว่า หากรัฐสภาต้องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องทำประชามติแค่ 2 ครั้ง ไม่ได้ระบุต้องทำประชามติ 3 ครั้ง และเมื่อดูคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จะพบว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญข้างมาก ไม่ได้ระบุว่าการทำประชามติต้องทำ 3 ครั้ง หรือต้องทำประชามติก่อนการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ได้แก่

  • ปัญญา อุดชาชน  วินิจฉัยว่า “รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ประกอบมาตรา 156 (15) เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้ แต่หากเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมในลักษณะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องได้รับความเห็นชอบจากประชาชนโดยการออกเสียงประชามติเสียก่อน…” 
  • วิรุฬห์ แสงเทียน วินิจฉัยว่า “…เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้มาโดยการลงประชามติของประชาชน หากต้องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จึงต้องจัดให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าสมควรมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้องให้ประชาชนลงประชามติเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่อีกครั้งด้วย

อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงวินิจฉัยว่า รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ประกอบมาตรา 156 (15) เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้ แต่หากเป็นการกแ้ไขเพิ่มเติมในลักษณะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องได้รับความเห็นชอบจากประชาชนโดยการออกเสียงประชามติเสียก่อน และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว ต้องให้ประชาชนลงประชามติเห็นชอบหรือไม่อีกครั้งด้วย”

  • นภดล เทพพิทักษ์ วินิจฉัยว่า “รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ ทั้งนี้ ในการทำการใดๆ ที่เกี่ยวข้องอันจะนำไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูฐฉบับใหม่ จักต้องมีการดำเนินการให้ผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเห็นชอบเสียก่อนว่า สมควรจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และหากผู้มีอำนาจสถาปนาเห็นชอบให้จัดทำใหม่ เมื่อได้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสณ็จแล้ว จะต้องให้ผู้มีอำนาจสถาปนาลงประชามติและเห็นชอบด้วยอีกครั้งหนึ่ง”
  • วรวิทย์ กังศศิเทียม ได้วินิจฉัยว่า แม้จะต้องมีการจัดประชามติครั้งหนึ่งก่อน แต่ “ก่อน” ในที่นี้ หมายถึง “ก่อนที่จะมีการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ” หรือ “ก่อนจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” ซึ่งไม่ได้ขัดหรือแย้งกับการทำประชามติหลังรัฐสภาเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระสาม ตามมาตรา 256 (8) ซึ่งถือเป็นการจัดทำประชามติก่อนจะมีการตั้ง สสร.



โดยในจำนวนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 6 คน มี 2 คนที่ “เขียนชัด” ว่าการทำประชามติครั้งแรก สามารถอาศัยกลไกประชามติหลังผ่านวาระสาม ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 256 (8) ได้เลย คือ

  • ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ได้วินิจฉัยว่า แม้จะต้องมีการถามประชาชนว่าเห็นชอบให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมาหรือไม่ แต่คำถามนี้สามารถถาม “ในช่วงเวลาเดียวกัน” กับการทำประชามติตามมาตรา 256 (8) โดยอาจจะแบ่งเป็น 2 คำถามคือ เห็นด้วยหรือไม่กับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และเห็นด้วยหรือไม่กับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับ สสร. ทั้งนี้ ในคำวินิจฉัยส่วนตัวยังระบุด้วยว่า “มิได้มีเจตนารมณ์ให้จัดให้มีการออกเสียงประชามติก่อนจะเสนอญัตติหรือร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแต่ประการใด”


  • นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ได้วินิจฉัยว่า “หากรัฐสภาประสงค์จะแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้จัดให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องมีการขออาณัติจากประชาชน โดยการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อให้ประชาชนลงประชามติ” ซึ่งเป็นการทำประชามติตามมาตรา 256 (8)


  1. สว. แต่งตั้ง หมดวาระ ไม่มีใครอ้างว่าต้องทำประชามติ 3 ครั้ง



แม้ว่าในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมา รัฐสภาและภาคประชาชนแทบจะไม่ประสบความสำเร็จในการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่และการแก้ไขแบบรายมาตรา โดยข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญกว่า 26 ข้อเสนอ ต้องมาถูกปัดตกเกือบทั้งหมด เนื่องจากไม่เคยได้รับเสียงเห็นชอบจาก สว. แต่งตั้ง ถึง 1 ใน 3 และมีเพียงการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับระบบเลือกตั้งที่ผ่าน เพราะพรรคพลังประชารัฐสนับสนุนการแก้ไขในประเด็นดังกล่าว



แต่อย่างไรก็ดี วาระการดำรงตำแหน่งของ 250 สว. แต่งตั้ง ได้สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2567 และเมื่อมี สว. ชุดใหม่ เข้ามาปฏิบัติหน้าที่เมื่อวันที่ 23 กรกฏาคม 2567 นับเป็นการปิดฉาก สว.แต่งตั้ง ทั้ง 250 คน อย่างถาวร ดังนั้น สว. ที่เคยเป็นองค์รักษ์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ 2560 ในอดีต จึงไม่มีอยู่ และไม่มี สว. ชุดเดิมที่จะอ้างเรื่องการทำประชามติ 3 ครั้ง เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่



โดย สว. ชุดใหม่ ที่มาจากระบบ “แบ่งกลุ่ม” – “เลือกกันเอง” ยังไม่ได้ท่าทีว่า จะขัดขวางการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ประกอบกับเมื่อพิจารณาจากเสียงส่วนใหญ่ของ สว. ที่มีสายสัมพันธ์กับพรรคภูมิใจไทยแล้ว หากพรรคภูมิใจไทยซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลไม่ได้มีเป้าหมายในการขัดขวางการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ สว. ชุดใหม่ ก็ไม่น่าจะมีท่าทีขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือเรียกร้องการทำประชามติ 3 ครั้ง

ทั้งนี้ หากรัฐบาลชุดใหม่มีแนวทางจะทำประชามติเพียง 2 ครั้ง เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ขั้นตอนต่อไปจะมีดังนี้

  1. ‘รัฐสภาเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ’ เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่โดย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้ง

เพื่อให้เกิดการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ครม. สส. และ สว. ต้องร่วมกันผลักดันร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่โดย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 256 ระบุให้ผู้มีสิทธิเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อรัฐสภา ได้แก่ (1) ครม. (2) สส. ไม่น้อยกว่าไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของ สส. ทั้งหมดที่มีอยู่ (3) สส. และ สว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวน สส. และ สว. ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ (4) ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งเข้าชื่อกันไม่น้อยกว่า 50,000 คน

เมื่อร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญถูกบรรจุเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา การให้ความเห็นชอบในวาระที่หนึ่ง ต้องอาศัยเสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของสองสภา ข้อมูล ณ วันที่ 12 กันยายน 2567 มีสมาชิกรัฐสภาทั้งหมดที่มีอยู่ 693 คน จึงต้องเสียงการ 347 เสียง ซึ่งในจำนวนนี้ต้องได้เสียงเห็นชอบจาก สว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวน ส.ว. หรือ 67 เสียง ดังนั้น หากอาศัยเสียงของพรรครัฐบาลที่มีไม่น้อยกว่า 300 เสียง และเสียงสนับสนุนจาก สว. 67 เสียง ก็เพียงพอที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญได้

ส่วนการให้ความเห็นชอบในวาระที่สาม หรือ วาระสุดท้าย ต้องอาศัยเสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของสองสภา และต้องได้เสียงเห็นชอบจาก ส.ว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 รวมถึง ต้องมีเสียง สส. จากพรรคที่ไม่มีสมาชิกเป็นรัฐมนตรีประธานสภาผู้แทนราษฎรหรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎร เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 หรือ 31 เสียง 

ดังนั้น หากรัฐบาลทำงานและหาข้อตกลงร่วมกับพรรคฝ่ายค้านอย่าง พรรคประชาชน (อดีตพรรคก้าวไกล) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านที่มี 143 เสียง ได้ กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ก็จะเดินหน้าผ่านการพิจารณาของรัฐสภาในวาระที่สามได้อย่างราบรื่น

ทั้งนี้ เพื่อให้จัดออกเสียงประชามติครั้งที่หนึ่งหลังรัฐสภาให้ความเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นได้ทันกับการเลือกตั้งการเลือกตั้งนายกและสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2568 รัฐสภาจำเป็นต้องพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤศจิกายน 2567

  1. ‘จัดออกเสียงประชามติครั้งที่หนึ่ง’ เพื่อรับรองการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่โดย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้ง

ภายหลังที่ประชุมรัฐสภามีมติเห็นชอบกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ในวาระที่สาม ขั้นตอนต่อมา คือ การทำประชามติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 (8) โดยให้ประชาชนไปออกเสียงว่า เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่รัฐสภาเห็นชอบ

หากผลประชามติเห็นชอบก็จะเข้าสู่กระบวนการทูลเกล้าฯ เพื่อลงพระปรมาภิไธยและประกาศใช้ต่อไป แต่หากประชาชนไม่เห็นชอบก็จะถือร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวเป็นอันตกไป และต้องเริ่มต้นกระบวนการใหม่ 

ดังนั้น สิ่งที่ต้องพิจารณาเป็นสำคัญ คือ กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เช่น ที่มาของ สสร. อำนาจหน้าที่ของ สสร. กระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญ การรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชน ไปจนถึงกรอบระยะเวลาการทำงาน หาก ครม. สส. และ สว. สามารถหาข้อสรุปร่วมกันได้ ก็จะเป็นผลหนุนเสริมให้สังคมเกิดฉันทามติจนการทำประชามติลุล่วงไปได้

โดยหลักเกณฑ์ที่จะใช้ในการออกเสียงประชามติตามร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติที่ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรไปเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2567 มีหลักเกณฑ์ในการหาข้อยุติว่า ต้องใช้เสียงข้างมากของผู้มาออกเสียง และคะแนนเสียงข้างมากนั้นต้องสูงกว่าคะแนนเสียงไม่แสดงความคิดเห็น

ทั้งนี้ เพื่อให้กระบวนการดังกล่าวเกิดขึ้นเร็วที่สุดและประหยัดงบประมาณมากที่สุด ครม. อาจหารือร่วมกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อจัดออกเสียงประชามติครั้งที่หนึ่ง พร้อมกับการเลือกตั้งนายกและสมาชิก อบจ. ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2568

  1. คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดให้มีการเลือกตั้ง สสร. เพื่อมาจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่

เมื่อมีการทำประชามติครั้งแรกไปแล้ว และเสียงข้างมากเห็นชอบด้วยกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ขั้นตอนต่อไป คือ การจัดเลือกตั้ง สสร. 

โดยขั้นตอนการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับการกำหนดที่มาของ สสร. หรือ การออกแบบระบบเลือกตั้ง สสร. ซึ่งจากข้อเสนอที่ผ่านมา มีทั้งการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตโดยใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง มีทั้งการเลือกตั้งแบบใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง ซึ่งแต่ละวิธีการยังจะต้องมาออกแบบ วิธีการออกเสียง รูปแบบบัตรเลือกตั้ง วิธีการนับคะแนน วิธีการรายงานผลคะแนน อีกด้วย

ทั้งนี้ หากยึดตามร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ที่พรรครัฐบาลอย่างพรรคเพื่อไทยเคยเสนอ กกต. ต้องจัดการเลือก สสร. ภายใน 60 วัน หรือจัดเลือกตั้งช่วงประมาณกลางปี 2568

  1. ‘จัดออกเสียงประชามติครั้งที่สอง’ เพื่อให้ประชาชนให้ความเห็นชอบรัฐธรรมนูญใหม่ 

ภายหลังการเลือกตั้ง สสร. และมีการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่เสร็จสิ้น สสร. จะต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนอย่างทั่วถึง จนเมื่อการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญเป็นไปอย่างสมบูรณ์ ให้นำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไปให้ประชาชนออกเสียงประชามติอีกครั้ง เพื่อให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นผู้รับรองรัฐธรรมนูญใหม่ของประชาชนตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ เพื่อให้กระบวนการดังกล่าวเกิดขึ้นเร็วที่สุดและประหยัดงบประมาณมากที่สุด ครม. อาจหารือร่วมกับ กกต. เพื่อจัดออกเสียงประชามติครั้งที่สอง พร้อมกับการเลือกตั้งนายกและสมาชิกเทศบาลในช่วงประมาณต้น ปี 2569 

และหลักจากที่มีการจัดทำพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ ประชาชนคนไทยก็จะได้เริ่มต้นเลือกตั้งใหม่ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่อย่างช้าที่สุดคือตรงกับการเลือกตั้ง สส. ปี 2570 

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage